คำอธิบายศัพท์

กระหมิด (ว.) - ขมวดให้แน่น เช่น

๏ สานรวดกวดชิดกระหมิดมั่น ชายหนึ่งพันผูกศอนวลหง
หัตถ์ปล่อยห้อยโหนโยนองค์ หมายจะให้ปลดปลงพิราลัย

ก้านแย่ง (น.) - ชื่อลายชนิดหนึ่ง มีรูปโครงเป็นตาข่ายแย่งดอก แย่งก้านกัน เช่น

๏ ภูษาก้านแย่งพื้นดำ เลิศลํ้าไม่มีใครเปรียบได้
ทรงสไบตาดทองยองใย เนาวรัตน์ตรัสไตรจินดา

กุก่อง (ว.) - รุ่งเรือง สุกใส เช่น

๏ จัดสรรกันทำตะพานทอง กุก่องใหญ่ยาวเป็นนักหนา
ล้วนทองพิจิตรรจนา เข้ามาจนถึงทวารวัง

ขรัวตา (น.) - สามัญชนที่เป็นตาของพระองค์เจ้า เช่น

๏ จัดพระญาติของยักษ์ชักพระศพ แต่งเครื่องครบเปล่งปลั่งอยู่ทั้งคู่
ไปนิมนต์สิทธาขรัวตาครู ที่ท่านรู้เชี่ยวชาญอ่านพระธรรม์

เจ้าขรัว (น.) - คนมั่งมี เช่น

๏ ตรัสสั่งมหาเสนา เร่งเร็วอย่าช้าจงผายผัน
ไปบอกเจ้าขรัวตาเฒ่านั้น เร่งแต่งหลานขวัญนั้นเข้ามา

ไฉยา (น.) - ผู้หญิง, นางผู้มีโฉมงาม เช่น

๏ มาเห็นซากศพที่วอดวาย กระดูกกองก่ายอยู่นักหนา
สังเวชพระทัยนางไฉยา ชลนาคลอเนตรอยู่ฟูมฟอง

ตะละ (ว.) - ดุจ, เหมือน เช่น

๏ หลานกูเชยชมอยู่ทุกวัน จะเกรงใจกันก็หาไม่
นางยิ่งโกรธาตะละไฟ นางเปรียบปรายให้มิได้ช้า

เตียบ (น.) - ตะลุ่มปากผาย มีฝาครอบ สำหรับใส่ของกิน เช่น

๏ เมื่อนั้น พิกุลทองสมจิตไม่คิดหมาง
จัดแจงโต๊ะเตียบแล้วเทียบวาง พิกุลทองของนางติดมือไว้

โตนด (น.) – ชื่อเรียกลูกบัวสกุล Nymphaea เช่น

๏ บ้างถอนสาหร่ายสายโตนดลิงโลดใจ นางในชื่นชมหรรษา
โฉมพิกุลทองก็เปรมปรา สาวสรรกัลยาก็ยินดี

ทับ (น.) - กระท่อมหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทำอยู่ชั่วคราว เช่น

๏ มาเห็น ทับน้อยตายายที่ชายป่า
มาณพทำกลมารยา เดินตรงเข้าหาโศกาลัย

ทำวน (ก.) - ห่วงใย, วุ่นวายใจ เช่น

๏ ทั้งนางองค์อัครมเหสี ว่ามีทำวนเป็นนักหนา
เอาหลานซ่อนไว้ในปรางค์ปรา นางทาสาเร่งไปในบัดนี้

นักงาน (น.) - ตัดมาจากคำว่า “พนักงาน” หมายถึง หน้าที่ เช่น

๏ โปรดหัวเอ็นดูช่วยเลี้ยงข้า น้ำท่าฟืนผักจะหาให้
ตกนักงานข้าอย่าร้อนใจ ว่าพลางทางไห้โศกา

นักเทศ (น-) - คนต่างประเทศที่สำหรับใช้ในราชสำนัก เช่น

๏ พี่ไปสั่งกำนัลนารี นักเทศขันทีทั้งซ้ายขวา
จะขึ้นไปทูลลาพระบิดา แล้วจึงจะพากันคลาไคล

นักสนม (น.) - หญิงคนใช้ในพระราชวัง เช่น

๏ เข้าที่ชำระสระสรง จัดแจงแต่งองค์ให้ผ่องใส
พร้อมด้วยนักสนมกรมใน เสนานำไปพนาวัน

บาหลี (น.) - ห้องเล็ก ๆ ที่อยู่ท้ายเรือสำเภา เช่น

๏ เร่งให้ไปทำสำเภาทอง อันงามเรืองรองเลขา
บาหลีที่ท้ายเภตรา ประดับแก้วจินดาให้เรืองไร

ปัจจุสมัย (น.)- เวลาเช้ามืด เช่น

๏ คืนนี้เวลาปัจจุสมัย กูฝันหลากใจเป็นหนักหนา
ว่าดาวดวงหนึ่งโสภา ตกลงมาที่แท่นบรรทมใน

ปากปลา (น.) – ส่วนหัวของสำเภาที่ว่างอยู่ไม่ได้อุดกระดาน เช่น

ปากปลาราโทท้ายสัดจอง ฉลุฉลักลายทองผ่องใส
จัดแจงนายช่างทั้งนั้นไป ให้แล้วแต่ในบัดนี้

ปูม (น.) - ผ้าไหมชนิดหนึ่งมีดอกเป็นตา ๆ เช่น

๏ ว่าแล้วก็ชวนกันอาบนํ้า ชำระกายาให้ผ่องศรี
ตาเฒ่านุ่งปูมอย่างดี ยายเอ๋ยกูนี้มางามครัน

ย่านาง (น.) - ผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้หญิงที่ประจำรักษาเรือ เรียกว่า แม่ย่านางเรือ เช่น

๏ มาจะกล่าวบทไป ย่านางรักษาสำเภาใหญ่
มีจิตเมตตานางทรามวัย สำแดงให้เห็นกายา

โยนยาว (น.) - จังหวะร้องเพลงขณะพายเรือจังหวะช้า เช่น

๏ ฝีพายโยนยาวมี่ฉาวมา กระทุ้งเสาโห่ลั่นสนั่นไหว
ลัดทุ่งมาตามชลาลัย เรือดั้งตั้งไล่พายสุมมา

ระคาง (ก.) - หมางใจ, เคืองใจ เช่น

๏ มิใช่ไปแล้วไม่กลับมา ลูกยาหักใจเจ้าไว้บ้าง
ฝ่ายผัวของเจ้าเขาจะระคาง ฟังคำแม่บ้างอย่าโศกี

ระทา (น.) - เรือนดอกไม้ไฟทำเป็นหอสูงรูปสี่เหลี่ยมหลังคาประดับด้วย ดอกไม้ไฟ สำหรับใช้จุดในงานพระเมรุ เช่น

๏ ช่องระทากำมพฤกษ์ก็มีครบ ไม่ใคร่จบท้าวนึกรำลึกใส่
โรงหวานคาวของเคียงเรียงกันไป เสร็จดังเทพไทจินตนา

ราโท (น.)- ไม้กระดานเรียบที่ประกบกราบเรือสำหรับกันนํ้าเข้าเรือ หรือเดินเลียบข้างเรือ เช่น

๏ ปากปลาราโทท้ายสัดจอง ฉลุฉลักลายทองผ่องใส
จัดแจงนายช่างทั้งนั้นไป ให้แล้วแต่ในบัดนี้

ราชวัติ (น.) -รั้วแผงที่ทำเป็นตาสี่เหลี่ยม ปักเป็นระยะๆ มีฉัตรธง กล้วย อ้อยปักหัวท้ายแผง เช่น

๏ มีทั้งราชวัติฉัตรแก้ว เลิศแล้วเรียงรายอยู่สะพรั่ง
ให้ประโคมฆ้องกลองแตรสังข์ ดุริยางค์ดนตรีเป็นโกลา

วาง (ก.) - อาการที่เคลื่อนที่ไปโดยรีบร้อน เช่น

๏ บัดนั้น อำมาตย์รับสั่งใส่เกศี
บังคมก้มกราบลงสามที เสนีก็วิ่งวางไป

สนัดใจ (ว.) - ถนัดใจ เช่น

๏ เมื่อนั้น สองเฒ่าโกรธใจเป็นนักหนา
สนัดใจอยู่แล้วอย่าเจรจา ครั้งนี้จะพากันบรรลัย

สาระวอน (ก.) - พูดออดอ้อน เช่น

๏ อย่าเชื่อคนสาระวอนมันยอนยุ หน่อยจะมุคิดอ่านทำการใหญ่
สิ่งนี้แม่ขอไม่พอใจ มักเกิดภัยปัจจุบันเห็นทันตา

สำซ่าง (น.) - โรงขนาดเล็กมียกพื้นข้างในสำหรับพระสงฆ์นั่งสวดพระอภิธรรมในงานพระเมรุ เช่น

สำซ่างวางสวดธรรมขันธ์ ราชวัติฉัตรชั้นไพจิตร
ประทีปตั้งจังหวะชวลิต รอกติดระย้าแก้วแววระยับ

อสงไขย (ว.) - มากจนนับไม่ถ้วน เช่น

๏ เห็นแต่กระดูกกองก่าย มากมายกว่าหมื่นอสงไขย
จะเป็นโจรปล้นก็ผิดไป เหตุไรข้าวของเต็มภารา

อา (ว.) - คำออกเสียงท้ายคำพูคในความรำพึงหรือวิตก เช่น

๏ เคยขึ้นมาเฝ้าทุกเวลา ลูกเจ้าสองราอยู่แห่งใด
ไม่เห็นขึ้นมานี้ว่าไร เจ็บปวดเป็นไฉนนะลูกอา

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ