ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง การศึกษาของประเทศสยาม

(ต้นฉบับส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายที่เพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๒๙)

(สำเนา)

ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ เรื่อง การศึกษาของประเทศสยาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม ทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงการเล่าเรียนของประเทศสยามซึ่งได้มีสืบมาแต่โบราณ คือ วัดเป็นสำนักที่เล่าเรียนหนังสือ แลบ้านเป็นที่เรียนศิลปวิชาการเลี้ยงชีพต่าง ๆ ตามเหล่าตามตระกูลตลอดมาจนตราบเท่าทุกวันนี้นั้น

บัดนี้การติดต่อกันระหว่างนานาประเทศทั่วโลกมีมากขึ้นแล้ว ทางทะเลก็มีเรือกลไฟ ทางบกก็มีรถไฟ ความต้องการแลกเปลี่ยนสินค้ากระทำให้นานาประเทศคบหาสมาคมกัน อันเป็นเหตุให้ความรู้ทั้งฝ่ายวิชาแลฝ่ายศิลปการทำด้วยฝีมือ ต้องหันเหียนเปลี่ยนไปหาที่ถูกที่ดี แลที่ได้ประโยชน์ยิ่ง วิชาหรือศิลปะใดแพ้ก็เสื่อมไป หรือต้องเปลี่ยนแปลงไปให้สู้กันได้ในประเภทเดียวกัน

อันความยิ่งหย่อนเป็นลุ่มๆ ดอนๆ ในส่วนศิลปวิชาการทั้งปวงนี้ เมื่อครั้งการไปมาระหว่างนานาประเทศยังไม่ติดต่อถึงกันได้สะดวก ความยิ่งแลหย่อนเป็นลุ่ม ๆ ดอนๆ นี้ก็อาจมีอาจเป็นอยู่ได้ในที่ต่าง ๆ กัน แต่ครั้นความติดต่อกันได้มาถึงเข้าแล้วดังในสมัยนี้ ความรู้ศิลปวิชาการทั้งปวงจำต้องหันเข้าหาความสม่ำเสมอเป็นลำดับไปทุกที

เพราะเหตุสมัยแลความเป็นไปของประเทศบ้านเมืองได้เปลี่ยนมาฉะนี้ จึงจำเป็นต้องคิดบำรุงศิลปวิชาการทั้งปวงของเราให้เจริญขึ้น ป้องกันไม่ให้เสื่อมทรามลงได้ด้วยอำนาจที่ต้องแข่งขันกับเขาอื่น ความทะนุบำรุงแลป้องกันเช่นนี้ ก็ได้แต่รีบจัดการฝึกหัดสั่งสอนกันให้เกิดความรู้แลความสามารถยิ่งยวดขึ้น

จำเดิมแต่รัฐบาลได้เริ่มตั้งโรงเรียนมาเป็นเวลานานแล้วก็ดี แต่โดยที่ความประสงค์ในชั้นต้นต้องหัดคนสำหรับราชการก่อน จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่า การเล่าเรียนนั้นสำหรับแต่ผู้ที่จะรับราชการ ไม่ใช่หน้าที่ของคนทั้งปวง ซึ่งจะต้องฝึกหัดตัวของตัวในวิชาความรู้ แล้วเมื่อได้ขยายการเล่าเรียนให้แพร่หลายออกไปทั่วพระราชอาณาเขต จึงพากันหลงงงงวยไปว่า การเล่าเรียนทั้งหลายต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะออกทุนรอนให้หมด ความเข้าใจผิดอันนี้เป็นเครื่องหน่วงความเจริญของบ้านเมืองให้เนิ่นช้า

แท้จริงการเล่าเรียนนี้เป็นเครื่องชักจูงให้เกิดความฉลาด ให้รู้จักประพฤติตัวดี ให้สามารถในศิลปวิชาการหาเลี้ยงชีพ ไม่ว่าวิชาแลศิลปะใด ตั้งแต่เป็นครู เป็นแพทย์ตลอดไปจนเป็นพ่อค้าแลเป็นช่างย่อมต้องเรียนก่อน จึงจะรู้สำเร็จเป็นอย่างดีได้ ก็คนเกิดมาจำต้องหาเลี้ยงชีพในทางใดทางหนึ่งทุกคนด้วยกัน เหตุฉะนั้น มรดกที่บิดามารดาเด็กจะให้แก่เด็ก อะไรไม่ดียิ่งกว่าวิชาความรู้ ซึ่งจะได้เป็นทุนหนุนตนให้สูงขึ้น ให้เป็นที่ตั้งแห่งความประพฤติดี ความสุข แลโภคทรัพย์ได้แท้จริง ดียิ่งเสียกว่ามรดกที่ให้เป็นทุนทรัพย์ ซึ่งอาจจะหมดเปลืองแลสูญสิ้นไปได้นั้นอีก

เมื่อได้ทรงพระราชดำริดังนี้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า

แต่บัดนี้ไป ให้เป็นหน้าที่ของบิดามารดาและผู้ปกครองเด็กที่จะสั่งสอนและแสวงหาการเล่าเรียนให้แก่เด็กโดยสมควรแก่ฐานานุรูปแลกำลังทุนทรัพย์ ฝ่ายรัฐบาลก็จะได้วางรูปโครงการของการเล่าเรียนสำหรับชาติบ้านเมืองลงไว้ให้เป็นหลัก ดังที่เจ้าหน้าที่ คือ กระทรวงธรรมการ จะได้ประกาศให้ทราบทั่วกันเป็นลำดับต่อไป ความประสงค์จำนงหมายในการสั่งสอนฝึกหัดกันนั้นให้มุ่งต่อผลสำเร็จดังนี้ คือ

ให้เป็นผู้แสวงหาศิลปวิชาเครื่องอบรมปัญญาความสามารถแลความประพฤติดีประพฤติชอบ ให้ดำรงรักษาวงศ์ตระกูลของตน ให้โอบอ้อมอารีแก่พี่น้อง ให้มีความกลมเกลียวร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในระหว่างสามีภริยา ให้มีความซื่อตรงต่อกันในระหว่างเพื่อน ให้รู้จักกระเหม็ดกระแหม่เจียมตัว ให้มีเมตตาจิตแก่ผู้อื่นทั้งปวง ให้อุดหนุนสาธารณประโยชน์อันเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด ให้ปฏิบัติตนตามพระราชกำหนดกฎหมาย เมื่อถึงคราวจะต้องช่วยชาติแลบ้านเมือง ให้มอบกายสวามิภักดิ์ด้วยกล้าหาญ และด้วยจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แลมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์อยู่ทุกเมื่อ

เมื่อใดความรู้สึกต่อหน้าที่เหล่านี้ทั้งหมด ได้เข้าฝังอยู่ในสันดานคน ปรากฏด้วยอาการกิริยาภายนอกแล้ว เมื่อนั้นความสั่งสอนฝึกหัดชื่อว่าสำเร็จ แลผู้ใดได้เล่าเรียนถึงผลสำเร็จเช่นนี้แล้ว ผู้นั้นชื่อว่าเป็นราษฎรอันสมควรแก่ประเทศสยามยิ่งนัก

ประกาศมา ณ วันที่........กันยายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ตรงกับวันที่.........ในรัชกาลปัจจุบันนี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ