สำเนาหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ลงวันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒

เรื่อง พลับพลาสวนแง่เต๋ง

วันที่ ๒๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒

ขอเดชะ ฯ

พระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๑ ได้ทราบเกล้า ฯ แล้ว

พลับพลาหลังหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริจะให้ทำพื้นไม่ลดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า มีอันตรายอยู่ เพราะเหตุว่า แบบนั้นข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้คิดทำเป็นพลับพลามีเฉลียง เป็นแต่ได้ส่งเชิงชายให้ยาวผิดกว่าที่เขาทำกันตามปรกติ แลที่พื้นทำเกยลา (ฤๅจะเรียกอย่างต่ำก็คือนอกชาน) ประกอบเข้ารอบพื้นพลับพลา กว้างพอเสมอปลายเชิงชาย ให้ดูเข้ากันเป็นทีว่าเฉลียงก็ได้ พอที่จะอาศัยใช้เกยลานั้นร่มไอแดดได้เท่าดาดปะรำเท่านั้น ถ้าฝนตกพื้นเกยลาคงเปียกอาศัยไม่ได้ คงอาศัยได้แต่บนพื้นพลับพลาที่ยกสูงไว้ ถ้าหากว่าลดพื้นในประธานลงเสมอเกยลาแล้ว เวลาฝนตกเห็นน้ำจะนองพื้นหมดทั้งหลัง ไม่มีที่ใช้ได้เลย เพราะเหตุฉะนั้น ถ้าจะโปรดเกล้า ฯ ให้พื้นเสมอกัน จะต้องให้ทำฐานเล็กกว่าแบบเขียนเข้าไปสักหน่อย พอให้ชายคายื่น น้ำตกห่างพ้นพื้นสักหน่อย จึงจะห่างจากอันตราย

ส่วนเรื่องลายสลักอยู่กลางแจ้งไม่ลงรักทาสีนั้นความจริงเป็นผุเร็ว ข้าพระพุทธเจ้าหาทันได้คิดเห็นในวันนั้นไม่ ท้องพระโรงเจ้านายก็ใช้สลักกันแต่เพียงหย่องเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นที่ถูกน้ำฝนจังนัก ตัวอย่างสิ่งที่ทำสลักมากในที่แจ้งแท้ ก็เป็นของอย่างดีที่ต้องปิดทองเสียโดยมาก มิฉะนั้นก็ทาแดง ที่เป็นไม้เปล่าเห็นมีแต่รูปที่เขาเขียนไว้เก่า ๆ ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลก็แต่ตามที่ได้เห็นรูปเขียนมี ที่แท้ของจริงไม่ได้เห็นมีเลย แต่ถึงอย่างไรก็ดี บัดนี้ได้เห็นโทษแล้วว่าทำทิ้งเนื้อไม้ไว้เปล่าไม่ทนต้องคิดทาสี แต่ถ้าจะทาแดงตามแบบเก่า ข้าพระพุทธเจ้าเห็นเป็นอย่างไรไปไม่ทราบเกล้า ฯ ช่างไม่รักเสียจริง ๆ จะทาสีต่าง ๆ อย่างข้างไทยก็ต้องใช้สีสด ก็ดูไม่พ้นท่าด้วยฟักทองมะละกอ บางทีทาสีไม้ทั้งตัวจะเป็นดีกว่าอื่น ความดูรู้สึกก็จะเท่าไม้เปล่า ฤๅบางทีจะทำไปอย่างอื่นได้อย่างไรที่ดีกว่านั้น เวลานี้ยังคิดไม่เห็นได้ ข้าพระพุทธเจ้าจะได้ตริตรองแลลองป้ายสีดู จะเข้าทีอย่างไร จะได้กราบบังคมทูลให้ทราบฝ่า ฯลฯ ในภายหน้า

แบบที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดทูลเกล้า ฯ ถวายนั้น หลักก็อยู่เอาที่เอาเครื่องยอดมาประดับกับคฤห ตกเป็นมณฑปหลังคายาวไม่แหลมเท่านั้น ถ้าพิจารณาละเอียดไม่มีอะไรเป็นอย่างพม่า แต่ถ้าดูแต่เค้าแล้วพ้นกันไปไม่ได้ เพราะความจริงไทย ลาว เขมร พม่า กระบวนอาคีเต็กเป็นแบบอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้าพระพุทธเจ้าเคยคิดตัดสินว่า ใครจะเชี่ยวชาญกว่า ใครเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า พม่าที่ ๑ ไทยที่ ๒ เขมรที่ ๓ ลาวที่ ๔

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

(ลงพระนาม) ข้าพระพุทธเจ้า

นริศ

ขอเดชะ

(คัดจากวารสารศิลปากร ปีที่ ๒ เล่ม ๔ พ.ศ. ๒๔๙๓ หน้า ๓๐-๓๕)

  1. ๑. พลับพลาหลังนี้ เข้าใจว่าบัดนี้เรียกว่า ศาลาวรสภาภิรมย์ ตั้งอยู่ในสวนแง่เต๋ง สนามหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เดิมมีศาลาสำราญมุขมาตยาตั้งอยู่ ณ มุมซ้ายขวาของพระที่นั่ง แต่บัดนี้ได้ย้ายศาลาสำราญมุขมาตยามาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ