พระบรมราโชวาทฉะบับที่ ๒

ที่ ๒/๖๑๑๔

พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

วันที่ ๘ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๒๖ศก ๑๑๒

ถึง ลูกชายใหญ่ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ

ด้วยเมื่อวันที่ ๖ เดือนนี้ เวลากลางคืน เป็นเวลาที่เจ้ามีอายุเต็มเสมอเท่ากับพ่อเมื่อได้รับสมมติเป็นเจ้าแผ่นดิน นึกตั้งใจไว้ว่าจะเขียนหนังสืออำนวยพร และสั่งสอนตักเตือนเล็กน้อย ก็ฉะเพาะถูกเวลาลงไปปากลัดเสีย จึงเป็นแต่ได้บอกด้วยปากโดยย่อ บัดนี้พอที่จะหาเวลาเขียนหนังสือฉะบับนี้ได้ จึงได้รีบเขียน ขอเริ่มความว่า

คำซึ่งกล่าวว่า ได้รับสิริราชสมบัติ เป็นคำไพเราะจริงหนอ เพราะสมบัติย่อมเป็นที่ปรารถนาของบุคคลทั่วหน้า และย่อมจะคิดเห็นโดยง่าย ๆ ว่า ผู้ซึ่งได้เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ย่อมจะมีเกียรติยศยิ่งกว่าคนสามัญ ย่อมจะมีอำนาจอาจจะลงโทษแก่ผู้ซึ่งไม่พึงใจ อาจจะยกย่องเกื้อกูลแก่ผู้ซึ่งพึงใจ และเป็นผู้มีสมบัติมาก อาจจะใช้สอยเล่นหัวหรือให้ปันแก่ผู้ที่พึงใจได้ตามประสงค์ ผลแห่งเหตุที่ควรยินดีกล่าวโดยย่อเพียงเท่านี้ ยังมีข้ออื่นอีกเป็นหลายประการ จะกล่าวไม่รู้สิ้น

แต่ความจริงหาเป็นเช่นความคาดหมายของคนทั้งปวงดังนั้นไม่ เวลาซึ่งกล่าวมาแล้ว อันจะพูดตามคำไทยอย่างเลว ๆ ว่ามีบุญขึ้นนั้น ที่แท้จริงเป็นผู้มีกรรมและมีทุกข์ยิ่งขึ้น ดังตัวพ่อได้เป็นมาเอง อันจะเล่าโดยย่อให้ทราบต่อไปนี้

ในเวลานั้น อายุพ่อเพียง ๑๕ ปีกับ ๑๐ วัน ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนแต่โลเลเหลวไหล หรือไม่โลเลเหลวไหลก็มิได้ตั้งอยู่ในตำแหน่งราชการอันใดเป็นหลักฐาน ฝ่ายญาติข้างพ่อ คือเจ้านายทั้งปวง ก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา และต้องรักษาตัวรักษาชีวิตอยู่ด้วยกันทั่วทุกองค์ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการอันใดเสียก็มีโดยมาก ฝ่ายข้าราชการ ถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่สนิทสนมอยู่บ้าง ก็เป็นแต่ผู้น้อยโดยมาก ที่เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่มีกำลังสามารถอาจจะอุดหนุนอันใด ฝ่ายพี่น้องซึ่งร่วมบิดาหรือที่ร่วมทั้งมารดาก็เป็นเด็กมีอายุต่ำกว่าพ่อลงไป ไม่สามารถจะทำอะไรได้ทั้งสิ้น ส่วนตัวพ่อเอง ยังเป็นเด็กอายุเพียงเท่านั้น ไม่มีความสามารถรอบรู้ในราชการอันใดที่จะทำการตามหน้าที่ แม้แต่เพียงเสมอเท่าที่ทูลกระหม่อมทรงประพฤติมาแล้วได้ ยังซ้ำเจ็บเกือบจะถึงแก่ความตาย อันไม่มีผู้ใดสักคนเดียวซึ่งจะเชื่อว่าจะรอด ยังซ้ำถูกอันตรายอันใหญ่ คือทูลกระหม่อมเสด็จสวรรคตในขณะนั้น เปรียบเหมือนคนที่ศีรษะขาดแล้ว จับเอาแต่ร่างกายขึ้นตั้งไว้ในที่สมมติกษัตริย์ เหลือที่จะพรรณนาถึงความทุกข์อันต้องเป็นกำพร้าในอายุเพียงเท่านั้น และความหนักของมงกุฎอันเหลือที่คอจะทานไว้ได้ ทั้งมีศัตรูซึ่งมุ่งหมายอยู่โดยเปิดเผยรอบข้าง ทั้งภายในภายนอก หมายเอาทั้งในกรุงเองและต่างประเทศ ทั้งโรคภัยในกายเบียดเบียฬแสนสาหัส

เพราะฉะนั้น พ่อจึงถือว่าวันนั้นเป็นวันเคราะห์ร้ายอย่างยิ่ง อันตั้งแต่เกิดมาพึ่งได้มีแก่ตัว จึงสามารถที่จะกล่าวในหนังสือฉะบับก่อน ว่าเหมือนตะเกียงอันหริบหรี่ แต่เหตุใดจึงไม่ดับ เป็นข้อที่ควรจะถามหรือควรจะเล่าบอก การที่ไม่ดับไปได้นั้น

๑. คือเยียวยารักษาร่างกายด้วยยาบำบัดโรค และความอดกลั้นต่อปรารถนา คือไม่หาความสุขเพราะกินของที่มีรสอร่อยอันจะทำให้เกิดโรค อย่าง ๑

๒. ปฏิบัติอธิษฐานใจเป็นกลาง มิได้สำแดงอาการกิริยาโดยแกล้งทำอย่างเดียว ตั้งใจเป็นความแน่นอนมั่นคง เพื่อจะแผ่ความเมตตากรุณาต่อชนภายใน คือน้องและแม่เลี้ยงทั้งปวง ตามโอกาสที่จะทำได้ ให้เห็นความจริงใจว่ามิได้มุ่งร้ายหมายขวัญต่อผู้หนึ่งผู้ใด การอันใดที่เป็นข้อกระทบกระเทือนมาเก่าแก่เพียงใด มากหรือน้อย ย่อมสำแดงให้ปรากฏว่า ได้ละทิ้งเสียมิได้นึกถึงเลย คิดแต่จะมั่วสุมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยควรที่จะสงเคราะห์ได้อย่างใดก็สงเคราะห์ มีที่สุดถึงว่าอายุน้อยเพียงเท่านั้น ยังได้จูงน้องเด็ก ๆ ติดเป็นพรวนโตอยู่ทุกวัน แม่เจ้าคงจะจำได้ในการที่พ่อประพฤติอย่างใดในขณะนั้น

๓. ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ซึ่งท่านเชื่อเป็นแน่ว่าพ่อเป็นแต่จะเหว็ดครั้งหนึ่งคราวหนึ่งอย่างเรื่องจีน แต่ถึงดังนั้น พ่อได้แสดงความเคารพนับถืออ่อนน้อมต่อท่านอยู่เสมอ เหมือนอย่างเมื่อยังมิได้เลือกขึ้นเป็นสมมติกษัตริย์เช่นนั้น จนท่านก็มีความเมตตาปราณีขึ้นทุกวัน ๆ

๔. ส่วนข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งรู้อยู่ว่า มีความรักใคร่นับถือพ่อมาแต่เดิม ก็ได้แสดงความเชื่อถือรักใคร่ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน จนมีความหวังใจว่า ถ้ากระไรคงจะได้ดีสักมื้อหนึ่ง หรือถ้ากระไรก็จะ...เป็นอันตรายสักมื้อหนึ่ง

๕. ผู้ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นศัตรูป้องร้าย ก็มิได้ตั้งเวรตอบ คือเอา...ไปงัดไม้ซุง ย่อมเคารพนับถือและระมัดระวังมิให้เป็นเหตุว่า คิดจะประทุษร้ายตอบหรือโอนอ่อนยอมไปทุกอย่าง จนไม่รู้ว่าผิดว่าชอบ เพราะเหตุที่รู้อยู่ว่าเป็นศัตรู

๖. ข้าราชการซึ่งเป็นกลางคอยฟังว่าชนะไหนจะเล่นนั่นนั้นมีเป็นอันมาก แต่พ่อมิได้แสดงความรู้สึกให้ปรากฏเลย ย่อมประพฤติต่อด้วยอาการเสมอ แล้วแต่ความดีความชั่วของผู้นั้น แม้ถึงรู้อยู่ว่าเป็นศัตรู หรือเฉยๆ แต่เมื่อทำความดีแล้วต้องช่วยยกย่องให้ตามคุณความดี

๗. ผู้ซึ่งเป็นญาติพี่น้อง มิได้ยกย่องให้มียศศักดิ์เกินกว่าวาสนาความดีของตัวผู้นั้น ถ้าผู้นั้นทำผิด ต้องปล่อยให้ได้รับความผิด ผู้นั้นทำความดี ก็ได้รับความดีเท่ากับคนทั้งปวง มีแปลกอยู่แต่เพียงมารู้อยู่ในใจด้วยกันแต่เพียงว่าปราถนาจะให้ไปในทางดี เพื่อจะได้ยกย่องขึ้น เมื่อไปทางที่ผิดก็เป็นที่เสียใจ แต่ความเสียใจนั้นไม่มาหักล้างมิให้ยินยอมให้ผู้ผิดต้องรับความผิด

๘. ละเว้นจากความสุขสบาย คือกินและนอนเป็นต้น สักแต่ชั่วรักษาชีวิตไว้ พอดำรงวงศ์ตระกูลสืบไป พยายามหาคนที่จะใช้สอยอันควรจะเป็นที่วางใจได้ มีน้องเป็นต้น อันมีอายุเจริญขึ้นโดยลำดับ

๙. เมื่อมีผู้ที่ร่วมคิดในทางอันดีมากขึ้น จึงค่อยแผ่อำนาจออก โดยยึดเอาทางที่ถูก ต่อสู้ทางที่ผิด เมื่อชนะได้ครั้งหนึ่งสองครั้ง ความนิยมของคนซึ่งตั้งอยู่ในทางกลาง ย่อมรวนเรหันมาเห็นด้วยก่อน จึงเกิดความนิยมมากขึ้น ๆ จนถึงผู้ซึ่งเป็นศัตรูก็ต้องกลับเป็นมิตร เว้นไว้แต่ผู้ซึ่งมีความปรารถนากล้า อันจะถอยกลับมิได้เสียแล้วก็ต้องทำไป แต่ย่อมเห็นว่ากำลังอ่อนลงทุกเมื่อ ๆ

๑๐. พ่อไม่ปฏิเสธว่า ในเวลาหนุ่มคะนองเช่นนั้น จะมิได้ซุกซน อันเป็นเหตุให้พลาดไปหลายครั้ง แต่อาศัยเหตุโอบอ้อมที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น และความรู้เห็นในผู้ซึ่งควรจะไว้ใจได้ แก้ไขให้รอดจากความเสีย ถ้าไม่ได้ประพฤติใจดังเบื้องต้นแล้ว ไหนเลยจะรอดอยู่ได้ คงล่มเสียนานแล้ว การอันใดซึ่งเกิดเป็นการใหญ่ ๆ ขึ้น ดูก็ไม่น่าที่จะยกหยิบเอามากล่าวในที่นี้ เพราะจะทำให้หนังสือยาวเกินไป แต่พ่อยังเชื่อใจว่า ถึงเหตุเหล่านั้นเกิดขึ้นเพราะเป็นคนหนุ่ม ก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ จึงได้ตั้งตัวยืนยาวมาได้ถึง ๒๕ ปีนี้แล้ว

บัดนี้ลูกมีอายุเท่ากับพ่อในเวลาที่ได้มีความทุกขเวทนาแสนสาหัสเช่นนั้น จึงได้มีใจระลึกถึง ประสงค์จะแนะให้รู้เค้าเงื่อนแห่งความประพฤติอันได้ทดลองมาแล้ว ในชั่วอายุเดียวเท่านี้ แต่จะถือเอาเป็นอย่างเดียวกันเหมือนตีพิมพ์ย่อมไม่ได้อยู่เอง เพราะบริษัทและบุคคลกับทั้งเหตุการณ์ภูมิพื้นบ้านเมืองผิดเวลากัน ในเวลานี้เป็นการสะดวกดี ง่ายกว่าแต่ก่อนมากยิ่งนัก ตัวชายใหญ่เอง ก็ตั้งอยู่ในที่ผิดกันกับพ่อ ถ้าประพฤติตัวให้ดีจะดีได้เร็วกว่าง่ายกว่าเป็นอันมากในการภายใน แต่การภายนอกย่อมหนักแน่นขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงจะเป็นการจำเป็นที่จะทำช้าอย่างเช่นพ่อเคยทำมาไม่ได้ การสมัครสมานภายในต้องเรียบร้อยโดยเร็วไว้รับภายนอกให้ทันแก่เวลา จึงขอเตือนว่า

๑. ให้โอบอ้อมอารีต่อญาติและมิตรอันสนิท มีน้องเป็นต้น เอาไว้เป็นกำลังให้จงได้

๒. อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ไม่ว่าเจ้านายหรือขุนนาง ฟังคำแนะนำตักเตือนในที่ควรฟัง

๓. อย่าถือว่าเกิดมามีบุญ ต้องถือว่าตัวเกิดมามีกรรมสำหรับจะเทียมแอกเทียมไถ ทำการที่หนัก การซึ่งจะมีวาสนาขึ้นต่อไปนั้น เป็นความทุกข์ มิใช่ความสุข

๔. การที่เป็นเจ้าแผ่นดินไม่ใช่สำหรับมั่งมี ไม่ใช่สำหรับคุมเหงคนเล่นตามชอบใจ มิใช่เกลียดไว้แล้ว จะได้แก้เผ็ด มิใช่เป็นผู้สำหรับจะกินสบายนอนสบาย ถ้าจะปรารถนาเช่นนั้นแล้วมีสองทาง คือบวชทางหนึ่ง เป็นเศรษฐีทางหนึ่ง เป็นเจ้าแผ่นดินสำหรับแต่เป็นคนจน และเป็นคนที่อดกลั้นต่อสุขและทุกข์ อดกลั้นต่อความรักและความชังอันจะเกิดฉิวขึ้นมาในใจ หรือมีผู้ยุยง เป็นผู้ปราศจากความเกียจคร้าน ผลที่จะได้นั้นมีแต่ชื่อเสียงปรากฎเมื่อเวลาตายแล้ว ว่าเป็นผู้รักษาวงศ์ตระกูลไว้ได้ และเป็นผู้ป้องกันความทุกข์ของราษฎรซึ่งอยู่ในอำนาจความปกครอง ต้องหมายใจในความสองข้อนี้เป็นหลักมากกว่าคิดถึงการเรื่องอื่น ถ้าผู้ซึ่งมิได้ทำใจได้เช่นนี้ ก็ไม่แลเห็นเลยว่าจะปกครองรักษาแผ่นดินอยู่ได้

เมื่อลงปลายหนังสือฉะบับนี้ ต้องขออำนวยพรเจ้า ซึ่งยังมิต้องรับการหนักอย่างเช่นพ่อต้องรับมา ในเมื่ออายุเพียงนี้ ยังมีพร้อมอยู่ทั้งบิดามารดาคณาญาติ ซึ่งจะช่วยอุปถัมภ์บำรุงให้สติปัญญาความคิดแก่กล้าขึ้น จนถึงเวลาที่ควรจะรับแล้วและได้รับโดยความสะดวกใจ ดีกว่าที่พ่อได้เป็นมาแล้ว ขอให้หมั่นศึกษาและทำในใจในข้อความที่ได้กล่าวตักเตือนมานี้ ละความเกียจคร้าน ตั้งใจพยายามทำทางไว้ให้จงดีทุกเมื่อ ถ้าสงสัยอันใดข้อใดไม่เข้าใจให้ถามจะอธิบายให้ฟัง ให้อ่านหนังสือนี้จำได้ทุกข้อ อย่าให้เป็นแต่เหมือนอ่านหนังสือพิมพ์เล่น

(พระบรมนามาภิไธย) สยามินทร์

  1. ๑. ตรงที่ซึ่งจุดไว้นั้น ต้นฉะบับขาดหายไปหน่อยหนึ่ง ๆ ทั้งสองแห่ง

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ