วิเคราะห์บทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า

นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

บทดอกสร้อยสวรรค์ครั้งกรุงศรีอยุธยาที่นำมาพิมพ์ในหนังสือนี้ ประกอบด้วยบทโต้ตอบระหว่างชาย หญิง รวมทั้งสิ้น ๗๗ บท เป็นบทชาย ๓๙ บท บทหญิง ๓๘ บท ในบทสุดท้ายมีเนื้อความตอนหนึ่งที่ผู้ประพันธ์กล่าวถึงที่มาของบทดอกสร้อยสวรรค์ว่า

“ดอกสร้อยเกษีอันมีรศ ก็หมดเรื่องร้องทั้งสองข้าง
แต่สอนเปนเล่นพลางพลาง แม้นขาดบทน้างอย่าไยไพ
ประดิษฐติดต่อข้อกลอน ตูข้าพึ่งสอนทำใหม่
เอาโคลงมาแต่งจึ่งแจ้งใจ ฟังแล้วอย่าได้นินทา”

ข้อความที่ผู้ประพันธ์ระบุว่า “เอาโคลงมาแต่งจึ่งแจ้งใจ” นั้นเมื่อพิจารณาคำและเนื้อหาในบทดอกสร้อยแล้วจะเห็นว่าหลายบทคงจะได้ต้นเค้าในการแต่งมาจาก “โคลง” ซึ่งกวีในยุคก่อนหน้านี้ได้ประพันธ์ไว้ โคลงสมัยอยุธยาบางบทที่เหลือตกทอดมาถึงปัจจุบันมีเค้าคำ เค้าความ ใกล้เคียงกับบทดอกสร้อยสวรรค์ เช่นโคลงกวีโบราณซึ่งพระยาตรังรวบรวมไว้เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โคลงบทหนึ่งที่กล่าวว่าเป็นฝีปากของ พระมหาราช แต่งไว้แต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังนี้

๏ มลักเห็นใบจากเจ้า นิรมิตร
เป็นสำเภาไพจิตร แป๊ะโล้
จะลงระวางวิด จวนแก่ อกเอย
แม้นหนุ่มวันนั้นโอ้ พี่เพี้ยงเดินสาน ฯ

บทดอกสร้อยสวรรค์ บทชายบทหนึ่ง ว่า

๏ หลากเอยหลากเห็น เหมือนจะเปนสำเภาอันไพจิตร
งามจริงยิ่งเทพนิมิตร แปดทิศโล้เลื่อนลอยมา
คิดจะใคร่ลงระวางเล่น ก็เห็นจวนแก่หนักหนา
ยามเมื่อหนุ่มแน่นอยู่นั้นนา จะเดินสารเภตราคลาไคล
ข้าได้เรียนรู้ต้นหน ทั้งคนท้ายนายใบแก้ไข
เล่ห์ทายคิดเสียดายเปนพ้นใจ เอนดูเถิดเราจะไปด้วยกัน ฯ

อีกบทในโคลงกวีโบราณฝีปากของ บโทน ต่อพระนิพนธ์ ว่า

๏ เรียมพิศแต่บาทเท้า ถึงผม
บ ต่ำ บ สูงสม แน่งน้อย
อ้อนแอ้นอ่อนเอวกลม กำรอบ
(ติแต่นมเล็กหน้อย หนึ่งนั้นเสียโฉม) ฯ

บทดอกสร้อยสวรรค์ ว่า

๏ พิศเอยพิศบัวบาท ผุดผาดแต่เท้าถึงผม
นวลลอองผ่องภักตร์พึงชม สมสรรพสรรพางค์แน่งน้อย
อ้อนแอ้นเอวกลมกำรอบ ประกอบจริงยิ่งดวงดอกสร้อย
ใครจะเอี่ยมเทียมเจ้าสาวน้อย ร้อยชั่งไม่มีใครจะปาน ฯ

บทนี้แปลงความในบาทที่ ๔ ของโคลงเสียใหม่ให้มีเนื้อหาในเชิงนิยมยกย่อง

บทดอกสร้อยสวรรค์บทหนึ่งมีลีลาใกล้เคียงกับ โคลงทวาทศมาส ความว่า

๏ โอ๊ะโอ้นัยนิศน้อง นางนงค์ แน่งเอย
จรเจตจิตตเรียมจง จอดเจ้า
สระบาสมบูรณ์บง กชมาศ กูเอย
ฤๅนิรารสเหน้า หน่อศรี ฯ

เทียบดอกสร้อยสวรรค์ว่า

๏ “หน้าเอยหน้างาม ทรามเสน่ห์เจ้าเนื้อนวลหง
เยาวสรรพสรรพางค์สำอางองค์ ยงยิ่งใช่แกล้งกล่าวน้อง
ขาวศรีสมบูรณ์บงกชมาศ เพียงจะบาดตาพี่ไม่มีสอง
ภักตราดังมณฑาทอง ทำนองดังหงส์ทองบิน”

บทดอกสร้อยสวรรค์อีกบทหนึ่งน่าจะนำมาจากโคลงกลอักษรเลข ในหนังสือจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี

๏ คิดถึงรำพึงถ้า บ วายวัน
หลับหลงใหลมเมอฝัน อยู่ด้วย
ในฝันว่ารศอัน เอมโอช
เปนนิรันดร ฤๅม้วย แต่ตั้งคนึงถึง ฯ

บทชาย

๏ คิดเอยคิดถึง แสนคนึงท่าน้องไม่วายวัน
เรียมหลับประเพ้อละเมอฝัน ว่าอยู่ด้วยกันทุกราตรี
ในฝันว่ารศเอมโอช ประโมทย์ด้วยความเกษมศรี
รำพึงคนึงนารี มิตรจิตรก็มีมิตรใจ ฯ

อนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้จารึกตำราศิลปวิทยาการต่างๆ ไว้ที่วัดพระเชตุพนฯครั้งนั้นมีการรวบรวมโคลงกลบทและโคลงกลอักษรหลายชนิดไว้ด้วยกลบทบางชนิดเป็นของที่มีมาแต่ก่อน บางชนิดเป็นผลงานของราชกวีแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลบทชนิดหนึ่งมีชื่อว่า ฉันท์ลันโลงโคลงลาว ๑๔ อักษร ต้นแบบของกลบทนี้นำเอาดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่ามาเป็นตัวตั้ง ดังนี้

๏ นอนเอยนอนวัน ใฝ่ฝันว่าได้ไปพบศรี
เจ้าสาวสวัสดิ์กระษัตรีย์ อยู่ดีหรือไค่เจ้าแน่งน้อย
เรียมรักเจ้าสุดแสนทวี ตัวพี่ไม่ไค่แต่ใจสร้อย
ดังหนึ่งเลือดตาจะหยดย้อย เพราะเพื่อน้องน้อยเจ้านานมา

ถอนกลออกเป็นโคลงสี่สุภาพได้ว่า

๏ นอนวันฝันว่าได้ พบศรี
เจ้าสาวสวัสดิ์กระษัตรีย์ แน่งน้อย
เรียมรักสุดแสนทวี พี่ไค่
ดังเลือดตาจะย้อย เพื่อน้องนานมา ฯ

จากความที่ผู้แต่งบทดอกสร้อยสวรรค์กล่าวว่า “เอาโคลงมาแต่ง จึ่งแจ้งใจ” บทประพันธ์ที่เป็นกลอนต้นแบบของกลฉันท์ลันโลงโคลงลาว ๑๔ อักษรน่าจะเกิดขึ้นภายหลังโคลงที่ถอนถอดออกจากกล คือมีโคลงอยู่ก่อนแล้วนำมาปรับแปลงแต่งเป็นดอกสร้อยในภายหลัง และอาจตั้งเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า โคลงบทนี้น่าจะแทรกอยู่ในวรรณกรรมสมัยอยุธยาเรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่ต้นฉบับสูญไปไม่เหลือมาถึงปัจจุบัน

โคลงกลจากจารึกวัดพระเชตุพนฯที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่สมมุติฐานว่าบทดอกสร้อยสวรรค์บทอื่นๆ อีกหลายบท น่าจะมีที่มาจากโคลงสี่สุภาพเช่นกันแต่ตัวโคลงที่เป็นแม่แบบสูญหายไปแล้ว เหลือแต่เค้าของรูปคำและจังหวะลีลาของโคลงที่แทรกอยู่ในกลอน ตัวอย่างเช่น

บทชาย

๏ แก่เอยแก่แล้ว รากแก้วพี่หักฟันฟาง
มือถือตะไกรต่างคาง พี่พลางเสียดซอยย่อยยํ้า
อันว่าความรักไม่วายวาง คนึงนางพี่พลางครวญคร่ำ
ค่ำคลุ้มชอุ่มลง ว้ำว้ำ พี่ก็คร่ำเรียกน้องเข้านอนใน

บทดอกสร้อยนี้เมื่อตัดทอนคำบางคำออกจะเป็นโคลงสี่สุภาพได้ ดังนี้

๏ “แก่แล้วรากแก้วพี่ ฟันฟาง
ถือตะไกรต่างคาง ย่อยยํ้า
ความรักไม่วายวาง ครวญคร่ำ
ค่ำคลุ้มชอุ่มว้ำว้ำ เรียกน้องนอนใน”

บทชาย

สุดเอยสุดใจ ไกลเนตรพี่แล้วเจ้าแก้วตา
สุดที่จะเล็งแลหา เจ้าแล้วแลนาณกลอยใจ
สุดโหยสุดไห้อาไลยนัก สุดรักสุดจิตรพิศมัย
ดังจะสุดชีวิตจิตรใจ พ่างเพียงจะสิ้นสุดปราณ

บทนี้เมื่อเพิ่มและตัดคำบางคำออกจะเป็นโคลงสี่สุภาพ ดังนี้

๏ “สุดใจไกลเนตรแล้ว แก้วตา
สุดที่เล็งแลหา (___)[๑] แล้ว
สุดโหยสุดไห้อา ไลยนัก
ดังจะสุดชีวิต(___) พ่างสิ้นสุดปราณ”

บทชาย

๏ ใจเอยใจหลง จงจิตรรักชู้ที่คู่หมาย
อาวรณ์ร้อนรนสกลกาย พี่ชายวากเว้ทุกเวลา
เสียคำจำเปนเสียดายนัก จะปลิดปลดรศรักเสน่หา
ได้บุกป่าฝ่าดงแต่เดิมมา วัจนาเสียชื่อกระสัตรี
จะฝืนคืนตัวก็ยิ่งยาก นี่เนื้อวิบากกรรมมาทำพี่
จำเปนจะลองเล่นครั้งนี้ เจ้าจงปราณีพี่ด้วยรา ฯ

อาจเพิ่มหรือตัดทอนคำบางคำออกได้เปนโคลงสี่สุภาพได้ว่า

๏ “ใจหลงจงรักชู้ คู่หมาย
ร้อน(___)สกลกาย วากเว้
เสียคำ(___)เสียดาย รศรัก
บุกป่าฝ่าดง(___) นี่เนื้อวิบากกรรม”

นอกจากบทดอกสร้อยสวรรค์บางบทจะมีที่มาจากโคลง ดังตัวอย่างที่อ้างแล้วในตอนต้น ความคิดในบทดอกสร้อยอาจส่งอิทธิพลมาถึงงานกวีนิพนธ์ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์บางเรื่องดังจะเห็นได้จากโคลงโลกนิติ พระนิพนธ์ในสมเด็จฯกรมพระยาเดชาดิศร มีโคลงบทหนึ่งว่า

๏ “หนี เสือขึ้นไม้รอด ปากเสือ
พบ ต่อแตนดุเหลือ ต่อยต้อง
หนี แรดร่ายลงเรือ รอดจาก แรดนา
ปะ จระเข้ในท้อง น่านน้ำหนุนเรือ ฯ

ที่มาของโคลงบทนี้คือสำนวนคำพังเพยที่ว่า “หนีเสือปะจระเข้ ขึ้นต้นไม้ปะรังแตน” ซึ่งมีในบทดอกสร้อยสวรรค์ครั้งกรุงเก่าว่า

๏ หนีเอยหนีเสือ ขึ้นต้นไม้ก็ต่อแตนขบ
ครั้นขึ้นสู่ภูเขาเทาทบ มาสบแรดร้ายราวี
ครั้นลงมาสู่แผ่นดินเล่า ก็พบงูเห่าวิ่งหนี
ครั้นโถมลงน้ำนที พี่มาพบท้าวพันวัง
เรือน้องน้อยเจ้าพายมา เมตตามารับพี่มั่ง
พี่นี้สิ้นสูญกำลัง ร้อยชั่งจงได้ปรานี ฯ

บทดอกสร้อยสวรรค์บทนี้ พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) นำมาประพันธ์เป็นกาพย์ห่อโคลงอธิบายความหมายของสำนวนในเรื่อง “ไขภาษา” ความว่า

หนี พยัคฆ์หยักรั้งวิ่ง วู่วาม
เสือ ยิ่งแล่นไล่ตาม ติดกระชั้น
ปะ คลองใหญ่ใจหวาม โจรว่าย น้ำแฮ
จระเข้ โผล่กั้น เกิดร้ารอบทาง
หนี พยัคฆ์หยักรั้งวิ่ง เสือ ก็ยิ่งไล่มิวาง
ปะ คลองจ้องโจนผาง จระเข้ ขวางหมดทางไป
ขึ้น บนต้นไม้เพื่อ พ้นเสือ
ต้น ใหญ่ป่ายปีนเจือ จดจ้อง
ไม้ เปลาต่ายตามเครือ เถากระทั่ง ยอดนา
ก็ ปะรังแตนต้อง ไต่ต้อยถอยหลัง
ขึ้น พฤกษ์หนีเสือไล่ ต้น มันใหญ่ใช้เหนี่ยวรั้ง
ไม้ เถาเต้าสมหวัง ก็ ปะรังแตนต้องหนี

วรรณกรรมเป็นเครื่องมือบันทึกความคิดความเชื่อของสังคมและบุคคลในสมัยนั้น ความคิดความเชื่อบางอย่างอาจมีการถ่ายทอดโดยการเล่าสืบกันมา บางอย่างถ่ายทอดโดยการบันทึกบางกรณีเราไม่อาจทราบได้ว่าวรรณกรรมแต่ละเรื่องที่มีเนื้อหาตรงกันหรือใกล้เคียงกันนั้น ได้รับการถ่ายทอดจากยุคหนึ่งไปสู่ยุคหนึ่งด้วยวิธีการใด

นิทานคำกลอนเรื่องจันทโครบของสุนทรภู่ มีเนื้อหาตอนที่จันทโครบพานางโมราเดินทางไปในป่าตอนหนึ่ง ว่า

“พะงางอนวอนถามถึงนามนก ไยวิหคจึ่งรู้รำแพนหาง
พระแย้มเยื้อนเบือนบอกยุบลนาง แต่ก่อนปางนั้นเจ้าเขาเล่ากัน
ว่ายังมีมยุรากับการ้าย จะผลัดกันเขียนลายให้เฉิดฉัน
กาประดิษฐ์คิดเขียนนกยูงพลัน ให้ขนนั้นเขียวเหลืองอยู่เรืองพราย
ถึงทีกามยุราจึ่งลงรัก แล้วจะปักลายทองให้เฉิดฉาย
สกุณกาลามกไม่มีอาย ไปกินกายสุนัขาในสาชล
มยุราเห็นกาก็เกลียดนัก จึ่งทิ้งรักเสียให้แห้งไม่เขียนขน
เห็นกามารำร่าออกอวดตน จะเท็จจริงอยู่กับคนเขาเล่ามา”

นิทานเรื่องกากับนกยูงที่แทรกอยู่ในนิทานคำกลอนเรื่องจันทโครบ มีเนื้อหาทำนองเดียวกับบทดอกสร้อยสวรรค์บทหนึ่ง คือ

๏ ทำเอยทำคุณ ไม่รู้การุณแทนสนอง
คุณพี่อย่ามีเลยปอง จองแต่โทษร้ายพาธา
กลกาเขียนแก่ยูงทอง ลายเลิศลำยองเลขา
ส่วนยูงเอาหมึกมอทา ลูบไล้ให้กามอมแมม
ส่วนลายไม่เขียนให้แก่กา เอาแต่คุลาเข้ามาแต้ม
ส่วนยูงสิงามอยู่วามแวม แต้มลายระบายอยู่ทั้งตัว ฯ

ฉันทลักษณ์ของกลอนในบทดอกสร้อยสรรค์ครั้งกรุงเก่ามีลักษณะแตกต่างไปจากรูปแบบของกลอนดอกสร้อยที่เขียนกันในปัจจุบัน ดังนี้

๑. คำขึ้นต้น ใช้คำว่า “เอย” ในอักษรที่ ๒ ซ้ำรูปและเสียงอักษรแรกกับอักษรที่ ๓ เช่น ตัวเอยตัวเรียม เพื่อนเอยเพื่อนตาย ทำเอยทำคุณ ฯลฯ คำว่า “เอย” ปัจจุบันแปลงเสียงวรรณยุกต์เห็น “เอ๋ย” อนึ่งในวรรคแรกนั้นบางครั้งบทดอกสร้อยสวรรค์ใช้ถึง ๕ อักษร เช่น จะเอยจะใคร่ช่วย พิศเอยพิศบัวบาท เป็นต้น

๒. คำลงท้าย ดอกสร้อยสวรรค์เมื่อจบในแต่ละบทไม่ลงด้วยคำว่า “เอย” เช่น

“เลือดตาจะกระเด็นอยู่เปนนิจ จะคิดเปล่าแล้วอย่าปรารมภ์ ฯ”
“จะอิงแอบแนบเนื้อนวลลออง มิให้หมองไมตรีที่ในนาง ฯ”

๓. จำนวนคำกลอน บทดอกสร้อยที่นิยมแต่งกันในสมัยปัจจุบัน บทหนึ่งประกอบด้วย ๔ คำกลอน แต่ในบทดอกสร้อยสวรรค์ บทหนึ่งอาจมี ๔ หรือ ๖ หรือ ๘ คำกลอนก็ได้ เช่น

๏ ทำเอยทำเนียบ นิทานบุราณเปรียบไว้เปนไพร่
ถ้าเห็นสิ่งอื่นที่ชื่นใจ สิ่งนั้นท่านให้พินิจดู
ให้ฟังแต่ที่เพราเพราะ อันพึงไพเราะแก่หู
ที่ไม่ควรดูอย่าให้ดู ท่านห้ามทั้งหูทั้งตา
ถึงได้ฟังก็ดังหาไม่ นกเค้านี้ใครย่อมใฝ่หา
สุ้งเสียงก็เพียงอัพลา จะมุ่งมาดปราถนาไปว่าไร
อันผีสางอย่างนี้ก็ไม่กลัว หากจะยั่วทางความให้ลามไล่
อันการเวกร้องต้องใจ ท่านชมไว้แล้วพี่ก็เชยตาม ฯ

ฯ ๘ คำ ฯ

๔. จำนวนอักษรในแต่ละวรรค ดอกสร้อยสวรรค์วรรคหนึ่ง อาจประกอบด้วย ๖ – ๗ - ๘ อักษร ลีลาและน้ำหนักของกลอนมีลักษณะใกล้เคียงกับกลอนในพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องรามเกียรติ์ ในรัชกาลที่ ๑ และบทมโหรีเรื่องกากี ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) แต่กลอนดอกสร้อยที่นิยมแต่งกันในทุกวันนี้ วรรคหนึ่งนิยม ๘ อักษรทั้งนี้อาจเนื่องมาจากอิทธิพลของกลอนสุนทรภู่

๕. การส่งสัมผัส สัมผัสที่ส่งจากปลายวรรคที่ ๑ ไปยังวรรคที่ ๒ และจากปลายวรรคที่ ๓ ไปยังวรรคที่ ๔ มีลักษณะเป็นอิสระคล้ายกลอนเสภา คืออาจส่งไปยังอักษรที่ ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือ ๔ หรือ ๕ ก็ได้ ทั้งนี้เพราะในการขับลำนำเป็นทำนองต่างๆ ผู้ขับอาจเอื้อนเสียงให้สัมผัสลงในตำแหน่งที่เหมาะสม ประมวลได้คือ

สัมผัสที่ส่งจากท้ายวรรคหน้าไปยังอักษรที่ ๑ ของวรรคหลังเช่น

“เร่งคิดจิตรพี่เร่งร้อน ข้อนทรวงเข้าเพียงอกหัก”
“งามละม่อมพร้อมทรงนงคราญ ลานจิตรพิศเพียงขวัญตา”

สัมผัสส่งจากท้ายวรรคหน้าไปยังอักษรที่ ๒ ของวรรคหลัง เช่น

“ลูกหลานอย่าได้ถือโทษ เหมือนโปรดแก่เถ้าทั้งคู่”
“ทำไฉนจะได้ไปเมืองอินทร์ แต่งลิ้นจะให้ยินดี”

สัมผัสจากท้ายวรรคหน้าไปยังอักษรที่ ๓ ของวรรคหลัง เช่น

“ข้าว่าให้ดีสิไม่เห็น มาเลียมเล่นด้วยลมคมสัน”
“รอนรอนใจพี่นี้จะขาด ด้วยอำนาจความเสน่หา”

สัมผัสจากท้ายวรรคหน้าไปยังอักษรที่ ๔ ของวรรคหลัง เช่น

“ไปลองยายเถิดให้สบายใจ พาลเถ้าแสนไร้ทรชน”
“มีเรือแหนั่งขี่แพดีกว่า ความหนักชั่วช้าไม่มีเหมือน”

สัมผัสจากท้ายวรรคหน้าไปยังอักษรที่ ๕ หรือ ๖ (หรือ ๗) ของวรรคหลัง เช่น

“ตีเต่าก็คงเข้าใจ แต่ความรักนั้นไม่ฟังตา”
“ปีหน้าจะชราหนักไป ถึงระวางมิว่างเป็นไรมี”
“แล้วจะคิดแต่เมื่อแรกราก ครั้นได้แล้วจะบ่ายบากหนี”

ไม่มีสัมผัสจากท้ายวรรคหน้าไปยังอักษรใดๆของวรรคหลัง เช่น

“ตัวเอยตัวน้อง คือหนึ่งดอกสร้อยเกษี"
“ดังจะสุดชีวิตรจิตรใจ พ่างเพียงจะสิ้นสุดปราณ”
“หนึ่งเอยหนึ่งนับน้อง ล้ำเลิศก็เพียงโฉมเฉลา”

๖. เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรค เสียงวรรณยุกต์ท้ายวรรคของอักษรที่ส่งสัมผัสถึงกันในกลอนดอกสร้อยหรือกลอนสุภาพทั่วไปไม่นิยมใช้คำหรือระดับเสียงวรรณยุกต์เดียวกัน ในที่นี้จะยกตัวอย่างกลอนจากนิราศพระประธม ของสุนทรภู่ คือ

“โอ้บุปผาสารพัดที่กลัดกลีบ ครั้นรุ่งรีบบานงามไม่ห้ามหวง
ให้ชื่นชุ่มภุมรินสิ้นทั้งปวง ได้ซาบทรวงเสาวรสไม่อดออม
แต่ดอกฟ้าส่าหรีเจ้าพี่เอ๋ย มิหล่นเลยให้หมู่แมงภู่สนอม
จะกลัดกลิ่นสิ้นรสเพราะมดตอม จนหายหอมแลกลอกเหมือนดอกกลอย”

คำที่ส่งสัมผัสถึงกันในท้ายวรรคอันได้แก่คำที่พิมพ์ด้วยตัวอักษรเน้นจะมีระดับเสียงวรรณยุกต์เหมือนกันไม่ได้ แต่กลอนที่แต่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับขับลำนำเป็นทำนองเพลงในสมัยอยุธยาไม่เคร่งครัดนักกับข้อจำกัดดังกล่าว เช่นกลอนในบทละครครั้งกรุงเก่า เรื่องนางมโนห์รา บทดอกสร้อยสวรรค์ครั้งกรุงเก่าบางบทมีลักษณะเดียวกัน เช่น

“มาเอยมาพบ ดอกสร้อยสวรรค์มาไลย
เรียกรักจำนงจงใจ จะใคร่ได้ดอกสุมณฑา”
“ตัวเอยตัวเรียม เทียมภุมเรศเรืองรศคนธ์
มาพบดอกแก้วโกมล สร้อยสนสวรรค์มาลา”

ทำนองเพลงที่ใช้สำหรับขับร้องในบทดอกสร้อยสวรรค์นี้เรียกว่า “ลำ” ซึ่งหมายถึงลำนำส่วนจังหวะหรือหน้าทับที่ใช้ประกอบเพลงต่างๆนั้น เรียกว่า “ทับ” ซึ่งเพลงและชื่อหน้าทับที่ปรากฏเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าบทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่าสำนวนนี้ประพันธ์ขึ้นในสมัยอยุธยาอย่างแน่นอน เพราะชื่อลำนำและชื่อหน้าทับส่วนใหญ่ตรงกับบทมโนรีครั้งกรุงเก่า ฉบับที่หอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมไว้ ลำนำที่กล่าวถึงในดอกสร้อยสวรรค์บางเพลงยังมีผู้เล่นสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น ดอกไม้ไทร พระทอง นางนาค คำหวาน เป็นต้น แต่บางเพลงสันนิษฐานว่าสูญไปแล้ว เช่น คนพายโยก มอญลพบุรี หิ้วชาย เนียรไทรโยก ฯลฯ ในส่วนของจังหวะหน้าทับต่างๆก็เช่นกัน ปัจจุบันสูญหายไปเป็นส่วนมาก เช่น หน้าทับสามไม้ถอยหลัง หน้าทับเนรปาตี หน้าทับโฉลกแบก เป็นต้น

ภาษาสมัยอยุธยาตอนปลายที่ใช้ในบทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่ามีลักษณะใกล้เคียงกับภาษาที่ใช้ในคำประพันธ์ประเภทกลอนในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ศัพท์ต่างๆเป็นคำพื้นๆเข้าใจง่าย และอาจสื่อสารกับยุคปัจจุบันได้ไม่ลำบากนัก ส่วนคำศัพท์ชั้นสูงที่มีแทรกอยู่บ้างอาจเนื่องมาจากกลิ่นอายของโคลงที่นำมาเป็นต้นแบบ การวางจังหวะและลักษณะคำในบทดอกสร้อยสวรรค์มีลีลาคล้ายทับบทมโหรีครั้งกรุงเก่า เช่น

บทร้องสร้อยสน

๏ เจ้าเอยสร้อยสน หน้ามนเจ้าร้อยห้อยไว้
พี่จำฝีมือของเจ้าได้ ช่างงามกะไรน่าเอ็นดู
หอมรวยชวยชื่นใช่น้อย ระย้าย้อยเป็นพวงภู่
เห็นน่ารักน่าเอ็นดู โฉมตรูเจ้าช่างร้อยเอย ฯ

ฯ ๔ คำ ฯ

จะเห็นว่าบทมโหรีครั้งกรุงเก่าที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างบนนี้ใช้สำนวนภาษาง่ายๆ สามารถสื่อความกับยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับภาษาที่ปรากฏในวรรณกรรมสมัยอยุธยาคือ มักเป็นคำศัพท์ชั้นสูงเข้าใจยากเป็นส่วนมากโดยเฉพาะในคำประพันธ์ประเภทโคลงและฉันท์ ซึ่งเป็นภาษาต่างระดับกับบทดอกสร้อยสวรรค์จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวว่า บทดอกสร้อยนี้มีอายุไม่เก่าถึงสมัยอยุธยา ความต่างระดับของภาษาที่ปรากฏในวรรณกรรมที่ร่วมสมัยกันนั้นอาจเนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ ๒ ประเด็นคือ ประเด็นแรกเกิดจากความถนัดหรือความรู้ความสามารถเฉพาะตัวของกวี กวีที่มีความรู้ในทางอักษรศาสตร์ชั้นสูงย่อมนิยมใช้ศัพท์สูงอันแสดงถึงภูมิรู้ของตนและเขียนให้คนที่มีภูมิรู้ในระดับเดียวกันอ่าน เช่นสมเด็จฯ พระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์สมุทรโฆษคำฉันท์ต่อจากสำนวนของพระมหาราชครูและสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงใช้ภาษาระดับเดียวกันมีความกลมกลืนสนิทสนม แพรวพราวด้วยศัพท์ชั้นสูงซึ่งแม้ปัจจุบันก็ยังเข้าใจได้ยาก แต่สุนทรภู่ชี่งเป็นกวีร่วมสมัยกับสมเด็จฯ พระมหาสมณะเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ใช้ภาษาพื้นๆสามารถสื่อได้กับยุคปัจจุบัน ประเด็นที่สอง เนื่องจากลักษณะของคำประพันธ์ ภาษาระดับหนึ่งเหมาะกับคำประพันธ์ประเภทหนึ่ง เช่นกลอนเหมาะกับการประพันธ์เรื่องสำหรับเป็นบทเพื่อการละเล่นต่างๆ เป็นต้นว่า ละคร เพลงยาว ดอกสร้อย สักรวา ฯลฯ อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรื่นเริง สนุกสนาน ภาษาที่ใช้ต้องสื่อได้กับคนทุกระดับชั้น ดังนั้นจึงนิยมใช้ภาษาง่ายๆ ประกอบกับจังหวะลีลาของคำประพันธ์แต่ละชนิดนั้นเหมาะกับคำที่มีจังหวะและน้ำหนักต่างกัน เช่นหากนำภาษาที่เหมาะกับกลอนไปใช้ประพันธ์โคลง โคลงนั้นก็ไม่มีความสง่างามเท่าที่ควร หรือนำภาษาชั้นสูงที่เหมาะกับฉันท์ไปใช้ในการประพันธ์กลอน กลอนนั้นก็จะขาดอรรถรสของกลอนไป กวีในอดีตท่านคงคำนึงถึงข้อจำกัดดังกล่าวจึงเลือกใช้ภาษาให้เหมาะกับงานประพันธ์แต่ละชนิด ดังนั้นการจะวินิจฉัยอายุของวรรณกรรมที่มีปัญหาเรื่องยุคสมัยในการแต่งจึงต้องกระทำอย่างรอบคอบ นอกจากใช้สมมุติฐานความน่าจะเป็นไปได้ด้านสำนวนภาษาแล้วยังต้องพิจารณาหลักฐานอื่นๆ ประกอบด้วย

บทดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่านี้แม้จะเป็นกวีนิพนธ์ขนาดสั้น มีเนื้อหาสาระไม่มากนัก แต่ส่วนที่สอดแทรกอยู่ในเนื้อหาสามารถโยงใยไปถึงงานกวีนิพนธ์ชนิดอื่น โดยเฉพาะโคลงที่กวีรุ่นก่อนหน้านี้ประพันธ์ไว้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่าบทดอกสร้อยสวรรค์ทุกบทปรับแปลงมาจากโคลงทั้งหมด บทที่ได้ต้นเค้ามาจากโคลงนั้นน่าจะเป็นบทต้นของการตั้งประเด็นในการโต้ตอบซึ่งเป็นบทของฝ่ายชาย ส่วนบทโต้ตอบที่ขยายความต่อจากประเด็นหลักน่าจะเป็นความคิดของกวีผู้เป็นเจ้าของบทดอกสร้อยเอง อย่างไรก็ตาม นอกจากบทดอกสร้อยสวรรค์ครั้งกรุงเก่าจะเป็นสิ่งยืนยันอายุของโคลงกวีโบราณบางบทได้แล้ว บทดอกสร้อยสวรรค์หลายบทยังบ่งชี้ถึงเค้าของสำนวนคำพังเพยไทย ความเชื่อตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี



[๑] คำที่เว้นไว้ คือจำนวนคำในบังคับของโคลงสี่สุภาพ แต่ไม่อาจสันนิฐานได้ว่าโคลงโบราณใช้คำใด การถอนกลอนเป็นโคลงในลักษณะดังกล่าวเพื่อสนับสนุนที่มาของบทดอกสร้อยสวรรค์ที่กวีอ้างถึง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ