สงครามครั้งที่ ๑๐ คราวพม่าตีเมืองเชียงใหม่ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙

สงครามคราวนี้เรื่องราวที่ปรากฎอยู่ข้างจะย่นย่อ แต่ว่ายุติต้องกันทั้งในหนังสือพระราชพงษาวดารแลพงษาวดารพม่า มูลเหตุที่จะต้องเกิดสงครามครั้งนี้ ทำนองพระเจ้าจิงกูจาซึ่งได้เปนพระเจ้าอังวะขึ้นใหม่จะคิดเห็นว่า ที่พระเจ้ามังระราชบิดาพยายามให้กองทัพมาตีเมืองไทย เอาไพร่พลมาล้มตายเสียเปล่า ๆ หาเปนประโยชน์อันใดไม่ พอได้เสวยราชย์จึงมีรับสั่งให้หากองทัพอะแซหวุ่นกี้กลับไป แต่พระเจ้าจิงกูจาสิ้นประสงค์เพียงที่จะตีเมืองไทยเท่านั้น ส่วนแว่นแคว้นลานนาไทยห้าสิบเจ็ดหัวเมือง มีเมืองเชียงใหม่เปนต้น ยังถือว่าเปนเมืองขึ้นสำคัญของพม่า เพราะพม่าได้ปกครองแว่นแคว้นลานนาไทย จึงเอาเมืองหลวงพระบางแลเมืองเวียงจันท์ไว้ในอำนาจได้ พระเจ้าจิงกูจาเห็นว่าไทยชิงเอาหัวเมืองในแว่นแคว้นลานนามาเสียเกือบหมด ยังเหลือเปนของพม่าอยู่แต่หัวเมืองในลุ่มน้ำโขง คือเมืองเชียงรายแลเชียงแสนเปนต้น ถ้านิ่งไว้ไทยคงจะพยายามชิงเอาหัวเมืองในแว่นแคว้นลานนาไทยเสียทั้งหมด ก็จะเสียอาณาเขตรพม่าตลอดจนเมืองหลวงพระบางแลเมืองเวียงจันท์ พระเจ้าจิงกูจาคงทรงพระดำริห์อย่างว่ามานี้ จึงให้เกณฑ์กองทัพพม่ามอญมีจำนวนพล ๖,๐๐๐ ให้อำมลอกหวุ่นเปนแม่ทัพ ให้ตอหวุ่นกับพระยาอู่มอญเปนปลัดทัพยกมาจากเมืองพม่าเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ ให้มาสมทบกับกองทัพโปมะยุง่วนซึ่งตั้งอยู่ณเมืองเชียงแสน พร้อมกันมาตีเมืองเชียงใหม่.

ขณะนั้นพระยาจ่าบ้าน ซึ่งพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งให้เปนพระยาวิเชียรปราการ ได้ครองเมืองเชียงใหม่มาตั้งแต่ไทยตีเมืองได้จากพม่า เห็นกองทัพพม่ายกมาเหลือกำลังที่จะต่อสู้ได้ พอมีใบบอกลงมายังกรุงธนฯ แล้ว พระยาวิเชียรปราการก็อพยพครอบครัวทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีลงมาเมืองสวรรคโลก พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงทราบว่าพม่ายกกองทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ แลพระยาวิเชียรปราการทิ้งเมืองหนีมาดังนั้น จึงโปรดให้รับพระยาวิเชียรปราการลงมายังกรุงธนบุรี แล้วให้มีตราสั่งเจ้าพระยาสุรสีห์ให้คุมกองทัพหัวเมืองเหนือขึ้นไปสมทบกับพระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปาง ยกไปตีเอาเมืองเชียงใหม่คืน กองทัพไทยยกขึ้นไป พม่าสู้ไม่ได้ก็ทิ้งเมืองเชียงใหม่เลิกทัพกลับไป เมื่อพม่าถอยไปจากเมืองเชียงใหม่แล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริห์ว่า เมืองเชียงใหม่ไพร่บ้านพลเมืองระส่ำระสายเสียมากแล้ว จะรวบรวมกลับตั้งเปนบ้านเมืองอย่างเดิมผู้คนก็ไม่พอจะเปนกำลังรักษาเมืองได้ เมื่อกองทัพไทยกลับลงมาแล้วพม่ายกทัพกลับมาก็จะเสียเมืองเชียงใหม่อิกจึงมีรับสั่งให้ทิ้งเมืองเชียงใหม่เสีย เมืองเชียงใหม่จึงเปนเมืองร้างแต่นั้นมา จนในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทรจึงได้กลับตั้งขึ้นอิก.

สงครามครั้งที่ ๑๐ นี้เปนครั้งที่สุดที่ไทยรบกับพม่าเมื่อกรุงธนบุรีเปนราชธานี ต่อนี้ไทยกับพม่ามิได้ทำสงครามกัน ๘ ปี แลในระหว่างนี้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพระราชวงศ์ด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เหตุการณ์ทางฝ่ายพม่าเปนอย่างไรจะรอไว้แสดงในเรื่องสงครามต่อไปข้างน่า ในตอนนี้จะเล่าเรื่องพงษาวดารฝ่ายไทยก่อน.

ขณะเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีติดรบพุ่งกับอะแซหวุ่นกี้อยู่นั้น ทางเมืองนครราชสิมามีเหตุเกิดขึ้น ด้วยพระยานางรองเจ้าเมืองนางรองอันเปนเมืองขึ้นของเมืองนครราชสิมา เกิดวิวาทกับพระยานครราชสิมา แล้วเอาเมืองนางรองไปขอขึ้นต่อเจ้าโอเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งตั้งตัวเปนอิศระอยู่ในสมัยนั้น เจ้าโอเห็นว่ากรุงศรีอยุทธยาถูกพม่าย่ำยีอ่อนกำลังแล้ว ก็รับเมืองนางรองไว้เปนเมืองขึ้น พระยานางรองถืออำนาจเจ้านครจำปาศักดิ์ตั้งแขงเมืองไม่ยอมขึ้นต่อเมืองนครราชสิมา พระยานครราชสิมาจึงบอกเข้ามายังกรุงธนบุรีว่า พระยานางรองเปนขบถ.

ใบบอกพระยานครราชสิมาเข้ามาถึงกรุงธนบุรีเมื่อเดือน ๔ ปีวอก พ.ศ. ๒๓๑๙ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกกองทัพไปปราบปรามเมืองนางรอง เจ้าพระยาจักรีขึ้นไปถึงเมืองนครราชสิมา ให้กองทัพยกออกไปตีเมืองนางรอง จับตัวพระยานางรองได้ พิจารณาความเปนสัตย์ก็ให้ประหารชีวิตรเสีย พอปราบปรามเมืองนางรองเสร็จแล้ว เจ้าพระยาจักรีได้ทราบความว่าเจ้าโอกับเจ้าอินท์อุปราชเมืองนครจำปาศักดิ์เตรียมกองทัพมีจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เศษ จะยกมาตีเมืองนครราชสิมาฤๅเมืองไหนยังหาปรากฎชัดไม่ จึงบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรีเมื่อต้นปีระกา พ.ศ. ๒๓๒๐ ทำนองในเวลานั้นเจ้าพระยาสุรสีห์จะเข้ามาอยู่ในกรุงฯ พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีรับสั่งให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพหนุนไปอิกทัพ ๑ ให้เจ้าพระยาทั้ง ๒ ออกไปปราบปรามเมืองนครจำปาศักดิ์เสียด้วย เจ้าพระยาทั้ง ๒ ลงไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เจ้าโอกับเจ้าอินท์สู้ไม่ได้ก็หนีลงไปข้างใต้ กองทัพไทยติดตามลงไปจับได้ที่เมืองโขงคน ๑ ที่เมืองอัตปือคน ๑ ก็เลยได้เมืองอัตปือแลเมืองโขงมาเปนของไทยในคราวนั้นด้วย เจ้าพระยาทั้ง ๒ ได้เมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว จึงให้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองเขมรป่าดงซึ่งตั้งอยู่ในระหว่างเมืองนครจำปาศักดิ์กับเมืองนครราชสิมาข้างตอนใต้ เขมรป่าดงทั้ง ๓ เมือง คือเมืองสุรินทร์เมืองสังขะแลเมืองคุขันก็พากันมาอ่อนน้อมยอมเปนข้าขอบขัณฑสีมาแต่นั้นมา ครั้นเสร็จราชการกองทัพกลับเข้ามาถึงกรุงธนฯ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงปูนบำเหน็จแม่ทัพนายกองที่มีความชอบ จึงเลื่อนยศเจ้าพระยาจักรีขึ้นเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก มีเครื่องยศอย่างเจ้าต่างกรม แลคงเปนตำแหน่งสมุหนายกอย่างเดิมด้วย.

ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๓๒๑ เกิดสงครามขึ้นในระหว่างกรุงธนบุรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุต เหตุที่จะเกิดสงครามขึ้นครั้งนี้ เดิมพระวอเปนเสนาบดีเมืองเวียงจันท์เกิดวิวาทรบพุ่งกับเจ้าเวียงจันท์ พระวอสู้ไม่ได้หนีลงมาอาไศรยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ แล้วพาสมัคพรรคพวกมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่ดอนมดแดงริมน้ำมูล อันเปนที่ตั้งจังหวัดอุบลราชธานีทุกวันนี้ เมื่อไทยตีเมืองนครจำปาศักดิ์พระวอได้มาอ่อนน้อมขอขึ้นต่อกรุงธนบุรี ครั้นกองทัพไทยกลับมาแล้วเจ้าเวียงจันท์ให้พระยาสุโพคุมกองทัพลงมาจับพระวอฆ่าเสีย พระเจ้ากรุงธนทราบก็ทรงขัดเคืองว่าพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตดูหมิ่น จึงมีรับสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันท์.

สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพออกจากกรุงธนบุรีเมื่อเดือนอ้าย ปีจอ พ.ศ. ๒๓๒๑ ขึ้นไปตั้งประชุมพลที่เมืองนครราชสิมา รวบรวมกองทัพบกจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ยกไปทาง ๑ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ลงไปเกณฑ์กองทัพเรือที่กรุงกัมพูชาจำนวนพล ๑๐,๐๐๐ ยกขึ้นไปทางแม่น้ำโขงอิกทาง ๑ ตีหัวเมืองขึ้นกรุงศรีสัตนาคนหุตขึ้นไปบรรจบกันที่เมืองเวียงจันท์ ครั้งนั้นเจ้าหลวงพระบางได้ทราบว่าไทยยกกองทัพบกทัพเรือขึ้นไปตีเมืองเวียงจันท์ ก็คิดว่าถ้านิ่งอยู่ไทยได้เมืองเวียงจันท์แล้วคงจะเลยขึ้นไปตีเมืองหลวงพระบางด้วย แลเจ้าหลวงพระบางนั้นเปนอริกับเจ้าเวียงจันท์มาแต่ก่อน จึงแต่งทูตให้ลงมาหาสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ รับอาสาจะให้กองทัพเมืองหลวงพระบางลงมาช่วยตีเมืองเวียงจันท์ข้างด้านเหนือ แลจะขอเอากรุงธนบุรีเปนที่พึ่งต่อไป.

ฝ่ายพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ตั้งแต่ได้ทราบว่ากองทัพกรุงธนบุรียกขึ้นไป ได้แต่งกองทัพให้มาคอยต่อสู้ตามหัวเมืองแลตามด่านทางที่สำคัญหลายแห่ง ก็มีแต่พ่ายแพ้แตกหนีไป จนกองทัพกรุงธนบุรีขึ้นไปถึงเมืองเวียงจันท์ ตั้งล้อมเมืองไว้ แต่รบพุ่งกันมาถึง ๔ เดือน พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตเห็นเหลือกำลังที่จะรักษาเมืองเวียงจันท์ไว้ได้ ก็พาเจ้าอินท์เจ้าพรหมราชบุตรกับคนสนิทหนีไปเมืองคำเกิดทางต่อแดนญวน กองทัพกรุงธนบุรีก็ได้เมืองเวียงจันท์ จับได้เจ้าอุปราช เจ้านันทเสน แลญาติวงศ์ของพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต กับทั้งผู้คนพาหนะแลทรัพย์สิ่งของเครื่องสาตราวุธทั้งปวงเปนอันมาก.

สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ กับเจ้าพระยาสุรสีห์ชนะศึกครั้งนี้ ได้เมืองเวียงจันท์เมืองหลวงพระบาง กับทั้งหัวเมืองขึ้นทั้งปวงมาเปนข้าขอบขัณฑ์สีมา ขยายสยามราชอาณาเขตรทางทิศตวันออกแลทิศเหนือออกไปจนจรดแดนญวนแลแดนเมืองตังเกี๋ย แลเมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ จะยกกองทัพกลับลงมากรุงธน ฯ ให้เชิญพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎกับพระบาง ซึ่งประดิษฐานอยู่ณเมืองเวียงจันท์มายังกรุงธนบุรีด้วย พระแก้วมรกฎจึงได้เสด็จมาประดิษฐานอยู่ในกรุงเทพมหานครจนตราบเท่าทุกวันนี้

ถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๒๓ กรุงกัมพูชาเกิดเปนจลาจล เหตุด้วยเดิมนักองค์ตนกับนักองค์นนท์ชิงราชสมบัติกัน ทีหลังปรองดองดีกัน พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงทรงตั้งนักองค์นนท์เปนสมเด็จพระรามราชา ครองกรุงกัมพูชา ให้นักองค์ตนเปนมหาอุปโยราช แลให้นักองค์ธรรมเปนมหาอุปราช อยู่มามีคนร้ายลอบฆ่ามหาอุปราชตาย ต่อมาไม่ช้ามหาอุปโยราชก็เปนโรคปัจจุบันสิ้นชีพลงอิกองค์ ๑ ในเมืองเขมรขุนนางเปนพรรคพวกของมหาอุปโยราชโดยมาก พากันเอาใจว่าสมเด็จพระรามราชาแกล้งฆ่าเสียทั้ง ๒ องค์ จึงคบคิดกันเปนขบถขึ้น จับสมเด็จพระรามราชาได้ให้ถ่วงน้ำเสีย กรุงกัมพูชาก็สิ้นเจ้านายที่จะปกครอง ยังเหลือแต่นักองค์เองบุตรของนักองค์ตนที่เปนมหาอุปโยราชยังเปนทารกชนมายุเพียง ๔ ขวบแต่องค์เดียว ฟ้าทะละหะชื่อมูจึงว่าราชการกรุงกัมพูชาแทนนักองค์เองต่อมา แต่แรกยอมขึ้นเมืองไทยอยู่เหมือนแต่ก่อน ครั้นต่อมาความทราบเข้ามาถึงกรุงธนบุรีว่า ฟ้าทะละหะมูตั้งตัวเปนเจ้าฟ้ามหาอุปราช แล้วไปฝากฝ่ายกับญวน ด้วยประสงค์จะเปนเจ้ากรุงกัมพูชาเอง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริห์ว่า กรุงกัมพูชาก็สิ้นเชื้อเจ้านายที่ได้ครอบครองบ้านเมืองมาแต่ก่อน ยังเหลือแต่นักองค์เองเปนทารกอยู่ในเงื้อมมือผู้ที่จะคิดตั้งตัวเปนใหญ่ จะอยู่ไปได้ถึงไหน ถึงอยู่ไปได้นักองค์เองเปนลูกสมเด็จพระนารายน์ซึ่งไม่เข้ากับไทยมาแต่ก่อน โตขึ้นคงจะไปฝากฝ่ายกับญวนเหมือนอย่างบิดา จะปล่อยกรุงกัมพูชาไว้ไม่ได้ จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพจำนวนพล ๒๐,๐๐๐ ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ถืออาญาสิทธิ์เปนแม่ทัพใหญ่ เจ้าพระยาสุรสีห์เปนทัพน่า เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ลูกเธอพระองค์ใหญ่เปนกองหนุน พระยากำแหงสงครามพระยานครราชสิมาคนเก่า ซึ่งโปรดให้เข้ามารับราชการในกรุง ฯ เปนเกียกกาย พระยานครสวรรค์เปนยุกรบัตร กรมขุนรามภูเบศร์เปนกองหลัง พระยาธรรมาเปนกองลำเลียง พร้อมกันยกไปตีกรุงกัมพูชา แลมีรับสั่งไปว่า เมื่อตีกรุงกัมพูชาได้แล้วให้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ อภิเศกเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ให้ครองกรุงกัมพูชาต่อไปทีเดียว.

เมื่อกองทัพไทยยกลงไปถึงเมืองเขมร สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ตั้งอยู่ที่เมืองเสียมราฐ ให้เจ้าพระยาสุรสีห์ยกไปทางริมทเลสาบฟากตวันตก ไปตีเมืองบันทายเพ็ชรอันเปนราชธานีของกรุงกัมพูชา แลให้กองทัพเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์กองทัพพระยากำแหงสงครามยกหนุนลงไปด้วยทาง ๑ ให้กองทัพกรมขุนรามภูเบศร์กองทัพพระยาธรรมายกลงไปทางริมทเลสาบฟากตวันออก ไปตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงสวายอิกทาง ๑ ฝ่ายสมเด็จฟ้าทะละหะรู้ว่ากองทัพไทยยกลงไป เห็นเหลือกำลังที่จะต่อสู้ก็ทิ้งเมืองบันทายเพ็ชรอพยพครอบครัวลงไปอยู่เมืองพนมเปน แล้วไปอ่อนน้อมขอกองทัพญวนที่เมืองไซ่ง่อนมาช่วย ญวนก็ให้กองทัพขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปน เจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพตามฟ้าทะละหะลงไป ทราบว่ากองทัพญวนขึ้นมาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปน ก็ให้รีบบอกมายังสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ แล้วตั้งค่ายคอยฟังคำสั่งแม่ทัพใหญ่อยู่ ยังหาได้รบกับญวนไม่ ขณะนั้นเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ก็ลงไปตั้งอยู่ที่เมืองบันทายเพ็ชร การสงครามทางกรุงกัมพูชาเริ่มทำได้เพียงเท่านี้ก็ต้องหยุด ด้วยทางกรุงธนบุรีเกิดเปนจลาจล สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ต้องเลิกทัพกลับมาปรามยุคเข็ญ.

เหตุที่จะเกิดการจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีครั้งนั้น มีเรื่องราวปรากฎในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ตั้งแต่เลิกสงครามคราวอะแซหวุ่นกี้ตีหัวเมืองเหนือแล้ว พระเจ้ากรุงธนบุรีมักเสด็จไปนั่งกรรมฐานที่วัดบางยี่เรือ ซึ่งได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เนือง ๆ แล้วติดพระไทยในการนั่งกรรมฐานหนักขึ้น พระอารมณ์ก็จับฟั่นเฟือน เกิดมีอาการดุร้ายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนโดยลำดับมา ครั้นสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ยกกองทัพไปเมืองเขมรแล้วไม่ช้า ทางนี้พระเจ้ากรุงธนบุรีก็มีสัญญาวิปลาส เกิดสำคัญพระองค์ว่าเปนพระโสดาบัน มีรับสั่งให้พระราชาคณะทั้งปวงมาประชุมกันในโรงพระแก้ว เมื่อณวันอาทิตย์ เดือน ๙ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ แล้วเสด็จออกมีรับสั่งถามพระราชาคณะว่า พระภิกษุสงฆ์อันเปนปุถุชนจะกราบไหว้คฤหัสถ์ซึ่งเปนพระโสดาบันนั้นจะได้ฤๅมิได้ประการใด พระราชาคณะโดยมากพากันกลัวพระราชอาญา ถวายพระพรว่าไหว้ได้ แต่สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) วัดบางว้าใหญ่กับพระพิมลธรรมวัดโพธาราม แลพระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย ๓ องค์นี้ถือพระธรรมวินัยมั่นคง ไม่ครั่นคร้ามต่อพระราชอาญา ถวายพระพรว่า ถึงคฤหัสถ์จะเปนพระโสดาบัน เพศก็ยังต่ำกว่าพระภิกษุปุถุชนอันทรงผ้ากาสาวพัสตร์แลจตุปาริสุทธศีล เพราะฉนั้นที่พระภิกษุจะกราบไหว้คฤหัสถ์หาควรไม่ พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงฟังก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสว่าพระราชาคณะทั้งปวงก็ยังเห็นกันว่าไหว้ได้โดยมาก ยังแต่ ๓ องค์ยังบังอาจโต้แย้งฝ่าฝืนถวายพระพรให้ผิดพระบาลี จึงมีรับสั่งให้ถอดเสียจากสมณศักดิ์ แล้วให้เอาตัวสมเด็จพระสังฆราชกับพระราชาคณะ ๒ องค์ที่ถูกถอดนั้น กับทั้งพระภิกษุซึ่งเปนฐานานุกรมแลอันเตวาสิกสัทธิวิหาริกรวมทั้งสิ้นประมาณ ๕๐๐ รูป ไปลงพระราชอาญาที่วัดหงส์ ให้ตีหลังสมเด็จพระสังฆราชกับพระราชาคณะองค์ละ ๑๐๐ ที ฐานาเปรียบองค์ละ ๕๐ ที พระอันดับองค์ละ ๓๐ ที๑๐ แล้วให้เอาตัวขังไว้ขนอาจมของโสโครกที่วัดหงส์ทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมาพระสงฆ์เข้าเฝ้าก็หมอบกราบถวายบังคมเหมือนกับข้าราชการฝ่ายฆราวาศทั้งปวง.

การที่พระเจ้ากรุงธนบุรีทำแก่พระสงฆ์ดังกล่าวมา เมื่อทราบไปถึงไหนคนทั้งหลายก็พากันตกใจ เห็นว่าเกิดวิปริตขึ้นในบ้านเมือง บางพวกก็โกรธแค้น บางพวกก็พากันสงสารพระสงฆ์ซึ่งต้องรับพระราชอาญา ถึงเข้าขอให้ตีตนแทนก็มี เกิดโกลาหลสดุ้งสเทือนทั่วไปทั้งพระนคร ครั้นต่อมาพระเจ้ากรุงธนบุรีซ้ำมีอาการเกิดทรงระแวงว่าข้าราชการพากันลอบลักพระราชทรัพย์ ให้โบยตีจำจอง แลบางทีก็เอาตัวผู้ต้องหาขึ้นย่างไฟจะให้รับเปนสัตย์ แล้วพระราชทานรางวัลผู้ที่เปนโจทย์ฟ้องร้อง ยกเปนบำเหน็จความชอบในราชการ ก็เลยเปนเหตุให้คนพาลแกล้งใส่ความฟ้องผู้อื่นชุกชุมขึ้น มีคนต้องโทษกักขังเฆี่ยนตี แลที่ถูกประหารชีวิตรมากขึ้นทุกที.

ข่าวที่เกิดวิปริตขึ้นในกรุงธนบุรีเห็นจะทราบไปถึงสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ เมื่อราวเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ จึงให้รอการที่จะทำสงครามกับญวนไว้ แล้วให้พระยาสุริยอภัยผู้เปนหลาน๑๑กลับมายังเมืองนครราชสิมา ให้มาคอยฟังเหตุการณ์ทางกรุงธนบุรี ถ้าเห็นว่าบ้านเมืองจะเกิดเปนจลาจลเมื่อใดให้รีบยกกองทัพเมืองนครราชสิมาเข้ามารักษากรุงธนบุรีไว้ พระยาสุริยอภัยจึงกลับมาคอยฟังเหตุการณ์อยู่ณเมืองนครราชสิมา.

ฝ่ายที่ในกรุงธนบุรี พวกคนพาลได้บำเหน็จรางวัลเพราะใส่ความร้องฟ้องผู้อื่นก็พากันกำเริบขึ้นทุกที จนมีพวกที่หากินในกระบวนเปนโจทย์ขึ้นประมาณ ๓๐๐ คนเศษ พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงตั้งตัวสำคัญ ชื่อพันสีให้เปนที่ขุนจิตรจูล พันลาเปนที่ขุนประมูลราชทรัพย์ เปนตำแหน่งหัวน่าพวกโจทย์ ก็ถวายฎีการ้องฟ้องผู้อื่นหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวินิจฉัยในเวลาพระสติฟั่นเฟือน ก็มิได้พิจารณาให้เห็นเท็จแลจริง สักแต่ว่าโจทย์สาบาลได้ ถ้าผู้ต้องหาไม่รับเปนสัตย์โดยดีก็ให้เฆี่ยนขับติดไม้แลย่างเพลิงจนกว่าจะรับ แล้วปรับไหมเรียกเร่งเอาเงินตามที่โจทย์หา ถ้าไม่มีเงินจะเสียก็เฆี่ยนเร่งไปทุกวันจนกว่าจะได้ คนที่ทนพระราชอาญาไม่ไหวก็ล้มตายเจ็บลำบากไปตามกัน ที่ถูกลงโทษถึงประหารชีวิตรก็มีเนือง ๆ แม้จนบุตรภรรยาญาติพี่น้องของข้าราชการที่ไปทัพ อยู่ทางนี้ก็ถูกโจทย์ฟ้องต้องรับพระราชอาญาโดยมาก กล่าวไว้ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า ในเวลานั้นที่บริเวณโรงชำระในพระราชวังเสียงแต่คนร้องไห้ครวญครางเซงแซ่ไปทุกๆ วัน ชาวพระนครก็พากันได้ความยากแค้นเดือดร้อนไปทั่วหน้า ที่อพยพหลบหนีออกไปอยู่ตามป่าตามดงก็มีเปนอันมาก จนที่ในกรุงธนบุรีก็มีบ้านเรือนร้างว่างเปล่าอยู่ทุกแห่งทุกตำบล.

ในเวลานั้นพระวิชิตณรงค์ผูกอากรไปเก็บภาคหลวงจากคนขุดทรัพย์อยู่ที่กรุงเก่า เพราะเมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุทธยาคราวหลัง พวกชาวกรุงฝังทรัพย์ซ่อนไว้ตามบ้านเรือนโดยมาก เมื่อเสร็จสงครามที่เจ้าของมีก็ไปขุด ที่เจ้าของเดิมล้มตายหายจากคนอื่นไปขุดเอาทรัพย์ซึ่งฝังไว้ก็ต้องเสียภาคหลวงตามกฎหมาย จึงเกิดการผูกขาดเก็บภาคหลวงขุดทรัพย์ที่กรุงเก่าขึ้นด้วยประการฉนี้ พระวิชิตณรงค์รับประมูลจะส่งเงินหลวงปีละ ๕๐๐ ชั่ง ขึ้นไปเกาะกุมเรียกเร่งเอาเงินแก่ราษฎรโดยอำนาจ๑๒ เปนเหตุให้พวกชาวกรุงเก่าได้ความเดือดร้อนอยู่แล้ว ครั้นมีพวกชาวกรุงธนบุรีอพยพหลบหนีขึ้นไป บอกข่าวที่เกิดการวิปริตในพระนครแพร่หลายไปถึงกรุงเก่าก็มีพวกชาวกรุงเก่าคิดเปนขบถขึ้น มีตัวหัวน่า ๓ คนชื่อขุนสุระคน ๑ นายบุนนาคบ้านแม่ลาคน ๑ กับขุนแก้วน้องพระยาสรรค์ซึ่งเปนข้าหลวงไปทำศิลาปากนกสำหรับปืนทหารคน ๑ คบคิดกับพรรคพวกอิกเปนอันมาก คุมกันเข้าปล้นจวนพระยาอินทรอภัยผู้รักษากรุงฯ พระยาอินทรอภัยสู้พวกขบถไม่ได้ก็หนีลงมายังกรุงธนบุรี แต่แรกพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงสำคัญว่าเปนแต่พวกโจรผู้ร้ายสามัญ เห็นมีชื่อปรากฎว่าขุนแก้วน้องพระยาสรรค์เปนหัวน่าผู้ร้ายด้วยคน ๑ เวลานั้นพระยาสรรค์เข้ามาอยู่ในกรุง ฯ จึงมีรับสั่งให้พระยาสรรค์เปนข้าหลวงขึ้นไปชำระสืบสาวเอาตัวผู้ร้ายที่ปล้นจวนผู้รักษากรุงเก่า พระยาสรรค์ขึ้นไปถึงกรุงเก่าพวกขบถกลับเกลี้ยกล่อมเอาพระยาสรรค์ไปเข้าด้วยได้ จึงพร้อมกันยกพระยาสรรค์ขึ้นเปนแม่ทัพให้นำลงมาตีกรุงธนบุรี.

พระยาสรรค์กับพวกขบถยกลงมาถึงกรุงธนบุรีเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีฉลู พ.ศ. ๒๓๒๔ ลอบมาในเวลาค่ำ พอถึงก็เข้าปล้นพระราชวัง รบกับพวกทหารรักษาป้อมล้อมวังอยู่จนเช้า พวกรักษาน่าที่ไม่เปนใจจะต่อสู้ข้าศึก พระเจ้ากรุงธนบุรีเห็นว่าจะสู้ไม่ไหวก็ให้สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) วัดหงษ์กับพระพิมลธรรม พระรัตนมุนี ออกไปเจรจายอมแพ้แก่พระยาสรรค์ ๆ จึงให้ทูลพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า ให้ทรงผนวชเสดาะพระเคราะห์เสียสัก ๓ เดือน พระเจ้ากรุงธนบุรีก็ยอมกระทำตาม ครั้นทรงผนวชแล้วพระยาสรรค์จึงให้เอาไปคุมไว้ที่ในพระอุโบสถวัดแจ้งกับทั้งลูกชายที่ยังทรงพระเยาว์ ส่วนเจ้านายผู้ชายที่เปนใหญ่มีเจ้ารามลักษณ์ ซึ่งเปนกรมขุนอนุรักษ์สงครามเปนต้นนั้น พระยาสรรค์ให้เอาจำไว้ทั้งหมด แล้วประกาศแก่บรรดาข้าราชการทั้งปวงว่า จะรักษาราชการไว้รอท่าสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ข้าราชการทั้งปวงเห็นชอบด้วยก็สงบอยู่ ยอมให้พระยาสรรค์เปนผู้สำเร็จราชการในระหว่างนั้น พระยาสรรค์ก็เข้าไปนั่งว่าราชการที่ท้องพระโรงในพระราชวัง ให้ปล่อยพวกข้าราชการแลราษฎรที่ถูกเวรจำกักขังโดยอาญาของพระเจ้ากรุงธนบุรีเสียทั้งสิ้น พวกราษฎรที่ได้ถูกร้องฟ้องต้องรับพระราชอาญาโดยหาความผิดมิได้ ครั้นเห็นพระเจ้ากรุงธนบุรีถูกกักขังหมดอำนาจแล้ว ต่างก็ชวนกันเที่ยวจับกุมพวกโจทย์มีพันสีพันลาเปนต้น ฆ่าฟันเสียตามอำเภอใจด้วยความโกรธแค้น ก็เกิดฆ่าฟันกันตายทั่วไปทุกแห่งหามีผู้ใดจับกุมห้ามปรามไม่.

ฝ่ายพระยาสรรค์ครั้นได้ว่าราชการ เห็นผู้คนทั้งปวงยอมอยู่ในบังคับบัญชาไม่เกี่ยงแย่ง ก็เกิดกำเริบคิดจะเปนใหญ่ต่อไป เห็นว่ายังกีดสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ อยู่ จึงลอบไปคิดอ่านกับกรมขุนอนุรักษ์สงครามหลานพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งเอาตัวจำขังไว้ ให้กรมขุนอนุรักษ์สงครามรับเปนหัวน่าต่อสู้สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ พระยาสรรค์จะเปนผู้อุดหนุนให้เงินหลวงในท้องพระคลังไปแจกจ่ายจ้างหาคนเปนพรรคพวก กรมขุนอนุรักษ์สงครามก็รับเปนตัวการ แต่ส่วนตัวพระยาสรรค์ทำเปนหารู้เห็นไม่ กรมขุนอนุรักษ์สงครามเกลี้ยกล่อมได้เจ้าพระยามหาเสนากับข้าราชการคนอื่นๆ อิกหลายคน มีพระยารามัญวงศ์แลพระยากลางเมืองนายกองมอญเปนต้น รับจะพาพวกของตนมาเข้าด้วย ทำนองกรมขุนอนุรักษ์สงครามจะคิดชิงเอากรุงธนบุรีเปนที่มั่นเสียก่อน เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยกกองทัพกลับเข้ามาก็จะต่อสู้ กำลังคิดอ่านตระเตรียมการอยู่ พระยาสุริยอภัยก็ยกกองทัพเมืองนครราชสิมามีจำนวน ๓,๐๐๐ เข้ามาถึงเมื่อวันศุกร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ พระยาสรรค์กับพวกที่ร่วมคิดกันก็ตกใจ เกรงความที่คิดไว้จะแพร่งพราย จึงรีบให้นัดหมายผู้คนแล้วปล่อยให้กรมขุนอนุรักษ์สงครามออกในเวลาค่ำ เมื่อณวันอังคาร เดือน ๕ แรม ๕ ค่ำ ให้ยกพลไปปล้นบ้านพระยาสุริยอภัยที่ตำบลสวนมังคุด ในเวลาเที่ยงคืนค่ำวันนั้น แต่กรมขุนอนุรักษ์สงครามมีรี้พลน้อย เพราะชาวพระนครไม่เข้าด้วย ได้แต่พวกมอญในกองพระยารามัญวงศ์แลพระยากลางเมืองเปนพื้น ยกขึ้นไปถึงบ้านปูนข้างใต้สวนมังคุด เห็นเวลาลมสำเภากำลังพัดกล้า ได้ทีก็ให้เอาไฟจุดเผาบ้านเรือนราษฎรที่บ้านปูน๑๓ ให้ไฟไหม้ลุกลามขึ้นไปยังบ้านเรือนของพระยาสุริยอภัย แล้วให้ทหารรายโอบขึ้นไปทางด้านตวันตกจนถึงวัดบางว้าน้อย เอาปืนยิงเข้าไปในบ้านพระยาสุริยอภัย ฝ่ายพระยาสุริยอภัยไม่ทันรู้ตัว เห็นมีสัตรูมาปล้นบ้านก็เรียกคนออกต่อสู้ ครั้นเห็นไฟไหม้ขึ้นมาทางด้านใต้จวนจะถึงบ้านก็ตกใจ จึงตั้งสัตยาธิฐานขออย่าให้ไฟไหม้ลุกลามต่อขึ้นไป ขณะนั้นเพอิญลมพัดแปรไปทิศอื่น ไฟหาไหม้ไปถึงถึงสวนมังคุดไม่ พวกพลของพระยาสุริยอภัยก็พากันมีใจต่อสู้ข้าศึก แลเมื่อเกิดรบกันขึ้นนั้น เจ้าศิริรจนาท่านผู้หญิงของเจ้าพระยาสุรสีห์อยู่ที่บ้านปากคลองบางลำภู รู้ว่ามีข้าศึกมาปล้นบ้านพระยาสุริยอภัย จึงคิดอ่านกับพระยาเจ่งพระยาพระรามนายกองมอญ๑๔อิกพวก ๑ ช่วยกันจัดเรือรับพวกมอญซึ่งอยู่ในพระยาทั้ง ๒ นั้นข้ามฟากไปช่วยพระยาสุริยอภัยต่อสู้ข้าศึกอยู่จนเช้า พวกกรมขุนอนุรักษ์สงครามสู้ไม่ได้พากันแตกพ่าย ส่วนกรมขุนอนุรักษ์สงครามนั้นหนีไปอยู่ที่วัดยาง๑๕ พระยาสุริยอภัยตามจับได้ในวันนั้น ให้เอาตัวจำไว้รอสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ฝ่ายพระยาสรรค์เห็นการไม่สมความคิด มิรู้ที่จะทำประการใดก็นิ่งอยู่แต่ในพระราชวัง ด้วยเห็นว่าตัวเปนผู้อุดหนุนในทางลับ ถึงจะมีผู้สงไสยก็เห็นจะแก้ตัวได้ พระยาสุริยอภัยจึงให้ตั้งค่ายรายรักษาลงไป แต่สวนมังคุดจนถึงคลองนครบาลอันเปนเขตต์พระราชวัง แล้วให้สึกพระเจ้ากรุงธนบุรีเอากักขังไว้ให้มั่น ประสงค์จะป้องกันมิให้เกิดเหตุขึ้นได้อิก๑๖

ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ตั้งแต่ให้พระยาสุริยอภัยกลับมาแล้ว ก็คอยฟังเหตุการณ์อยู่ที่เมืองเสียมราฐ พอได้ข่าวว่าเกิดขบถขึ้นในกรุงธนบุรีก็มอบการศึกให้เจ้าพระยาสุรสีห์บังคับบัญชา แล้วรีบยกกองทัพมีจำนวน ๕,๐๐๐ กลับมาทางด่านพระจาฤก ครั้นมากลางทาง ทราบว่ามีสัตรูเกิดในกรุงธนบุรีถึงรบพุ่งกับพระยาสุริยอภัยเปนศึกกลางเมือง ก็ยกกองทัพตรงมายังกรุงธนบุรี มาถึงเมื่อณวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๓๒๕ ฝ่ายพวกชาวพระนครรู้ว่าสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกฯ กลับมาถึงต่างก็ชื่นชมยินดี มีพวกราษฎรพากันไปคอยรับเปนอันมาก ต่างร้องขอให้ช่วยปราบยุคเข็ญให้บ้านเมืองเปนสุขสำราญดังแต่ก่อนตลอดทางที่เข้ามา ครั้นมาถึงพระราชวังข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงก็อ่อนน้อมพร้อมกัน หามีผู้หนึ่งผู้ใดกระด้างกระเดื่องไม่ สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ ไต่สวนทราบเรื่องเหตุการณ์ทั้งปวงที่ได้มีมาตลอดแล้ว จึงให้มีกะทู้ถามพระเจ้ากรุงธนบุรี ให้ชี้แจงความประพฤติ ที่ได้กระทำแก่พระสงฆ์แลพวกชาวพระนคร ตลอดจนครอบครัวของผู้ไปราชการสงคราม ให้พากันได้ความทุกข์ยากล้มตายโดยหาความผิดมิได้ พระเจ้ากรุงธนบุรีไม่สามารถจะแก้ได้ก็รับผิดสิ้นทุกประการ สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ จึงให้ข้าราชการทั้งปวงปฤกษาโทษพระเจ้ากรุงธนบุรี ปฤกษาพร้อมกันเห็นว่าเปนเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดินจะละไว้มิได้ ควรให้สำเร็จโทษเสีย สมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ เห็นว่าเปนอัปปติสนธิกภาพ ด้วยบ้านเมืองกำลังมีศึกสงครามภายนอก มาเกิดทรยุคขึ้นภายในเพราะพระเจ้ากรุงธนบุรีเปนตัวเหตุ เห็นจะเกิดการจลาจลต่อไป จึงต้องอนุญาตให้เปนไปตามคำปฤกษาของข้าราชการทั้งปวง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีต้องสำเร็จโทษนั้นชนมายุได้ ๔๘ ปี แล้วให้พิจารณากรมขุนรามภูเบศร์ ๆ ก็ให้การซัดทอดถึงผู้ที่ได้ร่วมคิด มีพระยาสรรค์เปนต้น ได้ความเปนสัตย์จึงพิพากษาลงโทษตามความผิดหมดทุกคน.

ครั้นเสร็จการปราบยุคเข็ญที่กรุงธนบุรีแล้ว ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงจึงพร้อมกันอัญเชิญสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึก ฯ เสด็จขึ้นผ่านพิภพเปนพระมหากษัตราธิราชทรงปกครองสยามประเทศสืบไป จึงเสด็จปราบดาภิเศกทรงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ประดิษฐานพระบรมราชจักรีวงศ์ ดำรงสยามประเทศสืบมา แลทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าสุรสีห์ให้เปนพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล แล้วทรงสร้างกรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร ฯ เปนราชธานี ก็สิ้นสมัยกรุงธนบุรีอันมีกำหนดอายุกาลได้ ๑๕ ปี ด้วยประการฉนี้.

  1. ๑. เรื่องกองทัพไทยยกขึ้นไปคราวนี้หามีในหนังสือพระราชพงษาวดารไม่ แต่ความที่ปรากฎว่ากองทัพพม่าต้องทิ้งเมืองเชียงใหม่หนีกลับไปข้อนี้เปนหลักฐานว่า ต้องมีกองทัพไทยยกขึ้นไปพม่าจึงได้หนี.

  2. ๒. เมืองโขงนี้ภายหลังมามีชื่อว่า เมืองสีทันดร.

  3. ๓. เจ้าเวียงจันท์คนนี้ ในหนังสือพระราชพงษาวดารหาปรากฎชื่อไม่ เข้าใจว่าเจ้าบุญสารนั้นเอง มีเรื่องราวการเกี่ยวข้องกับพระเจ้ากรุงธนบุรีอยู่ในหนังสือพระราชวิจารณ์โดยพิศดาร.

  4. ๔. เรื่องตีเมืองเวียงจันท์ครั้งนี้ มีรายการอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดารมาก แต่เห็นว่ามิใช่ท้องเรื่องของหนังสือนี้ จึงเก็บมากล่าวแต่ใจความ.

  5. ๕. เรื่องการรับแลการสมโภชพระแก้วมรกฎที่กรุงธนบุรีมีในหนังสือพระราชวิจารณ์โดยเลอียดพิศดาร.

  6. ๖. เรื่องนักองค์ตนชิงราชสมบัติกับนักองค์นนท์ ได้กล่าวไว้ในเรื่องสงครามครั้งที่ ๓ ที่ ๔.

  7. ๗. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า จำนวนพล ๑๐,๐๐๐ เห็นจะผิดตัวเลข น่าจะเปน ๒๐,๐๐๐ เปนอย่างน้อย.

  8. ๘. ที่ประดิษฐานพระแก้วมรกฎเมื่อครั้งกรุงธนบุรี คือ วิหารเล็กหลังข้างใต้คู่กับพระอุโบสถเก่า อยู่ริมน้ำข้างหน้าพระปรางค์วัคอรุณฯ เวลานั้นเปนวัดในพระราชวังไม่มีพระสงฆ์ ที่เรียกว่าโรงพระแก้วเห็นจะเรียกติดมาแต่โรงหลังแรกที่ปลูกรับพระแก้วเมื่อแรกเสด็จมาถึง.

  9. ๙. สามวัดที่กล่าวมานี้ คือ วัดระฆัง วัดพระเชตุพน แลวัดอมรินทร์

  10. ๑๐. ในหนังสือหระราชพงษาวดารว่าถูกตีหลังด้วยกันทั้งหมด แต่หากล่าวว่าพระอันดับถูกตีกี่ทีไม่ จึงประมาณว่า ๓๐ ทีอันเปนอัตรารองลงมา.

  11. ๑๑. คือ กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ ๑ เวลานั้นเปนผู้ว่าการเมืองนครราชสิมา.

  12. ๑๒. เรื่องที่กล่าวในหนังสือพระราชพงษาวดารกับในจดหมายเหตุในหนังสือพระราชวิจารณ์บางแห่งไม่ตรงกัน ข้าพเจ้าอนุมัติตามจดหมายเหตุในพระราชวิจารณ์ เพราะเห็นว่าผู้จดได้รู้เห็นด้วยตนเอง.

  13. ๑๓. บ้านปูนอยู่ที่เหนือวัดระฆัง สวนมังคุดอยู่ราวต่อโรงศิริราชพยาบาลมาข้างใต้ ต่อขึ้นไปเรียกว่าสวนลิ้นจี่.

  14. ๑๔. ครั้งนั้นพวกมอญแตกกันเปน ๒ พวก พวกพระยาเจ่งพระยาพระรามนับถือสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกฯ จึงมาช่วยข้างนี้.

  15. ๑๕. วัดยางอยู่ทางคลองบางกอกน้อยใกล้วัดนายโรง ซึ่งเจ้ากรับสร้าง.

  16. ๑๖. ในหนังสือพระราชพงษาวดารว่า เมื่อพระยาสุริยอภัยเข้ามาถึงกรุงธนฯ ปฤกษากับพระยาสรรค์ให้สึกพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่ในหนังสือพระราชวิจารณ์ปรากฎว่า เมื่อวันรบกันกลางเมืองพระเจ้ากรุงธนบุรียังทรงผนวชอยู่.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ