คำนำ

คำฉันท์ดุษฎีสังเวย คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า และคำฉันท์คชกรรมประยูร ที่รวมพิมพ์อยู่ในหนังสือนี้เป็นวรรณคดีสมัยอยุธยา ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิชาคชศาสตร์ทั้งคชกรรมและคชลักษณ์

อาจกล่าวได้ว่าวรรณคดีเป็นเอกสารจดหมายเหตุประเภทหนึ่ง ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเอกสารจดหมายเหตุทั่ว ๆไปตรงที่กวีเป็นผู้บันทึก

แม้ว่าจุดประสงค์หลักของงานกวีนิพนธ์จะเน้นคุณค่าในเชิงสุนทรียภาพด้านความงาม ความไพเราะ แต่บางครั้งงานกวีนิพนธ์อาจประพันธ์ขึ้นเพื่อใช้บันทึกตำรับตำราต่าง ๆ หรืออาจใช้เป็นส่วนประกอบในพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง สิ่งที่สอดแทรกอยู่ในกวีนิพนธ์ทุกประเภทคือ วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีชีวิตและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่กวีแต่ง ดังนั้นการศึกษาวรรณคดีนอกจากจะพิจารณาในด้านวรรณศิลป์แล้ว ยังอาจศึกษารายละเอียดแง่มุมต่าง ๆ ได้อีกหลายลักษณะ เช่น ศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เพื่อนำมาพิจารณาประกอบกับเนื้อหาที่ปรากฏในวรรณคดี เป็นการประมวลวิทยาการทั้งสองสาขาเข้าด้วยกัน และนำบทสรุปต่างๆ มาสนับสนุนข้อมูลวัฒนธรรมในอดีตให้มีความกระจ่างชัดยิ่งขึ้น

คำฉันท์ดุษฎีสังเวย เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้สำหรับประกอบพิธีคชกรรม สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าเรื่องนี้แต่งขึ้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช คำฉันท์เรื่องดังกล่าวใช้ภาษาเขมรเป็นส่วนมากโดยเฉพาะในตอนต้น ทำให้เป็นปัญหาในการศึกษาเรื่องราวอันมีผลถึงการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนของพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในเรื่อง

คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพื่อใช้เป็นบทสำหรับกล่อมช้าง หลังจากคล้องช้างได้แล้วก่อนที่จะนำมายังพระนคร อันเป็นขั้นตอนหนึ่งในพิธีคชกรรม

คำฉันท์ดุษฎีสังเวย และคำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือชุมนุมฉันท์ดุษฎีสังเวย แจกในงานศพพระยาศรีธรรมศุกราช (เจริญ จารุจินดา) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๗

คำฉันท์คชกรรมประยูร แต่งขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องคชลักษณ์ หรือลักษณะช้างชนิดต่าง ๆ คำฉันท์เรื่องนี้ยังมิได้พิมพ์เผยแพร่มาก่อน

เนื่องจากวรรณคดีคำฉันท์ทั้งสามเรื่องเป็นภาษาเก่าสมัยอยุธยา มีคำเขมร คำบาลีสันสกฤตปนอยู่เป็นจำนวนมาก คำฉันท์ ดุษฎีสังเวย และคำฉันท์กล่อมช้างนั้น มีการพิมพ์ต่อมาอีกหลายคราว จึงทำให้เกิดความลักลั่นคลาดเคลื่อน ในการพิมพ์ครั้งนี้ กรมศิลปากรได้มอบให้นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. ข้าราชการกลุ่มงานวรรณกรรม กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบชำระต้นฉบับ เรียบเรียงคำอธิบายและวิเคราะห์คำศัพท์จัดทำเป็นศัพทานุกรมไว้ท้ายเรื่องเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป

กรมศิลปากรหวังว่าหนังสือ คำฉันท์ดุษฎีสังเวย คำฉันท์กล่อมช้าง ครั้งกรุงเก่า และคำฉันท์คชกรรมประยูร นี้จะอำนวยประโยชน์แต่ผู้สนใจศึกษาวรรณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย โดยทั่วกัน

อธิบดีกรมศิลปากร

กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์

๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ