๗ รูปภาพสามก๊ก

ไทยเรารู้เรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่นในพงศาวดารจีนฉันใด อาจจะอ้างต่อไปถึงรูปภาพจีน ว่าไทยเราคุ้นกับรูปบุคคลในเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าในเรื่องอื่นทั้งนั้นก็ว่าได้ ข้อนี้พึงสังเกตรูปภาพจีนอย่างที่เขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาผนัง ที่ชอบใช้แต่งตำหนักรักษาเหย้าเรือนกันมาแต่ก่อนก็มักเปนรูปเรื่องสามก๊กเปนพื้น[๑] ไทยดูงิ้วก็ชอบดูเรื่องสามก๊กชำนาญตากว่าเรื่องอื่น จนเห็นตัวงิ้วก็มักบอกได้ทันทีว่าเปนบุคคลผู้ใดในเรื่องสามก๊ก แต่รูปภาพในเรื่องสามก๊กนั้น เมื่อสืบสวนหาต้นตำราได้ความว่าเปนรูปคิดสมมตขึ้นทั้งนั้น น่าสันนิษฐานว่า พวกจีนเล่นงิ้วจะคิดสมมตขึ้นก่อน โดยเอาวิสัยของบุคคลตามที่ปรากฎในเรื่อง มาคิดแต่งหน้าแต่งตัวแลทำกิริยาอาการให้เห็นว่าเปนเช่นนั้นๆ คนดูก็รู้สึกนิยมตาม จนเลยยุติเปนแบบแผน ว่าบุคคลนั้นหน้าต้องเปนสีนั้น มีหนวดยาวหรือหนวดสั้น หรือหน้าเกลี้ยง ส่วนเครื่องแต่งตัวนั้น รูปภาพเรื่องสามก๊กซึ่งจีนเขียนก็ดี หรือแต่งเล่นงิ้วก็ดี ได้ความว่าเปนแบบเครื่องแต่งตัวในสมัยราชวงศใต้เหม็ง คือในระวาง พ.ศ. ๑๙๑๑ จน พ.ศ. ๒๑๘๖ มิใช่เปนแบบเครื่องแต่งตัวอย่างเก่าถึงสมัยสามก๊ก ข้อนี้ก็เปนเค้าเงื่อนชวนให้สันนิษฐานว่า รูปภาพในเรื่องสามก๊กอย่างเช่นปรากฎทุกวันนี้ น่าจะเกิดขึ้นร่วมสมัยกับเมื่อมีหนังสือสามก๊กอ่านนิยมกันแพร่หลาย แต่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง สังเกตดูรูปภาพที่จีนทำในเรื่องสามก๊กต่างกันเปน ๒ แบบ ถ้าเปนรูปปั้นระบายสี มักเขียนหน้าสลับสีอย่างงิ้ว ไม่นิยมที่จะให้แม้นเหมือนสีเนื้ออย่างธรรมดา แต่ถ้าเปนรูปเขียน เช่นเขียนในแผ่นกระจกสำหรับติดฝาหรือเขียนในฉาก มักระบายสีหน้าให้คล้ายสีเนื้อธรรมดา แม้ตัวบุคคลซึ่งในเรื่องกล่าวว่าหน้าดำหรือหน้าแดง ก็ประสานสีหน้าพอให้คล้ามหรือให้แดงแปลกกว่าผู้อื่นสักเล็กน้อยพอเปนที่สังเกต ยกตัวอย่างดังเช่นฉากเขียนรูปกวนอู อันมีรูปจิงฉ่องกับกวนเป๋งยืนสองข้าง ซึ่งแขวนณะที่บูชาตามบ้านจีนเห็นอยู่แพร่หลายก็เปนเช่นว่า ข้อที่ช่างจีนทำรูปภาพปั้นกับรูปภาพเขียนผิดกันดังว่ามา จะเปนเพราะเหตุใดยังไม่ทราบ จีนทำหนังฉายเรื่องสามก๊กก็พยายามจะให้เหมือนคนธรรมดา เปนแต่แต่งหน้าให้เข้าเค้าภาพสามก๊ก ทำดีได้หนักหนา

รูปภาพที่พิมพ์ไว้ในหนังสือสามก๊กฉะบับภาษาจีนมีเปน ๒ ประเภท คือภาพรูปตัวคนประเภท ๑ ภาพเรื่องประเภท ๑ ได้จำลองภาพเรื่องพิมพ์ไว้ตรงเรื่องในหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุ ส่วนภาพตัวบุคคลได้จำลองมาพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มตำนานตอนนี้.

สามก๊ก

สารบารพ์รูป

ที่ ๑ พระเจ้าเหี้ยนเต้ นางตังกุยหุย นางฮกเฮา

ที่ ๒ อ้องอุ้น ตังสิน ฮกอ๋วน

ที่ ๓ ตั๋งโต๊ะ ลิโป้ นางเตียวเสียน

ที่ ๔ อ้วนเสี้ยว อ้วนสุด บุนทิว งันเหลียง

ที่ ๕ เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย

ที่ ๖ ชีซี บังทอง ขงเบ้ง

ที่ ๗ จูล่ง ม้าเฉียว ฮองตง จิวฉอง กวนเป๋ง

ที่ ๘ เล่าเจี้ยง เตียวสง หวดเจ้ง

ที่ ๙ เงียมหงัน เกียงอุย อองเป๋ง ม้าเจ๊ก

ที่ ๑๐ เบ้งเฮ็ก เลียวฮัว เตียวเปา กวนหิน

ที่ ๑๑ ซุนเกี๋ยน ซุนเซ็ก ซุนกวน

ที่ ๑๒ จิวยี่ โลซก จูกัดกิ๋น

ที่ ๑๓ ฮันต๋ง อุยกาย งำเต๊ก จิวท่าย

ที่ ๑๔ โกะหยง ชีเซ่ง เตียวเจียว เตงฮอง

ที่ ๑๕ โจโฉ กุยแก ซุนฮก

ที่ ๑๖ โจจู๋ อีเกียด เกียดเป๋ง ฮัวโต๋

ที่ ๑๗ เคาทู เตียนอุย ซีหลง

ที่ ๑๘ เตียวคับ งักจิ้น อองสง

ที่ ๑๙ โจจิ๋ว เตียวเลี้ยว อิกิ๋ม บังเต๊ก แฮหัวเอี๋ยน

ที่ ๒๐ แฮหัวตุ้น  ฮัวหิม อองลอง

ที่ ๒๑ โจหอง โจหยิน โจเจียง

ที่ ๒๒ โจผี นางเอียนสี โจสิด

ที่ ๒๓ สุมาอี้ สุมาสู สุมาเจียว สุมาหู เตงงาย จงโฮย



[๑] รูปภาพเช่นนั้น ที่เปนเครื่องประดับพระที่นั่งในพระราชวังบวรสถานมงคล ยังรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครก็มีมาก

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ