๒๔๒ ประกาศไม่ให้จำหน่ายเข้าออกไปนอกประเทศ

ณวันจันทร์ เดือนอ้ายแรม ๑๓ ค่ำ ปีชวดฉศก

ด้วยเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี ขอประกาศแก่เจ๊สัวผู้แต่งเรือไปค้าขายเมืองต่างประเทศ แลคนทั้งหลายที่มีเข้าไปขายแก่เจ๊สัวนายห้างให้ทราบทั่วกัน ด้วยมีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า ปีชวดฉศกนี้ในพระราชอาณาจักรสยามนี้ ส่วนข้างตวันตกเปนน้ำท่วม ส่วนอื่นๆ เปนฝนน้อยน้ำน้อย ราษฎรทำนาลางแห่งทำ ๑๐ ส่วนได้ ๒ ส่วน ลางแห่งทำ ๑๐ ส่วน ได้ส่วน ๑ บ้าง ลางแห่งเข้าเสียไม่ได้ทีเดียว ผู้ที่มีเงินก็ตื่นกันซื้อเข้าไว้ จนราคาเข้าสารขึ้นถึงถังละกึ่งตำลึง เดี๋ยวนี้ลดลงมาอยู่ถังละ ๕ สลึงเฟื้อง ราคาเข้าเปลือกเล่าก็คงอยู่เกวียน ๖๐ บาท ๗๐ บาทตามเข้างามเข้าไม่งาม ราคาเข้าก็ไม่ลดถอยลงมาอิก เข้าแพงไปทั้งหัวเมืองแลในกรุงเทพฯ ราษฎรอยู่ตามหัวเมืองที่เปนคนขัดสนยากจนไม่มีเงินจะซื้อเข้าทำนาก็ไม่ได้ ต้องเข้าป่าแลหากล้วยแลเก็บขุยไผ่มากินต่างเข้า ลางทีก็หาของอื่นปนเข้ากินก็มีโดยมาก ครั้นจะไม่ปิดไว้ จำพวกที่มีเข้าเห็นราคาเข้าแพงก็จะสีเปนเข้ากล้องเข้าสารขายลงเรือใหญ่ไปนอกประเทศ จะเอาพืชพรรณเข้าไว้ก็แต่พอของตัว ครั้นถึงฤดูทำนาคนที่ไม่มีพรรณเข้า จะไปเที่ยวซื้อหาแบ่งปันกันมาทำเข้าปลูก ก็จะได้แห่งละเล็กละน้อย ถึงจะมีฝนบริบูรณ์ก็จะทำนาไม่ได้เต็มภาคภูมิ์ เข้าก็จะแพงต่อไปอิก จะขาดผลประโยชน์ไปทั้งผู้แต่งเรือแลผู้ทำนา เข้าเปนสินค้าใหญ่แล้วก็เปนกำลังแก่บ้านเมือง ทรงพระมหากรุณาเมตตาแก่อาณาประชาราษฎร์ แลลูกค้าพานิชทั้งปวงทั่วไป เพื่อจะให้เปนประโยชน์ทั่วกัน ทั้งคนในประเทศแลคนต่างประเทศ จึงได้ขอปิดเข้าแก่นายห้างต่างๆ ที่เข้ามาตั้งห้างซื้อขาย แต่เดือน ๓ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดฉศก เพราะหนังสือสัญญามีว่าให้บอกเขาให้รู้ก่อนห้ามเดือนหนึ่ง แต่ลูกค้าที่กรุงเทพฯ แลลูกค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญานั้น จะขอปิดตั้งแต่เดือนยี่ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดฉศกไป ๘ เดือนจนสิ้นเดือน ๙ ปีฉลูสัปตศก ถ้าเห็นต้นเข้าในนาตั้งตัวได้บริบูรณ์ ฝนต้นมือกลางมือเปนปรกติดี ควรจะเปิดได้แล้วจึงจะออกหนังสือประกาศให้รู้ ถ้าเห็นว่าฝนไม่บริบูรณ์ เข้าในนาไม่ได้ผลเต็มภาคภูมิ์เสียไปมาก ก็จะขอปิดต่อไปอิกปีหนึ่ง เมื่อถึงเดือนยี่ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดฉศกกำหนดห้ามแล้ว ขอเสียอย่าให้เจ๊สัวแลลูกค้าผู้ซื้อเข้าขายเข้า ซื้อขายเข้าลงเรือใหญ่ไปขายต่างประเทศเลยเปนอันขาด แลเข้าที่ซื้อขึ้นใส่ยุ้งฉางไว้แต่ก่อนหมายประกาศห้ามนั้น จะบรรทุกออกไปขายเหมือนอย่างคนต่างประเทศนั้นก็ไม่ได้ ผู้ใดจะขายเข้าก็ซื้อขายแต่กันกิน แต่ในพื้นบ้านพื้นเมือง ถ้าจะแต่งเรือไปค้าต่างประเทศ จะซื้อเปนเข้าสะเบียงบ้าง ก็ให้มาบอกต่อเจ้าพนักงานผู้เรียกภาษีเข้าให้รู้ก่อน เมื่อเห็นควรจะให้ไปมากน้อยเท่าใดก็จะคิดให้ตามคนมากแลน้อย ระยะทางใกล้แลไกล เมื่อเรือทอดอยู่ในลำแม่น้ำ จะซื้อกินเปนหวยสิทธิก็บอกเจ้าพนักงานให้รู้ว่าจะซื้อขึ้นเท่านั้นๆ ถ้าไม่บอกเจ้าพนักงานมีผู้ส่อเสียดรับสินบนเจ้าพนักงานไปค้นดู ถ้าเข้ามากกว่าเกวียนขึ้นไปก็จะปรับไหมตามกฎหมายท้องน้ำ ถ้าผู้ใดเปนเจ้าของเข้าลักลอบขายเข้าลงเรือใหญ่ไปต่างประเทศ ฤๅเข้ากระสอบไปส่งลงเรือใหญ่กลางวันก็ดีกลางคืนก็ดี ถ้ามีผู้ส่อเสียดรับสินบนจับได้ ชำระได้ความจริงจะปรับไหมเหมือนกัน แลหัวเมืองชายทเลฝั่งตวันตกตวันออก ซึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตรนั้น ถ้าเข้าแพงยิ่งกว่าที่กรุงเทพฯ จะเข้ามาซื้อเข้าที่กรุงเทพฯ ออกไปขายเจือจานกันกิน ก็ให้ขอหนังสือผู้ว่าราชการเมืองนั้นๆ เข้ามาถึงเจ้าพนักงานเปนสำคัญ แล้วก็จะยอมให้ออกไป ด้วยเปนไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเดียวกัน ถ้าหัวเมืองต่อหัวเมืองด้วยกันเข้าเมืองหนึ่งถูกเมืองหนึ่งแพง ถ้าราษฎรที่อยู่หัวเมืองเข้าแพงจะไปซื้อเข้าที่หัวเมืองเข้าถูกกิน ก็ให้ขอหนังสือผู้ว่าราชการเมืองนั้น ไปถึงผู้ว่าราชการเมืองที่เข้าถูกเปนสำคัญก่อน แล้วก็ให้ผู้ว่าราชการเมืองที่เข้าถูกยอมขายให้ไป อย่าให้เรียกเอาภาษีเลย ถ้าจะซื้อสินค้าไปขายเมืองต่างประเทศ ก็อย่าให้ผู้ว่าราชการเมืองยอมให้ไป แลให้ผู้ว่าราชการเมืองคอยระวังรักษาอย่าให้ผู้ที่มาขอหนังสือ หลอกลวงขอหนังสือไปซื้อเข้าได้แล้วไปขายเมืองนอกเขตรแดนเปนอันขาดทีเดียว ความประกาศนี้ให้มหาดไทย กลาโหมหมายบอกตามกรมขึ้นให้รู้ทั่วกัน แลหัวเมืองชายทเลข้างตวันตกตวันออกนั้นด้วยตามรับสั่ง

หมายประกาศมาณวันจันทร์ เดือนอ้าย แรม ๑๓ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๒๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ