สร้อยคอร้อยชั่ง

เรื่องต่างๆ ที่ข้าพเจ้าได้เล่าให้ท่านฟังมาแล้วทั้งสิ้น ล้วนแต่เป็นเรื่องซึ่งได้ปรากฏในหนังสือแล้วแทบทุกเรื่อง เป็นแต่ข้าพเจ้าได้อธิบายการสืบสวนเรื่องนั้นๆ โดยพิสดารเท่านั้น แต่เรื่องที่ข้าพเจ้าจะเล่าครั้งนี้เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครได้ทราบเลย นอกจากคน ๒-๓ คนซึ่งเกี่ยวข้องในเรื่องนั้น คนซึ่งได้ทราบในเรื่องนี้ทุกๆ คนต่างก็ตกลงกันนิ่งไม่พูดต่อไปเลย ในบัดนี้จะเป็นครั้งแรกที่เรื่องนี้จะได้แพร่หลายไป การที่ข้าพเจ้าจะนำมาเล่าครั้งนี้ ก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องประหลาดน่าฟังไม่ควรจะให้สูญเสียเปล่า และตัวคนสำคัญในเรื่องนี้ก็ถึงแก่กรรมไปแล้ว และเรื่องนั้นมิอาจจะทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดได้ความเดือดร้อนเลย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงกล้านำมากล่าวให้ท่านฟังดังต่อไปนี้

คนสำคัญในเรื่องนี้ที่ข้าพเจ้าได้กล่าวแล้วนั้น มีนามว่านายเทศเป็นคนรู้จักชอบพอกับข้าพเจ้าและนายทองอิน เมื่อยังหนุ่มอยู่แกได้มีภรรยาคนหนึ่งอยู่ด้วยกันไม่กี่เดือน ภรรยาก็ตาย นายเทศเสียอกเสียใจมาก ก็เลยไปอุปสมบทโดยความตั้งใจจะไม่สึกอีก ในเวลาที่เป็นพระอยู่นั้นก็มิได้เป็นบาร่ำบาเรียญอะไร แต่เพราะเป็นพระซึ่งพูดจาสนุกน่าฟัง จนมีคนรู้จักกับแกมาก ถึงข้าพเจ้ากับนายทองอินก็ได้รู้จักแกเมื่อแกเป็นพระอยู่ และได้เคยไปหาสนทนากับแกที่วัดหลายครั้ง อยู่มาเมื่อปี ๑๒๒ ญาติของนายเทศถึงแก่กรรมทำพินัยกรรมยกสมบัติให้กับนายเทศ นายเทศก็สึกจากพระเพื่อปกครองสมบัติเวลานั้นนายเทศอายุได้ ๔๕ ปี ชอบกลจริงๆ เมื่อเวลาแกเป็นพระดูแกคล่องแคล่วดี แต่พอสึกออกมาแล้วดูรุ่มร่ามจนน่าขัน ถ้าใครที่ได้เคยเห็นแกเมื่อเวลาแกเป็นพระอยู่แล้วก็เกือบจะไม่รู้จักแก เมื่อเวลาแกเป็นคฤหัสถ์ ผิดกันราวกับคนละคน พอแกสึกออกมาได้สัก ๓-๔ วันแกไปหานายทองอิน พอกลับไปแล้วนายทองอินพูดกับข้าพเจ้าว่า “นี่แหละไม่ช้าตาเทศคงทำขี้เท่ออะไรสักอย่างหนึ่ง”

ไม่ช้านักก็ได้ทราบข่าวว่านายเทศจะมีภรรยาใหม่ สังเกตดูตามในหนังสือนายเทศถึงนายทองอินดูตื่นภรรยานั้นเสียเหลือเกิน แกถึงกับเรียกว่าหญิงนั้นเป็นเทพธิดาจุติ พอสืบได้ความหญิงนั้นเป็นหญิงละครมีชื่อเสียง นายทองอินพยักหน้าแล้วพูดกับข้าพเจ้าว่า “ยังไงฉันว่าแล้วไม่ใช่หรือว่าตาเทศจะทำขี้เท่ออย่างใดอย่างหนึ่ง พุทโธ่ นางช้อยนี่ใครๆ มันก็รู้จักอยู่ทั้งนั้น มันช่างตรงกันข้ามกับเทพธิดาจุติจริงนะ”

ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะแก้แทนนายเทศจึงพูดว่า “ที่จริงมันก็ไม่น่าประหลาดนักหรอกคนหนุ่มๆ กว่าตาเทศยังหลงนางช้อยได้นี่นา”

นายทองอินสั่นศีรษะแล้วพูดว่า “อ๊ะ มันผิดกันน่ะ คนอื่นๆ ถึงเขาหลงเขาก็หลงกันชั่วคราว ตาเทศนี่กินลึกกว่าคนอื่น แกจะแต่งงานกับนางช้อยนา แกไม่เข้าใจหรือ”

ข้าพเจ้ารับว่า ข้าพเจ้ายังไม่ได้เข้าใจเช่นนั้นแล้วพูดต่อไปว่า “น่าเสียดายคนดีๆ อย่างตาเทศจะมาถูกอีผู้หญิงอย่างนางช้อยทำเสีย เราคิดอ่านไปบอกให้แกรู้ความจริง ให้แกรู้เรื่องนางช้อยเสียเห็นจะดีละกระมัง”

นายทองอินหัวเราะแล้วตอบว่า “แกจะไปบอกก็เชิญเถอะ ฉันไม่บอกละ ฉันเชื่อว่าจะไปบอกแกคงไม่มีประโยชน์”

แต่ข้าพเจ้ายังไม่ยอมแพ้ ข้าพเจ้าจึงไปหาตาเทศถึงเรื่องนางช้อย ข้าพเจ้าพูดไปยังไม่ทันถึงไหน ตาเทศแกลุกเป็นไฟแล้วถามข้าพเจ้าด้วยเสียงกระโชกว่า “นี่แกมิตรของฉันหรือไม่ใช่?”

ข้าพเจ้าตอบว่ามีความตั้งใจดีต่อนายเทศอยู่เสมอแกกลับกระโชกซ้ำอีกว่า “ก็อย่างนั้นทำไมแกถึงมาด่าผู้หญิงที่ฉันรักยิ่งกว่าดวงชีวิต และที่จะเป็นเมียฉัน ใน ๒-๓ วันนี้”

ข้าพเจ้าตอบว่า “เพราะฉันชอบแก แล้วจึงมาบอกให้แกทราบตามความจริงซึ่งคนโดยมาทราบอยู่ทั่วกันแล้ว”

ตาเทศเถียงว่า “ความจริงเมื่อไร ความเท็จต่างหากแกนึกว่าฉันไม่รู้เรื่องต่างๆ ที่แกมาเล่าให้ฉันฟังหรือ ฉันรู้หมดแล้วแต่ฉันก็รู้ด้วยเหมือนกันว่า ผู้ที่เริ่มกล่าวเรื่องเหล่านั้นขึ้นก็กล่าวเพราะความเกลียดชัง หรือความอิจฉาแม่ช้อย เกลียดเขาเพราะเขาดี ตัวจะชวนให้เขาชั่วเขาไม่ชั่วตามตัว แกอย่าเก็บเอาอ้ายเรื่องเหล่านั้นมาบอกฉันอีกเลย ฟังจนเบื่อหูเสียแล้ว ใครพูดก็ช่าง ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง ตัวฉันเองที่จะเป็นผัวแม่ช้อยเชื่อในความดีของแม่ช้อยแล้วก็แล้วกันมั่งเถอะ”

ข้าพเจ้าเห็นว่าจะพูดต่อไปอีกไม่มีประโยชน์ก็ลากลับมา รุ่งขึ้นข้าพเจ้ากับนายทองอิน มีธุระไปที่ร้านฝรั่งช่างทอง เห็นสร้อยคอสายหนึ่งเพชรใหญ่ๆ งาม นายทองอินจึงถามฝรั่งนั้นว่า “นี่สร้อยคอนี้ราคาสักเท่าไร?”

ฝรั่งช่างทองตอบว่า “ฉันขายไปแล้วเมื่อวานนี้เอง ราคา ๘๐๐๐ บาท ท่านผู้ที่ซื้อไปอายุก็มากแล้ว แต่ยังงั้นยังหลวงผู้หญิงอยู่ได้”

นายทองอินจึงถามฝรั่งช่างทองว่า “ทำไมท่านจึงทราบ”

ฝรั่งยิ้มแล้วตอบว่า “ท่านผู้ซื้อเขาบอกเองว่า จะเอาไปให้ภรรยาซึ่งจะแต่งงานกันใหม่ แล้วเลยพูดเพ้ออะไรต่ออะไรถึงภรรยานี้ต่างๆ ทำให้เห็นได้ว่าท่านผู้นั้นหลงผู้หญิงคนนั้นมาก”

นายทองอินตอบว่า “ท่านบอกข้าพเจ้าได้ไหมว่า คนซื้อนั้นชื่อเทศหรือมิใช่”

ฝรั่งช่างทองพยักหน้าแล้วตอบว่า “ถูกแล้ว”

ข้าพเจ้ากับนายทองอินก็แลดูตากัน แล้วก็ออกจากร้านช่างทองเดินต่อไป

การแต่งงานนายเทศครั้งนั้นจัดเป็นการใหญ่มาก ส่วนนายเทศนั้นอวดกับเขาว่า มีผู้ไปเพราะภรรยา ในข้อนี้บางทีก็จะจริงได้บ้าง คือคงจะมีพวกนักเลงซึ่งอยากไปดูว่า นางช้อยจะทำหน้าตาอย่างไร จะแกล้งทำเรียบร้อยเจี๋ยมเจี้ยมอย่างไรบ้าง แต่ยังมีผู้ที่ไปอีกโดยมาก ไปเพราะเขาเห็นแก่ตัวนายเทศเอง มีข้าพเจ้ากับนายทองอินเป็นต้น ส่วนตัวข้าพเจ้านั้นถ้าไม่ใช่เพราะความชอบพอนายเทศแล้ว ข้าพเจ้ามิได้ปรารถนาไปในงานของนางช้อยเลย ข้าพเจ้าเชื่อแน่ว่าผู้ซึ่งมีความชอบพอในตัวนายเทศเอง คงจะนึกสงสารนายเทศมากกว่ายินดี แต่เพราะความรักใคร่ในตัวนายเทศนั้น จึงต้องแกล้งทำเป็นยินดีไปด้วย ต่อนั้นมานายเทศกับภรรยาก็อยู่ด้วยกันมาเรียบร้อยพอสมควร นายเทศก็ยิ่งหลงภรรยามากขึ้นทุกวัน ภรรยาจะต้องการอะไรก็ให้ทั้งสิ้น และมิได้สงสัยในความประพฤติของภรรยาเลย แต่ที่จริงภรรยาก็มิได้เปลี่ยนความประพฤติไปจากที่เคยเป็นแต่ก่อนมากนัก เว้นแต่ระวังขึ้นมากหน่อยเท่านั้น แต่เมื่อนายเทศไม่อยู่เมื่อใดก็ได้ดูดีกันเมื่อนั้น นายเทศมีข้อจำเป็นที่จะต้องออกไปตรวจตราที่ทางนอกกรุงเทพฯ เนืองๆ ในเวลานายเทศไม่อยู่นั้น ภรรยานายเทศก็หาได้อยู่เงียบเหงาตามนายเทศเข้าใจและเชื่อไม่ คงจะมีผู้ไปมาหาสู่อยู่ตลอดเวลา แต่มีผู้สนิทสนมมากอยู่ก็คือชายหนุ่มผู้หนึ่ง ชื่อนายเฟื่องเป็นคนทำงานอยู่ในหนังสือพิมพ์สยามคูเรีย นายเฟื่องผู้นี้ถึงเวลานายเทศอยู่บ้าน ก็ไปหานางช้อยอยู่เนืองๆ ได้ทราบข่าวว่านางช้อยบอกกับนายเทศว่า นายเฟื่องเป็นญาติของตน ทั้งข้าพเจ้าทั้งนายทองอินมีความสงสัยในเรื่องนี้เป็นกำลัง แต่เพราะทราบว่าถึงจะบอกความสงสัยนั้นกับนายเทศ ก็ไม่มีประโยชน์จึงนิ่งเสียแต่ก็คอยระวังเพื่อจะมิให้เกิดความเสียมาแผ้วพานในชื่อนายเทศได้

ครั้นเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๒๑ อำแดงช้อยป่วยเป็นอหิวาตกโรคถึงแก่กรรม พอข้าพเจ้ากับนายทองอินได้ทราบข่าว ก็ตรงไปที่บ้านนายเทศ พบนายเทศคุกเข่าอยู่ริมเตียงภรรยากอดศพภรรยาอยู่ ข้าพเจ้ากับนายทองอินกลัวอันตรายจะมีกับนายเทศด้วย จึงช่วยกันดึงนายเทศออกมาเสียจากศพ แล้วพาไปห้องนอนและไปตกลงกับหมอขอยานอนให้รับประทานเสีย ก่อนที่นายเทศจะนอนหลับนั้นเรียกนายทองอินเข้าไปใกล้แล้วพูดว่า “แกกับฉันก็เป็นเพื่อนรักกันมา วานทำอะไรให้สักหน่อยเถอะ”

นายทองอินตอบว่า “ได้ซิ จะให้ทำอะไรก็ว่ามา”

นายเทศจึงพูดว่า “สร้อยคอเพชรที่ฉันให้เมียฉันเมื่อแต่งงานกันน่ะ แกจัดการเอาไปใส่ที่คอเมียฉันก่อนที่เขาเอาลงหีบน่ะ”

ข้าพเจ้ากับนายทองอินช่วยกันว่ากล่าวตักเตือนขออย่าให้ทำเช่นนี้ นายเทศก็ไม่ยอมดิ้นรนมากมาย จนหมอซึ่งอยู่ในห้องนั้นด้วยเข้ามากระซิบกับข้าพเจ้าว่า ให้ยอมทำตามเสียเถิดดีกว่า ข้าพเจ้ากับนายทองอินก็ต้องตกลง แต่ตกลงกันไว้ในใจว่าจะรับพยักเพยิดไปเปล่าๆ เท่านั้น จะไม่ทำจริง แต่จะเป็นอย่างไรไม่ทราบ นายเทศดูเหมือนทายใจข้าพเจ้ากับนายทองอินออก เพราะนิ่งไปสักครู่หนึ่งแล้วก็พูดว่า “อย่าเลยฉันจะเอาสร้อยคอนั้นไปใส่เองดีกว่า” แล้วก็ลุกขึ้นจากเตียงไปหยิบสร้อยคอมา เดินเข้าไปในห้องภรรยาและเอาสร้อยคอนั้นสวมคอศพภรรยาเสร็จแล้วจึงกลับมานอน ข้าพเจ้ากับนายทองอินพอเห็นนายเทศหลับแล้วก็วางใจ นึกว่าคงจะหลับไปอีกนาน จึงพากันไปถอดสร้อยคอออกมาเก็บไว้ให้มิดชิด และตกลงกันว่าจะรีบเอาศพไปฝังเสียก่อนนายเทศตื่น แต่ก็หาสำเร็จตามความประสงค์นี้ไม่ เพราะพอคนยกหีบศพขึ้นมา นายเทศก็ตื่นขึ้น และว่าจะไปดูเขาเอาศพบรรจุหีบ ข้าพเจ้ากับนายทองอินห้ามปรามเท่าไรก็มิฟัง พอออกไปเห็นสร้อยคอหายไปก็เอะอะใหญ่ ร้องไห้เหมือนกับเด็กๆ ซึ่งของเล่นแตกหรือหาย นายทองอินรู้สึกว่าถ้าจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไป แล้วจะเกิดเหตุขึ้นในส่วนตัวนายเทศจึงไปหยิบสร้อยคอมาสวมเสียตามเดิม และกระซิบกับข้าพเจ้าว่า “แล้วเราไปขุดเอาสร้อยคอนี้กลับมาเสียก็ได้” ส่วนศพนั้นก็ได้นำไปฝังที่ป่าช้าวัดใกล้บ้านนายเทศ มีเครื่องหมายปักไว้พอสมควร

ในวันนั้นเผอิญนายทองอินมีธุระต้องไปช่วยกองตระเวนสืบจับผู้ร้ายรายหนึ่ง จึงมิได้มีเวลาไปขุดเอาสร้อยคอขึ้นมาตามที่ตกลงกันไว้ ต่อวันรุ่งขึ้นข้าพเจ้ากับนายทองอินจึงได้พากันไป เมื่อถึงที่แล้วก็ยืนตกตะลึงกันอยู่ทั้งสองคน เพราะเห็นได้โดยชัดเจนว่า ได้มีผู้มาขุดเสียก่อนแล้ว ข้าพเจ้ากับนายทองอินก็สั่งคนใช้ซึ่งได้พาไปด้วยนั้นจัดการปิดโลงและกลบหลุมเสียเรียบร้อยตามเดิม แล้วนายทองอินพูดกับข้าพเจ้าว่า “ต้องเอาตัวขโมยนี้ให้ได้ แล้วต้องเอาของกลางคืนให้ได้ด้วย และฉันเชื่อว่าไม่ยากทั้งสองอย่าง เพราะเจ้าขโมยนี้ยังไม่มีเวลาไปไหนไกล แล้วของนั่นก็ไม่ใช่ของเล็กน้อย คงจะจับได้ง่าย ฉันจะสั่งให้เจ้าสุขให้คอยดูตามบ้านทวายไว้ แล้วให้เจ้าแจ่มดูตามบ้านช่างทองที่เขารู้จักอยู่แล้วมั่งคงได้ตัวแห่งหนึ่งยังไง พ่อวัดในเรื่องนี้แกมีความเห็นยังไงบ้าง”

ข้าพเจ้า “บางทีจะได้สืบดูให้ดีๆ เถอะ ฉันเข้าใจว่าจะอยู่ตามบ้าน คงไม่เข้าโรงจำนำ เพราะของมันราคามาก”

“อ้ายเรื่องนั้นแน่ ไม่ต้องสงสัย แต่ว่าแกมีความคิดอะไรในเรื่องตัวขโมยบ้างไหม”

“จะมีความคิดอะไร มันก็มาขุดเอาไปเท่านั้นแหละ”

“ใครขุด คนชนิดใด”

“จะไปรู้มันยังไงได้ คนทั้งโลกใครๆ ก็มาขุดได้”

“ทั้งโลกยังไง คนทั้งโลกไม่ได้รู้ความบ้าของตาเทศนี่ คนทั้งโลกไม่รู้ว่าตาเทศเอาสร้อยคอติดศพไปด้วยนี่นา”

“ทำไมจะไม่รู้ แกรู้ ฉันรู้ ตาหมอรู้ แล้วคนในบ้านอีกหลายคนรู้”

“ตะกี้แกว่าใครๆ ก็ได้ เดี๋ยวนี้แกกลับไปแล้วว่าไม่ใช่ใครๆ จริงไหมละ แกไม่รู้หรือว่าวงมันรัดเล็กเข้ามา ถ้าจะไปสืบกับคนทั้งโลกที่ไหนจะได้”

“อ้าว นั่นแหละ ฉันพูดมันเลยไปหน่อย ที่จริงฉันหมายความว่าคนที่รู้น่าซี”

“ถึงในคนที่รู้จักก็รัดวงให้เล็กเข้าไปอีกก็ได้ ตัวฉันกับตัวแกออกได้ ๒ คน หมอก็เอาออกได้ เพราะแกคงจะจำได้เมื่อฉันไปถอดสร้อยคอมาเก็บนั้นหมอยังอยู่ แต่เมื่อเอามาใส่เขาอีกอย่างเดิมน่ะ หมอแกไม่อยู่เสียแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่ง หมอแกเป็นคนมีพออยู่แล้ว ทั้งมีชื่อเสียงดีอยู่ด้วย พอจะเชื่อได้ว่าแกคงไม่ขโมยเอาออกได้อีกคนหนึ่ง ยังเหลือใครอีกบ้างล่ะ”

“บ่าวที่จัดการศพ ๓ คน เจ้าญาติคนหนึ่ง”

“มันก็แคบเข้ามาเป็นกองไหมละ แต่ถึงกระนั้นฉันก็ยังไม่ตกลงแน่นา ว่าคนใดคนหนึ่งใน ๔ คนนี้เป็นคนขุด อาจจะไปจ้างหรือไปยุให้ผู้อื่นขุดได้ แต่ถึงยังไงๆ เจ้าพวกเหล่านั้นคนหนึ่งคงจะได้ประโยชน์ เอาเถอะวันนี้คงยังไม่มีอะไรหรอก แกกลับไปบ้านเสียก่อนก็ได้ ฉันจะต้องเขียนหนังสือออกคำสั่งลูกสมุนฉัน”

รุ่งขึ้นพอข้าพเจ้ากลับจากออฟฟิศก็เลยไปบ้านนายทองอินเพื่อถามข่าวคราวในเรื่องนี้ พอข้าพเจ้าไปถึงนายทองอินก็ลุกขึ้นแล้วพูดว่า “ดีทีเดียวแกมาเหมาะแล้ว ฉันกำลังจะไปบ้านตาเทศอยู่เทียว”

ข้าพเจ้าถามว่า “เอ๊ะ นี่เกิดเหตุอะไรกัน”

นายทองอินสั่นศีรษะแล้วตอบว่า “ไม่รู้ได้ แกเขียนหนังสือมาเรียกให้ไปแล้วเร่งให้ไปด้วย มาไปด้วยกันเถอะ”

ว่าดังนั้นแล้วนายทองอินกับข้าพเจ้าก็พากันรีบไปบ้านนายเทศช่างน่าสงสารแกจริงๆ หน้าแกเซียวตาลึกแลดูแก่ลงไปสัก ๑๐ ปี ยังไม่เคยเห็นอะไรน่าทุเรศเท่าเลย ข้าพเจ้ากับนายทองอินเข้าไปก็แสดงความยินดีกวักเข้าไปนั่งให้ใกล้ๆ แล้วพูดว่า “แกรู้แล้วหรือยังว่า มีคนไปขุดศพเมียฉันขึ้นมาแล้วขโมยเอาสร้อยคอนั้นไป” นายทองอินกับข้าพเจ้าแลดูตากัน เพราะยังเชื่ออยู่ทั้ง ๒ คนว่านายเทศยังไม่ทราบเรื่องนี้ เพราะทั้งสองคนได้นัดกันไว้ว่าจะปิดไม่ให้ทราบ แต่นายทองอินวางหน้าเฉยเหมือนไม่รู้ไม่ชี้แล้วถามนายเทศว่า “นี่ใครเอาเรื่องอะไรมาหลอกแก”

นายเทศเถียงว่า “ไม่หลอกน่า เรื่องจริง ฉันรู้ว่าจริง”

นายทองอินทำเป็นประหลาดใจแล้วถามว่า “แกรู้ได้ยังไงว่าเป็นเรื่องจริง”

นายเทศตอบว่า “วันนี้ฉันใช้บ่าวให้เอานาฬิกาไปแก้ที่ร้านนายสุวรรณ มันไปเห็นสร้อยคอที่มันจำได้แน่นอนว่าเป็นสร้อยคอที่ฉันให้แม่ช้อย แกก็เห็นอยู่แล้วว่า สร้อยคอนั้นฝังอยู่กับแม่ช้อย ถ้าไม่ขุดศพแม่ช้อยนั่นจะได้สร้อยคอขึ้นมายังไง”

นายทองอินพยักหน้าแล้วว่า “ถ้าสร้อยคอนั้นไปอยู่ที่ร้านนายสุวรรณจริงตามแกว่า ศพเมียแกเห็นจะได้ถูกขุดจริง เอาเถอะฉันจะไปสืบเอาความจริงมาให้แก”

นายเทศแสดงความยินดีแล้วพูดว่า “ดีทีเดียวที่ฉันให้ไปตามแกมาก็เพราะหมายว่าบางทีแกจะช่วยฉันได้มั่ง”

นายทองอินตอบว่า “อย่ากลัวเลยทั้งพ่อวัดทั้งฉันเต็มใจที่จะช่วยแกสุดกำลัง”

เมื่อกล่าวเช่นนั้นแล้ว นายทองอินกับข้าพเจ้าก็ออกจากบ้านนายเทศไปร้านนายสุวรรณช่างทอง ท่านผู้อ่านบางท่านคงจะจำได้ว่า นายสุวรรณคนนี้เองที่ถูกขโมยเมื่อปี ๑๒๒ และซึ่งข้าพเจ้าได้เล่าถึงแล้ว แต่เวลาที่กล่าวถึงในเรื่องนี้ ยังกำลังเรียบร้อยดีไม่มีเหตุการณ์

เมื่อถึงร้านนายทองอินก็ตรงเข้าไปแล้วถามนายสุวรรณว่า “ได้ยินว่าท่านมีสร้อยคอเพชรเม็ดใหญ่ได้มาใหม่เมื่อวานนี้ไม่ใช่หรือ”

นายสุวรรณสั่นศีรษะแล้วพูดว่า “เสียใจ ไม่ใช่เพชรจริง เป็นเพชรเก๊ทั้งนั้น”

นายทองอินจึงพูดว่า “ถึงยังไงๆ ก็ขอฉันดูสักหน่อยเถอะ”

นายสุวรรณก็หยิบสร้อยคอออกมาวางลงบนโต๊ะ ดูช่างเหมือนสร้อยคอร้อยชั่งของนายเทศเสียจริงๆ ถ้าคนธรรมดาเกือบจะไม่แลเห็นผิดกันได้ นายทองอินมองดูอยู่ครู่หนึ่งแล้วจึงถามนายสุวรรณว่า “ฉันขอถามหน่อยเถอะว่าได้มาจากไหน?”

นายสุวรรณตอบว่า “เมื่อวานนี้มีคนเอามาให้ผมและมาถามว่าจะให้ราคาเท่าไร ผมบอกว่านี่เป็นเพชรเก๊ คงจะให้ได้อย่างมากเพียงร้อยบาท แต่บางทีจะน้อยกว่านั้น เพราะผมคงจะต้องคิดค่าช่วยขายด้วย”

นายทองอินถามว่า “คนนั้นเขาบอกท่านหรือเปล่าว่าเขาได้มาจากไหน”

นายสุวรรณตอบว่า “เขาว่านายให้เอามาฝากขาย แล้วผมนัดให้เขามาเอาเงินวันนี้ ถ้าผมขายให้ผู้อื่นไม่ได้ผมจะซื้อไว้เองเป็นราคา ๘๐ บาท”

นายทองอินจึงพูดว่า “เอาเถอะ ถ้าท่านจะช่วยฉันให้พบคนที่เอามาขายนั้น ฉันจะซื้อสร้อยคอนี้จากท่าน ๙๐ บาท”

นายสุวรรณก็ตอบโดยความยินดีว่า “ได้ ไม่สู้ยากอะไรผมนัดให้เขามาเวลา ๕ โมงเย็น นี่ก็เกือบ ๕ โมงแล้ว คุณคอยอยู่อีกประเดี๋ยวเขาก็มา”

พอพูดกันขาดคำก็มีคนแต่งตัวนุ่งผ้าพื้น สวมเสื้อขาวปอนๆ เดินเข้ามาในร้านนายสุวรรณ ตรงเข้าไปที่นายสุวรรณแล้วพูดว่า “ยังไงนายขอรับให้เงินผมได้หรือยัง”

นายสุวรรณก็ยื่นเงินให้ ๘๐ บาทแล้วว่า “นี่แน่ฉันซื้อสร้อยคอของแกเองตามที่ว่ากันไว้”

ในเวลานั้นข้าพเจ้ากับนายทองอินแอบอยู่ นายทองอินสะกิดข้าพเจ้าแล้วพูดว่า “ได้การ เจ้าคนนี้ฉันรู้จัก แล้วจึงค่อยไปหามันก็ได้”

ส่วนชายผู้นั้นพอรับเงินไปจากนายสุวรรณแล้วก็เดินออกจากร้านไป นายทองอินกับข้าพเจ้าก็รีบมาขึ้นรถขับกลับไปบ้านนายทองอิน เมื่อถึงบ้านแล้วคนใช้นายทองอินส่งหนังสือให้นายทองอินฉบับหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าจำลายมือได้ว่า เป็นของนายศุขลูกสมุนนายทองอิน ซึ่งมีหน้าที่คอยตรวจตราตามบ้านทวาย ในหนังสือนั้นนายศุขกล่าวว่าได้พบสร้อยคอที่ร้านแขกคนหนึ่ง แขกจะเรียกเอาราคา ๘๐๐๐ บาท นายศุขได้บอกให้แขกเก็บสร้อยคอนั่นไว้ก่อน เมื่อได้ทราบความดังนี้ นายทองอินก็กลับขึ้นรถรีบขับไปบ้านทวายทันที ตรงไปที่บ้านนายศุขเรียกนายศุขออกมา แล้วก็พากันไปที่ร้านแขกซึ่งมีสร้อยคออยู่นั้น นายทองอินตรงเข้าไปถามแขกว่า “สร้อยคอนี้เจ้าได้มาจากไหน”

แขกตอบว่า “มีคนไทยผู้ดีคนหนึ่งนำมาฝากให้ขาย และบอกว่าถ้าได้หกพันบาทก็เป็นอันพอใจ”

นายทองอินจึงพูดว่า “เจ้ารู้หรือไม่ว่าของนี้เป็นของที่เขาขโมยเอามา”

แขกแสดงความตกใจแล้วตอบว่า “ฉันไม่ทราบเลย ถ้าทราบคงจะไม่รับเอาไว้ ฉันเป็นคนดีไม่คิดผิดไม่คิดร้ายอะไรเลยขอให้นายเชื่อเถอะ ฉันไม่ตั้งใจคบขโมยไม่ตั้งใจคบคนพาลเลย”

นายทองอินทำหน้าตึงแล้วถามว่า “ก็เมื่อเขาเอามาฝากเจ้าขายน่ะ เจ้าได้ถามเขาหรือเปล่าว่าเขาได้มาจากไหน”

แขกตอบว่า “ฉันเห็นเขาเป็นผู้ดีฉันก็ไม่สงสัย”

นายทองอินพูดกระโชก “เออดีล้ะ ไม่สงสัยนี่แหละ จะต้องติดคุกอย่างน้อยก็ปีหนึ่งหรือยังไงแหละตามกฎหมายอังกฤษน่ะ เจ้าเป็นสัปเยกอังกฤษไม่ใช่หรือ ดีละ ถ้ากงสุลจะเกิดความใหญ่เป็นแน่”

แขกหน้าซีดคอสั่นแล้วตอบว่า “ถ้านายไม่เมตตาผมก็ต้องเสียคนกันครั้งนี้เป็นแน่ นายเมตตาผมสักทีเถอะ จะเอาอะไรผมจะให้ๆ หมด”

นายทองอินสั่นศีรษะแล้วตอบว่า “การที่จะมาติดสินบนคนเช่นฉันน่ะไม่มีประโยชน์หรอก ได้อย่างเดียวแต่จะเอาสร้อยคอนี่ส่งให้ฉันเสีย ฉันจะได้เอาไปคืนเจ้าของ”

แขกแลดูหน้านายทองอินแล้วพูดว่า “นี่นายมาขู่เล่นจะเอาสร้อยคอเพชรเสียหวานๆ หรือ”

นายทองอิน กระทืบเท้าหันหน้ามาทางข้าพเจ้าแล้วพูดว่า “พ่อวัดแขกนี่เขาไม่ไว้ใจฉัน บางทีเขาจะไว้ใจสารวัตรโปลิศมากกว่าไปบอกสารวัตรเขามาเถอะ เขามีหนังสืออนุญาตกงสุลอังกฤษให้ค้นร้านนี้แล้วละ”

ข้าพเจ้าทำท่าจะออกเดินไป แขกก็ลงคุกเข่ายกมือไหว้นายทองอินแล้วพูดว่า “ประเดี๋ยวขอรับ ประเดี๋ยวผมเป็นคนจน ผมถึงได้พูดไปยังนั้น เพราะเสียดายเงินนี่ขอรับ สร้อยคอนายเอาไปเถอะแล้วนายอย่าให้โปลิศเขาจับผมไปนา”

นายทองอินรับสร้อยคอมาแล้วก็พูดว่า “เอาเถอะ ในเรื่องนี้เป็นเลิกกันละ แต่ถ้าเจ้าขืนรับของผู้ร้ายอีกคงเกิดความแน่ละ” แล้วนายทองอินกับข้าพเจ้าก็พากันออกจากร้านแขกกลับมาบ้าน

เวลาเย็นเมื่อรับประทานข้าวแล้ว นายทองอินกับข้าพเจ้าก็แต่งกาย พอสมควรเป็นคนเดินเสาชิงช้าได้ แล้วก็ออกเดินจากบ้านนายทองอินไป ตามเคยนายทองอินคุยทักทายเพื่อนฝูงไปตลอดทางจนถึงเสาชิงช้านายทองอินก็หยุดถามชายผู้หนึ่งว่า “วันนี้พบอ้ายแจ้งแล้วหรือยัง?”

ชายผู้นั้นหัวเราะแล้วตอบว่า “ใครจะไม่ได้พบอ้ายแจ้งบ้าง คุยออกก๋าว่าเวลานี้เป็นเศรษฐี คืนวันนี้มันเตรียมแทงหวยใหญ่ มันชวนกันไปบ่อนมันยังไม่ไปเลย มันว่าอ้ายบ่อนน่ะมันสำหรับคนเลวๆ ผู้ดีอย่างกันต้องเล่นหวยถึงจะได้มันว่ายังงี้แหละ”

“มันบอกเอ็งหรือเปล่าว่ามันได้เงินมาจากไหน”

“มันบอกว่าลุงมันให้ ลุงขี้ถังอะไรของมันก็ไม่รู้ กันออกสงสัยว่ามันจะไปขโมยเขามาน่ะนา อ้าวนั่นปะไรละอ้ายแจ้งมาแล้วละ ไปพูดกับมันเองซิกันไปละ”

ในขณะนั้นข้าพเจ้าก็จำได้ว่า คนที่เดินมานั้นคือคนที่ได้เห็นในร้านนายสุวรรณเมื่อ ๕ โมงเย็นนั่นเอง นายทองอินกระซิบข้าพเจ้าว่า “แกจำไว้นะ ฉันชื่อเปลื้องนา แล้วตัวแกน่ะชื่อจ้อย”

ข้าพเจ้าพยักหน้า นายทองอินก็เดินตรงเข้าไปที่นายแจ้งแล้วพูด “อ้ายเกลอวันนี้เก๋จริง”

อ้ายแจ้งหัวเราะแล้วตอบว่า “เก๋ซิ เพื่อนมันถูกคราวเคราะห์ดีเข้านี่”

นายทองอินถามว่า “นี่รวยมาจากบ่อนหรืออะไร”

นายแจ้งตอบว่า “ไม่ใช่ กันได้รับมรดกลุงแกตาย”

นายทองอินสั่นศีรษะแล้วถามว่า “จริงหรือน่ะ”

นายแจ้งพูดว่า “เจ้าละมันคอยสงสัยอยู่ร่ำไปแหละ เอ๊ะอ้ายเปลื้องนี่เจ้าเอาใครมาด้วยนี่”

“เพื่อนกันเองแหละ เขามาจากบ้านนอกชื่อจ้อย”

นายแจ้งพยักหน้า แล้วถามข้าพเจ้าว่า “ชาวนาหรือย้ะ”

ข้าพเจ้าตอบว่า “จ้ะ ฉันเป็นชาวนามาจากรังสิต”

นายแจ้งหัวเราะแล้วพูดว่า “อ้อ เห็นจะมาเที่ยวบางกอกน่ะ ดีละแกมีคนนำดีแล้วละ เจ้าเปลื้องมันพาแกเที่ยวได้สนุกเทียว”

นายทองอินยิ้มแล้วพูดว่า “ไหนๆ เวลานี้เจ้าก็กำลังเป็นเศรษฐีอยู่ จะเลี้ยงดูเพื่อนกันหน่อยไม่ได้หรือ”

นายแจ้งตบไหล่นายทองอินแล้วว่า “ได้ซีน่า มาเถอะ อ้ายโรงเหล้าเลวๆ น่ะมันไม่ต้องพบกันละ ไปโฮเตลเทียวแหละ” แล้วก็พากันไปโฮเตลแห่งหนึ่งซึ่งไม่ไกลจากที่นั้นนัก นายแจ้งก็เรียกสุราเลี้ยง พอเลี้ยงกันไปได้สักหน่อย นายแจ้งก็ยิ่งคุยสนุกมากขึ้น พอได้ทีนายทองอินก็ถามขึ้นว่า “นี่แน่อ้ายเกลอ บอกกันจริงๆ หน่อยเถอะน่าเอ็งเข้าไปในร้านตาสุวรรณทำไมน่ะ เมื่อเย็นวานนี้น่ะ”

“อ๋า-กันเข้าไปขายของซี” แล้วนายแจ้งก็เล่าเรื่องให้ฟังทีละเล็กละน้อยตั้งแต่ต้นจนปลาย ว่าได้ไปขุดมาจากที่นั้นๆ นายทองอินจึงถามขึ้นว่า “ทำไมเอ็งถึงได้รู้ว่ามีสร้อยคอฝังอยู่ที่นั้น”

“มีคนบอกกันน่ะซี เรื่องราวมันพิลึกละ เมื่อวานซืนนี้เองแหละ อ้ายเจ้านั่นมันจะถูกตีหัว กันเข้าไปช่วยมันไว้มันเห็นบุญคุณของกัน มันก็บอกให้กันว่า อีตาบ้าอะไรคนหนึ่งแกหลงเมียแกเหลือเกิน พอเมียแกตายแกเอาสร้อยคอฝังในหีบเมียด้วย มันบอกกะกันว่าราคาหลายพันบาทเทียว กันก็ไปขุดมาน่ะซี ที่ไหนละเพชรเก๊ทั้งเรื่อง” แล้วนายแจ้งก็กล่าวถึงผู้ที่หลอกเขาเช่นนั้นโดยวาจาอันหยาบคายซึ่งไม่ควรจะนำมากล่าวให้ท่านฟังในที่นี้ พอนายแจ้งพูดขาดคำแล้ว นายทองอินจึงถามขึ้นว่า “เอ็งรู้ไหมละว่าอ้ายนั่นมันชื่อไร”

“มันบอกว่ามันชื่อเมฆ มันชื่ออะไรไม่รู้ได้ มันเป็นคนส่งข่าวหนังสือพิมพ์อะไรนะ”

นายทองอินถามว่า “สยามคูเรียใช่ไหม”

นายแจ้งพยักหน้าแล้วตอบว่า “เออนั่นแหละ อ้ายคนพันนี้ไม่ควรจะเอาไว้ มันน่าตีหัวเสียให้แตกพินาศ”

นายทองอินกับข้าพเจ้าก็หัวเราะ แล้วเมื่อสนทนากันไปอีกสักหน่อยหนึ่งแล้วก็พากันออกมาจากโฮเตล แล้วก็ต่างคนต่างไป นายทองอินกับข้าพเจ้าก็กลับไปบ้าน รุ่งขึ้นนายทองอินกับข้าพเจ้าก็พากันไปที่บ้านนายเทศ พบนายเทศกับนายเฟื่องนั่งสนทนากันอยู่พอนายเทศเห็นนายทองอินเข้ามาก็พูดว่า “แน่พ่อทองอินพ่อเฟื่องเขาบอกว่าเขาไปพบสายสร้อยคอนั้นแล้วละ เขากำลังมาถามฉันอยู่เดี๋ยวนี้ว่าจะให้เขาไปถ่ายเอามาให้ฉันหรือไม่”

นายทองอินถามว่า “นี่แกพูดถึงสร้อยคอไหน อันที่ร้านนายสุวรรณนั่นน่าหรือ”

นายเทศตอบว่า “อันนั้นแหละพ่อเฟื่องเขาพึ่งไปเห็นวานนี้เขาก็มาถามฉันเสียก่อน ถ้าฉันให้เขาถ่าย เขาจะถ่ายด้วยเงินของเขาเอง แต่ฉันบอกเขาว่าฉันจะรอฟังแกก่อน”

นายทองอินตอบว่า “ฉันไปถ่ายมาเสร็จแล้วละ” ควักสร้อยคอจากกระเป๋าวางลงบนโต๊ะแล้วถามต่อไปว่า

“แกรู้ไหมว่าฉันถ่ายมาเท่าไร”

นายเทศสั่นศีรษะแล้วตอบว่า ฉันไม่รู้แต่ฉันเชื่อว่าแกไม่ไปเสียเปรียบเขามา” นายทองอินหัวเราะแล้วตอบว่า “แน่เทียวฉันเสีย ๙๐ บาทเท่านั้นเอง”

นายเทศ “อะไรยังงั้น พูดจริงน่ะ”

นายทองอิน “จริงน่าซี ก็มันเพชรเก๊นี่นา”

นายเทศลุกขึ้นทันที หยิบสร้อยคอไปมองมือสั่นจนสร้อยคอเกือบตก แล้วถามว่า “ถ้ายังงั้นฉันมิถูกโกงหรือ ไปซื้อสร้อยคอเพชรเก๊มาเป็นร้อยชั่งเทียวหรือ ตายจริง”

นายทองอินสั่นศีรษะแล้วตอบว่า “สร้อยคอสายนั้นไม่ใช่สายที่แกซื้อหรอก นี่แน่สายที่แกซื้อละ” นายทองอินก็ควักสายสร้อยคอจริงออกจากกระเป๋าวางลงบนโต๊ะ ในเวลานั้นสีหน้านายเฟื่องเผือดลงไปทันที แต่ก็ทำแข็งใจทำไม่รู้ไม่เห็นเสีย ฝ่ายนายเทศนั้นหยิบสร้อยคอขึ้นไปมองอยู่นานแล้วถามว่า “นี่ยังไงกันฉันยังไม่เข้าใจ”

นายทองอินก็เล่าเรื่องตามที่นายแจ้งบอกนั้นทุกประการ แล้วพูดต่อไปว่า “อ้ายคนๆ นั้นที่มันไปยุให้นายแจ้งขุดศพเมียแกนั่น ก็เพื่อความประสงค์จะกลบเกลื่อนความชั่วของมันเองเพื่อจะปิดไม่ให้คนสงสัยว่ามันขโมยของจริงไป”

ในทันใดนั้น นายเฟื่องลุกทะลึ่งขึ้นแล้วพูดว่า “พุธโธ่คุณพี่ผมสาบานได้เทียวเจ็ดวัดเจ็ดวา ผมไม่ได้ขโมยสร้อยคอนั่นเลยทีเดียว แม่ช้อยให้ผมเองต่างหาก เวลานั้นผมเป็นหนี้เขาอยู่มากไม่รู้จะไปหาเงินที่ไหนมาใช้เขา ผมก็มาบอกกับแม่ช้อย แม่ช้อยบอกว่าอย่าให้เสียชื่อถึงญาติด้วยเลย เอาสร้อยคอนี้ไปขายเอาเงินใช้หนี้เขาเสียเถอะ ผมยังว่าๆ เอ๊ะคุณเทศเธอจะไม่โกรธหรือ แม้ช้อยว่าไม่โกรธหรอก เขาสั่งเขาทำสร้อยคอเก๊มาสายหนึ่งให้เหมือนสายนี้ผมก็ไปทำมาให้แล้ว แม่ช้อยก็ให้สายสร้อยคอจริงกระผมเป็นความสัตย์ยังงี้ทีเดียว

นายเทศลุกขึ้นแล้วร้องตะโกนว่า “เอ็งโกหก เอ็งโกหก” แล้วก็ตรงเข้าต่อยปากนายเฟื่องล้มลง แล้วตรงไปหยิบไม้เท้ามากวัดแกว่งทำท่าเหมือนจะตีนายเฟื่อง นายทองอินเข้าไปยึดมือไว้แล้วบอกกับข้าพเจ้าว่า “พ่อวัดเร็ว เข้าเอาตัวนายเฟื่องออกไปเสียนอกบ้านทีเถอะ” ข้าพเจ้าก็ตรงเข้าไปจับแขนนายเฟื่องลากออกไปนอกห้อง นายเฟื่องดิ้นรนจะไม่ไป แต่ข้าพเจ้ามีกำลังมากกว่าก็ลากออกไปจนได้ พอถึงประตูนายเฟื่องก็พูดว่า “ดีละ อ้ายแกทั้งสามคนแหละจะเอาขึ้นศาลเสียให้ได้เทียว” ข้าพเจ้าถามว่า “จะฟ้องเรื่องอะไร”

นายเฟื่องตอบว่า “ก็ทำร้ายร่างกายน่ะซี ช่วยกันทุบตีผลักไสฉันออก”

ข้าพเจ้าสั่นศีรษะแล้วพูดว่า “ฉันเชื่อว่าแกฉลาดพอที่จะเห็นว่า การไปขึ้นศาลนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตัวแกสักเพียงไร”

นายเฟื่องสะบัดหน้าลงเรือนไปมิได้โต้ตอบว่ากระไรอีกเลย พอข้าพเจ้ากลับเข้าไปในห้องเห็นนายเทศนั่งอยู่และถือสร้อยคอทั้งสองสายดูสายโน้นทีดูสายนี้ที หัวเราะคึกๆ คักๆ แล้วประเดี๋ยวก็ร้องไห้เหมือนเด็กๆ แล้วก็กลับหัวเราะอีก นายทองอินสั่นศีรษะแล้วกระซิบกับข้าพเจ้าว่า “พ่อวัดไปตามหมอมาเถอะ” ข้าพเจ้าก็รีบไปบ้านหมอพาตัวมา หมอตรวจดูไม่ช้าก็สั่นศีรษะ เรียกนายทองอินกับข้าพเจ้าออกไปห่างหน่อยแล้วพูดเบาๆ ว่า “ข้าพเจ้าเสียใจที่จะบอกกับท่านว่า เพื่อนของท่านเห็นจะเสียจริตเสียแล้ว”

ต่อนี้ไปก็ไม่มีอะไรที่จะเล่าอีกมากนัก นายเทศก็เลยเสียจริตไปจริงตามคำหมอว่า แต่ก็ไม่ดุร้ายอะไร เพราะฉะนั้นนายทองอินกับข้าพเจ้าจัดหาผู้พยาบาลมาอยู่ด้วยในบ้านนั้น ส่วนทรัพย์สมบัติของนายเทศนั้น โดยเหตุที่นายเทศไม่มีญาติสนิทจะช่วยดูแล จึงตกลงกันว่าให้ข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการปกครองในนามของนายเทศต่อไป เพราะข้าพเจ้าเป็นหมอกฎหมายส่วนตัวนายเทศมาตั้งแต่แรกสึกจากพระแล้ว เมื่อข้าพเจ้าตรวจดูตามบัญชีก็ได้ความว่ามีเหลือน้อยเต็มที เพราะภรรยานายเทศได้ล้างผลาญเสียมาก ข้าพเจ้าปรึกษากับนายทองอินตกลงนำสร้อยคอไปขายเอาเงินที่ได้มานั้นไปฝากแบงค์สำหรับใช้จ่ายในการส่วนตัวนายเทศต่อไป นายเทศอยู่ต่อมาอีกไม่ถึงปีก็มาถึงแก่กรรม นี่แหละเป็นเรื่องน่าสงสารแท้ๆ ส่วนสร้อยคอเพชรเก๊นั้น นายทองอินนำไปให้นายสุวรรณตัดเป็น ๒ ท่อนแล้วนายทองอินกับข้าพเจ้าต่างก็เก็บไว้คนละท่อน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงนายเทศสหายของข้าพเจ้าทั้งสอง ซึ่งเป็นคนเคราะห์ร้ายและได้ความทุกข์โศกเพราะความดี และความเชื่อถือในความดีของมนุษย์ซึ่งแกได้มีอยู่มากเกินประมาณนั้น

นายแก้ว

นายขวัญ

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ