คำนำ อธิบดีกรมศิลปากร

สาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาแจ้งแก่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร ว่ามีความประสงค์จะขออนุญาตจัดพิมพ์หนังสือบทละคร เรื่อง “พระศรีเมือง” พระราชนิพนธ์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (กรมพระราชวังหลัง) เพื่อเผยแพร่แก่ผู้สนใจ กรมศิลปากรพิจารณาแล้ว ยินดีอนุญาตให้พิมพ์ได้ดังประสงค์

หนังสือบทละคร เรื่อง “พระศรีเมือง” นี้ ต้นฉบับเป็นสมุดไทยดำจำนวน ๘ เล่ม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่หอพระสมุดวชิรญาณ (หอสมุดแห่งชาติปัจจุบัน) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ประทานพระวินิจฉัยเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้ไว้ในสำเนาจดหมายโต้ตอบกับเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ว่า

“บทละคอนเรื่องพระศรีเมืองนั้นที่ในหอพระสมุดฯ หามีไม่ มีแต่แต่งเป็นกาพย์หนังสือสวด (แต่ฉบับก็ไม่บริบูรณ์) เป็นสำนวนแต่งและฝีมือเขียนครั้งกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าเรื่องพระศรีเมือง ตัวเรื่องก็ตรงกับในบทละคอน เพราะฉะนั้น เป็นอันได้ความว่า นิทานเรื่องพระศรีเมืองนี้มีแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแต่มิใช่ชาดก ทำนองจะเป็นเรื่องนิทานพวกพราหมณ์หาเข้ามา เช่นเรื่องพระนล

บทละคอนเรื่องพระศรีเมืองนั้น พิเคราะห์ดูสำนวนที่แต่งเป็นบุคคลชั้นสูง อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ กระบวนกลอนเป็นกลอนเก่ารุ่นรัชกาลที่ ๑ ถ้าเป็นพระราชนิพนธ์ไซร้ ผู้ที่จะแต่งก็อยู่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ หรือสมเด็จพระบวรราชเจ้ารัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ รัชกาลที่ ๓ หรือจะเป็นกรมพระราชวังหลัง รวมใน ๗ พระองค์นี้

พระราชนิพนธ์บทละคอนที่ปรากฏอยู่ พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หาเหมือนสำนวนกลอนบทละคอนเรื่องพระศรีเมืองไม่ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ารัชกาลที่ ๑ มีเพลงยาวปรากฏอยู่ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ารัชกาลที่ ๓ ก็มีบทละคอนเรื่องขุนช้างขุนแผนปรากฏอยู่หาใกล้กับบทละคอนเรื่องพระศรีเมืองไม่ จึงเห็นว่าน่าพิจารณาแต่ว่าจะเป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จพระบวรราชเจ้ารัชกาลที่ ๒ หรือกรมพระราชวังหลัง พระราชนิพนธ์บทกลอนของสมเด็จพระบวรราชเจ้ารัชกาลที่ ๒ มีอยู่น้อย ได้พิมพ์ไว้ในหนังสือบวรราชนิพนธ์ที่ข้าพเจ้าส่งมาพร้อมกับจดหมายฉบับนี้ แต่พระราชนิพนธ์กรมพระราชวังหลังนั้น บทกลอนไม่ปรากฏเลย ได้ยินกล่าวกันแต่ว่าหนังสือเรื่องเลียดก๊กนั้น เป็นของกรมพระราชวังหลังทรงอำนวยการแปล แต่ความที่ปรากฏเพียงนั้น ก็ไม่แสดงว่าจะทรงบทกลอนไม่ได้ ข้าพเจ้าคิดช่างใจดู นึกว่าบทกลอนเรื่องพระศรีเมืองนี้เห็นจะเป็นพระราชนิพนธ์กรมพระราชวังหลัง จึงไม่ปรากฏว่ามีฉบับแห่งหนึ่งแห่งใด แม้ในพระราชวังบวร อย่าว่าแต่ไม่มีฉบับที่อื่นเลย ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินทีเดียวว่ามีบทละคอนเรื่องพระศรีเมือง พึ่งมาทราบในครั้งนี้ เห็นว่าต้นฉบับจะมาตกอยู่ในหอหลวงตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ หรือรัชกาลที่ ๒ ไม่มีที่อื่นอีก จึงไม่มีใครทราบ”

พระราชนิพนธ์บทละครเรื่องนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ตรวจสอบชำระและให้จัดพิมพ์ครั้งแรกในงานรับพระราชทานเพลิงศพนายอรุณ จันทรางศุ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ ส่วนการจัดพิมพ์ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบัน พร้อมทั้งนำต้นฉบับสมุดไทยมารวมพิมพ์ไว้ด้วยเพื่อประโยชน์ในทางวิชาการ

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือบทละคร เรื่อง “พระศรีเมือง” ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลจัดพิมพ์เผยแพร่นี้ จะอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้สนใจศึกษาทางด้านภาษาและวรรณคดีไทยโดยทั่วกัน อีกทั้งจักเป็นการสืบทอดวรรณคดีมรดกอันทรงคุณค่าของชาติให้ยั่งยืนตลอดไป

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร พฤษภาคม ๒๕๕๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ