กองแก้วกองทอง

พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชปรารภให้จัดการตกแต่งพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรซึ่งได้ทรงสถาปนาขึ้น ด้วยวิธีตกแต่งหลายอย่าง มีเขียนรูปภาพอันเป็นศิลปะอย่างประณีต เป็นต้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงรับหน้าที่เป็นผู้เขียนภาพด้วยพระองค์หนึ่ง เมื่อจะทรงเขียนภาพพุทธประวัติ ตอนราชาภิเษกสมโภชพระสิทธารถ ทรงสงสัยในข้อที่จะเขียนกองแก้วใต้ตั่ง ว่าจะเขียนแก้วอะไร แลรูปร่างอย่างไร จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชาวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานดังสำเนาต่อไปนี้)

----------------------------

ที่ ๑๐๘/๒๓๑๓

วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๑

ถึง เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงศ์

ด้วยจดหมายของเธอ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ถามด้วยเรื่อง กองแก้วใต้ตั่ง ซึ่งฉันได้ตอบด้วยปากไปแล้ว แต่มาคิดเห็นว่า เธอคิดจะรวบรวมเรื่องที่ปรึกษาหารือกันครั้งนี้ไม่ได้เขียนไว้เป็นหนังสือดูจะจากไป จึงคิดอ่านเขียนลงบัดนี้ เพื่อจะได้รวบรวมไว้ด้วย

แก้ว ๗ ประการตามซึ่งเธอค้นมานั้น ถูกต้องตามที่ฉันได้ทราบอยู่แล้ว แลได้เคยวินิจฉัยในเรื่องนั่งกองแก้วกองทอง เช่นนิทานทั้งปวงกล่าวเป็นอันมาก ด้วยได้นัยจากหนังสือนครกัณฑ์

คือว่าถ้าจะนั่งบนกองแก้วกองทองเช่นที่ว่าๆ กัน จะนั่งอย่างไร ขึ้นลงก็ยาก นั่งลงไปก็จะทลาย ฉันเคยติเตียนผู้แต่งว่าแต่งไม่มีความคิด แต่ครั้นเมื่อนึกนครกัณฑ์ในคำที่ว่า “สถิตเหนือพระที่นั่งบัลลังก์แก้วกระหนกมณี เบื้องบนรัตนราศีอันโอภาส” จึงมาคิดเห็นว่ามีบัลลังก์ต่างหาก รัตนราศีนั้นอยู่ใต้บัลลังก์ หาได้นั่งทับรัตนราศีลงไปเปล่า ๆ ไม่ เมื่อได้ความเช่นนี้ก็เป็นที่พอใจ หายกริ้วเรื่องนั่งกองแก้วนานมาแล้ว เป็นแต่นินทาว่าผู้แต่งไม่มีความคิด มักง่ายเกินไป สู้นครกัณฑ์ไม่ได้ แต่ไม่ได้นึกต่อไปอีกว่า กองแก้วนั้นจะได้กองรูปร่างอย่างไร ครั้นมาฟังปัญหาครั้งนี้ เพราะได้คิดไว้แต่เดิมมาแล้ว จึงตอบได้ทันที ด้วยได้ทราบอยู่แล้วว่า สมบัติที่เขาสะสมกันในประเทศอินเดีย สะสมเพชรพลอยเป็นอันมาก แลเพชรพลอยที่สะสมไว้นั้นไม่ได้เก็บไว้ในชามปากไปล่ตั้งมิวเซียมเช่นเมืองเตอรกี เขาผูกเป็นเครื่องประดับมีคิวัยยเป็นต้น เมื่อเวลาต้องการจะแต่งตัวประดับประดาให้มาก จะซ้อนลงไปกี่ชั้นก็ได้ มีตัวอย่างที่ได้เห็นดังนี้ คือลูกมหารายาวิเชียรนคระ อ่านสำเนียงว่า วิเชียรนาครา ขี่ม้าให้ฉันดูที่วังพักของพ่อเขาที่เมืองเบนนาริล สวมเสื้อ ๓ ชั้น ชั้นนอกเป็นเสื้อยาว มีสร้อยคอมรกตโพกผ้าใหญ่ มียี่ก่าเพชรใหญ่ ครั้นเวลาจะออกมาขี่ม้า ปลดสร้อยคอนั้นออกแล้วถอดเสื้อ เปลี่ยนผ้าโพกเป็นหมวก ซึ่งมียี่ก่าอีกเหมือนกันแต่ย่อมลงมา เสื้อซึ่งเหลืออยู่ข้างในเสมอเพียงเข่า มีสร้อยคอเพชร ๒ สายซ้อนกัน ขึ้นขี่ม้าควบขับไป จนเป็นทีว่าร้อน ฤๅเพราะเหตุที่จะขี่ม้ากระโดดโลดโผน จึงเปลื้องเครื่องชั้นนั้นอีกทั้งสร้อยคอด้วย เหลือเสื้อขาวก็มีสร้อยคออีกคราวนี้เป็นไข่มุกแต่ไม่สู้จะยืดยาว เปลี่ยนหมวกอีก คราวนี้ไม่มีเครื่องประดับหมวก เป็นสมกกิงแก๊บกลายๆ ควบม้าขึ้นไปบนกระดานซึ่งทำเหมือนเชิงตะพานช้าง แล้วให้ม้าโดดจากที่นั้น เครื่องประดับที่ประจำคงอยู่นั้น คือวงแหวนซึ่งสอดอยู่ในช่องหูข้างหนึ่ง ที่จมูกซึ่งเขาเจาะร้อยวงแหวนลวดทอง มีเพชรเป็นรูปกลมห้อยทั้งที่จมูกแลหู นี่เป็นตัวอย่างการแต่งตัวซ้อนหลายๆ ชั้น แต่ที่ไม่ซ้อน แต่งออกงานออกการนั้น ว่ากันเสียเกือบเป็นสร้อยนวม

ได้ความว่าพวกเจ้าแขกเหล่านี้ไม่ได้สะสมอย่างพวกฝรั่ง คือมีเงินฝากแบงก์เอาดอกเบี้ย แบงก์ของเขาคือมีเงินแล้วซื้อเพชรพลอยทำเครื่องประดับเหล่านี้เก็บไว้มาก ๆ การที่เอาออกมาแต่งเมื่อใดนับว่าเป็นดอกเบี้ยที่ได้ สมบัติเหล่านี้มีที่ซ่อนเร้นเช่นขุมทรัพย์มากต่อมากนั้น

มาคิดเห็นอีกอย่างหนึ่งว่า การบูชาโพไทธิบาทว์ ซึ่งเป็นวิธีมาแต่อินเดีย เขาก็ใช้พวงเงินพวงทองมาแขวนไว้เป็นมิ่งขวัญ ในการอภิเษกเช่นนี้ จึงเอารัตนราศีคือแก้วอันเป็นสมบัติมาไว้ใต้ที่นั่ง เห็นว่าจะไม่ได้เอาเงินแท่งทองแท่งฤๅเงินเหรียญทองเหรียญมากอง แล้วเอาเพชรพลอยโรย คงจะเป็นเพชรพลอยซึ่งผูกเป็นรูปพรรณอันเก็บไว้เป็นสมบัตินั้น มาประดับประดาไว้ในใต้ที่นั่ง ฤๅจะเป็นสมบัติอันบิดามารดายกให้เป็นของขวัญในเวลานั้นก็จะได้ เพราะฉะนั้น จึงขอวินิจฉัยว่าการซึ่งนั่งกองแก้วนั้นคงจะนั่งบนบัลลังก์ซึ่งอยู่เหนือกองแก้ว หาได้นั่งทับกองแก้วซึ่งเป็นของเลื่อนได้ไม่

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

(คัดจากหนังสือวารสารศิลปากร ปีที่ ๓ เล่ม ๒ หน้า ๑-๒)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ