บทนำเรื่อง

สุภาษิตสอนสตรีนี้เดิมเรียกกันว่า “สุภาษิตสอนหญิง” หรือ “สุภาษิตไทย” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายไว้ว่า “สุนทรภู่เห็นจะแต่งเมื่อราวระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๘๐ – ๒๓๘๓ ในเวลาเมื่อกลับสึกออกมาเป็นคฤหัสถ์ แล้วต้องตกยากจนถึงลอยเรืออยู่ พิเคราะห์ตามสำนวนดูเหมือนหนังสือเรื่องนี้สุนทรภู่จะแต่งขายเป็นสุภาษิตสอนสตรีสามัญทั่วไป ความไม่บ่งว่าแต่งให้ผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ ต้นฉบับเดิมที่หอพระสมุดฯ ได้มาเรียกว่า สุภาษิตไทย เป็นคำสมมติของผู้อื่น ดูเหมือนผู้สมมติจะไม่รู้ว่าเป็นกลอนของสุนทรภู่ด้วยซ้ำไป ถ้อยคำในต้นฉบับก็วิปลาสคลาดเคลื่อน ต้องซ่อมแซมในหอพระสมุดฯ หลายแห่ง แต่นับว่าแต่งดีน่าอ่าน”[๑]

สุภาษิตสอนสตรีแต่งด้วยกลอนสุภาพ จำนวน ๒๐๑ บท ปรากฏนามผู้แต่งว่าชื่อ “ภู่” จึงสันนิษฐานว่าสุนทรภู่เป็นผู้แต่ง และปัจจุบันมีนักวิชาการบางกลุ่มได้ศึกษาและตั้งข้อสังเกตว่า สุนทรภู่มิใช่ผู้แต่งสุภาษิตสอนหญิง เพียงแต่ผู้แต่งชื่อ “ภู่” เช่นเดียวกันและเป็นกวีในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมีชื่อเสียงในการแต่งนิทานชาดกคำกลอนเรื่องนกกระจาบ จึงเรียกกันทั่วไปว่า นายภู่นกกระจาบ

สุภาษิตสอนสตรี เริ่มต้นด้วยบทประณามพจน์นมัสการพระพุทธเจ้าในการแต่ง และบอกนามของกวีว่าชื่อ “ภู่” และกล่าวถึงจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจนว่าแต่งเพื่อสอนสตรีสามัญทั่วไปความว่า

ขอเจริญเรื่องตำรับฉบับสอน ชาวประชาราษฎรสิ้นทั้งหลาย
อันความชั่วอย่าได้มัวมีระคาย จะสืบสายสุริยวงศ์เป็นมงคล
ผู้ใดเกิดเป็นสตรีอันมีศักดิ์ บำรุงรักกายไว้ให้เป็นผล
สงวนงามตามระบอบให้ชอบกล จึงจะพ้นภัยพาลการนินทา

เนื้อหาของสุภาษิตสอนสตรีเป็นหลักประพฤติปฏิบัติของสตรีตามค่านิยมของสังคมไทย เป็นคำสอนที่ใช้ได้กับสตรีทุกชนชั้น มีทั้งข้อห้าม ข้อที่ควรปฏิบัติ ทั้งในเรื่องของการวางตัว กิริยามารยาท การพูดจา การแต่งกาย การเลือกคู่ครอง การปรนนิบัติ ความซื่อสัตย์ต่อสามี การดูแลบ้านเรือน ความมัธยัสถ์ เป็นต้น และต่อจากนั้นสุนทรภู่ยังกล่าวถึงลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของผู้หญิงแบบต่าง ๆ เช่น ละทิ้งพ่อแม่ ชอบแต่งตัว ติดการพนัน สูบฝิ่นกินเหล้า หญิงสองใจ เป็นต้น หญิงเหล่านี้ชีวิตมีแต่จะประสบความหายนะ ซึ่งคำสอนต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติได้เป็นอย่างดีสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน ดังตัวอย่าง เรื่องของความประหยัดมัธยัสถ์และความกตัญญู ความว่า

มีสลึงพึงประจบให้ครบบาท อย่าให้ขาดสิ่งของต้องประสงค์
จงมักน้อยกินน้อยค่อยบรรจง อย่าจ่ายลงให้มากจะยากนาน
ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ ให้เป็นมื้อเป็นคราวทั้งคาวหวาน
เมื่อพ่อแม่แก่เฒ่าชรากาล จงเลี้ยงท่านอย่าให้อดระทดใจ
ด้วยชนกชนนีนั้นมีคุณ ได้การุณเลี้ยงรักษามาจนใหญ่
อุ้มอุทรป้อนข้าวเป็นเท่าไร หมายจะได้พึ่งพาธิดาดวง

กล่าวถึงความสำคัญของคำพูดว่า

เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้พูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ

การสอนให้สตรีรู้จักนวลสงวนตัว เป็นการอบรมสั่งสอนให้สตรีพึงปฏิบัติในการครองตนให้เป็นศรีแก่วงศ์ตระกูล ให้เห็นคุณค่าความสำคัญของความสาวว่า

เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า
แม้แตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง

หรือ

อันที่จริงหญิงกับชายย่อมหมายรัก มิใช่จักตัดทางที่สร้างสม
แม้จักรักรักไว้ในอารมณ์ อย่ารักชมนอกหน้าเป็นราคี
ดังพฤกษาต้องวายุพัดโบก เขยื้อนโยกก็แต่กิ่งไม่ทิ้งที่
จงยับยั้งชั่งใจเสียให้ดี เหมือนจามรีรู้จักรักษากาย

ผู้ประพันธ์ยังสอนให้สตรีมีความซื่อสัตย์ต่อสามีเสมือนนางสีดาซื่อสัตย์ต่อพระราม หมั่นปรนนิบัติให้สามีรักและไว้วางใจ หรือเมื่อสามีโกรธ ภรรยาต้องระงับอารมณ์ไว้ไม่เถียงหรือทะเลาะ เรื่องในบ้านไม่นำไปเล่าให้ผู้อื่นฟัง ไม่ทำเรื่องชั่ว หากสตรีใดกระทำได้เช่นนี้จะได้รับยกย่องว่าเป็นสตรีที่มีปัญญา ดังตัวอย่างเช่น

จงซื่อต่อภัสดาสวามี จนชีวีศรีสวัสดิ์เจ้าตัดษัย
อย่าให้มีราคินที่กินใจ อุปไมยเหมือนอนงค์องค์สีดา

หรือ

แม้ผัวเดือดเจ้าจงดับระงับไว้ อย่าพอใจขึ้นเสียงเถียงประสม
เขาเป็นไฟเราเป็นน้ำคอยพรำพรม แม้ระดมทั้งคู่จะวู่วาม

และ

จะพูดจาสารพัดประหยัดปาก อย่าพูดมากเติมต่อซึ่งข้อขำ
ความสิ่งไรในจิตจงปิดงำ อย่าควรนำแนะออกไปนอกเรือน

ตอนท้ายของสุภาษิตเรื่องนี้ระบุว่านำมาจากตัวอย่างที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน และจะเป็นประโยชน์สำหรับสตรีในการนำคำสอนเหล่านี้ไปใช้เพื่อเสริมคุณค่า ความดีงามของตน

พอเป็นเรื่องสำหรับดับทุกข์โทษ เป็นประโยชน์แก่สตรีที่สวยสาว
เป็นตำรับแบบฉบับไปยืดยาว ในเรื่องราวสุภาษิตลิขิตความ
ข้อไหนชั่วแล้วอย่ามัวไปขืนทำ จงจดจำบุญบาปอย่าหยาบหยาม
เก็บประกอบเอาแต่ชอบในเรื่องความ ประพฤติตามห้ามใจเสียให้ดี
อย่าฟังเปล่าเอาแต่กลอนสุนทรเพราะ จงพิเคราะห์คำเลิศประเสริฐศรี
ไว้เป็นแบบสอนตนพ้นราคี กันบัดสีคำค่อนคนนินทา

สุภาษิตสอนสตรีให้ความรู้และเป็นหลักประพฤติปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของสตรีตามวัฒนธรรมไทยดั้งเดิม เป็นคำสอนเพื่อให้สตรีรู้จักวางตนอย่างเหมาะสม สอนให้รู้จักปฏิบัติต่อบิดามารดา และสามีอย่างถูกต้อง สอนให้รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ ทั้งยังยกตัวอย่างให้เห็นว่าหากสตรีประพฤติตามคำสอนก็จะได้รับการยกย่อง แต่หากไม่ประพฤติปฏิบัติก็จะมีผู้ตำหนิและดูถูก ซึ่งคำสอนในสุภาษิตเหล่านี้เป็นที่นับถือและแพร่หลายสืบต่อกันมาช้านาน เป็นสิ่งที่สะท้อนค่านิยมของสังคมไทยที่มีต่อสตรี และค่านิยมเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่และสืบทอดมาจนปัจจุบัน



[๑] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สุภาษิตสอนสตรี พิมพ์ในงานปลงศพนางพิไชยเดชะ (พุ่ม กาญจนสุวรรณ). (โรงพิมพ์ไทยเขษม, ๒๔๗๕), หน้าคำนำ.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ