คำนำ

สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี เสด็จประทับอยู่ด้วยสมเด็จพระโอรสณะวังบางขุนพรหมมาแต่รัชกาลที่ ๖ ทรงประชวรสิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ ที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้เชิญพระศพเข้าไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง แล้วดำรัสสั่งให้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง กำหนดจะพระราชทานเพลิงพระศพในต้น พ.ศ. ๒๔๗๑ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ฯ ทรงปรารภการพระกุศลอันจะทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนี ดำรัสปฤกษาข้าพเจ้าถึงเรื่องหนังสือซึ่งจะทรงพิมพ์เปนมิตรพลีสำหรับประทานในงานพระเมรุ โปรดเรื่องสามก๊ก ด้วยทรงพระราชดำริว่าเปนหนังสือซึ่งนับถือกันมาว่าแต่งดีทั้งตัวเรื่องแลสำนวนที่แปลเปนภาษาไทย ถึงได้ใช้เปนตำราเรียนอยู่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกวันนี้จะหาฉะบับดีไม่ได้เสียแล้ว ด้วยเปนแต่พิมพ์ต่อ ๆ กันมามิได้ชำระต้นฉะบับที่พิมพ์ในชั้นหลัง ดำรัสว่าถ้าหากราชบัณฑิตยสภารับชำระต้นฉะบับแลจัดการพิมพ์ใหม่ให้ทันได้ทั้งเรื่อง ก็จะทรงรับบริจาคทรัพย์พิมพ์เรื่องสามก๊กเปนหนังสือสำหรับประทานเรื่องหนึ่งในงานพระเมรุสมเด็จพระชนนี ข้าพเจ้าได้ฟังมีความยินดีรู้สึกว่าเปนหน้าที่ของราชบัณฑิตยสภาจะต้องรับสนองพระประสงค์ ด้วยหนังสือสามก๊กเปนหนังสือเรื่องสำคัญ แลเปนหนังสือเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ จะหาผู้อื่นรับพิมพ์ทั้งเรื่องยากยิ่งนัก ถ้าพ้นโอกาสนี้แล้ว ก็ไม่สามารถกำหนดได้ว่าเมื่อใดจะได้ชำระแลพิมพ์หนังสือเรื่องสามก๊กให้กลับคืนดีดังเก่า ข้าพเจ้าจึงกราบทูลรับจะทำถวายให้ทันตามพระประสงค์

เมื่อกราบทูลรับแล้วมาพิเคราะห์ดู เห็นว่าการที่จะพิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ครั้งนี้ มีข้อสำคัญซึ่งควรคำนึงอยู่ ๒ ข้อ ข้อหนึ่งคือนักเรียนทุกวันนี้การเรียนแลความรู้กว้างขวางกว่าแต่ก่อน หนังสือสามก๊กฉะบับพิมพ์ใหม่จะต้องให้ผู้อ่านได้ความรู้ยิ่งขึ้นกว่าอ่านฉะบับที่พิมพ์ไว้แต่เดิม จึงจะนับว่าเปนฉะบับดีสมกับที่พิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ความข้อนี้เห็นทางที่จะทำได้มีอยู่ ด้วยอาจตรวจสอบหนังสือต่าง ๆ หาความรู้อันเปนเครื่องประกอบหนังสือสามก๊กมาแสดงเพิ่มเติม แลการส่วนนี้ผะเอิญมีผู้สามารถอยู่ในราชบัณฑิตยสภา คืออำมาตย์โท พระเจนจีนอักษร (สุดใจ ตัณฑากาศ) ซึ่งเชี่ยวชาญทั้งภาษาจีนแลได้เคยอ่านหนังสือจีนเรื่องต่าง ๆ มาก รับเปนผู้เสาะหาความรู้ทางฝ่ายจีน แลมีศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์อีกคนหนึ่งรับช่วยเสาะหาทางประเทศอื่น ตัวข้าพเจ้าเสาะหาทางฝ่ายไทย ช่วยกันค้นคว้าหาความรู้เนื่องด้วยเรื่องหนังสือสามก๊ก อันยังมิได้ปรากฎแพร่หลายมาแต่ก่อนได้อีกหลายอย่าง ถ้าว่าตามแบบที่เคยทำมา ความรู้ที่ได้เพิ่มเติมเช่นนี้มักแสดงไว้ใน “คำนำ” หรือ “คำอธิบาย” ข้างหน้าเรื่อง แต่ความอันจะพึงกล่าวด้วยเรื่องสามก๊ก ถ้าเรียบเรียงให้สิ้นกระแสซึ่งจะเปนประโยชน์ในทางความรู้ เห็นจะเปนหนังสือมากเกินขนาดที่เคยลงในคำนำหรือคำอธิบาย เมื่อคิดใคร่ครวญว่าจะทำอย่างไรดี ข้าพเจ้าหวนรำลึกถึงครั้งสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ทรงบำเพ็ญพระกุศลฉลองพระชันสาครบ ๖๐ ปี เมื่อระกา พ.ศ. ๒๔๖๔ โปรดให้พิมพ์หนังสือบทละคอนเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประทานเปนมิตรพลี ครั้งนั้นข้าพเจ้าได้แต่งเรื่องตำนานละคอนอิเหนาพิมพ์เพิ่มเปนภาคผนวกถวายอีกเล่มหนึ่ง สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ โปรด งานพระเมรุครั้งนี้ข้าพเจ้าก็นึกปราถนาอยู่ ว่าจะรับหน้าที่ทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง พอสนองพระคุณสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ซึ่งได้มีมาแก่ตัวข้าพเจ้าตลอดจนเหล่าธิดาหาที่จะเปรียบปานได้โดยยาก ก็นึกขึ้นได้ว่า ถ้าลงแรงแต่งตำนานหนังสือสามก๊กพิมพ์เพิ่มเปนภาคผนวกถวายบูชาพระศพเหมือนอย่างเคยแต่งเรื่องตำนานละคอนอิเหนาถวายเมื่อพระองค์ยังเสด็จดำรงพระชนม์อยู่ เห็นจะสมควรยิ่งกว่าอย่างอื่น อันนี้แลเปนมูลเหตุให้ข้าพเจ้าแต่งตำนานหนังสือสามก๊กซึ่งพิมพ์ในสมุดเล่มนี้

ความสำคัญอีกข้อหนึ่งนั้น คือการที่จะชำระต้นฉะบับแลพิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุครั้งนี้ ด้วยหนังสือสามก๊กเปนเรื่องใหญ่ถึง ๔ เล่มสมุดพิมพ์ และจะต้องพิมพ์ให้แล้วภายในเวลามีกำหนด ตัวพนักงานการพิมพ์หนังสือซึ่งมีประจำอยู่ในราชบัณฑิตยสภาไม่พอการ ต้องหาบุคคลภายนอกช่วย ผะเอิญได้มหาเสวกโท พระยาพจนปรีชา (ม.ร.ว.สำเริง อิศรศักดิ์ ณอยุธยา) ซึ่งเปนนักเรียนมีเกียรติมาแต่ก่อน มีแก่ใจรับหน้าที่เปนบรรณาธิการ ด้วยเห็นว่าการพิมพ์หนังสือสามก๊กจะเปนสาธารณะประโยชน์อย่างสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ ฯ ทรงพระดำริ ข้าพเจ้าจึงได้มอบการให้พระยาพจนปรีชาทำตั้งแต่ชำระต้นฉะบับตลอดจนตรวจฉะบับพิมพ์ แลให้รองอำมาตย์ตรี ขุนวรรณรักษ์วิจิตร (เชย ชุมากร เปรียญ) รองบรรณารักษ์ในหอพระสมุดวชิราวุธเปนผู้ช่วยในการนั้น[๑]

หนังสือซึ่งใช้เปนต้นฉะบับชำระ ใช้หนังสือสามก๊กฉะบับหมอบรัดเลพิมพ์ครั้งแรกฉะบับ ๑ หนังสือนี้ที่ในหอพระสมุดฯ มีไม่บริบูรณ์ ต้องเที่ยวสืบหาตามบันดาท่านผู้ที่สะสมหนังสือ ทั้งฝ่ายในพระบรมมหาราชวังแลฝ่ายหน้า ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณ ด้วยไม่ว่าท่านผู้ใด เมื่อได้ทราบว่าต้องการฉะบับเพื่อจะพิมพ์ในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ก็ยินดีให้ยืมตามประสงค์ทุกราย ที่ยอมยกหนังสือนั้นให้เปนสิทธิ์แก่หอพระสมุดฯ ทีเดียวก็มี อาศัยเหตุนี้จึงได้ฉะบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลมาครบครัน นอกจากนั้นให้เอาหนังสือฉะบับเขียนของเก่าสอบด้วยอีกฉะบับ ๑ บันดาฉะบับเขียนที่มีอยู่ในหอพระสมุดฯ ฉะบับของกรมหลวงวรเสรฐสุดาซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสประทานไว้ในหอพระสมุดฯ เปนบริบูรณ์ดีกว่าเพื่อน ได้ใช้ฉะบับนี้สอบกับฉะบับพิมพ์ครั้งแรกของหมอบรัดเลเปน ๒ ฉะบับด้วยกัน แลยังได้อาศัยฉะบับพิมพ์ภาษาจีนด้วยอีกฉะบับ ๑ สำหรับสอบในเมื่อมีความบางแห่งเปนที่สงสัย หรือต้นฉะบับภาษาไทยแย้งกันแต่ชี้ไม่ได้ว่าฉะบับไหนถูก

เนื่องในการชำระต้นฉะบับนั้น ข้าพเจ้าคิดเห็นว่าสิ่งซึ่งควรจะเพิ่มเติมเข้าในฉะบับพิมพ์ใหม่ให้ดียิ่งขึ้นด้วยไม่ต้องแก้หนังสือฉะบับเดิมมีอยู่บางอย่าง เปนต้นว่าศักราชซึ่งอ้างถึงในฉะบับเดิม บอกเปนปีรัชกาลของพระเจ้าแผ่นดินตามประเพณีนับศักราชอย่างจีน ไทยเราเข้าใจได้ยาก จึงให้คำนวณเปนพุทธศักราชพิมพ์แทรกลงไว้ให้เข้าใจง่ายขึ้นอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งในฉะบับเดิมความบางแห่งกล่าวเข้าใจยาก ได้ให้ลงอธิบายหมายเลขพอให้เข้าใจความง่ายขึ้น อนึ่งข้าพเจ้าคิดเห็นว่าหนังสือไทยเรื่องต่าง ๆ ซึ่งพิมพ์กันในปัจจุบันนี้ ที่นับว่าดีมักมีรูปภาพ แลรูปภาพเรื่องสามก๊กจีนก็ชอบเขียนไว้พอจะหาแบบอย่างได้ไม่ยาก จึงได้เลือกรูปภาพในหนังสือสามก๊กจีนจำลองมา พิมพ์รูปภาพตัวบุคคลไว้ในสมุดตำนานนี้ แลพิมพ์รูปภาพแสดงเรื่องไว้ในหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุให้เปนฉะบับมีรูปภาพ ผิดกับฉะบับอื่นซึ่งเคยพิมพ์มาแต่ก่อนด้วย

การพิมพ์นั้นได้ตกลงให้โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากรพิมพ์ เพราะฝีมือดีแลทำเร็ว ฝ่ายรองเสวกเอก พระโสภณอักษรกิจ (เล็ก สมิตสิริ) ผู้เปนเจ้าของโรงพิมพ์ เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าแต่งตำนานเปนภาคผนวกจะพิมพ์อีกเรื่องหนึ่ง มาขอพิมพ์เปนส่วนของตนถวายในงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ครั้งนี้ ส่วนการทำรูปภาพ นายพลตรี พระยาภักดีภูธร เจ้ากรมแผนที่ทหารบก รับทำแม่พิมพ์ ตลอดจนรับพิมพ์แผนที่ประเทศจีนสมัยสามก๊กสำหรับหนังสือตำนานเล่มนี้ด้วย

นอกจากที่ได้พรรณนามา ยังมีท่านผู้อื่นได้ช่วยเมื่อแต่งหนังสือนี้ ขอแสดงความขอบคุณ คือ ท่านกุยชิโร ฮายาชี อัครราชทูตญี่ปุ่น ได้ช่วยสืบเรื่องแปลหนังสือสามก๊กเปนภาษาญี่ปุ่น พระวิทยประจง (จ่าง โชติจิตรกะ) ได้ช่วยเขียนอักษรไทยเทียมจีน แลรองอำมาตย์ตรี สมบุญ โชติจิตร นายเวรวิเศษราชบัณฑิตยสภาเปนผู้เขียนแลดีดพิมพ์หนังสือให้ข้าพเจ้าด้วย

ราชบัณฑิตยสภามั่นใจว่าท่านทั้งหลายบันดาที่ได้รับประทานหนังสือสามก๊กฉะบับงานพระเมรุสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้า ฯ ตลอดจนผู้ซึ่งจะได้อ่านด้วยประการอย่างอื่น คงจะถวายอนุโมทนาในการที่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตได้โปรดให้พิมพ์หนังสือสามก๊กฉะบับนี้ เปนส่วนหนึ่งเนื่องในการกุศลบุญราศีทักษิณานุปทาน ซึ่งทรงบำเพ็ญสนองพระคุณสมเด็จพระชนนีครั้งนี้ทั่วกัน

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

นายกราชบัณฑิตยสภา

วันที่ ๓๑ มีนาคม พระพุทธศักราช ๒๔๗๐



[๑] เดิมให้อำมาตย์โท พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล เปรียญ) เลขานุการราชบัณฑิตยสภาเปนผู้ตรวจฉะบับพิมพ์ แต่พระพินิจ ฯ ทำงานเหลือกำลังจนมีอาการป่วย จึงผ่อนงานนี้ให้ทำเพียงแต่สารบารพ์

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ