คำนำ

มหาอำมาตย์โท พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) ป ช, ป ม, ท จ ว, ฯลฯ องคมนตรี ได้รับพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เปนพระยายืนชิงช้าในปีกุญ พ.ศ. ๒๔๖๖ นี้ มาแจ้งความยังหอพระสมุดวชิรญาณสำหรับพระนคร ว่าจะใคร่พิมพ์หนังสือมิตรพลีแจกแก่ผู้ช่วยงารตามอย่างเช่นพระยายืนชิงช้าปีก่อนๆ ได้เคยทำมา ขอให้กรรมการหอพระสมุดฯ ช่วยเลือกหาเรื่องหนังสือแลจัดการพิมพ์ให้ตามประสงค์

ก็เมื่อปีที่ล่วงมา นายพลโท พระยาวิชิตวงศวุฒิไกร ราชองครักษ์ (ม.ร.ว. สิทธิ สุทัศน ณกรุงเทพ) เปนพระยายืนชิงช้า ได้พิมพ์หนังสือประชุมกลอนนิราสของสุนทรภู่ แจกแล้วภาค ๑ เปนนิราส ๔ เรื่อง ยังเหลือกลอนนิราสของสุนทรภู่อยู่อิก ๔ เรื่อง ซึ่งสมควรจะพิมพ์แจกต่อในปีนี้ ข้าพเจ้าจึงจัดหนังสือประชุมกลอนนิราสของสุนทรภู่ ๔ เรื่อง คือ นิราสอิเหนาเรื่อง ๑ นิราสพระแท่นดงรังเรื่อง ๑ นิราสพระประธมเรื่อง ๑ นิราสเมืองเพ็ชรเรื่อง ๑ รวมกันเปนประชุมนิราสกลอนต่างๆ ภาคที่ ๒ พิมพ์ให้พระยานรเนติฯ แจก

เมื่อพิมพ์ประชุมกลอนนิราสต่างๆ ภาคที่ ๑ ให้พระยาวิชิตวงศวุฒิไกร ปีกลายนี้ ข้าพเจ้าได้แต่งคำอธิบายว่าด้วยหนังสือนิราสไว้ข้างต้นสมุด แลได้อธิบายถึงนิราสของสุนทรภู่ ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนั้นทั้ง ๔ เรื่อง คือ นิราสเมืองแกลงเรื่อง ๑ นิราสพระบาทเรื่อง ๑ นิราสภูเขาทองเรื่อง ๑ นิราสวัดเจ้าฟ้าเรื่อง ๑ ไว้ด้วยแล้ว ไม่จำจะต้องอธิบายซ้ำอิกในเล่มนี้ จะอธิบายว่าแต่ด้วยนิราสของสุนทรภู่ ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ต่อไป นิราสของสุนทรภู่ผิดกับนิราสของผู้อื่น ทั้งกลอนที่แต่งดีกว่าผู้อื่นโดยมากแลกระบวรความ นิราสของผู้อื่นมักจะกล่าวถึงแต่ชื่อตำบลในระยะทางที่ไป ประกอบกับพรรณาว่าด้วยเรื่องสังวาส แต่นิราสของสุนทรภู่มักเล่าเรื่องราวต่างๆ แลกล่าวถึงประวัติของตนเองไว้ด้วยทุกเรื่อง อาจจะรู้ได้ว่าเรื่องไหนแต่งก่อนแลแต่งทีหลัง แลในเวลาที่แต่งนั้นฐานะของสุนทรภู่เปนอยู่อย่างไร

เรื่องประวัติของสุนทรภู่ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงไว้โดยพิสดาร ได้พิมพ์แจกครั้งเมื่อทำบุญอายุครบ ๖๐ แต่ปีกลายนี้แล้ว จะนำแต่ใจความมากล่าวพอให้ทราบตำนานนิราสของสุนทรภู่ ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ คือสุนทรภู่นั้น เดิมเปนมหาดเล็กกรมพระราชวังหลัง เปนเจ้าบทเจ้ากลอนแลเปนคนคนองมาแต่หนุ่ม เมื่อในรัชกาลที่ ๑ ลงไปเยี่ยมบิดาที่เมืองแกลง ได้แต่งนิราสเรื่องเมืองแกลงเปนนิราสเรื่องแรก ต่อมาเมื่อกรมพระราชวังหลังทิวงคต สุนทรภู่ไปเปนมหาดเล็กอยู่กับพระองค์เจ้าปฐมวงศ พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่วัดระฆังฯ  ตามเสด็จพระองค์เจ้าปฐมวงศไปพระพุทธบาท ได้แต่งนิราสพระบาทอิกเรื่อง ๑ ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่เข้าทำราชการได้เปนที่ขุนสุนทรโวหารอยู่ในกรมพระอาลักษณ พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระเมตตาชุบเลี้ยงมาตลอดรัชกาล สุนทรภู่ติดรับราชการ จึงหาได้แต่งนิราสเรื่องใดในรัชกาลที่ ๒ ไม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ สุนทรภู่มีความผิดถูกถอด ไม่มีที่พึ่งจึงออกบวช เมื่อบวชอยู่นั้นขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก แต่งนิราสภูเขาทองเรื่อง ๑ ต่อมาขึ้นไปกรุงศรีอยุธยาอิกครั้ง ๑ แต่งนิราสวัดเจ้าฟ้า (แต่งเปนสำนวนเณรพัฒน์บุตรที่ไปด้วย) นิราสที่กล่าวมาทั้ง ๔ เรื่อง ได้พิมพ์ไว้ในประชุมนิราสกลอนต่างๆ ภาคที่ ๑ แล้ว ส่วนเรื่องประวัติในตอนที่แต่งนิราส ๔ เรื่อง ซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้นั้น ได้ยินว่าเมื่อสุนทรภู่ยังบวชอยู่ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ พระเจ้าลูกเธอในพระบาทฯ สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดทรงสักรวา หาสุนทรภู่ไปบอกสักรวาแต่ยังเปนพระ แล้วทรงพระเมตตาอุดหนุนต่อมา สุนทรภู่ได้แต่งนิราสอิเหนาเรื่องที่พิมพ์แจกในสมุดเล่มนี้ ถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แล้วสึกออกมาเปนข้าอยู่ในกรม แต่อยู่ได้ไม่ช้า พระองค์เจ้าลักขณานุคุณสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่สิ้นที่พึ่งตกยากอิกครั้ง ๑ เวลาตกยากครั้งนี้ อาศรัยเพื่อนไปเที่ยวพระแท่นดงรัง จึงแต่งนิราสพระแท่นดงรัง ซึ่งพิมพ์เปนเรื่องที่ ๒ ในสมุดเล่มนี้ ต่อมากรมหมื่นอับสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงหนังสือพระอภัยมณีที่สุนทรภู่แต่งไว้โปรด สั่งให้สุนทรภู่แต่งต่อถวายอิก แลทรงเกื้อหนุนสุนทรภู่ต่อมา ในตอนนี้ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังดำรงพระยศเปนสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ทรงเกื้อหนุนสุนทรภู่มาด้วยอิกพระองค์ ๑ ในสมัยเมื่อสุนทรภู่ได้พึ่งพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แลกรมหมื่นอับสรสุดาเทพอยู่นั้นไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ จึงแต่งนิราสพระประธม (ที่ถูกควรจะเรียกว่านิราสพระปฐมเจดีย์) ซึ่งพิมพ์เปนเรื่องที่ ๓ ในสมุดเล่มนี้ ครั้นกรมหมื่นอับสรสุดาเทพสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ได้พึ่งแต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียว ได้ยินว่าทรงรับไปเลี้ยงไว้ที่พระราชวังเดิม อยู่มามีรับสั่งให้สุนทรภู่ไปหาสิ่งของที่เมืองเพ็ชรบุรี สุนทรภู่จึงแต่งนิราสเมืองเพ็ชรบุรี ซึ่งพิมพ์เปนเรื่องที่ ๔ ในสมุดเล่มนี้ เปนนิราสเรื่องที่สุดของสุนทรภู่ เพราะต่อมาอิกไม่ช้า ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งสุนทรภู่เปนที่พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมพระอาลักษณฝ่ายพระบวรราชวัง ได้ความสุขมาจนสิ้นชีพ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๓๙๘ มีนิราสของสุนทรภู่อยู่อิกเรื่อง ๑ คือ นิราสเมืองสุพรรณบุรี สุนทรภู่แต่งเมื่อยังบวชอยู่ ที่มิได้เอามาพิมพ์ในสมุดเล่มนี้ เพราะแต่งเปนโคลง ๔ ไม่เข้าชุดกับเรื่องอื่นๆ ที่แต่งเปนกลอนสุภาพ เรื่องตำนานนิราสของสุนทรภู่ มีดังกล่าวมา

หวังใจว่า ท่านทั้งหลายได้รับหนังสือที่พระยานรเนติบัญชากิจแจกคราวนี้ จะยินดีแลพอใจอ่านทั่วกัน.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๑๐ มกราคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๖

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ