พระบรมราโชวาทฉะบับที่ ๓

พระที่นั่งอมรพิมานมณี

วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทร๒๗ศก ๑๑๓

ถึงลูกชายโต

ด้วยพ่อได้ตั้งใจไว้ว่าจะเขียนหนังสือ เป็นคำสั่งสอนตักเตือนเนือง ๆ แต่การที่จะทำนั้น หาโอกาสก็ยาก ทั้งถ้อยคำที่จะใช้ให้ปราศจากเป็นเสี้ยนหนามกระทบกระเทือนผู้ใดก็ยาก อีกประการหนึ่ง เป็นธรรมดาคนหนุ่ม ย่อมเห็นว่าคนแก่งุ่มง่ามเซอะซะหลงใหลเพ้อเจ้อ พูดอันใดก็มักจะเอาแต่เรื่องที่ไม่ตรงกันกับเวลาต้องการมาพูด ทำให้เสียเวลาที่จะฟัง แล้วทอดธุระเสีย ไม่ใส่ใจในคำที่ตักเตือนนั้น แต่อันที่แท้จริงฝ่ายคนแก่ก็เห็นว่า คนหนุ่มนั้นเป็นผู้รู้ราตรีน้อย คือได้อยู่ในโลกน้อย ไม่เคยทุกข์ไม่เคยลำบาก เคยรับแต่ความสุข และมักจะคิดอ่านอันใดฟุ้งส้าน ด้วยเชื่อสติปัญญา เชื่ออายุ เชื่อความรู้ เชื่อคำยกยอ และเมาอยู่ในตัวเอง ด้วยเหตุทั้งหลายเหล่านี้รวมกับทั้งความปรารถนาต่าง ๆ ซึ่งเห็นแต่ทางสุข ไม่แลเห็นทางทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการยากนักที่คนแก่จะเตือนคนหนุ่ม อย่าว่าแต่เพียงให้อ่านหนังสือที่จดหมายให้ถึงสองเที่ยวเลย แต่เพียงให้อ่านเที่ยวเดียว และให้เข้าใจเห็นจริงด้วยก็เป็นอันยากยิ่งนัก เพราะฉะนั้น หนังสือที่คิดหลายหนแล่วว่าจะเขียน ก็ต้องรอไปรอไป ด้วยคาดไม่ได้ว่าผู้อยู่ที่ไกลกับผู้อยู่ที่ใกล้ จะแปลกยิ่งกว่ากันเพียงเท่าใด แต่ถึงอย่างไรอย่างไรก็ดี ความคิดอันนี้ไม่ได้ขาดไปได้ ย่อมเป็นห่วงบ่วงใยติดอยู่ในใจเสมอเป็นนิจ เว้นแต่ไม่สามารถที่จะว่าผลก่อนเหตุให้ทั่วถึงไปได้ จึงขอตักเตือนไว้เป็นลำดับไปตามแต่จะมีโอกาล การที่กล่าวทั้งนี้ ใช่จะกล่าวด้วยเหลวและด้วยหลงลืมว่าตัวมิได้เคยเป็นเช่นนั้นมาบ้างเลย เคยเป็นคนดีอย่างยิ่งมาตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ ที่แท้ก็ได้เคยเป็นแก่ตัวมา ไม่สู้ผิดอันใดกัน เว้นไว้แต่มีความเคารพความกลัวเกรงมาก ต้องตั้งตัวไว้ให้เป็นที่พึงพระราชหฤทัยของทูลกระหม่อม ถึงแม้ว่าในเวลานั้นจะยังไม่รู้สึก ว่าเหตุการณ์ทั้งปวงที่ต้องกริ้วกราดก็ดี ที่ดำรัสสั่งสอนก็ดี ไม่เป็นการมีคุณอันใดแก่ตัว ก็ได้มารู้สึกโดยไม่ช้านัก และไม่มีความโทมนัสเสียใจว่าการที่เราต้องกลัวมาแต่ก่อน ต้องจำประพฤติตามมาแต่ก่อน อันไม่เป็นที่ชอบใจของเรานั้น เป็นการต้องทนทรมานเสียเปล่า มารู้สึกนึกเห็นจริงได้ และมารู้สึกพระเดชพระคุณซึ่งได้พระราชทานพระบรมราโชวาทานุศาสน์อันนั้นอันนั้น ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งคิดเห็นมากขึ้น จึงทำให้มีความกล้าหาญที่จะเขียนหนังสือฉะบับนี้เป็นคำสั่งสอนในแผนกหนึ่ง ซึ่งจะใช้ได้ในเวลานี้หรือมิได้ ก็คงจะเป็นประโยชน์แก่ตัวไปภายหน้าบ้าง

ในคำสั่งสอนชั้นต้นนี้จะว่าด้วยเรื่องความรัก ด้วยเดี๋ยวนี้ตัวเจ้าได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่คนทั้งปวงเห็นทั่วกันแล้วว่าจะเป็นผู้มีวาสนา เป็นที่พึ่งพำนักของเขาทั้งหลายสืบไปภายหน้า ย่อมจะได้รับความยกย่องหรือช่วยคิดช่วยอ่าน หรือมั่นหมายตามสมควรแก่ทางที่จะเป็น ก็มีโดยมาก ที่จะเชือนไปด้วยอุปกิเลสต่าง ๆ เข้าชักชวนยั่วน้ำใจ โดยผู้ซึ่งประพฤตินั้นรู้สึกก็ดี มิรู้สึกก็ดี ทำโดยสุจริตก็ดี หรือโดยการแกล้งโดยความมุ่งหมายความดีภายหน้าก็ดี ความคิดและความประพฤติของคนทั้งปวงเหล่านั้น มักจะพาให้ใจเฟือนไป โดยมิได้ตั้งใจจะแกล้ง เป็นเพราะไม่รู้สึกตัวที่จะระวัง

เมื่อจะพูดถึงความรักเช่นนี้แล้ว แรกแลเห็นหนังสือนี้ก็จะต้องเห็นว่าพ่อเหลวเหลือทน หรือเคลือบแคลงกินแหนงคนไปเสียหมด ไม่เชื่อถือใครเลย หรือไม่เห็นผู้ใดดีกว่าตัวเสียเลย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น พ่อต้องการนัก ที่จะให้มีผู้รักใคร่นับถือยกย่องให้มาก เว้นไว้แต่อยากจะให้รู้สึกตัวเลือกฟั้น และให้รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วและประพฤติตนโอบอ้อมอารีต่อคนทั้งปวงให้กว้างขวาง อย่าให้เมาในถ้อยคำที่ไม่ควรจะเมา ควรจะมีความรักใคร่ต่อผู้ซึ่งมีน้ำใจจงรักภักดี ในเมื่อเขารักใคร่จะให้เป็นประโยชน์จริง ๆ ถึงหากว่าผู้ซึ่งจะมารักใคร่รู้แล้วว่าไม่ทำประโยชน์อันใดให้ ก็ให้เป็นแต่เพียงไม่ถือมั่นเอาในการสำแดงความรักใคร่ อย่าให้ถึงสละละถอนฟาดฟันอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่ให้กำหนดรู้ในใจไว้เท่านั้น เมื่อจะกำหนดผู้ซึ่งรักใคร่แล้ว ขอกำหนดไว้เพียง ๔ จำพวกในชั้นนี้ก่อน คือ

พวกที่ ๑ นั้น คือพ่อ ย่อมมีความรักใคร่ตั้งแต่กำเนิดมา จนโตถึงเพียงใด ก็อาจจะอวดได้ว่าเป็นผู้ที่รัก ยิ่งกว่าผู้ที่รักอีกสามจำพวก อันจะกล่าวต่อไปข้างหน้า

ผู้ซึ่งรักจำพวกที่ ๒ นั้นคือมารดา เมื่อว่าตามแบบโบราณที่เขานับแล้ว เขานับว่ามารดารักมากกว่าบิดา จนลงในคาถาก็ใช้ “มาตาปิตุอุปัฎฐานัง การปฏิบัติมารดาบิดา” ยกมารดาเป็นใหญ่กว่าบิดา ก็เป็นความจริง ด้วยมารดาย่อมมีความรักใคร่ไม่เสื่อมถอย และฝังติดอยู่ในใจมิได้ขาด แต่ซึ่งพ่ออาจจะเอาความรักของจำพวกที่ ๑ คือตัวพ่อไปประมูลนั้น ด้วยเหตุว่ามารดารักบุตร มักจะรักหลงไม่แลเห็นผิดชอบอันใด สุดแต่ลูกจะประพฤติอันใด ก็ย่อมเห็นดีเป็นที่ชอบใจไปทุกอย่าง ใครจะกระทบกระทั่งอันใด ที่สุดจนตัวพ่อเอง ก็มักจะทำให้เข้าใจผิดไปว่าชะรอยจะไม่มีความรักใคร่ มีความมุ่งหมายใจรักใคร่ผู้อื่น จะตักเตือนว่ากล่าวอันใดก็เป็นแต่ปรักปรำ ด้วยความหวังใจมุ่งหมายต่อลูกผู้อื่น ความรักเช่นนี้ ย่อมทำให้ใจผู้ที่ถูกรักเสื่อมคลายไปจากวิจารณปัญญา คือความพิจารณาว่าคำตักเตือนทั้งหลายนั้น เป็นคำแท้จริงมีประโยชน์หรือไม่ มารดารักมักจะรักไปด้วยความมัวเมามากกว่ารักด้วยความพิจารณา ฝ่ายพ่อรักนั้น ไม่รักจู๋จี๋หรือมัวเมาเป็นเล่นโอละพ่อไปก็จริง แต่ความรักนั้นปรารถนาแต่ทางที่ดี ย่อมแลเห็นสิ่งที่ไม่ดี จึงอาจจะประมูลสู้ว่าเป็นรักมีประโยชน์มากกว่าผู้ซึ่งรักจำพวกที่ ๓ คือเป็นผู้รักใคร่จริง หวังประโยชน์จะให้ดีจริง แนะนำในทางที่ดี ผู้ซึ่งมีความรักใคร่เช่นนี้ ยิ่งมีมากเท่าใดยิ่งดี แต่ถึงดังนั้น ผู้ที่รักจำพวกที่ ๑ คือพ่อ ผู้ที่รักที่ ๒ คือแม่ก็ยังประมูลได้ด้วยเหตุใด ด้วยเหตุว่าธรรมดามนุษย์ที่เกิดมาในโลก ย่อมมีความรักตัวเป็นอย่างยิ่ง รักบุตรเป็นที่ ๒ ผู้ซึ่งรักจำพวกที่ ๓ นั้น เขาย่อมรักด้วยเหตุรักตัวเขาด้วยรักลูกเขาด้วย หมายว่าจะได้เป็นที่พึ่งพำนักสืบไปภายหน้า ถึงตัวจะไม่มุ่งหมายว่าจะได้เป็นที่พึ่งแก่ตัว ก็จะได้เป็นที่พึ่งแก่บุตรสืบไป เขาจึงมีน้ำใจจงรักภักดีต่อโดยสุจริต แต่ส่วนพ่อซึ่งเป็นผู้รักใคร่จำพวกที่ ๑ เป็นผู้ซึ่งเป็นพ่อของตัวผู้ถูกรักนั้นเอง ไม่ต้องมีแยกออกไปอีกต่างหาก ถึงโดยว่าจะรักตัวมากกว่า ก็ย่อมตั้งใจว่าถ้าตัวล่วงลับไปแล้ว ลูกผู้ที่รักนั้นจะเป็นผู้อยู่แทนตัว ก็เหมือนกันกับจำพวกที่ ๓ ที่ถึงตัวไม่หมายพึ่งก็หมายจะให้บุตรได้พึ่ง แต่เขาต้องหมายบุตรเขา เช่นพ่อไม่มีที่หมาย เพราะเหตุว่าผู้ที่ถูกรักนั้นเป็นตัวลูกเสียเองแล้ว ต่างบุคคลกันอยู่ดังนี้ เมื่อพิจารณาก็คงจะเห็นได้ว่าผู้ใดจะรักมากกว่ากัน ฝ่ายมารดาซึ่งเป็นจำพวกที่รักใคร่ที่ ๒ ก็เหมือนกันโดยนัยนี้ แปลกแต่อยู่ค้ำไปด้วยกันทั้งสองคนทั้งแม่ทั้งลูก และเชื่อว่าลูกคงจะมีความรักใคร่ตัวมากเป็นที่พึ่งพำนักแก่ตัวในเวลาเมื่อแก่เฒ่า หาตัดเด็ดเดี่ยวได้เหมือนดังพวกที่รักใคร่ที่ ๑ ซึ่งไม่ได้คิดจะหมายพึ่งพำนัก คิดแต่จะไว้ต่อตัว แต่ยังดีกว่าพวกที่ ๓ เพราะเหตุซึ่งไม่มีความมุ่งหมายต่อผู้อื่น ด้วยเหตุว่าเป็นลูกของตัวเอง

ผู้ซึ่งรักใคร่ที่ ๔ นั้น คือผู้ซึ่งหวังต่อความดี ซึ่งจะมียศศักดิ์และอำนาจในปัจจุบันทันด่วน จะดีจะร้ายประการใดก็ตาม ถ้าได้ดีขึ้นแล้วเขาคงเป็นผู้มีบำเหน็จบำนาญ ได้รับผลลาภและยศทันตาเห็น ผู้ซึ่งรักจำพวกนี้ มักจะทำให้ถูกใจ ไม่ต้องเลือกว่าดีว่าชั่ว และมักจะเป็นผู้ส่อเสียดให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ ในระหว่างพวกที่รักที่ ๑ กับผู้ที่ถูกรัก หรือพวกที่รักที่ ๑ กับผู้ที่รักที่ ๒ ด้วยกระทำให้เมามัวไปด้วยเหตุว่าผู้ที่รักที่ ๒ ย่อมถ้าเมามัวอยู่เป็นธรรมดาอยู่แล้วและมักจะประชันกับผู้ที่รักที่ ๓ ด้วยเหตุว่าผู้ที่รักที่ ๓ ย่อมมีวาจาและการชักนำจืดกร่อยไปกว่าผู้รักที่ ๔ ผู้รักที่ ๔ ย่อมประมูลผู้รักที่ ๓ ได้ด้วยเหตุฉะนี้ ผู้รักที่ ๔ อยู่ข้างจะไม่สู้ดีอยู่บ้าง แต่ถึงดังนั้นไม่ควรจะตัดทิ้งเสีย ควรจะรับรักนั้นไว้ เพื่อให้เป็นที่อุดหนุน แท้จริงก็มีประโยชน์ได้มากเหมือนกัน เป็นแต่ให้พึงประมาณใจรู้จำพวกรู้บุคคล ว่าคนรักเรานั้นรักชั้นนี้ ๆ เป็น ๔ จำพวกดังเช่นที่กล่าวมาแล้ว แล้วประพฤติความดีตอบให้สม่ำเสมอ ถ้าผูกพันผู้ซึ่งมีน้ำใจรักใคร่ทั้ง ๔ จำพวกนี้ไว้ได้ด้วยสติสัมปชัญญะ มิใช่เผลอมิใช่หลงแล้ว จะเป็นที่ตั้งแห่งความเจริญดีแก่ตนสืบไป ขอให้เข้าใจว่าคำสั่งสอนนี้ ไม่ได้ให้ตัดไมตรีจากผู้หนึ่งผู้ใด เป็นแต่ให้รู้ประมาณ แต่อยู่ข้างจะลึกเข้าใจยาก ด้วยเหตุว่าได้กล่าวแล้วข้างต้นว่าจะแต่งให้พ้นจากกระทบกระเทือนยากนัก ถ้าอ่านแล้วและตริตรองสอบสวนไปหลาย ๆ เที่ยว ก็คงจะเข้าใจได้ในคำสั่งสอนนี้ เมื่อมีเวลาจึงจะได้ว่าด้วยเรื่องอื่นต่อไป

(พระบรมนามาภิไธย) จุฬาลงกรณ์ ปร.

  1. ๑. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ