พระราชหัตถเลขาฉะบับที่ ๑

พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องเสด็จประพาสแหลมมลายูคราว ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘)

ที่ว่าการอำเภอจะทิ้งพระ

วันที่ ๒๕ มิถุนายน รัตนโกสินทร๓๘ศก ๑๒๔

ถึง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในที่ประชุมรักษาพระนคร

ด้วยเวลานี้มาติดฝนอยู่จึงเขียนใบบอกที่นี่

ตั้งแต่มาจากกรุงเทพ ฯ ไม่มีคลื่นเลย มาตามโปรแกรมที่กะไว้ ไม่มีอะไรที่จะเล่านอกจากที่เจ้าเคยเห็นแล้ว เว้นไว้แต่เมืองชุมพร และตำบลนี้ที่ยังไม่เคยมา

ที่ชุมพรแปลกนั้น เพราะเขาจัดรับที่ตำบลซึ่งคิดจะยกที่ว่าการมณฑลลงมาตั้งริมทะเล ที่นั้นอยู่บนเนินชายเขามัทรี แต่ไม่ใช่ลูกริมปากอ่าวสองลูกนั้น เป็นลูกถัดมาอีก เขาตัดทางมาแต่บ้านปากน้ำ มาออกริมทะเลตามหว่างช่องเขา แต่ไม่ได้ไปขึ้นปากน้ำ ขึ้นสะพานตรงหน้าเขานั้นทีเดียว จึงไม่เห็นว่าทางเป็นอย่างไร สะพานที่ขึ้นห่างเรือจอดประมาณ ๒ ไมล์ เขาตัดถนนตั้งแต่ต้นสะพานขึ้นไป กว้างประมาณ ๖ วา ขึ้นเนินเรื่อยตรงไปทาง ๒๐ เส้น ข้างทางและตามบนเขา มีรอยไม้แห้งตายเป็นหย่อม ๆ ที่ถูกพายุแต่ก่อนนั้น พื้นดินแดงเช่นสิงคโปร์ตลอดไป เขากล่าวว่าพบแร่ทองบ้าง บนหลังเนินปลูกพลับพลาเป็นตรีมุข มีช่อฟ้าเลื้อย ๆ ใบระกานาคสะดุ้ง กระดุกกระดิกกว่า ๗ วง แลลงไปเห็นทะเลสามด้าน ด้านหลังเป็นเขาแต่ห่าง ดูโปร่งสบายดี แผ่นดินเป็นลูกเนินสูงๆ ต่ำๆ เพราะอยู่บนหมู่เขา ดูน่าอยู่ แต่ใหม่ๆ เช่นนี้เห็นจะจับไข้ ราษฎรมารับมากทั้งพระ ครู และนักเรียนเป็นอันมาก ร้องสรรเสริญบารมีกร่อยๆ ฟังแปลก กินปลาทูเวลาค่ำไม่ได้กินอื่นเลย ที่นี่ขึ้นฝั่งราบๆ ไม่มีเขา ต้องเดินข้ามหาดยาวมาก หาดนั้นเป็นสองชั้น หาดใหม่ทรายซุย หาดเก่าค่อยแน่น ทางแต่ท่าขึ้นมา ๑๗ เส้นจึงถึงที่ว่าการ ขอบใจหลวงจรูญภารการนายอำเภอ แซะดินที่มีหญ้าปก (ตัฟ) มาปูเป็นเสื่อทางตลอดขึ้นไป จึงเดินได้สบาย หาไม่จะเดินอ่อนทีเดียว ไปที่วัดจะทิ้งพระก่อน

วัดนี้เดิมเป็นสองวัด มีกำแพงกั้นกลาง มีอุโบสถสองแห่ง ภายหลังเขารื้อกำแพงรวมกันในเร็วๆ นี้ มีพระเจดีย์ที่เป็นสำคัญ ๒ องค์ องค์ย่อมต้นไม้ขึ้นพังไปบ้างแล้วนั้น มีเรื่องว่า เมื่อนางชลธารากับทันตกุมารน้องชายเชิญพระสารีริกธาตุมาแต่ลังกาจะไปบรรจุพระมหาธาตุเมืองนครนั้น มาหยุดอาบน้ำที่บ่อจันทร์ซึ่งอยู่นอกวัด ทันตกุมารรับพระธาตุไว้ จึงเอาผ้าปูลงวางพระธาตุไว้ในที่ก่อพระเจดีย์นั้น นางพี่สาวมาเห็นจึงถามว่าจะทิ้งพระเสียแล้วหรือ เพราะฉะนั้นจึงเป็นชื่อสืบมาว่าจะทิ้งพระ แต่พ่อไม่เห็นจริง เข้าใจว่าคนจะลืมกันมาเสียนาน มาอินเวนเรื่องขึ้นใหม่ เพราะในที่ต่อวัดไปเป็นป่ายางทึบดินสูง มีคูปรากฏอยู่ บัดนี้เรียกว่าเมืองจะทิ่งหรือจะทิ้งร้าง คงจะมีอะไรก่อสร้างอยู่ในนั้น ดินจึงสูง เข้าใจว่าจะเป็นวัดพวกมหายาน ชั้นเดียวกับชะวา ซึ่งมีพะยานเป็นอันมากว่าเมืองตะวันตกแต่ก่อนเป็นมหายานอย่างชะวาเป็นแน่แล้ว คำว่าจะทิ้งพระนั้นเห็นจะเป็น จันทิ ที่เป็นวัดในชะวาเรียก จันทิพระ ตามเสียงชาวนอก อาจจะกลายเป็นจะทิงไปได้ คงไม่ใช่วัดนี้เป็นตัววัดเก่าเป็นแต่ส่วนของวัดเก่าติดกัน จึงได้ชื่อว่าวัดที่จันทิเหมือนกับหมู่บ้านก็เรียกจะทิงเหมือนกัน เป็นบ้านจันทิ มีพะยานอีกที่สงขลา เรียกจะทิงหม้อเป็นวัดเหมือนกัน เห็นจะเป็นจันทิอีกแห่งหนึ่งรุ่นเดียวกัน

มีพระเจดีย์องค์ใหญ่ เรียกว่าพระมหาธาตุ แต่เรื่องว่าเป็นสร้างภายหลัง คือว่าพระยาธรรมรังสรรสร้าง เมื่อจุลศักราช ๗๙๙ ทูลขอพระครูอโนมทัสสี ที่ไปลังกาออกมาสร้าง เป็นรูปถ่ายมาจากพระเจดีย์ลังกา รูปร่างก็ลักษณะพระธาตุนครทั้ง ๒ องค์ ไม่มีอะไรอัศจรรย์อีกกว่านั้น เจ้าอธิการจำหน่ายว่าหนังสือมี กรมขุนนริศเอาไป

ที่นี้มีพลเมืองถึง ๔๐,๐๐๐ มากกว่าเมืองชุมพร มีทางเดินแต่สงขลาไปนครตามทางโทรเลขริมทะเลทางหนึ่ง ทางไปในป่ายาง เป็นทางราษฎรเดินทางหนึ่ง ที่ว่าการต่างๆ มีพร้อมอย่างกำมะลอ ยกเสียแต่ที่ว่าการอำเภอมุงกระเบื้อง รักษาหมดจดดี แต่บ้านราษฎรรุงรังตามธรรมดา

พ่อมาได้ขึ้นเกาะพงันจึงเป็นอันหายปรกติดีแล้ว มีคนเจ็บท้องเสียคนเดียวแต่อาภา นอกนั้นสบายดีหมด

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

  1. ๑. จังหวัดสงขลา

  2. ๒. ที่ประชุมผู้สำเร็จราชการรักษาพระนครในคราวนั้น ประกอบด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นประธาน มีที่ปฤกษา ๔ คือ ๑. สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า กรมพระภาณุพันธุวงศวรเดช ๒. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงนเรศรวรฤทธิ์ ๓. พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศวโรประการ ๔. พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้า กรมขุนนิรศรานุวัดติวงศ์.

  3. ๓. หลวงจรูญภารการ (หมี สุขุม) ต่อมาเป็นพระจรูญภารการ

  4. ๔. ในตำนานเมืองนครศรีธรรมราชว่า นางเหมมาลากับธนกุมาร.

  5. ๕. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ