คำนำ

บรรพชนไทยได้สร้างสรรค์วรรณกรรมร้อยกรองจำนวนมาก ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ วรรณกรรมเหล่านี้ย่อมสะท้อนความคิด ความเชื่อและวิถีวัฒนธรรมในยุคสมัยที่แต่งเรื่องนั้นๆ อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเป็นจดหมายเหตุรูปแบบหนึ่งซึ่งกวีเป็นผู้บันทึก ดังนั้นข้อมูลต่างๆที่ปรากฏในวรรณกรรมจึงมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาสืบค้นเรื่องราวในอดีต

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการส่งเสริมรักษาวรรณกรรมของชาติได้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่วรรณกรรมที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีวรรณกรรมโบราณอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ตรวจสอบชำระ วรรณกรรมโบราณเหล่านี้บันทึกไว้ในเอกสาร สมุดไทยซึ่งนับวันจะชำรุดสูญสลายไปตามกาลเวลา หลายเรื่องเคยเป็นที่นิยมแพร่หลายในอดีตกาลแต่กลับไม่เป็นที่รู้จักในสังคมไทยปัจจุบัน

เรื่อง นางอุทัยกลอนสวด นี้ กรมศิลปากรยังไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน ต้นฉบับเป็นเอกสารสมุดไทยเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เนื้อหาเรื่องนางอุทัยกลอนสวดมีลักษณะเป็นนิทานพี้นบ้าน กวีไทยนำมาแต่งเป็นร้อยกรอง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าแต่งขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้แต่ง กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่าเรื่อง นางอุทัยกลอนสวด มีคุณค่าต่อการศึกษาด้านอักษรศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีไทยโบราณจึงมอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว.และนางสาวศิริรัตน์ ทวีทรัพย์ นักอักษรศาสตร์ ๕ ข้าราชการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ตรวจสอบชำระ จัดทำต้นฉบับเพื่อพิมพ์เผยแพร่

อนึ่ง การตรวจสอบชำระครั้งนี้ได้ปรับปรุงอักขรวิธีบางส่วนให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันเพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่านและได้นำสำเนาต้นฉบับเอกสารโบราณที่ใช้เป็นข้อมูลในการตรวจสอบมาพิมพ์ไว้ในภาคผนวกของหนังสือนี้ด้วย

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือ นางอุทัยกลอนสวด จะอำนวยประโยชน์ทั้งด้านสาระและความบันเทิงแก่นักเรียน นักศึกษาและผู้สนใจวรรณกรรมไทยโดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ