๔ ว่าด้วยพิมพ์หนังสือสามก๊กภาษาไทย

หนังสือไทยแม้พิมพ์ได้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ก็ดี มาใช้การพิมพ์แพร่หลายต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็ในสมัยเมื่อก่อนพิมพ์หนังสือไทยได้นั้น หนังสือที่แปลจากเรื่องพงศาวดารจีนมีแต่ ๕ เรื่อง คือเรื่องห้องสิน เรื่องเลียดก๊ก เรื่องไซฮั่น เรื่องตั้งฮั่น กับเรื่องสามก๊ก แต่คนทั้งหลายชอบเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่น ผู้มีบันดาศักดิ์ซึ่งสะสมหนังสือก็มักคัดลอกเรื่องสามก๊กไว้ในห้องสมุดของตน ด้วยเหตุนี้หนังสือเรื่องสามก๊กจึงมีฉะบับมากกว่าเพื่อน[๑] ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ หมอบรัดเลมิชชันนารีอเมริกันย้ายโรงพิมพ์มาตั้งที่ปากคลองบางกอกใหญ่ เริ่มพิมพ์หนังสือไทยเรื่องต่างๆ ขาย ได้ต้นฉะบับหนังสือเรื่องสามก๊กของผู้อื่นมา ๒ ฉะบับ แล้วไปยืมต้นฉะบับของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ เมื่อยังเปนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ ที่สมุหพระกลาโหมมาสอบกันเปน ๓ ฉะบับ พิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นเปนสมุดพิมพ์ ๔ เล่มตลอดเรื่อง สำเร็จเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ขายราคาฉะบับละ ๒๐ บาท พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับซื้อช่วยหมอบรัดเลเห็นจะราวสัก ๕๐ ฉะบับ พระราชทานพระราชโอรสธิดาพระองค์ละฉะบับทั่วกัน[๒] เหลือนั้นก็เห็นจะพระราชทานผู้อื่นต่อไป การที่หมอบรัดเลพิมพ์หนังสือสามก๊กขึ้นครั้งแรกนั้น เมื่อมาพิจารณาดูเห็นควรนับว่าเปนการสำคัญในทางพงศาวดารอย่างหนึ่ง ด้วยเรื่องสามก๊กเปนเรื่องที่ไทยชอบอยู่แล้ว บุคคลชั้นสูงได้เคยอ่านหนังสือก็มี แลบุคคลชั้นต่ำได้เคยดูงิ้วเล่นก็มาก ครั้นเกิดมีหนังสือสามก๊กฉะบับพิมพ์อันจะพึงซื้อหาหรือหยิบยืมกันอ่านได้ง่าย ก็ทำให้มีผู้ชอบอ่านหนังสือมากขึ้น เลยเปนปัจจัยต่อออกไปถึงให้มีผู้พิมพ์หนังสือขายมากขึ้น แลให้ผู้มีศักดิ์ เช่นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศเปนต้น เอาเปนธุระสร้างหนังสือสำหรับให้พิมพ์มากขึ้น ที่ชอบแปลแต่เรื่องจีนเปนพื้นนั้นก็ไม่ประปลาดอันใด ด้วยในสมัยนั้นผู้รู้ภาษาฝรั่งยังมีน้อยนัก ถึงเรื่องจีนก็ทำให้เกิดปัญญาความรู้เจริญแพร่หลายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงควรยกย่องหนังสือสามก๊กว่าได้ทำให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลการศึกษาในประเทศนี้ด้วยอีกสถานหนึ่ง

หนังสือไทยที่ตีพิมพ์จับแพร่หลายเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ พอถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดบำรุงการศึกษาทรงอุดหนุนซ้ำ การพิมพ์หนังสือไทยก็ยิ่งเจริญขึ้นโดยรวดเร็ว ก็ในสมัยเมื่อแรกขึ้นรัชกาลที่ ๕ นั้น มีโรงพิมพ์อันนับว่าเปนโรงใหญ่อยู่ ๓ โรง คือโรงพิมพ์หลวงตั้งอยู่ที่ในพระบรมมหาราชวัง (ตรงบริเวณสวนศิวาลัยบัดนี้) กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เมื่อยังดำรงพระยศเปนกรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ เปนตำแหน่งจางวางกรมพระอาลักษณได้ทรงบัญชาการโรง ๑ โรงพิมพ์ของหมอบรัดเลมิชชันนารีอเมริกัน ตั้งอยู่ที่ริมปากคลองบางกอกใหญ่โรง ๑ โรงพิมพ์ของหมอสมิธมิชชันนารีชาติอังกฤษ ตั้งขึ้นที่บางคอแหลมโรง ๑ โรงพิมพ์หลวงนั้น เมื่อชั้นแรกในรัชกาลที่ ๕ ก็พิมพ์หนังสือเรื่องพงศาวดารจีนจำหน่ายหลายเรื่อง ดังปรากฎอยู่ในบัญชีหนังสือเรื่องจีนซึ่งได้แสดงมาแล้ว แต่ต่อมาเมื่อต้องพิมพ์หนังสือแบบเรียนสำหรับโรงเรียนหลวง แล้วต้องพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ต้องงดพิมพ์หนังสืออื่น คงพิมพ์หนังสือเรื่องต่าง ๆ ขายแต่โรงพิมพ์หมอบรัดเลกับโรงพิมพ์หมอสมิธ ต่างไปขอต้นฉะบับที่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ท่านจึงไกล่เกลี่ยให้หมอบรัดเลเอาแต่หนังสือจำพวกความร้อยแก้ว เช่นเรื่องพงศาวดารจีนไปพิมพ์ ส่วนหมอสมิธให้พิมพ์หนังสือจำพวกบทกลอน[๓] ต่างคนต่างพิมพ์มาเช่นนั้นหลายปี ทีหลังเกิดมีฝรั่งฟ้องหมอสมิธในศาลกงสุลอังกฤษ ว่าพิมพ์หนังสือไม่เปนศีลเปนธรรมจำหน่ายหาประโยชน์ โจทย์อ้างพวกมิชชันนารีอเมริกันที่รู้ภาษาไทยเปนพยาน แลขอให้เปนผู้แปลหนังสือบทกลอนที่หมอสมิธพิมพ์บางแห่ง เช่นบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่อยู่ข้างหยาบ และบทละคอนตอนเข้าห้องสังวาส เปนภาษาอังกฤษพิสูจน์ในศาล ๆ ตัดสินให้หมอสมิธแพ้ ห้ามมิให้พิมพ์หนังสืออย่างนั้นจำหน่ายอีกต่อไป หมอสมิธก็ต้องเลิกพิมพ์หนังสือบทกลอน แต่เมื่อถูกห้ามนั้นหมอสมิธรวยเสียแล้ว ในว่าแต่หนังสือพระอภัยมณีของสุนทรภู่เรื่องเดียวพิมพ์ขายได้กำไรงามจนพอสร้างตึกได้หลังหนึ่ง หมอสมิธก็ไม่เดือดร้อน ส่วนหมอบรัดเลนั้นตัวเองอยู่มาในรัชกาลที่ ๕ เพียง พ.ศ. ๒๔๑๗ ก็ถึงแก่กรรม แต่บุตรภรรยายังทำการโรงพิมพ์ต่อมา พิมพ์หนังสือจำพวกความร้อยแก้วขายก็ได้กำไรมาก ครั้นนานมาไม่มีตัวผู้ที่จะจัดการก็ต้องเลิกโรงพิมพ์ การพิมพ์หนังสือขายจึงกระจายไปตามโรงพิมพ์อื่นๆ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่[๔]

การพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กโรงพิมพ์หมอบรัดเลได้พิมพ์ ๓ ครั้ง แล้วโรงพิมพ์อื่นพิมพ์ต่อมาอีก ๓ ครั้ง รวมเบ็ดเสร็จได้พิมพ์ถึง ๖ ครั้งด้วยกัน แต่การที่พิมพ์ต่อๆ กันมาเปนแต่อาศัยฉะบับที่พิมพ์ก่อนเปนต้นฉะบับ ไม่ได้ตรวจชำระเหมือนอย่างเมื่อหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรก แลบางฉะบับซ้ำมีผู้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำลงตามอำเภอใจ หนังสือสามก๊กที่มีจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดสมัยนี้จึงวิปลาสคลาดเคลื่อนจากฉะบับเดิมด้วยประการฉะนี้



[๑] หอพระสมุดวชิรญานได้ไว้ก็หลายฉะบับ มีทั้งฉะบับที่เขียนด้วยเส้นหรดาน เขียนด้วยเส้นฝุ่น แลเขียนด้วยเส้นดินสอ

[๒] เมื่อข้าพเจ้าได้พระราชทานหนังสือสามก๊กเปนเวลาพึ่งอ่านหนังสือออก ยังจำได้ว่าอ่านสนุกมาก แต่สนุกประสาเด็ก ไม่เข้าใจความเท่าใดนัก

[๓] มีหนังสือสามก๊กหมอสมิธพิมพ์ยังปรากฎอยู่ แต่ว่ามีฉะเพาะเล่มที่ ๑ เล่มเดียว ข้อนี้เปนเค้าเงื่อนให้สันนิษฐานว่า ชรอยหมอสมิธเห็นคนชอบซื้อหนังสือสามก๊กก็พิมพ์ขายบ้าง คงเกิดเกี่ยงแย่งกับหมอบรัดเล สมเด็จเจ้าพระยา ฯ จึงไกล่เกลี่ยให้พิมพ์หนังสือคนละประเภทดังกล่าว ทั้งสองฝ้ายก็จำยอม เพราะต้องอาศัยหนังสือของสมเด็จเจ้าพระยา ฯ เปนต้นฉะบับอยู่ด้วยกัน

[๔] ได้ยินว่าเมื่อหมอสมิธถูกศาลห้ามมิให้พิมพ์หนังสือบทกลอนขายนั้น บรรดาหนังสือซึ่งพิมพ์ไว้แล้ว แลกำลังพิมพ์ค้างอยู่ นายเทพ ทรรทรานนท์ อยู่แพที่หน้าโรงเรียนราชินีเดี๋ยวนี้ รับซื้อจากหมอสมิธเอามาพิมพ์จำหน่ายที่โรงพิมพ์ของตน แล้วโรงพิมพ์อื่นจึงพิมพ์จำหน่ายบ้าง ส่วนโรงพิมพ์หมอบรัดเลนั้น หลวงดำรงธรรมสาร (มี ธรรมาชีวะ) เจ้าของโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจรับซื้อหนังสือค้างมาพิมพ์จำหน่าย แล้วโรงพิมพ์อื่นจึงพิมพ์จำหน่ายบ้าง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ