๑ ประเพณีนำริ้วตรวจทางเสด็จพระราชดำเนิร

มีพระราชกำหนดและบทพระอัยยการสำหรับประเทศกรุงสยามแต่ครั้งกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา ที่ทุกวันนี้เรียกว่ากรุงเก่านั้นสืบๆ มา เป็นอย่างธรรมเนียมอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จพระราชดำเนิรทางสถลมารค ก็มีม้านำริ้วตรวจทางไปก่อน มีกระสุนมีธนูมีหอกซัดเสียบไปบนหลังม้า แล้วถึงกระบวนองครักษ์ถือหวายถือหอกขัดกระบี่เป็นลำดับๆ จนถึงพระราชยาน ถ้าเสด็จพระราชดำเนิรทางชลมารคเล่า ในเรือประตูหน้าประตูหลัง ในเรือดั้งในเรือกันยาทุกๆ ลำ และหน้าและท้ายเรือพระที่นั่งก็มีกระสุนมีปืนมีไม้ศีร์ษะตายไป ถ้ามีเรือตัดหน้าเรือพระที่นั่งหรือแข่งเรือขึ้นมา ก็ต้องลงอาญาตามกฎหมาย ถ้าราษฎรเดิรยืนเยี่ยมหน้าต่าง เยี่ยมประตูที่ใกล้ทางเสด็จพระราชดำเนิร ม้านำริ้วและเจ้าพนักงานในเรือประตูหน้าประตูหลังในเรือดั้งในเรือพระที่นั่งก็เอากระสุนยิง ครั้นกาลล่วงมานานเมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชดำเนิรไปพระราชทานพระกฐิน ณวัดหนังณวัดนางนอง แล้วเสด็จพระราชดำเนิรกลับมาในกลางทาง ทรงได้ยินเสียงผู้หญิงร้องทุกข์ถวายความว่า เจ้าพนักงานในเรือดั้งเอากระสุนยิงถูกดวงจักษุแตก ครั้นได้ทรงสดับแล้วทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้รอเรือพระที่นั่งแล้วดำรัสสั่งให้หลวงทิพเนตร เจ้ากรมหมอสำหรับรักษาจักษุโรค ซึ่งลงประจำอยู่ในเรือพระที่นั่งไปดูรักษา หลวงทิพเนตรจึงกลับมากราบทูลพระกรุณาว่า กระสุนยิงถูกดวงจักษุแตกเสียแล้ว จึงพระราชทานเงินตราผ้านุ่งผ้าห่ม ทำขวัญให้แก่หญิงผู้เสียจักษุนั้นแล้ว จึงโปรดให้มีพระราชบัญญัติห้ามว่าแต่นั้นสืบไปเมื่อหน้า อย่าให้เจ้าพนักงานในเรือประตูหน้าประตูหลัง ในเรือดั้งในเรือพระที่นั่งเอากระสุนยิงเอาราษฎรต่อไป เป็นแต่ให้เงือดเงื้อพอให้รู้กลัว เพราะฉะนั้นเจ้าพนักงานต้องเอากระสุนเตรียมไปตามธรรมเนียม แล้วห้ามคนที่ไม่เคารพเรียบร้อยแต่ด้วยโบกมือห้ามบ้างเงื้อกระสุนบ้าง

คัดจากประกาศยกเลิกการยิงกระสุน และอนุญาตให้ราษฎรเฝ้าได้ในทางเสด็จพระราชดำเนิร ลงวันอาทิตย์เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะเส็งนพศก (พ.ศ. ๒๔๐๐)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ