คำชี้แจง

เรื่องไซ่ฮั่นเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่แพร่หลายมากเรื่องหนึ่งของจีน ได้รับคัดเลือกรวมอยู่ในหนังสือชุด "นิยายยุคเก่าที่มีชื่อเสียง ๑๐๐ เรื่อง" ฉบับภาษาจีน ชื่อเต็มว่า "ไซ่ฮั่นทงซกเอี้ยนหงี" หรือ "ซีฮั่นทงสูเอี่ยนอี้" ในภาษาจีนกลาง ไซ่ฮั่น หรือซีฮั่น หมายถึง ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ราชวงศ์ฮั่นแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกเรียก ไซ่ฮั่น คือ ฮั่นตะวันตก ช่วงหลังเรียก ตั้งฮั่น คือ ฮั่นตะวันออก) ทงซก หรือทงสู แปลเอาความได้ว่า เข้าถึงสามัญชน เหมาะแก่สามัญชน เอี้ยนหงี หรือเอี่ยนอี้ แปลว่า แสดงความหมาย (ของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์) ชื่อเต็มของนิยายเรื่องนี้จึงมีความหมายว่า "(นิยาย) แสดงความหมายของประวัติศาสตร์ยุคไซ่ฮั่นสำหรับสามัญชน"

ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้มีแซ่และชื่อตามเสียงจีนกลางว่า เจินเหว่ย แต้จิ๋วว่า จิงอุ้ย เขาตั้งสมญาตัวเองว่า "จงซานจีว์ซื่อ" หมายถึง "ผู้ปลีกวิเวกแห่งภูเขาจงซาน" เป็นชาวเมืองนานกิง (หนันจิง) สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑–๒๑๘๗) แต่ไม่ทราบปีเกิดปีตายและประวัติชีวิตของเขา สันนิษฐานได้เพียงว่า น่าจะเป็นคนรุ่นหลังล่อกวนตง (หลอกว้านจง) ผู้แต่งเรื่องสามก๊กผู้มีชีวิตอยู่ช่วงปลายราชวงศ์หยวน (พ.ศ. ๑๘๒๒–๑๙๑๑) ถึงต้นราชวงศ์หมิง ต้นฉบับเรื่องไซ่ฮั่นฉบับเก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบันเป็นฉบับพิมพ์จาก แม่พิมพ์ไม้ในรัชสมัยว่านลี่ ปีที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๑๕๕) ฉบับที่แพร่หลายที่สุดแบ่งเป็นหนึ่งร้อยเอ็ดตอน ยังมีฉบับที่แบ่งเป็นหนึ่งร้อยตอนและหนึ่งร้อยหกตอนอีก แต่เนื้อความยาวเท่ากัน เพียงแต่แบ่งบทต่างกัน การพิมพ์จำหน่ายในยุคเก่าแบ่งเป็นแปดเล่มสมุดจีนเหมือนกัน

นิยายเรื่องนี้ผู้แต่งปรับปรุงขยายความมาจากเรื่อง "หลีเฮาประหารฮั่นสิน" ซึ่งเป็นบทสำหรับเล่านิทานของนักเล่านิทานสมัยราชวงศ์หยวน โดยในสมัยราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. ๑๕๐๓–๑๘๒๒) และราชวงศ์หยวน การเล่านิทานเป็นศิลปะการบันเทิงที่ได้รับความนิยมมาก ผู้เล่าแต่ละคนมักรวบรวมเรื่องที่มีคนเล่าไว้ก่อนลงเป็นลายลักษณ์อักษร ใช้เป็นต้นฉบับที่ตนนำเอาไปเล่าต่อ อาจมีการตัดเติมตามที่ตนเห็นควร บันทึกนิทานพวกนี้ต่อมามีผู้นำมาแต่งขยายความเป็นนิยายและกลายเป็นวรรณกรรม ที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง เช่น นิยายสามก๊กของล่อกวนตงซึ่งมีชื่อภาษาจีนว่า "สามก๊กทงซกเอี้ยนหงี" ก็ปรับปรุงขยายความจากบันทึกนิทานเรื่องสามก๊กของสมัยราชวงศ์หยวนที่มีชื่อ ว่า "สามก๊กจี่เพ่งอ่วย" (แปลว่า นิทานประวัติศาสตร์สามก๊ก) เรื่องไซ่ฮั่นก็เช่นเดียวกัน เจินเหว่ยนำนิทานเรื่อง "หลีเฮาประหารฮั่นสิน" ไปสอบเทียบกับพงศาวดารช่วงปลายราชวงศ์โจวถึงต้นราชวงศ์ฮั่นขยายความให้ สมบูรณ์ชัดเจน โดยได้แก้ไขส่วนที่คลาดเคลื่อนให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น แต่มีความสนุกสนานชวนอ่านชวนติดตามแบบนิยายอย่างสมบูรณ์ เรื่องไซ่ฮั่นจึงเป็นนิยายที่เนื้อเรื่องตรงกับประวัติศาสตร์มากยิ่งกว่า เรื่องสามก๊ก แต่คุณค่าทางวรรณคดีด้อยกว่ามาก เน้นเหตุการณ์สำคัญตอนเล่าปัง ทำศึกแย่งชิงอำนาจกับห้างอี๋ จนสถาปนาราชวงศ์ฮั่นใต้ แล้วกำจัดฮั่นสิน

เรื่องสามก๊กเป็นวรรณคดีเอกเรื่องหนึ่งของจีน เป็นนิยายขนาดยาวเรื่องแรก ได้รับยกย่องว่า เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องเยี่ยมที่สุด ทั้งเป็นหนึ่งในสี่ "หนังสือวิเศษแห่งราชวงศ์หมิง" อันหมายถึง นิยายชั้นดีสุดยอดสี่เรื่องที่แต่งในราชวงศ์หมิง คือ สามก๊ก ซ้องกั๋ง (ชื่อจีนว่า สุยหู่จ้วน) ไซอิ๋ว และจินผิงเหมย (สามเรื่องแรกมีแปลอยู่ในชุดนิยายอิงพงศาวดารจีน เรื่องสุดท้ายยาขอบแปลจากฉบับย่อภาษาอังกฤษ ชื่อไทยว่า บุปผาในกุณฑีทอง) เรื่องไซ่ฮั่นไม่มีคุณสมบัติทางวรรณคดีเด่นเท่าสามก๊ก ทั้งยังด้อยกว่าเรื่องเลียดก๊ก แต่ก็เป็นเรื่องที่แพร่หลาย มีคุณค่าทางวรรณคดีอยู่พอสมควร เนื้อเรื่องกระชับ ชัดเจน ภาษาเรียบง่าย มีบทกวีแทรกอย่างไพเราะเหมาะแก่เรื่อง เช่น เพลงปี่ของเตียวเหลียงซึ่งผู้แปลถอดความเป็นร้อยแก้วไว้ในฉบับภาษาไทย ที่ยกย่องกันว่าเป็นข้อดีเด่นของเรื่องไซ่ฮั่น คือ ความสอดคล้องกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์และกลศึก ตลอดจนชั้นเชิงการบริหาร การใช้คน และภูมิปัญญาอื่น ๆ ที่แปลกแตกต่างจากเรื่องสามก๊ก

ในภาษาจีนนั้นนิยมพิมพ์เรื่องไซ่ฮั่น (ฮั่นตะวันตก หรือฮั่นตอนต้น) รวมกับเรื่องตั้งฮั่น (ฮั่นตะวันออก หรือฮั่นตอนปลาย) จบเรื่องของราชวงศ์ฮั่นสองเรื่องนี้แล้วจึงถึงเรื่องสามก๊ก เรื่องตั้งฮั่นด้อยกว่าเรื่องไซ่ฮั่นทั้งในแง่ประวัติศาสตร์และแง่วรรณคดี แต่เนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องกัน จึงนิยมพิมพ์รวมไว้ด้วยกัน เรื่องตั้งฮั่นแปลเป็นภาษาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เช่นเดียวกับเรื่องเลียดก๊กและห้องสิน นิยายอิงพงศาวดารจีนที่แปลในสมัยรัชกาลที่ ๑ และ ๒ ล้วนเป็นเรื่องการศึก กลอุบาย และพิชัยสงครามที่เด่นมาก คือ เลียดก๊ก ไซ่ฮั่น และสามก๊ก

เรื่องไซ่ฮั่นฉบับภาษาไทย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า แปลก่อน พ.ศ. ๒๓๔๙ อันเป็นปีทิวงคตของกรมพระราชวังหลังผู้ทรงเป็นแม่กองแปลเรื่องนี้ ชื่อตัวละคร สถานที่ และคำทับศัพท์ภาษาจีนทั้งหมดใช้ภาษาฮกเกี้ยนถิ่นเอ้หมึงเช่นเดียวกับเรื่อง สามก๊ก แต่ได้ปรับให้สะดวกแก่ลิ้นคนไทย แม้กระนั้น ก็ยังเห็นได้ชัดว่า เป็นภาษาฮกเกี้ยนใต้ถิ่นเอ้หมึง

ขอเรียนชี้แจงไว้ในที่นี้ว่า มณฑลฮกเกี้ยน หรือฝูเจี้ยน ในภาษาจีนกลางนั้น ภาษาทางภาคเหนือและภาคใต้ต่างกันมากจนสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง เนื่องจากมณฑลนี้มีชื่อเดิมว่า "หมิ่น" ภาษาทางภาคเหนือจึงเรียกว่า "ภาษาหมิ่นเหนือ" ซึ่งแบ่งเป็นภาษาถิ่นย่อยอีกหลายถิ่น แต่พอสื่อสารกันรู้เรื่อง ถือเอาภาษาเมืองฝูโจว หรือที่คนไทยสมัยก่อนเรียกว่า "ฮกจิ๋ว" เป็นถิ่นมาตรฐาน ส่วนภาษาทางใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง ตลอดจนถึงเกาะไต้หวันและเกาะไหหลำ รวมเป็นภาษาถิ่นใหญ่ถิ่นเดียวกันเรียกว่า "ภาษาหมิ่นใต้" ซึ่งแยกเป็นภาษาถิ่นย่อยอีกหลายถิ่น ภาษาไหหลำ ภาษาแต้จิ๋ว ภาษาเอ้หมึง (เซี่ยเหมิน) ล้วนเป็นภาษาถิ่นย่อยของภาษาหมิ่นใต้ พอสื่อสารกันรู้เรื่อง ภาษาฮกเกี้ยนในเมืองไทย หรือตามความเข้าใจของคนไทยนั้น คือ ภาษาเอ้หมึง ซึ่งคล้ายกับภาษาพื้นถิ่นใต้ในไต้หวันมากจนถือเป็นภาษาเดียวกันได้ หรือกล่าวได้ว่า คนไต้หวันก็พูดภาษาฮกเกี้ยนอันเป็นภาษาถิ่นที่มีผู้ใช้กระจายกว้างแต่ถือเอา สำเนียงเอ้หมึงเป็นสำเนียงมาตรฐาน ภาษาฮกเกี้ยน รวมทั้งภาษาหมิ่นใต้อื่นทั้งหมด เช่น ภาษาแต้จิ๋ว และภาษาไหหลำ ล้วนต่างจากภาษาจีนกลางมากจนสื่อสารกันไม่รู้เรื่องเลย แม้จะมีบางคำออกเสียงคล้ายกันบ้างก็ตาม เช่น สาน (ฮก), ซาน (กล) ที่แปลว่า ภูเขา

ในวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิตเรื่อง สามก๊ก: การศึกษาเปรียบเทียบ ของประพิณ มโนมัยวิบูลย์ ศึกษาพบว่า คำทับศัพท์ภาษาจีนในเรื่องสามก๊กเป็นภาษาฮกเกี้ยนถิ่นเอ้หมึง ตรงกับคำยืนยันของเสถียร วีรกุล ปราชญ์ด้านจีนวิทยาผู้รู้ภาษาถิ่นเอ้หมึงดี เรื่องไซ่ฮั่นซึ่งแปลในยุคเดียวกันย่อมใช้ภาษาฮกเกี้ยนถิ่นเอ้หมึงเหมือนกัน แต่ภาษาพูดของจีนนั้น แม้เป็นภาษาถิ่นเดียวกัน แต่ถ้าอยู่ต่างอำเภอกันหรือห่างกันราวสิบกิโลเมตรขึ้นไปแล้ว สำเนียงจะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซินแสผู้แปลไซ่ฮั่นย่อมมีหลายคนเช่นเดียวกับเรื่องสามก๊ก ซินแสฮกเกี้ยนเอ้หมึงจากคนละถิ่นย่อมออกเสียงคำคำเดียวกันต่างกันไปบ้าง จึงปรากฏมีคำคำเดียวกันที่แปลทับศัพท์ออกมาลักลั่นอยู่หลายคำ เช่น แม่น้ำเกียงโห บางแห่งเป็น เกียงหอ แต่บางชื่อที่ลักลั่นน่าจะเป็นเพราะการคัดลอกผิดพลาดด้วย เช่น ซุนบู๊จู๋ เป็น ซุยบู๊จู๊ และซุยหมูจู้ อักษร ย ที่ถูกน่าจะเป็น น เป็น ซุนบู๊จู๊ และซุนหมูจู้ ทั้งสองคำนี้เป็นชื่อของนักการทหารผู้ยิ่งใหญ่ของจีนที่ปัจจุบันรู้จักกันใน นาม ซุนวู เจ้าของตำราพิชัยสงครามฉบับโด่งดังที่สุดของจีน คำอีกคู่หนึ่งที่แสดงความแตกต่างเรื่องสำเนียงของซินแสผู้แปล คือ คำว่า เกียงจูแหย กับเจียงไท่กง เกียงจูแหยเป็นแม่ทัพของจิวบู๊อ๋อง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว มีรายละเอียดอยู่นิยายอิงพงศาวดารเรื่อง ห้องสิน มีชื่อตัวว่า เกียงสง ชื่อรองว่า เกียงจูแหย เมื่อเสร็จศึกแล้วได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์และเกียรติคุณเป็น "ไท่กง" ซึ่งพอจะเทียบได้กับสมเด็จเจ้าพระยา คนจึงนิยมเรียกว่า เกียงไท่กง แต่ในเรื่องไซ่ฮั่นตอนหนึ่ง ซินแสออกเสียงคำว่า "เกียง" เป็น "เจียง" จึงกลายเป็น เจียงไท่กง ซึ่งเป็นคนคนเดียวกับเกียงจูแหยนั่นเอง ในเรื่องสามก๊กเรียกบุคคลผู้นี้ตามชื่อตัว เกียงสง แต่เสียงเพี้ยนไปเป็น เก่งสง เกียงสง เกียงจูแหย หรือเกียงไท่กงนี้เขียนตำราพิชัยสงครามไว้เล่มหนึ่ง เตียวเหลียง ได้ตำราเล่มนี้จากผู้เฒ่าศิลาเหลืองและได้ใช้พิชัยยุทธในตำรานี้ช่วยเล่าปัง ทำศึกเอาชนะห้างอี๋ได้ ความลักลั่นและคลาดเคลื่อนของชื่อตัวละคร สถานที่ ตลอดจนคำทับศัพท์ภาษาจีนประเภทอื่นในเรื่องไซ่ฮั่น นอกจากเพราะซินแสเป็นคนต่างถิ่นต่างสำเนียงกันแล้ว ยังเกิดจากการคัดลอกผิด ตลอดจนการพิสูจน์อักษรพลาดอีกด้วย การจะสอบชำระให้ถูกต้องทั้งหมดเป็นงานใหญ่ต้องใช้เวลามาก ยากที่จะทำให้เสร็จในการพิมพ์ครั้งนี้ได้ จึงเพียงตั้งข้อสังเกตและยกตัวอย่างบางคำไว้เท่านั้น

ส่วนวิธีการแปลนั้น เท่าที่ได้อ่านเทียบกับฉบับภาษาจีนดูคร่าว ๆ สรุปได้ว่า ใช้วิธีการเดียวกับเรื่องสามก๊ก คือ บางตอนแปลได้ครบถ้วนถูกต้องตรงตามต้นฉบับภาษาจีน บางตอนก็ขาดตกบกพร่องไปตามข้อจำกัดของคณะผู้แปล บางตอนก็ตัดเติมให้คนไทยอ่านเข้าใจได้ง่าย สิ่งที่ขาดหายไปอย่างเห็นได้ชัด คือ บทกวีที่แทรกอยู่ในเรื่องส่วนมากถูกตัดออก เพราะเป็นเรื่องที่แปลยาก แต่ถ้าบทใดมีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง ตัดออกไม่ได้ ก็แปลถอดความเป็นร้อยแก้วไว้ เช่น เพลงปี่ของเตียวเหลียง เพลงโศกของฌ้อปาอ๋อง และเพลงโศกของนางหงอกี๋ ส่วนการตัดเติมและปรับลำดับความใหม่ให้คนไทยเข้าใจง่ายนั้นเห็นได้ชัดตอนต้น เรื่อง ดังจะขอแปลใหม่ตรงตามฉบับภาษาจีนลงไว้ให้ดูก่อนดังนี้

ตอนที่หนึ่ง ชนะศึกจิ๋น อิหยินเป็นเชลย

"อันว่าบรรดาแคว้นทั้งเจ็ดนั้น เจ้าแคว้นเตียวเดิมทีแซ่เดียวกับแค้วนจิ๋น ปวนเหนียมผู้ปู่ (ของเจ้าแคว้นเตียว) มีบุตรชื่อกิเซง กิเซงมีบุตรชื่อ เจาหู ครั้งนั้น พระเจ้าจิ๋วมกอ๋องมีม้าฝีเท้าดีแปดตัว ตัวหนึ่งชื่อ เจอะตี้ (เลิศธรณี) ตัวหนึ่งชื่อ พวนอู (เหนือปักษา) ตัวหนึ่งชื่อ ผุนเซียว (โผนนภา) ตัวหนึ่งชื่อ เทียวเก๋ง (พ้นทัศนา) ตัวหนึ่งชื่อ ยูฮุย (ข้ามรัศมี) ตัวหนึ่งชื่อ เทียวก๋อง (เร็วกว่าแสง) ตัวหนึ่งชื่อ เทงบู๊ (ทะยานผ่านเมฆหมอก) ตัวหนึ่งชื่อ กั้วเอ๊ก (ติดปีก) พระองค์ทรงรถเทียมม้าทั้งแปดนี้อยู่เสมอ เจาหูเป็นสารถี ขับขี่ประพาสทั่วใต้ฟ้า รอยเท้าม้าแลล้อรถไม่มีที่ไหนไปไม่ถึง เหินทะยานไปถึงเขาคุนหลุน ได้พบเทพธิดาไซ่อ๋องโปพระแม่เจ้าจัดเลี้ยงถวายเธอ ณ รัตนสาครสระหยก ของเสวยล้วนทิพยโอชาสุธาโภชน์ พระเจ้าจิ๋วมกอ๋องทรงพระสำราญจนลืมเสด็จกลับ อยู่มา เอี๋ยนอ๋องแห่งแคว้นชีจิ๋วเป็นกบฏชิงนครจิว เทพธิดาไซ่อ๋องโปจึงตรัสว่า 'ท่านรีบกลับไปเถอะ หาไม่แล้ว แผ่นดินจะตกเป็นของผู้อื่น' เจาหูรีบขับราชรถกลับพระนคร แล้วยืมกำลังจากแคว้นฌ้อปราบแคว้นชีจิ๋วรักษาราชอาณาจักรจิวไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีความชอบ ได้อวยยศเป็นเตียวอ๋องครองเมืองกำตั๋น แลให้ใช้แซ่เตียวตามชื่อแคว้นศักดินาของตน"

ส่วนสำนวนแปลครั้งรัชกาลที่ ๑ ได้เติมความและเรียบเรียงใหม่ให้คนไทยเข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

"เดิมพงศาวดารเมืองจีนชิดก๊กไซ่ฮั่นต้นสามก๊กแปลออกได้ความว่า ยังมีพระเจ้าจี๋วมกอ๋องครองราชสมบัติในเมืองตั้วก๊กจี๋วเป็นเมืองหลวง มีเมืองใหญ่เจ็ดเมือง คือ เมืองเจ๋ เมืองฌ้อ เมืองเอี๋ยยน เมืองเตียว เมืองงุย เมืองหัน เมืองจี๋น หัวเมืองใหญ่ทั้งเจ็ดนี้มีบุตรชายต้องเอาไปถวายพระเจ้าจี๋วมกอ๋องเป็นจำนำ ต่างตัวเมืองละคน ครั้งนั้น ปวยเหนียมเป็นเจ้าเมืองจี๋น มีบุตรชื่อ กิเซง กิเซงมีบุตรชื่อ เจาหู ครั้นปวยเหนียมตายแล้วกิเซงได้เป็นเจ้าเมืองจี๋น จึงให้เจาหูผู้บุตรไปเป็นขุนนางอยู่ในพระเจ้าจี๋วมกอ๋อง ณ เมืองตั้วก๊กจี๋ว

"พระเจ้าจี๋วมกอ๋องมีม้าแปดม้า ม้าหนึ่งชื่อ เจอะตี้ แปลว่า ปราบแผ่นดิน ตัวหนึ่งชื่อ พวนอู ว่า ผิวเนื้อลายตัวงาม ตัวหนึ่งชื่อ ผุนเสียว ว่า ราวจะไปได้บนอากาศ ตัวหนึ่งชื่อ เทียวเก๋ง ว่า เร็วหาตัวเปรียบมิได้ ตัวหนึ่งชื่อ ยูฮุย ว่า องอาจในกลางศึก ตัวหนึ่งชื่อ เทียวก๋อง ว่า ถ้าขี่ไปในเวลากลางคืนเห็นแสงสว่าง ตัวหนึ่งชื่อ เทงบู๊ ขี่ไปดังจะเข้าหมอกออกเมฆได้ ตัวหนึ่งชื่อ กั้วเอ๊ก ว่า ดังมีปีกบินได้ ถ้าพระเจ้าจี๋วมกอ๋องจะมีที่เสด็จไปแห่งใด ม้าแปดม้านี้สำหรับเทียมรถ พระเจ้าจี๋วมกอ๋องเห็นว่า เจาหู บุตรกิเซงเจ้าเมืองจี๋น มีสติปัญญา จึงตั้งให้เป็นขุนนางที่ปรึกษาสำหรับรักษาพระองค์

"ครั้นหนึ่ง พระเจ้าจี๋วมกอ๋องเสด็จทรงรถเที่ยวประพาสไปถึงที่ตำบลหนึ่งมีภูเขาชื่อ ขุนหลุน เป็นที่สนุก เสด็จเที่ยวประพาสชมเขาอยู่ ยังมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งออกรับเชิญให้เสวยเครื่องทิพโอชารส พระเจ้าจี๋วมกอ๋องครั้นได้เสวยทิพอาหารก็เพลิดเพลินพระทัยไม่คิดที่จะกลับ คืนพระนคร อยู่ภายหลัง เอี๋ยนอ๋อง เจ้าเมืองชีจี๋ว คิดกบฏ เตรียมกองทัพจะยกไปชิงเอาราชสมบัติพระเจ้าจี๋วมกอ๋อง ขณะนั้น นางเทพธิดารู้เหตุจึงแจ้งแก่พระเจ้าจี๋วมกอ๋องว่า เอี๋ยนอ๋อง เจ้าเมืองชีจี๋ว จะคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ ขอเชิญเสด็จกลับเข้าพระนครโดยเร็ว พระเจ้าจี๋วมกอ๋องครั้นแจ้งจึงสั่งเจาหูว่า เจ้าจงเอารถที่เราทรงขี่มาคุมทหารทั้งปวงรีบกลับเข้าไปฟังราชการในพระนคร เจาหูก็คำนับลามาขึ้นรถพาทหารทั้งปวงรีบกลับเข้าไปถึงเมืองฌ้อ สืบรู้ว่า เอี๋ยนอ๋อง เจ้าเมืองชีจี๋ว คิดกบฏต่อพระเจ้าจี๋วมกอ๋อง เจาหูจึงจัดทหารในเมืองฌ้อกับทหารที่คุมมาสมทบกันยกไปตีเมืองชีจี๋ว ครั้นได้เมืองชีจี๋วแล้วจึงแต่งหนังสือบอกไปกราบทูลพระเจ้าจี๋วมกอ๋อง พระเจ้าจี๋วมกอ๋องทราบความแล้วเห็นว่า เจาหูเป็นแซ่เชื้อเจ้าเมืองจี๋น ชนะศึกมีความชอบ จึงพระราชทานตราให้เจาหูเป็นแซ่เตียว ชื่อ เตียวอ๋อง ครองเมืองกำตั๋น เจ้าเมืองเป็นแซ่เตียว ตั้งแต่นั้นมา จึงเรียกว่า เมืองเตียว"

จะเห็นได้ว่า การเติมเสริมความและเรียบเรียงใหม่นี้ทำให้เนื้อเรื่องชัดเจนเข้าใจง่ายยิ่ง ขึ้น ข้อแตกต่างระหว่างฉบับภาษาจีนกับภาษาไทยที่เห็นได้ชัดอีกประการหนึ่ง คือ ฉบับภาษาจีนแบ่งเป็นหนึ่งร้อยเอ็ดตอน ทุกตอนจบด้วยเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นชวนติดตาม แล้วจะมีข้อความกระตุ้นปิดท้ายทำนอง "เรื่องราวจะเป็นอย่างไร เชิญติดตามตอนต่อไป" ส่วนฉบับภาษาไทยไม่แบ่งบทแบ่งตอน เรียบเรียงเรื่องราวตามลำดับเหตุการณ์ตั้งแต่ต้นไปจนจบ ต่างกับเรื่องสามก๊กซึ่งฉบับภาษาไทยแบ่งเป็นแปดสิบเจ็ดตอน ส่วนฉบับภาษาจีนแบ่งเป็นหนึ่งร้อยยี่สิบตอน ทั้งนี้ คงเป็นเพราะเรื่องสามก๊กยาวมาก จึงต้องแบ่งเป็นตอน ส่วนไซ่ฮั่นสั้นกว่าสามก๊กประมาณสองเท่า จึงไม่จำเป็นต้องแบ่งเป็นตอน ๆ ก็ติดตามเรื่องเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว

การแบ่งเป็นตอนของฉบับภาษาจีนจะจบลงท้ายด้วยเหตุการณ์ที่เป็นปริศนาน่า สนใจทำให้ชวนติดตาม ซึ่งจะขอแปลท้ายตอนที่หนึ่งและตอนต้นที่สองจากฉบับภาษาจีนเป็นตัวอย่างดัง นี้

"เมื่องูไสกลับไปแล้ว เตียวอ๋องจึงสั่งกองซุนเขียนว่า 'เจ้าจงควบคุมตัวอิหยินไว้ที่บ้านเจ้า อย่าให้หนีไปได้ แต่ก็อย่าเข้มงวดจนเป็นอันตรายต่อชีวิต ค่าอาหารแลค่าใช้จ่ายทั้งปวงทางการจะจ่ายให้ เจ้าจงระวังรักษาให้ดี' กองซุนเขียนรับบัญชาแล้วพาตัวอิหยินกลับไปบ้าน ขี่ม้าเคียงกันมาตลอดทาง พอผ่านตลาด มีคนผู้หนึ่งยืนขึ้นกลางฝูงชน พินิจดูลักษณะของอิหยิน แล้วอุทานออกมาว่า 'นี่เป็นของดีวิเศษที่ซื้อเก็บไว้ได้' ไม่ทราบว่า คนผู้นี้เป็นใคร? เชิญติดตามตอนต่อไป

"ตอนที่สอง ลิปุดอุยดูนรลักษณ์รู้จักอิหยิน

"ผู้พินิจดูอิหยินคือใครเล่า? ก็คือ พ่อค้าใหญ่ชาวเมืองเอียงเอียด แซ่ ลิ ชื่อ ปุดอุย มาค้าขายที่เมืองกำตั๋น คนผู้นี้มีปัญญาเฉียบแหลม ชาญฉลาดในเหตุการณ์ที่พานพบ เมื่อรุ่นหนุ่มเป็นศิษย์กุยก๊กจู เรียนวิชานรลักษณ์ เชี่ยวชาญการดูลักษณะคน พอได้เห็นอิหยินก็ร้องชมว่า 'เป็นของวิเศษที่ซื้อเก็บไว้ได้' ขณะนั้น อิหยินกำลังกลับบ้านพร้อมกองซุนเขียน

"ลิปุดอุยเห็นอิหยินแล้วก็กลับไปบ้านถามบิดาว่า 'ทำนาได้กำไรกี่เท่า?' บิดาตอบว่า 'สิบเท่า' 'ค้าเพชรพลอยได้กำไรกี่เท่า?' บิดาตอบว่า 'ร้อยเท่า' 'ช่วยคนให้ได้เป็นท้าวพระยาจะได้กำไรกี่เท่า?' บิดาตอบว่า 'นั่นมิอาจประมาณได้เลย'"

ส่วนสำนวนแปลครั้งรัชกาลที่ ๑ แปลเรื่องสองตอนนี้ติดต่อกันไป โดยลำดับเรื่องลิปุดอุยใหม่เพื่อให้เข้าใจง่าย ไม่ทิ้งให้เป็นปริศนาชวนคิดอย่างฉบับภาษาจีน ดังนี้

"ฝ่ายเตียวอ๋อง เมื่องูไสไปแล้ว จึงมอบตัวอิหยินให้กองซุนเขียนแล้วว่า ท่านจงเบิกเอาทรัพย์สิ่งของในท้องพระคลังไปบำรุงรักษา อย่าให้หนีได้ กองซุนเขียนก็คำนับลา แล้วออกมารับตัวอิหยินขึ้นม้าคนละตัวเดินเคียงกันไปถึงถนนตลาด ขณะนั้น มีชายผู้หนึ่งแซ่ ลิ ชื่อ ปุดอุย อยู่ ณ บ้านเอนเอียงเอียดในเมืองเตียว เมื่อรุ่นหนุ่มได้เป็นศิษย์กุยก๊กเรียนดูลักษณะ ครั้นใหญ่ขึ้นเป็นพ่อค้าเที่ยวค้าขาย เดินมาพบอิหยินขี่ม้ามากับกองซุนเขียน เห็นลักษณะจะได้เป็นกษัตริย์ จึงนึกว่า คนผู้นี้เหมือนสิ่งของอันประเสริฐ ไม่ควรจะตีราคา จึงเดินเข้าไปสะกิดถามบ่าวกองซุนเขียนว่า คนขี่ม้ามาข้างหลังนั้นชื่อใด บ่าวกองซุนเขียนจึงบอกว่า ชื่อ อิหยิน หลานพระเจ้าเมืองจี๋นที่จับได้ในกลางศึก รับสั่งให้นายเราคุมไว้ กองซุนเขียนพาอิหยินมา ณ บ้าน

"ฝ่ายลิปุดอุย ครั้นมาถึงบ้าน เข้าไปหาบิดา จึงถามว่า ถ้าจะทำไร่นา จะได้ผลเท่าใด บิดาจึงว่า ถ้าฝนฟ้าดี จะได้ภาษีสิบเท่า ลิปุดอุยจึงว่า จะซื้อหัวแหวนที่ดีเอามาตกแต่งขาย จะมีกำไรฉันใด บิดาจึงว่า ถ้ารู้ดูว่าดี จะมีประโยชน์ร้อยเท่า ลิปุดอุยจึงถามบิดาว่า ถ้าเชื้อกษัตริย์ตกไว้ จะช่วยทำนุบำรุงให้ได้ครองราชสมบัติ จะจัดเป็นความชอบสถานใด บิดาจึงว่า ถ้าทำได้ดังนั้นจะมีความชอบยิ่งนัก"

จะเห็นได้ว่า นอกจากลำดับความใหม่โดยไม่แบ่งแยกอย่างฉบับภาษาจีนแล้ว ยังมีข้อความเติมเข้ามาในท้ายย่อหน้าแรก ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่องได้ชัดเจนดีกว่าไม่เติม

กล่าวโดยสรุป การแปลเรื่องไซ่ฮั่นทำได้ดีมากที่เงื่อนไขในยุคนั้นเอื้ออำนวย แม้จะมีส่วนที่คลาดเคลื่อนไปบ้างก็เป็นเพียงส่วนปลีกย่อย ไม่ทำให้สาระสำคัญตลอดจนเนื้อเรื่องเสียหาย นับเป็นวรรณกรรมแปลชั้นดีเรื่องหนึ่งในยุคแรกเริ่ม น่าอ่านน่าศึกษาอย่างยิ่ง

ส่วนเรื่อง "สามก๊กอิ๋น" นั้นชื่อตรงกับต้นฉบับภาษาจีน อ่านเป็นสำเนียงแต้จิ๋วว่า "ซำกกอิง" จีนกลางว่า "ซันกั๋วอิน" คำว่า อิ๋น อิง หรืออิน ในที่นี้แปลว่า สาเหตุ มูลเหตุ เหตุปัจจัย หมายถึง บุพกรรมในอดีตชาติที่ส่งผลให้ตัวละครในเรื่องสามก๊กต้องมาเกิดใช้ชาติเสวย วิบากกรรมที่ตนก่อไว้ ผู้แต่งเป็นคนปลายราชวงศ์ชิง ชื่อแซ่ใดไม่ปรากฏ แต่ใช้นามปากกว่า "จุ้ยเย่ว์ซันเหริน" แปลว่า "คนภูเขาเมาจันทร์" ต้นฉบับเก่าที่สุดที่จีนมีอยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙ ในรัชสมัยกวง ซึ่งเป็นฮ่องเต้หุ่นของพระนางซูสีไทเฮา แต่นิยายเรื่องนี้ต้องเคยพิมพ์เผยแพร่มาก่อนหน้านี้หลายปี เพราะฉบับภาษาไทยแปลตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ผู้แต่งน่าจะเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับพระนางซูสีไทเฮา (พ.ศ. ๒๓๗๘–๒๔๕๑) เขามีผลงานนิยายเรื่องอื่นอยู่อีกบ้าง

เรื่องสามก๊กอิ๋นไม่ใช่วรรณกรรมสำคัญในวงวรรณคดีจีน เพราะศิลปะการประพันธ์และสำนวนภาษาไม่โดดเด่น จึงไม่แพร่หลายนัก ปัจจุบัน ในจีนแทบไม่มีคนรู้จัก หาอ่านได้ยาก เพราะไม่ได้พิมพ์จำหน่ายแพร่หลายเหมือนเรื่องสามก๊กและไซ่ฮั่น แต่ในอดีต เรื่องนี้คงจะได้รับความนิยมพอสมควร จึงแพร่หลายมาถึงเมืองไทย และมีผู้แปลไว้ตั้งแต่ต้นรัชกาลที่ ๕ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ความโดดเด่นของเรื่องสามก๊กอิ๋นอยู่ที่เนื้อเรื่อง ผู้แต่งสามารถเชื่อมโยงตัวละครในเรื่องไซ่ฮั่นกับเรื่องสามก๊กเข้าด้วยกัน ว่า เพราะกรรมใดตัวละครในเรื่องไซ่ฮั่นจึงต้องไปเกิดชดใช้กรรมนั้นในเรื่องสาม ก๊ก ผู้แต่งช่างหาแง่มุมของเหตุการณ์ในเรื่องทั้งสองมาเชื่อมโยงเข้าด้วยกันได้ อย่างแยบยลสมเหตุสมผลตามหลักกฎแห่งกรรมอย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ เช่น เสียวโหใช้ปัญญาลวงฮั่นสินให้เข้าไปถูกพระนางหลีเฮาจับฆ่า จึงต้องมาเกิดเป็นเอี้ยวสิ้วคนเจ้าปัญญา แต่ถูกโจโฉซึ่งฮั่นสินกลับชาติมาเกิดสั่งฆ่าเพราะเจ้าปัญญาเกินไป ตันแผงใช้อุบายทำให้ฟำแจ้งตรอมใจตาย จึงมาเกิดเป็นจิวยี่ ฟำแจ้งเกิดเป็นขงเบ้งใช้อุบายลวงจิวยี่จนรากเลือดตายชดใช้กรรมเก่า นอกจากนี้ ในเรื่องสามก๊กอิ๋นยังมีรายละเอียดบางประการที่ไม่มีในเรื่องไซ่ฮั่นและ เรื่องสามก๊ก เช่น อายุขัยของจูล่ง ทำให้เรื่องนี้สนุกชวนติดตามและชาวบ้านชอบมาก

เรื่องสามก๊กอิ๋นฉบับภาษาจีนไม่ได้แบ่งเป็นบทเป็นตอนเหมือนไซ่ฮั่น เพราะเนื้อเรื่องสั้นมาก เรื่องนี้ผู้แต่งปรับปรุงและขยายความมาจากนิทานเรื่อง "สุมาเหมาพิพากษาคดีในยมโลก" ของเฝิงเมิ่งหลง นักประพันธ์เอกสมัยราชวงศ์หมิง ความคิดเรื่องตัวละครในไซ่ฮั่นมาเกิดใหม่ในเรื่องสามก๊กปรากฏครั้งแรกในหนังสือ "อู่ไต่สื่อผิงฮั่ว" ซึ่งเป็นบันทึกบทสำหรับเล่านิทานเรื่องประวัติศาสตร์ยุคห้าราชวงศ์ (พ.ศ. ๑๔๕๐–๑๕๐๓) ต่อมา ในหนังสือ "สามก๊กจี่เพ่งอ่วย" (บันทึกนิทานสามก๊ก) เปิดเรื่องด้วยการกล่าวถึงบุพกรรมของโจโฉ เล่าปี่ และกวนอู เป็นบทกวีซึ่งพอจะแปลเป็นกลอนไทยได้ว่า

"กังตั๋งสินธูภูเสฉวน   โจโฉควรครองถิ่นกลางอย่างกล้าหาญ
ใช่ทั้งสามมักใหญ่ใจทะยาน   เกิดมาผลาญจองเวรเก่าองค์เล่าปัง"

จากนั้น จึงเล่าเรื่องว่า มีนักศึกษาชื่อ สุมาเหมา ชื่อรองว่า สุมาตองสอง ตัดพ้อฟ้าที่ไม่เห็นปัญญาของตน พอนอนหลับก็ถูกยมทูตเชิญตัวไปพบยมบาล และได้รับมอบหมายให้ตัดสินคดีสำคัญในยมโลก โจทก์คือ ฮั่นสิน หยินโป้ และแพอวด ฟ้องร้องว่า พระเจ้าฮั่นโกโจ (เล่าปัง) เนรคุณฆ่าพวกตน ฮั่นโกโจซัดทอดพระนางหลีเฮา ในการชำระคดีมีกวยถองเป็นพยานสำคัญว่า ฮั่นโกโจและหลีเฮาทำผิดจริง สุมาตองสองจึงตัดสินให้ฮั่นโกโจเกิดเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ พระนางหลีเฮาเกิดเป็นพระนางฮกเฮา มเหสีพระเจ้าเหี้ยนเต้ ฮั่นสินเกิดเป็นโจโฉรังแกพระเจ้าเหี้ยนเต้และประหารพระนางฮกเฮาชดใช้กัน หยินโป้เกิดเป็นซุนกวน แพอวดเกิดเป็นเล่าปี่ กวยถองเกิดเป็นขงเบ้ง พอตัดสินเสร็จ เง็กเสียงฮ่องเต้พระผู้เป็นเจ้าพอใจ จึงให้สุมาตองสองไปเกิดเป็นสุมาอี้ผู้วางรากฐานการรวมสามก๊กเข้าด้วยกัน จบเรื่องบุพกรรมของตัวละครเอกแล้ว จึงเข้าสู่เนื้อเรื่องนิทานสามก๊กซึ่งต่อมาล่อกวนตงนำไปแต่งขยายเป็นนิยาย สามก๊ก แต่ตัดตอนต้นที่กล่าวถึงบุพกรรมของตัวละครเอกออก

ต่อมาอีกไม่นาน เฝิงเมิ่งหลง นักเขียนนิทานและนิยายผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของราชวงศ์หมิง ได้นำเรื่องบุพกรรมของตัวละครในสามก๊กตอนต้นหนังสือ "สามก๊กจี่เพ่งอ่วย" ไปแต่งขยายเป็นนิทานเรื่อง "สุมาเหมาพิพากษาคดีในยมโลก" โดยเพิ่มคดีจากเดิมคดีเดียวเป็นสี่คดี มีตัวละครมาเกิดเสวยวิบากกรรมอีกหลายคน เช่น ฆ้อฮอกเกิดเป็นบังทอง ฌ้อปาอ๋อง (ห้างอี๋) เกิดเป็นกวนอู ห้วนโก้ยเกิดเป็นเตียวหุย นิทานเรื่องนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมาก

จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชิง (พ.ศ. ๒๒๗๙–๒๔๕๔) ราวยุคพระนางซูสีไทเฮา จุ้ยเย่ว์ซันเหริน (คนภูเขาเมาจันทร์) นักประพันธ์ผู้ไม่มีชื่อเสียงนัก ได้นำเรื่อง "สุมาเหมาพิพากษาคดีในยมโลก" มาขยายความและปรับปรุงแก้ไขเป็นเรื่อง "สามก๊กอิ๋น" คดีความเพิ่มจากสี่คดีเป็นเก้าคดี มีผู้มาเกิดใช้กรรมอีกมากมาย บางคนที่มีอยู่ในเรื่องเดิมก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป เช่น กวยถองในเรื่องเก่าทั้งสองเกิดเป็นขงเบ้ง แต่ในสามก๊กอิ๋นให้เกิดเป็นชีซี เอาฟำแจ้งมาเกิดเป็นขงเบ้งแทน ซึ่งก็เหมาะสมกว่าเรื่องเดิม เรื่องของตัวละครอื่นทั้งที่ปรับเปลี่ยนจากของเก่าและเพิ่มขึ้นใหม่ก็ล้วน เหมาะสม เช่น กีสิดเกิดเป็นจูล่ง จิ๋นซีฮ่องเต้เกิดเป็นตั๋งโต๊ะ ลิปุดอุยเกิดเป็นลิโป้ นางจูกี๋เกิดเป็นนางเตียวเสี้ยน ดังนั้น แม้สำนวนภาษาและศิลปะการแต่งจะไม่ดีเด่นไม่เป็นที่นิยมในแวดวงวรรณคดีของปัญญาชนนัก แต่เรื่องสามก๊กอิ๋นก็ได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่ชาวบ้านมาก

เหตุที่ได้รับความนิยมก็เพราะเนื้อเรื่องจับใจสอดคล้องกับกฎแห่งกรรมข้าม ภพข้ามชาติตามความเชื่อของชาวบ้าน กรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้ย่อมส่งผลในชาติต่อไป ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วอย่างแน่นอน เช่น ฮั่นโกโจเจ้าเล่ห์เนรคุณคนจึงต้องเสวยวิบากเกิดเป็นพระเจ้าเหี้ยนเต้ถูกโจโฉ รังแก ฌ้อปาอ๋องแม้จะบุ่มบ่ามเบาปัญญาแต่ก็จริงใจไม่มีเล่ห์เหลี่ยมจึงได้เกิดเป็น กวนอู แต่เพราะเมื่อเป็นฌ้อปาอ๋องฆ่าคนไว้มากจึงต้องตายด้วยคมอาวุธ ส่วนกีสินเป็นคนซื่อยอมตายแทนนายจึงเกิดเป็นจูล่งอายุยืนยาวและตายอย่างสงบ ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ไซ่ฮั่นเป็นเรื่องการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่นของพระเจ้าฮั่นโกโจ (เล่าปัง) สามก๊กเป็นเรื่องการล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นในรัชสมัยพระเจ้าเหี้ยนเต้ซึ่ง เป็นอนุชนสืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าฮั่นโกโจนั่นเอง ชะรอยคนจีนคงจะเห็นว่า การที่พระเจ้าฮั่นโกโจเป็นคนเจ้าเล่ห์เนรคุณนั้น ผลกรรมย่อมตกทอดไปถึงอนุชนแม้คนสุดท้ายในราชวงศ์คือพระเจ้าเหี้ยนเต้อย่างสา สม จึงเชื่อมโยงเรื่องของฮ่องเต้สององค์นี้ให้เกี่ยวเนื่องกัน คือ องค์บรรพชนก่อกรรม องค์อนุชนรับวิบกหรือผลของกรรมนั้น เป็นการตอกย้ำความเชื่อเชิงจริยธรรมที่ว่า บรรพชนก่อกรรมดีชั่วอะไรไว้ ผลย่อมตกทอดถึงอนุชนผู้เป็นลูกหลานด้วย ปู่ย่าตายายก่อกรรมทำชั่วไว้ เจ้าตัวอาจไม่ได้รับผลทันตา แต่จะต้องตามสนองต่อลูกหลานไม่รุ่นใดก็รุ่นหนึ่งอย่างแน่นอน เมื่อเอาความเชื่อนี้รวมการกลับชาติมาเกิดรับกรรมเก่าได้อย่างเหมาะสมด้วย แล้ว ทำให้เรื่องสามก๊กอิ๋นสนุกจับใจชาวบ้านด้วยคุณค่าเชิงจริยธรรมที่เข้าใจง่าย และจรรโลงความดีงามในสังคม

สามก๊กอิ๋นฉบับภาษาไทยนั้น ตอนต้นเรื่องบอกไว้ชัดเจนว่า แปลเมื่อปีระกา สัปตก จุลศักราช ๑๒๔๗ ตรงกับปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ดูจากสำนวนแปลแล้ว คนแปลน่าจะมีคนเดียว เป็นทั้งผู้แปลและผู้เรียบเรียง สำนวนแปลจึงค่อนข้างตรงตามต้นฉบับภาษาจีน ตัดแต่บทกวีและรายละเอียดบางตอนออก ชื่อตัวละครใช้ภาษาถิ่นฮกเกี้ยนตามเรื่องสามก๊กและไซ่ฮั่น แต่คนแปลน่าจะเป็นคนแต้จิ๋ว เห็นได้จากการแปล "ชื่อรอง" เป็น "ชื่อครูตั้ง"

ขออธิบายเสริมตรงนี้ว่า ปัญญาชนจีนยุคเก่านั้นมีคำเรียกขานตนเองถึงสามอย่าง คือ หมิง จื้อ และเฮ่า หมิง คือ ชื่อตัว แบ่งเป็นชื่อเล่นและชื่อจริงที่พ่อแม่ตั้งให้ตั้งแต่ยังเล็ก เช่น โจโฉ แซ่โจ ชื่อเล่น อาหมัว ชื่อจริง โฉ เล่าปี่ ไม่ปรากฏชื่อเล่น ชื่อจริงว่า ปี่ ส่วนจื้อเป็นชื่อที่ตั้งเมื่อโต สมัยโบราณผู้ชายตั้งจื้อเมื่อทำพิธีสวมหมวกตอนอายุยี่สิบ ผู้หญิงตั้งตอนเข้าพิธีปักปิ่นเมื่ออายุสิบห้า จื้อใช้สำหรับเข้าสังคมไว้ให้คนอื่นเรียกแทนชื่อตัวเพื่อเป็นการให้เกียรติ ยกย่องผู้ถูกเรียก ฉะนั้น จึงขอแปลว่า "ชื่อรอง"ซึ่งเป็นคำที่มีใช้อยู่ในพระราชบัญญัติเรื่องชื่อบุคคล คือ มีชื่อตัว กับชื่อรอง จื้อหรือชื่อรองของตัวละครในสามก๊ก เช่น โจโฉ ชื่อรองว่า เบ้งเต๊ก เล่าปี่ชื่อรองว่า เหี้ยนเต๊ก กวนอูชื่อรองว่า หุนเตี๋ยง เตียวหุยชื่อรองว่า เอ๊กเต๊ก จูล่งนั้นความจริงแซ่ เตี๋ยว ชื่อตัวว่า หยุน ชื่อรองคือ จูล่ง ขงเบ้งแซ่ จูกัด ชื่อตัวว่า เหลียง ชื่อรองว่า ขงเบ้ง ส่วนเฮ่าแยกเป็น เปี๋ยเฮ่า กับไว่เฮ่า คำแรกหมายถึง สมญาที่เจ้าตัวตั้งใช้เอง คล้าย ๆ นามแฝง คำหลังหมายถึง ฉายาซึ่งคนอื่นตั้งให้ เช่น ขงเบ้งมีฉายาว่า "อาจารย์ฮกหลง" ซึ่งหมายถึง มังกรผู้ซ่อนกาย สำหรับชาวจีนแต้จิ๋วจะมีชื่อเล่น ชื่อตัวหรือชื่อจริง และชื่อทางการ ชื่อนี้ครูเป็นผู้ตั้งให้เมื่อเข้าโรงเรียน จึงเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋วว่า "จือเหา" จีนกลางว่า "ซูเฮ่า" แปลว่า ชื่อในการเรียนหนังสือ ชื่อนี้มีลักษณะคล้ายชื่อรองหรือชื่อของคนจีนทั่วไป

ผู้แปลเรื่องสามก๊กอิ๋นคงจะเป็นคนแต้จิ๋ว จึงแปลคำว่า "จื้อ" เป็น "ชื่อครูตั้ง" ซึ่งปกติหมายถึง ชื่อที่ใช้ในโรงเรียนของชาวจีนแต้จิ๋ว คำแปลนี้ก็ไม่เลว เพราะชื่อหรือชื่อรองของคนจีนในยุคต่อ ๆ มาบางทีครูเป็นผู้ตั้งให้ตอนเข้าโรงเรียน เพราะในยุคหลัง ๆ มา คนต้องเข้าสังคมตั้งแต่ก่อนเป็นหนุ่มเป็นสาว จึงต้องมีชื่อรองให้แทนชื่อตัว แต่ในปัจจุบัน ธรรมเนียมการใช้ชื่อรองเสื่อมสูญไป เพราะทำให้ยุ่งยากสับสน คนทั่วไปในปัจจุบันจึงมีแต่ชื่อตัว แบ่งเป็นชื่อเล่นและชื่อจริงเท่านั้น

สามก๊กอิ๋นฉบับภาษาไทยที่พิมพ์ไว้ในเล่มนี้ได้ต้นฉบับมาจากหนังสือแจกใน งานฌาปนกิจศพซึ่งสมบัติ พลายน้อย ได้บอกที่มาไว้ว่า "ได้พิมพ์จากฉบับที่ลงพิมพ์ในวารสารวิทยุศึกษา ซึ่งได้มาจากหนังสือชำรุดอีกต่อหนึ่ง ฉะนั้น ข้อความบางตอนจึงดูไม่ราบเรียบเท่าที่ควร" เมื่ออ่านดูแล้วพบว่า เรื่องขาดหายไปสองตอน ตอนหนึ่งขาดตกจนเรื่องผิดเพี้ยนไป ฉะนั้น ผู้เขียนบทนำจึงพยายามสืบเสาะหาต้นฉบับภาษาจีนอยู่แรมปี ก็ไม่พบฉบับที่พิมพ์จำหน่ายทั่วไป ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ แห่งภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปสอนภาษาไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งหนึ่งภาคเรียน จึงได้ช่วยค้นหาต้นฉบับในห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่งให้ ได้พบพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือชุด "ประชุมนิยายจากต้นฉบับโบราณ" ซึ่งเป็นหนังสือชุดใหญ่ ถ่ายจากต้นฉบับแม่พิมพ์ไม้ของเก่า ตัวอักษรอ่านยากและไม่มีเครื่องหมายวรรคตอน แต่ก็ได้ถ่ายเอกสารตัดกลับมาให้ และได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์กนกพร นุ่มทอง อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วยอ่านต้นฉบับนั้นให้แล้วพิมพ์ใหม่ด้วยคอมพิวเตอร์ จัดวรรคตอนให้เรียบร้อย จึงอ่านได้สะดวก ผู้เขียนใช้เป็นต้นฉบับตรวจสอบฉบับภาษาไทย และได้แปลตอนที่ขาดหายไปสองแห่งเติมได้ด้วย คือ ตอนที่กล่าวถึงกวยถองและฆ้อฮอกมาเถิดเป็นชีซีกับหมอฮัวโต๋ กับตอนที่กล่าวถึงนางลิซี นางอองซี และเซียวเต้ กลับมาเกิดใหม่ ทั้งได้แก้ชื่อที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนอีกบางชื่อไว้ด้วย

เรื่องที่หลายคนคงจะสงสัย เหตุใดเตียวเหลียงซึ่งเป็นตัวละครสำคัญยิ่งในเรื่องไซ่ฮั่นจึงมิได้มาเกิด ใหม่ในเรื่องสามก๊กเหมือนกับคนอื่น ๆ คำตอบก็คือ เพราะตอนนั้นปลายชีวิตเตียวเหลียงทิ้งยศศักดิ์ไปบำเพ็ญพรตตามหลักของเต๋า อย่างแน่วแน่ตลอดจนสิ้นอายุขัย บางตำนานกล่าวว่า ช่วงสุดท้ายอดอาหารจนล่วงลับดับขันธ์ เพราะปลีกตนออกจากโลกียวัตรเข้าสู่โลกุตรธรรมแห่งเต๋า จึง "สิ้นกรรม" ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

อนึ่ง ขอเรียนไว้ ณ ที่นี้ว่า เดิมทีปรัชญาเต๋าไม่มีเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและภพหน้า แม้เมื่อพัฒนาเป็นศาสนาแล้วก็เน้นเรื่องการบำเพ็ญจนบรรลุอมตภาพเป็นเซียน ความเชื่อเรื่องการเกิดใหม่และเวียนว่ายในสังสารวัฏของจีนเกิดจากพุทธศาสนา ส่งผลกระทบต่อลัทธิเต๋าอยู่บ้าง และมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อสังคมจีนในอดีต ดังสะท้อนออกมาในวรรณกรรมเรื่องสามก๊กอิ๋นและเรื่องอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง แม้เป็นเรื่องที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่จุดมุ่งหมายสำคัญของเรื่องสามก๊กอิ๋นก็เพื่อจรรโลงคุณธรรม ผู้อ่านควรพินิจพิจารณาโดยแยบคาย เอาประโยชน์ไปใช้ในทางสร้างสรรค์ตนเองและสังคมให้ก้าวหน้าไปในทางดีงาม สมตามจุดมุ่งหมายสำคัญของวรรณกรรมเรื่องสามก๊กอิ๋นนี้ อนึ่ง เมื่ออ่านเรื่องสามก๊กอิ๋นแล้วจะช่วยให้อ่านเรื่องไซ่ฮั่นและสามก๊กได้สนุก ยิ่งขึ้น เพราะเห็นความต่อเนื่องของเรื่องทั้งสองตามกฎแห่งกรรมแบบข้ามภพข้ามชาติ และได้ข้อคิดสอนใจอีกด้วย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ