๒๔. ประกาศพระสงฆ์ที่จะสึกมารับราชการ

ณวันพุฒ เดือน ๖ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีขาลฉศก ศักราช ๑๒๑๖ เพลา ๔ ทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงศ์ วงศาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ บรมราชาธิราชบรมนารถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกณพระที่นั่งราชฤดี มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ ว่า พระบาทสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา บรมราชธานีนี้ ๓ พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาไลย พระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส หวังพระราชหฤทัยจะทรงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองบำเพ็ญพระราชกุศลให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป ได้ทรงพระราชอุสาหะบริจาคพระราชทรัพย์ ทรงประดิษฐานปฏิสังขรณ์พระอารามเปนอันมาก ประดับด้วยอุโปสถาคารวิหารเสนาศนะน้อยใหญ่ให้ประณีตงดงามดี สมควรเปนที่อยู่แห่งพระภิกษุสงฆ์สมณะบรรชิต ปฏิบัติสมณะกิจตามธรรมวินัย เมื่อทรงเห็นพระภิกษุสงฆ์รูปใดมีสติปัญญาวิทยาคุณ ควรจะเปนพระราชาคณะพระครูถานานุกรมผู้ใหญ่รักษาหมู่คณะได้ ก็ทรงพระราชทานถานันดรศักดิ์ ทรงถาปนาให้เปนพระราชาคณะพระครูถานานุกรมผู้ใหญ่ ปกครองหมู่คณะสั่งสอนภิกษุสามเณร ให้ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์แลปฏิบัติสิกขาบทน้อยใหญ่ ได้ทรงพระราชทานนิตยภัตรทุกๆ เดือน แด่พระราชาคณะถานานุกรมตามควรแก่คุณสมบัติแห่งท่านนั้นๆ เมื่อภิกษุสงฆ์สามเณรรูปใดมีสติปัญญาฉลาดเล่าเรียนแปลพระคัมภีร์ได้เปนที่เปรียญ เอก โท ตรี ก็ทรงพระราชศรัทธาถวายนิตยภัตรตามควรทุกเดือน ให้เปนกำลังแก่การเล่าเรียนสืบไป แลทรงพระราชทานนิตยภัตรราคาสองสลึง แด่พระภิกษุสงฆ์ซึ่งอยู่ในพระอารามหลวงนั้นๆ ทั้งสิ้นทุกๆ เดือน ก็แลพระราชทรัพย์ที่ทรงพระราชอุทิศถวายแด่พระราชาคณะพระครูถานานุกรมเปรียญพระสงฆ์อันดับเดือนหนึ่งๆ เปนเงินตรา ๖๗ ชั่งเศษ ปีหนึ่งเปนเงินตรา ๘๐๔ ชั่งเศษ แต่ทรงพระราชศรัทธาบริจาคพระราชทรัพย์ทรงทนุบำรุงให้เปนกำลังในพระศาสนามากถึงเพียงนี้ ฝ่ายพระราชาคณะพระครูถานานุกรมเปรียญพระสงฆ์อันดับ เพราะอาศรัยได้รับพระราชทานนิตยภัตรซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายนั้นเปนกำลัง ได้สั่งสอนกันให้ศึกษาเล่าเรียนพระคัมภีร์เจริญมาช้านาน

ครั้งบัดเดี๋ยวนี้ พระราชาคณะ พระครู ถานานุกรม เปรียญบาทองค์ที่เปนโลภัชฌาศรัย ใจมักบาปแสวงหาแต่ลาภสักการแลยศถ่ายเดียว เที่ยวประจบฝากตัวในเจ้าขุนนาง ไว้ตัวเปนคนกว้างขวางในกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า ด้วยคิดเห็นว่าท่านเหล่านั้นมีบุญวาศนา จะช่วยกราบทูลพระกรุณาให้สึกออกมาเปนขุนนางในตำแหน่งกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า แห่งใดแห่งหนึ่งได้ ก็ซึ่งพระราชาคณะถานานุกรมเปรียญรูปใดคิดดังนี้นั้นคงไม่สมประสงค์แล้ว อย่าคิดเลยเหนื่อยเปล่า เพราะว่าจะต้องพระราชประสงค์แต่คนที่มีชาติตระกูลเปนบุตรขุนนางในตำแหน่งกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า ไม่ต้องพระราชประสงค์คนชาววัดเปนพระยา พระ หลวง ขุน หมื่นในกรมมหาดไทย กรมพระกระลาโหม กรมท่า พวกชาววัดนั้นควรจะเปนขุนนางได้แต่ในกรมลูกขุน กรมอาลักษณ์ กรมธรรมการ กรมราชบัณฑิต กรมสังฆการีย์ เท่านั้น ซึ่งชาววัดที่มิใช่บุตรมีชาติตระกูลคิดเสือกสนไปในกรมอื่นๆ นอกจาก ๕ กรมนี้แล้วไม่ได้เลยเปนอันขาด ขอพระราชาคณะ พระครู ถานานุกรม เปรียญทั้งปวง จงทราบความตามกระแสพระราชบัญญัตินี้เทอญ ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ