คำนำ

มหาเสวกตรี พระยาอภัยรณฤทธิ (เชย ยมาภัย) จ,ม.ท,จ. ฯลฯ รับพระบรมราชโองการฯ โปรดเกล้าฯ ให้เปนพระยายืนชิงช้าในปีมโรง พ.ศ. ๒๔๕๙ นี้ มีความประสงค์จะพิมพ์หนังสือเปนของชำร่วยผู้ที่ช่วยงาน ได้มาขอให้กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ เลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดสำหรับพระนครให้พิมพ์ กรรมการมีความยินดีที่จะรับธุระให้ตามประสงค์ ด้วยการพิมพ์หนังสือแจกในพิธียืนชิงช้า ตั้งแต่พระยาศรีวรวงษ์พิมพ์แจกเมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๔๕๗ พระยาราชนกูลพิมพ์แจกในปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๕๘ ต่อมา ปรากฎว่าเปนที่พอใจของผู้ที่ได้รับแจกมากอยู่ กรรมการหอพระสมุดฯ คาดอยู่ว่า ผู้ที่เปนพระยายืนชิงช้าปีนี้ คงจะมาขอเรื่องหนังสือพิมพ์แจกอิก จึงได้เลือกเรื่องหนังสือเตรียมไว้แล้ว แต่หนังสือพิมพ์แจกในการยืนชิงช้า จำต้องเปนเรื่องสั้นๆ เพราะคงต้องพิมพ์เมื่อจวนงานเสมอ ในปีนี้จึงได้เลือกบทกลอนเห่กล่อม ซึ่งหอพระสมุดฯ พึ่งได้ฉบับมาไม่ช้านัก หนังสือเรื่องนี้สุนทรภู่แต่งโดยมากแต่งดีแต่หาฉบับยาก ผู้ที่ได้เคยอ่านเห็นจะมีน้อย สมควรจะอธิบายตำนานหนังสือเรื่องนี้ไว้ให้ทราบ

บทเห่กล่อมนี้ แต่งขึ้นสำหรับข้าหลวงร้องเห่พระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ เวลาไกวพระอู่ให้บรรธม สุนทรภู่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ แต่จะแต่งถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำหรับเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอเปนสามัญทั่วไป ฤๅจะแต่งสำหรับเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอเฉภาะพระองค์ใดในครั้งนั้น ข้อนี้สงไสยอยู่ แลได้ทราบว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น มีเจ้านายหลายพระองค์ คือ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ แลกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์เปนต้น ก็ได้ทรงแต่งขึ้นอิกบ้าง จึงไม่กล้ายืนยันแน่ว่า บทเห่กล่อมที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้บทไหนบ้างที่เปนของผู้อื่นแต่งนอกจากสุนทรภู่ ตามที่สังเกตความแลกลอนเข้าใจว่า เห่ตอนกล่อมบรรธมแลตอนเรื่องพระอไภยนั้น เปนของสุนทรภู่ ตอนอื่นอาจจะเปนของผู้อื่น

บทเห่เหล่านี้ เห่กล่อมเจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ตลอดลงมาจนในรัชกาลที่ ๔ ข้าหลวงท่องจำกันต่อๆ มาไม่ปรากฎว่าใครเคยจบรวบรวมลงไว้ จนมาได้เห็นฉบับที่หอพระสมุดฯ ได้มา ฉบับนี้เปนลายมืออาลักษณ์เขียนเส้นหรดาลเมื่อในรัชกาลที่ ๔ มีบทเห่กล่อมบรรธมเรื่อง ๑ เรื่องจับระบำเรื่อง ๑ เรื่องพระอไภยมณีเรื่อง ๑ เรื่องกากีเรื่อง ๑ มีเนื้อความปรากฎข้างท้ายว่า เจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง รับสั่งให้ผู้ที่ท่องจำไว้ได้บอกให้จดถวาย มิใช่คัดจากหนังสือที่มีอยู่แล้ว เพราะฉนั้นบทเห่จึงไม่ครบบริบูรณ์ทุกบทที่แต่งกันไว้แต่ก่อน เมื่อจะรวมบทเห่พิมพ์สมุดเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้สืบถามหาบทเห่ที่ยังขาด มีชาววังชั้นเก่าจำบทเห่ไว้ได้บ้าง ได้บทเห่เรื่องอิเหนาเรื่อง ๑ กับบทเห่เรื่องอนิรุทธ เข้าใจว่าแต่งในชั้นหลัง แต่งเปนกลอนแปดอิกเรื่อง ๑ พิมพ์ต่อไว้ข้างท้าย เพื่อจะรักษาบทเห่ของเก่าเหล่านี้มิให้สูญเสีย

ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่า ท่านทั้งหลายผู้ที่ได้สมุดเล่มนี้ไป คงจะเห็นว่าบทเห่เหล่านี้เปนหนังสือแต่งดี แลคงขอบใจพระยาอภัยรณฤทธิ ซึ่งได้พิมพ์ให้แพร่หลายเปนครั้งแรก

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ