ตำรานารายน์ประทมสินธุ์ ว่าด้วยลักษณะช้าง

[๑]๏ จะกล่าวลักษณช้างในสวรรค์มีอยู่ ๓ คือเทพบุตรเปนช้างแห่งสมเด็จอมรินทราธิราช ชื่อเอราวรรณมีเศียร ๓๓ เศียร

๏ ช้างหนึ่งชื่อศิริเมขล์ไตรดายุคมีเศียร ๓ เศียร สมบูรณด้วยลักษณสีดังดอกคล้า

๏ ช้างหนึ่งคือเทพยุดาเจ้านฤมิตร ชื่อสมิทกุญชรมีเศียรๆ ๑ รูปพรรณดังพระยาฉัททันต์ สำหรับเปนพาหนะแห่งพระอินทรเมื่อทรงไปสู้สงคราม

๏ ช้างหนึ่งเทพยุดา ๒๖ องค์ ชื่อมาตังคกะรีเทพ คือเทพยุดาเจ้าทั้งหลายมาสถิตยในกายแห่งช้าง รักษาไว้ซึ่งช้างทั้งปวงในโลกย์นี้

๏ ไตรดายุคอันหนึ่งพระนารายน์สถิตย์ณกระเษียรสมุทกระทำด้วยเทวฤทธิ์ ประดิษฐานให้ดอกบัวประทุมชาติ์ผุดขึ้นในอุทร มีกลีบได้ ๘ กลีบ มีเกสรได้ ๑๗๓ เกสร จึงเสด็จไปสู่พระอิศวรถวายซึ่งดอกประทุมชาติ์ ณ เขาไกรลาศ ในการเมื่อพระเปนเจ้า ๓ ภพพร้อมอันที่นั้น พระอิศวรเปนเจ้าจึงแบ่งดอกบัวประทุมชาติ์นั้นออกเปน ๔ ส่วน ๆ ๑ แปดเกสร ได้แก่พระอิศวรเปนเจ้า ส่วนหนึ่งกลีบ ๘ กลีบ เกสร ๒๔ เกสร ได้แก่ ท้าวมหาพรหม ส่วนหนึ่งเกสร ๘ เกสร ได้แก่พระนารายน์ ส่วนหนึ่งเกสร ๑๓๕ เกสร ได้แก่พระเพลิง จึงให้บังเกิดช้าง ๔ ตระกูลคือ อิศวรพงษ์ พรหมพงษ์ วิศณุพงษ์ อัคนิพงษ์ มีลักษณดังนี้

๏ ช้างจำพวกหนึ่ง พระอิศวรเปนเจ้าให้บังเกิดชาติ์กระษัตริย์ ชื่อว่าอิศวรพงษ์สมบูรณ์ด้วยลักษณ เนื้อดำสนิทผิวเนื้อเลอียดเกลี้ยง งาทั้ง ๒ ใหญ่ขึ้นเสมอกัน เท้าใหญ่ น้ำเต้ากลม โขมดสูง งวงเรียวเปนต้นปลาย ปากดุจพวยสังข์ คอกลม เมื่อเดิรนั้นยกคอ หลังเปนคันธนู ท้ายเปนสุกร ผนฎท้องตามวงหลัง อกใหญ่ หน้าสูงกว่าท้าย เท้าหน้าทั้ง ๒ อ่อน เท้าหน้าหลังเรียวรัดฝักบัวกลม หางเปนข้อห่วง สนับงาเปน ๒ ชั้น ขนับเสมอมิได้พร่อง หูใหญ่ช่อม่วงยาวข้างขวามีใบหูอ่อนนุ่มมีขนมากกว่าข้างซ้าย หน้าใหญ่ สรรพงามพร้อมต้องด้วยลักษณ

๏ ช้างจำพวกหนึ่งพระพรหมให้บังเกิดเปนชาติ์พราหมณ์ ชื่อว่า พรหมพงษ์สมบูรณเนื้ออ่อนขนอ่อนเลอียดน้ำเต้าแฝด ขนงคิ้วสูงโขมดสูง มีกระขาวทั่วตัวดังดอกกรรณิกา ท้ายต่ำกว่าหน้า ขนหลัง ขนหู ขนปาก ขนตา ยาว ขนขึ้นขุมละ ๒ เส้น อกใหญ่ งาดุจสีจำปา งวงเรียวรัดเปนต้น ปลายสั้นงาม ต้องด้วยลักษณ

๏ ช้างจำพวกหนึ่งพระนารายน์ให้บังเกิดเปนชาติ์แพสย์ ชื่อว่า วิศณุพงษ์ สมบูรณผิวเนื้อหนาขนเกรียน อก ข้าง คอ เท้าทั้ง ๔ใหญ่ หาง งวง หน้า ใหญ่ยาว มีกระหูแดงเสมอกัน ลูกจักษุขุ่น ขนใหญ่ หลัง ราบ ต้องด้วยลักษณ

๏ ช้างจำพวกหนึ่งพระเพลิงให้บังเกิดเปนชาติ์สูท ชื่อว่าอัคนิพงษ์สมบูรณผิวเนื้อกระด้างขนหยาบ ตะเกียบหูห่างหางเขิน หน้าเปนกระแดงดังแววนกยูง งาแดงสันหลังแดงหน้างวงแดง ผิวเนื้อหม่นไม่ดำสนิท จักษุดังสีนํ้าผึ้งต้องด้วยลักษณ

๏ หนึ่งพระอิศวรเปนเจ้า สาปนางมหาอุปกาสีให้ลงมาอยู่ในถ้ำ ชื่อว่าเทวีสินทรบรรพต นางจึงไปกินเถาคชลดาวัลย์ พระพรหมจึงให้บังเกิดลูกนางอุปกาสีเปนช้างในหิมวันต์เปนช้าง ๑๐ ชาติ์

๏ ช้างหนึ่งชื่อฉัททันต์ สมบูรณสีขาวดังสีเงิน งาขาวดังเงินยวง มีรัศมี ๖ ประการ งวงแดงหางแดงเล็บแดง สันหลังแดงประดุจดังบัลลังก์ ศิลาอันแดง มีกำลังมากเดิรในจักรวาฬได้ ๓ ล้าน ๖ แสนหมื่น ๓ ร้อย ๕๐ โยชน์ แต่เช้าไม่ถึงงาย

๏ ช้างหนึ่งชื่ออุโบสถ สมบูรณสีดังสีทองอุไร แล้วเดิรรอบจักรวาฬเดิรแต่เช้าจนเที่ยงกำลังหย่อนกว่าฉัททันต์

๏ ช้างหนึ่งชื่อเหมหัษดี มีสีดังทอง

๑ ช้างหนึ่งชื่อว่ามงคลหัษดี สีดังกฤษณา แลถ่ายมูตร มูลตัวหอมดังกฤษณา

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบิงคัล สีดังอุไทยแลเหลืองดังตาแมว

๏ ช้างหนึ่งชื่อตามพหัษดี สีดังทองอันบุคคลหล่อนํ้าใหม่ รูปพรรณสูงใหญ่ยิ่งกว่าช้างทั้งปวง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบัณฑร สีดังเขาไกรลาศ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคังไคย เกิดริมฝั่งแม่นํ้าคงคา สีดังน้ำไหล

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากาลวกหัษดี สีดำดังปีกกา

๏ ช้างหนึ่งเกิดแต่เหมหัษดี เล็บ ดักษุ ดุจสีกาย

๏ จะกล่าวช้างอัฐทิศ อันพระพรหมสฤษดิ์รังสรรค์ ให้มาเกิดเปนช้าง ๘ จำพวกด้วยกลีบประทุมชาติ์ อันเกิดแต่อุทรประเทศพระนารายน์

๏ กลีบหนึ่งทิ้งออกไปข้างทิศบูรพา เกิดเปนช้างชื่อไอยราพต สมบูรณด้วยลักษณ ๑๕ ประการ สีกายดุจสีเมฆเมื่อคลุ้มฝน เท้าทั้ง ๔ เท้ากลมดังกงฉัตร เล็บเสมอ หน้าสูงท้ายต่ำอย่างสิงห์ ตัวใหญ่กว่าช้างทั้งปวง ตาใหญ่ดังดาวประกายพฤกษ งายาวขึ้นขวางวงดังภุชงค์นาค หลังราบดังคันธนูปลายหูปรบหน้า หลัง ถึงกัน โขมดทั้ง ๒ สูง เสียงดุจเสียงสังข์ หาง บังคลองต้องด้วยลักษณ ๑๕ ประการ

๏ กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอาคเณ บังเกิดเปนช้างชื่อบุณฑริกมีลักษณ ๕ ประการ สีกายดังดอกบัวขาว งาใหญ่สั้นสีดังสังข์ เล็บงามคือทอง ท้องมัวดังฝนคร่ำ กลิ่นหอมดังดอกสัตบงกช พร้อมด้วยลักษณ

๏ กลีบหนึ่งไปประดิษฐานอยู่ทิศทักษิณ บังเกิดเปนช้างชื่อพราหมณโลหิต มีลักษณ ๕ ประการ สีกายดังสีโลหิต งาใหญ่คอกลม เสียงดุจเสียงแตรแตร้น พร้อมด้วยลักษณ

๏ กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศหรดี ให้บังเกิดเปนช้างชื่อกระมุท มีลักษณ ๕ ประการ สีดังดอกกระมุท ตัวสูงโสตรยาวกลมหูอ่อน เสียงดุจเสียงแตรงอน งางอนขึ้นขวาดังพระจันทร์ เมื่อขึ้น ๓ ค่ำ พร้อมด้วยลักษณ

๏ กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศประจิม ให้บังเกิดเปนช้างชื่ออัญชัน มีลักษณ ๕ ประการ สัดังอัญชันงาใหญ่ตรง คอใหญ่เสียงดังลมพัดในปล้องไม้ไผ่ พร้อมด้วยลักษณ ๕ ประการ

๏ กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศพายัพ บังเกิดเปนช้างชื่อบุษปทันต์ มีลักษณ ๗ ประการ สีดังหมากสุกผิวเนื้อเลอียด มีกระหน้าตัวใหญ่งามงาน้อยขึ้นขวา เสียงดังเสียงเมฆ พร้อมด้วยลักษณ

๏ กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอุดร บังเกิดเปนช้างชื่อเสาวโภม มีลักษณ ๕ ประการ สีดังตองแก่ สูงสัณฐานดังใส่เสื้อ เท้าทั้ง ๔ ดังตองอ่อน ตัวกลมหน้าใหญ่งาน้อยยาว เสียงดังเสียงนกกเรียนพร้อมด้วยลักษณ

๏ กลีบหนึ่งทิ้งไปข้างทิศอิสาณบังเกิดเปนช้างสุปรดิษฐ์ มีลักษณ ๙ ประการ สีเนื้อดังสีเมฆเมื่อสนธยา ผนฎท้องดังผนฎท้องงู งาซื่อสีขาวบริสุทธิ์ดังผ้าขาวที่เนื้ออ่อนดังสีบัวแดง ขนปากยาว อัณฑโกษอ่อน เต้ามันอ่อน ร้องเสียงดังเสียงฟ้า พร้อมด้วยลักษณ ๙ ประการ

๏ จะกล่าวอัฐคช ๘ ช้าง ซึ่งพระนารายน์เปนเจ้าให้บังเกิดเปนช้างด้วยเกสร

๏ ช้างหนึ่งชื่อสังขทันต์ มีลักษณ ๔ ประการ สีดังสีทอง งา น้อยงอนเสมอ เวลาเช้าเสียงดังเสียงเสือ เสียงดังเสียงไก่เมื่อเวลาสายัณห ยืนอยู่กลางทิศมีลักษณ ๔ ประการ

๏ ช้างหนึ่งชื่อตามพหัษดินทร์ สีกายดุจทองแดงอันหม่น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าชมลบ หูปรบเบื้องหน้าพอจรดกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าลบชม หูปรบเบื้องหลังถึงกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าครบกระจอก มีเล็บเท้าละ ๕ เล็บ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพลุกสดำ งางอนขึ้นขวา

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสังขทันต์ งาขาวดังสีสังข์ สีกายดำบริสุทธิ์ ไม่มีขาวระคน

๏ ช้างหนึ่งชื่อโคบุตร มีพรรณผิวเหลืองดังหนังโค เปนบุตรนางโค เสียงดุจเสียงโค ขนหางขึ้นรอบดุจหางโค งางอนน้อย คุ้มโทษอันตรายทั้งปวงได้

๏ จะกล่าวอัฐคชาธาร อันพระอิศวรเปนเจ้าให้บังเกิดด้วยเกสร ประทุมชาติ์ทั้ง ๘ ช้าง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าอ้อมจักรวาฬ งาซ้ายเสมอหน้างวง งาขวากอดงวงทับบนงาซ้ายหนิดหนึ่ง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคชกรรณหัษดี งาขวาโอบงวงบน งาซ้ายอ้อมขึ้นไพรปาก งาซ้ายโอบงวงไปใต้งาขวา ปลายงาขึ้นไพรปากเสมอกัน ชนช้างดีมีอานุภาพมาก

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเอกทันต์ งางอกแต่เพดาน งางอนขึ้นขวา ยกงวงช้างขวางงาอยู่ซ้าย ยกงวงไปซ้ายงาอยู่ขวา มีกำลังมาก พันช้างจึงจะสู้เอกทันต์ตัวเดียวได้ แทงเงาตาย เปนพาหนะแห่งพระอินทร์ เทพคชนาคไปรักษาไว้ป่าพ้นคนเห็น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากาฬทันต์หัษดี มีกาย งา เล็บ ตา ดำทั่วสารพางค์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าจัตุศก โขมดสูงงาทั้ง ๒ ช้าง แต่ละข้างนั้น ต้นกลมกล่อมดีปลายเปน ๒ งาทั้งซ้าย ขวา เปน ๔ งา

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าโรมทันต์ ต้นงาขวาทับต้นงาซ้าย มีกำลังมาก ถ้าพระยาองค์ใดได้ขี่ปราบศัตรู ๆ แลเห็นก็พ่ายแพ้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสิงหชงฆ์ เท้าหลังดำดุจสิงหราช

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าจุมปราสาท ปลายงามีรัศมีอันแดง

๏ จะกล่าวช้าง ๕๑ จำพวก อันพระเพลิงให้บังเกิดด้วยเกสรประทุมชาติ์ ชื่อว่าอัคนิพงษ์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าประพัทจักรวาฬ เมื่อเดิรเชิดงวงเหนือกระพองศีศะ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารัตกัมพล งาขวาทับงาซ้ายเสียดสีกันมีคุณเปนอันมาก แม้นคล้องช้างโทษได้พันหนึ่ง คล้องช้างรัตกัมพลได้ตัวหนึ่งคุ้มโทษได้ แม้นจะประสมโขลงก็หาโทษมิได้เลย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสวตรพระพร สีกายขาวดังสีสังข์ ขน ตา เล็บ หาง ขาว

๏ ช้างหนึ่งชื่อประทุมหัษดี สีดุจดอกบัวโรย ขน หาง เล็บ สีดังดอกบัวโรย ตาขาวบริสุทธิ์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสวตรตาคชราช สีกายดังยอดตองตากแห้ง ขน เล็บ หาง เปนสียอดตองตากแห้ง ตาขาวบริสุทธิ์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าประทุมทันต์ ตัว เท้า งวง หางสั้น งา งอกออกจากไพรปาก ๒ นิ้ว ยกงวงขึ้นเห็นงา ๆ รูปจาวมะพร้าว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าประทุมทนต์ กายสั้น เท้า งวง หางสั้น งางอกจากไพร ๕ นิ้วรูปไข่ไก่

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าประทุมทันต์มณีจักร กายสั้น เท้า งวง หางสั้น งางอกจากไพรปาก ๕ นิ้ว รูปดังปลีกล้วย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านพสุบัณ งา งวง หาง อัณฑโกษ จรดถึงดิน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบิตหัษดินทร์ สีกายเหลืองอ่อนเลื่อม งาขาวดังสีสังข์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพิฆเนศวรมหาพินาย งางอกแต่เบื้องซ้ายข้างเดียว งาข้างขวาบอด ตาขาวเล็บขาว ชนช้างย่อมมีไชยชนะ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเทพามหาพิเนทมหาไพรฑูริย์ ตา เล็บ ขาว มีงาแต่เบื้องขวาเบื้องซ้ายบอด แม้นบุคคลผู้ใดคล้องได้ก็ดี ให้พึงนับหัวช้างได้ร้อยหนึ่ง เลี้ยงไว้ณบ้านเมืองใดก็ดี เปนมงคลที่แห่งนั้น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านิลทันต์ งาทั้ง ๒ ดำ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านิลจิกษุ ตาดำ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านิลนัข เล็บดำ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเหมทันต์ งาเหลือง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเหมจักษุ ตาเหลือง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเหมนัข เล็บเหลือง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารัตจักษุ ตาแดง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ามณีรัตนนัข เล็บขาวใสดังแก้ว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารัตนัข เล็บแดง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสวตรทันต์ งาขาวบริสุทธิ์หาไรงามิได้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสวตรจักษุ ตาขาว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสวตรนขา เล็บขาวหาเสี้ยนโตนดมิได้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเทพคิรี สีเขียวอ่อนดังผลหว้าดิบ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าจันทคิรี สีขาวดังเท่า

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านิลานิโรช สีดังดอกสามหาว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสาวโรฐ สีกายแดงดังปากนกแขกเต้า สีปากแดงงอนดังปากนกแขกเต้า

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคชดำพงษ์ถนิม ๔ เท้า ปลายหาง ศีศะตลอดปลายงวง สีดังดอกแจง ตัวดำดังใส่เสื้อ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสมพงษ์ถนิม ตาขาว เล็บขาว ขนขาว หางขาว กายขาว มีกระทั่วตัว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากุมประสาท โขมดสูงงาม

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าจัตุรกุมภ เท้าทั้ง ๔ กลมงาม

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าขลุมประเจียด ใบหูขอบสนิทขนหูอ่อนดุจดอกหญ้าเลอียด

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพาลจักรี ปลายงางอนพร้อมกัน ปลายนั้นจรดกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ามุขสโรช เสียงดังเพียงเสียงแตร

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเมฆครรชิต เสียงดังฟ้าร้อง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าโกญจศัพท์ เสียงดังนกกระเรียน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสรสังข์ เสียงดังเสียงสังข์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าศัพทเภรี มีเสียงดังเสียงกลอง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าภัทร สูง ๗ ศอก โอบรอบ ๑๐ ศอก โดยยาว ๙ ศอก งาเหลืองดังน้ำผึ้ง หลังดังคันธนู หน้าสูงเท้ากลมดังฝักปัวกลม เล็บเกรียนดุจช้างเถื่อน บิดาเปนกระต่าย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ามิค ตัวแดงดังชาด สูง ๖ ศอก ตัวยาว ๘ ศอก ใหญ่ ๙ ศอก งาแดงดังชาด นํ้ามันตกสีเขียว ขนตาดังตาราชสีห์ ราวคอราบ ท้องใหญ่ขนตายาว บิดาเปนเนื้อ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสังคิน สูง ๕ ศอก ยาว ๗ ศอก ใหญ่ ๘ ศอก คางสั้น หางเขิน หูตาใหญ่ สีงาเหลืองดังทอง น้ำมันตกดังเขม่า สีกายดุจหมอกกลุ้ม บิดาเปนนาค

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากุญชเรศ บิดาเปนวานร ท้ายใหญ่

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าครอบจักรวาฬ เมื่อยืนอยู่เห็นเล็บ ๕ เล็บ ครั้นยกเท้าเห็นเล็บรอบทั้ง ๔ เท้า มีอยู่ในพระนครใด พระนครนั้นเปนมงคลยิ่งนัก

๏ จะกล่าวโดยลักษณช้างชาติ์อำนวยพงษ์ เปนบุตรแห่งอัฐทิศไอยราพต มีภิริยาชื่อว่าอพมุ สีกายดังสีหมอก เกิดอำนวย

๏ บุณฑริก มีภิริยาชื่อว่าพังลิงคณะ สีกายเขียวเหลืองเจือกัน มีอำนวยหนึ่ง ผิวหนังเลอียด เล็บขาวสีดังหวายตะค้า กายแดงงาสั้น

๏ พราหมณโลหิต มีภิริยาชื่อว่าพังกนิลา สีเหลือง มีอำนวย ๒

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่านิลก กายยาวใหญ่กลม สีกายดุจดอกสามหาวโรย

๏ อำนวยหนึ่งนามบิศลัก ตัวดำกลมผิวหนังดังโลหิต

๏ กระมุท มีภิริยาชื่อว่าอนูปักรมา สีกายแดงอ่อน สีเนื้อเลอียด มีอำนวย ๕ ช้าง

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่ามหาปัท สีดังดอกสัตบุษบาน

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่าอุบลมาลี สีดังก้านสัตบุษ

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่าจบตระ สีสำลาน

๏ อำนวยหนึ่ง นามไม่ปรากฏ เปนกระดำเหมือนช้างปรกติ แต่กระทั่วกายงาม

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่านิลชา กายดำ งาขาว ตาขาว เล็บขาว

๏ อัญชัน มีภิริยาชื่อว่าตามพวรรณ มีสีดุจทองแดง มีอำนวยหนึ่งชื่อว่าประมาถี มีสีดังท้องฟ้า

๏ บุษปทันต์ มีภิริยาชื่อว่าพังสุภทันตี กายขาว ขนายขาว ขนขาว งาขาว มีอำนวย ๒

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่าภสาร สรรพกายขาวเหลืองอ่อน งาเหลือง ดุจสีทองคำ

๏ อำนวยหนึ่งชื่อสหะสารสรรพ กายขาวเจือเขียวอ่อน งาเหลือง ดุจสีดอกบวบ

๏ เสาวโภม มีภิริยาหนึ่งชื่อว่าลิงคณะ สีเขียวแก่ มีบุตรหนึ่ง

๏ อำนวยหนึ่งชื่อว่าบุษทันต์ สีดังดอกบัวแดง กายยาวกลมเกลี้ยง หน้าใหญ่กว้าง

๏ สุประดิษฐ์ มีภิริยาหนึ่งชื่อว่าอัญชนวดี สีกายดังดอกอัญชัน มีบุตรหนึ่ง นามมิได้ปรากฏ สีกายเขียวดังหญ้าแพรก ศิริเปนคชลักษณ ๑๐ อัฐทิศ ๘ อำนวยพงษ์ ๑๔ เปนชาติ์พรหมพงษ์ ๓๒ อิศวรพงษ์อัฐคชาธาร ๘ วิศณุพงษ์อัฐคช ๘ อัคนิพงษ์ ๔๗ ศิริเปน ๙๕

๏ ไนยหนึ่งเล่าพระเปนเจ้า ให้บังเกิดช้างสีต่างๆ คือเหลือง ขาว แดง เขียว ให้พึงพิจารณาลักษณ ๑๐ ประการ คือขนแลหาง จักษุ เล็บ อัณฑโกษ ช่องแมงภู่ ขุมขน เพดาน แลสนับงาคางในไรเล็บ ๑๐ ประการ ต้องกันกับสีกายบริสุทธิ์สมบูรณ์ด้วยลักษณ

๏ จะกล่าวลักษณช้างโทษ ๘๐ จำพวกอันชื่อว่าบาปลักษณนั้นต่อไป

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านามทุย งาเน่า หางสั้น ปลายหางขาด ปลายหางวิ่น แปรงขนรายกราบ ต้นหางกำหนดศอกเดียว กายเล็กผอมบาง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านามทำ ตัวต่ำท้องแร่งเรี่ยดินสุนัขลอดบมิได้ หูหย่อนหนังยานย้อยดุจม้วนเสื่อ หน้าสั้นง้ำ ต้นงาเน่า

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าลำภา ปากล่างยาวปิดปากไม่สนิทแลเห็นเงางา อ้าปากเห็นกราม

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพาหน คอฦกสามแห่ง ม้กคาบหญ้าคาบไม้ ศีศะฦกน้ำขัง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าชนโกลน งาขาวสากชิดตัวสากตาเหลือก ท้ายสูงกว่าหน้า คล้องมักถูกเท้าหน้า สันดานช้างนั้นมักกลับมาสู้ช้างต่อเปนนิจ แต่แลเห็นก็เปนจรรไร

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเทไพร งวงใหญ่กายสั้นหางสั้น กิริยาเชื่อมมึน ให้หมอเอาบ่วงบาศคล้องที่ดินได้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าโชนไชล โก่งหลังหนังกะเพื่อม หัวต่ำ น้ำลายไหล ตาเหลือก นมย้อยยานดุจนมช้างพัง คุยหางสั้น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารลมสังไก่ โขมดลูงเปนจอมปลวกไม่มีเสรก กลางจะพาดพังเวียนวางขอบมิได้ มักหลับตา

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทมพลุก งาใหญ่ปลายแหลม ร้าวแตกต้นตลอดปลายจนถึงไส้ กายคดกายสั้น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพลุกตะแบก งาแตกจนปลายงาดุจปากงู คลอนเน่าพิการอยู่อัตรา

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารแหกชีพ งาบิดเปนเกลียวกลวงในเปนปล้อง ดุจไม้ไผ่คลอนเน่า ปลายแตกเปนปากงู

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าศฤงคาร งางอกเปนแขนแดงดุจชาดย้อม เปนปลอกเปนกาบดังหน่อไม้ หางคดค้อมบังคลองทวารใบจามรบิดซ้าย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสวามิฆาฎ หน้าราบปราบเสมอดุจหน้าแว่น ตาซ้ายตาขวาใหญ่มิได้เท่ากัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านครฆาฎ งาไล่งวงตรงปลายเท่ากัน งวงแวงเวียดอ้อมกาย กินหญ้ามักก้มหน้า ๆ กับท้ายเสมอกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านาศดึกพินาย มีงาเดียวแต่ช้างซ้าย ปลายเวียดอ้อมใต้งวงขวาขวางปาก ๆ คาบงากินหญ้ายากนัก

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านาคพันธุ์ งาทู่ งวงสั้นกินหญ้าโอนกาย ศีศะคว่ำตัวต่ำหลังคุ่มตาเล็กตางอน เหมือนจักษุนาค

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าลักกิน นมงอกออกกลางอกสามแห่ง ศีศะเปนขุม

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบีศาจกิน นมงอกออกจากที่ท้องสามนม จอมศีศะเวียนบนยอดโขมดมีขุมขังน้ำได้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าโศกจะกิน มีนมที่ปากปลายคาง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคฤนเดาะ มีนมงอกขึ้นข้างซ่นเท้าหลังตลอด ท้องจนเนื้อสนับหางข้างบนท้ายมีสามนม กิริยาเดิรขัดขวางง่วงงุย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าไภยกิน มีนมงอกออกตามราวข้าง ๆ ละสามละสี่นม

๏ ช้างหนึ่งชื่อกันเอาะพลุก งาต้นใหญ่ปลายแหลมดุจเสี้ยม งวงยาวเวียดอกกายใหญ่ท้องยาน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากากลัก รูปคล้ายสุกรกายใหญ่ หน้าใหญ่ หลังคอดท้ายคอด ๓ แห่ง เท้าเล็กหางสั้นขนหางลุ่น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเสียงสวา ไหล่ฟกอกย้อยยานหางเขินเอวกิ่ว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าจราษชาติ คอคอดหยักเปนบั้ง ๆ ตลอดท้าย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าชำนิพระเพลิง หลังหยักเปนฟันปลา ตั้งแต่คอตลอดท้าย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบังกิน งาเกก ข้างหนึ่งเกกเข้า ข้างหนึ่งเกกออก หลังหยักเปนบั้ง ๓ หยัก ๔ หยัก หางคดหูยานรใบย้อยถึงกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าลันดาษ ลิ้นยาวใหญ่ย้อยพ้นไพรปาก หนัง บ่อหุ้มต้นงา อ้าปากเยื้องไปย้ายมา ดุจกระบือเคี้ยวเอื้อง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบังบัดควาน สองงาต้นคดปลายเวียดเวียนไปข้างท้าย ดูงากับหูเสมอกัน แม้นขี่กลางเดิรเยื้องย้าย ดูงากับเท้าตะโพกเสมอกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อโยนยัก เท้าแลงวงตีอกมักหลับตา โยกโยนศีศะคว่ำหูหางฟาดตนอยู่ไม่เปนศุข เมื่อคู้ตัวหน้าท้ายต่ำ หลังสูง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคัดธรณี เท้าหลังสูงเท้าหน้าต่ำดุจก้ม เมื่อเดิรหลังราบตรงตราบท้าย หางยาว เล็บโกง ผมเรี่ยบาง งาซื่อแนบงวง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าชันบันเชษฐ ศีศะราบตราบท้าย ท้องใหญ่ ขนเรี่ยราย ๔ เท้าคอดเล็บยาวงอน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากำพตกำโบม เปนดวงด่างขาวไปทั่วตัว น้ำลายไหล ถ่ายมูตรมูลราดรดเท้าหลังดังน้ำ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสแบกเขี้ยว เปนเกล็ดทั่วทั้งตัว ตกมันเหม็นเขียวยิ่งนัก มันตกกรุ่น ๆ ไม่เปนคราวแต่เล็กจนใหญ่ พลายพังอย่างนี้มีโทษเสมอกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าแร่ง กายใหญ่สั้น อกเปนแร่งยานยาว ราวข้างเปนดวงด่างขาวกลมดุจขอบกะด้งแห่งเดียว

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าแซง กายสูง ผิวหนังคร่ำดุจฝาหอยแครง หางสั้น หลังคุ่ม

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าปุดุ กายใหญ่หน้าเล็ก ราวข้างกลมดุจท้อง ท้องค่างเวียนเปนก้นหอยสองแถว ๆ ละสามวงสี่วง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารายดาว ลายด่างดวงกลมขาวทั่วทั้งกาย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเพรียงขลง โขมดต่ำท้ายเล็ก ลายด่างเปนวงขาว มีกระในวงทั่วทั้งกาย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเดียนงุน หางสั้นขนหางไม่มี คุกเข่าหน้า ก้มศีศะกินหญ้ากินน้ำ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทิพาไสย หนังยานบานแร่งแร้ง ท้องก็เปนแร่งดุจโค นักคุกเข่านอนกลางวัน นอนไม่ราบ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารติไสย เวลาค่ำเมื่อเทานอน ม้วนงวงขึ้นหว่างงาทุกเมื่อ นอนไม่ราบ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านักขเสน รูปเรียวท่อนหน้าใหญ่ท้ายเล็ก หางเขินสั้น ขนหางหายาก ผูกแหล่งนักเหยียบหลักหมอไว้เปนธรรมดา

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าชเมียบ ตาเหลือก มักจ้วงเทาเท้าท้าย แทงงา กรวมตลุง งวงกอด ตลุงเล่นเนื่อง ๆ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพลัดควาน รูปท่อนหน้าใหญ่สูง อกยาน ท้ายเรียวเล็กหางยาว มักกระทำร้ายหมอควาน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าขดรศุข อายุศม์ไม่ถึงสิบปีมีลูกก็ดี นึ่งไปพาดโพนในป่าได้ช้างป่านำมาก็ดี หนึ่งโขลงปกพามาสู่ก็ดีในบ้านในเมืองแล ช้างนั้นสำรอกบุตรออก ณ ที่นั้นห้ามมิให้เลี้ยงไว้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าราหู กายหน้าแดงหน้าขาวก็ดี ตลอดปลายงวงแลหูมีกระ ต้นงวงใหญ่ ปลายงวงเรียวเล็ก

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าประพลุก งาเปนเสี้ยวหางคดเวียนดังเถาวัลย์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากระแอกลาย กายคดกายสั้น หูแฉกดุจใบตาล คอยาว ท้ายเล็ก หางสั้นเหมือนสุกร

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทำรัง งาเรียวเล็ก เท้าทั้ง ๔ สูง ท้องตัวสั้น หูแฉกขาดวิ่น หางเขินปัดปลอก สนับหางใหญ่ยาน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบังคลอง งวง เท้า หาง สามสิ่งสั้น อกแลโขมดต่ำหลังตรงหลังสั้น หางบังคลองทวาร

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าขวาย งาแหลมสั้นกว่าหน้างวง รูปกายทุรพล

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากระแอกสกุม หูใหญ่ยานดุจปีกกา มักจับขอบตาว้างเหลือกแลไม่พริบ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าชำนันสัตว์ ตัวต่ำ ท่อนหน้าใหญ่ ท้ายหลอบเล็ก หางเขิน โขมดสูง มักเหยียบเต้า

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากระจอกสอ กายใหญ่หน้าเล็กหางเขิน เล็บขาวไม่ครบเหมือนช้างทั้งปวง มักยืนแต่ ๓ เท้า

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าบัลลายโศก อัณฑโกษปรายอยู่อัตรา ถ้าช้างพลายช้างพังเปนดังนี้มีโทษเสมอกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทูลกระจอก กายใหญ่ หน้าเล็ก หางเขิน เล็บไม่ครบ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทรหุน รูปพรรณพิกล หลังซื่อ กระดูกหลัง คดสะดุ้ง คอดำดังหมึกมัว หนังหย่อนท้องยาน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ามวยลา โขมดสูงดุจศีศะวานร

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าดำเกิงคนอง โขมดแลหน้าเล็ก ภายนอกสั้น หางเขิน ท้ายยอบ ท้องกิ่วพิกล

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากระดกกันทุย หน้าบวมดุจเน่าพอง ต้นหางคด ปลายหางดังจามรยาวจรดดิน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสุครีพ คอใหญ่คอสั้น คางใหญ่ หน้าผึ่งดุจเน่าพอง ที่นั่งไม่ราบ เดินยักเยิด หางคอดคด สนับกลับลงใต้หาง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสีดอ ตัวใหญ่สูง หน้าเล็ก งาเรียวสั้น บิดลงล่างดังขนาย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพลายแม่ ขนายยาวงอนดุจงาช้างพลาย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคางยูร คอยาว คางยุ้ย หน้าหนู อกหย่อนยาน ท้ายเรียวรีด

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าจงกิสวา ราบอกยาน เอวกิ่ว ท้ายเล็ก

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ายักษ์ ตัวต่ำสั้นสรรพสารพางค์ คางใหญ่ หน้าสั้น งวงสั้น

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพุงพัง ตัวต่ำสั้น อกยานท้องหย่อน ลำหางกลางคอด

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ารัตทันต์ งาแลกรามแลเล็บแดงดังแสงพระอาทิตย์ เมื่ออุไทยสีดังชาด

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่านาคสะดุ้ง หัวแลท้ายสูงดุจงูเลิกพังพาน หลังแอ่นเปนบั้งดุจเถาบันไดลิง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพินายฆาฎ งาซ้ายสั้นงอน งาขวาไขว่ใต้งาซ้าย โอบงวงปลายงาตลอดงวง หูสั้นข้างหนึ่งหูยาวข้างหนึ่ง ขาดวิ่นแหว่งทั้ง ๒ หู

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าพลุกทันต์ ตัวใหญ่หน้าเล็กหลอนกาย งาตก ปลอกดังไม้ไผ่

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทัตพินาย งางอกแต่ข้างซ้ายข้างเดียวเรียวเล็ก

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสิทธิพินาย ไม่มีงาดุจช้างพัง

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าภัทรพินาย งางอกซ้ายเสมอสนับ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าอินทกินพินาย งางอนแดงดังสีชาด งาเบื้องขวายาวสักน้อย งาเบื้องซ้ายสั้นดังขนาย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าหีน รูปกายพิกลเท่ากระบือ เทพคชนาคสาปช้างหมู่นี้ไว้ ให้อยู่แต่ริมฝั่งสมุท กินหอยกินปูเปนนิรันต์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากลีบสมุทกลีบไพร เมื่อกินน้ำกินหญ้าก้มศีศะกัดกินด้วยปาก ไม่จับหญ้าด้วยงวงเหมือนช้างทั้งปวง ถ้าช้างพลายช้างพังเปนดังนี้มีโทษเสมอกัน

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากำกวม รวมชื่อเปนสองตระกูล ตระกูลหนึ่งสีหตระกูล ตระกูลหนึ่งอัศวตระกูล

๏ แลสีหตระกูลนั้น งามิได้งอก สูง ใหญ่ กำลังมากยิ่งนัก

๏ แลอัศวตระกูล มีรูปมณฑลสูงหน้าท้ายต่ำหางยาวเดิรเร็วรวด งามิได้งอกเหมือนช้างพลาย ช้างธรรมดาทั้งหลายบอาจรับหน้าได้

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าเนียมโทษ งาใหญ่ งาสั้น ๔ เท้าสั้น ตัวต่ำ ตาต่ำ งวงแลปากสีดำ เนื้อนิ่ม ขนหางแลผมเกรียนกร่อน

๏ ช้างหนึ่ง งาคลอนงาสั้น ปลายกางเกก หูเล็กผมขาว ไม่จงรักหมายช้างพังเหมือนช้างทั้งปวง

๏ ช้างหนึ่ง คอยาวใหญ่ตาเล็กพิการ กายยาวเยิ่นต่ำเตี้ย ขนดำ เสียงฦก หางสั้น สบ้ายาว ย่างเดิรดุจสุกรแล

๏ ช้างหนึ่งเนียมนรลักษณพร้อม ถ้างาแตกลิปลาย คอพลอยนพรัตนสลาย ให้พึงตกแต่งแก้ให้ดี ให้ปล่อยเสียป่า โทษนั้นพลันหาย จึงคล้องมาใหม่

๏ ศิริช้างโทษบาปลักษณ ในไตรตรึงศักดิราช มีแต่ ๘๐ จำพวกเท่านี้

๏ ที่นี้จะว่าด้วยช้างอันเปนตระกูลสวัสดิมงคลมหาคเชนทร์ อันบังเกิดแต่อิศวรพงษ์ พรหมพงษ์ วิศณุพงษ์ อัคนิพงษ์ มีทั้ง ๔ ตระกูล รคนกันมิได้จัดไว้เปนพวกเปนหมู่นั้นอีก ๙ ตระกูล

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าอินทจักร เล็บแดงดุจดังน้ำครั่ง ฝ่าตีนไรฝักบัวขาวดุจน้ำนม โขมดสูง ควรแก่กระษัตริย์อันเปนแม่ทัพ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าสุรสาร ผิวปลายงาเหลืองใสดังแก้ว ตาแลเล็บฝังนัก มักอาจหาญ

๏ ช้างหนึ่ง ร้องขอหญ้าเสียงดังสีหราช ควรคู่แก่มนตรี

๏ ช้างหนึ่ง ร้องขอหญ้าเสียงดังตรวจ ควรคู่แก่เสนาบดี

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าราชเสนห์ ร้องขอหญ้าดังเสียงปี่ ถ้าบุคคลผู้ใดได้ไว้จะเปนที่รักแก่เทพามนุษย์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคชไล ขนอ่อนดุจผ้ารัตกำพล อาจเปนสวัสดิมงคล ให้บังเกิดทรัพย์มาก

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าคชกรรณ ผิวเนื้อหนากระด้าง กลางงาหนัก

๏ ช้างหนึ่ง เมื่อนอนกรนดังเสียงแตร ควรคู่แก่กระษัตริย์

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ามหิบาล อกใหญ่โขมดสูง เท้าทั้ง ๔ กลม ปากแดง หลังเปนคันธนู น้ำเต้าเต็ม ตาใหญ่ งางอน หูใหญ่ หาง อัณฑโกษ งวง ถึงดิน เรียกมันเสียงดังฟ้า ผิวดำสนิท เดิรเปนสง่าดังสีหราช ควรเข้าสงครามจะมีไชย

๏ ทีนี้จะกล่าวว่าด้วยช้างโทษไนยหนึ่งใหม่ อันเปนชาติอัคนิพงษ์ นอกจากไตรตรึงษ์ศักดิราช อันชื่อว่าทุรลักษณโทษนั้น ต่อไป

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าช้างเขี้ยวช้างงา มีงางอกออกจากสนับงา แล้วมีเขียวแซมออกจากไพรปากก็ดี สนับงาก็ดี รูปร่างพึงพิกลต่าง ๆ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าทันตราบ งางอกออกจากปากแล้วเวียดคดไป ดุจเขี้ยวยักษ์แลเขี้ยวสุกร

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าลุยทุกข มีเล็บเท้าละ ๓ เล็บทั้ง ๔ เท้า ข้อเท้าแดงดังฝักบัวแดง ฝ่าแดง ช้างนี้ถ้าแลเข้าบ้านใดเมืองใด จะบังเกิดมหาอุบาทว์ใหญ่ มีเข้าแพงแลไภยทั้ง ๔ ประการ ถ้าหมอผูใดคล้องได้ก็จะตายสิ้นให้วิบัติต่าง ๆ บมิได้เหลือแต่สักคน ถ้าแลเช้าบ้านใดเมืองใด พึงหลอมทองแลเงินใส่รอยเท้าทั้ง ๔ จงทุกเถ้าจึงจะบันเทาซึ่งโทษ

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่ากินชีพ ร้องขอหญ้าดังเสียงแรด เสียงฟาน เสียงสุนักข์ เสียงเสือ เสียงม้า แลเสียงอันใดอันหนึ่ง บุคคลผู้ใดเลี้ยงไว้เจ้าของมักพลันตาย

๏ ช้างหนึ่งชื่อว่าอุบัติไสย เมื่อนอนกรนเสียงดังกระหึม ได้ยินเสียงกรนถึงที่แห่งใดๆ ในที่นั้น จะเกิดอุบาทว์ยิ่งนัก มีอีก ๗ พวก ช้างจำพวกนี้ให้โทษเบา มิได้ให้โทษอย่างบาปลักษณทุรลักษณนั้น

จบในชื่อทุรลักษณโทษ ๕ ประการแต่เท่านี้

๏ หนึ่งบุพพาจารย์อันรู้ซึ่งพระคชสาตรกล่าวไว้ว่า ช้างโทษทั้งหลายอันนอกจากบาปลักษณทุรลักษณนั้น

๏ ช้างหนึ่งฝ่าแดงเพียงเล็บ เรียกว่าเหยียบเพลิง

๏ ช้างหนึ่งตัวเปนหูด เรียกว่าเดาะหูด

๏ ช้างหนึ่งตัวเปนขุม เรียกว่าเดาะขุม

๏ ช้างหนึ่งโยกตัวอยู่แต่เบา ๆ เปนนิจ เรียกว่าวรโยก

๏ ช้างหนึ่งสับสีศะอยู่เปนนิจ เรียกว่าวรสับ

๏ ช้างหนึ่งกายมักด่างแห่งหนึ่งสองแห่งก็ดี เรียกว่าโพกกัน โดนเปน ๗ ช้างด้วยกัน

๏ อันลักษณช้างโทษทั้งหลาย ย่อมเกิดอัคนิพงษ์สิ้น ผู้จะทรงไว้ซึ่งพระคชสาตร ให้พิจารณาดูซึ่งช้างอันมีงวงงารูปกายวิปริตต่าง ๆ ถ้าแลลักษณต้องด้วยอัคนิพงษ์ ช้างนั้นเปนช้างโทษ ถ้าแลลักษณต้องด้วยอิศวรพงษ์ พรหมพงษ์ พิศณุพงษ์ ช้างนั้นหาโทษมิได้เลย

๏ อันว่าช้างโทษพวกใดก็ดี เลี้ยงไว้ในที่แห่งใด เหมือนเพลิงกาฬสุมไว้ในทรวง ย่อมให้ร้อนวิปริตต่าง ๆ อย่าพึงเอาไว้

๏ หนึ่งเล่าพระเปนเจ้าทั้ง ๔ ให้บังเกิดช้างทั้งหลายมีคุณต่าง ๆ กัน อิศวรพงษ์นั้นจะให้เจริญทรัพย์แลจะให้มีอำนาจ

๏ พรหมพงษ์นั้นจะให้เจริญอายุศม์แลคุณวิชา

๏ พิศณุพงษ์นั้น จะให้สัตรูพ่ายแพ้ แลเจริญน้ำ แลผลผลาธัญญาหารทั้งปวง แลพระตำราปฐมกัณฑ์นารายน์ประทมสินธุ์นี้ พระอาจาริยเจ้าแต่ก่อน ผู้รู้ซึ่งคชสาตร์รจนาไว้ สำหรับพระมหากระษัตราธิราชเจ้าเพื่อจะให้รู้ซึ่งชาติ์แลตระกูล ช้างอันเปนมงคลแลอัปมงคล ถ้าบุคคลผู้ใดได้เล่าเรียนไว้แล้ว เหมือนหนึ่งได้แก้วควรเมือง

๏ ศิริเปนช้างสวรรค์ ๓ พระตำหริ ๑ ชาติ์พรหมพงษ์หิมวันต์ ๑๐ อัฐทิศ ๘ อำนวย ๑๔ เปน ๓๒ ช้าง พิศณุพงษ์อัฐคช ๘ อิศวรพงษ์อัฐคชธาร ๘ อัคนิพงษ์ศุภลักษณ ๕๑ สวัสดิมงคล ๙ บาปลักษณ ๘๐ ทุรลักษณ ๕ โทษน้อย ๗ รวมเข้าด้วยกันเปนช้าง ๑๙๑ ช้าง ฯ จบบริบูรณ์ พระตำรานี้ข้าพระพุทธเจ้า พระยาสุรินทราชา นายปราบ ทูลเกล้าถวายครั้งทรงโคลง ขอเดชะ ฯ



[๑] อักขรวิธี ตามหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ ๑๒๖ เดือนมีนาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ