พระบรมราชวินิจฉัย เรื่องเจ้าต่างกรม

บัดนี้จะตั้งวินิจฉัยในเรื่องเจ้าต่างกรมแปลว่ากระไร เหตุไฉนชื่อเจ้ากรมจึงเหมือนกับชื่อเจ้า ข้อนี้วินิจฉัยง่าย คือเจ้าฟ้าก็ดี พระองค์เจ้าก็ดี ที่มีข้าไทเลกสมสังกัดขึ้นมาก การบังคับบัญชาคนข้าไทเหล่านั้น ต้องมีข้าของเจ้าคนหนึ่งสองคนฤๅสามคนเป็นผู้ควบคุมผู้คนมากด้วยกัน จะเป็นแต่จางวาง นายเวร สมุห์บาญชี ชื่อเดิมควบคุมคนมากๆ ก็ดูไม่สมควร เจ้าแผ่นดินจึงได้โปรดให้ยกคนหมู่นั้นขึ้นเป็นกรมต่างหากกรมหนึ่ง คงอยู่ในเจ้าองค์นั้น เจ้าองค์นั้นมีอำนาจตั้งเจ้ากรมเป็นพระยา พระ หลวง ขุน หมื่น ปลัดกรมเป็น พระ หลวง ขุน หมื่น สมุห์บาญชีเป็นหลวง ขุน หมื่น มีชื่อตำแหน่ง ส่วนเจ้าซึ่งเป็นผู้ปกครองกรมนั้น เป็นเจ้าฟ้าก็คงเป็นเจ้าฟ้า เป็นพระองค์เจ้าก็คงเป็นพระองค์เจ้า แต่การที่ผู้ใดจะออกพระนามเดิมจริง ๆ ดูเป็นการไม่เคารพ เช่นกับจะออกพระนามกรมหลวงจักรเจษฎาว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าลา เช่นนี้ก็ดูเป็นการต่ำสูง จึงเรียกเสียว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎา ตามชื่อเจ้ากรมซึ่งเป็นหัวหน้าข้าไทของท่าน ส่วนพระองค์เจ้าเล่า ตามอย่างเก่าๆ เขายังเรียกพระองค์เจ้ากรมหมื่นนั่น พระองค์เจ้ากรมหมื่นนี่ คำที่ใช้จ่าหน้าบาญชีเจ้านาย ก็ใช้ว่าพระองค์เจ้ามีกรม แลพระองค์เจ้ายังไม่มีกรมเช่นนี้เป็นตัวอย่าง ชื่อเจ้ากรมปลัดกรมอย่างเก่าๆ ไม่ได้ใช้คำสูงวิเศษอะไร แลไม่ได้ใช้เป็นผู้หญิงผู้ชาย เช่น เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพย์ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพ ก็เห็นได้ตรงว่า พระนารายณ์คงไม่ได้ตั้งพระขนิษฐาให้ชื่อโยธาทิพย์องค์หนึ่ง แลพระราชบุตรีให้ชื่อโยธาเทพ ซึ่งเป็นชื่อทหารผู้ชายเช่นนั้น เห็นชัดว่าเป็นชื่อสำหรับเจ้ากรมเท่านั้น

การค่อยๆ เข้าใจผิดกันมาทุกที เพราะเรียกพระนามกรมจนจับหน้าเจ้าองค์นั้นเสียแล้ว จึงกลายเป็นชื่อเจ้าองค์นั้น ชื่ออย่างเจ้ากรมของตัว คงเหลืออยู่แต่เจ้าฟ้า ซึ่งได้รับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนามเป็นเจ้าฟ้าก่อนเป็นกรม เช่นเจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระบำราบปรปักษ์ ใช้ทั้ง ๒ อย่าง การที่ชักเลอะนั้น เพราะเจ้าฟ้าที่ไม่ได้รับพระสุพรรณบัฏ แลชื่ออย่างไทยๆ เช่นชักตัวอย่างเจ้าฟ้าลา กรมหลวงจักรเจษฏามานั้น เป็นเหตุให้ฟั่นเฟือนได้ประการหนึ่ง

สมเด็จพระบรมราชชนนี แต่ไหนแต่ไรมาใช้ว่า กรมพระเทพามาตย์ คงเป็น “มาตย” ไม่ใช่ “มาตุ” ที่แก้เป็นมาตุนั้นแก้ตามความหลง ถ้าจะเอามาวินิจฉัยว่า พระราชชนนีทำไมจึงไม่ใช้สมเด็จ แต่พระอัครมเหสียังใช้สมเด็จได้ ฤๅเจ้านายอื่นๆ ยังตั้งเป็นกรมสมเด็จได้ ถึงทีพระราชชนนี เหตุใดจึงตั้งเป็นแต่กรมพระ ความข้อนี้วินิจฉัยได้ง่าย สมเด็จนั้นอยู่หน้าคำนำ ตามแบบโบราณเขาใช้สมเด็จพระพันปีหลวง ฤๅสมเด็จพระราชมารดา สมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระบรมราชชนนี ถ้าหากว่าพระนามของท่านเป็นคำไทยๆ เช่นสมเด็จพระบรมราชชนนี รัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ใครเลยจะกล้าออกพระนามไทยๆ ต่อท้ายสมเด็จได้ เพราะเหตุฉะนั้น สมเด็จพระพันปีหลวงแต่โบราณ ก็มีพระนามไทยๆ เขาจึงเรียกสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ แต่ด้วยความเคารพยิ่งขึ้นไป จึงไม่ออกพระนามแม้แต่สมเด็จพระพันปีหลวง เรียกแต่ชื่อเจ้ากรม ว่ากรมพระเทพามาตย์ทีเดียว

การที่เปลี่ยนชื่อเจ้ากรมในรัชกาลที่ ๒ เป็นพระอมรินทรามาตย์ ด้วยความประสงค์จะแก้จืดแลจะให้สูงขึ้น ได้ยกสมเด็จซึ่งเป็นคำนำพระพันปีหลวง มาใช้นำชื่อกรม เป็นสมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์ “สมเด็จ” ฤๅจะว่า “สมเด็จของ” กรมพระอมรินทรามาตย์ มีปรากฏในหมายเก่าใช้ “สมเด็จกรมพระอมรินทร์” “สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย” ทุกแห่ง ยังถูกต้องดีอยู่

ข้อซึ่งมาเกิดฟั่นเฟือนมากไปนั้น ด้วยในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชบัญญัติ พระศรีภูริปรีชารับพระบรมราชโองการ ออกหมายลงวันเดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีชวด จัตวาศก จุลศักราช ๑๒๑๔ ก่อนข้าพเจ้าเกิดปีหนึ่ง สาเหตุข้อพระราชบัญญัตินี้แลเป็นความมุ่งหมายอย่างแท้ เหตุที่เกิดขึ้นนั้นดังนี้

ทรงได้ยินคำกราบทูลว่า สมเด็จพระเดชา แลสมเด็จพระปรมานุชิต เป็นต้น ทรงระแวงไปว่า ดูเหมือนบรรดาศักดิ์จะเสมอสมเด็จพระราชาคณะ อันเรียกว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระพุฒาจารย์แลอื่นๆ อีกอย่างหนึ่งนั้น มีผู้กราบทูลเรียกพระนามกรมพระว่า พระราม พระพิพิธ พระพิทักษ์ ก็จะเหมือน พระพิพิธเดชะ พระอินทรเทพ แลอื่นๆ ไป จึงได้บัญญัติลงว่า

“จะออกพระนามพระเจ้าอยู่หัววังหลวงวังหน้าให้ใช้ “พระบาท” นำสมเด็จ ถ้าจะออกพระนามสมเด็จพระเดชา สมเด็จพระปรมานุชิต ให้ใช้ “กรม” นำหน้าสมเด็จ จะได้ผิดกับสมเด็จพระราชาคณะ ถ้าจะใช้พระนามกรมพระรามอิศเรศ กรมพระพิพิธ กรมพระพิทักษ์ ให้ใช้ “กรม” นำหน้า “พระ”

มีข้อความปรากฏอยู่ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เล่ม ๒ หน้า ๓๕๘

พระราชบัญญัติอันนี้ไม่ได้ทรงระลึกถึงแบบเดิม ซึ่งเคยใช้สมเด็จกรมพระอมรินทร์ สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย ซึ่งคงใช้อยู่จนถึงเวลาออกพระราชบัญญัตินั้นเลย พระราชประสงค์แต่จะแก้ข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นในขณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลาหลงเอาชื่อเจ้ากรมมาเป็นชื่อเจ้าเสียช้านานแล้วนั้น

คำที่ใช้ว่า “พระบาท” นำหน้าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินนั้น น่าจะมาจากศุภอักษร ซึ่งมีข้อความว่า “ท่านเสนาธิบดินทร์นรินทรามาตย์ผู้ภักดีบำเรอพระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐ” เป็นต้น ถ้าจะชักเอาพระบาทให้ขาดวรรค “ผู้ภักดีบำเรอ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรฐ” ก็เป็นอันเข้าใจใช้ได้ว่า สมเด็จในพระนามของพระเจ้าแผ่นดิน ควรจะมีพระบาทนำ แต่ก็เป็นบัญญัติใหม่ เพื่อจะให้ผิดจากสมเด็จพระราชาคณะนั้นเอง ของเก่าๆ หาได้ใช้เป็นหลักฐานมั่นคงไม่

แต่กรมนำหน้าสมเด็จ ไม่สนิทเหมือนพระบาทนำสมเด็จ กรมนำเข้าข้างหน้าต้องเข้าใจว่า เจ้าองค์นั้นพระนามเหมือนเจ้ากรม ถ้าเอากรมต่อท้ายสมเด็จตามแบบเก่า ได้ความว่าเจ้าองค์นั้นเป็นสมเด็จ กรมที่ต่อข้างท้ายนั้นเป็นชื่อของเจ้ากรม สำเร็จรูปเป็นเนื้อความว่า “สมเด็จของกรมซึ่งพระปรมานุชิตเป็นเจ้ากรม” เรียกสั้นเป็นสมเด็จกรมพระปรมานุชิต เมื่อมีกรมอยู่ข้างท้ายสมเด็จเช่นนี้ จะเหมือนสมเด็จพระราชาคณะที่ไหนได้

ส่วนกรมพระที่ทิ้งกรมข้างหน้าเสียนั้นผิดแท้ ไม่ทราบว่าเหตุผลอย่างไร จะเป็นด้วยสั้นแลง่าย เคยได้ยินที่สุดจนเจ้านายในกรมนั้นเอง เช่นพระองค์เจ้าชิดเชื้อพงษ์ หม่อมเจ้ายินดี ก็มักจะเรียก ว่าพระพิพิธ พระองค์เจ้าสิงหนาท แลหม่อมเจ้าลมุน ก็เรียกพระพิทักษ์ เว้นไว้แต่ถ้าพูดกันมากๆ จึงจะเรียกแต่ว่าในกรม เหมือนหม่อมเจ้าทั้งปวงเรียกบิดา ข้อที่หลงไปเรียกชื่อเจ้ากรมเป็นเจ้า เช่นพระพิพิธ พระพิทักษ์นี้ เป็นหลงอย่างเอก

พระราชบัญญัติที่ได้ยกมากล่าวนี้ ไม่บัญญัติไปถึงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวงก็จริง แต่เมื่อบัญญัติลงว่า เจ้านายอันเป็นสมเด็จจำจะต้องมีกรมนำ จึงจะผิดกับสมเด็จพระราชาคณะเช่นนั้นแล้ว ก็ลามมาถึงพระนามสมเด็จพระพันปีหลวง กลายเป็นกรมสมเด็จพระอมรินทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ตลอดจนกรมสมเด็จพระเทพศิรินทร์ ก็เป็นเช่นนั้นด้วย จนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งเรื่องที่กล่าวอยู่บัดนี้ อันเป็นเจ้าฟ้าทั้ง ๒ พระองค์ ก็ต้องเลิกเจ้าฟ้า เติมกรมนำหน้าสมเด็จ เป็นกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ไปด้วย

แต่ครั้นมาในชั้นหลัง จะทรงระแวงขึ้นมา ว่าสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปเหมือนกันเข้ากับกรมสมเด็จต่างๆ ฤๅอย่างไร จะถวายเทศนาโปรดให้หยอดท้าย เช่น กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี พระที่ลืมหยอดท้ายเช่นนี้ต้องถูกลงจากธรรมาสน์ไปก็มี แต่ไม่ได้เติมในฉลากสดับปกรณ์ การจึงได้เป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

ข้อซึ่งพาให้เลอะลืมต้นเหตุแห่งการตั้งกรมมีอีก คือยกตัวอย่างกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข นับว่าเป็นเจ้านายอย่างสูงชั้นพระราชา ก็ใช้ว่ากรมพระราชวัง ไม่ได้ใช้ว่ากรมพระยาราชวัง ความวินิจฉัยอันนี้ผิดมาก ที่วังหน้าและที่วังหลังนี้เขาไม่ได้เรียกตามชื่อบุคคล ผู้ที่เป็นข้าราชการสองกรมนั้นมีมากด้วยกัน เขาจึงเรียกเอาตามที่ชื่อวัง วังหน้าเรียกว่า วังบวรสถานมงคล วังหลังเรียกว่า วังบวรสถานภิมุข ส่วนพระองค์เองท่านเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช แลสมเด็จพระเจ้าหลานเธอต่างหาก การที่พาเลอะเพราะเอากรมไปนำวังเข้าอีก ที่จริงกรมในที่นี้ใช้แทนคำว่าฝ่าย เป็นหมวดเป็นแพนก ไม่ควรจะเอาไปเทียบกับยศเจ้านาย ที่เรียกตามยศเจ้ากรมนั้นเลย

ทางที่พาเลอะอีกเรื่องหนึ่งนั้น คือตามกฎหมายเดิม ไม่มีคำนำพระนามเจ้านายที่เป็นผู้ใหญ่กว่าพระเจ้าแผ่นดิน จะเป็นพระอัยกาก็ตาม พระอา พระพี่ก็ตาม ใช้คำนำว่า พระเจ้าน้องยาเธอเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่าเป็นการบกพร่อง ถ้าจะเป็นการถือเกียรติยศก็ไม่เข้าเรื่อง จึงทรงพระราชดำริแก้เรื่องนี้ แต่แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ มีข้อความปรากฏอยู่ในประกาศ อันข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะได้นำมาลงในหนังสือวชิรญาณวิเศษไว้ คงจะอยู่ในเล่มเดียวกับที่ได้อ้างถึงนี้ ฤๅก่อนขึ้นไปเล่มหนึ่ง

พระราชปรารภนั้น ว่าข้อซึ่งบัญญัติให้เรียกพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอนี้ ไต่ตามตัวอย่างที่เคยมีมาในรัชกาลที่ ๑ เรียกสมเด็จพระพี่นางทั้ง ๒ พระองค์ ควรจะเดินตามแบบอย่างนั้น จึงบัญญัติให้เรียกพระเจ้าพี่ยาเธอ พระเจ้าพี่นางเธอ

แต่เมื่อบัญญัติลงเช่นนี้แล้ว คำนำเช่นนั้นย่อมทั่วไปถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ กรมหมื่นพิทักษ์เทเวศร์ พระองค์เจ้าทินกร เพื่อจะยกกรมขุนเดชอดิศร ให้สูงยิ่งขึ้นไปกว่าเจ้านายที่ออกพระนามมาแล้ว จึงได้พระราชทานเพิ่มคำสมเด็จนำพระนาม แลให้เจ้ากรมเป็นพระยาเทียบอย่างสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ ในรัชกาลที่ ๑

แต่มาขาดความพิจารณาไม่ทั่วถึงเสียในระยะนี้เอง ด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่รัชกาลที่ ๑ ท่านเป็นเจ้าฟ้า สมเด็จเป็นคำนำของเจ้าฟ้า แต่หากไม่เรียกออกพระนามเจ้าฟ้า เรียกแต่สมเด็จเปล่า เอาต่อกับชื่อเจ้ากรม ว่าสมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี เลยหลงไปว่า สมเด็จนั้นเป็นชั้นของเจ้าต่างกรมอย่างยอด อันมีเจ้ากรมเป็นพระยา สมเด็จใช้แทนคำว่าพระยาอยู่แล้ว จึงเรียกสำเร็จรูปเป็นกรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี ตามบัญญัติกรมนำหนำสมเด็จ คราวนี้ก็คลาดรอยจับรูปไม่ติดทีเดียว ครั้นตั้งกรมขุนเดชอดิศร จะให้เป็นต่างกรมอย่างสูงที่สุด จึงได้เป็นกรมสมเด็จพระเดชาดิศร

แต่ครั้นเมื่อพิเคราะห์ไป ยศเช่นนี้ไปทันกันกับสมเด็จพระพันปีหลวง แลสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ รัชกาลที่ ๑ ซึ่งท่านเป็นเจ้าฟ้าหาที่แปลกกันมิได้ จึงโปรดให้เติมคำนำลงเสียหน้าสมเด็จว่า “พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมสมเด็จพระเดชาดิศร” “พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระปรมานุชิต” แก้ไขยักเยื้องไปพอให้แปลกกัน เมื่อลงรูปเช่นนี้จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากจะต้องเข้าใจว่า พระองค์เจ้ามั่งองค์นี้ พระนามเดชาดิศร แต่เหตุไฉนเจ้ากรมจึงมาชื่อพ้องกัน ไม่เคยยกขึ้นสู่ความวินิจฉัย แต่ในชั้นหลังๆ มาเมื่อเกิดเซ็นชื่อกัน เจ้านายต่างกรมบางองค์มีความเดือดร้อน ว่าลายเซ็นของตัวเหมือนกับเจ้ากรม ไม่ทันพิศ บางคนหลงว่า ลายเซ็นของเจ้ากรม เป็นลายพระหัตถ์ของเจ้า

ในเรื่องเจ้านายซึ่งไม่ได้เป็นเจ้าฟ้า ได้รับยศเป็นสมเด็จนี้ชอบกลอยู่ น่าจะมีเค้ามูลอย่างหนึ่งอย่างใด จะว่าสูงเกินไปจนถึงไม่มีเลยเป็นแน่ก็ว่าไม่ได้ แต่ขุนนางยังเป็นสมเด็จเจ้าพระยาได้ มีตัวอย่างที่ข้าพเจ้าระงับไว้ยังไม่ได้วินิจฉัยนานมาแล้วเรื่องหนึ่ง คือเมื่อเวลาเรียงพระราชประวัติสามรัชกาลสำหรับเทศนากระจาดใหญ่ เมื่อสมโภชพระนคร ข้าพเจ้าเป็นผู้เรียบเรียงรัชกาลที่ ๓ แลรัชกาลที่ ๔ เมื่อเก็บข้อความทั้งปวงรวบรวมจะเรียงขึ้นนั้น กรมหลวงบดินทร์รับสั่งยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จออกไปขัดทัพปากแพรกเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม เจ้ากรมเป็นแต่หมื่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ออกพระนามในท้องตราว่า “สมเด็จพระจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” ท่านรับสั่งยืนยันเป็นแน่นอน ไม่ใช่อย่างเลอะๆ แต่เวลานั้นหนังสือที่ต้องค้นคว้าเรียบเรียงมาก เวลามีไม่พอ จึงได้ทูลขอระงับไว้เสีย ว่าถ้าจะลงความข้อนี้ในพระราชประวัติ จะต้องหาหลักฐานไว้ต่อสู้เขาให้ดี หน่อยจะเกิดเป็นปากเสียงว่ายกย่องเกินไป ครั้งนี้รับไว้เสียทีหนึ่งเถิด การก็ค้างกันมา

เมื่อพิเคราะห์ดูเจ้านายที่ไม่ใช่เจ้าฟ้า เช่นกรมสมเด็จพระปรมานุชิต กรมสมเด็จพระเดชาดิศร เป็นสมเด็จด้วยอะไร เป็นได้ด้วยพระราชทานให้เป็น ไม่ใช่พระราชทานให้เป็นเจ้าฟ้า เป็นสมเด็จอย่างสมเด็จเจ้าพระยา อย่างสมเด็จพระราชาคณะ จึงมาคิดเห็นว่าน่าจะมีแบบอย่างอะไรมาแต่ก่อนบ้าง ถ้าหากว่าคำที่กรมหลวงบดินทร์รับสั่งนี้เป็นความจริง ก็น่าจะอย่างเช่นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์นี้เป็นตัวอย่าง แต่เวลานั้นคิดเห็นไม่ได้ เหตุด้วยเรื่องบัญญัติเอากรมนำหน้าสมเด็จเข้าไปขวาง ที่จะคิดเห็นไปว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ความยกย่องเป็นกรมสมเด็จพระเจษฎาบดินทร์ไม่ได้เป็นอันขาด ไม่มีจดหมายข้อความในที่สถานใดเลย จึงเป็นข้อที่ฉงน ต้องขอระงับไว้ก่อน แต่ถ้าหากว่าสมเด็จเป็นแต่คำนำไม่เกี่ยวแก่กรมตามแบบเก่า เช่นเคยใช้สมเด็จกรมพระอมรินทร์ สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัยแล้ว จะใช้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ฤๅอย่างสั้นว่า สมเด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็จะขัดข้องอันใด ก็อย่างเดียวกันกับสมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร สมเด็จกรมพระปรมานุชิต จะว่าเหมือนสมเด็จพระราชาคณะก็ไม่เหมือน เพราะมีกรมอยู่ท้ายสมเด็จ เห็นว่าแยบคายดีหนักหนา ดีกว่าพระราชบัญญัติแก้ให้ใช้กรมนำสมเด็จ

ตัวอย่างความลำบากซึ่งเคยอึดอัดใจอย่างยิ่ง ได้เกิดขึ้นเมื่อครั้งกรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ท่านเป็นกรมพระอยู่แล้ว แต่เพื่อจะยกย่องให้สูง เช่นสมเด็จพระปรมานุชิต ฤๅสมเด็จพระเดชา แต่พระองค์ท่านเป็นเจ้าฟ้า เป็นสมเด็จอยู่ในคำนำพระนามเดิมแล้ว แลตั้งเป็นกรมสมเด็จอีกซ้ำหนึ่ง สมเด็จเดิมทิ้งเสียก็ไม่ได้ สมเด็จใหม่ไม่เติมเข้าก็ไม่สำเร็จกิจการเลื่อนกรม จึงต้องลงทั้งสองอย่าง กลายเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์” สมเด็จถึงสองหนเผยิบผยาบเต็มที ถ้าหากว่าวินิจฉัยลงว่า คำซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวี เรียกสมเด็จพระพี่นางรัชกาลที่ ๑ นี้ถูกต้องตามแบบอย่างความมุ่งหมายเดิมแล้ว จะเรียกได้ง่ายว่า “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์” สนิทสนมดีมาก

ถ้าหากว่าความวินิจฉัยอันนี้ตกลง ผลที่จะเรียกในแผ่นดินปัจจุบันนี้ จะออกพระนามได้ดังเช่นกล่าวต่อไป

๑. สมเด็จพระเจ้าบรมปัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี

๒. สมเด็จพระเจ้าบรมปัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์

๓. สมเด็จพระบรมราชปัยยิกา กรมพระอมรินทรามาตย์ ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระอมรินทรามาตย์

๕. สมเด็จพระบรมราชอัยยิกา กรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระศรีสุริเยนทรามาตย์

๕. สมเด็จพระราชมหาปัยยิกา กรมพระศรีสุลาลัย ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระศรีสุลาลัย

๖. สมเด็จพระบรมราชชนนี กรมพระเทพศิรินทรามาตย์ ฤๅเรียกอย่างย่อว่า สมเด็จกรมพระเทพศิรินทรามาตย์

๗. สมเด็จพระเจ้าบรมอัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

๘. สมเด็จพระเจ้าอัยกาเธอ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส

๙. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร

๑๐. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

๑๑. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ฤๅสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์

เช่นนี้เป็นต้น อาจจะลงร่องรอยได้ เห็นผิดกันที่ในระหว่างที่เป็นเจ้าฟ้า แลมิได้เป็นเจ้าฟ้า แลผิดกันกับสมเด็จพระราชาคณะ

จึงเห็นว่าข้อความซึ่งกรมหลวงนรินทรเทวีเรียก สมเด็จตรัสสา เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี แลสมเด็จตรัสสา เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ น่าจะถูกต้องแยบคายดีหนักหนา.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ