๒๒๖ ประกาศสงกรานต์ ปีชวดฉศก

มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่ชนทั้งปวง บรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนา แลธรรมเนียมปีเดือนวันคืนอย่างเช่นใช้ในเมืองไทยให้รู้ทั่วกันว่า ในปีชวดฉศกนี้ วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เปนวันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์จะขึ้นสู่ราศีเมษในเวลาบ่าย ๒๔ นาที วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ๒ เปนวันเนาว์ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ เปนวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่เปน ๑๒๒๖ ในเวลาบ่าย ๔ โมงแล้วกับ ๓๙ นาที เพราะฉนั้นในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์เปน ๓ วันตามเคยมีโดยมาก ปีนี้สงกรานต์นามกรอย่างไร ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร ถืออะไร จะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครจะใคร่ทราบก็มาดูรูปที่แขวนไว้ ในพระบรมมหาราชวังเทอญ

ลักษณจดหมายวันคืนเดือนปีใช้ดังนี้ คือตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ไปจนถึงวันจันทร์เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ จดหมายลงชื่อปีในที่ทั้งปวง ให้ว่าปีชวดยังเปนเบญจศก ถ้าจดจุลศักราชให้คงเปน ๑๒๒๕ อยู่ ตั้งแต่วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ไปถึงวันอาทิตย์เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ซึ่งเปนวันตรุษสุดปีนั้นให้ใช้ว่าปีชวด๑๔ฉศก ลงเลขจุลศักราชว่า ๑๒๒๖ แก้เลข ๑๓ ตามปีแผ่นดิน ซึ่งเขียนไว้บนศกนั้น เมื่อเปลี่ยน๑๔ฉศก แล้วให้เขียนเปนเลข ๑๔ ไปกว่าจะเปลี่ยนศกใหม่เถิด

ในปีชวดฉศกนี้ วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ วันหนึ่ง วันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ วันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา วันจันทร เดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำ เปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือทำนาภายหลังวันนั้น คือตั้งแต่วันอังคารเดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำไป ห้ามมิให้ลงมือทำนาก่อนฤๅในวันนั้นตลอดพระราชอาณาเขตร

อนึ่งวันวิสาขบูชาถือตามนิยมในอรรถกถาว่าเปนวันประสูติแลได้ตรัสรู้แลปรินิพพานของพระพุทธเจ้านั้น ปีนี้นักขัตฤกษวิสาขบูรณมีตกในวันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ในพระบรมมหาราชวังนี้ จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันเสาร์ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ เปนการมงคลสำหรับพระราชวังตามเคยอย่างทุกปี วันอังคาร เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปุริมพรรษา วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปัจฉิมพรรษา วันเสาร์เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันมหาปวารณา ในปีชวดฉศกนี้ พระราชพิธีจองเปรียงยกโคมในวันศุกร เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ลดโคมในวันเสาร์ เดือน ๑๒ แรม ๑๓ ค่ำ ให้พระราชวงศานุวงศ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎร บรรดาซึ่งจะได้ยกโคมลดโคมให้รู้ตามกำหนดนี้ วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ เปนวันชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพระราชพิธีกฤติเกยาณหอพระเทวสถาน พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ๒ ครั้ง แลพระราชพิธีสารท แลพระราชพิธีตรียัมพวายแลตรีปวาย แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน คงทำในวันคืนขึ้นแรมนั้นๆ ตามเคยเหมือนอย่างทุกปี ในปีชวด๑๔ฉศก วันศุกรเปนวันธงไชยแลเปนวันอธิบดี วันพฤหัสบดีเปนวันอุบาสน์ วันอาทิตย์เปนวันโลกาวินาส ในปีชวดฉศกนี้ วันอุโบสถเปนวันที่รักษาศีลอุโบสถแลทำมหาธรรมสวนะซึ่งผิดกับวันที่นับว่าวันอุโบสถ ฤๅวันพระตามเคยรู้ด้วยกันในชาวสยามทั้งปวงนั้น มีในเดือนถ้วนข้างขึ้นบ้างข้างแรมบ้างทุกเดือนตลอดชั่วปีนับได้ ๒๒ วัน เพราะในปักษ์ข้างแรมในเดือนขาดทั้ง ๖ เดือนเปนปักษ์ถ้วน มีวันเปน ๑๕ วัน วันตามปักขคณนาวิธีมิใช่ปักษ์ขาด วันมหาธรรมสวนะจึ่งเลื่อนไปวันหนึ่งๆ ตกในปักษ์ข้างขึ้นในเดือนถ้วนทั้ง ๖ เดือน แลข้างแรมบ้าง คือดังนี้ วันศุกร เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ วันจันทร์ เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ วันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ วันอังคาร เดือน ๘ แรมค่ำ ๑ วันพุธ เดือน ๘ แรม ๙ ค่ำ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๐ ขึ้นค่ำ ๑วันศุกร เดือน ๑๐ ขึ้น ๙ ค่ำ วันศุกร เดือน ๑๐ แรมค่ำ ๑ วันเสาร์ เดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ วันอาทิตย์เดือน ๑๒ ขึ้นค่ำ ๑ วันจันทร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๙ ค่ำ วันจันทร์ เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ วันอังคารเดือน ๑๒ แรม ๙ ค่ำ วันพุธ เดือนยี่ขึ้นค่ำ ๑ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ขึ้น ๙ ค่ำ วันพฤหัสบดี เดือนยี่แรมค่ำ ๑ วันศุกร เดือนยี่แรม ๙ ค่ำ วันเสาร์ เดือน ๔ ขึ้นค่ำ ๑ วันอาทิตย์ เดือน ๔ ขึ้น ๙ ค่ำ วันอาทิตย์ เดือน ๔ แรมค่ำ ๑ วันจันทร เดือน ๔ แรม ๙ ค่ำ เท่านี้เปนวันอุโบสถ แลทำมหาธรรมสวนะโดยตรง นอกจาก ๒๒ วันนี้แล้ว ก็คงต้องกันในวันตามเคย คือในวันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แลแรม ๘ ค่ำ ในเดือนขาดทุกเดือน แลแรม ๑๕ ค่ำ ในเดือนถ้วนทุกเดือนตลอดปีไม่ยักเยื้องอะไร อนึ่งวันเวลาพระอาทิตย์ยกเปลี่ยนขึ้นราษีใหม่ ซึ่งเรียกว่าสงกรานต์เดือน ในปีชวด๑๔ฉศกนี้ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราษีเมษ ตั้งแต่วันจันทร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๒๔ นาที อยู่จนวันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ เวลาเช้า ๔ โมง ๑๒ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีพฤศภ จนวันอาทิตย์ เดือน ๗ ขึ้น ๘ ค่ำ เวลา ๒ ทุ่ม ๒๔ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีเมถุน จนวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เวลาบ่าย ๒๘ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีกรกฎ จนวันอาทิตย์ เดือน ๙ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เวลา ๕ ทุ่มกับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีสิงห์ จนวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลา ๘ ทุ่มกับ ๒๒ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีกันย์ จนวันเสาร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมง แล้วยกไปอยู่ราษีตุลย์ จนวันจันทร์ เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ เวลาเช้า ๕ โมงกับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีพิจิก จนวันอังคาร เดือนอ้ายขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลา ๒ ยาม กับ ๒๔ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีธนู จนวันพฤหัสบดี เดือนยี่แรมค่ำ ๑ เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๑๒ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีมังกร จนวันศุกร เดือน ๓ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เวลาย่ำค่ำ แล้วยกไปอยู่ราษีกุมภ์ จนวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรมค่ำ ๑ เวลา ๕ โมงกับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีมีน จนวันอังคาร เดือน ๕ แรมค่ำ ๑ ปีฉลูยังเปน๑๔ฉศก แลกล่าวมานี้เพื่อจะให้ท่านทั้งปวงได้รู้เทียบเคียงน้ำฝนแลน้ำมากน้ำน้อยปีหลังกับปีปัจจุบันนี้เปนประโยชน์ เพราะการซึ่งจะเทียบเคียงนั้นจะคิดแต่ง่ายๆ สั้นๆ แต่เพียงเดือนต่อเดือน คือเดือน ๗ เดือน ๘ ปีหลังมาเทียบเคียงกับเดือน ๗ เดือน ๘ ในปีนี้ แลเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ในปีหลังมาเทียบเคียงกับเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ในปีนี้ดังนี้จะเอาเปนแน่ไม่ได้ ต้องเทียบเดือนตามระยะพระอาทิตย์ดังกล่าวมาแล้วจึงเปนแน่ได้ อนึ่งท่านผู้ต้องการจะหาฤกษ์ดีวันดี เมื่อรู้วันพระอาทิตย์ยกเปนวันห้ามการมงคลทั้งปวงแล้ว จะได้หลีกเลี่ยงเสียแลจะได้ประพฤติการมงคลในวันอื่นๆ นอกจากวันดังว่านี้

วันศุกร เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ ปีชวดฉศกนี้ จะมีสุริยุปราคาจับมาแต่ในกลางคืน วันพฤหัสบดี เดือน ๕ แรม ๑๔ ค่ำ พระอาทิตย์จะขึ้นเมื่อเวลา ๕ นาฬิกากับ ๔๓ นาที นับแต่เที่ยงคืนมาล่วงแล้ว จนเห็นพระอาทิตย์ยังแหว่งอยู่หน่อยหนึ่งข้างทิศอาคเณสัก ๖ นาที ฤๅ ๗ นาทีก็จะเปนโมกขบริสุทธิ์ จะเห็นอย่างนี้ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือทุกเมือง ต่อขึ้นสูงๆ ดูเห็นขอบฟ้าที่จดกับทุ่งนากับทเลจึ่งจะเห็นได้ ถึงกระนั้นเพราะฤดูเปนเมฆหมอกมาก เวลาเช้าอากาศมักกลุ้มคลุ้มอยู่ เห็นจะไม่เห็นโดยมาก นอกจากวันนี้ในปีชวด๑๔ฉศก จันทรุปราคาแลสุริยุปราคาซึ่งจะเห็นได้ในพระราชอาณาจักรนี้จะไม่มี

เมื่อวันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ดังนี้ อายุของมนุษย์ชนในโลกทั้งปวงณกาลบัดนี้ มีประมาณเพียง ๘๐ ปี แลต่ำลงมากว่า ๘๐ ปีนั้น ก็หมดสิ้นไปใกล้แก่เวลาที่จะถึงแก่ความตายเข้าไปทุกวันๆ ด้วยกันทุกคนๆ ความตายนั้นไม่เลือกหน้าผู้ใดๆ เปนคนจนคนมีผู้ดีแลไพร่ เปนคฤหัสถ์บรรพชิตไม่มีใครล่วงพ้นจากความตายนั้นได้เลย ก็แลสัตว์ทั้งปวงคนทั้งปวงมีชีวิตรของตัวเปนที่รักหมดด้วยกัน กลัวตายไม่อยากตายโดยมากเปนธรรมดาแต่ว่าหาเสมอกันไม่ ลางคนได้ความทุกข์ความยากมาก เบื่อหน่ายในชีวิตรของตัวบ้าง คลั่งไคล้ฟั่นเฟือนเห็นวิปริตไปต่างๆ บ้าง ศรัทธาล้นเหลือเฟือฟายคิดจะทำบุญด้วยชีวิต บ้างผูกฅอตาย เชือดฅอตาย กินยาตาย แลเผาตัวเสียก็มี ฤๅอวดกล้าหาญแขงแรงเกินประมาณไป ขึ้นไม้สูงแลเข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืนแลเข้าปล้ำปลุกกับสัตว์ร้ายว่ายน้ำลึกแล่นเรือเล็กฝ่าคลื่นฝ่าลม แลเข้าชกต่อยตีรันฟันแทงแย้งยิงกับผู้อื่นไม่อาไลยในชีวิตร คิดว่าตายไหนตายลง ฤๅกล้าเสพสุรามากเกินประมาณ ฤๅกินยากล้าแรงยิ่งนักด้วยอยากจะให้โรคหายเร็ว คนเช่นนี้ลางทีก็ทำให้เพลี่ยงพล้ำทำชีวิตรตัวเสียไปก็มีบ้าง ถึงกระนั้นมีอยู่ห่างๆ ก็ผู้ที่รักชีวิตรไม่อยากตายกลัวตายนั้นมีโดยมาก ลางคนยากจนไม่มีทรัพย์สินเย่าเรือนเคหาบุตรภรรยาซึ่งเปนที่ห่วงใยอาไลย แลเห็นว่าชาติตระกูลตัวก็ต่ำ พาหนะเปนกำลังก็ไม่มี สติปัญญาตัวก็น้อย อายุแลไวยก็ล่วงไปมากแล้ว ก็บ่นอยู่อึงๆ ว่าจะอยู่ก็อยู่จะตายก็ตาย ตามแต่กำลังบุญแลบาปกรรม ฤๅตามแต่ผีสางเทวดาจะอนุเคราะห์แลไม่อนุเคราะห์ ดังนี้ก็มีโดยมาก ก็ในผู้ที่มีห่วงใยแลอาไลยอาวรณ์โตใหญ่นั้นเล่า บางพวกก็มีปัญญาอันอบรมด้วยพระไตรลักษณปัญญา เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา รู้ว่าเกิดมาคงถึงแก่ความตาย ไม่เที่ยง แลการทั้งปวงย่อมแปรผันไปต่างๆ ในชีวิตรสัตว์ทั้งปวงแล้ว ความทุกข์เปนพื้น ความสุขเปนดอกดวงมีแต่ละเมื่อละขณะ ถึงเวลาปลายคงกลายลงหาทุกข์ ความสุขที่ได้แล้ว ฤๅที่หมายว่าจะได้ คงจะกลับมาเปนอารมณ์แก่ใจให้เกิดความเศร้าโศกทุกข์โทมนัศมากในเวลานั้น สรรพสิ่งทุกข์อันในตัวนอกตัวไม่เปนตน ไม่อยู่ในใต้อำนาจความหยากความปราถนา ผู้ใดปลงปัญญาเห็นดังนี้จริงๆ ผู้นั้นถึงมีห่วงใยที่อาไลยอาวรณ์มากก็อาจให้อัธยาศรัยเปนกลางๆ อยู่ได้ ก็ผู้ใดมีใจไม่ได้อบรมในทางปัญญาอย่างนี้ มีจิตรไม่ได้เจริญอย่างนี้ ก็ย่อมรักชีวิตรมากกลัวความตายมาก ถึงจะแก่ชราทุพลภาพมีโรคมีภัยอย่างไรไปแล้ว ถ้ามีความปราถนาความมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ในใจ ความคิดก็ย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงแก่ความตายมากนัก ผู้ใดกลัวตายแล้ว ถ้าจะหลบหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้เข้าเคียงช้างร้าย เสือร้ายสัตว์ร้าย แลไม่ขึ้นไม้สูง ไม่ว่ายน้ำลึก ไม่แล่นเรือเล็กออกทเลฦก ไม่เข้าป่าเข้าดง เข้าศึกเข้าสงคราม แลการชกตีฟันแทงกับผู้อื่น แลไม่เข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืน ไม่กินสุรามาก ไม่กินยาร้ายยาแรง ไม่กินของแสลงเมื่อหน้าไข้หน้าเจ็บ แลไม่ประพฤติการผิดๆ ที่เปนเหตุจะให้ต้องราชทัณฑ์ การดังว่ามานั้น เปนการอันสมควรที่จะเห็นจริงด้วยกัน ว่าเปนทางที่จะหลีกหนีความตายอยู่แล้ว แต่ความกลัวของคนบางพวกยังยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถึงหลีกเลี่ยงดังว่ามานี้แล้วก็ยังมีความระแวงว่า ตัวตั้งอยู่ในที่ใกล้แห่งความตาย ยังพรั่นพรึงว่าอันตรายแห่งชีวิตรจะมีมา ยังคิดหาเครื่องกันความตายแลทางหลีกเลี่ยงอย่างอื่นอิกมากพ้นที่จะพรรณนาแต่การทั้งปวงนั้น ไม่อาจที่จะเห็นจริงพร้อมกันได้ แต่ในคำนักปราชญ์ที่สั่งสอนสืบมาในพระคัมภีร์ที่มีในพระพุทธสาสนา ที่เปนทางกรรมวาทกิริยวาทนั้น ท่านสรรเสริญทานบางอัน ศีลวัตรบางอย่าง กุศลกรรมบถบางตัว แลการขวนขวายบางทาง ภาวนาบางอารมณ์ บูชาบางวิธี ว่าเปนที่จะให้ออกผลให้อายุยืนในทิฏฐธรรมชาตินี้ แลสัมปรายภพชาติน่า แต่ที่จะห้ามความตายให้ขาดไม่ให้มีมานั้นไม่ได้ ถ้ายังเกิดเปนกายเปนใจอยู่ตราบใดก็คงยังต้องอยู่ในอำนาจความตายจะประหารอยู่ตราบนั้น ไม่มีใครพ้นเลย ถึงใครอายุยืนมากแล้วก็ไม่ไกลกว่าคนอายุสั้นนัก เหมือนไม้แก่นไกลกว่าต้นกล้วยต้นอ้อย ทานนั้นคือให้เครื่องกันอันตรายชีวิตรสัตว์ คือผ้าตรองน้ำเครื่องตรองน้ำแลอื่นๆ แลเครื่องอุดหนุนชีวิตรสัตว์คืออาหารแลสิ่งอื่นๆ แลยาฤๅเครื่องยารักษาไข้เจ็บ แลบริจาคทรัพย์จ้างหมอให้รักษาโรคต่าง แลเสียทรัพย์ช่วยให้สัตว์ที่ตายเร็วๆ ให้รอดตายไปคราวหนึ่งๆ ศีลนั้นคือเว้นจากปาณาติบาต แลวิหิงสาการเบียดเบียนท่านผู้อื่น แลเบียดเบียนสัตว์ กรรมบถนั้นคืออนภิชฌาอพยาบาท การที่ไม่มุ่งหมายทรัพย์สิ่งของๆ ท่านผู้อื่นด้วยความโลภ จนถึงแช่งให้ผู้นั้นตาย เพื่อประสงค์จะได้ของท่านมาเปนของตัว การขวนขวายนั้น คืออุสาหพยาบาลคนไข้ ขวนขวายหาหมอมารักษาคนไข้ แลขวนขวายหายาแลแต่งอาหารที่ชอบโรคให้คนไข้ แลให้กำลังช่วยผู้รักษาไข้เจ็บ แลภาวนาวิธีนั้น คือประกอบความเมตตากรุณาในผู้อื่นทั่วไปเสมอตัวแลผู้ที่เปนที่รักของตัว แลบูชาวิธีนั้นคือว่าด้วยการปฏิสังขรณ์ในวัดถุฐานที่บูชานับถือ แลที่อยู่ที่อาศรัยที่สำเร็จสุขประโยชน์ทั่วไป แก่ชนเปนอันมากนั้นๆ ให้เปนปรกติดำรงอยู่สิ้นกาลนาน การทั้งปวงดังกล่าวมานี้ท่านได้สรรเสริญว่าเปนเหตุจะให้สำเร็จเปนสภาพผล เปนเครื่องจะให้ชนมายุของสัตว์ยืนยาวในทิฏฐธรรมชาตินี้ แลสัมปรายภพชาติน่า ก็แต่การที่หลบผีหนีสางล้างจังไร ไม่เยี่ยมเยียนใกล้กลายผู้ตายผู้ไข้ หลีกเลี่ยงไปไม่ขอได้ยินข่าวไข้ข่าวตาย ด้วยกลัวว่าจะเปนอวมงคล ความร้ายความอุบาทว์ จะพลอยตามมาถึงตัวด้วยดังนี้ ก็ผู้ที่ถือความสอาดดังว่านี้เมื่อพิเคราะห์สืบไปก็เห็นว่าตายไปเนืองๆ ต้องให้คนที่คลุกคลีอยู่กับทรากศพกินนอนอยู่ในป่าช้าฝังเผาเสียเนืองๆ ไม่รู้ขาด เพราะการที่ถืออย่างนั้นไม่เห็นจริงพร้อมกัน แลไม่ถูกต้องตามคำนักปราชญ์ที่กล่าวสอนไว้ดังว่าแล้วในข้างต้นนั้น เพราะฉนั้นขอท่านผู้มีปัญญาจงรีบร้อนขวนขวายประพฤติการบุญการกุศลเปนความสุจริตให้มากด้วยกายวาจาแลใจโดยเปนการเร็ว เหมือนอย่างชนที่มีศีร์ษะเพลิงไหม้แล้วรีบร้อนจะดับไฟในศีร์ษะของตัวฉนั้น สรรพการกุศลทั้งปวงพึงส่ำสมทำให้พร้อมมูลในสันดาน ด้วยความไม่ประมาทด้วยประการทั้งปวง เทอญ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ