พระราชหัตถเลขาฉะบับที่ ๖

วันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๓๘ศก ๑๒๔

ถึงมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมรักษาพระนคร

เพื่อจะให้รายงานการที่มาเที่ยวครั้งนี้สำเร็จบริบูรณ์ตามที่ควรจะบอก จึงเขียนบอกฉะบับนี้อีกฉะบับ ๑

วันที่ ๘ เวลาเช้า ๓ โมง ได้ลงเรือมาด (ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น เพราะเพื่อจะหาความสุข) เรือไฟเล็กลากออกจากเรือมหาจักรีที่ทอดอยู่ในเมืองนคร ไปปากพนังซึ่งอยู่ท้ายอ่าวแหลมตะลุมพุกนี้ ๓ ชั่วโมงหย่อนถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ บ้านนายอำเภอตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำ ต่อนั้นขึ้นไปเป็นบ้านเรือนทั้ง ๒ ฟากแน่นหนา เพราะมีจำนวนพลเมืองถึง ๔๖,๐๐๐ เศษ มีจีนมาก เป็นจีนไหหลำเป็นพื้น รองจำนวนจีนไหหลำเป็นจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋วมีน้อย เสียงจุดประทัดสนั่นไป มีเรือยาว เรือสำปั้น ราษฎรลงมารับที่ปากอ่าว ประมาณสัก ๘๐ ลำ โห่ร้องตามมาสองข้าง ได้ขึ้นไปตามลำน้ำหลายเลี้ยว จึงถึงโรงสีไฟจีนโต้หักหงี ซึ่งตั้งใหม่ มีความปรารถนาจะให้ไปเปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงี น้องและบุตรหลายคน และราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเป็นอันมาก ได้ต้อนรับโดยแข็งแรง ตั้งแต่ไปจากเรือมหาจักรีจนถึงโรงสีนั้น กินเวลาเกือบ ๔ ชั่วโมง ได้ขึ้นเดินดูโรงสีทั่วไป และไต่ถามถึงการงานเรื่องค้าขายแล้วกลับลงมาขึ้นที่บ้านนายอำเภอ เพราะที่ที่ว่าการอำเภอเก่าตั้งอยู่เหนือน้ำขึ้นไป ที่ว่าการใหม่ทำยังไม่แล้ว หลังที่ทำใหม่นี้เท่ากับที่ว่าการเมืองตานี กินข้าวบนเรือนนั้น จีนหักหงีเลี้ยงเกาเหลาอย่างจีน ข้าหลวงเทศาภิบาลเลี้ยงอย่างไทย แล้วเดินไปดูร้านซึ่งข้าราชการและราษฎรมาตั้งอย่างขายของ แต่ที่แท้เป็นของถวายทั้งนั้น มีพันธุ์ข้าวต่าง ๆ น้ำตาลต่าง ๆ เครื่องสาน ผลไม้ ขนม ยา เลี้ยงคนเรือที่ไป พวกราษฎรมาเฝ้าพร้อมกันทั้งบกทั้งน้ำแน่นหนามาก บรรดาการเล่นอันมีอยู่ในตำบลนั้นได้มาเล่นทั้งไทย จีน แขก เวลาบ่าย ๓ โมงครึ่งจึงได้ลงเรือกลับมาถึงเรือมหาจักรีเกือบจะ ๒ ทุ่ม

อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ ยังรู้สึกกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งคั่งถึงเพียงนี้ น้ำตื้นมีอยู่แต่ที่ดอนปากน้ำประมาณสัก ๒๐๐ เส้น เข้าไปข้างในน้ำลึกตลอด จนถึงหน้าโรงสีไฟน้ำยังลึกถึง ๓ วา ถ้าเวลาน้ำมากเรือขนาดพาลีและสุครีพเข้าไปได้ ต่อโรงสีไฟขึ้นไปไม่มากนักถึงปากแพรกซึ่งเป็นแม่น้ำ ๒ แยก ๆ หนึ่งเลียบไปตามทะเลถึงตำบลทุ่งพังไกร ซึ่งเป็นที่นาอุดมดี ข้างจีนกล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิต และมีที่ว่างเหลืออยู่มาก จะทำนาขึ้นได้ใหม่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก ๑๐ เท่า เขากะกำลังทุ่งนั้นว่าถ้ามีนาบริบูรณ์ จะตั้งโรงสีไฟได้ประมาณ ๑๐ โรง ขาดแต่คนเท่านั้น นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้ ลำน้ำนั้นเรือกลไฟขนาดศรีธรรมราชขึ้นไปได้ตลอดถึงพังไกรในเวลาหน้าแล้ง ต่อพังไกรไปเป็นลำคลองเล็กลง แต่ถ้าหน้าน้ำเรือศรีธรรมราชได้ไปถึงอำเภอระโนด แขวงสงขลา ตกทะเลสาบ

คลองอีกแยกหนึ่งแต่ปากแพรกนั้น ไปทิศตะวันตกถึงอำเภอปราณ ที่อำเภอปราณนี้มีไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียน และไม้กระยาเลยต่าง ๆ มาก จีนหักหงีได้ขออนุญาตตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่ริมโรงสีไฟ ใช้หม้ออันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ตั้งเครื่อง มีไม้จอดอยู่ริมตลิ่งมาก

ทางไปมาแต่อำเภอกลางเมืองมาตามคลองปากพยาแล้วมาคลองบางจาก ออกทะเลหน่อยหนึ่งจึงเข้าปากพนัง แต่พระยาสุขุมได้ขุดคลองตั้งแต่ระหว่างหมู่บ้านคนไปถึงคลองบางจาก เดินได้ทางในมีเรือลูกค้ามาแต่กลางเมืองและร่อนพิบูลย์ จอดอยู่หลายร้อยลำ ในลำน้ำนั้นมีเรือกำปั่นแขกสำเภาจีนค้าขาย ทอดอยู่กลางน้ำเกือบ ๓๐ ลำ แต่เป็นเรือเมืองตรังกานูถึง ๑๘ ลำ สินค้าไม่มีอื่นสำคัญเท่าข้าว มีปลา มีสุกร แต่ไม่มาก เรือเหล่านี้มาแต่เมืองสิงคโปร์และเมืองแขกโดยมาก ห้างอีสต์เอเซียติก ตั้งเอเย่นต์ไว้สำหรับสินค้าไปบรรทุกลงเรือเมล์ด้วยเหมือนกัน ข้าวกลับไปกรุงเทพ ฯ ก็มี เพราะเหตุที่แต่ก่อนมีแต่โรงสีด้วยมือ สีไม่ทันกัน ต้องส่งไปโรงสีไฟกรุงเทพ ฯ ในเวลานี้โรงสีด้วยมือนั้นรายไปตามลำฝั่งน้ำตลอด มีหลายสิบโรง เมื่อจะคิดดูว่าตำบลนี้มีราคาอย่างไร เทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดี๋ยวนี้น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ ๒๐,๐๐๐ บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมะลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง มีขัดข้องอยู่ก็แต่ที่ปากอ่าวตื้นเรือใหญ่เข้าไม่ได้ พวกลูกค้ามีความประสงค์ที่จะให้ขุดมาก จีนหักหงีนี้เอง ได้ยื่นเรื่องราวว่า ถ้าจะขุดตัวจะขอออกเงินให้ ๘๐,๐๐๐ บาท พวกจีนลูกค้าที่นี่เห็นพร้อมกันว่าจะต้องขุดทุกปี ยอมให้เก็บค่าขุดตามกำลังเรือ เพราะเหตุที่เวลานี้ลำบากด้วยเรื่องลำเลียงข้าวมาบรรทุกเรือใหญ่ เสียค่าจ้างเป็นอันมาก โดยจะต้องเสียค่าขุดคลองยังจะถูกกว่าเสียค่าจ้างเรือลำเลียง และขอให้ปิดคลองบางจากซึ่งเป็นทางให้น้ำเค็มเข้าในคลองพระยาสุขุมนั้นเสีย น้ำในคลองนั้นจะแรงขึ้นอีก และจะได้น้ำจืดมาใช้ที่ปากพนัง ตำบลปากพนังนี้คงเป็นท่าของเมืองนครศรีธรรมราช ปากอื่นๆ ปิดหมดอยู่เอง เพราะการเข้าออกลำบาก

ที่ตำบลนี้ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำ ๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้นกลับได้น้ำจืด แต่ระยะทางไกล เดี๋ยวนี้ราษฎรได้อาศัยน้ำในคลองสุขุม แต่น้ำคลองบางจากมักทำให้เค็มจึงอยากขอปิดคลองบางจากนั้น การที่จะปิดคลองบางจากนั้น มีบ้านที่จะต้องลำบากอยู่ตำบลเดียว เพราะอยู่นอกปากคลองสุขุมออกมา เขากล่าวติเตียนกันอยู่ว่า จีนที่มาอยู่แต่ก่อนเป็นพวกไหหลำมาก มักไม่ใคร่จะคิดทำการหากินใหญ่โต ได้ประมาณพันหนึ่งสองพันเหรียญก็กลับไปบ้าน แต่บัดนี้จีนแต้จิ๋วกำลังรู้ว่าที่นี้ดี เห็นจะมีมาอีกมาก ไม่ช้าตำบลนี้จะเจริญใหญ่โตสู้เมืองสงขลาได้ ในทางผลประโยชน์ทุกวันนี้มีแต่โทรศัพท์ พวกลูกค้าจีนต้องการจะให้มีโทรเลข ถ้าจะมีผู้อื่นใช้โทรเลขนอกจากราชการแล้ว จะมีที่นี่มากกว่ากลางเมือง

อนึ่งดินที่นี่ดี เผาอิฐแกร่งเหมือนอิฐสงขลา ที่ว่าการอำเภอหลังใหญ่ซึ่งทำใหม่ได้ใช้เงินงบประมาณแต่เพียง ๒,๐๐๐ บาท นอกนั้นใช้แรงคนโทษซึ่งจ่ายมาแต่เมืองนครศรีธรรมราชทำอิฐ ราษฎรพากันมาแลกสิ่งของซึ่งจะต้องการเป็นไม้เป็นเหล็ก แรงที่ทำก็ใช้แรงคนโทษ พื้นล่างเสาก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้มุงจาก ยังขาดฝาไม่แล้วเสร็จ แต่ถึงว่ามีสิ่งที่ดีอยู่หลายอย่างเช่นนี้ก็มีสิ่งที่ไม่ดีอยู่ คือยุงชุมเกินประมาณ ถ้าไม่มีมุ้งแล้วอย่าได้นอนเลย ฉันไปนั่งกินข้าวอยู่ เวลากลางวัน ยุงก็กัดและบินอู้ไป

แต่นี้ต่อไป จะแวะเกาะพงันและช่องอ่างทอง ปากน้ำชุมพร บางตะพานและเกาะสีชัง เป็นที่ซึ่งได้เคยมาแต่ก่อนแล้ว เว้นแต่บางตะพาน ซึ่งดูจะไม่อัศจรรย์อันใด เป็นอันหมดเวลาที่จะบอกข่าวเข้าไปให้ถึงก่อนตัวฉันไปถึงเองได้เพียงเท่านี้

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

  1. คือโรงสีไฟยี่ห้อเตาเช็ง

  2. ๒. เรือ "นครศรีธรรมราช" คือ เรือกลไฟซึ่งกระทรวงพระคลัง ฯ อนุมัติให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช สร้างขึ้นสำหรับไปตรวจราชการในมณฑล.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ