พระบรมราชวินิจฉัย เรื่องพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าลูกหลวงเอก

ร. ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ ล้อนายกุหลาบ

ข้าพระพุทธเจ้า นายกุหลาบ ขอพระราชทานคัดลอกพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้ากรุงเก่า ซึ่งได้รับลอกต่อมาจากฉบับกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายประดับพระบารมีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะฯ

หนังสือเรื่องนี้ นายกุหลาบอ้างว่าเป็นของเจ้าพระยาอภัยมนตรีครั้งกรุงเก่าแต่ง แต่สงสัยกันว่า นายกุหลาบเที่ยวคัดเก็บความจากหนังสืออื่นๆ มาเรียบเรียงเอาเอง แล้วปลอมเอาชื่อเจ้าพระยาอภัยมนตรี แลอ้างว่าเป็นฉบับของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส กรมหลวงเทววงศวโรประการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ก็ทรงพระราชดำริดังนั้น เพราะทรงจำสำนวนแลจับข้อที่เคลื่อนคลาดผิดประเพณีได้มาก จึงแกล้งทรงพระราชนิพนธ์เติมลงให้เห็นโทษของสำนวนปลอม ที่นอกวงเล็บมือเป็นความเดิม ในวงเล็บมือเป็นพระราชนิพนธ์ทรงเติม

----------------------------

เรื่องพระราชพิธีลงสรงเจ้าฟ้าลูกหลวงเอก กรุงทวาราวดีศรีอยุธยา

เจ้าพระยาอภัยมนตรี (ผู้เชี่ยวชาญในการเดาการปลอม) รับพระสิงหนาทราชโองการใส่เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีลงสรงสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าลูกหลวงเอก (พระนามอะไรไม่ทราบ) ตามขัตติยราชประเพณีโบราณ สั่งให้เจ้าพนักงานทั้งปวงทุกกระทรวงจัดการตามอย่างธรรมเนียมต่างๆ นานาครบครัน ฝ่ายเจ้าพนักงานตั้งพระราชพิธีมณฑลบนพระที่นั่งสรรเพ็ชญมหาปราสาท ภายในพระที่นั่งสรรเพ็ชญมหาปราสาทนั้น ตั้งพระแท่นสุพรรณเบญจา (ชั้นกู่แผงแรแลซุ้มใหญ่น้อย) หุ้มทองคำจำหลักลายกุดั่นทั้งสรรพางค์สถิตภายใต้พระมหาเศวตฉัตร ๙ ชั้น (อันแล้วด้วยทองคำจำหลักสรรพางค์ถมราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตน์) อยู่ท่ามกลางพระมหาปราสาท ภายในเป็นพระแท่นทรงประทับออกทัก (แลผูก) ถามแขกเมืองใหญ่ แลเมืองประเทศราช ถวายบรรณาการแลสุวรรณหิรัญมาลามาลัยตาม (จารีตนครบาลเวลาจะเสด็จขึ้นลง ต้องประทับในโกศกลมยอดเหมบุษบกพุ่มทรงข้าวบิณฑ์ มีเทพนมพรหมพักตร์ทองคำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์ กาบพรหมสร กลีบบุษบงบวรลงยาราชาวดี ประดับเนาวรัตน์เหมือนพระเกรินโกยตะพานนาค) บนพระแท่นเบญจานั้น ตั้งพานทองคำสองชั้นจำหลักลงยาทั้งสรรพางค์ รองรับพระพุทธปฏิมากรพระชัยทองคำ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุองค์ ๑ ยังข้างฝ่ายขวาพระแท่นเบญจานั้นเล่า ตั้งพระที่นั่งอัฐทิศๆ นั้น ตั้งพระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทร (หุ้มด้วยทองคำทรงเครื่องต้นถมยาราชาวดีประดับด้วยเนาวรัตน์มีค่า) องค์ ๑ ยังข้างฝ่ายซ้ายพระแท่นเบญจานั้นอีกเล่า ตั้งพระที่นั่งภัทรบิฐๆ นั้น ตั้งพระพุทธปฏิมากรนาคปรก (เครื่องทรงแลนาคจำหลักลายถมยาราชาวดีกุดั่นทั้งสรรพางค์) องค์ ๑ แต่ที่หน้าพระแท่นเบญจาออกมาห่าง ๒ ศอก (๔ นิ้ว ๒ กระเบียด) ตั้งเตียงแว่นฟ้า (ประดับกระจก พนักงานถักหวาย มีเสาแลเพดานระบาย ๓ ชั้น ขลิบทองคำ) มีเครื่องนมัสการทองคำ (จำหลักสรรพางค์) สำรับใหญ่ (พานพุ่มดอกไม้ปากกว้าง ๑ ศอก ๕ นิ้ว พานข้าวตอกปากกว้าง ๑ คืบ ๑๐ นิ้ว เชิงเทียน, เชิงธูป สูง ๑ ศอก ๑๑ นิ้ว ให้ทำขึ้นใหม่ให้สมกับพระแท่นแว่นฟ้าใหญ่) แลมีเทียนชัย, เทียนฤกษ์, เทียนเท่าพระชันษา รวมเทียน ๓ เล่ม ตั้งหน้าเตียงแว่นฟ้า (ยาวสั้นเท่าใดหาทราบไม่) ถัดเทียนชัยออกมาห่าง ๔ ศอก (คืบ ๒ นิ้ว กับกระเบียดหนึ่ง) ตั้งเตียงจมูกสิงห์ปิดทอง (คำเปลว มิใช่จำหลักลายกุดั่นสรรพางค์) ตั้งพานทองคำ ๒ ชั้น เชิงครุฑปากแฉกจำหลักเป็นรูปเทพนมรองรับพระราชลัญจกร (คำราชลัญจกรนี้ ในปัจจุบันยังหาได้เรียกไม่ แต่เห็นว่าภายหน้าจะเรียกจึงเรียกไว้) ๕ ดวง คือ ตรามหาโลโต สำหรับประทับพระราชสาส์นจิ้มก้องกรุงปักกิ่ง ตรานารายณ์ทรงครุฑเป็นพาหนะสำหรับประทับพระราชสาส์นไปในทิศเหนือ (ตราดวงนี้เป็นตราครั่งประจำผนึก แต่ถ้าไม่รู้จะใช้ชาดก็ได้ เป็นแต่ลายขาดหรอไปหน่อยหนึ่ง) แลตราหงส์อยู่บนพิมาน สำหรับประทับพระราชสาส์นไปในทิศตะวันตก แลตราสังข์อยู่ในปราสาท สำหรับประทับพระราชสาส์นไปในทิศใต้ (แต่อึกดวงหนึ่งนั้นหายเสียนึกเดาไม่ถูก คงแต่ ๔ ดวง) รวมอยู่ในพานเดียว ถัดมามีเตียงไม้สิบสองประดับกระจก (ไม่เคยมี ก็ให้เอาแว่นฟ้าชั้นต้น ที่ตั้งโกศศพมาใช้แทน) ตั้งเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ทั้งห้า ตั้งหน้าพระแท่นเบญจา (ทองคำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์) พระมหาเศวตฉัตรนั้น คือ พระมหามงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ ๑ ธารพระกร ๑ ฉลองพระบาทเชิงงอนกระหนกนาค ๑ (เหมือนเกือกเสี้ยวกางที่เขียนหลังบานประตู) พระสังวาลมหานพรัตน์ ๑ (เพราะแต่ครั้งโน้นท่านเซอะกัน ไม่รู้ว่าอะไรเป็นเบญจราชกกุธภัณฑ์) เบื้องซ้ายพระแท่นเบญจา ตรงหน้าพระที่นั่งภัทรบิฐนั้น ตั้งเครื่องมหาพิชัยสงครามทั้งห้าคือ พระมหามาลา ๑ พระแสงศร ๑ แต่ก่อนใช้เล่มเดียว จะเป็นพรหมมาด, ประลัยวาต อัคนีวาต อันใดเดาไม่ถูก) พระแสงง้าว ๑ พระแสงหอก ๑ พระแสงขอ ๑ เบื้องขวาพระแท่นเบญจาตรงหน้าพระที่นั่งอัฐทิศนั้น ตั้งเครื่องมหาพิชัยยุทธนาการ คือธงธุชพระครุฑ กระบี่ มีต่างๆ นานา (กี่คัน รูปร่างอย่างไรให้เจ้าพนักงานนึกเอาเถิด) และโล่เขนเกาทัณฑ์ธนู หมู่สรรพาวุธทั้งปวง (อะไร ๆ ก็ได้ ต่าง ๆ นานา มากองให้ท่วมศีรษะ) ที่ตรงหน้าพระแท่นเบญจา (ทองคำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์) ออกมาห่างเตียง เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ต่อออกมาอีกนั้น ตั้งบันไดแก้วพาดพระแสงปราบณรงค์พ่าย ๑ พระแสงขรรค์ชัยศรีศักดิเดช ๑ (พิเศษสุริยอังคอมรอินทร์) พระแสงดาบบาดตราใจเพชร ๑ พระแสงของ้าว ชื่อเจ้าพระยาแสนพลพ่าย ๑ (อันพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชารามัญมีชัยชนะ) พระแสงดาบคาบปีนค่าย ๑ (อันพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคาบปีนค่ายรามัญ ซึ่งมีคำทำนายว่า ภายหน้าจะเรียกแต่คาบค่ายเพราะตื่น) พระแสงปืนนกสับยาวเจ็ดคืบ ชื่อพระแสงข้ามแม่น้ำสโตง ๑ (อันพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงยิงสุรกรรมา นายทัพรามัญตาย) พระแส้ขนจามรีสีขาว ๑ พระแส้ขนหางช้างเผือก ๑ (พระองค์นี้ยังไม่มี ให้เจ้าพนักงานทำ เมื่อเชิญต่างว่าเอาเถิด) พระแสงขอกัลเม็ด ชื่อพระแสงตีช้างล้ม ๑ (อันพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงตีข้างข้าศึกรามัญล้ม) หน้าบันไดแก้วออกตั้งพระแท่นถมยาตะทองรองรับพระมหามาลา (แฮลเมดขาว เครื่องลงยาราชาวดีประดับเพชร พระมาลามหาจักรี พระมาลาแก๊ป) เส่าสูง เส่าสะเทิน พระมหามาลาเบี่ยง ๑ พระยี่กา ๑ พระชฎาเดินหน ๑ แลพัดวาลวีชนี (อันเอาไปนับว่าเป็นราชกกุธภัณฑ์นั้นไม่ถูก) พระสังวาลมะยม ๑ พระสังวาลดอกหมาก ๑ พระประหล่ำ ๑ (แลพระเต้าประดับทับทิมสำหรับผูกข้อพระกร) พระประคำรณยุทธ ๑ พระธำมรงค์วิสุทธิสงคราม เก้ายอด สามยอด ต่อหน้าพระแท่นเบญจา ออกมากลางหน้ามุขพระมหาปราสาทนั้น ปูพระสุจหนี่หักทองขวางเทศ (ซึ่งข้าพระพุทธเจ้าหาทราบว่า เขาเรียกกันว่า ราชาอาสน์ หรือราชอาสน์ไม่นั้น) แล้วตั้งเครื่องอนันตราชูปโภค มีพานพระขันหมากสองชั้น (อย่าให้ใช้พานพระขันหมากชั้นเดียว เพราะของไม่เคยมี จะต้องทำใหม่ลำบาก พานนั้น) ทองคำลงยาราชาวดีเชิงจำหลักรูปครุฑจับนาคราชประดับพลอยต่างสี ๑ พานพระสุพรรณศรีทองคำลงยา ๑ (ให้ช่างทองเร่งทำพานรองขึ้นใหม่) พานทองคำรองพระร่วม ๑ (ให้เบิกทองคำให้ช่างทองทำพานใหม่ให้ปากกว้างศอกหนึ่ง พระร่วมจึงจะลงได้) แลพระสุพรรณราชทองคำประดับ ๑ (เนาวรัตน์รองพานจำหลักลงยาเชิงเป็นรูปครุฑลายเทพนม) พระคนทีทองประดับ ๑ พระเต้าบุษบง ๑ พระเต้าเบญจคัพย์ ๑ พระเต้าพระครอบ ๑ (สำหรับทำอะไร ต้นหมายผู้รับสั่งยังหาเคยพบไม่ทั้งสิ้น) แต่ล้วนทองคำประดับถมยาทั้งสิ้น แลเครื่องราชอุปโภคต่างๆ นานา (อะไรบ้างก็ไม่ทราบ ตามแต่จะหาหยิบได้) ตั้งพร้อมครบครันตามที่, ตามทาง, ตามอย่าง, (ตาม) ธรรมเนียมแต่ก่อนมา ฝ่ายข้างมุขด้านเหนือพระที่นั่งสรรเพ็ชญมหาปราสาทนั้น ตั้งพระแท่นจมูกสิงห์ปิดทองคำเปลว (มิใช่ทองคำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์) ตั้งพระอิศวรองค์ ๑ พระอุมาองค์ ๑ พระพิฆเนศวรองค์ ๑ รวม ๓ องค์เตียงเดียวกัน (พระเป็นเจ้าทั้งนี้ ดูเหมือนในพงศาวดาร มีเครื่องต้นทองคำจำหลักลงยาแต่ลืมไป หาไม่จะอร่อยดี ไม่ทันดู) ฝ่ายข้างมุขด้านใต้พระมหาปราสาทนั้น ตั้งพระแท่นจมูกสิงห์ ตั้งพระนารายณ์องค์ ๑ พระลักษมีองค์ ๑ พระมเหศวรองค์ ๑ รวม ๓ องค์ตั้งเตียงเดียว มีเครื่องสักการบูชา ข้าวตอกดอกไม้ ถวายทั้ง ๒ แห่ง หน้าพระแท่นพระนารายณ์ออกมาห่าง ๔ ศอก (กับอนุกระเบียด ๑) ตั้งเตียงลาประดับกระจก บนเตียงลาตั้งพระเต้าประทุมนิมิต พระเต้าดินปั้นเป็นรูปพรหม ๔ หน้า ได้มาแต่สุโขทัย พระเต้าทองคำ, พระเต้านาค, พระเต้าเงิน, พระเต้าศิลา...........บัลลังก์ (ซึ่งเป็นของแต่ครั้งนางมณโฑหุงน้ำทิพย์ในทวาประยุคนั้น) พระเต้าศิลาอ่อนมาแต่กรุงลังกา พระเต้าหยกมาแต่กรุงจีน (พระเจ้าฮั่นโกโจทรงยินดีมา) แลพระครอบเบิกไพร พระครอบชัยฤกษ์ พระครอบสัมฤทธิ์โตสามกำ ชื่อพระประทุมราชา รูปพรรณดุจดอกบัวบาน มีกลีบ ๑๐๘ กลีบ เป็นของพระเจ้าประทุมสุริยวงศ์กรุงกัมพูชา พระมหาสังข์ทักษิณาวรรต ๑ (ที่ขุดได้แต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง เมื่อแรกสร้างกรุง) พระสังข์อุตราวัฏ ๒ พระสังข์แก้วผลึก ๑ พระสังข์ศิลาบัลลังก์มาแต่สิงหลลังกา พระสังข์แก้วเจียระไนมาแต่กรุงปักกิ่ง ๑ (ซึ่งพระเจ้าถังไทจง คือหลีซิบิ๋นทรงยินดีมา) พระสังข์ทอง, นาค, เงิน อิกสามองค์ หน้าพระแท่นพระอิศวรนั้น ตั้งเครื่องมณฑลพิธีพลีกรรมบำบวงตามไสยเวทเวทางค์สาตราคม พร้อมทุกประการ (จะเป็นอะไรบ้างไม่ทราบ นึกไม่ออก กระเบื้องถ้วยกะลาแตก อะไรก็เอาเถิด) หลังพระแท่นเบญจามหาเศวตฉัตรนั้นตั้งพระแท่นแว่นฟ้าองค์น้อย (ที่สำหรับใช้การตั้งกรมเจ้านาย) แล้วตั้งหม้อน้ำพระพุทธปริตรแลบาตรแก้วสมเด็จพระสังฆราช แลบาตรดินเนาวโลหะ (ให้เร่งคิดตำราดินเนาวโลหะขึ้นใหม่ให้ทันราชการ) ตามมุมมุขพระมหาปราสาทชั้นใน ริมฝ้านั้น ตั้งต้นดอกไม้ทองคำแลต้นไม้เงิน เป็นแถวเรียงไปตามฝาผนัง ตามหว่างช่องพระบัญชรนั้น ตั้งเศวตฉัตรคัน แลกำพูทองคำประดับพลอย ซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คัน เรียงรายไป (แต่เศวตฉัตรทั้ง ๘ นี้ไม่เคยมีมาแต่โบราณ ให้กรมอภิรมณ์เร่งทำขึ้นใหม่) ต่อมาตั้งมยุรฉัตรคันแลกำพูระบายทองทั้งสิ้น ตั้งซ้าย ๔ คัน ขวา ๔ คัน (มยุรฉัตรรูปพรรณฉันใด ให้เดาเอาเถิด ทำขึ้นให้ทันราชการ) แลตั้งอภิรุมชุมสายธงสามชายแลธงทอง (รูปร่างอย่างไร ใครไม่รู้จักก็ชั่งมึงเป็นไร) พัชนี, พัดโบก, จามร, ซอนตะวัน, บังสุริย์, บังแทรก (อันเครื่องสูงเหล่านี้ รูปร่างอย่างไร อะไรเรียกอย่างไร จะเดาไปก็เหลือกำลัง) อันเครื่องสูงเหล่านี้ แต่ล้วนทองแดงหุ้มคัน แลกำพูแลยอดทั้งสิ้น เครื่องสูงเหล่านี้ตั้งบนฐานไม้จำหลักลายสรรพางค์วางเรียงรายไปในพระมหาปราสาททุกช่องบัญชร (พอให้รก ๆ เล่น ตามที่จะมีที่ตั้งฤๅไม่มีชั่งเป็นไร) ที่ผนังพระมหาปราสาทนั้น ประดับพระแสงทวนทองพู่สีต่างๆ (สีอะไรบ้าง ให้นึกเดาเอาเถิด สีสวรรค์มีฤๅไม่ ให้ย้อมเอาใหม่หลายๆ สี) แลหอกง้าว, กระบี่, เกาทัณฑ์ สรรพศัสตราวุธทุกสิ่งทั้งสิ้น เป็นสง่างามตามราชอิสริยยศพระมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ปางก่อนมา (ใครอย่าได้นึกว่า ข้าพเจ้าผู้ต้นหมายนึกเอาเองเลย แม้นไม่จริงถวายพระอาชญา) ตามช่องพระบัญชรพระมหาปราสาทนั้น แขวนพวงพู่จามรีสีเศวตทุกช่องพระบัญชร (เป็นการวิเศษกว่าแต่กาลก่อนไม่เคยมี จะได้เหมือนวิมานที่เขียนตามวัด) ที่มุขเด็จหน้าพระที่นั่งสรรเพ็ชญพระมหาปราสาทนั้น ตั้งพระแท่นบุษบกทองคำ (ทำขึ้นใหม่ แล้วให้เกณฑ์คลังทองมาเฝ้าอยู่อัตรา หาไม่จะถูกขโมย) ในหน้ามุขโถงๆ (ให้เร่งก่อต่อขึ้นใหม่) นั้น ตั้งเครื่องสังเวยเทพยดาการพลีบัตร ๙ ชั้น ชีพ่อพราหมณ์ประจำอยู่ ๔ ทิศ พระแท่นบุษบก (ให้ผิดกับการแต่ก่อนๆ...ที่เคยใช้โหรบูชามานั้น) แต่ที่บนหน้าฉานชานชาลาพระมหาปราสาทนั้น ปลูกพลับพลายกเป็นจตุรมุข หลังคาดาดผ้าแดงลายทองดาวกระจาย มีช่อฟ้าหางหงส์นาคสะดุ้ง แต่มุขหลังนั้นกั้นม่านลายทองทรงข้าวบิณฑ์ (มิใช่แผ่ลวด ให้ใช้ผ้าห่มนอนลายเขียนทองแทนเอาก็ได้) เป็นที่ทรงพักเปลื้องพระเครื่องต้นแลเครื่องทรง เปิดโถงเต็มขนาด เป็นพลับพลาทรงประทับเปลื้องเครื่องในเวลาเสด็จมาทรงฟังพระสงฆ์เจริญพระปริตร ตามทิมดาบคดบนชานชาลาพระมหาปราสาทนั้น มีเครื่องบรรเลงไม้บัณเฑาะว์พิณสามสาย (ให้หมายขึ้นไปถึงพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์พิภพให้ส่งเบญจสิขรเทพบุตรลงมาดีด อย่าให้เสียราชการได้) โหรพราหมณ์คอยถวายเสียงอยู่ที่ทิมดาบคดซ้าย แต่ที่ทิมดาบคดขวานั้น มีเครื่องดุริยางค์ดนตรีแตรสังข์กลองชนะคอยประโคมถวาย เมื่อพระฤกษ์มงคลกาล ตามเสาที่ทิมดาบคดทั้งสองแถวนั้น ผูกเครื่องพิชัยยุทธ์พิชัยสงครามพร้อมทุกประการ (ให้เจ้าพนักงานสรรพยุทธ์เอาอาวุธออกเสีย ให้เหลือแต่ฝักหาไม่จะเกิดขบถขึ้น) ในระหว่างกลางทิมดาบคดหน้ามุขเด็จชั้นล่างนั้น ตั้งกลาบาตพลีกรรมบวงสรวงเทพยดา ๘ ทิศ (แต่ก่อนมาใช้เรียกคนยืนถืออาวุธในราชวัติรั้วข่าย ว่ายื่นกลาบาตไม่ถูก แต่ที่ถูกจะมีเรียกอะไร หาทราบไม่) หลังทิมดาบคดนั้น ปลูกโรงศาลาใหญ่ ๒ หลัง เป็นที่พักพระราชวงศานุวงศ์แลเจ้าประเทศราชหลัง ๑ เป็นแบบตั้งขึ้นใหม่ ให้เจ้าประเทศราชนั่งกับเจ้านายเอาอย่างที่จะมีไปภายหน้า เจ้าฝรั่งมา เห็นเคยนั่งกับเจ้านาย แต่หลังในเป็นที่พักข้าทูลละอองธุลีพระบาทหลัง ๑ เป็นการแต่งโดยประณีตบรรจงรจนางาม (ตามเสาให้พันผ้าขาวผ้าแดง ชายเพดานเป็นระบาย ตรงเสาให้ผูกธงช้างแลเอาใบไม้มาทำเป็นเฟืองแขวนพันในที่ทั้งปวงตามเคย) แต่โรงพระราชพิธีชีพ่อพราหมณ์ ทั้งที่ท้ายโรงปืนพระพิรุณเป็นที่พราหมณ์เข้ามณฑลประชุมที่นั้น ก่อนการพระราชพิธี ๗ วัน (รวมเป็นพราหมณ์ต้องทำพระราชพิธี ๑๕ วัน ดูแย่ตารักดีชั่งแกเป็นไร) การในพระราชฐาน ก็ตกแต่งสะอาดสะอ้านรจนาพิจิตรต่างๆ ไปด้วยสรรพวิเศษ

ที่ท่าน้ำนั้น เจ้าพนักงานทำการผูกแพไม้ไผ่ มาประทับที่ท่าพระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรี บนหลังแพไม้ไผ่นั้น ทำเป็นมณฑปรจนา ทำด้วยไม้อุทุมพรแลไม้ชัยพฤกษ์ หลังคาพระมณฑป (ซึ่งทำด้วยไม้มะเดื่อนั้น) เป็นดังยอดบุษบก แต่หุ้มผ้าขาวมีกระจังแลกรอบเป็นลวดลายเครือวัลย์ ทำด้วยไม้มะเดื่อ ปิดทองตามลายทั้งสิ้น พระมณฑป (ไม้มะเดื่อ) นั้น ตั้งอยู่ท่ามกลางแพไม้ไผ่ ระหว่างในกลางพระมณฑป (ไม้มะเดื่อ) หลังแพนั้น มีช่องเป็นกรงที่สรงน้ำ (อันเจ้าเงาะอยู่ในภายในพระมณฑป (ไม้มะเดื่อ) ที่พื้นกรงปูด้วยกระดาน ข้างกรงล้อมด้วยซี่กรงไม้จริงชั้นหนึ่ง แล้วถึงตารางไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงมีร่างแหอีกชั้นหนึ่ง เรียกว่าไข่เพชร (มิใช่ข่ายเพชร) แล้วจึงถึงผ้าขาวไทยกรุชั้นนอก ผ้าขาวเทศกรุห้อมอิกชั้นหนึ่ง ข้างในร่างแห แต่ชั้นที่สุดหุ้มด้วยผ้าขาวมาแต่เมืองเทศ มีกระดานเรียบรอบนอกเสมอพื้นกรง พอคนลงไปยืนได้ ๔ มุมกรง ภายในกรงนั้นก็กรุผ้าขาวเทศรอบกรง ถึงชั้นล่างก้นกรงด้วย แต่ข้างกรงด้านตะวันออกนั้น มีบันไดทอง (คำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์ ประดับเนาวรัตน์) ด้านตะวันตกนั้นมีบันไดเงิน (จำหลักสรรพางค์) แต่ด้านใต้ริมหน้าพระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรีนั้น ทำเป็นอัฒจันทร์หุ้มผ้าขาวมาแต่เทศ บนอัฒจันทร์ชั้นบนนั้น ทำเป็นรูปดอกบัวบานดอกหนึ่ง จีบด้วยผ้าขาวเทศสำหรับรองฝ่าพระบาทยุคล เมื่อหยุดประทับปากกรง (ให้คล้ายพระพุทธองค์) ข้างอัฒจันทร์ลาดผ้าขาวนั้น มีราวหุ้มขาวสองข้างอัฒจันทร์ สมมุติเรียกว่าบันไดแก้ว ในพระมณฑป (อันทำด้วยไม้มะเดื่อ) ด้านเหนือนั้น ไม่มีบันได เป็นที่ว่างเปล่าอยู่ จึงตั้งพระแท่นแว่นฟ้า ๒ ชั้น (หุ้มทองคำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์) สำหรับเป็นที่ทรงสรงสนานน้ำมุรธาภิเษก หน้าพระแท่นแว่นฟ้าต่อมาตั้งพระแท่นจมูกสิงห์ รับพานทองคำแว่นฟ้าสองชั้น ที่รองรับผลมะพร้าวห้าวงอก ปิดทอง, ปิดนาค, ปิดเงิน, แลรูปสัตว์ กุ้งทอง, กุ้งนาค, กุ้งเงิน, ปลาทอง, ปลานาค, ปลาเงิน ใส่รวมอยู่ในพานทองคำด้วยผลมะพร้าวห้าวนั้นด้วยกัน (แต่พานนี้เห็นจะต้องให้ช่างทองทำใหม่เหมือนกัน เพราะจะต้องใหญ่มาก) บนพระแท่นจมูกสิงห์ด้านเหนือนั้น ตั้ง... ... ...พระครอบ ใส่ใบมะตูม, ใบชัยพฤกษ์, ใบเสนียด, ใบส้มป่อย, ใบเงิน, ใบทอง แลพระครอบพระเต้าพระสังข์ต่างๆ ที่เชิญแบ่งมา แต่พระมหาปราสาทนั้น (พระเต้าแบ่งเหมือนพระสงฆ์ เพราะจะรดน้ำพิธีเสียหมด จะไม่มีอะไรรดต้นไม้) หน้าพระแท่นจมูกสิงห์ต่อมา ตั้งเตียงลารองพานทองคำปักพุ่มข้าวตอก ดอกไม้ ปักเทียนชัย เทียนฤกษ์ เทียนเท่าพระชันษา (จะบูชาใครก็ไม่ทราบ รับสั่งเช่นนั้น แต่เทียนนั้นเล่มอยู่ข้างโตกว่าเตียง ให้กลึงเท้าไม้ไว้สำหรับปักด้วย) เพดานพระมณฑปดาดผ้าขาว มีดาวกระจายเขียนลายทองทุกช่องคูหา (ซึ่งมณฑปมีคูหา ๔ ทิศ เป็นประตู นี้เป็นอย่างซึ่งคิดขึ้นใหม่ ให้) ห้อยพู่จามรี ตามคูหาหน้าซุ้มทั้งสี่ที่เป็นประตูพระมณฑปทุกช่อง เพดานกลางพระมณฑป แขวนพระมหาเศวตฉัตร ๕ ชั้น (เรียกพระมหาเศวตฉัตร แต่ก่อนเคยใช้แต่ ๙ ชั้น ครั้งนี้ให้เรียก ๕ ชั้น ว่ามหาด้วยจะได้สมกับที่คนเซอะ) มีพู่ทองคำห้อย ๔ ด้านพระมหาเศวตฉัตร เรียกว่าสุวรรณมาลัย (แต่จะทำเป็นดอกอะไร ให้นึกเอาเถิด) พระมหามณฑปนั้น มีฝาเรียบเรียงตามมุมทั้ง ๔ ด้าน ด้านกลางพระมณฑปนั้น ทำเป็นซุ้มประตูคูหาราห์ มีม่านสองไข กรองด้วยด้ายขาวปักทองเป็นช่อดอกไม้ร่วง (ถ้าจะกรองใหม่ไม่ทัน ให้ซื้อของฝรั่งมาปักทองเอาก็ได้ ฤๅไม่ฉะนั้น ให้ใช้ม้าปักทองแล่งเขกก็ได้) ตามมุมพระมณฑป ข้างนอกมีราชวัติทรงเครื่อง ทำด้วยไม้จริงจำหลักปิดทองคำเปลว (มีใช่หุ้มทองคำจำหลักลายกุดั่น) ล้อมสามรอบ มีฉัตรทองล้อมพระมณฑปชั้นหนึ่ง ฉัตรนาคชั้นหนึ่ง ฉัตรเงินชั้นหนึ่ง (ปักให้ดีถึงสามชั้น อย่าให้ฉัตรเบียดกันได้) พราหมณ์ปโรหิตวิทยาจารย์ตั้งพระแท่นแว่นฟ้าภายในมุมกรงทั้งสี่ด้าน รองน้ำกรดน้ำสังข์บูชาเทพยดาถวายชัยมงคล (แท่นแว่นฟ้าใช้มาก ให้ทหารในเร่งทำขึ้นใหม่ให้ทันราชการ) ราชวัติชั้นต้น มีราชบัณฑิตโหรพราหมณ์แต่งกายพรรณ (พรรณให้อ่านว่า พระะณะ จึงจะเพราะ) นุ่งขาวใส่เสื้อครุยสำรดทอง ใส่พอกเกี้ยวดอกไม้ไหวทอง มือถือดอกบัวนั่งพับพนังเชิงอยู่สามด้านๆ ละ ๖ คน (แต่ดอกบัวนั้น จะเป็นทำด้วยกระดาษมีขันตะเภาข้างใน ฤๅดอกบัวจริงขอตรองดูก่อน) ราชวัติชั้นกลาง มีทหารนั่งถือทวนพู่จามรีด้ามหุ้มทอง นั่งอยู่ทั้งสามด้านๆ ละ ๑๐ คน (ทวนทอง ๓๐ เล่มนี้ ให้ช่างทองหุ้มขึ้นใหม่ให้ทันราชการ ไม่ต้องจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์) หว่างราชวัติชั้นนอก มีทหารนั่งถือดาบโล่ทั้งสามด้านๆ ละ ๑๕ คน แลมีทหารถือดาบรายริมแพนอกราชวัติทั้งสามด้านๆ ละ ๑๖ คน มีทหารนั่งถือดาบเขนนั่งอยู่ริมแพในราชวัติสามด้านๆ ละ ๑๖ คน มีทหารนั่งถือปืนคาบศิลา นั่งอยู่นอกราชวัติทั้งสามด้านๆ ละ๑๘ คน (ให้คล้ายๆ กับขงเบ้งเรียกลมซึ่งมีในหนังสือพิมพ์สามก๊ก ๔ เล่มโน้น) ทหารทั้งปวงที่ถืออาวุธนั่งตามแพทุกด้านนั้น แต่ล้วนแต่งตัวใส่เสื้อเสนากุฎ ใส่กางเกงเชิงเจียระบาด ใส่หมวกหนังท้ายเทริด (เป็นหมวกอย่างใหม่ แผลงมาจาก “ทายเทิด” คือถือเขาว่าด้วยอาวุธ แต่แผลงเป็นหมวกก็จะงามดี) ที่แพพระมณฑป (ซึ่งทำด้วยไม้มะเดื่อ) ด้านใต้ตรงหน้าพระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรีนั้นไม่มีทหารนั่งอยู่ เพราะ (ที่พระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรีนั้น) เป็นทางท่า ช่องที่จะเสด็จพระราชดำเนินลงช่องนั้น ๆ อยู่หน้าท่าพระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรี ๆ นั้น มีเรือพระที่นั่งบัลลังก์สีสักหลาดจอดขนานอยู่หน้า (พระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรี) สองลำต่อทางที่จะเสด็จลงมาจากพระฉนวนน้ำ (ประจำท่าวาสุกรี) นั้น แต่นอกแพพระมณฑป (ซึ่งทำด้วยไม้มะเดื่อ) นั้น มีเรือพิฆาต เรือชัย เรือรูปสัตว์ต่าง ๆ นานา เรือกระบี่ เรือครุฑ เรือสุรวายุภักษ์ (ซึ่งทรงรักเป็นดวงชีวิต) เรือหงส์ เรือกิ่ง เรือเหรา เรือชัยต่างๆ สีมีครบ เรือแซง เรือดั้ง เรือกันย์ เรือกระบวนทั้งหลาย รวมร้อยลำ (จำชื่อไม่ได้) ทอดทุ่นล้อมวงเหนือน้ำท้ายน้ำรายรอบล้อมวงพระมณฑป (ทำด้วยไม้มะเดื่อ) มีพายทองแลพายธรรมดา สำหรับประจำทุกลำเรือ พลพายใส่เสื้อแดงหมวกแดง แต่ในคฤหกัญญากลางลำเรือนั้น มีนายลำตามบรรดาศักดิ์ นั่งถือแพหางนกยูงประจำทุกลำ แลมีพิณพาทย์ฆ้องกลองแตรสังข์กลองชนะกลองโยน (รูปร่างอย่างไรยังไม่มี เห็นจะเข้าเค้ากลองซุ้มที่ใช้กันที่เชียงใหม่ แต่ครั้งนี้ไม่ใช้เช่นนั้น ให้เอาลูกคลีใส่ในกลอง แล้วเอาเชือกผูกหูกลอง แขวนไว้กับกัญญาเรือ เวลาประโคมให้โยนกลองไปๆ มาๆ ให้ดังปุงๆ ฤๅคลุกๆ ประจำเรือชัย ๆ ทั้งปวงนั้น มีกลองแขกพิณพาทย์ทุกลำ (ลำหนึ่งให้มีพิณพาทย์ กลองโยน ลำละสำรับๆ ให้มีเรือใส่ลำหนึ่งทุกๆ สำรับ) แลมีเรือหมอจระเข้ เรือทอดแห เรือชาวประดาน้ำ อยู่ในเรือที่ล้อมวงที่ท่าพระฉนวนน้ำ (ประจำท่าวาสุกรี) ขึ้นมาหน่อยนั้น ปลูกเป็นพลับพลายกเปลื้องเครื่องหลังหนึ่งสามมุข ที่หลังพระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรีเป็นที่พักทรงเปลื้องเครื่องเช้า (จะทรงเปลื้องที่พลับพลาท่าพระฉนวนน้ำประจำท่าวาสุกรี ๆ นั้นจะเป็นที่เปลื้องเครื่อง) แลเจ้าพนักงานจัดกระบวนแห่หน้าหลังทั้งปวงพร้อมสรรพ เกณฑ์จัดเอาบุตรข้าทูลละอองธุลีพระบาท ๒๐๐ คน แต่งกายพรรณนุ่งสองปักลายทองขาวจีบโจงหางหงส์ (ให้ดูกระปุกกระปุยงามดี) ใส่สนับเพลาปักกรองทอง (ไหมตาประชุม จะได้ห้อยหย่อนร่องแร่งรับกับเสื้อครุย) ใส่เสื้อครุยสำรดทองกรองต้นแขนปลายแขน แลกลองเชิงใส่พอกเกี้ยวกระจังทอง ปักดอกไม้ไหวทองทุกคน (ทั้ง ๒๐๐ อยู่ข้างจะฉิบหาย แต่ให้ทนเอาเถิด เบี้ยหวัด ๙ ปี ๑๐ ปีคุ้ม) แต่งเป็นเทวเสนาเดินกระบวนหน้า ๔ แถว ๆ ละ ๕๐ คน รวม ๒๐๐ คน มีสารวัดตรวจตราทุกแถว มีนายมหาดเล็กหุ้มแพรคุมต้นเชือกปลายเชือกทุกระยะเป็นตอนๆ (ใครอย่าว่าข้าพเจ้าเซอะ ถึงว่าสารวัดคู่แห่เด็กเคยใช้มหาดไทยกลาโหมก็แต่ใหม่ๆ นี้ ครั้งโน้นท่านจะใช้มหาดเล็ก ใครจะว่ากระไรก็ว่าไป แต่หุ้มแพรต้นเชือกปลายเชือกมี ๔ นั้น ให้ใช้เงาอีก ๔ เป็น ๘ จึงจะพอ) ทั้ง ๔ แถวเกณฑ์นางพนักงานพรหมจารี เชิญพระมยุรแซ่คนหนึ่ง (แต่โบราณมาเรียกว่า มยุรฉัตร ตามคำราชการ คำสามัญเรียกว่าพระแซ่ แต่ต้นหมายเห็น ว่าควรเรียกมยุรแซ่เป็นกลาง จะได้ดูอุทานดี) แต่งกายพรรณนุ่งสังเวียนจีบเปลือย ห่มสไบสะพักสองบ่า ใส่กรรเจียกจุไรเกล้า เดินนำหน้าพระยานุมาศ หน้าพระยานุมาศต่อนางเชิญพระมยุรแซ่ออกไปนั้น เกณฑ์มหาดเล็กหุ้มแพร เชิญพระแสงหอก พระแสงดาบ พระแสงง้าว พระแสงตรี พระแสงทวน เชิญพนมมืออยู่ข้างหน้า ๕ นาย เรียกว่า เบญจเสนา (เบื้องหลังสองเรียกว่าโทเสนา) เกณฑ์หัวหมื่นมหาดเล็กแลนายเวรมหาดเล็กเดินแซงแห่แถวในริ้วเคียงมหาดเล็กที่เชิญพระแสง เรียกว่านายมหาดต้นริ้ว ต้นเชือก รับสั่ง (แต่ก่อนใช้ชาววังกำกับเครื่อง คราวนี้เปลี่ยนใหม่ให้เซอะเป็นพระเกียรติยศ) พวกมหาดเล็กหุ้มแพรแลนายเวรหัวหมื่นทั้งนั้น แต่งกาย (พรรณ) นุ่งสองปักลายท้องขาว ใส่สนับเพลานุ่งหางหงส์ ใส่เสื้อครุยสำรดทอง (ปาเข้าไปกับเนื้อๆ เย็นสบายดี) ใส่พอกเกี้ยวกระจังทองปักดอกไม้ไหวทองคำทุกคน (เหมือนมหาดเล็กเลว) เกณฑ์เจ้าพระยาจตุสดมภ์มุขมนตรี ที่ได้รับพระราชทานเจียดหมากพานทองคำ คนโททองคำ (แต่ก่อนโน้นไม่มีกระโถนทองคำ ใครได้รับพระราชทานพานทอง ต้องหากระโถนทองคำ ใครได้รับพระราชทานพานทอง ต้องกะโหลกมะพร้าวบ้วน) กระบี่บั้งทองคำเป็นเครื่องอิสริยยศนั้น มาเป็นคู่เคียงแห่เสด็จ สมเด็จเจ้าฟ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าลูกหลวงเอกคู่เคียงทั้งนั้นล้วนแต่งกายพรรณนุ่งสองปักลายท้องขาว นุ่งจีบโจงหางหงส์ ใส่สนับเพลา ใส่เสื้อสำรดทอง (วางลงไปกับเนื้อ ๆ) ใส่ลำพอกเกี้ยว กระจังทองปักดอกไม้ไหวทุกคน (ให้แต่งอย่างเดียวกับคู่แห่มหาดเล็กเลว อย่าให้ผิดกันได้) เดินพนมมือถือเชือกแลถือพัด (รำเพลงจีนไปตามทาง) เป็นแถวๆ เป็นริ้วในพวกเทวดาเดินหน (ที่เคยเข้าดลใจนางรจนาให้อยากจะใคร่ดูเงาะเฉพาะเป็น) เป็นริ้วนอก ๖๐๐ คน แต่งกายเครื่องขาวตามธรรมเนียม (เหมือนบ่าวตามศพนายแห่ไปสู่เมรุฉะนั้น) แต่กระบวนแห่หน้า มีพลถือสังข์แตรปี่กลองชนะกลองโยน (แขวนไปกับคานมีคนหาม มีคนคอยโยนกลองประจำทุกใบ) มีมโหระทึก (ซึ่งเคยใช้แห่แต่พระเจ้าแผ่นดิน แต่ครั้งนี้ไม่ทรงทราบ รับสั่งให้ใช้ไปโดยเชอะ) เดินไปหน้า แต่ล้วนแต่งกายนุ่งกางเกงสลับตูแดง ใส่เสื้อสลับตูแดง ใส่หมวกฝักแคแดง ร้อยสามสิบหกคนทั้งจ่าปี่จ่ากลอง (คล้ายกันกับทหารคู่พระทัยพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระเจ้าแผ่นดินที่ในกรุงทวารวดีศรีอยุธยานี้ แต่จะมีอะไรตี อะไรเป่าทุกคนฤๅไม่ ชั่งหัวมัน ไม่มีอะไรก็ให้มันผิวปากไปก็ได้) ยังมีกระบวนพลถือมยุรฉัตร (รูปร่างอย่างไร กรมอภิรมณ์นึกไม่ได้จะเฆี่ยน ๕๐) เศวตฉัตรขนาดอภิรุมชุมสาย (กรมพระราชวังทรงอิจฉา ว่าเจ้าฟ้าปรื๋อองค์นี้ มียศมากกว่าพระองค์อีก ได้แห่ด้วยชุมสาย) บังสูรย์ บังแทรก กลอดกลิ้ง คันชิง (เช่นกับแห่ขุนนางฤๅแห่ช้างแน่ ถ้าช้างใช้คันชิง (เกลด) ขุนนางใช้แดง) ธงฉาน ธงชัยไพโรจน์ตามประเพณี กระบวนเหล่านี้แต่งกายนุ่งเกี้ยวกรวยเชิง ใส่สนับเพลาคาดเจียระบาด ใส่เสื้อทรงประพาส (อย่างใหม่อันใครในโลกนี้ไม่เคยเห็น) ใส่เทริดทอง (คำจำหลักลายกุดั่นสรรพางค์ลงยาราชาวดี ประดับเนาวรัตน์ยอดเป็นนภศูล มีเทพนมพรหมพักตร์ กาบพรหมสร) ทั้งสิ้นทุกคน กระบวนเหล่านี้เรียกว่า กระบวนอินทรพรหม (อันเกลียวกลมไปกับอะไรต่ออะไร ซึ่งจะขืนเรียกไป คงไม่ถูก เสียแรงต้นหมายเป็นเจ้าพระยา ทำคมในฝักไว้ดีกว่า เห็นด้วยฤๅไม่) แต่กระบวนหน้าปลายเชือกนั้น มีตำรวจองครักษ์ ๑๐๐ คน นุ่งสองปักลายคาดราตคตใส่เสื้อสนอบ ถือหวายเส้นหวายกำบ้าง พนมมือเดินหน้าแถว (เป็นตับๆ ครั้นมาถึงทิมแถวตรงพลับพลาเปลื้องเครื่อง ก็ให้เป่าเขาควายถวายคำนับอย่างข่า) แต่กระบวนหลังนั้น มีนางงามเชิญเครื่องราชูปโภคครบตามตำแหน่ง (แต่เครื่องนั้นจะมีอะไรไม่รู้ เพราะเปิดฝาชี ดูไม่ได้) แต่งกายล้วนเครื่องขาวทั้งสิ้น นุ่งผ้าจีบเปลือยห่มสไบสะพักสองบ่า ถัดมามีนางสระสนาน (แต่ก่อนโน้นเจ้าลงสรงตั้งเกยพราหมณ์ประน้ำกระบวนเหมือนคเชนทรัศวสนาน) เดินตามท้าย ๒๐๐ คน ปันเป็น ๔ แถวๆ ละ ๕๐ คน แต่งกายเครื่องขาวเหมือนนางเชิญเครื่องอุปโภค (ฉิบหายให้ทนเอา) ครั้นจัดกระบวนแห่เสร็จแล้ว ถึงพระฤกษ์มงคลวาร สมเด็จพระเจ้าลูกหลวงเจ้าฟ้าสำอางองค์ทรงเครื่องราชกุมาราภรณ์พร้อมเสด็จ ทรงพระภูษาพื้นขาวปักทอง (คำกุดั่นจำหลักลายประดับเนาวรัตน์) ทรงจีบโจงหางหงส์ ทรงฉลองพระองค์ในซับชั้นใน อย่างน้อยพื้นขาวปักทอง (กุดั่นจำหลักสรรพางค์) แล้วทรงฉลองพระองค์ซับชั้นนอกอย่างเทศพื้นขาวกรองทองเป็นลายทรงข้าวบิณฑ์ทองประดับเลื่อมแลปีกแมลงทับ (รูปร่างเหมือนหลวงนนทเกษใส่ แต่เอาตาชุนปะข้างนอก ดูกระปุกกระปุยน่าเอ็นดู) ทรงเจียระบาดตาดเทศพื้นขาวดอกทองล้วน (ไม่ได้ประดับเนาวรัตน์) ทรงตาบทิศ ตาบหน้า ตาบปฤษฎางค์ทองคำประดับพลอย (ครั้นจะเรียกตามชื่อเครื่องต้นในหมาย คนจะไม่เข้าใจ จึงเรียกภาษาไพร่ที่มารดาข้าพเจ้าเคยเรียก จะได้เข้าใจกันง่ายๆ) ทรงพระสังวาลนพรัตน์องค์น้อย (ให้ทำใหม่) ทรงพระสนับเพลาเชิงงอนทองประดับ (ทับพระภูษาเข้าอีกชั้นหนึ่ง) ทรงพระพาหุรัดทองประดับทรงชายไหวชายแคลงกระหนกหงส์ทองประดับเพชร (ทับเจียระบาดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครแต่งในโลกนี้ เว้นไว้แต่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าปรื๋อลูกหลวงเอกองค์นี้) ทรงทองพระกรทองพระบาทคาดรัดพระองค์สายเทศประจำยามเก้าทิศทองประดับเพชร (เปรเลียนซึ่งทรงซื้อจากห้างมาแลบยูเลี่ยนปากคลองตะเคียน) ทรงพระธำมรงค์เพชรอันมีค่าครบทุกนิ้วพระหัตถ์ (เป็นสิบทั้งพระอุตคุต) ทรงพระจุฑามณีองค์ใหญ่ทองคำประดับเพชร แลยอดปักดอกไม้ไหวเพชร (แต่เท่านั้น มิให้ทรงพระเกี้ยวฤๅพระมาลัยอันใดเลย จะได้งามลุ่นตุ้นดี) ทรงพระเครื่องต้นอย่างพระราชกุมาราภรณ์พร้อมเสร็จ แล้วพระราชวงศาฝ่ายในรับเชิญเสด็จออกมาจากพระที่นั่งสุริยามรินทรมหาปราสาท ขึ้นประทับคอยพระฤกษ์อยู่ที่ชานพักหน้าพระมหาปราสาท ในขณะนั้นมหาเมฆตั้งมาแต่ทิศปราจีนแล้ว (เกลื่อนไปอากาศ)

หมายเหตุ คัดจากจดหมายเหตุ ร. ๕ ชื่อพระราชพิธีลงสรงกรุงเก่า เรื่องทรงวินิจฉัยพระราชพิธีลงสรง เลขที่ ๔๒๓ ร. ๕ ๔๖/๖

(คัดจากหนังสือวารสารศิลปากร ปีที่ ๘ เล่ม ๘ พ.ศ. ๒๔๙๘ หน้า ๕๓ ถึง ๖๕)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ