๗๙ ประกาศว่าด้วยกลับตั้งอากรค่าน้ำและลดค่านาคู่โค

(ณวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก)

มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศแก่ราษฎรทั้งปวงให้รู้ทั่วกันว่า ในแผ่นดินพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนทุกพระองค์แต่โบราณสืบมา ย่อมมีเยี่ยงอย่างแบบแผนตั้งให้นายอากรเรียกอากรค่าน้ำ เก็บแต่ราษฎรบรรดาที่หาปลาในทเลแม่น้ำลำคลองบึงบางที่เปนทางน้ำไหล และห้วยหนองน้ำ บรรดามีในพระราชอาณาจักร์ โดยพิกัดให้เก็บตามกำหนดเครื่องมือใหญ่แลน้อยแรงและอ่อนต่างๆ กัน พิกัดต่างๆ นั้นมียั่งยืนแจ้งอยู่ในท้องตราเคยมีมาแต่ก่อนนั้นแล้ว จำนวนเงินค่าน้ำซึ่งนายอากรเก็บได้แล้วและส่งเข้าท้องพระคลังแต่ก่อนนั้นปีหนึ่งถึง ๗๐๐ ชั่งเศษ มาจนต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเพลิดเพลินไปในการพระราชกุศลมากนัก จึงทรงสืบทราบว่านายอากรไปเก็บอากรค่าน้ำแล้วตัดตอนขายหนองคลองบึงบางเปนคลองเขินให้แก่ราษฎรเปนเจ้าของที่ต่างๆ จึงผู้ซึ่งซื้อตอนทั้งปวงนั้น ปิดทำนบลงกระบังรังเฝือกกั้นคลองบึงบางรุกรวมเอาปลากักขังไว้ในส่วนของตัวๆ ปลาจะว่ายไปมาตลอดไปในที่มีน้ำทั้งปวงตามธรรมดาก็ไม่ได้ คนที่มีประโยชน์จะเดินเรือก็เดินไม่ได้ จึงทรงพระมหากรุณากับปลาว่าเปนสัตว์มีชีวิต อย่าให้ต้องติดกักขังจำตายเลย และให้คนที่มีประโยชน์เดินเรือไปมาได้คล่อง ไม่ต้องเขนข้ามทำนบและเฝือกเปนเหตุให้มีการฉะเลาะวิวาทกันนั้นด้วย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงไปเปิดทำนบและกระบังรังเฝือกที่กั้นหนองคลองเข้าบึงบางเปนคลองเขินทั้งปวงนั้นเสีย และห้ามปรามราษฎรไม่ให้ลงกระบังรังเฝือกดังนั้นต่อไป แล้วให้ประกาศแก่นายอากรว่า บัดนี้ให้เลิกปิดกระบังรังเฝือกเสียทุกแห่งแล้ว ตั้งแต่นี้ไปให้นายอากรเก็บค่าน้ำต่อไปแต่โดยพิกัดตามเครื่องมืออย่างเดียว อย่าตัดตอนขายต่อไปเลย เมื่ออากรจะขาดสักเท่าไร ก็ให้นายอากรมาร้องขาดเถิดจะลดให้ ฝ่ายนายอากรก็มาร้องขาด ให้ลดอากรลงปีหนึ่ง ๓๐๐ ชั่งเศษ คงเงินอากรอยู่แต่ปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษ ครั้นภายหลังยังทรงรังเกียจกลัวบาปต่อไป ด้วยทรงแคลงว่าเพราะมีค่าน้ำคนจึงหาปลามากขึ้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมอิกครั้งหนึ่ง ให้ยกอากรค่าน้ำที่เคยเรียกได้เปนเงินอากรเพียงปีละ ๔๐๐ ชั่งเศษ นั้นเสียทีเดียว เพราะว่าครั้งนั้นภาษีอากรได้ตั้งขึ้นใหม่มากมายหลายราย ได้เก็บเงินภาษีอากรรายใหม่ๆ นั้นมาจับจ่ายใช้ในราชการแผ่นดินแทน เกินมากกว่าเงินอากรค่าน้ำ ๗๐๐ ชั่งเศษ ซึ่งเลิกเสียทั้งสองครั้งนั้นอีก ไม่ขาดจำนวนพระราชทรัพย์ในท้องพระคลังซึ่งจะจ่ายใช้ราชการเลย และซึ่งโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ยกเงินอากรค่าน้ำครึ่งหนึ่ง ๓๐๐ ชั่ง ครั้งหนึ่ง ๔๐๐ ชั่ง สองครั้งเปนจำนวนเงินควรจะได้เข้าท้องพระคลังทุกปี ปีละ ๗๐๐ ชั่งเศษนั้น ก็ไม่เปนคุณอันใดแก่สัตว์ดิรัจฉานสมดังพระราชประสงค์ และไม่ได้มาเปนคุณเกื้อกูลหนุนแก่พระพุทธสาสนาด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้เปนคุณแก่ราชการแผ่นดินเลย เพราะด้วยเหตุที่ยกเงินอากรค่าน้ำ ๗๐๐ ชั่งเศษนั้น จะเปนเหตุให้ปลาตายน้อยลงกว่าแต่ก่อนจนสัตวหนึ่งก็หาไม่เลย ราษฎรก็คงหาปลาอยู่เต็มมือตามเดิม ฤๅมีผู้ที่แต่ก่อนไม่ได้หากินด้วยปลา ครั้นเห็นว่าภาษีอากรไม่มีเกี่ยวข้อง ก็หากินด้วยการหาปลามากขึ้นจนปลาเหลือราษฎรกินในประเทศนี้ ต้องบรรทุกไปขายเมืองอื่นหลายลำสำเภาทุกปีอีก ไม่เห็นว่าเปนคุณแก่สัตว์ดิรัจฉานสมดังพระราชประสงค์เลย และเพราะเลิกค่าน้ำเสียนั้นก็ไม่มีความเจริญแก่พระสงฆ์สามเณรในการเล่าเรียน ฤๅวัดวิหารเจดียฐานจะได้สร้างฤๅปฏิสังขรณ์ให้มากให้ดีฤๅอย่างไร ด้วยเลิกค่าน้ำนั้นก็หาไม่เลย เมื่อพระราชบัญญัติห้ามไปแต่ก่อนไม่ให้ปิดกะบังรังเฝือกในคลองเขินเข้าบึงบางนั้น ครั้นเมื่อเลิกค่าน้ำเสียหมดทีเดียวไม่มีใครรับเปนธุระเอาใจใส่ในการที่ราษฎรหาปลา และกราบทูลด้วยการนั้นเลย แล้วพวกข้าเจ้าบ่าวนายก็มาเดินเหินแก่เจ้าขุนมูลนายที่มีอำนาจบรรดาศักดิ์ ให้มีหนังสือไปถึงเจ้าเมืองกรมการเข้าหวงเอาห้วยหนองคลองบึงบางแล้ว ก็ปิดกะบังรังเฝือกขายคลองขายหนองแก่กันเหมือนอย่างแต่ก่อนแล้ว ก็เอาผลประโยชน์ที่กันไว้ได้นั้นไปให้แก่เจ้าขุนมูลนายของตัวๆ ที่ให้หนังสือไปหวงห้วยหนองคลองบึงบางไว้ให้ตัว ได้ผลประโยชน์อะไรก็ไม่ได้เข้ามาในหลวง พระราชบัญญัติก็เปนอันลบล้างไป พระราชประสงค์ก็ไม่สำเร็จ และเมื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกเลิกค่าน้ำจะให้เปนประโยชน์แก่สัตว์ดิรัจฉาน ก็มิได้เปนคุณแก่สัตว์ดิรัจฉาน เห็นเปนคุณมากแต่แก่คนฆ่าสัตว์หาปลาให้ได้ทำกินเหมือนเปนไทยแก่ตัว ไม่ต้องเสียส่วนช่วยราชการแผ่นดิน เปนสุขดีเสียกว่าคนที่เลี้ยงชีวิตด้วยสัมมาอาชีพ คือทำนาและทำไร่ทำสวนนั้นเสียอีก และพวกที่หาปลาได้รับผลประโยชน์ยกภาษีอากรที่ตัวควรจะต้องเสียปีละ ๗๐๐ ชั่งเศษทุกปีนั้นไปแต่ในหลวงดังนี้มาหลายปีแล้ว ก็ไม่ได้มีกตัญญูรู้พระเดชพระคุณมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในหลวง ให้ปรากฎเห็นประจักษ์ฉะเพาะแต่เหตุนั้นแต่สักอย่างหนึ่งเลย

ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ ท่านเสนาบดีผู้ใหญ่คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย และเจ้าพระศรีสุริยวงศ์ เปนประธาน เมื่อจัดแจงราชการแผ่นดิน ปฤกษาพร้อมกันเห็นว่า อากรค่าน้ำซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เลิกเสีย ไม่เปนคุณประโยชน์อันใดแก่สัตว์ดิรัจฉาน ไม่เห็นเปนคุณความจำเริญแก่พระพุทธสาสนา และไม่เปนคุณเกื้อหนุนแก่ราชการแต่สักอย่างหนึ่ง ราษฎรกลับทำปลามากขึ้น ปลาก็ตายมากขึ้นกว่าแต่ก่อนเสียอิก จึงพร้อมกันกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้เรียกค่าน้ำคืนมีดังเก่าตามโบราณ จึงทรงพระราชดำริห์ว่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เลิกอากรค่าน้ำ จะให้เปนคุณแก่สัตว์ดิรัจฉานนั้นไม่สมพระประสงค์ ปลาก็คงต้องตายมากอยู่อย่างนั้นเองจริง แต่ทรงห้ามไม่ให้ราษฎรปิดกระบังรังเฝือกปิดทำนบตัดตอน ขายห้วยหนองคลองบึงบางแก่กันนั้นทรงเห็นเปนการชอบอยู่ เพราะว่าเมื่อให้เลิกการกระบังรังเฝือกเสียนั้น ปลาก็ได้ว่ายไปว่ายมาในน้ำทั่วไปไม่ขัดขวาง ตามประโยชน์ของสัตว์และตามประสงค์ของคนอยู่ในที่ทั้งปวงนั้น ผู้ที่ใช้เรือก็จะได้ไปมาโดยง่ายตามปราถนา จึงได้ทรงยอมให้คืนเรียกอากรค่าน้ำแก่ราษฎร ที่หาปลาตามพิกัดเครื่องมือที่ว่ามาแล้ว เปนจำนวนเงินขึ้นท้องพระคลังแต่เพียง ๔๐๐ ชั่งเศษ สำหรับจ่ายใช้ราชการแผ่นดิน และห้ามมิให้นายอากรและราษฎรปิดกระบังรังเฝือกกั้นทำนบตัดตอนขายลำแม่น้ำลำคลองที่เปนทางน้ำไหลที่เรือราษฎรไปมาได้นั้น ไปหวงกันเอาเปนอาณาประโยชน์ส่วนตัวแต่ผู้เดียว อนึ่งลำคลองที่เข้าทุ่งเข้านา เมื่อระดูน้ำมากเรือราษฎรไปมาได้มิให้นายอากรหวงห้าม ให้ราษฎรหากินได้ทั่วกัน เมื่อน้ำลดคลองแห้งเปนตอนๆ เหมือนอย่างหนอง เรือไปมาไม่ได้แล้ว กับหนองและบึงในท้องทุ่งให้นายอากรรักษาเปนของนายอากรทำไปตามเดิม อย่าให้ราษฎรบังอาจและลักลอบทำปลาในหนองในบึง และลำคลองแห้งเปนตอนซึ่งเปนของนายอากรเปนอันขาด ถ้าราษฎรจะหากินก็ให้ไปว่ากับนายอากรๆ จะยอมให้ก็ได้ไม่ยอมให้ก็ได้ อนึ่งลำแม่น้ำใหญ่ถึงระดูน้ำลดแห้งเปนห้วงเปนตอน เหมือนอย่างลำแม่น้ำเมืองลพบุรีนั้น คงเปนแม่น้ำเหมือนน้ำไม่แห้ง เพราะตลอดไปถึงบ้านเปนอันมาก จึงห้ามมิให้นายอากรและราษฎรหวงห้ามไว้แต่ผู้เดียว ให้ราษฎรได้หากินได้ทั่วกัน เหมือนเมื่อน้ำไหลอยู่เปนนิตย์ ให้นายอากรและราษฎรประพฤติตามพระราชบัญญัติที่ว่ามานี้ให้มั่นคง ดังแรกต้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีผู้ไปตรวจตราทุกปีอย่าให้มีปิดกระบังรังเฝือกตัดตอนขายสืบไป

อนึ่งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมันตพงศ์พิสุทธ มหาบุรุษรัตโนดม ว่าที่สมุหพระกลาโหม ดำริห์การรอบคอบแล้ว กราบทูลพระกรุณาว่า อย่างธรรมเนียมเก็บค่านา เก็บกำหนดไร่ละสลึงเฟื้องเสมอไปหมดนั้น ชาวนาทุ่งนาหว่านนาคู่โคเสียเปรียบนาปักนาดำน้ำฝนฟางลอยถึงสองอย่าง คือข้าวนาทุ่งก็มีราคาน้อยกว่าข้าวนาสวน แลต้องเสียเสมอไปตามจำนวนนาในตราแดง ไม่ได้ลดหย่อนผ่อนเสียแต่ตามที่ได้ทำมีฟางข้าวเห็นอยู่ดังนาสวน ครั้นคราวเมื่อฝนแล้งฤๅน้ำมาก ราษฎรชาวนาทุ่งจึงมาร้องทุกข์ต่างๆ เนืองๆ ถ้าแม้ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ลดค่านาทุ่งที่ต้องเสียตามกำหนดจำนวนนาในตราแดงทั้งปวงนั้น ลงไร่ละเฟื้อง ให้เก็บแต่ไร่ละสลึงเท่านั้น จะควรยิ่งนัก ตามแต่จะทรงพระมหากรุณาโปรด จึงทรงพระราชดำริห์เปนชอบทรงยินดีด้วย แล้วมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ดำรัสสั่งให้ลดค่านาทุ่งนาคู่โคลง คงเรียกแต่ไร่ละสลึงเสมอไปตั้งแต่เดินนาในต้นปีเถาะสัปตศกนั้นมา ให้ทรงพระกรุณาโปรดยกพระราชทานให้แก่ราษฎรชาวนาทุ่งทั้งปวงไร่ละเฟื้อง คิดเปนเงินถึง ๔๐๐ ชั่งเศษ เปนอันใช้แทนเงินค่าน้ำที่เรียกขึ้นแต่ราษฎรที่หาปลา ยกมาพระราชทานให้แก่ราษฎรที่ทำนาเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม บัดนี้ราษฎรก็มีความยินดีรู้พระเดชพระคุณ จึงได้นำเอาข้าวเปลือกมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ตามมากและน้อยสมควรกำลัง เปนข้าวเปลือกถึง ๑๐๐ เกวียนเศษ ก็เปนความชอบของราษฎรชาวนา ที่รู้จักพระเดชพระคุณนั้นอยู่แล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาราชประสิทธิ์เจ้ากรมพระคลังวิเศษ คุมผ้าห่มผ้านุ่งขึ้นไปพระราชทานกับราษฎรชาวนาที่ได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายข้าวเปลือกคนละเล็กน้อยนั้น เปนรางวัลคนละสำรับ แต่พอให้รู้แน่ว่าข้าวเปลือกของราษฎรที่มอบให้เจ้าเมืองกรมการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายนั้น เจ้าเมืองกรมการไม่ได้เบียดบังไว้ ได้นำมาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้ว และซึ่งจะได้พระราชทานกับราษฎรโดยเปนของตอบแทนนั้นมิได้ และข้าวเปลือกซึ่งราษฎรทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายลงมานั้น ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงารรับรักษาไว้ สำหรับจำหน่ายในการพระราชกุศล เปนข้าวสำหรับทรงบาตร์พระสงฆ์สามเณร และเลี้ยงพระสงฆ์ฉันตามเคยบ้าง จ่ายในโรงพระราชทานเลี้ยงพระสงฆ์สามเณรยาจกวรรณิพกคนชราพิการและคนไข้มารักษาตัว และราษฎรที่มารับพระราชทานในโรงทานเปนนิตย์ทุกวันบ้าง และส่วนพระราชกุศลนั้นๆ ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอุทิศมาเปนของตอบแทนแก่ราษฎรชาวนาผู้เปนเจ้าของข้าวเปลือกทั้งปวง จงชื่นชมยินดีรับส่วนพระราชกุศลนี้ แล้วจงมีจิตร์คิดสำคัญว่าเหมือนกุศลที่ตนได้ทำเองทุกคนเถิด แล้วจงอุสาหะทำมาหากินให้มีผลประโยชน์เจริญสุขสวัสดิ์ในชั่วนี้ และสะสมกุศลที่จะเปนคุณแก่ตัวในชาติหน้าทั่วทุกคนเทอญ

อนึ่งทรงพระราชดำริห์ด้วยกำลังพระมหากรุณา จะทำกำหนดค่าน้ำตามพิกัดเครื่องมือและพิกัดเก็บตลาด ตีพิมพ์เปนแบบเดียวกันแจกมาให้ทราบทั่วกัน เพื่อจะมิให้นายอากรค่าน้ำและกำนันตลาดฉ้อสนเก็บเกินกำหนดได้ แต่การครั้งนี้ยังไม่ทันจะจัดแจง แล้วจึงจะแจกมาครั้งหลังให้คอยฟัง อนึ่งถ้ามีข้าเจ้าบ่าวนายใด ตั้งกองสมคบผู้ร้ายลักไล่โคกระบือ สมคบทาสลูกหนี้ของผู้ใดๆ ไปดังเช่นเปนมาแต่ก่อน ก็อย่าให้ราษฎรนิ่งทนความลำบากยากอย่างก่อนเลย จงมาฟ้องแก่ผู้รักษาเมืองกรมการให้ชำระให้ ถ้าไม่ชำระไม่บอกส่ง ก็ให้รีบลงไปยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ที่กรมล้อมพระราชวังณกรุงเทพมหานครโดยเร็วเทอญ จะทรงพระมหากรุณาโปรดชำระให้ ให้ได้ทำไร่นาหาข้าวขายแก่ลูกค้า ทั้งในประเทศนอกประเทศให้เปนสุขด้วย

ประกาศมาณวันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีมะโรงนักษัตรอัฐศก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ