(สำเนา) พระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๙

ที่ ๘๑/๗๐๔

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ ๒๓ สิงหาคม รัตนโกสินทร๓๓ศก ๑๑๙

ถึง พระยาศรีสหเทพ

ด้วยเจ้าพึ่งเป็นปลัดทูลฉลองขึ้นใหม่ๆ ไม่รู้ขนบธรรมเนียมที่จะทูลเบิกแขกเมือง ยากที่จะไปค้นคว้าแห่งใด เพราะธรรมเนียมของเราใช้จำกันมากกว่าจด จึงได้เรียบเรียงแบบอย่างส่งมาให้ตามที่ได้เคยเห็น แลได้เคยเป็นเจ้านายรับยศอย่างนี้มาจนเป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เอาแบบอย่างนี้เก็บไว้ในศาลาเป็นหลักฐานสืบไปด้วย

แบบกราบบังคมทูลพระกรุณา นำแขกเมืองถวายเครื่องราชบรรณาการ

แขกเมืองต่างประเทศ คือ พม่า สิงหล ญวน แลมลายู ประเทศราชขึ้นกรุงเทพฯ คำนำกราบบังคมทูลขึ้น สรวมชีพ

คำ สรวมชีพ แปลว่า ขอชีวิต คำนี้ใช้ได้แต่สำหรับกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว พระอัครมเหสี สมเด็จหน่อพุทธเจ้า แลพระมหาอุปราช จะใช้คำนำว่า สรวมชีพ ไม่ได้ เพราะเหตุว่าท่านทั้งหลายนั้น จะลงอาชญาประหารชีวิตผู้หนึ่งผู้ใดไม่ได้ จึงใช้แต่พระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระบรมเดชานุภาพอาจจะประหารชีวิตได้

ลักษณะที่จะใช้กราบทูลสรวมชีพ จะยกแต่นำแขกเมืองมลายูถวายเครื่องราชบรรณาการ ซึ่งยังคงใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ๓ ปีครั้งหนึ่งนั้นดังนี้

“สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลตานมหมัตร์ รัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษาผดุง ทะนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนนาเขตร ประเทศราไชยสวริยาธิบดี วิกรมสีห เจ้าพระยาไทรบุรี ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลไทรบุรี แต่งให้ตนกู (ออกชื่อ) สีตวันกรมการ (เท่านั้น) นาย คุมต้นไม้ทองเงิน เครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ต้นไม้ทอง ต้น ๑ สูง...กิ่ง...ก้าน...ดอก...ใบ ต้นไม้เงินต้น ๑ สูงต่ำมีกิ่งก้านดอกใบเหมือนต้นไม้ทอง เครื่องราชบรรณาการ หอกคอทอง เถลิงทอง ฯลฯ”

ถ้ามีเมืองอื่นก็ว่าต่อไปตามลำดับเมืองจนหมด แล้วจึงรวมความข้างท้ายว่า

“บัดนี้ข้าพระพุทธเจ้า ตนกู (ออกชื่อบรรดาผู้ที่เข้ามาเฝ้าในเวลานั้น) สีตวันกรมการเมืองไทรบุรี รวม (เท่านั้น) นาย (เมื่อมีเมืองอื่นอีกก็ออกชื่อแล้วว่า สีตวันกรมการเมืองนั้นเท่านั้นนาย) เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ”

ต่อนี้ไปควรจะรู้แบบพระราชปฏิสันถารตามอย่างโบราณ ถ้าเป็นทูตมาแต่พระเจ้าแผ่นดินเอกราช ซึ่งแต่ก่อนมีเมืองพม่า เมืองลังกา เมืองญวน มีพระราชปฏิสันถาร ๗ นัด คือ พูดด้วย ๗ คำ ปลัดทูลฉลองจะต้องเตรียมรับสั่งแลกราบทูล ๗ ครั้ง ถ้าแขกเมืองมาแต่ประเทศอันไม่ได้เป็นข้าขอบขัณฑสีมา คือเมืองทวาย แลเมืองมลายู ในเกาะสุมาตรา แลเมือง ๑๙ เจ้าฟ้า เข้ามาสวามิภักดิ์ มีพระราชปฏิสันถาร ๕ นัด ถ้าเมืองประเทศราชข้าขอบขัณฑสีมาถวายต้นไม้ทองเงินแลเครื่องราชบรรณาการตามกำหนดปี มีพระราชปฏิสันถาร ๓ นัด แต่พระราชปฏิสันถารในชั้นหลังๆ มา ยักเยื้องไปจากแบบบ้าง บางทีกว่า ๓ นัดบ้าง ในเมื่อตัวเจ้าประเทศราชเข้ามาเองเปนต้น ก็ต้องรับรับสั่งแลกราบบังคมทูลตามที่มีพระราชปฏิสันถารนั้น

เมื่อมีพระราชปฏิสันถารจบลงนัด ๑ ปลัดทูลฉลองต้องกราบทูลรับสั่งว่า

“ข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ” แล้วจึงไปพูดด้วยแขกเมือง

เมื่อจะนำคำแขกเมืองกราบบังคมทูลพระกรุณา ต้องขึ้นต้นว่า “สรวมชีพ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ด้วยข้าพระพุทธเจ้าสีตวันกรมการเมืองไทรบุรี (ออกชื่อเมืองที่มาทุกเมือง) ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ฯลฯ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

แต่เมืองลาวประเทศราช หาได้เคยเห็นกราบบังคมทูลนำด้วยคำ สรวมชีพ นี้ไม่ จะเป็นด้วยคุ้นเคยใกล้ชิดฤๅประการใด ใช้นำกราบบังคมทูล “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม” ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าสุริยพงษผริตเดช (สร้อย) เจ้าอุปราช เจ้าราชวงษ เจ้าบุรีรัตน์ เจ้าราชบุตร จัดให้ผู้นั้นคุมต้นไม้เงินทอง แลเครื่องราชบรรณาการ จำนวนรัตนโกสินทรศก ๑๑๙ ลงมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ฯลฯ”

เมื่อมีพระราชปฏิสันถาร ปลัดทูลฉลองรับสั่งว่า “ข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ” เมื่อไปพูดกับแขกเมืองแล้วจะนำความขึ้นกราบบังคมทูล เริ่มว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ผู้นั้นๆ) ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ฯลฯ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ”

คำกราบทูลเริ่มด้วยขอเดชะเช่นที่กล่าวมาแล้วนี้ ใช้ได้ในพระอัครมเหสี แลสมเด็จหน่อพุทธเจ้า อันได้รับอุปราชาภิเษกเวลาออกแขกเมือง

ส่วนสมเด็จหน่อพุทธเจ้าอันยังไม่ได้รับอุปราชาภิเษก แลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าเวลาออกแขกเมือง เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลัดทูลฉลองฤๅปลัดบาญชีนำเฝ้า เคยใช้คำนำกราบทูลว่า “ขอเดชะฝ่าละอองพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ผู้นั้นๆ) จัดให้ (ผู้นั้นนำสิ่งนั้น) มาทูลเกล้าถวาย ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม”

เมื่อตรัสปราศรัย รับรับสั่งว่า “พระพุทธเจ้าข้า ขอรับใส่เกล้าใส่กระหม่อม” เมื่อจะนำความขึ้นกราบทูล ใช้คำนำว่า “ขอเดชะฝ่าละอองพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า (ผู้นั้น) ให้กราบบังคมทูลว่า (ดังนั้น) ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม”

การที่เจ้าฟ้าออกแขกเมืองเช่นนี้ เปนการพิเศษ มีหมายกระทรวงตั้งพระแท่นแลเครื่องยศ มีเจ้ากรม ปลัดกรม จ่าตำรวจนอก ตำรวจสนมเฝ้า ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนทุกๆ กระทรวง ประมาณสัก ๓๐ ฤๅ ๔๐ คน เฝ้าซ้ายขวาเหมือนเสด็จออก ถ้าหากว่าไม่ได้โปรดให้ออกเช่นนี้ ก็ไปเฝ้าเหมือนอย่างเฝ้าเจ้านายตามธรรมเนียม ไม่มีทูลเบิกแลไม่มีรับรับสั่ง แต่เจ้านายนอกจากเจ้าฟ้าซึ่งทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานให้แห่หอกแลมีเรือตั้งนำแล้ว จะทูลเบิกเช่นนี้ไม่ได้เลย

(ร่างเพิ่มเติม แบบกราบบังคมทูลพระกรุณานำแขกเมืองถวายเครื่องราชบรรณาการ ให้เขียนต่อท้ายฉบับก่อน)

มีข้อซึ่งเกลือกว่าจะเป็นที่สงสัย จึงเพิ่มเติมลงไว้เสียให้รู้ว่า เมื่อในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีทูตฝรั่งเข้ามาเฝ้า ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เติมคำกราบบังคมทูลนำแขกเมืองว่า

“สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระกรุณาในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ท่านเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยให้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท” เช่นนี้ เกิดขึ้นเมื่อราวปีขาลอัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ โดยหมายความว่า กราบทูลในที่ประชุมคือ อินเคานซิล เพราะจะเห็นจากคำที่ว่า ออเดอร์ อินเคานซิล แลเพื่อจะยกยศให้เสนาบดีว่าการทั้งปวง เป็นอันไม่สิทธิ์ขาดแต่พระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว ต้องปรึกษาพร้อมด้วยเสนาบดี คำกราบทูลเช่นนี้ ได้ใช้กราบทูลมาจนถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ประมาณสัก ๕-๖ ปี เราเห็นว่าเป็นความเข้าใจผิดของผู้เป็นประธานในราชการเวลานั้น ยินดีในเกียรติยศอันไม่เป็นเกียรติยศอันใด แลผลของการที่กราบบังคมทูลยืดยาวเช่นนั้น ทำให้มีการที่มีพระราชปฏิสันถารแลกราบทูลเนิ่นช้าอย่างยิ่ง แลเกิดเหตุบ่อยๆ ที่ฝรั่งผู้เข้ามาก็อาละวาด ปลัดทูลฉลอง คือ พระยาพิพัฒนโกษา (เสพ) ก็ถูกกริ้ว เพราะกราบทูลไม่ถูก จนต้องย้ายไปเป็นพระยาอภัยพิพิธ เลื่อนพระสุรินทรามาตย์ (ทับ) มาเป็นพระยาพิพัฒนโกษา การกราบทูลนั้นก็ถูกต้อง แต่ฝรั่งก็ไม่หายอึดอัด ด้วยจะกราบทูลครั้งหนึ่งก็ต้องเสกยาว ๆ เช่นนั้น จึงได้สั่งให้เลิกเสีย ใช้คงตามแบบโบราณ แต่แบบใหม่นี้ปลัดทูลฉลองมหาดไทย กลาโหม ไม่เคยทูลเลยสักครั้งเดียว ใช้แต่แขกเมืองฝรั่งอย่างเดียวเท่านั้น

อนึ่ง คำ สรวมชีพ เมื่อรับรับสั่งคือว่า “สรวมชีพข้าพระพุทธเจ้า ขอรับพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ใส่เกล้าใส่กระหม่อม ขอเดชะ” เช่นนี้ก็เคยใช้บ้าง แต่เห็นว่าฟั้นเฝือไป จึงได้สั่งให้ยกเสีย คงใช้อยู่แต่พราหมณ์แลพระอาลักษณ์รับพระบรมราชโองการเป็นปฐม แลเป็นทุติยในเวลาบรมราชาภิเษก

คำมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ซึ่งได้ยกเสียนั้น นึกสงสัยว่าแบบโบราณในครั้งใดครั้งหนึ่งเขาจะรับรับสั่งทั้ง ๒ องค์ คือพระราชโองการแลพระราชบัณฑูร เพราะเหตุว่า มาน นั้นแปลว่า มี เหมือนกัน คำซึ่งว่า “มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูร” จะเป็นสั่งทั้งวังหลวงวังหน้าไปดอกกระมัง แต่ที่ใช้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้เป็นสร้อยพระบรมราชโองการ เพราะเหตุว่าไม่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย ด้วยวังหน้ารับพระบวรราชโองการ ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ วังหน้ารับพระราชบัณฑูร จึงได้งดเลิกเสียตั้งแต่ปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๒๓๖ คงใช้แต่พระบรมราชโองการทั่วไป

ซึ่งกล่าวถึงแบบที่เลิกแล้วนี้ เพราะเหตุว่า จะมีผู้ซึ่งเคยได้ยินจำได้กล่าวทักท้วงให้เป็นที่สงสัย ว่าธรรมเนียมที่กล่าวมาข้างต้นจะยังบกพร่องอยู่ จะได้รู้ไว้เสียให้ตลอด

สยามินทร์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ