สำเนาหนังสือทูลเกล้าฯ ถวาย ลงวันที่ ๑๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒

เรื่อง ถวายแบบพลับพลาที่เสวยกับเรื่องเสาหงส์

วันที่ ๑๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒

ขอเดชะ ฯ

ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานทูลเกล้า ฯ ถวายแบบพระเสาวคนธกุฎีที่เสวยสวนแง่เต๋ง ข้าพระพุทธเจ้าได้ทำขึ้นเป็นสองแบบมีลายน้อยแบบหนึ่ง มีลายมากเต็มตำราแบบหนึ่ง แบบใดจะชอบด้วยพระราชประสงค์ แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

เนื้อที่ในประธาน มียาว ๓ วา กว้าง ๖ ศอก แลยังมีเกยลากว้าง ๓ ศอก อีกรอบตัว คิดด้วยเกล้าฯ ว่าคงจะพอเพียงโดยพระราชประสงค์ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ทำให้มีฝา เพราะว่าไม่เห็นเหตุที่จำเป็นที่จะต้องมี จะเป็นที่บังทึบ ทำให้ไม่สำราญพระราชหฤทัย

แบบนี้ข้าพระพุทธเจ้าทำด้วยตกใจอยู่สักหน่อย พระสถิตยว่าได้ทำแบบทูลเกล้าฯ ถวายคราวหนึ่งแล้ว ต้องพระราชตำหนิว่ารูปดื่น ข้าพระพุทธเจ้าจึงหลีกจากธรรมดาไปมากสักหน่อย เพื่อให้พ้นรูปดื่นเลยออกจะครบๆ อยู่ฤๅยังไรก็จะเป็นได้ ถ้าทรงพระราชดำริเห็นครบ จะเขียนแก้เสียใหม่หันลงมาหาให้ใกล้รูปดื่นนั้นง่าย แล้วแต่จะโปรดเกล้า ฯ

อนึ่งแบบที่ทำนี้ ฝรั่งจะว่าเอาอย่างได้แต่บันไดอย่างเดียว ข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่อยากเขียนอย่างนั้น แต่หากไม่มีที่ไป จะทำบันไดหน้าเดียวมีพลสิงห์ก็ทึบ ไม่เข้ากันกับบังอวดโปร่ง จะทำราวก็สั้นเพราะบันไดมีน้อยชั้น ส่วนราวไม่งาม ลองทำอัฒจันทร์ก็ยื่นออกไปเร่อร่าอยู่มาก จึงตกลงต้องบีบเป็นอัฒจันทร์ฝรั่ง อยู่ข้างจะเสียใจ ถ้าจะให้พ้นได้ก็อย่างเดียว แต่ต้องมีรูปสิงห์ยืนแท่นขนาบข้างบันไดซึ่งข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าฯ ว่าเกินต้องการไป

กระบวนแต่งผิวนั้นก็ทำได้หลายอย่าง ถ้าจะแต่งให้ดีเต็มที่ก็ต้องปิดทองทั้งตัว ถัดลงมาเป็นปิดทองล่องชาด ถ้าหากจะหลบทองคิดด้วยเกล้าฯ ว่าไม่ทำอะไรหมด ให้เป็นไม้อยู่เฉยๆ ดูจะก็เก๋ดี แต่ดูจะไม่แล้วอยู่สักหน่อยฤๅกระไร ถ้าจะเขยิบขึ้นไปอีกหน่อยก็เพียงใช้สอดไส้ลายด้วยสีเขียวแดง พื้นทั่วไปคงเป็นเนื้อไม้ วิธีนี้ตามแบบที่เขาเขียนปราสาทวิมานกันมาแต่ก่อนๆ ต้องกันกับแบบเก่าข้างประเทศรุสเซีย เห็นจะเป็นอย่างดีพอแก่พระเกียรติยศ ถ้าทาสีต่างๆ เห็นจะเลวเป็นศาลาวัดไป จะควรประการใดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

ต่อไปนี้จะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาในเรื่องเสาหงส์ ข้าพระพุทธเจ้าได้ตริตรองหาที่มาของเสาหงส์ เห็นความไปอย่างหนึ่งเรื่องที่กรมหลวงดำรงเล่า ข้าพระพุทธเจ้าก็เคยได้ฟัง แต่ไม่จับใจ เพราะเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เป็นทำนองเดียวกับเรื่องบอกรูปยายกะตาตำข้าวในดวงพระจันทร์ ไม่ยินดีที่จะถือเอาว่าเป็นหลักอันถูกต้อง

ในฉันท์อนิรุทธกล่าวชมเมืองว่า “มีฉัตรากรธงชัย เหนือตรีบุรีไร ประดับด้วยแก้วแกมกล” ในฉันท์สมุทรโฆษว่า “ธงชัยทำนุกใบ แลสะบัดคือกรกาย” ในเรื่องอื่นที่เก่าๆ เกือบจะทุกเรื่องที่ชมเมืองแล้ว ต้องกล่าวถึงเสาธงทำนองนี้ คิดด้วยเกล้า ฯ ว่า เป็นเครื่องประดับสถานที่อย่างหนึ่ง ฉัตรนั้นต้องอยู่ยอดเสา ธงออกจะยาวห้อยเป็นธงจระเข้ อันนี้ก็ต้องกันกับธรรมเนียมจีน ที่ใช้ธงยาวมีตัวหนังสือแลยอดผูกกิ่งไผ่นั้น

ธงจะเห็นงามได้ก็แต่กลางวัน กลางคืนไม่เห็นอะไรเป็นเครื่องประดับให้หรูหรา จึงชักโคมขึ้นแทนที่ธง แต่โคมเป็นของหนา เมื่อชักขึ้นกับรอกเบียดเสาตะแคงไป จึงต้องต่อไม้ลูกคลักยื่นออกมาเมื่อคราวปรารถนาจะให้ประณีตหน่อย ปลายไม้ลูกคลักนั้นก็เลยบากเสียเป็นกระหนกรูปศีรษะหงส์ให้พริ้งเพราขึ้น เสาโคมชัยพิธีจองเปรียงเป็นตัวอย่างอันเปอเฟกต์ เสาหงส์ตามวัด เดิมทีก็จะคือเสาโคมชัยเรานี่เอง กลางคืนชักโคม กลางวันชักธงประดาก เป็นเครื่องแต่งวัดยกขึ้นเวลามีงาน

ทีนี้จะต้องคิดว่าปลายไม้ลูกคลักจำเป็นอย่างไร จึงเฉพาะต้องบากเป็นรูปศีรษะหงส์ ก็เห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นเหมาะกว่ารูปอื่น เพราะว่าหงส์เมื่อสังเกตตามรูปเก่าๆ มักจะไม่ใคร่อยู่ปากเปล่า คงจะคาบอะไรๆ อยู่เสมอ นึกได้ในลายเสาพระนครวัดหงส์ก็คาบพู่ดอกไม้ ในลายบานมุกวัดบรมพุทธารามก็คาบกระหนก เรือหงส์ซึ่งไม่เข้าในลวดลายก็ยังอุตส่าห์ทรงพู่ห้อย ยังในบทกลอนก็มีเช่น ในฉันท์อนิรุทธว่า “พริ้งพรายเหมหงส์พ บูคาบวัลทองดู ประดุจกระพือยาบยาบ” บทร้องหนังเกริ่นเชิดฉิ่งก็มีว่า “ระเนระนงหงส์คาบใบโพธิ์” ลายประดับหมากพนมหงส์ก็คาบใบโพธิ์ แบบลายมีดังนี้จึงเป็นอันควรที่จะแขวนโคมกับปากหงส์ เป็นอันเข้าแบบงามกว่าแขวนกับอื่น

ต่อมาเมื่อเห็นเสาธงนั้นงาม ประสงค์จะให้มีประจำที่อยู่เสมอ จึงทำขึ้นให้ประณีตแลถาวร คือฉัตรยอดใช้โลหะปรุเป็นลายแทนกระดาษไม้ลูกคลักสลักเป็นหงส์เสียทั้งตัว เป็นทรงทวยอย่างนี้ แต่เป็นไม้แบนอย่างทวย ทีหลังคงจะได้มีช่างอะไรเขลาๆ แต่อยากทำของให้ดี จึงคิดสลักเป็นหงส์ตัวกลม เมื่อทำดังนั้นก็เป็นอันติดข้างเสาไม่ได้ ต้องตั้งบนปลายเสาชิงที่ฉัตร ฉัตรไม่มีที่ปักก็เลยต้องปักร้อยลงไปบนหลัง โคมที่ชักในคราวแรก ก็คงจะชักที่ปากหงส์ แต่ไม่ใช้ได้สักกี่วันหงส์ก็คงคะมำลงมา เพราะว่าที่ติดมีอยู่แต่เฉพาะที่ปลายเท้ามีแรงเหนี่ยวที่ปลายปากมาก ก็เป็นอันงัดตัวให้เดือยที่เท้าโยกคลอนถอน ฤๅหักได้ง่าย ภายหลังจึงต้องทำไม้ลูกคลักชักธงอย่างเดิม หงส์จึงขึ้นไปอยู่ไม่มีมูล ข้าพระพุทธเจ้าเคยได้ยินชาววัดเขาเรียกว่า เสาโคม กันโดยมาก นั่นเป็นคำส่อให้เห็นว่าหงส์ไม่ได้เป็นปรินสิเปอลในเสานั้น เมื่อเห็นเหตุฉะนี้แล้ว ปริศนาที่จะทำเสาหงส์นั้นก็เป็นอันคิดตก คือยอดจะทำเป็นฉัตรเพียง ๓ ชั้น ใต้นั้นลงมาจะเป็นหงส์ อย่างมากพนม ๔ ตัว ยืนผินหลังเข้าหาคันฉัตร ผินหน้าออกสี่ทิศ คาบโคมพู่ เท้าหงส์จะยืนรวมอยู่บนปัทมกระลับ มีเชิงตั้งบนเม็ดกำแพงแก้ว เมื่อดูเข้ากันหมดทั้งทรงจะเป็นพุ่มระย้ากินนรตั้งบนเม็ดกำแพงแก้ว ฝรั่งจะว่าเอาอย่างฤๅกระไรก็ตามที.

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

(ลงพระนาม) ข้าพระพุทธเจ้า

นริศ

ขอเดชะ

พลับพลาที่เสวยสวนแง่เต๋ง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ