สามเณรกลั่น

สามเณรกลั่น ผู้แต่งนิราศพระแท่นดงรังสำนวนนี้ ปรากฏตามความที่พรรณาไว้ในนิราศ ว่าบิดาเป็นบุตรของพระยาสุรเสนา (ฉิม) ในรัชกาลที่ ๒ อยู่บ้านแถวหน้าวัดเลียบหรือวัดราชบูรณะ กล่าวคือ พระยาสุรเสนาเป็นปู่ของหนูกลั่น บิดามารดาของหนูกลั่นคงสิ้นชีวิตตั้งแต่หนูกลั่นยังเป็นเด็กทารก พระยาสุรเสนา ผู้เป็นปู่ กับ (ใครอีกคนหนึ่งซึ่งเป็น) ป้า เลี้ยงมาจนเติบโต ดังที่พรรณนาไว้ในนิราศ เมื่อตอนเรือผ่านหน้าวัดเลียบ ว่า

เห็นถิ่นฐานบ้านช่องของคุณปู่ ที่เคยอยู่มาแต่หลังก็ยังเห็น
เหลือรำลึกนึกน่าน้ำตากระเด็น เมื่อปู่เป็นเจ้าคุณสุรเสนา
ไม่มีพ่อก็ได้บุญของคุณปู่ ให้กินอยู่กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรักษา
ได้อยู่เย็นเป็นสุขทุกเวลา ทั้งคุณป้าคุ้มครองช่วยป้องกัน

จะเห็นได้ว่าสามเณรกลั่นเกิดมาในสกุลของผู้ดีในสมัยนั้น ซึ่งเธอก็รู้สึกตัวดี จึงรำพึงไว้ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจว่า

เหมือนตัวเราเผ่าพงศ์เพียงหงส์ทอง ตัวมาต้องเป็นการะอาอาย

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อพระยาสุรเสนาถึงอนิจกรรมแล้ว ก็คงจะอาศัยอยู่กับคุณหญิงสุรเสนา ผู้เป็นย่า แต่ภายหลังอาศัยอยู่กับย่าไม่ได้ เช่นที่กล่าวไว้ว่า

ฝ่ายคุณย่าอาพี่ซึ่งมียศ จงปรากฏตราบกระลาปาวสาน
ถึงตัดรอนค่อนว่าด่าประจาน พระคุณท่านมากกว่าแผ่นฟ้าดิน

ที่อาศัยอยู่ไม่ได้ ก็คงจะเนื่องจากเกียดกันชิงดีไม่เข้าไม่กินกันระหว่างญาติ แล้วมีคนยุแหย่คุณหญิงผู้เป็นย่า และคนยุแหย่ที่สามเณรกลั่นเห็นเป็นตัวการสำคัญในเรื่องนี้คงจะเป็นหญิงร่างอ้วน เช่นที่ระบายเป็นความในใจไว้เมื่อตอนเรืองผ่านบางบอน ว่า

ชื่อบางบอนก็เห็นบอนสลอนมี เหมือนคนที่สำมกากมันปากบอน
ไปยุยงลงโทษให้โกรธครึ่ง จนได้ถึงสุขุมเหมือนสุมขอน
ที่คนซื่อถือสัจต้องตัดรอน เพราะอีบอนบวมฉุมันยุแยง

ภายหลังสามเณรกลั่นมาอยู่กับท่านสุนทรภู่ อาจเป็นระยะที่ท่านสุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุ และไปจำพรรษาอยู่ที่วัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดอยู่ใกล้บ้านของพระยาสุรเสนา ผู้เป็นปู่ของสามเณรกลั่น หรือสุนทรภู่อาจเคยรู้จักกันมากับพระยาสุรเสนาก่อนก็ได้ หรือนายพัดและนายตาบ บุตรสุนทรภู่อาจไปอยู่ปรนนิบัติบิดาซึ่งอยู่ในวัดราชบูรณะ แล้วเกิดรู้จักชอบพอกับหนูกลั่น จึงเป็นทางชักจูงให้หนูกลั่นเข้ามาอยู่กับพระภิกษุสุนทรภู่ก็ได้ หนูกลั่นคงจะได้ฝากตัวเข้าเป็นบุตรเลี้ยงของท่านภิกษุสุนทรภู่ ตั้งแต่ครั้งสุนทรภู่ยังจำพรรษาอยู่วัดเลียบ

สุนทรภู่ก็คงจะรักใคร่อบรมสั่งสอนให้รู้บาปบุญคุณโทษ ด้วยความเมตตาอารี ตลอดจนให้หนูกลั่นบรรพชาเป็นสามเณร เรื่องราวตอนนี้สามเณรกลั่นพรรณนาถึงไว้ในนิราศพระแท่นดงรังหลายแห่ง ด้วยความรู้สึกในพระคุณและโดยคารวะ นับแต่ตอนขึ้นต้นเริ่มนิราศและตอนอื่นๆ เห็นได้จากถ้อยคำในนิราศนี้ว่า เณรหนูกลั่นมีอายุอ่อนกว่าสามเณรพัด เพราะเรียกว่าพี่ แต่คงจะแก่กว่าหนูตาบ เพราะเรียกว่าน้อง แต่ทั้งสามคนคงมีอายุไล่เลี่ยรุ่นราวคราวเดียวกัน แก่อ่อนกว่ากันนิดหน่อย เพราะชอบ “อาบน้ำปล้ำกันเล่น” เท่าที่ปรากฏในนิราศของท่านสุนทรภู่ สามเณรกลั่นคงติดสอยห้อยตามเดินทางร่วมไปกับท่านสุนทรภู่ หลายครั้งหลายคราว เช่นที่กล่าวถึงในนิราศวัดจ้าวฟ้าและนิราศสุพรรณ และในคราวที่ท่านสุนทรภู่ไปพระแท่นดงรัง เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๗๖ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๔๗ ปี และบวชเป็นพระภิกษุ มาราว ๑๐ พรรษา ถ้านับโดยปี ก็มีอาวุโสเข้าขั้นพระเถระแล้ว ในคราวนั้น สามเณรกลั่นได้แต่งนิราศพระแท่นดงรัง พรรณนาการเดินทางขึ้นไว้ เช่นเดียวกับสามเณรพัดแต่งนิราศวัดจ้าวฟ้า เห็นได้ว่าโวหารการประพันธ์ของสามเณรกลั่น ได้ทั้งเรื่องได้ทั้งความไพเราะดีพอใช้ สมดังความตั้งใจที่กล่าวอธิษฐานไว้ในเบื้องต้นของนิราศว่า

จะคิดกลอนผ่อนปรนช่วยดลใจ ให้พริ้งไพรเราะรสพจมาน

ท่านสุนทรภู่อาจช่วยแนะนำขัดเกลาบ้างก็ได้ นับว่านิราศพระแท่นดงรังของสามเณรกลั่น เป็นจดหมายรายทางที่อ่านได้เพลิดเพลิน และช่วยให้เราทราบว่าท่านสุนทรภู่เคยไปพระแท่นดงรังก่อนปีวอกนักษัตรอัฐศก ๓ ปี คือก่อนนายมีไปและแต่งนิราศพระแท่นดงรังในปีวอกไว้ ทั้งเส้นทางเดินที่ท่านสุนทรภู่ไป ก็เปนคนละเส้นทางกับของนายมี เพราะสุนทรภู่ไปทางเรือ เข้าคลองบางหลวง ไปออกคลองด่าน เข้าคลองมหาชัย ออกแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เข้าคลองสุนัขหอน คลองแม่กลอง ออกแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ขึ้นไปตามแม่น้ำแม่กลอง ผ่านจังหวัดราชบุรี ทวนน้ำขึ้นไป ผ่านอำเภอโพธาราม อำเภอบ้านโป่ง ขึ้นไปตามลำน้ำแม่กลองจนถึงตำบลท่าเรือ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และขึ้นบกที่ตำบลท่าเรือ นายช่องกับนายแก้ว สองคนพี่น้อง และจีนกลิ่น เอาเกวียนมารับ เดินทางไปในกลางคืน รุ่งเช้าจึงไปถึงพระแท่นดงรัง ดังจะเห็นได้จากบันทึกสถานที่กล่าวถึงในนิราศพระแท่นดงรัง ของสามเณรกลั่น ซึ่งพิมพ์ไว้ท้ายนิราศเล่มนี้

นอกจากนิราศพระแท่นดงรังนี้ ยังไม่พบว่าสามเณรกลั่นได้แต่งบทกลอนอื่นใดไว้อีก.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ