๓๒๐ ประกาศว่าด้วยเงินสำหรับซ่อมแซมพระอารามซึ่งเปนส่วนพระองค์

มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า พระราชวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชแลพระราชาคณะผู้ใหญ่ เปนนักปราชญ์มีสติปัญญาได้ทรงถวายนิตยภัตปฏิบัติมานาน ควรนับตามภาษาพระเทศน์ว่าเปนราชกุลูปกะ ควรนับตามภาษาไพร่ๆ พูดว่าชีต้นอาจารย์ ในหลวงเปนญาติเปนโยม ก็วิสัยพระสงฆ์กับญาติโยมก็ร่วมสุขร่วมทุกข์กัน ชาวบ้านมีเหตุอะไรที่ควรคิดก็ปฤกษาพระสงฆ์ที่เปนชีต้นอาจารย์ให้ช่วยคิดช่วยอ่านให้ด้วย เพราะฉนั้นจะขอทรงหารือ ขอสติปัญญาพระราชวงศานุวงศ์ที่ทรงผนวชแลพระราชาคณะ จะเห็นควรอย่างไรให้ถวายความคิดมาตามรัก จะทรงเลือกแล้วปฏิบัติตาม ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติมา ๑๓ ปีแล้ว ประตูทางพระราชทรัพย์ซึ่งเปนของอยู่ในจำนวนเคยรวบรวมมาสำหรับจับจ่ายราชการแผ่นดินแลเก็บไว้ ประตูใดที่เคยมีมาแต่แผ่นดินก่อนๆ ก็เจริญขึ้นทุกประตู พระราชทรัพย์ก็เข้ามาสู่ท้องพระคลังเสมอพอจับจ่ายราชการแผ่นดินแลการพระราชกุศลตามเคยมาแต่ก่อนทุกช่องทุกประตู พระราชทรัพย์ที่เหลืออยู่ก็คงอยู่ในท้องพระคลังสำหรับแผ่นดิน พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ท่านทรงไว้ในพระราชหัดถเลขาในเวลาปลายมือว่าเงินมีอยู่ ๔๐,๐๐๐ ชั่ง ทองคำ ๑๐๐ ชั่ง เงิน ๔๐,๐๐๐ ชั่งนั้นท่านทรงขอเปนของท่าน ๑๐,๐๐๐ ชั่ง เพื่อจะได้จ่ายทำพระอารามที่ค้างอยู่ให้แล้ว อีก ๓๐,๐๐๐ ชั่งให้ยกถวายเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ตามแต่จะใช้สรอยทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไป แต่ทองคำ ๑๐๐ ชั่งนั้นขอให้แบ่งแผ่เปนคำเปลวปิดในการวัดที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นเท่าไรแล้ว เหลือนั้นก็ให้ถวายเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ตามแต่จะใช้สรอย ความทั้งปวงแจ้งอยู่ในพระราชหัดถเลขานั้นแล้ว ก็จำนวนพระราชทรัพย์ที่ว่าในพระราชหัดถเลขานั้นก็หาสิ้นจริงไม่ ชรอยท่านจะทรงจำไม่ได้จะพลั้งไป เงินอยู่ในรวม ๔๐,๐๐๐ ชั่งนั้น ยังมีมากกว่านั้น ๕๐๐๐ ชั่งเศษ ทองคำยังมีมากกว่าที่ว่าในพระราชหัดถเลขานั้นอีกสัก ๑๐๐ ชั่งเศษ แลในต้นพระราชหัดถเลขานั้นว่าให้เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ พระยาราชสุภาวดี พร้อมใจกันกับขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย เลือกพระองค์เจ้าหนุ่มๆ หรือแก่หรือปานกลางที่สมควรเปนที่ชอบใจมาตั้งแต่งเปนเจ้าแผ่นดินต่อไปเถิดไม่ทรงรังเกียจ ครั้นเสด็จสวรรคตแล้วท่านทั้ง ๓ พร้อมใจกันกับเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ แลขุนนางเปนอันมาก ซึ่งมิได้มีนามมีชื่อในพระราชหัดถเลขาเชิญเสด็จให้เข้ามาเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบพระวงศ์ต่อมา ก็เงินราย ๑๐,๐๐๐ ชั่ง ที่ขอให้เปนส่วนบำเพ็ญพระราชกุศลในการค้างนั้น ก็ได้จ่ายไปทำการที่ค้างในวัดมหาธาตุ วัดชนะสงคราม วัดบวรมงคล แลซ่อมแซมวัดอรุณราชวราราม วัดราชโอรสวราราม วัดเฉลิมพระเกียรติ จ่ายไปแล้ว แต่วัดราชนัดดารามแห่งหนึ่ง วัดพรหมสุรินทร์ที่เรียกว่าวัดปริณายกแห่งหนึ่ง พระเจดีย์ใหญ่วัดสระเกษแห่งหนึ่งยังค้างอยู่ วัดราชนัดดาราม พระองค์เจ้าโสมนัสวัฒนาวดีรับไปทำ จับการเข้าได้ ๓ เดือนก็สิ้นพระชนม์ วัดพรหมสุรินทร์นั้นแต่แผ่นดินโน้นเจ้าพระยาบดินทร์เดชารับทำก็ถึงอนิจกรรมลง เจ้าพระยามุขมนตรีรับทำต่อมาก็เปนโทษ เพราะดังนั้นในหลวงจะรับเปนเจ้าของทำต่อไปดีก็จะดีอยู่ ถ้าไม่สบายไปต่างๆ ก็จะเปนที่วิตกรำคาญไป ทรงรังเกียจอยู่ แต่ต้นทุนที่จะทำให้แล้ว คือส่วนเศษในจำนวนพระราชทรัพย์ ๑๐,๐๐๐ ชั่งนั้นก็ยังมีพอ ก็วัดราชนัดดารามนั้น ถ้าพระกระวีวงศ์มีอุสสาหะจะขวนขวายจ้างออนผู้ใดทำการค้างให้สำเร็จ จะเปนเงินค่าจ้างเท่าไร ค่าไม้อิฐปูนเท่าไร ให้ได้ความจริงสมควรแล้วจะโปรดให้จ่ายให้ ถ้าจะเปนแต่ให้กัปปิยการกมารับไป การไม่แล้วไม่สำเร็จสมควรแก่ราคาเงินจะจ่ายให้ไม่ได้ การก็ยังน้อยดอก ยังอยู่แต่การปูนในสถานที่ที่เรียกว่าโลหปราสาท แลการไม้การปั้นการเขียนในพระอุโบสถแลพระวิหาร ถ้าพระสงฆ์ในพระอารามจะช่วยขวนขวายจริงๆ หาญาติโยมอุปฐากที่ควรเชื่อถือได้ มาเปนกัปปิยการกรับเงินไปทำก็เห็นจะสำเร็จได้ แต่วัดพรหมสุรินทร์ที่เรียกว่าวัดปริณายกนั้น การงานมากมายโตใหญ่นัก ถ้าจะทำต่อไป ก็จะเปนราคาประมาณ ๓,๐๐๐ ชั่งขึ้นไป แลที่คิดไว้แต่เดิมนั้น ก็จะให้รื้อพระอุโบสถมณฑปของเก่านั้นเสียด้วย ก็การที่รื้อของเก่านั้นไม่ทรงเห็นด้วย ทรงเห็นว่าเหมือนกับคำเขาว่ามิใช่แผ่นดินเท่าใบพุดซา เมื่อศรัทธาอุสสาหจะสร้างวัดที่ไหนก็จงสร้างลง ไปคิดรื้อแร่งของเก่าของเขาทำไม แต่วัดนั้นถ้ามีพระราชาคณะหรือท่านผู้ใดชอบใจจะใคร่พาพวกพ้องไปอยู่ให้สบายก็จงคิดเกลี้ยกล่อมหาผู้เปนเจ้าของ เปนเจ้านายหรือขุนนางฤๅเจ๊กจีนที่เปนเศรษฐีหวีช้องควรเชื่อได้ให้มาเปนเจ้าของรับทำ ก็จะรับจ่ายเงินในรายหมื่นให้ทำไปกว่าจะแล้ว เมื่อที่กุฏิวิหารแล้วขึ้น ท่านองค์ใดจะพาพวกพ้องไปอยู่เท่าใดก็อาราธนาไปอยู่เถิด แต่ที่จะให้ในหลวงรับเปนเจ้าของทำนั้นรังเกียจอยู่ ประการหนึ่งในหลวงบัดนี้ก็ไม่สู้ถนัดที่จะคิดสร้างวัดใหญ่วัดโต เพราะเห็นว่าของชำรุดก็ไม่มีใครจะซ่อม รกเปื้อนก็ไม่มีใครกวาด เพราะท่านที่เปนอธิการวัดใหญ่ๆ จะว่ากล่าวลูกวัดก็ยากนักกลัวก้อนอิฐไป ก็วิสัยสร้างวัดให้เปนที่อยู่ของผู้ประพฤติพระสาสนา ครั้นวัดใหญ่นักก็กลายเปนที่อยู่ของสัตรูพระสาสนาไป สร้างโบถใหญ่ๆ พระสงฆ์ลงไปโบถพร้อมกันทั้งวัดปีละวัน คือวันรับกฐิน วัดใหญ่ศาลารายก็มีมาก ศาลาเหล่านั้น ไม่มีคนนั่งไม่มีคนนอนไม่มีคนเฝ้า เปนแต่สำหรับให้ลูกศิษย์วัดรื้อกระเบื้องขว้างเสีย หักเอากลอนเอาระแนงไปหุงเข้ากิน หรือถ้าศาลาเปนพื้นกระดานก็สำหรับขะโมยคัดขาย สารพัดจะทราบสารพัดจะเห็นอยู่แล้ว เหลือพระราชศรัทธาที่จะสร้างวัดใหญ่วัดโตได้ แต่ของเก่าที่แล้วที่ไม่รังเกียจจะซ่อมแซมไปไม่ไหว ด้วยเหตุนี้จึงโปรดแต่ที่จะสร้างวัดเล็กๆ ที่จุพระสงฆ์ ๓๐ รูปลงมา พอให้เจ้าวัดเจ้าอาวาสมีความรักวัดบ้าง เอาใจใส่วัดบ้าง

วัดสระเกษการพระอุโบสถพระวิหารที่ยังค้าง ก็ได้โปรดให้กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ไปเปนแม่กอง ทำการก็เกือบเสร็จอยู่แล้ว ยังแต่จะปิดทองพระระเบียงในวงนั้น กำลังข้าพระก็พอรักษา แต่ศาลารอบวัดแลเกาะรอบวัดนั้นหามีผู้รักษาไม่ วัดก็โตใหญ่ศาลาก็มากไม่มีใครนั่งไม่มีใครใช้ไม่มีใครเฝ้า มีแต่คนหักเอากลอนเอาระแนงไปหุงเข้ากิน ถึงจะไปซ่อมแซมขึ้นก็เปลืองเงินเปล่า ถ้าจะซื้อฟืนไปกองไว้ที่ศาลาร้างเหล่านั้น สำหรับว่าใครต้องการฟืนจะได้หยิบเอาไปหุงเข้ากิน จะเปลืองเงินน้อยลงมากกว่าการเรื่องศาลาวัดสระเกษมากนี้ ขอให้พระธรรมทานาจารยพระวินยานุกูลเถร พระปลัดจีนพระปลัดภู่ แลถานานุกรมอื่นๆ ในพระอารามนั้นช่วยดำริห์ด้วย เหมือนในกุฏิที่พระสงฆ์อยู่ ก็ปลูกกระท่อมฝาแตะฝากระแชงรุงรังอยู่ถมไป เปนรังฟืนรังไฟถ้าจะผ่อนเอาศาลายับๆ เหล่านี้ไปทำเปนกระท่อมแลพะเพิงต่างๆ แทนที่ๆ เปนฝาจากฝากระแชงอยู่นั้นจะมิดีกว่าทิ้งให้ยับไม่มีใครใช้อยู่ห่างๆ นั้นหรือ ถ้าท่านจะคิดอ่านจะให้ช่วยเหลือค่าจ้างรื้อค่าจ้างทำให้บ้าง ในหลวงก็จะช่วยเสียให้ แต่ให้พระสงฆ์ขวนขวายเทอญ

แต่พระเจดีย์ใหญ่นั้นยังรังเกียจอยู่แต่ที่ซุด ก็ตั้งพระราชหฤทัยอยู่ว่าจะทำแต่พอให้แล้ว แต่ยังสงสัยว่า เมื่อทำหนักลงจะซุดเซไปอย่างไรก็ไม่ทราบ ของก็เอียงเซเสียลวดลายของเก่าหมดแล้ว การก็ใหญ่โตนัก

พระราชทรัพย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเหลือกว่านั้นได้ทรงชักเงินเหลือนอกจำนวน ๓๐,๐๐๐ ชั่ง ออกทรงแจกพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ๒๙ พระองค์ พระเจ้าหลานเธอพระองค์หนึ่ง รวมเปน ๓๐ พระองค์ พระองค์ละ ๒๐ ชั่งให้ไปทำบุญในการพระบรมศพ กับได้ชักพระราชทานเจ้านายที่เลื่อนที่เปนต่างกรมไปใช้การโรงครัวเมื่อตั้งกรมอีก ๒๐๐ ชั่ง รวมเปน ๘๐๐ ชั่ง

ก็บัดนี้ทรงคิดเงินรายอื่นใช้คืนเสียแล้ว นับว่าเปนการไม่ได้ชักทองคำแท่งจีนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฝากชาวคลังไว้ ๑๙ แท่ง เมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ชาวคลังนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ได้พระราชทานพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปพระองค์ละแท่ง ยังไม่พอได้ทั่วทุกพระองค์ ก็ได้พระราชทานทองแท่งเปนของมีมาใหม่ให้ได้ทั่วทุกพระองค์เสมอกัน แต่พระราชทรัพย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกกว่านั้นยังคงอยู่หมด ไม่ได้เอาไปใช้สรอยจับจ่ายอะไรที่ไหน เว้นแต่ในรายหมื่นที่จ่ายทำวัดเท่านั้น ก็พระอารามที่สร้างลงใหม่ๆ ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ๆ ทั้งหัวเมืองในกรุงก็ไม่ได้ใช้ในเงินรายหมื่น ได้ใช้แต่ในของที่ค้างมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เงินรายหมื่นนั้นรอไว้เพื่อวัดราชนัดดาราม วัดพรหมสุรินทร์ที่เรียกว่าวัดปริณายกแลพระเจดีย์ใหญ่วัดสระเกษ ตัวเงินยังมีอยู่ พระราชาคณะจะคิดเห็นควรอย่างไรช่วยคิดอ่านด้วย ในหลวงจะใคร่ยอมแต่เสียเงินให้ผู้ทำ ไม่อยากขวนขวายเปนเจ้าของ ก็ทองคำเปนของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้เอาไปแผ่ทำเปนเบญจา เมื่อถวายพระเพลิงทั้ง ๒๐๐ ชั่ง สูญเพลิงไปเสียบ้าง ช่างฉ้อเอาไปบ้าง ตกหายเสียบ้าง ยังให้ชำระบาญชีอยู่ เมื่อขาดไปเท่าไรจะทรงรับใช้ให้เต็ม แต่ที่ทองคำเปลวไปปิดวัดนั้น ล้วนเปนทองของแผ่นดินใหม่ ไม่ใช่เปนของแผ่นดินเก่า กล่าวด้วยพระราชทรัพย์ที่เปนของสำหรับแผ่นดิน แลพระราชทรัพย์ที่ค้างมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวสิ้นความเท่านี้

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ