๒๒๑ ประกาศห้ามไม่ให้เชื่อถือข้าราชการเก่านอกตำแหน่ง

ณวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีกุนเบญจศก

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่คนทั้งปวงให้ทราบทั่วกันว่า ความปลาดๆ ต่างๆ คือเจ้านายแลขุนนางนอกตำแหน่งว่าการโรงศาล แลมิใช่ผู้รับสั่งให้ว่าความรับสั่งกระทำคุมเหงราษฎร ด้วยเกาะครองจองจำเฆี่ยนตีลงเงินทองฉุดลูกสาวแลอื่นๆ ในกรุงเทพฯ นี้ก็ดี ผู้รักษากรุงเก่าผู้สำเร็จราชการเมืองน้ำพระพิพัฒสัตยา เจ้าเมืองประเทศราชแลกรมการหัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือทั้งปวงรับแลเชื่อทำตามหนังสือแลข้าหลวงนอกตำแหน่งที่ได้บังคับหัวเมือง ไม่มีตราเจ้าพนักงานในตำแหน่งได้บังคับหัวเมืองนำไปแล้ว คุมเหงราษฎรด้วยการต่างๆ เกาะกุมกะเกณฑ์ฤๅแย่งชิงสิ่งใดๆ ของราษฎรเปนการนอกจากราชการในแผ่นดินใหญ่ ฤๅขัดขวางไม่ให้เจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีอากร ฤๅถึงกะเกณฑ์ตามบังคับในท้องตราเจ้าพนักงานก็เรียกให้เหลือเกินไป เจ้าภาษีนายอากรฉ้อราษฎรเรียกเหลือเกินพิกัดไปก็ดี การเช่นนี้ให้รีบมาร้องโดยเร็วๆ ทีเดียว ถ้าได้ความจริงจะพระราชทานรางวัล ตั้งแต่ ๕ ตำลึงขึ้นไป ๕ ชั่งลงมาตามความใหญ่แลน้อย แล้วจะปรับผู้ทำผิดแลผู้ว่าราชการหัวเมือง ซึ่งทำตามหนังสือไม่มีท้องตราเจ้าพนักงานนำนั้นให้ใช้จงเต็ม แล้วพินัยหลวงเท่าส่วนที่ ๕ ของเบี้ยใช้เปนรางวัลเปนค่าทรายถมสนามทหารด้วย.

ประกาศอันนี้นั้นผู้อ่านยังไม่เข้าใจ ซึ่งให้ประกาศนั้นประกาศด้วยความ ๒ อย่าง คือ มีผู้อ้างรับสั่งแลบัญชาเจ้าแขงนายแรงในกรุงเทพฯ ฤๅถือท้องตราแลหนังสือเจ้าพนักงานซึ่งเคยบังคับบัญชาหัวเมืองนั้นๆ ไม่มีตรานำ ออกไปทำเองฤๅบังคับผู้รักษาเมืองกรมการให้ทำตามรับสั่งเจ้าบัญชานาย ซึ่งมีนามมีชื่อเปนที่ตื่นที่หอมที่กลัวที่เกรงนั้นอย่างหนึ่ง คือเจ้าภาษีนายอากรแลผู้รับช่วงใช้เจ้าภาษีนายอากรไปเรียกภาษีอากรเกินพิกัดอัตรา แลทำคุมเหงราษฎรต่างๆ อย่างหนึ่ง ความสองอย่างนี้ ทรงพระราชดำริห์เห็นว่า ถ้าเกิดขึ้นในหัวเมืองใดๆ มีผู้มาร้องต่อผู้รักษาเมืองกรมการ ถ้าเปนความอย่างที่แรกผู้รักษาเมืองกรมการก็มักสทกเจ้าสท้านนายง่อนๆ แง่นๆ ไป มาร้องอุทธรณ์ในกรุงเจ้ากระทรวงทบวงการก็มักกลัวเจ้าเกรงนายง่อนๆ แง่นๆ ไปเหมือนกัน เพราะฉนั้นจึงประกาศให้ผู้ต้องพิพาทมาร้องในหลวงทีเดียว

ก็ความเรื่องเจ้าภาษีนายอากรนั้น เจ้าภาษีนายอากรมักอ้างอวดตัวว่าเปนผู้ขนทรายเข้าวัดมีตราตั้งแต่งออกไป ฝ่ายผู้รักษาเมืองกรมการก็ถือว่าเจ้าภาษีนายอากรไม่ได้อยู่ในอำนาจของตัว ครั้นจะว่าจะกล่าวก็เกรงผิดแลชอบ ว่าจะเปนอันตรายแก่การทำภาษีอากรเจริญพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังไป ฤๅเจ้าภาษีนายอากรเปนจีนมีเงินทองมักเข้าจุกยาแลเอาขาหมูขว้างผู้รักษาเมืองกรมการก็ง่อนแง่นไป ถึงมีผู้มาร้องอุทธรณ์ในกรุงเทพฯ เจ้ากระทรวงทบวงการผู้รับร้องทุกข์ร้องอุทธรณ์ ก็มักเกี่ยงเลี่ยงว่าเปนหน้าที่ของเจ้าจำนวนนั้นๆ ไปเกรงใจเจ้าจำนวนไม่ใคร่จะว่า ฝ่ายเจ้าจำนวนผู้ตั้งจีนเปนเจ้าภาษีนายอากรไปนั้น ก็มักประพฤติตัวเปนเจ้าของภาษีอากรนั้นๆ ช่วยปลดช่วยเปลื้องช่วยแก้ช่วยไขไป ไม่ใคร่จะเมตตากรุณาแก่ราษฎร ทรงพระราชวิตกดังนี้ จึงได้ประกาศไว้ดังก่อนนั้น ในความแลการสองอย่างเท่านี้ ให้มาร้องในหลวงทีเดียว ก็ในความเรื่องอื่นๆ นอกจากการรับสั่งของเจ้าแขงนายแรง ฤๅท้องตราแลหนังสือนอกตำแหน่งอย่างหนึ่ง เจ้าภาษีนายอากรเก็บภาษีอากรเกินพิกัดอย่างหนึ่ง เปนสองอย่างด้วยกันนี้แล้ว กฎหมายเดิมก็บังคับว่าให้ร้องอุทธรณ์หน้าโรงก่อน ถ้าไม่สำเร็จก็ให้มาฟ้องอุทธรณ์ในกรุงเทพฯ ตามกระทรวงทบวงการ แลมีคำประกาศเดิมว่า ถ้าผู้ต้องพิพาทนั้นเปนผู้อยู่ในราชการ ฤๅข้าเจ้าบ่าวขุนนางที่มีเจ้าขุนมูลนายจะอุดหนุนช่วยไม่ให้ป่วยการใช้สอย จะเข้าไปหาเองฤๅมีผู้พาเข้าไปหา ฯ พณ ฯ สมุหนายกสมุหพระกลาโหมกรมท่าตามหัวเมืองที่ขึ้นนั้น ถ้า ฯ พณ ฯ ทั้งสามรับแลมีบัญชาให้ผู้ใดชำระก็ชำระได้ เมื่อชำระได้ความอย่างไรแล้ว มีบัญชาสั่งให้ส่งลูกขุนแลผู้ปรับให้ปฤกษาแลปรับปรุงก็ปฤกษาแลปรับปรุงตลอดไปได้ กฎหมายเดิมแลคำประกาศนี้จะได้เลิกถอนเสียก็หามิได้ นอกจากการสองเรื่องที่ว่ามาข้างต้น แลการอื่นใหญ่ๆ ที่จะว่าไปในประกาศนี้นั้นแล้วก็คงอยู่ตามเดิม แต่การสองเรื่องแลการใหญ่ซึ่งจะว่าไปในประกาศนี้ เมื่อจะมาร้องต่อในหลวงทีเดียวก็ได้ การนอกนั้นเมื่อความอุทธรณ์หน้าโรงแล้วไม่สำเร็จเข้ามาร้องอุทธรณ์ในกรุงเทพฯ ไม่มีผู้ไปเบิกความเข้ามาก็ดี ฤๅเบิกความเข้ามาแล้วพิจารณาไม่เปนธรรมก็ดี เมื่อความกราบเรียน ฯ พณ ฯ ทั้งสามแล้ว ผู้รับบัญชาชำระไม่เปนธรรม เมื่อคู่ความร้องทุกข์แต่ ฯ พณ ฯ ไม่ชำระให้ตลอดไปแลไม่ตัดสินให้แล้วก็ดี จึงควรทำเรื่องราวมาร้องในหลวง กล่าวโทษเจ้ากระทรวงในกรุงเทพฯ แลตระลาการที่ ฯ พณ ฯ บังคับให้ว่านั้น เมื่อเปนดังนี้ในหลวงจึงจะชำระไต่ถามให้ แลคำซึ่งว่าไว้ข้างต้นว่าการใหญ่นั้น คือการที่แต่ก่อนบางทีเคยเปนแต่ว่าห่างๆ คือ เจ้าเมืองกรมการบางเมืองที่ไกลๆ คิดเอาใจออกห่างไปสวามิภักดิ์แก่ไทยต่างด้าวท้าวต่างแดน ฤๅตื่นนับถือผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งอ้างอวดผู้มีบุญมีฤทธิ์เดชฤๅวิชาความรู้ทำให้ราษฎรตื่นเล่าฦๅกัน แล้วมั่วสุมประชุมเข้านับถือจนจะเปนขบถเจ้าก็ดี ฤๅเมืองใดเอาข่าวร้ายในกรุงเทพฯ ไปกล่าว แล้วก็เชิดชูชื่อเสียงเจ้าอื่นนายใดนอกจากพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ครองแผ่นดินอยู่แล้ว ก็ตระเตรียมการหันเหจะเอาใจออกหากจากพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ที่ครองแผ่นดินอยู่นั้นก็ดี การที่เปนดังว่ามานี้ ควรเห็นว่าหัวเมืองนั้นเปนขบถ เมื่อผู้ใดซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินใหญ่โดยสุจริตไม่เข้าด้วย ทำเรื่องราวมายื่นต่อ ฯ พณ ฯ ที่บังคับหัวเมืองนั้นก็ได้ จะมาร้องถวายฎีกาทีเดียวก็ได้ จงว่าแต่ที่จริงๆ อย่าให้เกินไป อย่างหนึ่งผู้สำเร็จราชการแลกรมการเมืองใดสูบฝิ่นกินสุรามากนัก ทำกันโชกคุมเหงราษฎรให้ได้รับความเดือดร้อนหลายเรื่องหลายราย จนถึงราษฎรยกอพยบหลบหลีกหนีหายไปอยู่เสียบ้านอื่นเมืองอื่น เห็นประจักษ์นับเรือนนับครัวได้ เมื่อการร้อนโตใหญ่อย่างนี้บังเกิดขึ้นในหัวเมือง เมื่อผู้ใดเห็นแก่แผ่นดินจะทำเรื่องราวมายื่นต่อ ฯ พณ ฯ ที่บังคับหัวเมืองนั้นๆ ก็ดี ร้องในหลวงก็ดีก็ได้ เพื่อจะรักษาราษฎรไม่ให้อพยพหลบหลีกหนีไป แต่ถ้าเปนความร้อนน้อยๆ ไม่ถึงราษฎรอพยบหลบลี้หนีหายทิ้งบ้านเรือนภูมิ์ลำเนาแล้ว คดีของผู้ใดก็ให้เจ้าคดีฟ้องร้องอุทธรณ์หน้าโรง อุทธรณ์ในกรุงเทพฯ ตามกฎหมายธรรมเนียมเดิม ฤๅกราบเรียน ฯ พณ ฯ ที่ว่าหัวเมืองนั้นๆ ตามคำประกาศ จงว่าแต่ในคดีของตัวๆ ห้ามมิให้ผู้ใดผู้หนึ่งเปนเจ้าถ้อยหมอความ เที่ยวยุยงแลรับอาษาราษฎร แลเก็บเอาคดีของผู้อื่นมาฟ้องร้องว่ากล่าวยุ่งยิ่งไป

ประกาศมาณวันอังคาร เดือน ๑๒ แรม ๖ ค่ำ ปีกุนเบญจศก ศักราช ๑๒๒๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ