๕. เรื่องนับปีตามสุริยคติกาล

สิ่งที่เรียกว่าปีๆ มีหลายอย่าง ปีซึ่งจะใช้ในการกำหนดหนุนทุ่มโมงให้แน่นี้ต้องใช้ปีที่ชื่อว่า “สมา” คือเท่ากันทุกปี คิดปีละสามร้อยหกสิบห้าวันกับเศษที่ว่าโดยหยาบๆ ว่าหกโมง ในคำนี้พวกโหรที่รู้สารัมภ์และสุริยยาตราคำนวณละเอียดออกไป ก็จะเห็นว่าหกโมงกว่าถึงสิบสองนาฑีเศษ และซึ่งคำนวณดังนั้นก็ชอบอยู่ในที่จะว่าพระอาทิตย์ดำเนินถึงดาวฤกษ์ประจบรอบที่เก่าตามโหรในสยามประเทศเราเคยทำเลขหมายใช้กำหนดสงกรานต์นั้น แต่ในลักษณะที่จะใช้ทุ่มโมงนี้ จะเอาตามนั้นทีเดียวไม่ได้ และการใช้กำหนดทุ่มโมงที่จะทำให้กลางวันมากกลางคืนน้อย กลางคืนมากกลางวันน้อยต่างไปนี้ เป็นเพราะดวงพระอาทิตย์เดินปัดไปเหนือไปใต้ทุกวันตามกำหนด เมื่อพระอาทิตย์จะมาซ้ำที่เก่าในระยะนั้นๆ ที่ทางปัดเหนือปัดใต้ในกำหนดสามร้อยหกสิบห้าวันกับเศษหกโมงหย่อนอยู่เล็กน้อยอีก หาเหมือนกันอย่างสงกรานต์นั้นไม่ เพราะฉะนั้นโหรที่รู้ข้างสงกรานต์ อย่าเพ่อติตำรานี้ว่าผิดก็ดีว่าหยาบก็ดี ก็ชั่วกำหนดอาทิตย์ปัดเหนือปัดใต้ เมื่อไปข้างเหนือแล้วกลับมาสุดข้างเหนืออีกก็ดี ไปข้างใต้แล้วกลับมาสุดข้างใต้อีกก็ดีมีกำหนด ถ้าจะนับเป็นโมงได้แปดพันเจ็ดร้อยหกสิบหกโมง หย่อนนาฑีเล็กน้อย แต่เมื่อครั้นจะบอกลักษณะในคิดตั้งนาฬิกาตามกำหนดละเอียดทั้งระยะนับตามชั่วโมง ผู้ที่ทำการในโรงนาฬิกา ก็จะคิดนับสังเกตยากไป เพราะฉะนั้นจะขอบอกวิธีนี้ไว้หยาบๆ แต่ได้นับวัน เมื่อนับเอาเป็นวันแล้วดังนี้ ปีหนึ่งก็ได้สามร้อยหกสิบห้าวันมีเศษหกโมงหย่อนๆ เศษหกโมงหย่อนๆ นั้น จะของดเสียก่อน นับแต่สามร้อยหกสิบห้าวันไปสามปี ครั้นถึงปีที่สี่ เศษหกโมงทุกปีนั้นผสมกันเข้าได้ ๒๔ โมงหย่อนๆ เกือบครบวัน เพราะฉะนั้นในปีนั้น จึงขอเพิ่มเติมใส่ให้นับเป็นสามร้อยหกสิบหกวัน ด้วยนัยนี้พึงรู้เถิด นับปี “สมา” เป็นอย่างหยาบนับสามร้อยหกสิบห้าวันไปสามปีแล้ว ปีที่สี่นับสามร้อยหกสิบหกวัน นับอย่างนี้เสมอไปถึงจะไม่ถูกกับลักษณะกรมจุพลและสุริยยาตราก็ตามทีเถิด อย่าเอาฉะบับโน้นมาว่าวุ่นวาย ระยะตำรานี้ ปีหนึ่งสามร้อยหกสิบห้าวัน (๓๖๕ วัน) สองปี เจ็ดร้อยสามสิบวัน (๗๓๐ วัน) สามปี พันเก้าสิบห้าวัน (๑๐๙๕ วัน) สี่ปีเป็นพันสี่ร้อยหกสิบเอ็ดวัน (๑๔๖๑ วัน) นับเสมอไปดังนี้ทุกระยะสี่ปีเถิด เมื่อได้ครบ ๒๔ ระยะ ๆ ละสี่ปี ๆ ก็เป็น ๙๖ ปี คิดเป็นวันสามหมื่นห้าพันหกสิบสี่วัน (๓๕๐๖๔ วัน) ต่อนั้นไปอีกสี่ปีจึงครบร้อยปี ก็ในปีที่ครบร้อยปีนั้น สี่ปีในระยะนั้นอย่าเพิ่มวันหนึ่งเลย เอาแต่สามร้อยหกสิบห้าวันเสมอกันทุกปีทั้งสี่ปี จึงคิดผสมวันสามหมื่นหกพันห้าร้อยยี่สิบสี่วัน (๓๖๕๒๔ วัน) เท่านี้เป็นร้อยปีที่แรกเรียกว่า “ปถมสมาสดก” แล้วนับร้อยปีเช่นอย่างระยะนั้นต่อไปอีกเหมือนกันเรียกว่า “ทุติยะสมาสดก” เป็นวันได้เจ็ดหมื่นสามพันสี่สิบแปดวัน (๗๓๐๔๘ วัน) แล้วนับไปอีกร้อยปีตามระยะเช่นนั้นเหมือนกันอีก เรียกว่า “ตะติยะสมาสดก” เป็นวันได้แสนเก้าพันห้าร้อยเจ็ดสิบสองวัน (๑๐๙๕๗๒ วัน) แล้วใส่เข้าอีกร้อยปี เป็นปีที่ ๔ แปลกกว่าสามร้อยปีข้างหลังมีวันเพิ่มอีกวันหนึ่งในปีที่ครบร้อย จึงเป็นวันในร้อยปีที่สี่ ระยะนี้สามหมื่นหกพันห้าร้อยยี่สิบห้าวัน (๓๖๕๒๕ วัน) เรียก “จตุตถะสมาสดก” เอาวันของจตุตถะสมาสดกนี้ไปผสมกับวันข้างสามสดกข้างต้นนั้น เป็นวันได้แสนสี่หมื่นหกพันเก้าสิบเจ็ดวัน (๑๔๖๐๙๗ วัน) ประชุมสี่ร้อยปีนี้เรียกว่า “สมาสดกจตุกะ” ก็เมื่ออีกสี่ร้อยปีที่นับเช่นนี้ ผะสมกันเข้าเป็นแปดร้อยปีก็ได้ สองแสนเก้าหมื่นสองพันร้อยเก้าสิบสี่วัน (๒๙๒๑๙๔ วัน) ผิดกันกับวันที่บังคับในคัมภีร์สุริยยาตราถึงสิบสามวัน เพราะในสุริยยาตรานั้น มีบังคับว่า ๒๙๒๒๐๗ เป็นกำลังหรคุณในแปดร้อยปี ก็ซึ่งสุริยยาตรานี้ถูกตามทางอาทิตย์เดินถึงดาวฤกษ์ ซึ่งว่าตามตำรานี้ว่าตามดวงอาทิตย์ปัดเหนือปัดใต้ ซึ่งไม่มีในสุริยยาตราโหร อย่านินทาว่าติเตียนพระอาจารย์ ติเตียนโบราณเลย ว่าคนละตำรา คนละทางดอก ดวงอาทิตย์เวลาเที่ยงต่ำไปข้างใต้เป็นที่สุดในวันใด นับแต่วันนั้นมาให้ได้แปดสิบเก้าวันเรียงไปสามปีในปีที่สี่ ที่บังคับให้เพิ่มวันดังว่าแล้วนั้น ให้นับเป็นเก้าสิบวัน เรียกว่า “สิสิระฤดู” เมื่อสุดวันสิสิระฤดูแล้ว ให้นับไปอีกเก้าสิบสามวันเสมอกันทุกปี เรียกว่า “นิทาฆะฤดู” ในวันที่สุด นิทาฆะฤดู เวลาเที่ยงพระอาทิตย์โอนไปข้างเหนือเป็นที่สุดเบื้องหน้าแต่นั้นคงกลับมาใต้นับแต่วันที่สุด นิทาฆะฤดู ไปเก้าสิบสี่วันเรียกว่า”วัสสันตะฤดู” ให้นับแต่หน้าวันที่สุดวัสสันตะฤดูไปแปดสิบเก้าวันเสมอทุกปี เรียกว่า “สะระทะฤดู” ถึงวันที่สุดสะระทะฤดูแล้วพระอาทิตย์เวลาเที่ยงคงต่ำข้างใต้เป็นที่สุด ไม่ต่ำไปกว่านั้นเป็นแน่ดังนี้แล้ว ฤดูสิสิระ ๘๙ วัน ฤดูนิทาฆะ ๙๓ วัน ฤดูวัสสันต์ ๙๔ วัน ฤดูสะระทะ ๘๙ วัน รวมเป็นสามร้อยหกสิบห้าวัน เมื่อในปีที่สี่เอาฤดูสิสิระเป็นเก้าสิบวัน รวมเป็นสามร้อยหกสิบหกวันตามระยะโน้น เมื่อจะชี้ลงด้วยปัจจุบันกาล บัดนี้ปีเถาะสัปตศก วันจันทร์ เดือนอ้ายขึ้นสิบห้าค่ำ วัน ๒ เดือน ๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๑๗ ที่แล้วไปนี้ เป็นสิสิระฤดูซึ่งนับแต่เดือนอ้าย ขึ้นสิบห้าค่ำ ปีเถาะ สัปตศกนั้นนับเป็นเก้าสิบวัน

ถ้าจะย้อนกล่าวไปนับแต่ต้น ปถมสมาสดกมานั้น ก็จะต้องไปนับต้นแต่ปีกุน เอกศก (แต่ในแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม) จุลศักราช ๙๖๑ มา ก่อนปีเถาะสัปตศกขึ้นไปถึง ๒๕๖ ปี แต่ซึ่งว่าทั้งนี้จะให้รู้ต้นปลาย ซึ่งจะให้นับไปภายหน้านับแต่ปีมะโรง อัฐศกนี้ไป จนถึงปีที่ (๑๔๔) ต่อไปข้างหน้าจึงจะสิ้นระยะสมาสดกจตุกะหนึ่ง เมื่อจะนับไปดังนี้ถึงหลายร้อยปีก็จะไม่คลาดเลย ซึ่งว่านี้หยาบๆ แต่พอเข้าใจง่าย แต่การคำนวณนั้นได้ทำละเอียดแล้วอย่าสนเท่ห์เลย

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ