๓๓๐ ประกาศไม่ให้เชื่อฟังเรื่องที่ผู้มีคดีไม่ฟ้องเอาไปลงหนังสือพิมพ์

คดีเนื้อความในกรุงนอกกรุง มีโจทย์จำเลยสู้ความกันอยู่ ก็เมื่อตระลาการฤๅผู้ชี้ขาดผู้ปรับทำการไม่เปนธรรม์ คู่ความที่ต้องขัดข้องก็ควรทำใบร้องยื่นต่อท่านเสนาบดีที่หัวเมืองนั้นๆ ฤๅโรงศาลนั้นๆ ได้ขึ้นอยู่ โดยว่าท่านเสนาบดีจะบังความไม่เปนที่ชอบใจ ด้วยเลินเล่อไป มักง่ายไปฤๅเข้าใจผิด ผู้ต้องคดียังสงสัยไม่ยอมเห็นด้วย พระบรมราชวโรกาส คือกระแสพระราชโองการทรงพระมหากรุณาโปรด ว่าใครๆ ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินไม่เลือกหน้า บรรดาที่เปนความอยู่ในโรงศาลถูกคุมเหงแต่ตระลาการเจ้ากระทรวงใดๆ ก็ให้ทำฎีการ้องทุกข์ถวายเมื่อเวลาเสด็จออกพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ก็ได้ จะฝากญาติพี่น้องเจ้าขุนมูลนายให้ถวายข้างหน้าข้างในเมื่อใดเมื่อหนึ่งก็ได้ จะทรงพิเคาะห์ใต่ถามเอาความจริงชำระตัดสินให้ การประกาศเปิดอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่ขัดข้อง เพราะฉนั้นผู้เจ้าคดีข้อความในเรื่องใดๆ ไม่เดินตามทาง เอาเงินไปจ้างโรงพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ กล่าวโทษตระลาการแลคู่ความต่างๆ ด้วยเข้าใจว่าหนังสือพิมพ์จะไหลมายังพระเนตรพระกรรณ การที่ลงหนังสือพิมพ์กล่าวโทษอย่างนั้นเปนที่พิรุธไป จะให้ในหลวงถือเอาคำกล่าวในหนังสือพิมพ์มาไต่ถามชำระสะสางไม่ได้ ผู้ไปลงหนังสือพิมพ์พิรุธ ไปว่าประจานตระลาการมีความผิดอยู่ จะดูเยี่ยงเรื่องอำแดงพลับเมืองจันทบุรีไม่ได้ เรื่องนั้นขัดข้องกีดขวางด้วยชื่อผู้มีหลักผู้ใหญ่ที่เมืองจันทบุรีขึ้นความจึงไปติดอยู่ แล้วความนั้นก็ไกลกรุงเทพฯ

ผู้จะร้องอุทธรณ์มาไม่ถึง แลเปนชาวนอกกรุงงกงัน กลัวชื่อผู้หลักผู้ใหญ่ หมอสมิทออกไปเที่ยวเมืองจันทบุรีได้ความมาเปนประหลาดหูก็มาลงพิมพ์เล่น ครั้นได้ทราบความ รับสั่งถามเจ้านายของอำแดงพลับ เจ้านายของอำแดงพลับกราบทูลยืนยันเหมือนดังเปนคำโจทย์ขึ้น จึงได้โปรดให้ชำระความจริง เพื่อจะบำบัดการที่ราษฎรงกงันกลัวชื่อท่านผู้หลักผู้ใหญ่ไปในอันใช่ที่ แลคดีเรื่องนั้นผู้ยืนยันก็เปนพระองค์เจ้าในพระราชวังเปนดังโจทย์มั่นคง จึงโปรดให้ชำระ ก็ความเรื่องอื่นโจทย์จำเลยมีตัวเปนคู่ความกันอยู่ในโรงศาลในกรุงเทพฯ ควรจะเรียนเสนาบดีแลร้องฎีกา เมื่อไม่เรียนไม่ร้องไปลงพิมพ์ประจานตระลาการแลคู่ความเหมือนหนังสือทิ้ง ผู้ไปจ้างโรงพิมพ์ลงพิมพ์มีความผิดอยู่ ทำคดีของตัวให้พิรุธง่อนแง่นไปไม่น่าเชื่อ เพราะเห็นว่าว่าเขาตรงๆ ไม่ได้แล้วจึงไปลงพิมพ์นินทาเขาให้ได้อาย เจ้าของความที่ไปลงพิมพ์ชื่อว่าทุบต่อยแข้งขาของตัวเองให้มีกำลังอ่อนไป ถึงจะว่าความไปก็เปนที่สงไสยว่าไม่ซื่อตรง คดีเช่นนี้ ผู้อ่านหนังสือพิมพ์อย่าเชื่อนัก

หนังสือพิมพ์บ่นเพ้อด้วยเรื่องเมืองสมุทสงคราม ความนี้ก็เห็นจะเปนความจริงอยู่โดยมาก ชาวเมืองสมุทสงครามมีคนพาลทำเกะกะมากจริง ความฎีกาก็ได้เกิดเปนหลายราย คือฆ่ากันตายแลฉุดผู้หญิงไปทำชำเรา ความฟ้องแล้วชำระโตงเตงกันอยู่ในเมืองนั้นบ้าง มาโตงเตงอยู่ในกรมท่าบ้างกรมเมืองบ้าง เมื่อมาร้องฎีกาถวายก็ได้ทรงชำระโดยสุจริต ได้ตัวผู้ผิดเอามาลงพระราชอาญาน่าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ก็เปนหลายราย แลที่ว่ามีผู้แก้ไขด้วยเห็นแก่สินบน ความนั้นก็มีจริงทรงจับได้คือตระลาการศาลกรมท่า พระพิพากษาคนเก่ามากราบทูลแก้ไขว่าชายหญิงรักใคร่กันเองตามกันไป ไม่ได้ฉุดไปแต่เรือนบิดามารดา ภายหลังหญิงมาร้องว่าไม่ได้รักชายที่ฉุดไป เปนแต่พระพิพากษาทูลแก้ไขด้วยเห็นแก่สินบน ทรงชำระได้ความจริง ชายผู้ฉุดก็ได้ให้ลงพระราชอาญาแล้วส่งขึ้นคุก พระพิพากษาให้ถอดเสียจากที่ การประสมประเสในกรมท่าซัดกันมาโยนกันไป เมื่อมีผู้ร้องฎีกาฤๅให้พวกพ้องเอาฎีกามาถวาย มีปากยืนยันแล้ว ก็ได้เคยทรงเร่งรัดกรมท่าแขงแรงเอาตัวผู้ผิดมาจนได้ แลที่ว่าเอาส่งคุกส่งตรางไว้แล้วหนีไปได้ ฤๅมีผู้เอาเงินแล้วปล่อยไปเสียนั้นก็มีจริง เหมือนอ้ายกุหลาบเปนบุตรนายกองในกรมท่า ฉุดหญิงของราษฎรมาข่มขืนแล้วเอามาขาย ความฟ้องที่เมืองสมุทสงครามก็โตงเตงชำระไม่แล้ว ส่งเข้ามาที่กรุงเทพฯ ก็โยนกันมาโยนกันไป จนความร้องฎีกา รับสั่งจะเร่งเอาตัว ยังมีผู้ไปยุ ฯ พณ ฯ กรมท่าให้เขียนหนังสือกราบทูลพระกรุณาโต้ทานผิดๆ ถูกๆ ไป จนทรงขัดเคืองเปนอันมาก เร่งเอาตัวอ้ายกุหลาบมาจนได้ ลงพระราชอาญาเฆี่ยนทั้งบิดาแลบุตร แล้วเอาตัวอ้ายกุหลาบไปส่งขึ้นคุกไว้ อยู่ในคุกไม่ช้าปล่อยให้หนีไปได้ ได้มีรับสั่งให้ตำรวจไปจับตัวมาลงพระราชอาญาแล้วส่งขึ้นคุกอีก แต่ผู้เจ้าถ้อยหมอความตัวก่อความเอง แล้วร้องฟ้องกล่าวโทษผู้อื่นเปนแถวไปตามบ้าน ฤๅกล่าวการที่เหม่นเหม่ไม่สมจริง เก็บเอาคดีผู้อื่นมาว่าก็มีเปนอันมาก เมืองสมุทสงครามรกเรี้ยวมากกว่าทุกเมือง ในหลวงก็เห็นจริงด้วย แต่ผู้ที่มาบ่นพึมพำลงหนังสือพิมพ์นั้นจะให้ในหลวงเอาหนังสือพิมพ์ว่ากล่าวนั้นไม่ได้ เพราะทางมีอยู่ไม่เดินตามทาง ทางนั้นคือผู้รักษาเมืองกรมการก็ต้องฟ้องแก่เขา ก็ถ้าโตงเตงอยู่ก็ต้องอุทธรณ์น่าโรง ถ้าการไปไม่ตลอดจะมาอุทธรณ์ศาลหลวงกรุงเทพฯ ก็ได้ กราบเรียน ฯ พณ ฯ กรมท่าก็ได้ ฤๅความส่งเข้ามาในกรุง เมื่อไปขัดอยู่โรงใดศาลใดให้ทำฎีกาถวาย ถวายเองก็ได้ ให้ใครๆ ถวายก็ได้ แต่ให้มีตัวโจทย์มายืนยัน แต่ซึ่งจะทิ้งหนังสือก็ดี ไปบ่นเพ้อในหนังสือพิมพ์ถึงปักหน้าค่าชื่อก็จะหยิบยกขึ้นว่าไม่ได้ โรงหนังสือพิมพ์มักเชื่อคนสิ้นคิด ความสู้เขาไม่ได้จะแพ้เน่าแล้วไม่อาจมาร้องฎีกา จึงไปลงหนังสือพิมพ์ ครั้นในหลวงไม่เชื่อจึงไปเก็บเอาโน่นเอานี่มาบ่นทับถมเมืองนั้น จะเอาชนะให้ได้ รู้เท่าอยู่แล้ว ใจคนขาวสำคัญว่าคนขาวเหมือนกันนั้นแลเปนคนคนดำเหมือนมิใช่คน ถึงจะชอบพอรักใคร่กับคนดำ ก็เหมือนชาวเรือขึ้นล่องชอบกับลิง โยนกล้วยโยนอ้อยให้กิน ไม่ได้รักลิงเปนญาติพี่น้อง

มีพระบรมราชโองการดำรัสให้ประกาศว่า หนังสือทิ้งแลหนังสือไปลงพิมพ์บ้านหมออังกฤษทั้งสองอย่างนี้ จะเชื่อฟังเอาเปนจริงไม่ได้ เห็นเปนการพิรุธนัก เพราะใครทำอย่างนั้นเห็นชัดว่า จะว่าเขาตรงๆ ไม่ได้จะแกล้งนินทา ว่าประจานเขาให้ความอึงๆ ไปเท่านั้น ถ้าจริงแล้วทางที่จะว่านั้นมีอยู่ คือที่โรงศาลแลร้องถวายฎีกาเปิดเผยอยู่ไม่ห้าม ทรงพระกรุณาโปรดว่าผู้มีทุกข์ร้อนเกี่ยวข้องอย่างไรๆ ให้มาร้องถวายฎีกา ถ้าตัวผู้นั้นต้องกักขังจองจำอยู่มาไม่ได้ จะให้เจ้าขุนมูลนายฤๅญาติพี่น้องพวกพ้องฤๅใครๆ มาถวายก็ได้ ถวายข้างหน้าก็ได้ข้างในก็ได้ ทางมีอยู่อย่างนี้ไม่เดินตามทางกลับไปลงหนังสือพิมพ์บ้าง ทำหนังสือทิ้งบ้างเห็นเปนพิรุธนัก ถึงจะว่าปักหน้าค่าชื่อฤๅกล่าวโทษบ้านเมืองต่างๆ จะให้ในหลวงทรงหยิบเรื่องในหนังสือพิมพ์ออกชำระเอาเปนเหตุเปนผลนั้นไม่ได้ใครทำอย่างนั้นเหนื่อยเปล่า ท่านผู้ที่ได้รับหนังสือพิมพ์ไปอ่านแล้วอย่าเชื่อฟังเอาเปนจริง ให้เข้าใจดังประกาศนี้เถิด. ฯ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ