ธรรมเนียมขุนนางไทยโบราณ

ขุนนางในเมืองเรานี้ ไม่ได้เป็นสืบตระกูลเหมือนดังประเทศข้างตะวันตก เป็นธรรมเนียมคล้ายกับเมืองจีน ยศบรรดาศักดิ์กับออฟฟิศร่วมกัน เมื่อมียศบรรดาศักดิ์แล้ว ก็มีออฟฟิศว่าด้วย ถ้าออกจากออฟฟิศก็เป็นสิ้นยศบรรดาศักดิ์ไป เว้นแต่ที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดให้มียศคงอยู่ โดยผู้นั้นได้มีความชอบมาแต่เดิม เพราะฉะนั้น ขุนนางจึ่งได้รับราชการตลอดอายุโดยมาก เมื่อขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยก็ดี มีบุตรต้องถวายตัวพระเจ้าแผ่นดินเป็นมหาดเล็กรับราชการ เป็นแต่การใช้สอยเล็กน้อยใกล้เคียงพระเจ้าแผ่นดิน มีเบี้ยหวัดบ้างนิดหน่อย เมื่อได้รับราชการอยู่ใกล้พระเจ้าแผ่นดินดังนั้น ก็ได้ยินได้ฟังราชการซึ่งขุนนางเจ้าพนักงานนำมากราบทูล แลเจ้าแผ่นดินรับสั่งไป เป็นการเรียนราชการอยู่เสมอ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเห็นว่า ผู้นั้นคุ้นเคยในราชการเข้าบ้างแล้ว ก็ใช้ให้ไปตรวจการต่างๆ นำความมากราบทูล แลใช้ให้ไปสั่งเสียด้วยราชการต่างๆ บ้าง มหาดเล็กผู้นั้นต้องคิดเรียบเรียงถ้อยคำที่จะกราบทูลด้วยปากบ้าง ด้วยหนังสือบ้าง เป็นเหมือนหนึ่งเอเซ จนพระเจ้าแผ่นดินเห็นว่า ผู้นั้นสมควรจะมีตำแหน่งราชการ ก็ค่อยเลื่อนยศขึ้นไปทีละน้อยๆ ตามลำดับ ไม่ว่าบุตรขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย แล้วแต่พระเจ้าแผ่นดินจะโปรดองค์เดียว เพราะธรรมเนียมเป็นดังนี้ ถ้าขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยผู้ใดมีบุตรดีที่ได้ทดลองแล้วพระเจ้าแผ่นดินเห็นสมควรที่จะได้รับราชการสืบตระกูลบิดาได้ ก็ได้เลื่อนยศให้สืบตระกูลบิดาไปบ้าง แต่ที่ไม่ได้สืบตระกูลเสียนั้นโดยมาก เพราะบุตรไม่ดีเหมือนบิดา กำหนดบรรดาศักดิ์ขุนนางพระเจ้าแผ่นดินต้องตั้งนั้น ตั้งแต่ศักดินา ๔๐๐ ขึ้นไป ยกเสียแต่นายรองหุ้มแพรมหาดเล็ก ซึ่งเป็นบุตรขุนนางดังเช่นว่าไว้แล้วในข้างต้น มีศักดินาแต่ ๓๐๐ พระเจ้าแผ่นดินทรงตั้งเอง เพราะเป็นคนใช้อยู่ใกล้เคียง เพราะเหตุฉะนั้น กรมมหาดเล็กนี้เป็นกรมสำคัญยิ่งกว่ากรมอื่นๆ ถึงตัวนายที่ได้รับสัญญาบัตรจะมีศักดินาน้อย ก็เป็นที่ยำเกรงนับถือของคนทั้งปวง มากกว่าขุนนางซึ่งมีศักดินาสูงๆ กรมอื่นๆ ด้วยเหตุที่เป็นบุตรขุนนางมีตระกูลประการหนึ่ง ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไปประการหนึ่ง เป็นผู้ใกล้เคียงได้ฟังกระแสพระเจ้าแผ่นดินแน่แท้ประการหนึ่ง เป็นผู้เพ็ดทูลได้ง่ายประการหนึ่ง จึ่งได้มีเกียรติยศเป็นที่นับถือมาก

ขุนนางซึ่งเป็นธรรมเนียม มีตำแหน่งมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบันนี้แบ่งเป็นสองพวก พวกหนึ่งฝ่ายทหาร พวกหนึ่งฝ่ายพลเรือน บรรดาเลกไพร่หลวงซึ่งขึ้นในกรมฝ่ายทหาร ก็เป็นไพร่หลวงทหาร ขึ้นฝ่ายพลเรือนก็เป็นไพร่หลวงพลเรือน ถ้าเวลาจะจ่ายคนชักคนในฝ่ายพลเรือน พันพุฒซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมมหาดไทยเป็นผู้จ่าย ถ้าเป็นไพร่หลวงทหาร พันเทพราชซึ่งเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระกลาโหมเป็นผู้จ่าย

แต่ถึงแบ่งเป็นสองส่วนไว้อย่างนี้แล้วก็ดี เมื่อมีการทัพศึกต้องเกณฑ์เป็นทหารไปรบทั้งสองฝ่าย ทั้งขุนนางแลไพร่ ถ้าจะว่าที่แท้แล้ว ในเวลาสงบไม่มีทัพศึกก็เป็นพลเรือนทั้งสองฝ่าย ถ้ามีการทัพศึกก็เป็นทหารทั้งสองฝ่าย ทหารพลเรือนนั้น แบ่งแต่พอรู้กำหนดว่าสองฝ่ายเท่านั้น ถ้าเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พลเรือนเฝ้าฝ่ายขวาของพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายซ้ายของผู้ที่หันหน้าเข้ามาทางพระเจ้าแผ่นดิน ทหารเฝ้าฝ่ายซ้ายของพระเจ้าแผ่นดิน ฝ่ายขวาของผู้ที่หันหน้าเข้ามาทางพระเจ้าแผ่นดิน แต่นับถือกันว่าทหารเฝ้าขวา พลเรือนเฝ้าซ้าย ต้องไว้ช่องกลางเหมือนอย่างเช่นออกแขกเมือง ฤๅดังเช่นออกขุนนางทุกคราว ในตำแหน่งทหารพลเรือนทั้งสองฝ่ายนี้ มีท่านอัครมหาเสนาบดีเป็นหัวหน้าอยู่ฝ่ายละคนเรียกว่าสมุห คือเจ้าหมู่ สมุหนายกฝ่ายพลเรือน สมุหพระกลาโหม ฝ่ายทหาร กรมอื่นๆ นอกจากนั้น ต้องขึ้นสองกรมนี้ทั้งสิ้น แต่มิใช่ขึ้นอยู่ในบังคับทีเดียว กรมต่างๆ ต้องฟังบังคับพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว เป็นแต่ขึ้นอยู่ในบาญชีแลเป็นผู้รวบรวมบาญชีที่จะกะเกณฑ์แลแจกเบี้ยหวัด กำกับยื่นหางว่าวสักเลกแลการอื่น ๆ ไม่มีอำนาจที่จะบังคับบัญชาสิ่งไรในกรมอื่นๆ ที่เป็นกรมใหญ่ ๆ ได้ นอกจากกรมมหาดไทย กรมกลาโหมซึ่งเป็นกรมของตัวแท้ๆ

ตำแหน่งขุนนางนั้น ได้ตั้งเป็นธรรมเนียมขึ้นครั้งแรกแต่ครั้งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถที่ ๑ ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเก่า เมื่อจุลศักราช ๗๙๖ เป็นแบบสืบมาดังนี้ อัครมหาเสนาบดี ๒ ฝ่าย พลเรือนคนหนึ่ง คือเจ้าพระยาจักรี ฝ่ายทหารคนหนึ่ง คือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี เป็นชั้นที่ ๑ รองลงไปจัตุสดมภ์ ๔ คือ พระคลัง เจ้าพระยาศรีธรรมราช วัง เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ พระนครบาล เจ้าพระยายมราช เกษตราธิบดี เจ้าพระยาพลเทพ ทั้ง ๔ นี้เป็นจัตุสดมภ์เสนาบดี คำว่า จัตุสดมภ์นั้น แปลว่าเป็นเครื่องค้ำเครื่องจุนทั้ง ๔ ถัดลงไป เสนาบดี พระยาสีหราชเดโชไชย แม่ทัพบกพระยาสีหราชฤทธิไกร แม่ทัพเรือ ขุนนางทั้ง ๘ ข้างบนที่ว่ามาแล้วนี้ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐ เสมอกันตามธรรมเนียมที่ว่ากันโดยโวหาร เป็นสำนวนโบราณ ว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นใจเมือง อัครมหาเสนาบดี ๒ เป็นตาเมือง จัตุสดมภ์ ๔ เป็นตัวเมืองเป็นตีนเมือง เดโชสีหราชเป็นมือเมือง ที่เป็นตำแหน่งโบราณสืบมาจนทุกวันนี้ ถัดนั้นลงไป เสนาบดีหรือมนตรี ๖ คือ พระยาเพชรพิไชย ว่ากรมล้อมพระราชวัง ซึ่งเป็นคนสนิทของพระเจ้าแผ่นดิน พระยาราชสุภาวดี ว่ากรมพระสุรัสวดี คือรวมบาญชีเลกทั้งฝ่ายทหารฝ่ายพลเรือน ถ้าฝ่ายทหารก็ดี พลเรือนก็ดี จะจ่ายเลกชักเลก ต้องพร้อมด้วยกรมพระสุรัสวดีเป็นกลาง พระยาราชภักดีคลังมหาสมบัติ เป็นผู้รักษาเงินแลจ่ายเงินรับเงินทั้งแผ่นดิน พระยาพระเสด็จบังคับพระสงฆ์ทั้งแผ่นดิน พระศรีภูรีปรีชา กรมอาลักษณ์เป็นผู้สำหรับรักษาพระราชกำหนดกฎหมายฉบับข้างที่ ซึ่งเป็นกลางแลเป็นผู้แต่งพระราชสาส์นซึ่งมีไปมาต่อพระเจ้าแผ่นดินทั้งปวง แลเป็นผู้รับพระบรมราชโองการ แลประกาศพระราชกฤษฎีกาต่างๆ พระยาอุไทยธรรม พนักงานกรมพระภูษามาลา สำหรับรักษาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์แลเครื่องราชูปโภค สำหรับพระเกียรติยศพระเจ้าแผ่นดิน แลบังคับการในโรงแสงต้นแสงหอกดาบ ซึ่งเป็นที่ไว้อาวุธหอกดาบทั้งปวงซึ่งเป็นกำลังแผ่นดิน แลรักษาหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีที่ได้ทำต่อประเทศทั้งปวง ขุนนางทั้ง ๖ นี้ ถือศักดินาคนละ ๕,๐๐๐ เสมอกัน เว้นแต่พระยาพระเสด็จ ถือศักดินา ๑๐,๐๐๐

(คัดจากหนังสือวารสารศิลปากร ปีที่ ๕ เล่ม ๓ หน้า (๒) – (๔)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ