คำนำ

นิทานไทยจำนวนมากเกิดขึ้นจากจินตนาการของผู้แต่ง จึงมีเรื่องราวเกี่ยวกับอภินิหารปรากฏอยู่แทบทุกเรื่องโดยไม่คำนึงถึงหลักความจริงมากนัก อีกทั้งมีต้นกำเนิดมาจากวรรณกรรมมุขปาฐะซึ่งไม่ทราบผู้เล่าต้นเรื่องที่แน่นอน ด้วยเหตุนี้จึงพบว่านิทานไทยจำนวนมากไม่นิยมระบุชื่อผู้แต่ง นิทานไทยเหล่านี้นอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวความสนุกสนานตามท้องเรื่องแล้วยังเป็นตัวกำหนดค่านิยม ตลอดจนสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ของสังคมไทยในอดีตได้เป็นอย่างดี

บทละครนอก เรื่องพิกุลทอง เป็นนิทานไทยเรื่องหนี่งซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับผู้แต่ง แต่เมื่อพิจารณาจากสำนวนที่ติดปากคนไทยว่า “กลัวดอกพิกุลจะร่วง” อาจสันนิษฐานได้ว่านิทานไทยเรื่อง พิกุลทอง คงเป็นที่นิยมมากในอดีต กระทั่งเอกลักษณ์ของตัวละครเอกในเรื่องกลายเป็นสำนวนติดปากคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้

กรมศิลปากรพิจารณาแล้วเห็นว่า บทละครนอก เรื่องพิกุลทอง เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรื่องราวค่านิยมทางสังคม อีกทั้งประเพณีและความเชื่อของสังคมไทยในอดีต จึงได้มอบให้ นางสาวธิดาเพ็ญ เข็มสว่าง นักภาษาโบราณ ๗ ว. กลุ่มภาษาและวรรณกรรม สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ตรวจสอบชำระจากต้นฉบับหนังสือสมุดไทย ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ โดยปรับอักขรวิธีบางส่วนให้เป็นอักขรวิธีตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ทั้งนี้ได้จัดทำคำอธิบายศัพท์ท้ายเล่มเพี่อสะดวกในการศึกษาค้นคว้าด้วย

กรมศิลปากรหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทละครนอก เรื่องพิกุลทอง จะอำนวยประโยชน์ให้แก่นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจศึกษาวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๑

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ