คำนำ

ในอภิลักขิตสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช ทรงเจริญพระชนมายุได้สองหมื่นหกพันสี่ร้อยหกสิบเก้าวันในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๔๓ เป็นสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระปฐมบรมปัยกาธิราช คณะกรรมการอำนวยการจัดงานหรือกิจกรรมเนื่องในวโรกาสสำคัญในพุทธศักราช ๒๕๔๓ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุพระราชพิธีสมมงคล พระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีหน้าที่กำหนดแนวทางและจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุเนื่องในพระ ราชพิธีฯ การนี้ เห็นควรให้จัดพิมพ์หนังสือที่มีคุณค่าประกอบด้วยต้นฉบับหนังสือตัวเขียนใน รัชกาลที่ ๑ ตรวจสอบชำระต้นฉบับหนังสือที่หาได้ยากในปัจจุบัน นำมาถ่ายถอด ทำคำอ่าน คำอธิบาย โดยแต่งตั้งคณะบรรณาธิการดำเนินการแต่ละเล่มประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ ปรึกษาและนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ของกรมศิลปากร

หนังสือที่ระลึกที่จัดพิมพ์ในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีดังนี้

ตำราพิไชยสงคราม ฉบับรัชกาลที่ ๑ สร้างเมื่อจุลศักราช ๑๑๔๔ (พ.ศ. ๒๓๒๕) เนื้อหาของตำราว่าด้วยกลศึก วิธีใช้ และรูปแบบการจัดตั้งทัพ การดูนิมิตและปรากฏการณ์บนท้องฟ้า รวมถึงหลักสำคัญเก้าประการที่ต้องมีสติกำกับดูแลเพื่อดำรงชีวิตให้ประสบความ สำเร็จทั้งในยามศึกและยามสงบ ตำราพิไชยสงครามจึงเป็นตำราสำคัญในการปฏิบัติตนของชายไทยทุกระดับชั้น ตั้งแต่พระมหากษัตริย์จนถึงไพร่พลทั่วไปเพื่อรับใช้แผ่นดิน เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์และ ทรงฟื้นฟูศิลปวิทยาการต่าง ๆ ของบ้านเมืองให้กลับดีดังเดิม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างตำราพิไชยสงครามไว้เป็นแบบแผน การรบสำหรับบ้านเมือง

ตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ต้นฉบับเดิมเป็นของเมืองนครศรีธรรมราช มีเนื้อหาว่าด้วยแผนผัง ข้าราชการผู้มีหน้าที่ในการก่อสร้างซ่อมแซมจวนวังของเมืองนครศรีธรรมราช กฎหมายสำหรับข้าราชการ การอยู่เวรยามดูแลจวนวังของเมือง และขนบธรรมเนียมประเพณีในการปกครองบ้านเมือง สันนิษฐานว่า เมืองนครศรีธรรมราชได้ถ่ายแบบเหล่านี้ไปจากกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในพุทธศักราช ๒๓๒๙ สมเด็จพระสังฆราช (สี) ทรงขอตำนานการทำพิธีตรุษและสารทของเมืองนครศรีธรรมราชซึ่งมีบันทึกอยู่ใน ตำรา ๑๒ เดือนนี้มาเป็นแบบอย่างในการทำพิธีตรุษและสารทสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ แรกสร้างด้วย

ตำราช้าง ฉบับรัชกาลที่ ๑ เป็นตำราว่าด้วยกำเนิดและลักษณะของช้างดีชนิดต่าง ๆ สี่ตระกูล ตระกูลพรหมพงศ์ พิษณุพงศ์ อิศวรพงศ์ และอัคนิพงศ์ แต่งเป็นสำนวนร้อยแก้ว

ชิดก๊กไซ่ฮั่น วรรณคดีแปลจากพงศาวดารจีน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข คือ กรมพระราชวังหลัง ทรงอำนวยการแปล เข้าใจว่า แปลก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ นับว่าเป็นหนังสือดี ให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ตำราพิชัยสงคราม สัจธรรมของชีวิต เป็นวรรณคดีมรดกที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลก มหาราชที่ทรงพระเมตตาแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินโดยสร้างหนังสือต่าง ๆ ขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับพระนคร

เรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ เรื่องตั้งเจ้าพระยา และ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมเป็นหนังสือสำคัญชุดเดียวกัน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งสภานายกกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร และทรงบังคับบัญชากรมพระอาลักษณ์ ทรงรวบรวม ตรวจสอบ เรียบเรียง แต่จัดพิมพ์เผยแพร่แล้วเสร็จเฉพาะเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ส่วนอีกสองเรื่องยังมิทันได้ตรวจสอบก็ประชวร จึงรับสั่งขอให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสภานายกกรรมการหอพระสมุดฯ ต่อมา ทรงตรวจสอบเพิ่มเติมและจัดพิมพ์เผยแพร่มาตามลำดับ การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ตรวจสอบชำระ เพิ่มเติมข้อมูล จัดหารูปภาพประกอบให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องตั้งพระบรมวงศานุวงศ์และเรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุง รัตนโกสินทร์ได้เพิ่มเติมการสถาปนาเจ้านายและการตั้งพระราชาคณะมาจนถึง รัชกาลที่ ๙

เรื่องสุดท้ายเป็น หนังสือสรุปผลการสัมมนาทางวิชาการเฉลิมพระเกียรติในโอกาสพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อวันที่ ๒๘–๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับพระราชปณิธานและมรดกทางวัฒนธรรมสองรัชกาล

อนึ่ง ในการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกเนื่องในพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชครั้งนี้ มูลนิธิทุนพระพุทธยอดฟ้า ในพระบรมราชูปถัมถ์ มีพระธรรมเสนานี เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงสถาปนาวัดพระเชตุพนวิมล มังคลารามให้เป็นพระอารามสำคัญสำหรับพระนครและเป็นพระอารามประจำรัชกาลซึ่ง สมเด็จพระมหากษัตราธิราชเจ้าลำดับรัชกาลต่อมาได้ทรงทะนุบำรุงให้รุ่งเรืองงด งามไว้ด้วยดี ได้มอบทุนค่าจัดพิมพ์ทุกรายการ จึงขออนุโมทนาในกุศลเจตนามา ณ โอกาสนี้ หนังสือเฉลิมพระเกียรติชุดนี้นอกจากนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว จะนำแจกจ่ายเผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่การศึกษาสำหรับห้องสมุดและสถานศึกษาต่าง ๆ ต่อไป

นาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น

อธิบดีกรมศิลปากร

ประธานกรรมการจัดทำหนังสือที่ระลึกและจดหมายเหตุ

พระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่า

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ