พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙

สวนดุสิต

วันที่ ๖ สิงหาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙

พระยาไพศาล

การโต้เถียงกันด้วยเรื่องกรมศึกษาเรียกค่าเล่าเรียนในหนังสือพิมพ์ ลงมาไม่หยุดนานแล้ว วันนี้มีผู้ไดลงหนังสือพิมพ์ไทย เซ็นชื่อปรวาที ค่อยเข้ารูป

จริงอยู่ถ้อยคำของคนที่ลงพิมพ์นี้ เป็นผู้ที่มีความรู้เกิดขึ้นทางหูได้ยินแว่ว ๆ แล้วเดาผสมเสียเป็นพื้น ไม่ใช่มีความรู้กว้างขวางอันใด ส่วนความคิดนั้นเล่า ก็คิดไปตามการซึ่งมาปรากฏเฉพาะนัยน์ตา ได้เคยเห็นดีเพียงไหนก็คิดว่าดีที่สุดเพียงนั้น คนที่แต่งหนังสือส่งไปลงพิมพ์เป็นคนเช่นนี้โดยมาก จึงไม่น่าจะควรถือเขาเป็นข้อคำนึง แต่ก่อนมาพระบรมราโชบายอันใดที่จะทำไป ไมใคร่จะได้แสดงให้ราษฎรทราบเพราะเหตุว่า ถึงทราบก็ปราศจากความคิด ฤๅกลับคิดเห็นการให้ผิดไปโดยมิได้แกล้ง เพราะความไม่เข้าใจเป็นที่ตั้ง จึงเป็นธรรมเนียมใช้นิ่งเสีย ไม่บอกว่ากระไร จัดไปทำไปทีเดียว ผิดกับประเทศอื่นๆ

การซึ่งได้ให้บอกเล่าเช่นหมอตรวจว่า ข้าวขาวเป็นต้นเหตุให้เกิดโรคบวม รัฐบาลอังกฤษถามมาว่า เราจะมีความคิดอย่างไรบ้าง ตัวข้าเองเป็นผู้ได้โกรธหมอไฮเอ็ต ตั้งแต่เมื่อกลับมาจากประชุมเมืองมนิลา ว่าไปเอออวยกับเขา เมื่อยังมิได้ทดลองให้เห็นจริงแน่นอนเลย เห็นว่าเป็นเหตุที่จะให้สะดุ้งสะเทือนในการค้าขาย จึงให้กระทรวงเกษตรออกเซอร์คูลาร์ให้โรงสีทั้งปวงทราบ ถามความเห็นว่าเขาเห็นอย่างไร แลคิดอ่านให้จัดการทดลองในกระทรวงเกษตร เซอร์คูลาร์อันนี้เองมีคนเข้าใจว่า รัฐบาลห้ามไม่ให้สีข้าวขาวเสียแล้ว การพูดให้คนทราบยากที่จะทำให้เข้าใจ แม้แต่ในพวกพ่อค้าซึ่งคล่องแคล่วกว่าคนธรรมดาเป็นอันมาก ยังมีผู้เข้าใจผิดเช่นนี้ได้ เพราะฉะนั้น แต่ก่อนมาจึงไม่ใคร่จะบอกให้รู้เสียทีเดียว

แต่บัดนี้มีความคิดเห็นอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในใจ ว่าในเมืองเรานี้มีคนจำพวกหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มีความรู้เล่าเรียนมาแต่เล็กแต่น้อย แต่ทำท่าคึกคักเหมือนรู้อะไรต่ออะไรพอพูดโวไปกับเขาได้ พวกนี้ได้ความรู้มาจากไหน จากคำที่โจษกัน ฟังคนนั้นพูดนิดคนนี้พูดหน่อย แต่น่าจะได้จากหนังสือพิมพ์เสียเป็นพื้น จึงมีความสงสัยว่า หนังสือพิมพ์นี้ไม่มีประโยชน์ที่จะถึงนำปัปลิคโอปิเนียนให้เดินตามก็จริงอยู่ แต่พวกที่หาความรู้ร่อน ๆ น่ากลัวจะเรียนจากหนังสือพิมพ์มากกระมัง บางคราวจึงเกิดรำคาญ เมื่อสำแดงความโง่ออกมา มีท่าทางที่จะชักพาให้คนอื่นคิดตาม แล้วไม่มีผู้ใดแก้ ก็ดูเหมือนความคิดนั้นถูก ก็ยิ่งจะชักพาคนพวกนั้นงมเงาหนักลงไป จึงเห็นว่า ถ้าหากว่าหนังสือพิมพ์ลงกล่าวเฉไฉนัก น่าที่เจ้าพนักงานในกระทรวงนั้นจะแก้ไขบอกความจริงเสีย อย่าปล่อยให้ความเข้าใจผิดติดอยู่ในหนังสือเปล่า ๆ เป็นอันได้ทำการสั่งสอนพวกเรียนด้วยหูด้วยตา ให้คิดอะไรใกล้ข้างถูกขึ้น ในเวลานี้คนพวกนั้นยังมีอยู่มาก ซึ่งคงจะหมดไปจริงอยู่แหล่แต่จะยังนาน แลคนพวกนั้นมักจะเป็นคนที่ฝรั่งเรียกเอปปิวปล หูตาว่องไว จึงได้ก้อร่อก้อกางอยู่ได้ ถ้าสะกิดให้รู้จักทางถูกเสียสักเล็กน้อย บางทีจะเป็นผลดีได้บ้างกระมัง

เช่นการเล่าเรียนที่หลงไปว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะหาคนใช้ ไม่ใช่หน้าที่ของคนทั้งปวง ซึ่งจะต้องฝึกหัดตัวของตัวในวิชาความรู้เพราะเป็นที่ตั้งแห่งความประพฤติดี ความสุขแลโภคทรัพย์ ตามทางที่พูดๆ กันอยู่ในเวลานี้ ว่าโดยย่อ ก็เรียนเป็นเสมียนซึ่งหวังใจว่า จะคืบขึ้นไปเป็นเสนาบดีด้วยกันทั้งหมด ไม่รู้จักหน้าที่ของตัวที่จะปลูกฝังตัวเองให้เป็นพลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งมีความรู้แลทางหากินเสมอเหมือนพลเมืองประเทศอื่น

แลทำให้ความคิดแคบสั้น แลดูเฉพาะหมู่เฉพาะเหล่า เพราะตั้งต้นจะสั่งสอนไว้สำหรับให้ทำราชการเหมือนอย่างกับคิดหัดละครโรงหนึ่ง ให้ได้คนพอเล่นละครแล้วก็แล้วกัน การเล่าเรียนของรัฐบาลจัดเหมือนหนึ่งว่า ถ้าเดินไปพอได้คนพอทำราชการไม่ขัดสนแล้ว ก็เป็นอันยุติ หมดความรู้ของผู้ที่เรียนด้วยตาด้วยหูร่อนๆ กันอยู่เพียงเท่านั้น ความคิดที่จะคิดว่า ทำไฉนจะให้คนทั้งพระราชอาณาเขตได้มีโอกาสเล่าเรียนให้ทั่วถึง เช่นนี้ไม่เคยมีปรากฏแก่ญาณของพวกเหล่านั้นเลย

จึงเห็นว่ากรมศึกษาเองน่าจะดำเนินความคิดอันนี้ เพาะปลูกความคิดของคนให้รู้จักหน้าที่ของตัว แลรู้จักความคิดกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งชาติทั้งประเทศ แต่ถ้าเป็นตำราก็ไม่อ่าน พวกนักเรียนหูนักเรียนตาเหล่านี้ เขามักจะหาความรู้ด้วยโฉบเอา เพราะมีทิฐิว่าไม่เป็นศิษย์ใคร ตรัสรู้เองเสียแล้วดังนี้เป็นที่ตั้ง จึงต้องเหมือนโยนข้าวปั้นไปให้โฉบอย่างกา จะดีฤๅร้ายอย่างไรบอกไม่ได้แน่ นึกในใจขึ้นมาเช่นนี้ก็พูดไปแก่เจ้าดูที เพราะเหตุที่มันเป็นความคิดนอกทางอยู่ จึงไม่ส่งไปยังกระทรวง พูดถึงเจ้าเพื่อจะไม่ให้เป็นทางราชการ.

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ