๒๑๖ ประกาศมหาสงกรานต์ ปีกุนเบญจศก

มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่ชนทั้งปวง บรรดาที่นับถือพระพุทธสาสนา แลธรรมเนียมปีเดือนวันคืนอย่างเช่นใช้ในเมืองไทยให้รู้ทั่วกันว่า ในปีกุนเบญจศกนี้ วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำ เปนวันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์จะขึ้นสู่ราศีเมษ ในเวลาย่ำรุ่งแล้ว ๔๘ นาที วันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๑๐ ค่ำ เปนวันเนาว์ วันอังคาร เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ เปนวันเถลิงศก ขึ้นศักราชใหม่เปน ๑๒๒๕ ในเวลาเช้า ๔ โมง ๒๖ นาที กับ ๒๔ วินาที เพราะฉนั้นในปีนี้การทำบุญแลเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์เปน ๓ วันตามเคยมีโดยมาก ปีนี้สงกรานต์นามกรอย่างไร ทรงพาหนะอะไร ภักษาหารอะไร ถืออะไร จะว่ามาก็ไม่ต้องการ ใครจะใคร่ทราบก็มาดูรูปที่เขียนแขวนไว้ในพระบรมมหาราชวังเทอญ

ลักษณจดหมายวันคืนเดือนปีใช้ดังนี้ คือตั้งแต่วันศุกร เดือน ๕ ขึ้นค่ำ ๑ ไปจนถึงวันจันทร์ เดือน ๕ แรม ๑๐ ค่ำ จดหมายลงชื่อปีในที่ทั้งปวง ให้ว่าปีกุนยังเปนจัตวาศก ถ้าจดจุลศักราชให้คงเปน ๑๒๒๔ อยู่ ตั้งแต่วันอังคาร เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ ไปจนถึงวันพุธ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ ซึ่งเปนวันตรุษสุดปีนั้น ให้ใช้ว่าปีกุนเบญจศก ลงเลขจุลศักราช ๑๒๒๕ แก้เลข ๑๒ ตามปีแผ่นดินซึ่งเขียนไว้บนศกนั้น เมื่อเปลี่ยนเบญจศกแล้วให้เขียนเปนเลข ๑๓ ไปกว่าจะเปลี่ยนศกใหม่เถิด

ในปีกุนเบญจศกนี้ วันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำวันหนึ่ง วันเสาร์ เดือน ๑๐ แรม๑๓ ค่ำวันหนึ่ง เปนวันประชุมถือน้ำพระพิพัฒสัตยา วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เปนวันจะทำพระราชพิธีจรดพระนังคัล ให้ราษฎรลงมือทำนาภายหลังวันนั้น คือตั้งแต่วันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำไป ห้ามมิให้ลงมือทำนาก่อน ฤๅในวันนั้นตลอดพระราชอาณาเขตร

ในปีนี้ฤกษ์วิสาขบุรณมีไม่สู้เรียบร้อยสนิท เพราะหวุดหวิดกับอธิกมาสซึ่งมีในปีที่ ๑๙ เปนปลายระยะเมื่อเที่ยงคืน วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ฤกษ์ก็เปนแต่ ๑๔ มีเศษใกล้ ๑๕ แต่ตามปักษคณนา วันนั้นเปนวันที่ ๑๔ มีในปลายปักษ์ขาด แลตามดิถีที่ทำแต่สมผุดลบเปนเพียนดิถีก็เปน ๑๔ มีเศษนาที ต่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ ฤกษ์เปน ๑๕ มีเศษนาทีใกล้ ๑๖ ดิถีก็เปน ๑๕ มีเศษ ถ้าจะดูดวงพระจันทร์ก็จะเห็นกลมสนิทในวันนั้น ครั้นเมื่อวันอาทิตย์เดือน ๗ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ดิถี ๑๕ นาทีแก่จวน ๑๖ ก็วันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ดิถีเต็ม ๑๕ ฤกษ์เต็ม ๑๗ เสียแล้วในเวลาเที่ยงคืน เพราะดังนี้เห็นว่า ถ้าจะทำวิสาขบูชาในวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แลวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ นั้นจะเปนดี ว่าโดยธรรมเนียมหยาบๆ ปีไม่มีอธิกมาสวิสาขบูชาคงอยู่ในกลางเดือน ๖ ทุกเมื่อ แต่พระจันทร์บางทีก็เต็มใน ๑๔ ค่ำบ้าง ๑๕ ค่ำบ้าง แรมค่ำ ๑ บ้าง แรม ๒ ค่ำก็มีบ้าง ในปีมีอธิกมาสที่เปนที่ ๓ แต่ปีที่มีอธิกมาสแล้วแต่หลัง ฤกษ์วิสาขบุรณมีคงในกลางเดือน ๗ เปนแน่ แต่ในปีมีอธิกมาสเปนปีที่ ๒ แต่ปีซึ่งมีอธิกมาสมาแล้วแต่หลัง ฤกษ์วิสาขบุรณมีต้องคงอยู่ในกลางเดือน ๖ เหมือนอย่างปีนี้ แต่ฤกษ์แลดิถีตามสมผุดนั้นลางทีก็สนิทลางทีก็ไม่สนิท เพราะอุจแลนิตย์ของจันทร์ทำให้ซัดไปเซมา ในพระบรมมหาราชวังนี้ จะมีการสมโภชพระมหาเสวตรฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท วันศุกร เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม วันอาทิตย์ เดือน ๖ แรมค่ำ ๑ เปนมงคลสำหรับพระราชวังตามปี ในปีกุนเบญจศกนี้ มีอธิกมาสเดือน ๘ เปน ๒ หน เปนเดือนถ้วนทั้ง ๒ เดือน เมื่อเขียนเลขครุเดือน ๘ ก่อน เขียนเลข ๘ เลขเดียวแล้วกาหมายไว้ข้างล่างดังตัวอย่างนี้  ให้รู้ว่าจะมีเดือน ๘ หลัง ในเดือน ๘ หลังนั้นเขียนเลข ๘ เปน ๒ ซ้อนกันไว้ท้ายครุดังตัวอย่างนี้ เถิด วันศุกร เดือน แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปุริมพรรษา วันอาทิตย์ เดือน ๙ แรมค่ำ ๑ เปนวันเข้าปัจฉิมพรรษา วันอังคาร เดือน ๑๑ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เปนวันมหาปวารณา คนฟั่นๆ เฟือนๆ ไหลๆ เล่อๆ จำการหลังไม่ได้อย่าตื่นถามกันว่าทำไมปีนี้จึ่งเปนเดือน ๘ สองหนเล่าเร็วนัก แต่ก่อนดูเหมือนเว้นว่างสามปี ๆ จึงมีอธิกมาสคราวหนึ่งมิใช่ฤๅ อย่าสงสัยอย่างนั้นเลย เคยมาแต่หลังใช้อธิกมาสตามคราวอย่างนี้แล ใน ๑๙ ปีมีอธิกมาส ๗ ครั้ง จัดเปนระยะๆ คือมีอธิกมาส ในปีที่ ๓ ที่ ๖ ที่ ๙ ที่ ๑๑ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ ที่ ๑๙ ระยะเช่นนี้นับแต่ปีเถาะนพศก ศักราช ๑๑๖๙ มาจนปีระกาสัปตศก ศักราช ๑๑๘๗ เปนระยะหนึ่ง นับแต่ปีจออัฐศก ศักราช ๑๑๘๘ มาจนปีมะโรงฉศก ศักราช ๑๒๐๖ เปนระยะหนึ่ง นับแต่ปีมะเสงสัปตศก ศักราช ๑๒๐๗ มาจนปีกุนเบญจศก ศักราช ๑๒๒๕ นี้สิ้นอิกระยะหนึ่ง ปีนี้เปนปีที่ ๑๙ ต้องมีอธิกมาส ว่าโดยสังเขปอธิกมาสเว้น ๒ ปีบ้าง ปี ๑ บ้างก็เคยมีใช้มาอย่างนี้แต่โบราณมาอย่าสนเท่ห์เลย

พระราชพิธีจองเปรียงในปีกุนเบญจศกนี้ ยกโคมในวันพุธ เดือน ๑๒ ขึ้นค่ำ ๑ ลดโคมในวันศุกร เดือน ๑๒ แรม ๒ ค่ำ ให้พระราชวงศานุวงศ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทแลราษฎรบรรดาซึ่งจะได้ยกโคมลดโคมได้รู้ตามกำหนดนี้

ณวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรมค่ำ ๑ เปนวันชีพ่อพราหมณ์จะได้ทำพระราชพิธีกฤติเกยาณหอพระเทวสถาน พระราชพิธีคเชนทรัศวสนาน ๒ ครั้ง แลพระราชพิธีสารท แลพระราชพิธีตรียัมพวายตรีปวาย แลพระราชพิธีสัมพัจฉรฉิน คงทำในวันคืนขึ้นแรมนั้นๆ ตามเคยเหมือนอย่างทุกปี

ในปีกุนเบญจศก วังอังคารเปนธงไชยเปนวันดี วันจันทร์เปนวันอุบาสน์ วันเสาร์เปนวันโลกาวินาศ ห้ามฤกษ์แลการมงคลทั้งปวง

ในปีนี้มาฆบุรณมีตกในวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ท่านผู้ประโยชน์ด้วยการกุศล ถ้าจะทำพิธีมาฆบูชา ให้ต้องตามลัทธิในคัมภีร์อรรถกถากล่าวนิยมไว้ว่า เปนวันที่ชุมนุมพระสาวกผู้เปนขีณาสพอรหันต์ ๑๒๕๐ เปนมหาสมาคมใหญ่ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในที่สมาคมนั้น ในปีนี้ควรจะทำในวันอาทิตย์ เดือน ๓ ขึ้น ๑๔ ค่ำ

ในปีกุนเบญจศกนี้ วันอุโบสถเปนที่รักษาศีลอุโบสถ แลมีมหาธรรมสวนะซึ่งผิดกับวันที่นับว่าวันอุโบสถฤๅวันพระตามเคยรู้อยู่ด้วยกันในชาวสยามทั้งปวงนั้นมีอยู่ ๔ วัน คือวันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้นค่ำ ๑ วันอาทิตย์ เดือน ๖ ขึ้น ๙ ค่ำ วันอังคาร เดือน ๘ ขึ้นค่ำ ๑ วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๙ ค่ำ เท่านี้ เปนวันรักษาอุโบสถแลธรรมสวนะโดยตรง เพราะในปักษ์ข้างแรมในเดือน ๕ แลเดือน ๗ ทั้งสองนั้นเปนปักษ์ถ้วน มีวันเปน ๑๕ วันตามวิธีปักษคณนา มิใช่ปักษ์ขาด วันอุโบสถแลวันธรรมสวนะนอกจาก ๔ วันนี้แล้วก็คงต้องกัน คือในวันขึ้น ๘ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แลขึ้น ๑๕ ค่ำ แลแรม ๑๕ ค่ำ ฤๅแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาดทุกเดือนตลอดชั่วปีใหม่ไม่ยักเยื้องอะไร

อนึ่งวันเวลาพระอาทิตย์ยกเปลี่ยนขึ้นราษีใหม่ซึ่งเรียกว่าสงกรานต์เดือนในปีกุนเบญจศกนี้ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราษีเมษ ตั้งแต่วันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๙ ค่ำเวลารุ่งแล้ว๔๘ นาที อยู่จนวันอังคาร เดือน ๖ แรม ๑๐ ค่ำเวลา ๑๐ ทุ่มกับ ๔๘ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีพฤษภจนวันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๑๒ ค่ำ เวลาบ่าย ๒ โมง ๒๔ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีเมถุน จนวันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๕ ค่ำเวลาย่ำรุ่งแล้ว ๒๔ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีกรกฎ จนวันเสาร์ เดือน ๙ ขึ้นค่ำ ๑ เวลาย่ำค่ำแล้ว ๒๔ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีสิงห์ จนวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๓ ค่ำ เวลาทุ่มหนึ่งกับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีกันย์ จนวันศุกร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๒ โมง แล้วยกไปอยู่ราษีตุลย์ จนวันเสาร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลา ๑๑ ทุ่มกับ ๑๒ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีพิจิก จนวันจันทร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๕ โมงกับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีธนู จนวันอังคาร เดือนยี่ขึ้น ๔ ค่ำ เวลา ๗ ทุ่ม กับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีมังกร จนวันพฤหัสบดี เดือน ๓ ขึ้น ๔ ค่ำเวลาเช้า ๔ โมง แล้วยกไปอยู่ราษีกุมภ์ จนวันศุกร์ เดือน ๔ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลา ๑๑ ทุ่มกับ ๓๖ นาที แล้วยกไปอยู่ราษีมิน จนวันอาทิตย์ เดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีชวดยังเปนเบญจศก

แลซึ่งกล่าวมานี้ เพื่อจะให้ท่านทั้งปวงได้รู้เทียบเคียงน้ำฝนแลน้ำมากน้ำน้อย ในปีหลังกับปีประจุบันนี้เปนประโยชน์ เพราะการซึ่งจะเทียบเคียงนั้น จะคิดแต่ง่ายๆ สั้นๆ แต่เพียงเดือนต่อเดือน คือเดือน ๗ เดือน ๘ ในปีหลัง มาเทียบกับเดือน ๗ เดือน ๘ ในปีนี้ แลเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ในปีหลัง มาเทียบกับเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ ในปีนี้ ดังนี้จะเอาเปนแน่ไม่ได้ ต้องเทียบเดือนตามระยะพระอาทิตย์ยกดังกล่าวแล้วจึงเปนแน่ได้

อนึ่งท่านผู้ต้องการจะหาฤกษ์ดีวันดี เมื่อรู้วันพระอาทิตย์ยกเปนวันห้ามการมงคลทั้งปวงจะได้หลีกเลี่ยงเสียแล้ว จะได้ประพฤติการมงคลในวันอื่นๆ นอกจากวันดังว่านี้

ในปีกุนเบญจศกนี้ ว่าทั่วไปทั้งมนุษย์โลก จะมีจันทรุปราคาแลสุริยุปราคาอย่างละ ๒ ครั้ง ห้ามฤกษ์ตั้งแต่วันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ ไปจนวันจันทร์ เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ แลตั้งแต่วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ แรม ๙ ค่ำไปจนวันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ แรม ๗ ค่ำ ทำมงคลไม่สู้ดี แลสุริยุปราคา ๒ ครั้งจันทรุปราคาครั้ง ๑ ในบ้านเมืองฝ่ายไทยนี้จะไม่เหนเลย จะเห็นได้แต่จันทรุปราคาครั้ง ๑ จะมีวันจันทร์ เดือน ๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ จะจับเวลา ๔ นาฬิกา กับ ๓๑ นาทีแต่เที่ยงคืน คิดเปนเวลาตี ๑๑ ทุ่ม ในฤดูนั้นจะจับทิศอาคเณแล้วจะจับมากเข้าไปจนเกือบค่อนดวง พระจันทร์ก็จะลับ จะจับสิ้นดวงต่อเวลา ๖ นาฬิกากับ ๓๕ นาทีแต่เที่ยงคืน คิดเปนเวลาย่ำรุ่งแล้วเกือบโมง ๑ เมื่อสิ้นดวงแลต่อนั้นไปเมื่อคืนคายในเมืองนี้จะไม่เห็น จันทรุปราคาครั้งนี้เปนระดูฝน ถ้าเมฆมืดในท้องฟ้าก็จะไม่เห็น ดวงพระจันทร์ก็จะคล้อยต่ำจวนตกแล้ว เวลาจวนรุ่งกำลังคนมัวนอน ถ้าไม่คอยดูก็จะไม่เห็น แต่ที่จริงนั้นจะเปนแน่แท้

เมื่อวันคืนเดือนปีล่วงไปๆ ดังนี้ อายุของมนุษยชนในโลกทั้งปวงณกาลบัดนี้มีประมาณเพียงแปดสิบปี แลต่ำลงมากว่าแปดสิบปีนั้นก็หมดไปสิ้นไป ใกล้ต่อเวลาที่จะถึงแก่ความตายเข้าไปทุกวันๆ ด้วยกันทุกคนๆ ความตายนั้นไม่เลือกหน้าว่าผู้ใดๆ เปนคนจนคนมีผู้ดีแลไพร่เปนคฤหัสถ์บรรพชิตไม่มีใครล่วงพ้นจากความตายนั้นได้เลย ก็แลสัตว์ทั้งปวงคนทั้งปวงมีชีวิตของตัวเปนที่รักหมดด้วยกัน กลัวตายไม่อยากตายโดยมากเปนธรรมดา แต่ว่าหาเสมอกันไม่ ลางคนได้ความทุกข์ความยากมากเบื่อหน่ายในชีวิตของตัวบ้าง คลั่งไคล้ฟั่นเฟือนเห็นวิปริตไปต่างๆ บ้าง ศรัทธาล้นเหลือเฟือฟายคิดจะทำบุญด้วยชีวิตบ้าง ผูกฅอตายเชือดฅอตายกินยาตายแลเผาตัวเสียก็มี ฤๅอวดกล้าหาญแขงแรงเกินประมาณไป ขึ้นไม้สูงแลเข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืนแลเข้าปล้ำปลุกกับสัตว์ร้ายว่ายน้ำฦก แล่นเรือเล็กฝ่าคลื่นฝ่าลม แลเข้าชกต่อยตีรันฟันแทงแย้งยิงกับผู้อื่น ไม่อาลัยในชีวิตคิดว่าตายไหนตายลง ฤๅกล้าเสพสุรามากเกินประมาณ ฤๅกินยากล้าแรงยิ่งนักด้วยอยากจะให้โรคหายเร็ว คนเช่นนี้ลางทีก็เพลี่ยงพล้ำทำให้ชีวิตตัวเสียไปก็มีบ้าง ถึงกระนั้นมีอยู่ห่างๆ ก็ผู้ที่รักชีวิตไม่อยากตายกลัวตายนั้นมีโดยมาก ถึงกระนั้นลางคนยากจนไม่มีทรัพย์สินเย่าเรือนเคหาบุตรภรรยาซึ่งเปนที่ห่วงไยอาลัย แลเห็นว่าชาติสกุลตัวต่ำ พาหนะเปนกำลังก็ไม่มี สติปัญญาตัวก็น้อย อายุแลวัยก็ล่วงไปมากแล้ว ก็บ่นอยู่อึงๆ ว่าจะอยู่ก็อยู่จะตายก็ตายตามแต่กำลังบุญแลบาป ฤๅตามแต่ผีสางเทวดาจะอนุเคราะห์แลไม่อนุเคราะห์ดังนี้ ก็มีโดยมาก ก็ในผู้ที่มีห่วงใยที่อาลัยอาวรณ์โตใหญ่นั้นเล่า บางพวกก็มีปัญญาอันอบรมด้วยพระไตรลักษณปัญญา เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา รู้ว่าเกิดมาคงถึงแก่ความตายไม่เที่ยง แลการทั้งปวงย่อมแปรผันไปต่างๆ ในชีวิตสัตว์ทั้งปวงแล้วความทุกข์เปนพื้น ความสุขเปนดอกดวงมีแต่ละเมื่อละขณะ ถึงเวลาปลายคงกลายลงหาทุกข์ ความสุขที่ได้แล้วฤๅที่หมายว่าจะได้คงจะกลับมาเปนอารมณ์แก่ใจให้เกิดความเศร้าโศกทุกข์โทมนัสมากในเวลานั้น สรรพสิ่งทุกข์ในตัวนอกตัว ไม่เปนตนไม่อยู่ในใต้อำนาจความอยากความปราถนา ผู้ใดปลงปัญญาเห็นดังนี้จริงๆ ผู้นั้นถึงมีห่วงใยที่อาลัยอาวรณ์มาก ก็อาจไว้อัธยาศรัยเปนกลางๆ อยู่ได้ ก็ผู้ใดมีใจไม่ได้อบรมในทางปัญญาอย่างนี้ มีจิตรไม่ได้จำเริญอย่างนี้ ก็ย่อมรักชีวิตมาก กลัวความตายมาก ถึงจะแก่ชราทุพลภาพมีโรคมีภัยอย่างไรไปแล้ว ถ้ามีความปราถนาความมุ่งหมายอย่างหนึ่งอยู่ในใจความคิด ก็ย่อมหวาดหวั่นพรั่นพรึงแต่ความตายมากนัก ผู้ใดกลัวตายแล้ว ถ้าจะหลบหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้เข้าเคียงช้างร้ายเสือร้ายสัตว์ร้าย แลไม่ขึ้นไม้สูงไม่ว่ายน้ำฦกไม่แล่นเรือเล็กออกทเลฦก ไม่เข้าป่าเข้าดงเข้าศึกเข้าสงคราม แลการชกตีฟันแทงกับผู้อื่น แลไม่เข้าใกล้ไฟใกล้ดินปืน ไม่กินสุรามากไม่กินยาร้ายยาแรงไม่กินของแสลงเมื่อหน้าไข้หน้าเจ็บ แลไม่ประพฤติการผิดๆ ที่เปนเหตุจะให้ต้องราชทัณฑ์ การดังว่ามานี้นั้น เปนการอันสมควรที่จะเห็นจริงด้วยกัน ว่าเปนทางที่จะหลีกหนีความตายอยู่แล้ว แต่ความกลัวของคนบางพวกยังยิ่งขึ้นไปกว่านี้ ถึงหลีกเลี่ยงดังว่ามานี้แล้ว ก็ยังมีความระแวงว่าตัวตั้งอยู่ในที่ใกล้แห่งความตาย ยังพรั่นพรึงว่าอันตรายแห่งชีวิตจะมีมา ยังคิดหาเครื่องกันความตาย แลทางหลีกเลี่ยงอย่างอื่นอิกมากพ้นที่จะพรรณา แต่การทั้งปวงนั้นไม่อาจที่จะเห็นจริงพร้อมกันได้ แต่ในคำนักปราชญ์ที่สั่งสอนสืบมา ในพระคัมภีร์ที่มีในพระพุทธศาสนา ที่เปนทางกรรมวาทกิริยวาทนั้น ท่านสรรเสริญทานบางอัน ศีลวัตรบางอย่าง กุศลกรรมบถบางตัว แลการขวนขวายบางทาง ภาวนาบางอารมณ์ บูชาบางวิธี ว่าเปนที่จะให้ออกผล ให้อายุยืนในทิฏฐธรรมชาตินี้ แลสัมปรายภพชาติหน้า แต่ที่จะห้ามความตายให้ขาดไม่ให้มีมานั้นไม่ได้ ถ้ายังเกิดเปนกายเปนใจอยู่ตราบใด ก็คงยังต้องอยู่ใต้อำนาจความตายจะประหารอยู่ตราบนั้นไม่มีใครพ้นเลย ถึงใครอายุยืนมากแล้ว ก็ไม่ไกลกว่าคนอายุสั้นนัก เหมือนไม้แก่นไกลกว่าต้นกล้วยต้นอ้อย ทานนั้นคือให้เครื่องกันอันตรายชีวิตสัตว์ คือผ้าตรองน้ำเครื่องตรองน้ำแลอื่นๆ แลเครื่องอุดหนุนชีวิตสัตว์คืออาหารแลสิ่งอื่นๆ แลยาฤๅเครื่องยารักษาไข้เจ็บ แลบริจาคทรัพย์จ้างหมอให้รักษาโรคต่างๆ แลเสียทรัพย์ช่วยให้สัตว์ที่จะตายเร็วๆ ให้รอดตายไปคราวหนึ่งๆ ศีลนั้นคือเว้นจากปาณาติบาต แลวิหิงสาการเบียดเบียนท่านผู้อื่นแลเบียดเบียนสัตว์ กรรมบถนั้นคืออนภิชฌาอพยาบาท การที่ไม่มุ่งหมายทรัพย์สิ่งของของท่านผู้อื่นด้วยความโลภ จนถึงแช่งให้ผู้นั้นตาย เพื่อประสงค์จะได้ของท่านมาเปนของตัว การขวนขวายนั้น คืออุสาหะรักษาพยาบาลคนไข้ ขวนขวายหาหมอมารักษาคนไข้แลขวนขวายหายา แลแต่งอาหารที่ชอบโรคให้คนไข้ แลให้กำลังช่วยผู้รักษาไข้เจ็บ แลภาวนาวิธีนั้นคือประกอบความเมตตากรุณาในผู้อื่นทั่วไปเสมอกับตัว แลผู้ที่เปนที่รักของตัว แลบูชาวิธีนั้นคือว่าด้วยการปฏิสังขรณ์ในวัดถุสถานที่บูชานับถือ แลที่อยู่ที่อาศรัยที่สำเร็จสุขประโยชน์ทั่วไปแก่ชนเปนอันมากนั้นๆ ให้เปนปรกติดำรงอยู่สิ้นกาลนาน การทั้งปวงดังกล่าวมานี้ท่านได้สรรเสริญว่าเปนเหตุจะให้สำเร็จเปนสภาคผล เปนเครื่องจะให้ชนมายุของสัตว์ยืนยาวในทิฏฐธรรมชาตินี้แลสัมปรายภพชาติหน้า ก็แต่การที่หลบผีหนีสางร้างจังไรไม่เยี่ยมเยียนใกล้กลายผู้ตายผู้ไข้ หลีกเลี่ยงไปไม่ขอได้ยินข่าวไข้ข่าวตาย ด้วยกลัวว่าจะเปนอวมงคล ความร้ายความอุบาทว์จะพลอยตามมาถึงตัวด้วยดังนี้ ก็ผู้ที่ถือความสอาดดังว่านี้ เมื่อพิเคราะห์สืบสาวไปก็เห็นว่าตายไปๆ ต้องให้คนที่คลุกคลีอยู่กับทรากศพกินนอนอยู่ในป่าช้าฝังเผาเสียเนืองๆ ไม่รู้ขาด เพราะการที่ถืออย่างนั้นไม่เห็นจริงพร้อมกัน แลไม่ถูกต้องตามคำนักปราชญ์ที่กล่าวสอนไว้ดังว่าแล้วในข้างต้นนั้น

เพราะฉนั้นขอท่านผู้มีปัญญา จงรีบร้อนขวนขวายประพฤติการบุญการกุศล เปนความสุจริตให้มากด้วยกายวาจาแลใจโดยเปนการเร็ว เหมือนอย่างชนที่ศีร์ษะเพลิงไหม้แล้วรีบร้อนจะดับไฟในศีร์ษะของตนฉนั้น สรรพการกุศลทั้งปวงพึงส่ำสมทำให้พร้อมมูลในสันดาน ด้วยความไม่ประมาทด้วยประการทั้งปวงเทอญ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ