ว่าด้วยนามวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐ และวัดราชบูรณะ

พระอารามซึ่งทรงบริจาคพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่แล้วทรงสถาปนาสร้างขึ้นในทิศตะวันออกพระบรมมหาราชวัง พระราชทานนามไว้ว่าวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม ตามธรรมเนียมโบราณซึ่งเคยมีมาในเมืองใหญ่ๆ ที่ตั้งเป็นกรุงเทพมหานคร อย่างเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิษณุโลก แลกรุงเก่า คือมีวัดมหาธาตุ และวัดราชประดิษฐาน และวัดราชบุรณะ เป็นของสำหรับเมืองทุกเมือง และนามชื่อว่าวัดราชประดิษฐในครั้งนี้ แต่เดิมเริ่มแรกสร้างก็ได้โปรดให้เขียนในแผ่นกระดานปักไว้เป็นสำคัญ ภายหลังโปรดให้จารึกชื่อนั้นลงในเสาศิลาติดตามกำแพงนั้นก็มี แต่บัดนี้มีผู้เรียกและเขียนลงในหนังสือตามดำริของตนเองว่า วัดราชบัณฑิตบ้าง วัดทรงประดิษฐบ้าง เปลี่ยนแปลงไปไม่ถูกต้องตามชื่อที่พระราชทานไว้แต่เดิม ทำให้เป็นสองอย่างสามอย่างเหมือนขนานชื่อขึ้นใหม่ เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้สืบต่อไป ห้ามอย่าให้ใครเรียกร้องและกราบบังคมทูลพระกรุณา และเขียนลงในหนังสือบัตรหมายในราชการต่างๆ ให้ผิดๆ ไปจากชื่อที่พระราชทานไว้นั้นเป็นอันขาด ให้ใช้ว่าวัดราชประดิษฐ หรือว่าให้สิ้นชื่อ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ให้ยั่งยืนคงอยู่ดังนี้

ในแผ่นดินไทยแต่โบราณ เมืองไหนเป็นเมืองหลวงในเวลาใดเวลาหนึ่ง เมืองนั้นมักมีวัดสำคัญ ๓ วัด ชื่อต้นคือวัดมหาธาตุ ๑ วัดราชบุรณะ ๑ วัดราชประดิษฐ ๑ ชื่อ ๓ ชื่อนี้กรุงเก่าก็มี พิษณุโลกก็มี สุโขทัยก็มี สวรรคโลกก็มี แต่ในกรุงเทพบางกอกนี้ ครั้นถึงแผ่นดินที่ ๑ สร้างกำแพงลงแล้วก็ทรงสร้างพระอารามหลวง เป็นแต่แปลงชื่อเก่าที่มีชื่อมาแล้ว คือวัดสลักที่อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังข้างเหนือนั้น ที่เดิมก็น้อยสร้างต่อออกมาเป็นที่ใหญ่ แล้วขนานนามว่าวัดนิพพานาราม แล้วโปรดให้แปลงเป็น วัดศรีสรรเพ็ชญ์ แล้วภายหลังทรงพระราชดำริว่า ในกรุงเทพบางกอกนี้วัดมหาธาตุยังไม่มี ก็วัดมหาธาตุเป็นที่อยู่สมเด็จพระสังฆราช ๆ อยู่ในวัดสลักซึ่งแปลงมาเป็นวัดนิพพานาราม แล้วแปลงมาเป็นวัดศรีสรรเพ็ชญ์นั้น ควรให้แปลงเป็นวัดมหาธาตุ ตามตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เพราะฉะนั้นวัดนั้นจึงเรียกวัดมหาธาตุจนทุกวันนี้ คนเฒ่าคนแก่ยังหลงเรียกว่าศรีสรรเพ็ชญ์อยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้น้อยแล้ว ชื่อวัดนิพพานารามก็ดีไม่มีใครเรียกเลย เดี๋ยวนี้จะหาแต่ผู้รู้ก็ไม่มี ที่ท้ายพระบรมมหาราชวังข้างใต้ มีวัดเดิมเป็นวัดใหญ่ชื่อวัดโพธาราม ชาวบ้านชาวเมืองแต่โบราณมาเรียกวัดโพธิ์ แผ่นดินที่ ๑ได้สร้างลงพระราชทานนามว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ชื่อพระราชทานมีผู้เรียกอยู่แต่ในพระราชวังแลคำเพ็ททูลบัตรหมาย นอกนั้นแล้ววัดนั้นเป็นวัดเคราะห์ร้ายยังเรียกว่าวัดโพธิ์อยู่ทั้งแผ่นดิน ควรเห็นว่าชื่อพระราชทานเป็นชื่อตั้งใหม่ปิดไม่แน่น จะคิดแปลงใหม่เห็นไม่ชนะ

ยังอีกวัดเลียบ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่แลหอไตรลง ในหลวงจึงพระราชทานนามว่าวัดราชบุรณะ เพื่อจะให้เป็นคู่กันกับวัดมหาธาตุ ก็เป็นวัดเคราะห์ร้ายเหมือนกัน คนเรียกวัดเลียบอยู่นั่นเองทั้งบ้านทั้งเมือง เพราะเป็นคู่กับวัดโพธิ์ เหมือนบ้านเลียบ บ้านแพ บ้านโพ บ้านหว้า แขวงกรุงเก่า คล่องปากนักยักไม่ได้ อย่าว่าแต่คนอื่นเลยถานานุกรมลางองค์ในวัดนั้นเอง ไม่รู้จักชื่อว่าวัดราชบุรณะก็มี

ได้ยินความตามลัทธิเก่าข้างเมืองเหนือเล่าสืบมาว่า วัดมหาธาตุมีทุกเมืองนั้น เพราะเป็นพระเจดียสถานของพระเจ้าอโศกมหาราช ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกราชแผ่ศาสนาทุกบ้านทุกเมืองแต่เดิมที ครั้นสาสนาตั้งแล้วพระเจ้าแผ่นดินและราษฎรในเมืองนั้นๆ คิดจะให้มีวัดเป็นที่อยู่พระสงฆ์ขึ้นอีก ๑ วัด พระเจ้าแผ่นดินจึงสร้างวัดหนึ่งขึ้นด้วยพระราชทรัพย์หลวง ราษฎรเรี่ยรายกันสร้างวัดหนึ่งขึ้น ด้วยทุนเป็นของเรี่ยรายจึงให้ชื่อวัดราชบุรณะ แปลว่าราษฎรทำให้เต็ม ก็ฝ่ายวัดที่พระเจ้าแผ่นดินสร้างจึงขนานนามว่า วัดราชประดิษฐาน แปลว่าวัดในหลวงสร้างด้วยทุนหลวงอย่างเดียว แต่วัดมหาธาตุเป็นที่ตั้งพระบรมธาตุ ซึ่งพระเจ้าอโศกราชแจกมาแต่เดิมจึงเรียกวัดมหาธาตุ คำโบราณเล่ามาอย่างนี้

ก็เมืองใหญ่ๆ มีวัดมหาธาตุ วัดราชประดิษฐาน วัดราชบุรณะ ทุกเมือง แต่ในกรุงบางกอกนี้ยังไม่มี จึงทรงสร้างขึ้นที่ทิศตวันออกพระบรมมหาราชวัง แล้วทรงพระราชทานนามว่าวัดราชประดิษฐ ก็คือวัดราชประดิษฐานนั้นเอง แต่ลดฐานออกเสีย เพราะกลัวคนจะเรียกว่าวัดราดติดฐานเหมือนที่กรุงเก่าไป วัดนี้ภูมิวัดเล็กใหญ่ก็เท่าๆ กันกับวัดราชประดิษฐานที่กรุงเก่า แต่เดี๋ยวนี้คนมาเรียกวัดราชบัณฑิต เรียกอย่างนี้ผิดพวกราชบัณฑิตไม่ได้เข้าทุนด้วย ถ้าใครขืนเรียกขืนเขียนอย่างนั้นจะปรับ ๒ ตำลึง

คัดจากประกาศวันจันทร์ เดือน ๙ ขึ้นค่ำ ๑ ปีมะโรง สัมฤทธิศก (พ.ศ. ๒๔๑๑)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ