พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าด้วยพงศาวดารพระพุทธชินราช ชินศรี และพระศรีศาสดา

ศุภมัสดุพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๔๐๙ พยัคฆสังวัจฉะระ จุลศักราช ๑๒๒๘ ปีขาลอัฐศก ดำเนินเรื่องพระชินราช พระชินศรี พระศรีศาสดา พุทธปฏิมากรสามพระองค์ซึ่งดำรงอยู่ในวัดมหาธาตุเมืองพิษณุโลกนั้น ได้มีคำโบราณเล่าและเขียนจดหมายสืบๆ มาในราชพงศาวดารเมืองเหนือว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงแสน ได้ทรงสร้างไว้มีความว่า เดิมเมืองเชียงแสนแต่ก่อนจุลศักราช ๔๐๐ พุทธศาสนกาลล่วงได้ ๑๕๘๑ ขึ้นไปเป็นเมืองใหญ่ มีเจ้านายครอบครองสืบมาหลายชั่วเจ้าแผ่นดิน และมีอำนาจปกแผ่ไปในเมืองลาวต่างๆ ข้างฝ่ายเหนือและมีอำนาจมาถึงเขตแดนสยามฝ่ายเหนือ มีเจ้าแผ่นดินเมืองเชียงแสนพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เพราะท่านได้ทรงร่ำเรียนพระคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา คือพระวินัย พระสูตร พระบรมัตถ์มาก และได้จัดการพระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองเจริญมากในเมืองเชียงแสนนั้น ท่านนั้นได้พระราชเทวีมีพระนามว่า พระนางประทุมเทวี เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์หนึ่ง ในวงค์พระเจ้าบาธรรมราช ครองเมืองศรีสัชนาลัย คือเมืองสวรรคโลก ในเวลานั้นเป็นพระมเหสี ท่านนั้นมีพระราชบุตรสองพระองค์ ทรงพระนามเจ้าชาติสาครหนึ่ง เจ้าไกรสรสิงหราชหนึ่ง ครั้นพระกุมารทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญวัยแล้ว ท่านมีรับสั่งให้จ่านกร้องนายหนึ่ง จ่าการบุญนายหนึ่ง เป็นขุนนางของท่านคุมพวกบ่าวไพร่ และสิ่งของบรรทุกเกวียนเป็นอันมากเป็นเสบียงไปนานให้พากันไปเที่ยวหาถิ่นที่ในปลายเขตแดนของท่าน ที่ใกล้ต่อชนกันเขตแดนแผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นเมืองเดิม ของพระนางประทุมเทวีอัครมเหสี เวลานั้นยังคงตั้งอยู่ในทางไมตรีสนิท ควรจะคิดสร้างเมืองไว้ใกล้แผ่นเดิมสยาม เพื่อจะได้เป็นที่อยู่พระราชบุตรสองพระองค์ ซึ่งมีเชื้อสายฝ่ายพระมารดาเป็นชาวสยาม ฤาโดยว่ากาลนานไปเบื้องหน้าผู้ปกครองแผ่นดินฝ่ายสยามจะเสียทางไมตรี จะล่วงเข้ามาปรารถนาเขตแดนที่เป็นของขึ้นแก่เมืองเชียงแสน ก็จะได้เป็นที่มีป้อมและกำแพงมั่นคงกันข้าศึกศัตรูรักษาเขตแดนของเมืองเชียงแสนสืบไป จ่านกร้องจ่าการบุญกับบ่าวไพร่ กราบถวายบังคมลาออกจากเมืองเชียงแสน เที่ยวมาถึงปลายเขตแดนเมืองขึ้นเมืองเชียงแสนข้างทิศตะวันออกเฉียงใต้เห็นเขตแดนซึ่งขึ้นแก่เมืองเชียงแสนโอบอ้อมลงมาข้างแม่น้ำตะวันออก น้ำไหลลงมารวมปากน้ำโพในแดนสยาม เห็นควรว่าจะต้องสร้างเมืองใหญ่ไว้ในลำน้ำตะวันออกนั้นกับชาวสยามซึ่งตั้งกรุงอยู่เมืองสุโขทัย และเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก ใกล้เคียงข้างด้านตะวันตก จึงเลือกที่ตำบลบ้านพราหมณ์ซึ่งครั้งอยู่สองข้างฝั่งแม่น้ำเป็นทิศตะวันตกแต่เขาสมอแครงลงมา เห็นว่าที่บ้านพราหมณ์ควรจะสร้างเป็นเมืองขึ้นได้ จึงคิดจะสร้างเมืองจะให้มีกำแพงสองฟากน้ำ และจะให้มีป้อมจดฝั่งแม่น้ำตรงกันสองฟากเมืองนั้น จ่านกร้องจ่าการบุญได้คิดการกะแผนที่และมีหนังสือไปกราบทูลถวายแผนที่ชี้แจงถิ่นฐานและเหตุผลให้สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทราบความ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกทรงเห็นชอบด้วย จึงกะเกณฑ์ไพร่พลในเมืองเชียงแสนและเมืองขึ้นเป็นอันมาก สมควรพอเป็นกำลังจะมาสร้างเป็นเมืองใหญ่แล้วเร็วๆ ได้ แล้วให้คุมเสบียงอาหารและสิ่งของและเครื่องที่จะใช้ในการ ให้ยกตามจ่านกร้องจ่าการบุญมาถึงตำบลที่จ่าทั้งสองนั้นเลือกไว้แล้วจับการสร้างเมืองตามแผนที่ซึ่งกะการไว้นั้น ได้จัดการในเวลาเช้าวัน ๖ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูเบ็ญจศก จุลศักราช ๓๑๕ พระพุทธศาสนกาลล่วงแล้ว ๑๔๙๖ เวลาวันนี้เป็นเวลาชาตาเมืองนั้น เมื่อการทำไปจ่านกร้อง จ่าการบุญ และนายด่านนายกองก็มีใบบอกรายงานไปกราบทูลแก่พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้ทราบเนืองๆ จนการกำแพงและป้อมสองฟากน้ำจวนจะสำเร็จ เมื่อล่วงปีหนึ่งกับเจ็ดเดือนแต่แรกเริ่มกาลนั้นมา จึ่งพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเสด็จยกพยุหโยธามาพร้อมกับอัครมเหสี และพระราชบุตรทั้งสองพระองค์ เพื่อจะทอดพระเนตรเมืองสร้างใหม่ ครั้นเสด็จมาทอดพระเนตรเห็นก็ชอบพระทัย ให้สร้างที่ประทับใหญ่ลงเสด็จประทับอยู่ในที่นั้นนานวัน แล้วจึงมีรับสั่งให้ตั้งการพระราชพิธีกลบาทว์และมงคลการแก่เมืองสร้างใหม่ แล้วทรงปรึกษาชีพ่อพราหมณ์ว่าจะขนานนามเป็นพระนครว่าอะไรดี จึงชีพ่อพราหมณ์ผู้รู้วิทยากราบทูลตามสังเกตว่าวันเสด็จพระราชดำเนินมาถึงเป็นยามพระพิษณุ เพราะฉะนั้นขอพระราชทานนามพระนครว่าเมืองพระพิษณุโลกเถิด จึงมีรับสั่งว่า เมืองนี้ถึงวงกำแพงเป็นเมืองเดียวก็แยกอยู่สองฟากแม่น้ำ ดูเหมือนเป็นเมืองแฝด แม่น้ำเป็นคูคั่นเมืองกำแพงกันอยู่กลาง อนึ่ง เดิมจะสร้างก็ได้ทรงพระราชดำริว่าจะพระราชทานให้พระราชบุตรสองพระองค์เสด็จอยู่ ควรจะให้นามเป็นสองเมือง แล้วจึงพระราชทานนามซึ่งมีชีพ่อพราหมณ์กราบทูลนั้นเป็นนามเมืองฝั่งตะวันออกว่าเมืองพิษณุโลก แต่เมืองฝั่งตะวันตกนั้นพระราชทานนามตามชอบพระราชหฤทัย ต่อเข้าให้เป็นกลอนอักษรเพราะว่าเมืองโอฆบุรี เพราะว่าถิ่นที่แม่น้ำซึ่งไหลไปในกลางระหว่างวงกำแพงสองฟากน้ำเป็นห้วงลึก เมื่อฤดูแล้งมีน้ำขังอยู่มากกว่าเหนือน้ำและใต้น้ำ และพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกเสด็จประทับอยู่ที่นั้นนานวันยังไม่คิดเสด็จกลับคืนพระนครเชียงแสนนั้น ด้วยพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและไว้พระเกียรติยศพระนามปรากฏไปภายหน้า ด้วยการสร้างเจดียสถานซึ่งเป็นถาวรวัตถุผู้อื่นจะล้างทำลายเสียไม่ได้ จึงทรงสร้างวัดมหาธาตุภายในเมืองฝั่งตะวันออก มีพระปรางค์มหาธาตุตั้งกลาง มีพระวิหารทิศ ๔ ทิศ มีพระระเบียงสองชั้น แล้วให้จับการปั้นหุ่นพระพุทธรูปสามพระองค์ เพื่อจะตั้งเป็นพระประธานในพระวิหาร

ครั้งนั้นพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก มีพระราชสาส์นให้ทูลเชิญไปถวายสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม ณ เมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลก ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระราชเทวี ขอช่างพราหมณ์มาช่วยปั้นหุ่นพระพุทธรูป เพราะเวลานั้นมีคนเล่าลือสรรเสริญช่างเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกมาก ว่าทำพระพุทธรูปได้งามๆ ดีๆ ก็เมืองสร้างใหม่นี้ อยู่ไม่ไกลนัก แต่เมืองศรีสัชนาลัย สวรรคโลก พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงทรงพระวิตกว่า ถ้าจะทำพระพุทธรูปขึ้นมาโดยลำพังฝีมือลาวเชียงแสน กลัวเกลือกจะไม่งามดีสู้พระพุทธรูปเมืองสวรรคโลกได้ จึงให้ไปขอช่างเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกมาช่วยทำด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงสยามเมืองสวรรคโลกจึงโปรดให้ช่างพราหมณ์ฝีมือที่ดี ๕ นาย มีชื่อจดหมายไว้ในหนังสือโบราณ บาอินท์ ๑ บาพรหม ๑ บาพิษณุ ๑ บาราชสังข์ ๑ บาราชกุศล ๑ ช่างพราหมณ์ ๕ นายมากับทูตถึงเมืองสร้างใหม่แล้ว พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกให้ช่างเมืองสวรรคโลกสมทบกับช่างชาวเชียงแสนและชาวเมืองหริภุญชัยช่วยกัน หุ่นพระพุทธรูปสามองค์ซึ่งทรวดทรงสันฐานคล้ายกัน แต่ประมาณนั้นเป็นสามขนาด คือพระองค์หนึ่ง ตั้งพระนามเริ่มว่าพระพุทธชินราช หน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๕ นิ้ว มีเศษ อีกพระองค์ ๑ เริ่มพระนามไว้ว่าพระพุทธชินศรี หน้าตัก ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว อีกพระองค์ ๑ เริ่มพระนามไว้ว่าพระศรีศาสดา หน้าตัก ๔ ศอกคืบ ๖ นิ้ว มีสัณฐานอาการคล้ายกัน อย่างพระพุทธรูปเชียงแสน ไม่เอาอย่างพระพุทธรูปในเมืองศรีสัชนาลัยสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย ที่ทำนิ้วสั้นยาวไม่เสมอกันอย่างมือคน ถึงพระลักษณะอื่นๆ ก็ปนๆ เป็นอย่างเชียงแสนบ้าง เป็นอย่างศรีสัชนาลัยสวรรคโลกสุโขทัยบ้าง ช่างทั้งปวงและคนดูเป็นอักมากเห็นพร้อมกันว่าพระพุทธรูปสามพระองค์นี้งามดีหาที่จะเสมอมิได้ แล้วจึงให้เข้าดินอ่อนดินแก่ชนวนตรึงทวยรัดปลอกให้แน่นหนาพร้อมมูลบริบูรณ์เสร็จแล้วๆ ให้รวบรวมจัดซื้อจัดหาทองคำสัมฤทธิ์อย่างดีได้มาเป็นอันมากหลายร้อยหาบแล้ว ครั้นหุ่นเป็นพิมพ์พระพุทธรูปสามองค์เข้าดินสำเร็จแล้ว กำหนดมงคลฤกษ์จะได้เททอง ณ วัน ๕ เดือน ๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีเถาะสัปตศก จุลศักราช ๓๑๗ ปี สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่ในถิ่นที่มีโดยรอบคอบใกล้เคียงเมืองนั้น ทั้งฝ่ายคณะคามวารีอรัญวาสี มีพระอุบาฬีและพระคิริมานนท์วัดเขาสมอแครงเป็นประธานและให้สวดพระปริตรพุทธมนต์มหามงคลทำสัจกิริยาธิษฐานอาราธนาเทพยดาให้ช่วยในการนั้น

และให้ชีพ่อพราหมณ์ทำการมงคลพิธี ตามพราหมณศาสตร์ด้วยช่วยในการพระราชประสงค์ แล้วจึงเททองหล่อพระพุทธรูปสามพระองค์ด้วยเนื้อทองสัมฤทธิ์โบราณแท้ ครั้นเททองเต็มแล้วพิมพ์เย็นแกะพิมพ์ออกรูปพระชินศรีพระศรีศาสดาสองพระองค์บริบูรณ์ดี มีน้ำทองแล่นตลอดเสมอกันการเป็นสำเร็จแต่รูปพระชินราชเจ้านั้นไม่ลงบริบูรณ์ ช่างได้ทำหุ่นรูปใหม่และหล่ออีกถึงสามครั้งก็มิได้สำเร็จเป็นพระองค์ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกโทรมนัสนัก แล้วทรงตั้งสัจกิริยาธิษฐานอ้างบุญบารมีแล้วรับสั่งให้พระนางประทุมเทวีตั้งสัจกิริยาธิษฐานด้วย ครั้งนั้นประขาวคนหนึ่งเข้ามาช่วยปั้นหุ่นทำการแข็งแรง ประขาวคนนั้นเป็นใบ้ไม่พูด ใครถามชื่อตำบลบ้านก็ไม่บอก ไม่มีใครรู้จัก ช่วยทำการทั้งกลางวันกลางคืน ไม่มีเวลา ครั้นรูปหุ่นงามดีสำเร็จเข้าดินพิมพ์แห้งแล้ว กำหนดมงคลฤกษ์จะได้เททอง ณ วัน ๕ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็งนพศก จุลศักราช ๓๑๙ พุทธศาสนากาลล่วงแล้ว ๑,๕๐๐ หย่อนอยู่เจ็ดวัน จึงดำรัสสั่งให้อาราธนาชุมนุมพระภิกษุสงฆ์ และชีพ่อพราหมณ์ ทำการมงคลพิธีเหมือนครั้งก่อน แล้วเททองก็เต็มบริบูรณ์ ประขาวที่มาช่วยทำนั้นก็เดินออกจากที่นั้นไป แล้วออกจากประตูเมืองข้างทิศเหนือหายไปที่ตำบลหนึ่ง บ้านนั้นได้ชื่อว่าบ้านตาประขาวหายจนทุกวันนี้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เมื่อต่อยพิมพ์พระพุทธรูปออกเห็นบริบูรณ์งามดี จึงมีรับสั่งให้ข้าราชการไปตามสืบหาตัวประขาวนั้น จะมาพระราชทานรางวัลก็ไม่ได้ตัวเลย พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก ให้ช่างแต่งตัวพระพุทธรูปให้เกลี้ยงสนิทดี ที่ทวยเหล็กให้ถอนออกเสียเปลี่ยนเป็นทวยทองใช้แทนที่ แล้วขัดสีชักเงาสนิทอย่างเครื่องสัมฤทธิ์ที่เกลี้ยงเกลาดีแล้วเชิญเข้าประดิษฐานไว้ในสถานทั้งสาม คือพระพุทธชินราชอยู่ในพระวิหารใหญ่ สถานทิศตะวันตกพระมหาธาตุผันพระพักตร์ต่อแม่น้ำ พระพุทธชินศรีอยู่ทิศเหนือ พระศรีศาสดาอยู่ทิศใต้ พระวิหารหลวงใหญ่ทิศตะวันออก เป็นที่ธรรมสวันสการ ที่ถวายนมัสการพระมหาธาตุและเป็นที่ชุมนุมพระสงฆ์ เมื่อหล่อพระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาเสร็จแล้ว ทองสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นชนวนและชลาบ สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกรับสั่งให้รวบรวมมาหลอมหล่อในองค์พระพุทธชินราชซึ่งหล่อครั้งหลัง แต่ทองสัมฤทธิ์ซึ่งเป็นชนวนและชลาบในองค์พระพุทธชินราชนั้น สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกดำรัสสั่ง ให้ช่างปั้นหุ่นพระพุทธรูปหน้าตักศอกเศษแล้ว เอาทองที่เหลือจากพระพุทธชินราชหล่อ เรียกนามว่าพระเหลือ ชนวนและชลาบของพระเหลือนั้น ก็หล่อเป็นรูปสาวกของพระเหลือทั้งสององค์ ครั้นเสร็จแล้วสถานที่หล่อพระพุทธรูปสามพระองค์อยู่ตรงหน้าพระวิหาร พระพุทธชินราชนั้นให้ก่อเป็นชุกชีด้วยอิฐเตาหลอมทอง และเตาสุมหุ่นทั้งปวงนั้น แล้วเอามูลดินอื่นมาผสมกับดินพิมพ์ที่ต่อยออกจากพระพุทธรูปสามองค์มาถมเป็นชุกชีสูงสามศอก แล้วให้ปลูกต้นพระมหาโพธิสามต้น สำแดงเป็นพระมหาโพธิสถานของพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศาสดาสามพระองค์ เรียกนามว่าโพธิ์สามเส้า แล้วจึงให้สร้างปฏิมาฆระสถานวิหารน้อยในระหว่างต้นพระมหาโพธิ์ หันหน้าต่อทิศอุดร แล้วเชิญพระเหลือกับพระสาวกสององค์เข้าไว้ในที่นั้น แสดงเป็นที่สำคัญว่าเป็นที่หล่อพระพุทธรูปทั้งสองพระองค์เบื้องหน้าแต่นั้น สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกจึงดำรัสสั่งให้สร้างพระราชวังอยู่ฝั่งตะวันตก เหนือที่ตรงหน้าวัดพระมหาธาตุน้อยหนึ่ง

ครั้นการพระอารามและพระราชวังพระนครเสร็จแล้วให้มีการสมโภชเจ็ดวัน ภายหลังจึงทรงตั้งจ่านกร้องจ่าการบุญ ให้เป็นที่เสนาบดีมียศเสมอกัน เพื่อจะให้เป็นผู้รักษาเมืองพิษณุโลกโอฆบุรีทั้งสองฟาก แล้วทรงพระราชดำริคิดตั้งเมืองนั้นไว้เป็นพระนครที่ประทับ สำหรับสำราญพระราชหฤทัยอยู่ใกล้แผ่นดินสยาม ซึ่งเป็นเมืองเดิมของพระราชเทวี และจะให้เป็นที่สำหรับกำกับรักษา ไม่ให้ชาวสยามที่เป็นใหญ่ในอนาคต จะล่วงลามเกินเลยเข้ามาในเขตแดนของพระองค์ ที่ล่อแหลมลามลงมาอยู่นั้น จึงจัดการให้มั่นคงเป็นดังพระนคร พระองค์เสด็จประทับสำราญพระราชหฤทัยอยู่ในที่นั้นนานถึง ๗ ปีเศษ บ้านเมืองมีผู้คนอยู่แน่นหนาบริบูรณ์แล้วจึงเสด็จกลับคืนยังพระนครเชียงแสน ทรงพระราชดำริว่าเมืองพระพิษณุโลกจะให้พระราชโอรสเสด็จไปอยู่ดั่งพระราชดำริไว้แต่เดิมก็เห็นว่าเป็นทางไกล พระองค์ก็ทรงพระชนมายุเจริญถึงปัจฉิมวัยแล้ว จึงโปรดให้เจ้าชาติสาครเสด็จไปครองเมืองเชียงรายเป็นที่ใกล้ ให้เจ้าไกรสรราชเสด็จไปครองเมืองละโว้ ซึ่งเป็นเมืองไกลในทิศใต้ใกล้ทะเล และไปขอรับเจ้าสุนทรเทวี เป็นราชธิดาพระเจ้ากรุงสยาม ณ กรุงศรีสัชนาลัยสวรรคโลกมาอภิเษกเป็นพระมเหสีของเจ้าไกรสรราช ณ เมืองละโว้ แล้วรับสั่งให้ราชอำมาตย์คุมคนไปสร้างเมืองใหม่อีกเมืองหนึ่งไกลเมืองละโว้เพียง ๕๐๐ เส้น ครั้นเมื่อเสร็จแล้วมีรับสั่งให้อำมาตย์ไปรับเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชมาแต่เมืองกำโพชา มาอภิเษกกับพระราชธิดาของพระองค์แล้ว โปรดให้ไปครองเมืองใหม่นั้น พระราชทานนามว่าเมืองเสนาราชนคร แล้วจึงรับสั่งให้แต่งเจ้าชาติสาครไปครองเมืองเชียงรายอยู่ใกล้พระนครเชียงแสน พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎกบรมบพิตรพระชนม์ยืนได้ ๑๕๐ ปีแล้วจึงเสด็จสวรรคต อำมาตย์ทั้งปวงส่งข่าวสารไปทูลเจ้าชาติสาคร ณ เมืองเชียงรายเสด็จมาจากเมืองเชียงรายถวายพระเพลิงพระศพพระบิดาแล้ว ขึ้นเสวยราชสมบัติในเมืองเชียงแสนสืบพระวงศ์มาหลายชั่วพระเจ้าแผ่นดินจึงสาบสูญสิ้นพระวงศ์ไป

ก็แลพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี, พระศรีศาสดาสามพระองค์นี้ เป็นพระพุทธปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบไปด้วยพระพุทธลักษณประเสริฐ มีศรีอันเทพยเจ้าหากอภิบาลรักษา ย่อมเป็นที่สักการบูชานับถือมาแต่โบราณ แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่า ที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬารปรากฏมาในแผ่นดิน ก็ได้ทรงนับถือสักการบูชามาหลายพระองค์

เมื่อจุลศักราช ๗๔๖ ปีวอกฉศก สมเด็จพระราเมศวรเสด็จขึ้นไปตีเชียงใหม่ เสด็จกลับลงมาถึงเมืองพิษณุโลก นมัสการพระชินราช พระชินศรี เปลื้องเครื่องต้นทำสักการบูชาแล้วให้มีการสมโภชเจ็ดวัน แล้วเสด็จกลับยังพระนคร

เมื่อจุลศักราช ๙๒๖ ปีชวด ฉศก สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเมื่อเสด็จอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลกกับสมเด็จพระบรมชนกนาถมหาธรรมราชาธิราชนั้น ได้เสด็จไปช่วยราชการสงครามเมืองหงสาวดี มีชัยชนะเสด็จกลับมายังเมืองพระพิษณุโลกเปลื้องเครื่องทรงออกบูชาพระชินราชพระชินศรีแล้วให้มีการสมโภชสามวัน ภายหลังมาพระองค์ไปต้องกักขังอยู่เมืองหงสาวดีช้านาน เมื่อได้ช่องแก่การและกลับคืนมายังกรุงศรีอยุธยา เมื่อเสด็จกลับจากเมืองหงสาวดีครั้งหลังนั้นได้ทรงรับมหาเถรคันฉ่องเข้ามาแล้ว ได้เสด็จขึ้นไปนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรีเมืองพิษณุโลกแล้วได้ทรงบูชาฉลองสามวันเหมือนดังนั้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อจุลศักราช ๙๕๓ ปีเถาะ ตรีศก สมเด็จพระเจ้าเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถ เสด็จขึ้นไปประพาสจังหวัดเมืองพิษณุโลกทุกตำบล มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้เอาทองนพคุณเครื่องต้น ซึ่งเป็นราชูปโภค มาแผ่เป็นทองปะทาศรี แล้วเสด็จไปทรงปิดในองค์พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีทั้งสองพระองค์ด้วยพระหัตถ์เสร็จบริบูรณ์แล้วให้มีการสมโภชเป็นมโหฬารสักการะเจ็ดวัน

อันสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชและสมเด็จพระนเรศวรบรมนาถ และสมเด็จพระเอกาทศรฐอิศวรบรมนาถสามพระองค์นี้ เมื่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้ามหาจักรพรรดิราชาธิราช แม้ได้เสด็จประทับอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลกทั้งสามพระองค์ ได้มอบพระองค์เป็นอุปฐากปฏิบัติพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี และพระศรีศาสดา ได้ทรงทำสักการบูชาเนืองๆ มาเป็นอันมาก หากอำนาจพระราชกุศลที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญด้วยความเลื่อมใสในพระพุทธมหาปฏิมากรอันประเสริฐทั้งสามพระองค์นี้ ภายหลังมาพระองค์ก็ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยามใหญ่ มีชัยชนะศัตรูหมู่ปัจจามิตรทั่วทุกทิศทุกทาง โดยลำดับราชการสืบๆ กันมาถึงสามแผ่นดิน ด้วยพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินสามพระองค์นั้นเล่าลือชาปรากฏมาก พระเจ้าแผ่นดินสยามแทบทุกแผ่นดินในภายหลังมาก็พลอยนับถือพระพุทธมหาปฏิมากร คือพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรีสืบมา และคนเป็นอันมากก็ลงใจเห็นว่า พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรี ๒ พระองค์นี้งามนัก ไม่มีพระพุทธรูปใหญ่น้อยที่ไหนๆ ใหม่เก่างามดีไปกว่าได้ เห็นจะเป็นของที่เทพยดาเข้าสิงช่างหรือนฤมิตเป็นมนุษย์มาช่วยสร้างช่วยทำเป็นแน่.

เพราะเห็นนี้มีผู้นับถือนมัสการ บูชาเล่าลือนับถือมานาน พระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ก็ได้เสด็จไปนมัสการบ้าง และส่งเครื่องนมัสการและเครื่องปฏิสังขรณ์ทำนุบำรุงไปบูชาและค้ำชูให้เป็นปรกติเป็นอภิลักขิตเจดียสถาน

มีความในพระสยามราชพงศาวดารว่า เมื่อจุลศักราช ๑๐๒๒ ปีชวด โทศก สมเด็จพระนารายณ์ราชบพิตรพระเจ้าช้างเผือกเสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่กลับมาถึงเมืองพระพิษณุโลก เสด็จไปนมัสการพระชินราชพระชินศรี ทำสักการบูชาแล้วเล่นการมหรสพสมโภชสามวัน

ครั้นเมื่อถึงปีขาลจัตวาศก จุลศักราช ๑๐๒๔ เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการอีกครั้งหนึ่ง ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระศรีสุริเยนทราธิบดี เสด็จไปทรงสร้างพระอาราม ณ ตำบลโพประทับช้าง เป็นที่ประสูติแขวงเมืองพิจิตร แล้วเสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีด้วย เมื่อปีมะแมเอกศกศักราช ๑๑๐๑ เป็นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมธรรมมิกราชาธิราชบรมโกศ ได้ทรงพระราชศรัทธาอุตสาหะให้สร้างบานประตูประดับมุกคู่หนึ่ง ทรงพระราชอุทิศถวายพระพุทธชินราช ให้ประกอบไว้ที่ประตูใหญ่หน้าพระวิหารพระพุทธชินราช

ครั้นเมื่อวัน ๒ เดือน ๙ แรม ๔ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๓๒ ปีขาล โทศก เจ้ากรุงธนบุรีเสด็จพยุหโยธาทัพขึ้นไปปราบปรามเจ้าพระฝาง ซึ่งตั้งตัวเป็นเจ้าอยู่เมืองสวางคบุรี เมื่อถึงเมืองพระพิษณุโลกแล้วเสด็จประทับแรมท่ากองทัพเจ้าพระยายมราชอยู่เก้าวัน ครั้งนั้นเจ้ากรุงธนบุรีได้เสด็จไปทรงนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรี พระศรีศาสดาทั้งสามพระองค์ ได้เปลื้องพระภูษาทรงบูชาพระพุทธชินราช

จะว่าถึงการที่เป็นไปในพระบรมราชวงศ์ ซึ่งสถาปนากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ณ ตำบลบางกอกตรงกรุงธนบุรี ข้ามมาฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในรัชกาลเป็นประถมแต่เมื่อครั้งกรุงธนบุรีได้เป็นจอมพยุหโยธาแม่ทัพใหญ่ไปทำศึกกับพม่าที่ยกมาทางเมืองเหนือเป็นการเข้มข้นหลายครั้ง เสด็จถึงเมืองพระพิษณุโลกคราวใดก็คงจะได้เสด็จนมัสการพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีพระศรีศาสดาทุกครั้ง แต่พระเจ้าอยู่หัวกรมพระราชวังในแผ่นดินนั้น เมื่อแผ่นดินกรุงธนบุรีได้เป็นที่เจ้าพระยาสุรศรีพิษณวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลกหลายปี ได้ทรงนมัสการปฏิบัติพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดาทั้งสามพระองค์โดยความที่ทรงเคารพ และเลื่อมใสนับถือเป็นอันมากอยู่หลายปี จะว่าการให้ลึกขึ้นไปอีกโดยความสัตย์ความจริงก็ว่าได้ ท่านพระองค์ใดซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ในรัชกาลเป็นประถมนั้นและเป็นมหาอัครบรรพบุรุษของพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ณกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ท่านพระองค์นั้นเมื่อแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ได้เป็นที่พระอักษรสุนทรศาสน อยู่ในกรมมหาดไทยได้เป็นผู้สถาปนาวัดสุวรรณดาราราม ณ กรุงศรีอยุธยาไว้ด้วย ครั้นเมื่อปัจฉิมรัชกาลในแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา ต้องรับราชการขึ้นไปเมืองพระพิษณุโลก ครั้นสืบทราบว่ากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาพม่าข้าศึกเข้าล้อมไว้แน่นหนา ท่านก็ยังรั้งรอช้าอยู่ ณ เมืองพระพิษณุโลก ครั้นเมื่อได้ข่าวว่ากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึกแตกยับเยิน แล้วพระยาพิษณุโลกก็ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใหญ่ไม่ยอมขึ้นแก่ผู้ใด ตั้งขุนนางอย่างกรุงเทพมหานครนี้ทุกตำแหน่ง จึงตั้งพระอักษรสุนทรศาสน ให้เป็นเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษอัครมหาเสนาบดี เพราะเห็นว่าเข้าใจดีในขนบธรรมเนียมในกรุงเทพมหานคร และขบวนราชการในกรมมหาดไทยทุกประการ แล้วพระยาพิษณุโลกบังคับบัญชาบรรดาขุนนางที่ตัวตั้งให้เรียกคำบัญชาสั่งของตัว ว่าพระราชโองการทุกตำแหน่งไป ไม่ได้ทำพิธีราชาภิเษกให้พราหมณ์ครอบก่อน ตั้งแต่สั่งดั่งนั้นแล้วก็ป่วยลงอยู่ได้ ๗ วันก็ถึงอนิจกรรม พระอักษรสุนทรศาสนเจ้าพระยาจักรีมิได้มีความมักใหญ่ใฝ่สูงตั้งตัวเป็นใหญ่ต่อไป แอบอาศัยอยู่ ณ เมืองพิษณุโลก ซึ่งครั้งนั้นตกอยู่ในอำนาจพระพากุลเถรเมืองฝางชื่อตัวชื่อเรือน ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองฝ่ายเหนือแผ่อำนาจลงมาข้างใต้จนถึงเมืองพิจิตร ข้างตะวันตกไปถึงเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย พระอักษรสุนทรศาสนอาศัยอยู่เมืองพิษณุโลกไม่ช้าป่วยลงก็สิ้นชนม์ชีพ จึงท่านมาภรรยาน้อยกับบุตรชายเล็กเกิดแต่ท่านมาชื่อลา ซึ่งตามขึ้นไปด้วยแต่แรกได้ทำสรีรฌาปณกิจ ถวายเพลิงเสร็จแล้วเก็บพระอัฐิรวบรวมรักษาไว้ด้วยดี กับมหาสังข์อุตราวัฏเป็นของดั้งเดิมของท่านพระอักษรสุนทรศาสน จึงคุมไปถวายพระโอรสองค์ใหญ่ของท่านพระอักษรสุนทรศาสน ซึ่งเป็นสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา ในแผ่นดินเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว เมื่อพระโอรสที่สองของท่านพระอักษรสุนทรศาสน ได้ขึ้นไปเป็นเจ้าพระยาสุรศรีพิษณวาธิราช ผู้สำเร็จราชการเมืองพระพิษณุโลก ในแผ่นดินกรุงธนบุรีนั้น บุตรชายน้อยของท่านพระอักษรสุนทรศาสนเกิดแต่ท่านมาก็ตามขึ้นไปด้วยเป็นนายโขนของเจ้าพระยาสุรศรีพิษณวาธิราช

ครั้นเมื่อล่วงแผ่นดินกรุงธนบุรีแล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพิลึกมหิมา และเจ้าพระยาสุรศรีพิษณวาธิราชได้เถลิงถวัลยราชสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และพระบวรราชวังแล้ว เจ้าลาพระอนุชาธิบดีซึ่งเป็นนายโขนนั้น พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงตั้งให้เป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงจักรเจษฎา พระบรมอัฐิของท่านพระอักษรสุนทรศาสน ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ และพระมหาสังข์อุตราวัฏของเดิมซึ่งว่านั้น ก็ยังประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวังกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยาบรมมหาราชธานี เป็นสิ่งของสำคัญเครื่องระลึกถึงพระบรมราชบรรพบุรุษ สืบมาจนกาลทุกวันนี้

บรรยายเรื่องทั้งปวงนี้ คือจะสำแดงท่านทั้งหลายซึ่งเป็นต้นเป็นเค้าของพระบรมราชวงศ์ผู้ตั้งขึ้นและดำรง ณ กรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา แต่เดิมได้เคยซ่องเสพนมัสการ นับถือพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีพระศรีศาสดาสามพระองค์มาแต่ก่อน พระพุทธรูปสามพระองค์นี้ก็เป็นมหัศจรรย์คิดแต่แรกสร้างมา จนถึงปีที่ตั้งต้นพระบรมราชวงศ์กรุงรัตนโกสินทรมหินทราอยุธยาบัดนี้ นานได้ถึง ๘๒๕ ปี ซึ่งเป็นระหว่างพระพุทธศาสนกาลแต่ ๑๕๐๐ จนถึง ๒๓๒๑ หรือแต่จุลศักราช ๓๑๙ จน ๑๑๔๔ เมืองพระพิษณุโลกก็เปลี่ยนเจ้าผลัดนายร้ายๆ ดีๆ ลางทีเป็นเมืองหลวง ลางทีเป็นเมืองขึ้น มาหลายครั้งหลายหน ข้าศึกมาแต่อื่นเข้าผจญเอาได้ เอาไฟจุดเผาถิ่นที่ต่างๆ ในเมืองนั้นเสียเกือบหมด แต่พระพุทธรูปสามพระองค์นี้ก็มิได้เป็นอันตรายควรเห็นเป็นอัศจรรย์ คนเป็นอันมากสำคัญมีเทวดารักษา และบางจำพวกสำคัญเห็นเป็นแน่ว่า พระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีสองพระองค์นั้นงามแหลมแก่ตามากกว่าพระพุทธรูปใหญ่น้อยบรรดามีในแผ่นดินสยามทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายเหนือ และตลอดกาลนานมาถึง ๙๐๐ ปี มีผู้เลียนปั้นเอาอย่างไปมากก็หลายตำบล จะมีพระพุทธรูปที่คนเป็นอันมากดูเห็นว่าเป็นดีเป็นงามกว่าพระพุทธชินราชพระพุทธชินศรีสองพระองค์นี้ไปก็ไม่มี จึงคาดเห็นว่าเมื่อทำชะรอยช่างที่เป็นผีสางเทวดา ที่นับถือพระพุทธศาสนาและมีอายุยืนมาได้เคยเห็นพระพุทธเจ้า จะเข้าไปสิงในตัวหรือดลใจช่างผู้ทำ ให้ทำไปตามน้ำใจของมนุษย์ดังหนึ่งประขาวที่ว่าก่อนนั้น ถ้าจะเป็นของมนุษย์ทำ ก็จะคล้ายละม้ายกันกับพระพุทธรูปอื่นโดยฝีมือช่างในเวลานั้น ดังรูปพรรณพระเหลือซึ่งประดิษฐานอยู่ในปฏิมาฆระสถาน วิหารน้อยที่โพธิ์สามเส้า ที่หล่อพระพุทธรูปสามพระองค์นั้น ก็เป็นฝืมือช่างในครั้งคราวเดียวกัน แต่รูปพรรณก็ละม้ายคล้ายกับพระพุทธรูปสามัญที่เป็นฝีมือช่างเมืองพิษณุโลกไม่แปลกไป เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ที่มีสติปัญญา ซึ่งได้เห็นได้พิจารณาสิริวิลาสพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี ยินดีนิยมนับถือด้วยกันเป็นอันมากไม่วางวาย และคนที่เป็นประขาวมานั้น ก็เห็นปรากฏชัดว่ามิใช่มนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงเห็นว่าพระพุทธรูปทั้งสามพระองค์นี้มีเทวดาทำ ชนทั้งปวงจึงได้นับถือบูชาเป็นอันมากมาจนทุกวันนี้แล.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ