นายสวัสดิ์ – “ปิตุฆาต”

ในครั้งหนึ่งท่านคงจะยังจำได้ว่า ในกรุงสยามได้เกิดใช้เงินปลอมกันขึ้นเป็นอันมาก และพลตระเวนได้สืบจับตัวคนปลอมเงินอยู่เสมอ ประมาณสองเดือนเศษก็ยังไม่ได้ความ ได้มาขอแรงให้นายทองอินสืบก็ยังไม่ได้ความเหมือนกัน สืบอยู่หลายวันก็ยังไม่ได้ร่องรอยเลย วันที่ ๑ นายทองอินยังนิ่งๆ วันที่ ๒ ออกหงุดหงิด แต่หลายวันเข้าถึงบ่น ตั้งแต่นายทองอินได้สืบเรื่องอะไรมา ข้าพเจ้ายังไม่เห็นเหน็ดเหนื่อยเหมือนเรื่องนี้เลย บางวันไม่อยู่บ้านวันยังค่ำ แล้วกลางคืนก็ไม่ได้กลับจนจวนสว่าง เพราะฉะนั้นเมื่อถึงวันที่ ๓ เวลาบ่ายนายทองอินพื้นเสียจนใครเกือบแตะต้องไม่ได้ ถึงข้าพเจ้าซึ่งนับว่าเป็นเพื่อนอย่างสนิทของเขา เขาก็ยังไม่ใคร่พูดด้วย ถึงนั่งอยู่ด้วยกันก็นั่งอยู่นิ่ง ๆ โดยมาก ประเดี๋ยวหนึ่งบ่าวนายทองอินก็ขึ้นมาบอกกับข้าพเจ้าว่ามีผู้มาหาอยากพบ ข้าพเจ้าก็ลงไปพบชายผู้หนึ่งแต่งกายเรียบร้อย พอข้าพเจ้าลงไปก็ยกมือไหว้แล้วก็ถามว่า

“รับประทานโทษเถอะขอรับ นี่คุณวัดใช่ไหม?”

ข้าพเจ้าพยักหน้าแล้วถามว่า “อยากพบฉันทำไม?”

ชายผู้นั้นตอบว่า “คุณสวัสดิ์ให้มาเชิญคุณไป ถ้าไปได้เดี๋ยวนี้ก็ดีขอรับ”

ข้าพเจ้าถามว่า “สวัสดิ์ไหน—สวัสดิ์ลูกนายเปรมโรงพิมพ์หรือ?”

ชายผู้นั้นตอบว่า “ขอรับ คุณเปรมถึงแก่กรรมแล้วแต่เมื่อเช้านี้ เขาหาว่าคุณสวัสดิ์เกี่ยวข้องในเรื่องนั้น”

ข้าพเจ้าก็เข้าใจทันทีว่าทำไมจึงต้องการตัวข้าพเจ้า ข้าพเจ้ากลับขึ้นไปหานายทองอินและเล่าให้ฟัง

นายทองอินพยักหน้าแล้วพูดว่า

“อือ ถ้าฉันไม่มัววุ่นเรื่องอ้ายเงินแดงนี่เสียฉันก็จะไปด้วย”

ข้าพเจ้าตอบว่า “เอาเถอะฉันจะไปฟังดูก่อน ถ้าเห็นมีความอะไรชอบมาพากลจะกลับมาเล่าให้แกฟัง” แล้วข้าพเจ้าก็รีบไปที่บ้านนายเปรม พอถึงข้าพเจ้าก็ขึ้นไปข้างบน ที่ไหนเล่าเห็นนายโปลิศฝรั่งและท่านเจ้ากรมคุมตัวนายสวัสดิ์แจอยู่แล้ว ข้าพเจ้าก็ก้มศีรษะลงคำนับท่านเจ้ากรม ท่านเจ้ากรมรับคำนับแล้วยื่นมือมาจับกับข้าพเจ้าและถามว่า “ท่านจะเป็นผู้รับฉันทะว่าความให้ชายผู้นี้หรือ?”

ข้าพเจ้าตอบว่า “ฉันจะขอฟังคำนายสวัสดิ์ดูก่อน ขอให้ท่านอนุญาตให้ฉันพูดกับตัวเขา”

ท่านเจ้ากรมก็ให้อนุญาตข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็พูดกับนายสวัสดิ์ว่า “ไหนลองเล่าเรื่องตั้งแต่ต้นให้ฉันฟังที”

นายสวัสดิ์ “มันก็ไม่มีอะไรมากหรอกขอรับ เดิมกระผมล้มเจ็บลงเป็นบิดท้องเสีย และมักจะเป็นลมบ่อย ๆ ก็ค่อย ๆ รักษาตัวมาประมาณ ๗ วัน กระผมก็ฟื้นขึ้น แต่ยังไม่หายดี พอคุณพ่อล้มเจ็บผมค่อยยังชั่วแล้วก็มาพยาบาลท่านอยู่กับพ่อชาย——”

ข้าพเจ้าถามว่า “พ่อชายน่ะใคร?”

“ลูกคุณอาขอรับ เมื่อคุณอาเสียนั้นเขายังเป็นเด็กอยู่ คุณพ่อก็เอามาเลี้ยงไว้จนเดี๋ยวนี้อายุได้ ๑๘ แล้วขอรับ”

ข้าพเจ้า “เออ ! แล้วยังไง”

“คุณพ่อเจ็บคราวนี้ดูอาการมาก หมอฝรั่งมารักษาอยู่ ๒ หมอ เขาให้มอเฟียไว้ขวดหนึ่ง พอเวลาไหนไม่สบายก็รับประทานเม็ดหนึ่ง รุ่งขึ้นสัก ๒ วันผมไม่สบายก็ไปนอนอยู่ พอหลับไปสักประเดี๋ยว พ่อชายก็มาปลุกผมบอกว่าคุณพ่อเป็นอะไรไปไม่ทราบ ผมตกใจก็ลุกวิ่งไปดูเห็นกำลังนอนหลับตาหายใจดังครอก ๆ กระผมก็รีบให้คนไปตามหมอมาโดยเร็ว พ่อเจ้าประคุณหมอก็เผอิญมาในทันที เมื่อมาตรวจดูแล้วว่าวางมอเฟียมากเกินไปถ้าทิ้งช้าไว้อีกหน่อยอาจจะตายได้ และได้จัดแจงสูบและให้กินยาให้อาเจียน เมื่อจะกลับก็สั่งไว้ว่าให้มีคนอยู่ด้วยคนไข้เสมอให้คอยปลุกอย่าให้หลับได้ ถ้าหลับลงเมื่อไรเป็นตายทันที และให้รับประทานอาหารให้เสมอมิมากก็น้อย กระผมก็จัดการคนสำหรับอยู่ด้วยเสมอตามคำสั่งของหมอ แต่ในเวลากลางคืนนั้นผมกับพ่อชายจะผลัดกันอยู่ตลอดคืน ในคืนวันนั้นเวลาสัก ๒ ยามถึงเวรผมอยู่ พ่อชายให้คนมาปลุกผมไป ในเวลานั้นเผอิญผมไม่สบายก็หายาลมรับประทาน พ่อชายก็จัดแจงมาให้ผม ผมตั้งใจไว้ว่าจะอยู่จนตลอดเวลาก็ไม่สำเร็จผมหลับไปเมื่อไรก็ไม่ทราบ จนรุ่งเช้าบ่าวมาปลุกขึ้น ผมก็ตกใจลุกขึ้นดูคุณพ่อเห็นเสีย ๆ แล้ว พอท่านเจ้ากรมมาก็ให้คุมตัวผมไว้นี่แหละขอรับ การมันเป็นเช่นนี้”

ข้าพเจ้าลุกเดินไปหาท่านเข้ากรมกองตระเวน และถามว่า “เหตุไรท่านจึงสั่งให้จับตัวนายสวัสดิ์?”

เจ้ากรมกองตระเวนตอบว่า “เพราะฉันสงสัยว่าเขาฆ่าพ่อ”

“มีเหตุอะไรที่ทำให้ท่านสงสัย?”

เจ้ากรมกองตระเวนนิ่งอยู่ ข้าพเจ้าก็พูดต่อไปทำเสียงแข็งว่า “ข้าพเจ้าต้องขอให้ท่านบอก หน้าที่ของท่านก็สำหรับรักษาความเรียบร้อยและความยุติธรรม ถ้าท่านจะยักความจริงเสีย ไม่บอกกับข้าพเจ้าผู้เป็นทนายนายสวัสดิ์เช่นนี้ท่านจะนับว่าท่านได้ทำหน้าที่ของท่านเต็มที่หรือ?”

เจ้ากรมกองตระเวนตอบว่า “ฉันไม่จำเป็นจะบอกอะไรกับท่านอีกต่อไปนอกจากที่ฉันได้บอกแล้ว คือว่าฉันจับนายสวัสดิ์ว่าฉันสงสัยว่าเขาฆ่าพ่อ”

ข้าพเจ้าพูดว่า “ถึงอย่างไร ๆ ก็ดี ขอให้ท่านเรียกนายสวัสดิ์มาซักดูต่อหน้าข้าพเจ้า เพื่อข้าพเจ้าจะได้ทราบความบ้าง”

เจ้ากรมกองตระเวนตอบว่า “ฉันได้ซักนายสวัสดิ์ตั้งแต่ก่อนท่านมาแล้ว ฉันไม่ต้องซักอีกฉันทราบพอแล้ว พยานฉันก็มีพอที่จะขึ้นศาลโปลิสภาได้ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้ากรมกองตระเวนที่จะต้องช่วยทนายของจำเลย ซึ่งไม่มีความเฉียบแหลมพอที่จะสืบสาวเอาความจริงได้โดยตนเอง”

ข้าพเจ้ารู้สึกฉุนเฉียวขึ้นมาและเกือบจะตอบออกไปเป็นถ้อยคำหมิ่นประมาทบ้างแล้ว แต่ยั้งตนไว้ เพราะเห็นว่าถ้าทำให้เจ้ากรมกองตระเวนโกรธ บางทีนายสวัสดิ์จะได้ความเดือดร้อนโดยใช่เหตุได้ แต่ครั้นจะไม่ตอบเลยก็ดูเสียไป เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงตอบและทำยิ้ม ๆ ว่า “ท่านเจ้ากรมก็ได้เคยทราบอยู่แล้วว่า บางทีข้าพเจ้าก็ได้เคยทราบความสำคัญ ๆ ก่อนผู้ซึ่งมีหน้าที่และผู้ซึ่งควรจะทราบก็มี ท่านเจ้ากรมก็คงจำได้ เมื่อครั้งข้าพเจ้าเป็นทนายนายกรเสมียนนายสุวรรณ และข้าพเจ้าหวังใจว่าท่านเจ้ากรมจะไม่ลืมว่าข้าพเจ้ามีสหายคนหนึ่งชื่อทองอิน ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าจะโง่เกินไปที่จะสืบความจริงในเรื่องนี้ไม่ได้โดยลำพังตนเอง ข้าพเจ้าก็พอจะมีที่ปรึกษาที่พอจะไว้ใจได้อยู่ไม่ใช่หรือ” แล้วข้าพเจ้าก็ลุกเข้าไปหานายสวัสดิ์ถามนายสวัสดิ์ต่อไปดังนี้

“ในการที่พ่อแกตายครั้งนี้แกได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง?”

“ได้รับมรดก”

“พ่อแกทำพินัยกรรมนานแล้วหรือ ?”

“นานแล้วตั้งแต่เมื่อป่วยครั้งก่อน”

“ได้แก้ไขพินัยกรรมนั่นบ้างหรือเปล่า ?”

“ไม่ได้แก้”

“ได้เคยได้ยินพ่อแกพูดว่าจะแก้บ้างไหม ?”

“เคยขอรับ”

“เมื่อไร ?”

“เมื่อทะเลาะกันครั้งก่อน”

“ทะเลาะกันเรื่องอะไร ?”

“กระผมจำไม่ได้”

“อะไรจำไม่ได้ เรื่องคงต้องใหญ่โตเป็นแน่ ถ้าไม่ใหญ่คงจะไม่ถึงจะแก้พินัยกรรม ลองนึกดูที”

“ดูเหมือนเกี่ยวข้องด้วยเรื่องค้าขาย”

“ค้าขายอย่างไร เรื่องโรงพิมพ์หรือไม่ใช่ ?”

“ขอรับ ดูเหมือนโรงพิมพ์นี่แหละ ขลุกขลักอะไรกันครั้งหนึ่ง”

“แกไม่เห็นด้วยตามความคิดของพ่อหรือยังไง ?”

“ขอรับ ในชั้นต้นผมเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์นั้น เมื่อมาเกิดขัดข้องอะไรนี่แหละขอรับผมออกเสีย แล้วพ่อชายเขาเข้าทำแทน”

“พินัยกรรมที่ว่าจะแก้น่ะ จะแก้อย่างไร ?”

“แก้ไปให้นายชายเขาน่ะซิขอรับ”

“ก็แกจะได้อะไรบ้างหรือเปล่าล่ะ?”

“ได้ดอกขอรับ ท่านจะให้นิดหน่อย”

“ก็แล้วยังไงถึงไม่ได้แก้”

“มันเรื่อย ๆ มานี่แหละขอรับ จนท่านเจ็บลงครั้งนี้แหละ”

“อ้อเข้าใจแล้วว่าเหตุไรเขาจึงสงสัยว่าแกเป็นผู้ฆ่าพ่อ เขาหาว่าแกเป็นผู้วางยามอเฟียนั้นหรือ ?”

“เขาไม่ได้หา เพราะท่านบอกแล้วว่าท่านกินมากเอง เพราะท่านนึกว่าไม่เป็นไรจะได้นอนมาก ๆ”

“ก็ยังนั้นเขาหาว่าแกฆ่าพ่อยังไงล่ะ?”

“เขาหาว่าผมแกล้งให้ท่านนอนหลับ เพราะรู้แล้วว่าถ้าหลับอีกเป็นตาย”

“ตัวแกเองน่ะ ทำไมถึงได้นอนหลับ?”

“ก็ผมเล่าแล้วยังไงล่ะขอรับ ว่าผมไม่สบายแล้วกินยาลมเข้าไป”

“แกเป็นคนอดนอนเก่งหรือ?”

“เคยขอรับ ผมเคยอดได้ตลอดวันตลอดคืนก็มี”

“แกเป็นคนนอนหลับง่ายหรือ ?”

“หลับยาก”

“แล้วในวันนั้นแกก็ได้นอนแล้วไม่ใช่หรือ?”

“นอนแล้วขอรับ แต่พอกินยาแล้ว ๆ ผมยังรู้สึกว่ายังนอนไม่พอ ผมได้พยายามที่จะไม่ให้หลับ แต่มันหลับไปโดยไม่รู้สึกตัว”

“นายชายกับแกน่ะชอบกันหรือ ?”

“เฉย ๆ ขอรับ แต่ก็ไม่มีบาดหมางอะไรกัน”

พอพูดมาได้เท่านี้ เจ้ากรมกองตระเวนก็มาเรียกตัวนายสวัสดิ์และพาตัวไป ข้าพเจ้าก็กลับไปหานายทองอินและเล่าความให้ฟัง นายทองอินฟังจนตลอดแล้วก็ถามขึ้น “แกได้ถามนายสวัสดิ์หรือเปล่า ว่ายาลมนั้นแปลกประหลาดกว่าธรรมดาไหม ?”

ข้าพเจ้ารับว่าไม่ได้ถาม นายทองอินสั่นหัวแล้วพูดว่า “มันเป็นของควรถามแท้ ๆ แกไปทำเหลวเสียได้”

ข้าพเจ้าเห็นนายทองอินดูทำยิ้มกริ่มอยู่ ข้าพเจ้าจึงถามขึ้นว่า “แกมีความคิดในเรื่องนี้แล้วหรือ ?”

นายทองอินตอบว่า “ในเวลาแกอยู่ทางโน้น ทางนี้ฉันลองตริตรองดู ทำความเห็นไว้ในใจเสร็จแล้ว แต่จะคอยฟังแกก่อนว่าแกจะเล่าว่ากระไร ความที่แกเล่านั้นก็ดูพ้องกับที่ฉันคิดไว้ได้”

“แกคิดไว้ว่ายังไง?”

“ฉันคิดน่ะหรือ คือ ๑ นายสวัสดิ์ไม่ได้ฆ่าพ่อ เพราะในการที่จะฆ่าพ่อไม่เห็นมีประโยชน์อะไร ตามพินัยกรรมของพ่อนายสวัสดิ์ก็เป็นผู้รับมรดกอยู่แล้ว นายสวัสดิ์เดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้ขัดสนอะไร ถึงขัดสนจะขอเงินที่พ่อก็ดูไม่ยาก จะไปฆ่าพ่อให้เกิดความฉาวเสียประโยชน์ตัวทำไม” (ข้าพเจ้ารับว่าเห็นด้วยในข้อนี้)

ข้อ ๒ ฉันเห็นว่านายสวัสดิ์ไม่ได้หลับไปเองๆเพราะนายสวัสดิ์ก็ได้นอนเต็มตาแล้วทั้งไม่ใช่เป็นคนหลับง่ายด้วย ที่ประหลาดอีกอย่างหนึ่ง คือ นายสวัสดิ์ไม่ได้รู้สึกหาวนอนจนได้กินยาลมแล้วครู่หนึ่ง

ข้าพเจ้าอดไม่ได้จึงถามว่า “ก็อย่างนั้นแกคิดว่าใครฆ่านายเปรมเล่า !” นายทองอินตอบว่า “ฉันไม่คิดว่าใครฆ่าหมดและ”

“เอ๊ะ ! แกว่านายเปรมตาย ๆ ด้วยโรคหรือ ?”

“ไม่ใช่ ! ตายด้วยมอเฟีย, และฉันเชื่อด้วยว่า นายเปรมไม่ได้กินโดยเผลอหรือเข้าใจผิด ฉันเชื่อว่านายเปรมกินตั้งใจจะให้ตาย”

“ข้อนี้ก็อาจจะเป็นได้ แต่ถึงอย่างนั้น นายสวัสดิ์ก็คงไม่รอด เพราะนายสวัสดิ์ไม่หลับเสียนายเปรมก็คงไม่ตาย ฝ่ายโปลิศเขาสงสัยว่านายสวัสดิ์แกล้งทำหลับ”

“โปลิศเขาไม่ได้หาว่านายสวัสดิ์เป็นผู้วางยาไม่ใช่หรือ ?”

“เขาไม่ได้หา เขารู้อยู่แล้วว่านายเปรมกินเข้าไปเอง”

“พิลึกจริงๆเขาคิดสะระตะกันอย่างไรถึงได้ไปปรักปรำเอานายสวัสดิ์ เมื่อรู้อยู่แล้วว่านายเปรมกินมอเฟียเองแล้ว ทำไมไม่นึกสงสัยบ้างเลย ว่าจะกินโดยความตั้งใจ”

“ทำไมแกจึงนึกว่านายเปรมกินมอเฟียโดยตั้งใจ ?”

“เพราะฉันนั้นรู้ความชอบกลอย่างหนึ่ง ถ้าความเป็นจริงดังฉันสงสัยก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมนายเปรมจึงอยากกินยาตาย”

ข้าพเจ้าสังเกตหน้านายทองอินเห็นได้ว่าดูแช่มชื่นกว่าแต่ก่อน ก็เข้าใจว่าคงจะได้ความดีอะไรแล้วสักอย่างหนึ่ง จึงถามว่า “ความชอบกลอะไรของแก ขยายได้ไหม ?”

นายทองอินยิ้มแล้วตอบว่า “ได้ซิ”

ข้าพเจ้าถามว่า “ก็อะไรเล่า ?”

นายทองอินตอบว่า “เงินแดงน่ะ ฉันสืบหาตัวผู้ใช้เดิมได้หลายรายแล้ว เป็นคนในโรงพิมพ์นายเปรมแทบทุกคน”

“อะไรอย่างงั้นหรือ ?” ข้าพเจ้าเกือบตะโกนเพราะความประหลาดใจ “ถ้าอย่างนั้นแกว่าตาเปรมเป็นผู้ทำเงินแดงหรือ ?”

นายทองอินตอบว่า “นี่แหละจะว่าให้แน่นอนก็ยังไม่ได้ แต่ฟัง ๆ ดูตามที่แกเล่าดูมันเข้าร่องเข้ารอยดีไม่ใช่หรือ ถ้าตัวแกเป็นตาเปรมเมื่อรู้ว่าความจวนฉาว แล้วมียาตายอยู่ใกล้ ๆ มือ แกจะไม่ฉันบ้างหรือ”

ข้าพเจ้ารับว่า “เห็นจะเป็นได้”

นายทองอินพูดต่อไปว่า “ถ้าคนอย่างตาเปรมแล้ว เป็นได้แท้ ๆ ทีเดียว แกเป็นคนถือมั่นคงในเรื่องคนทำผิดนัก แกเคยว่าอยู่เสมอว่า คนเราถ้าลงประพฤติความชั่วแล้วตายเสียดีกว่า อยู่มีก็แต่จะเสียชื่อตัวเสียชื่อลูกเมีย ตายเสียบางทีจะเงียบไป”

ข้าพเจ้านึกตกลงใจเห็นด้วยกับนายทองอินแล้วจึงพูดว่า

“เห็นจะได้การละนายสวัสดิ์จะรอดได้จริง แต่แกต้องช่วยด้วย”

นายทองอินตอบว่า “ช่วยสิน่า ฉันจะรีบสืบเอาความจริงให้แกให้ตลอดทีเดียว เมื่อแรกที่ฉันไม่ได้รับช่วยแกทันที เพราะฉันยังไม่ทราบว่าจะเกี่ยวไปถึงเรื่องเงินแดงด้วย นี่มันกลายเป็นเรื่องเดียวกันไป ฉันก็ช่วยแกได้เต็มตัวทีเดียว ฮือ มิสเตอร์ชายน่ะฉันไม่ใคร่ไว้ใจมานานแล้ว แต่มันฉลาดนัก จับผิดมันไม่ได้เลย คราวนี้เห็นจะจอดละ”

“จอดยังไง—มันจะเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ด้วยหรือ—ฉันไม่เห็นมันมีอะไรนี่”

“เถอะน่าคอยดูเถอะ แต่ของควรจำของแกก็คือแกต้องเรียกฉันเป็นพยานด้วย” แล้วนายทองอินออกความเห็นในทางที่ข้าพเจ้าจะว่าความ ๆ และพูดว่า “แกไปพักสมอง เตรียมการที่พึงจะทำในศาลเสียทีก็จะดี แต่ว่าดูเหมือนจะไม่เป็นไรนักไม่ใช่หรือ ทำตามที่ฉันพูดไว้เป็นแล้วกัน”

แล้วข้าพเจ้าก็กลับบ้าน พอถึงคนใช้ก็เอาจดหมายมาส่งให้ฉบับหนึ่ง เมื่อฉีกออกดูได้ความว่าเป็นหนังสือนัดให้ไปว่าความในวันพรุ่งนี้

รุ่งขึ้นได้เวลาข้าพเจ้าก็ขับรถมา ณ ศาลพอพบกับนายทองอิน พอดีนายทองอินพูดว่า

“แหม—ช่างเหมาะจริงนะ ยังไง ! เตรียมเนื้อเตรียมตัวดีแล้วหรือ ?”

“อย่ากลัวเลยน่ะ—พร้อมละ”

แล้วก็พากันเข้าไปในศาล คู่ความยังไม่พร้อม ฝ่ายเราเร็วนิดหนึ่ง ข้าพเจ้ากับนายทองอินนั่งคอยอยู่สักประเดี๋ยวคู่ความก็มาพร้อมกัน วันนี้ความสำคัญคนมามากแท้ ๆ ข้าพเจ้ามีประหม่านิด ๆ แต่รู้สึกว่าเป็นต่ออยู่เสมอก็ทำให้ใจชื้นขึ้น พอผู้พิพากษาขึ้นนั่งที่ก็สั่งให้เบิกคดีระหว่างเจ้ากรมอัยการโจทก์ นายสวัสดิ์จำเลย โจทก์หาว่าจำเลยได้ฆ่านายเปรมผู้เป็นบิดาโดยเจตนา ทนายโจทก์เมื่อได้กล่าวคำฟ้องซ้ำอีกแล้วก็ได้พูดต่อไป คือกล่าวถึงข้อความที่นายเปรมดังข้าพเจ้าได้เล่าแล้ว เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีกในที่นี้ แต่มามีเม็ดอยู่ที่ตอนปลายดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้าจะขออธิบายให้ศาลฟังว่า ทำไมกรมกองตระเวนจึงเชื่อแน่ว่านายสวัสดิ์ได้ฆ่าบิดาจริง เดิมนายเปรมผู้ถึงแก่กรรมได้ทำพินัยกรรมยกมรดกให้กับนายสวัสดิ์ทั้งสิ้น เว้นแต่เงิน ๕๐ ชั่ง ซึ่งยกให้นายชายผู้เป็นหลานกับให้ผู้อื่นเป็นรายย่อยอีกหลายราย รวมทุนทรัพย์ทั้งสิ้น ๑๐๐ ชั่ง ๓๐ บาท ๔๔ อัฐ ซึ่งนายเปรมแบ่งให้กับญาติอื่น ๆ แต่มาเมื่อเดือนกรกฎาคมรัตนโกสินทรศก ๑๒๐ นายเปรมกับจำเลยมีข้อขัดใจกัน ซึ่งทำให้จำเลยออกจากหน้าที่ผู้จัดการโรงพิมพ์เปรมปรีดีราษฎร์ และนายชายเข้ารับหน้าที่แทน ข้าพเจ้าจะอ้างพยานให้ปรากฏในศาลนี้ได้ว่าในครั้งนั้น นายเปรมได้ปรารภว่าจะแก้พินัยกรรมใหม่ และว่าจะยกมรดกให้กับนายชายผู้หลาน จำเลยเมื่อได้ทราบความดังนั้นแสดงกิริยาโกรธและเสียใจมาก และได้ใช้วาจาอันไม่สมควรในครั้นว่า “ท่านบิดานี่แกเสียจริตเสียแล้ว ทีจะจวนตาย” การที่พูดเช่นนี้ถ้านึกดูสักหน่อยก็อาจจะเห็นได้ว่า จำเลยมีความโกรธเคืองบิดาและมีความคิดปองร้ายบิดามาตั้งแต่นั้น

ศาลถาม “ก็พินัยกรรมไม่ได้แก้ไม่ใช่หรือ ?”

ทนายโจทก์ “ไม่ได้แก้ขอรับ กระผมกำลังจะกราบเรียนอยู่เดี๋ยวนี้ พินัยกรรมนั้น นายเปรมยังหาทันได้แก้ไม่ เผอิญภรรยานายเปรมถึงแก่กรรมลง ในการจัดงานศพนั้นนายเปรมกับจำเลยก็ได้ช่วยกันจัดจึงเลยปรองดองกันตั้งแต่นั้นมา พินัยกรรมนั้นก็เลยไม่ได้แก้ แต่จำเลยก็ยังหาได้กลับไปทำงานกับบิดาในโรงพิมพ์ไม่ กลับไปตั้งการค้าขายของตนเองต่างหาก แต่ก็คงอยู่ในบ้านนายเปรมต่อไปและไม่มีเหตุการณ์อะไรจนนายเปรมป่วยลงครั้งนี้ เป็นโอกาสอันดีของจำเลยที่จะกระทำการชั่วตามความคิดของตน ข้าพเจ้าอาจจะเรียกพยานให้ศาลเห็นปรากฏได้ว่า ตามธรรมดาจำเลยมิใช่คนนอนหลับง่าย ครั้งนี้เมื่อวันที่เกิดความนั้น จำเลยก็ได้นอนเต็มตาแล้ว เพราะฉะนั้นจำจะต้องเชื่อว่าจำเลยหาได้หลับจริงไม่ จำเลยทราบอยู่ว่าถ้าปล่อยให้นายเปรมหลับเมื่อใด นายเปรมคงต้องเสียชีวิต จำเลยเห็นได้ทีก็เลยแกล้งให้บิดาหลับเสียโดยความเชื่อว่าถึงบิดาจะถึงแก่กรรมลงก็ไม่มีใครอาจว่าได้ ว่าจำเลยเป็นผู้ฆ่า คงว่าตายโดยเคราะห์ร้ายเท่านั้นเอง ถึงตัวข้าพเจ้าเองถ้าไม่ทราบเรื่องเดิม ก็คงมีความเห็นเช่นนั้นเหมือนกัน ว่าไปโดยความจริงเช่นนี้ เห็นได้ว่า เป็นความคิดของคนฉลาด แต่เผอิญมาสบเหมาะเวลาซึ่งเจ้ากรมกองตระเวนไม่มีงานยุ่งมากจึงได้มีเวลามาตรวจตราเรื่องนี้เอง และรู้เท่าผู้คิดผิดอันร้ายกาจเช่นจำเลยนี้และได้มีโอกาสที่จะจับตัวผู้ร้ายซึ่งประพฤติชั่วด้วยความฉลาดเช่นนี้ขึ้นศาลเพื่อให้ศาลตัดสินลงพระราชอาญาให้สมกับโทษ ส่วนข้อที่มีผู้สงสัยว่า นายเปรมรับประทานมอร์เฟียโดยเจตนาเพื่อล้างชีวิตตนเองนั้น ขอให้ท่านได้โปรดตริตรองดูเถิดว่าคนอย่างนายเปรมจะต้องทำลายชีวิตตนเองทำไม นายเปรมก็เป็นคนมีเงินเกินพอใช้สอย โรงพิมพ์เปรมปรีดีราษฎร์ศาลก็ย่อมทราบอยู่ว่าเป็นโรงพิมพ์ใหญ่มีงานทำอยู่เสมอ นับว่าเป็นโรงพิมพ์ที่เจริญอย่างยิ่งในกรุงเทพ ฯ ได้ เพราะฉะนั้นนายเปรมคงจะไม่มีข้อใดซึ่งจะต้องร้อนใจในส่วนโรงพิมพ์นี้เลย ก็เมื่อไม่มีข้อร้อนใจทั้งในส่วนตัวและในส่วนค้าขายแล้ว นายเปรมจะต้องทำลายชีวิตตนทำไม คนเราย่อมรักชีวิตเป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่เสียจริตหรือไม่มีทุกข์อย่างใหญ่หลวงแล้วก็คงไม่ถึงกับทำลายชีวิตตนเป็นแน่ ข้าพเจ้ากล่าวเพียงเท่านี้ก็พออยู่แล้ว ข้าพเจ้าขอความยุติธรรมต่อศาลเท่านั้น”

พอทนายโจทก์พูดเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็ลุกขึ้นแก้ความดังต่อไปนี้

“ในนามของจำเลย ข้าพเจ้าขอปฏิเสธอย่างแข็งแรงว่า จำเลยมิได้เป็นบิตุฆาต และมิได้มีความตั้งใจปองร้ายต่อบิดาในครั้งหนึ่งครั้งใดเลย การที่จำเลยได้มีข้อขัดใจเถียงกับบิดานั้นก็จริงอยู่ และเมื่อได้ทราบว่าบิดาจะแก้พินัยกรรม จำเลยมีความประหลาดใจและเสียใจจริง แต่ที่จำเลยพูดดังทนายโจทก์ได้กล่าวแล้วคือว่า “ท่านบิดานี่เห็นจะเสียจริตแล้ว” นั้นไม่ได้พูดว่าเสียจริตเพราะเปลี่ยนพินัยกรรม ในเวลาที่พูดนั้นจำเลยยังนึกถึงเรื่องที่ได้ทะเลาะกัน เรื่องนั้นเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวด้วยการค้าขายซึ่งบิดาคิดขึ้นใหม่ แต่จำเลยคัดค้านอย่างแข็งแรงจึงเกิดขัดใจกันขึ้น จำเลยได้บอกกับบิดาในครั้งนั้นว่าถ้าบิดาขืนทำตามความคิด ความผิดจะไม่พ้นตัว และพวกพ้องเป็นแท้ บิดาจึงโกรธและพูดกับจำเลยว่า “ถ้าเมื่อเอ็งไม่เห็นด้วยกับข้า ๆ ก็ไม่ต้องของ้อเอ็ง” เมื่อนายเปรมพูดดังนั้นจำเลยก็จะต้องลาออกจากหน้าที่ผู้จัดการโรงพิมพ์ ต่อมาภายหลังจำเลยกับบิดาก็กลับปรองดองกันดังศาลทราบอยู่แล้ว ในข้อซึ่งจำเลยมิได้กลับไปทำการกับบิดาอย่างเดิมซึ่งทนายฝ่ายโจทก์ขึ้นกล่าวเป็นเหตุสำคัญนั้น ก็มีข้ออธิบายง่าย ๆ ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ จำเลยได้จัดการคิดเข้าหุ้นส่วนกับพวกพ้องอื่น ๆ ทำการค้าขายอยู่แล้ว

ข้อ ๒ ซึ่งเป็นข้อสำคัญคือ จำเลยได้พูดกับบิดาว่าจะขอกลับเข้าไปทำหน้าที่ผู้จัดการอย่างเดิม บิดาตอบว่า ช่างเถอะ เจ้าชายมันทำอยู่ดีกว่าเจ้าอีก ในเวลาพูดกันนี้นายชายก็อยู่ ถ้าศาลจะถามนายชายดูก็คงจะได้ความจริง เมื่อความเป็นเช่นนี้ศาลก็คงจะเห็นได้ว่าการที่จำเลยมิได้กลับเข้าไปทำการกับบิดาอีก นั้นไม่ใช่เพราะตัวจำเลย อีกประการหนึ่งถ้าจำเลยมีความประสงค์จะฆ่าบิดาทำไมจึงรอมาช้าจนป่านนี้ จำเลยกับบิดาก็อยู่ในบ้านเดียวกัน ดูก็มีโอกาสที่จะทำร้ายบิดาได้โดยง่าย และการที่ฆ่าบิดานั้น ขอให้ศาลตริตรองดูเถิดว่า จะเป็นประโยชน์อะไรกับตัวจำเลย มรดกอย่างไร ๆ ก็จะได้อยู่แล้ว ส่วนเงินที่ใช้สอย จำเลยก็มีพอ เพราะได้ผลประโยชน์การค้าขายพออยู่แล้ว แต่ถึงโดยไม่มีพอ จำเลยจะขอหรือยืมเงินจากบิดาก็คงจะได้ แต่ก็ไม่มีปรากฏเลยว่าจำเลยมีหนี้สินอย่างใด หรือว่าจำเลยได้ขอเงินบิดาแต่ครั้งหนึ่งครั้งใดเลย

ส่วนข้อที่ทนายโจทก์กล่าวถึงการที่จำเลยนอนหลับและกล่าวว่า จำเลยไม่ใช่คนหลับง่าย เพราะฉะนั้นการที่หลับไปครั้งนี้เป็นพยานของความเจตนาร้ายของจำเลยนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ข้อที่จำเลยเป็นผู้นอนหลับยาก แต่หลับลงครั้งนี้กลับทำให้เห็นได้ว่า จำเลยไม่ได้หลับเอง

ทนายโจทก์ “ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วเมื่อตะกี้ว่าจำเลยแกล้งหลับต่างหากไม่ได้หลับเอง”

ข้าพเจ้า “ข้อที่ว่าจำเลยไม่ได้หลับเองนั้นยอม แต่ว่าที่จำเลยแกล้งทำหลับนี้ ข้าพเจ้าปฏิเสธอย่างแข็งแรงว่าจำเลยไม่ได้แกล้งทำหลับ จำเลยหลับจริง ข้าพเจ้าอาจจะเรียกพยานได้หลายคนซึ่งได้เห็นจำเลยนั่งหลับพิงเตียงนายเปรมผู้ตายอยู่ และต้องเขย่าตัวเป็นหลายหนจึงได้ตื่น ตามธรรมดาจำเลยไม่เคยนั่งหลับได้เลย และเมื่อหลับแล้วถึงจะสนิทเท่าใด พอจับตัวเข้าก็ตื่นทันทีเสมอ เพราะฉะนั้นครั้งนี้จำเลยไม่ใช่แต่หลับจริงเปล่า ๆ จำเลยถูกวางยาด้วย”

เมื่อข้าพเจ้าได้พูดขึ้นเช่นนี้ได้ยินเสียง อือ ! ในระหว่างคนดูแล คนในศาลแทบทุกคนก็แลดูข้าพเจ้ากับนายสวัสดิ์ซึ่งนั่งใกล้ข้าพเจ้านั้น

ฝ่ายทนายโจทก์ก็ลุกขึ้นและพูดว่า “ข้าพเจ้าหวังใจว่าทนายจำเลยมีพยานพอที่จะแสดงให้ศาลเห็นความจริงในเรื่องวางยานี้”

ข้าพเจ้า “แน่ทีเดียว ถ้าข้าพเจ้าไม่มีพยานแล้ว ข้าพเจ้าไม่พูด”

ทนายโจทก์ “ข้าพเจ้าต้องขอให้ศาลบังคับให้ฝ่ายจำเลยหาพยานให้ไว้ใจได้ในเรื่องนี้ เป็นธรรมดาคนกระทำผิดต้องคิดแก้ตัวให้สิ้นกำลัง ถ้าปัดความผิดไปเสียให้พ้นตัวและให้ความสงสัยไปตกอยู่กับคนอื่นเพื่อให้ความยุ่งไปต่าง ๆ”

ศาล “เวลานี้ไม่ใช่เวลาท่านพูด และไม่ใช่หน้าที่ของท่านที่จะสอนศาล นายวัดขอให้ท่านพูดต่อไป”

ข้าพเจ้า “ส่วนพยานนั้นเมื่อถึงเวลาสมควรแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะได้เบิก ข้าพเจ้าขอรับประทานอนุญาตพูดเสียให้ตลอด ในข้อซึ่งทนายโจทก์กล่าวว่า คนเราจะทำลายชีวิตตนก็จะทำได้ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เสียจริตอย่างหนึ่ง หรือมีความเสียใจอย่างใหญ่หลวงอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าขอเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่ง คือความกลัวพระราชอาญา ข้าพเจ้ามีพยานที่จะเบิกให้ศาลเห็นได้ว่า นายเปรมมีเหตุพอที่ควรจะกลัวพระราชอาญา”

ข้าพเจ้าแลดูหน้านายชายเห็นออกไม่สบาย

ทนายโจทก์ลุกขึ้นมาถามว่า “มีเหตุอะไร”

ข้าพเจ้า “แล้วคงจะได้ทราบเมื่อเวลาข้าพเจ้าเบิกพยาน ในเวลานี้ข้าพเจ้าหมดพูดเพียงเท่านี้”

ฝ่ายโจทก์ก็เบิกพยาน คือ หมอ นายชาย กับบ่าวอีก ๒ – ๓ คน ในเวลาพยานให้การนั้น ข้าพเจ้าไม่คัดค้านไม่ถามผู้หนึ่งผู้ใดเลย เว้นแต่นายชาย ในเรื่องซึ่งจำเลยกับนายเปรมทะเลาะกันดังต่อไปนี้

ข้าพเจ้า “เมื่อนายเปรมกับจำเลยทะเลาะกันน่ะ ท่านอยู่หรือ”

นายชาย “อยู่”

ข้าพเจ้า “ท่านได้เข้าห้ามปรามหรือเปล่า”

นายชาย “เปล่า”

ข้าพเจ้า “ท่านจำได้ไหมว่าทะเลาะกันเรื่องอะไร”

นายชาย “จำได้ นายเปรมคิดจะทำการค้าขายอย่างใหม่ นายสวัสดิ์ไม่เห็นด้วย”

ข้าพเจ้า “การค้าขายนั่นเกี่ยวข้องกับการพิมพ์หนังสืออย่างใหม่ หรือ ๆ อะไร”

นายชาย “ไม่ใช่”

ข้าพเจ้า “เกี่ยวกับการตีเหรียญใช่ไหม”

นายชาย (อึ้งอยู่ครู่หนึ่ง) “ใช่”

ข้าพเจ้า “นายเปรมได้เครื่องจักรแล้ว หรือยังจะสั่ง”

นายชาย “ได้มาแล้ว”

ข้าพเจ้า “เหรียญเงินนั่นเป็นเหรียญที่ระลึกงานวัดไม่ใช่หรือ”

นายชาย “ใช่”

ข้าพเจ้า “สัณฐานใหญ่โตสักเท่าเงินบาทไม่ใช่หรือ”

นายชาย ถามทนายโจทก์ “นี่ผมต้องตอบหรือ”

ศาล “ตอบซี”

ข้าพเจ้า “ยังไร—เท่าเงินเหรียญบาทได้ไหม”

นายชาย “ได้”

ข้าพเจ้า “แล้วจำเลยไม่เห็นด้วยเพราะเหตุนี้ไม่ใช่หรือ”

นายชาย “เห็นจะยังงั้น”

ข้าพเจ้า “แล้วจำเลยได้พูดว่า อ้ายเรื่องทำเหรียญเท่าเงินบาทนี่ไม่เห็นมันเข้าเรื่องเลย คนยิ่งทำเงินแดงอยู่ชุก ๆ เขาจะมาหาเอาเราได้ ก็จะเลยพากันเสียชื่อหมด เช่นนี้ถูกหรือไม่ถูก”

นายชาย “ถูก”

ข้าพเจ้า “การที่จำเลยพูดเช่นนี้หรือทำให้นายเปรมโกรธ”

นายชาย “ดูเหมือนยังงั้น”

ข้าพเจ้า “ดูเหมือน—ไม่ได้—ต้องตอบให้แน่นอนยังงั้นหรือไม่ ยังงั้นให้ว่ามา—ดูเหมือนไม่เอา”

นายชาย “ยังงั้น”

ข้าพเจ้า “ส่วนตัวแกเองน่ะ เห็นด้วยตามความคิดนายเปรมหรือ”

นายชายไม่ตอบ “ไม่ตอบก็ได้ เพราะศาลคงจะเห็นได้อยู่แล้วว่า ถ้าแกไม่เห็นชอบตามความคิดนายเปรม แกคงไม่เข้ารับหน้าที่แทนจำเลย เออยังมีอยู่อีกข้อหนึ่ง เมื่อคืนวันที่นายเปรมตายน่ะ แกเป็นผู้ไปปลุกจำเลยมาไม่ใช่หรือ”

นายชาย “เป็นผู้ปลุก”

ข้าพเจ้า “จำเลยก็ได้นอนนานแล้วไม่ใช่หรือ”

นายชาย “นานแล้ว หลายชั่วโมง”

ข้าพเจ้า “ก่อนที่เป็นลมน่ะ จำเลยได้บ่นหาวนอนบ้างหรือเปล่า”

นายชาย “ไม่ได้บ่น”

ข้าพเจ้า “จำเลยไปนั่งในห้องคนเจ็บนานสักเท่าไรจึงรู้สึกไม่สบายเป็นลม”

นายชาย “เกือบชั่วโมง”

ข้าพเจ้า “แล้วเมื่อจำเลยรู้สึกว่าเป็นลมขึ้นแล้ว จำเลยได้บอกกับแกว่าเป็นลมจะไปหายากิน แล้วแกรับอาสาว่าจะไปบดยามาให้ไม่ใช่หรือ”

นายชาย “ยังงั้น”

ข้าพเจ้า “พอแกเอายามาให้จำเลยเสร็จแล้วแกก็กลับไปนอนเทียวหรือ”

นายชาย “พอให้แล้วก็กลับไปนอน”

ข้าพเจ้า “พอแล้ว”

แล้วข้าพเจ้าก็หันหน้าไปทางที่นั่งตุลาการและพูดว่าคราวนี้ข้าพเจ้าจะขอประทานเบิกพยาน เพื่อให้ศาลเห็นปรากฏว่า จำเลยไม่ได้มีข้อความอะไรที่จะต้องฆ่านายเปรมเพราะความประสงค์ต้องการเงิน พยานที่ข้าพเจ้าจะเบิกนี้คงแสดงให้ท่านเห็นได้ว่า จำเลยมีเงินพอใช้สอยทุกประการ แล้วข้าพเจ้าก็เบิกพยานเพื่อชี้ปรากฏในข้อนี้สองนายคือเสมียนแบงก์ ซึ่งนายสวัสดิ์ได้ฝากเงินไว้นั้นคนหนึ่ง กับนายสุ่นซึ่งได้ทำการค้าขายด้วยกันกับนายสวัสดิ์อีกคนหนึ่ง ส่วนเสมียนแบงก์นั้นนำบัญชีขึ้นเสนอต่อศาลซึ่งเป็นพยานอันดีว่านายสวัสดิ์มีเงินฝากอยู่ในแบงก์นั้นถึง ๑๕๐๐ บาท ส่วนนายสุ่นนั้นก็นำบัญชีขึ้นเสนอต่อศาล ซึ่งทำให้เห็นปรากฏได้ว่าการค้าขายของนายสวัสดิ์กับนายสุ่นและพรรคพวกได้จัดการทำอยู่นั้นก็เจริญดี ได้กำไรด้วยกันทุกคน แล้วข้าพเจ้าจึงพูดว่า “คราวนี้ข้าพเจ้าจะเรียกพยานเพื่อแสดงให้ปรากฏว่า การที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วถึงเรื่องนายเปรมทำลายชีวิตตนเอง โดยความกลัวพระราชอาญานั้นเป็นความจริง ข้าพเจ้าขอประทานอนุญาตเบิกนายทองอิน”

นายทองอินก็ให้การเรื่องสืบจับเงินแดง คือเดิมกรมกองตระเวนได้สืบจับผู้ทำเงินแดงอยู่หลายเดือน แต่ไม่ใคร่ได้ความโดยเหตุที่ชี้ตัวผู้ใช้เงินแดงลงเป็นแน่นอนไม่ได้ ภายหลังกรมกองตระเวนมาขอให้นายทองอินช่วยสืบ ในชั้นต้นนายทองอินก็สืบไม่ได้ความชัดเจนเหมือนกัน โดยเหตุที่สืบไปก็ไม่ไปถึงที่สุดแห่งเดียวกันเสมอ บางทีไปจบที่บ้านโน้นบางทีไปจบที่บ้านนี้ ต่อมาจึงได้ความว่าผู้ที่แรกใช้เงินแดงนั้น เป็นผู้เกี่ยวข้องกับโรงพิมพ์เปรมปรีดีราษฎร์ พอได้ความเช่นนี้ แล้วรุ่งขึ้นก็ได้ความว่านายเปรมถึงแก่ความตาย ซึ่งนายทองอินเห็นว่าเป็นพยานอันดีแห่งความพิรุธของนายเปรม นายทองอินจึงขออนุญาตเจ้ากรมกองตระเวนเข้าไปค้นในโรงพิมพ์เปรมปรีดีราษฎร์ ก็จับได้เครื่องจักรสำหรับทำเงิน ซึ่งตั้งอยู่ในโรงไม้สิงคโปร์หลังเล็กอยู่หลังโรงพิมพ์ แต่ภายในเขตของโรงพิมพ์ เมื่อนายทองอินพูดขึ้นดังนี้ผู้ที่อยู่ในศาลต่างคนต่างแลดูหน้านายชายด้วยกันทุกคน ส่วนนายชายนั้นหน้าซีดเหมือนคนเจ็บ เมื่อนายทองอินพูดจบแล้วข้าพเจ้าก็ลุกขึ้นพูดต่อไปว่า “เมื่อศาลได้ฟังข้อความอันปรากฏเช่นนี้แล้ว ก็คงจะเห็นได้ว่าการที่นายสวัสดิ์ถูกวางยานั้นก็เป็นความคิดของผู้ผิดซึ่งจะเอาตัวรอด โดยทางก่อความใหญ่ขึ้นเสียเพื่อจะปิดบังความผิดของตน แต่ข้าพเจ้าจะขอประทานอนุญาตเบิกพยานเพื่อให้ศาลเห็นชัดเจนว่า การที่ข้าพเจ้าพูดนี้เป็นการจริง"”แล้วข้าพเจ้าก็เบิกอำแดงเอมคนใช้ในบ้านนายเปรม

ข้าพเจ้า “เมื่อนายชายเข้าไปหยิบยาให้นายสวัสดิ์นั่น แกอยู่ในห้องนายสวัสดิ์หรือ”

อำแดงเอม “ดิฉันอยู่ที่เฉลียงหน้าห้องคุณสวัสดิ์”

ข้าพเจ้า “นายชายได้ใช้ให้แกบดยาหรือ”

อำแดงเอม “เจ้าค่ะ”

ข้าพเจ้า “แกรู้หรือเปล่าว่ายาอะไรที่เขาให้บด”

อำแดงเอม “ยาหอมอินทจักร์”

ข้าพเจ้า “แน่นะ”

อำแดงเอม “แน่เจ้าค่ะ”

ข้าพเจ้า “พอบดแล้วแกละลายเองหรือ”

อำแดงเอม “ดิฉันไม่ได้ละลายคุณชายเธอละลาย”

ข้าพเจ้า “นายชายใช้แกไปเอาน้ำหรือเปล่า”

อำแดงเอม “ใช้เจ้าค่ะ”

ข้าพเจ้า “เมื่อแกไปเอาน้ำกลับมาน่ะ แกเห็นนายชายทำอะไรอยู่”

อำแดงเอม “เห็นถือขวดอะไรอยู่ไม่ทราบเลยเจ้าค่ะ”

ข้าพเจ้า “จำขวดได้ไหม”

อำแดงเอม “ถ้าเห็นเข้าก็เห็นจะจำได้”

ข้าพเจ้าก็หยิบขวดยาซึ่งเอามาจากห้องนายสวัสดิ์ ๓ ขวดชูขึ้นให้อำแดงเอมแล้วถามว่า “แกชี้ทีหรือขวดไหน”

อำแดงเอมก็ชี้ขวดซึ่งบรรจุยา คลอแรน ข้าพเจ้าก็ส่งขวดยานั้นขึ้นไปที่ตุลาการ ๆ จึงให้หาหมอกรมสุขาภิบาล ส่งขวดยานั้นให้และถามว่า “นี่ยาอะไร”

หมอเปิดขวดขึ้นดมแล้วตอบว่า “คลอแรน—ยานอนหลับไม่มีข้อสงสัยเลย”

ข้าพเจ้า “เห็นว่าไม่ต้องพูดอะไรอีกแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่าศาลคงจะตัดสินยกฟ้องเป็นแน่”

ท่านผู้พิพากษาปรึกษากันครู่หนึ่ง แล้วอธิบดีผู้พิพากษากล่าวว่า

“ศาลพิจารณาตามข้อความและตามถ้อยคำให้การทั้ง ๒ ฝ่าย เห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด เพราะฉะนั้นให้ยกฟ้องเสีย”

นายสวัสดิ์ก็ลุกขึ้นคำนับผู้พิพากษาแล้วก็ตรงเข้ามาจับมือข้าพเจ้าและพูดเสียงเครือ ๆ ว่า “ขอบพระเดชพระคุณ ผมจะไม่ลืมพระเดชพระคุณของท่านเลย”

ข้าพเจ้าสั่นหัวแล้วตอบว่า “ไม่ต้องขอบใจฉัน แกไม่ได้รอดตัวเพราะฉัน แกรอดตัวเพราะความซื่อสัตย์ของแกเองต่างหาก” แล้วข้าพเจ้ากับนายสวัสดิ์กับพวกพ้องอื่น ๆ ก็พากันออกมาจากศาลมีผู้มาแสดงความยินดีด้วยเป็นหลายคน ส่วนข้าพเจ้าเองก็มีพวกเพื่อนหมอกฎหมายด้วยกันมาจับมือแสดงความยินดีด้วยเป็นอันมาก

ส่วนนายชายนั้นพอออกมาจากศาล เจ้ากรมกองตระเวนก็จับตัว ไม่ช้านายชายก็ได้ไปนั่งที่ซึ่งนายสวัสดิ์ได้นั่งอยู่ก่อนไม่กี่วัน คือในที่จำเลยต้องหาว่าทำเงินปลอม แต่นายชายไปมิโชคดีเหมือนนายสวัสดิ์ พอออกจากศาลโปลิสภานั้นก็ได้ขับรถตรงไปกองลหุโทษ ไม่ช้าก็ขึ้นไปนั่งในศาลพระราชอาญา ขึ้นไปเวลาเช้าพอเวลาบ่ายก็ได้ขึ้นรถไปเรือนหลวง เลยได้อยู่กินของหลวงทำราชการแผ่นดินมาจนทุกวันนี้ และคงจะได้ทำต่อไปอีกเกือบ ๑๐ ปี ส่วนนายสวัสดิ์นั้นในเวลานี้ก็เป็นคนมั่งมีพอสมควร ส่วนโรงพิมพ์เปรมปรีดีราษฎร์นั้นก็เปลี่ยนแปลงไปมาก แล้วเงินแดงก็เลิกทำทั้งนามก็เลยเปลี่ยนเป็นโรงพิมพ์สวัสดิ์พิมพการ รับทำการตีพิมพ์หนังสือต่าง ๆ ต่อไป ส่วนตัวนายสวัสดิ์เองก็เลยเป็นคนชอบพอกับข้าพเจ้าและนายทองอินมาจนทุกวันนี้

นายแก้ว

นายขวัญ

(เอดิเตอร์ขอถามว่านายเปรมนั้นจะนับว่าได้ถูกฆ่าหรือเปล่า ถ้าถูกใครเป็นผู้ฆ่า ? และฆ่าโดยเจตนาหรือเปล่า ? ขอให้ผู้อ่านของเราซึ่งมีความรู้ในทางกฎหมายตริตรองดูและเอดิเตอร์จะมีความยินดีรับคำชี้แจงในเรื่องนี้)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ