พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๙

สวนดุสิต

วันที่ ๔ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙

พระยาไพศาล

หนังสือที่พิศมัยนำมาให้ดู ๒ เล่ม ได้อ่านทันทีแต่เล่มเดียว วิทยาจารย์อ่านค้างมาทีละน้อยๆ พึ่งสำเร็จลง ได้เห็นแล้วว่าความคิดจัดการเดินเข้าถูกรอย ไม่เป็นปลูกต้นมะฮอกกินีในกระถาง เหตุที่กล่าวเช่นนั้น ได้แก่หวังจะสอนความรู้ที่ดี ไม่มีความรู้ชั้นต่ำแพร่หลายทั่วไปเหมือนภูมิพื้นแผ่นดิน แล้วจึงค่อยเลือกคัดขึ้นมา เมื่อควรจะดีถึงยอดได้เพียงใด ก็จะได้โดยแม่นยำ ไม่เหมือนสอนตอนยอดไม่มีภาคพื้นซึ่งจะลงทุนไปเท่าใด ความรู้ไม่แพร่หลายติดอยู่ในแผ่นดินตายสูญไปกับชีวิตมนุษย์ อาการสั่งสอนเช่นนั้นซึ่งกล่าวว่า ปลูกต้นมะฮอกกินีในกระถาง

อนึ่ง อยากจะบอกให้รู้ความรำคาญใจอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งน่าที่จะมีผู้เข้าใจว่า อยากจะให้ใช้ศัพท์ไทย ไม่ใช่ศัพท์ฝรั่ง เช่นได้ตักเตือนไปยังกระทรวงด้วยคำว่า เทอม จะเข้าใจไปว่ารังเกียจคำต่างประเทศ อยากจะให้ใช้คำไทยเท่านั้น ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น ถ้าคำที่จะใช้สำหรับคนสามัญเข้าใจทั่วไป เช่นประกาศกำหนดเวลาเรียน คนที่จะไม่รู้จักคำว่า เทอม นั้นมาก จึงแนะนำไปให้หาคำอื่นใช้ให้คนทั้งปวงเข้าใจง่าย แต่บางทีคำที่มาคิดขึ้นใหม่จากภาษาสังสกฤตฤๅภาษามคธ ซึ่งเป็นคำแปลกๆ ไม่ใคร่เคยได้ยิน จำยากกว่าภาษาอังกฤษเช่นนี้ ไม่เป็นประโยชน์อันใด ถ้าพูดกันเองในชั้นผู้รู้ภาษาต่างประเทศไม่มีความรังเกียจ

ข้อซึ่งไม่ชอบแท้นั้น คือ สำแดงความโง่ของกรมศึกษา เช่นในหนังสือวิทยาจารย์เล่ม ๑๐ ตอน ๘ วันที่ ๑๕ เมษายน หน้า ๓๑๓ มีคำเรียกชาติแขกว่า แตมิลู แล้วมีหมึกแดงฆ่าตีนอู เหลือแต่ แตมิล นี่เป็นความเขลา ซึ่งปรากฏในตำราเรียน ฤๅข่าวของกรมศึกษา เพราะแขกชาตินี้ เรารู้จักมาแต่ไหนแต่ไร จนเป็นคำด่า นับว่าเป็นคำผรุสวาท มีในภาษามคธแลที่แปลเป็นภาษาไทยเป็นอันมากว่า ทมิฬ ให้ดูพงศาวดารลังกา เสียงเอาอย่างฝรั่งโง่ เพราะหลงฝรั่งเช่นนี้เป็นที่เดือดร้อนรำคาญ ถ้าหากว่าจะอยากอวดดีจะว่าอังกฤษเขาเรียกแตมิล ซึ่งไทยเราเคยใช้ว่าทมิฬ เช่นนั้นก็ยังจะค่อยเป็นภูมิรู้สักหน่อยหนึ่ง นี่เป็นตัวอย่างที่ยกขึ้นให้เห็นแต่เรื่องเดียว ยังมีอื่นๆ อีกมาก เช่น เวียงจันทน์ เรียก เวียนเทียน ตามภาษาญวน ปากน้ำเซ เรียก ปักเส เมืองเมาะตมะ เรียก มาตาบาน เมืองทวาย เรียก ตีวอย เมือง ตนาวศรี เรียก เตนแนสเซอริม ยังเมืองพม่า เมืองจีน บรรดาที่มีชื่ออยู่ในพงศาวดารแลในหนังสือไทย กลับเรียกตามเสียงฝรั่งไปหมด เช่น เมืองอ้ายมุ่ย เรียก เอมอย เมืองเซี่ยงไฮ้ เรียก แซงไค เป็นต้น หนักกว่าหนัก เรื่องนี้ทนไม่ไหว ถ้าพยายามจะพูดฝรั่งเดี๋ยวนี้ว่า ไอเดนติไฟ ชื่อเมืองที่เคยมีในภาษาไทยให้ใช้ภาษาไทย อย่าให้จดหมายแลพงศาวดารแตกสูญเสียได้จะดี ถ้าขืนเอาอย่างฝรั่งตะพัดตะเพิดไปจะหลง ไม่รู้หัวนอนปลายตีน เมืองเก่า ๆ ที่เรียกชื่อไว้ในหนังสือ จะกลายเป็นเมืองในเรื่องพระอไภยไปหมด พาให้นักเรียนโง่ไปแน่แล้ว การเช่นนี้มีจนกระทั่งในกรุงเทพฯ เช่น หัวลำโพง ฝรั่งเรียกไม่ชัด ไทยเราพลอยเรียกตามว่า วัวลำพอง นี่เป็นเรื่องที่ควรจะฟาดเคราะห์จริง ๆ ในวิทยาจารย์มีเรื่องเช่นนี้มากหลายแห่ง แต่ไม่ได้จดจำไว้ที่สำหรับจะยกขึ้นกล่าวในเวลานี้.

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ