ตำนานเสภา

พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ประเพณีการขับเสภามีแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะมีขึ้นเมื่อใด แลเหตุใดจึงเอาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนขับเสภา ทั้ง ๒ ข้อนี้ยังไม่พบอธิบายปรากฏเป็นแน่ชัด แม้แต่คำที่เรียกว่า “เสภา” คำนี้ มูลศัพท์จะเป็นภาษาใด แลแปลว่ากะไร ก็ยังสืบไม่ได้ความ คำ “เสภา” นี้ นอกจากที่เรียกการขับร้องเรื่องขุนช้างขุนแผนอย่างเราเข้าใจกัน มีที่ใช้อย่างอื่นแต่เป็นชื่อเพลงปี่พาทย์ เรียกว่า “เสภานอก” เพลง ๑ “เสภาใน” เพลง ๑ “เสภากลาง” เพลง ๑ ชวนให้สันนิษฐานว่า “เสภา” จะเป็นชื่อลำนำที่เอามาใช้เป็นทำนองขับเรื่องขุนช้างขุนแผน แต่ผู้ชำนาญดนตรีกล่าวยืนยันว่า ลำนำที่ขับเสภาไม่ได้ใกล้กับเพลงเสภาเลย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอันยังแปลไม่ออก ว่าคำที่ว่า “เสภา” นี้จะแปลความกะไร แต่มีเรื่องราวที่ปรากฏอยู่ในหนังสือต่างๆ บ้าง ข้าพเจ้าเคยได้สดับคำผู้หลักผู้ใหญ่เล่ามาบ้าง สังเกตเห็นในกระบวนกลอนแลถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเสภาบ้าง ประกอบกับความสันนิษฐาน เห็นมีเค้าเงื่อนพอจะคาดคะเนตำนานของเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนได้อยู่ ข้าพเจ้าจะลองเก็บเนื้อความมาร้อยกรองแสดงโดยอัตโนมัติ ประกอบด้วยเหตุผลซึ่งจะชี้แจงไว้ให้ปรากฏแก่ท่านทั้งหลาย

ว่าด้วยมูลเหตุของการขับเสภา

ถ้าว่าโดยประเพณีของการขับเสภา ถึงไม่ปรากฏเหตุเดิมแน่นอน ก็พอสันนิษฐานได้ว่า มูลเหตุคงเนื่องมาแต่เล่านิทานให้คนฟัง อันเป็นประเพณีมีมาแต่ดึกดำบรรพ์ทีเดียว แม้ในคัมภีร์สารัตถสมุจจัยซึ่งแต่งมากว่า ๗๐๐ ปี ยังกล่าวในตอนอธิบายเหตุแห่งมงคลสูตรว่า ในครั้งพระพุทธกาลนั้น ตามเมืองในมัชฌิมประเทศ มักมีคนไปรับจ้างเล่านิทานให้ฟังกันในที่ชุมนุมชน เช่นที่ศาลาพักคนเดินทางเป็นต้น เกิดแต่คนทั้งหลายได้ฟังนิทาน จึงโจษเป็นปัญหากันขึ้นว่าอะไรเป็นมงคล เป็นปัญหาแพร่หลายไปจนถึงเทวดาไปทูลถาม พระพุทธองค์ จึงได้ทรงแสดงมงคลสูตร ประเพณีการรับจ้างเล่านิทานให้คนฟังดังกล่าวมานี้ แม้ในสยามประเทศก็มีมาแต่โบราณ จนนับเป็นการมหรสพอย่าง ๑ ซึ่งมักมีในการงาน เช่นงานโกนจุก ในตอนค่ำเมื่อพระสวดมนต์แล้ว ก็หาคนไปเล่านิทานให้แขกฟังเป็นประเพณีมาเก่าแก่ แลยังมีลงมาจนถึงในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ขับเสภาก็คือเล่านิทานนั้นเอง และประเพณีมีเสภาก็มีในงานอย่างเดียวกับที่เล่านิทานนั้น จึงเห็นว่าเนื่องมาจากเล่านิทาน ขับเสภาผิดกับเล่านิทานแต่เอานิทานมาผูกเป็นกลอน สำเนียงที่เล่าใช้ขับเป็นลำนำ และขับกันเฉพาะเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว เสภาผิดกับเล่านิทานที่เป็นสามัญอยู่แต่เท่านี้ ถ้าจะลองสันนิษฐานว่า เหตุใดจึงมีคนคิดขับเสภาขึ้นแทนเล่านิทาน ก็ดูเหมือนพอจะเห็นเหตุได้ คือเพราะเล่านิทานฟังกันมานานๆ เข้าออกจะจืด จึงมีคนคิดจะเล่าให้แปลก โดยกระบวนแต่งเป็นบทกลอนว่าให้คล้องกัน ให้น่าฟังกว่าที่เล่านิทานอย่างสามัญประการ ๑ เมื่อเป็นบทกลอนจึงว่าเป็นทำนองลำนำตามวิสัยการว่าบทกลอน ให้ไพเราะขึ้นกว่าเล่านิทานอีกประการ ๑ ข้อที่ขับแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียวนั้น คงจะเป็นด้วยนิทานเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นเรื่องที่ชอบกันแพร่หลายในครั้งกรุงเก่ายิ่งกว่านิทานเรื่องอื่นๆ ด้วยเป็นเรื่องสนุกจับใจแลถือกันว่าเป็นเรื่องจริง จึงเกิดขับเสภาขึ้นด้วยประการฉะนี้

ว่าด้วยเรื่องขุนช้างขุนแผน

เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นในกรุงเก่า เนื้อความปรากฏจดไว้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า นับเป็นเรื่องในพระราชพงศาวดาร มีอยู่ดังนี้ ว่า

“ในลำดับนั้นต่อไป พระราชบุตร พระราชนัดดา เชื้อพระราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองรามาธิบดี ได้ครองราชย์สมบัติในกรุงเทพทวาราวดีเป็นลำดับไปหลายพระองค์ จนถึงพระเจ้าแผ่นดินองค์ ๑ ทรงพระนามว่า พระพันวษา ภาษาพม่าเรียกว่าพระเจ้าวาตะถ่อง แปลว่าสำลีพันหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้มีพระราชประวัติพิสดาร แต่กล่าวไว้โดยเอกเทศ พระองค์มีพระมเหสีทรงพระนามว่าสุริยวงษาเทวี มีพระราชโอรสองค์ ๑ ด้วยพระมเหสี มีพระนามว่า พระบรมกุมาร”

“ครั้นอยู่มา พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง มุ่งหมายจะเป็นสัมพันธมิตรสนิทสนมกับกรุงเทพทวาราวดี จึงส่งพระราชธิดาองค์หนึ่งซึ่งมีพระรูปลักษณะงามเลิศ พึ่งเจริญพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา พร้อมด้วยข้าหลวงสาวใช้ข้าทาสบริวาร กับเครื่องราชบรรณาการเป็นอันมาก มีราชทูตเชิญพระราชสาสน์ พร้อมด้วยเสนาอำมาตย์คุมโยธาทวยหาญ เชิญพระราชธิดามาถวายพระพันวษา ณ กรุงเทพทวาราวดี ครั้นมาถึงในกลางทาง ข่าวนี้รู้ขึ้นไปถึงนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารราชกุมารผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดินนครเชียงใหม่ในเวลานั้น ไม่ชอบให้กรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างมาเป็นมิตรไมตรีกับกรุงเทพทวาราวดี อยากจะให้กรุงศรีสัตนาคนหุตไปเป็นสัมพันธมิตรสนิทกับนครเชียงใหม่ จึงคุมกองทัพลงมาซุ่มอยู่ ยกเข้าแย่งชิงพระราชธิดานั้นไปได้ ฝ่ายพวกพลกรุงศรีสัตนาคนหุตที่พ่ายแตกหนีก็รีบกลับไปทูลแจ้งเหตุแก่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้างให้ทรงทราบทุกประการ”

“ครั้นประพฤติเหตุเช่นนี้ ทราบเข้ามาถึงพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระพันวษาก็ทรงพระพิโรธยิ่งนัก จึงตรัสแก่เสนาอำมาตย์ทั้งปวงว่า เจ้านครเชียงใหม่ดูหมิ่นเดชานุภาพของเรา เป็นผู้ไม่ตั้งอยู่ในยุติธรรม มาแย่งชิงนางผู้ที่เขาจำนงใจจะมาให้แก่เราดังนี้ก็ผิดต่อกรรมบถมนุษยวินัย จำจะยกขึ้นไปปราบปรามเจ้านครเชียงใหม่ให้ยำเกรงฝีมือทหารไทย ไม่ให้ประพฤติพาลทุจริตดูหมิ่นต่อเราสืบไป จึงมีพระราชโองการตรัสสั่งให้เตรียมทัพ แลตรัสสั่งพระหมื่นศรีมหาดเล็กผู้เป็นขุนนางข้าหลวงเดิมคนสนิทไว้พระทัย ให้เลือกจัดหาทหารที่มีฝีมือกล้าศึกสงครามเข้ามาถวาย”

“พระหมื่นศรีจึงกราบทูลว่า ในทหารไทยในเวลานี้ ผู้ใดจะเป็นทหารเอกยอดดีไปกว่าขุนแผนนั้นไม่มี ด้วยขุนแผนเป็นผู้รู้เวทมนตร์เชี่ยวชาญ ใจกล้าหาญเป็นยอดเสนา และมีใจกตัญญูกตเวที รู้พระเดชพระคุณเจ้าหาตัวเปรียบได้ยาก บัดนี้ขุนแผนเป็นโทษต้องรับพระราชอาญาจำอยู่ ณ คุก ถ้าโปรดให้ขุนแผนเป็นทัพหน้ายกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ในครั้งนี้คงจะมีชัยชนะโดยง่าย ไม่ต้องร้อนถึงทัพหลวงและทัพหลังเพียงปานใด สมเด็จพระพันวษาก็ทรงระลึกได้ถึงขุนแผน ด้วยทรงทราบว่าเป็นทหารมีฝีมือมาแต่ก่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนแผนพ้นโทษ มีรับสั่งให้พระหมื่นศรีนำขุนแผนเข้ามาเฝ้าโดยเร็ว พระหมื่นศรีได้รับสั่งแล้วก็ไปบอกนครบาลให้ถอดขุนแผนจากเรือนจำ นำตัวเข้ามาหมอบเฝ้าถวายบังคมต่อหน้าพระที่นั่งในท้องพระโรง ในขณะนั้น สมเด็จพระพันวษาจึงมีพระราชโองการตรัสถามขุนแผนว่า เฮ้ยอ้ายขุนแผน เอ็งจะอาสากูยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ ปราบปรามเจ้าโยนกอันธพาลให้เห็นฝีมือทหารไทย รับนางคืนมาให้กูจะได้หรือมิได้ประการใด ขุนแผนจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระบาทผู้เป็นข้าทหาร ชีวิตอยู่ในใต้ฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้ทรงพระเดชพระคุณปกเกล้ามาแต่ปู่แลบิดา ข้าพระองค์ขอรับอาสาขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ปราบเจ้าโยนกให้กลัวเกรงพระเดชานุภาพของพระองค์ รับพระราชธิดาพระเจ้าลานช้างคืนมาถวายจงได้ ถ้าตีนครเชียงใหม่ไม่ได้แล้วขอถวายชีวิต สมเด็จพระพันวษาได้ทรงฟังขุนแผนกราบทูลรับอาสาแข็งแรงดังนั้นก็ดีพระทัยนัก จึงโปรดตั้งให้ขุนแผนเป็นแม่ทัพ ถืออาญาสิทธิ์คุมกองทัพทหารไทยยกขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ ขุนแผนจึงกราบถวายบังคมลายกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพิจิตร จึงแวะเข้าหาพระพิจิตรเจ้าเมือง ขอให้ส่งดาบเวทวิเศษกับม้าวิเศษที่ฝากไว้แต่ก่อนคืนมาให้ จะไปใช้ในการรบศึก ดาบวิเศษของขุนแผนนั้น ในภายหลังต่อๆ มามีผู้เรียกว่า ดาบฟ้าฟื้น มีฤทธิเดชนัก ม้าวิเศษนั้นเรียกว่า ม้าสีหมอก ขับขี่เข้าสู่สงครามหลบหลีกข้าศึกได้คล่องแคล่วว่องไวนัก ขุนแผนได้ดาบเวทวิเศษและม้าวิเศษแล้วก็ลาเจ้าเมืองพิจิตรรีบยกขึ้นไปถึงแดนนครเชียงใหม่ ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่รู้ว่ากองทัพกรุงศรีอยุธยายกขึ้นมา จึงแต่งกองทัพให้ยกออกมาสู้รบต้านทาน ขุนแผนแม่ทัพก็ขับพลทหารไทยเข้าต่อตีพลลาวยวนเชียงใหม่โดยสามารถ กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายแพ้หนีกลับเข้าเมือง จะปิดประตูลงเขื่อนก็ไม่ทัน ขุนแผนก็ยกติดตามรบรุกบุกบันเข้าเมืองได้ ไล่ฆ่าฟันพลลาวล้มตายลงเป็นอันมาก ฝ่ายเจ้านครเชียงใหม่เห็นข้าศึกเข้าเมืองได้ก็ตกใจไม่มีขวัญ จึงขึ้นม้าหนีออกนอกเมืองไป ขุนแผนจึงคุมทหารเข้าล้อมวัง ไปจับอรรคสาธุเทวีมเหสีพระเจ้าเชียงใหม่ กับราชธิดาอันมีนามว่าเจ้าแว่นฟ้าทอง กับนางสนมน้อยใหญ่ของพระเจ้านครเชียงใหม่ให้รวบรวมไว้พร้อมด้วยกัน แลให้เชิญนางสร้อยทองราชธิดาพระเจ้านครลานช้างที่เจ้านครเชียงใหม่ไปแย่งชิงมาไว้ให้ออกมาจากหอคำ จึงเชิญนางสร้อยทองพระราชธิดาพระเจ้าลานช้าง กับมเหสีราชธิดาพระเจ้านครเชียงใหม่ที่จับไว้ได้ เลิกกองทัพกลับลงมาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา และกราบทูลข้อราชการทัพที่มีชัยชนะนั้นให้ทรงทราบทุกประการ สมเด็จพระพันวษาก็มีพระทัยยินดีนัก จึงทรงพระราชดำริถึงทศพิศราชธรรมตรัสว่า ซึ่งเจ้านครเชียงใหม่สู้ฝีมือกองทัพไทยมิได้ หนีออกจากเมืองไป ทิ้งเมืองให้ว่างเปล่าไว้ไม่มีเจ้าปกครองดังนั้นไม่ควร สมณชีพราหมณ์ราษฎรจะได้ความเดือดร้อน จึงทรงตั้งอำมาตย์ผู้ใหญ่ ให้เป็นข้าหลวงขึ้นไปเกลี้ยกล่อมราษฎรพลเมืองเชียงใหม่ไม่ให้แตกตื่นวุ่นวาย ให้เสนาข้าราชการชาวเมืองเชียงใหม่นั้นไปติดตามเชิญพระเจ้าเชียงใหม่ กลับเข้ามาครอบครองบ้านเมืองอยู่เป็นปรกติตามเดิมดังเก่า”

“ในขณะนั้น พระองค์จึงทรงโปรดพระราชทานบำเหน็จรางวัลเป็นต้นว่าเงินทอง สิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ขุนแผนผู้เป็นแม่ทัพ แลนายทัพนายกองตลอดจนพลโยธาทวยหาญ ผู้ไปรบศึกมีชัยชนะมาในครั้งนั้นเป็นอันมาก ครั้นแล้วพระองค์จึงทรงตั้งนางสร้องทองราชธิดาพระเจ้าศรีสัตนาคนหุตลานช้าง เป็นพระมเหสีซ้าย แลตั้งนางแว่นฟ้าทองราชธิดาเจ้านครเชียงใหม่เป็นพระสนมเอก แต่มเหสีเจ้านครเชียงใหม่ผู้เป็นมารดาของนางแว่นฟ้าทองพระสนมเอกนั้น โปรดแต่งข้าหลวงพร้อมด้วยพวกพลพาขึ้นไปส่งต่อพระเจ้านครเชียงใหม่ โดยพระทัยทรงพระกรุณา ฝ่ายข้าคนชายหญิงชาวนครลานช้างแลชาวนครเชียงใหม่นั้น ก็ทรงโปรดให้ตั้งทำมาหากินอยู่ตามภูมิลำเนา ในกรุงศรีอยุธยา”

“ฝ่ายขุนแผนซึ่งเป็นทหารเอกยอดดีมีชื่อเสียงปรากฏในกรุงศรีอยุธยาในครั้งนั้น เมื่อคิดเห็นว่าตนแก่ชราแล้ว จึงนำดาบเวทวิเศษของตนเข้าถวายสมเด็จพระวันวษา เพื่อเป็นพระแสงทรงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินต่อไป พระองค์ทรงรับไว้เป็นพระแสงทรงสำหรับพระองค์ แล้วจึงทรงประสิทธิประสาทนามว่า พระแสงปราบศัตรู แลทรงตั้งนามพระแสงขรรค์แต่ครั้งพระยาแกรกนั้นว่าพระขรรค์ไชยศรี โปรดให้มหาดเล็กเชิญตามเสด็จซ้ายขวา แลมีรับสั่งให้เชิญพระรูปพระยาแกรกกับมงกุฎของพระยาแกรกเข้าไว้ในหอพระที่นมัสการในพระราชวัง พระรูปพระยาแกรกกับมงกุฎทรงยังมีปรากฏอยู่จนตราบเท่าทุกวันนี้”

“พระพันวษาครองราชย์สมบัติมาได้ ๒๕ พรรษา เมื่อแรกได้ราชสมบัติ พระชนม์ ๑๕ พรรษา รวมพระชนมายุ ๔๐ พรรษาเสด็จสวรรคต”

ในคำให้การชาวกรุงเก่ามีเรื่องขุนช้างขุนแผนปรากฏอยู่เท่านี้ นอกจากในคำให้การชาวกรุงเก่า หนังสือเรื่องอื่นที่แต่งครั้งกรุงเก่ากล่าวถึงเสภามีบ้าง แต่ยังไม่พบที่เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน มีในหนังสือพงศาวดารเหนือก็กล่าวเพียงว่า สมเด็จพระพันวษาได้เสวยราชย์เมื่อนั้นๆ อันพระนามที่เรียกว่า “พระพันวษา” น่าจะเป็นแต่พระนามประกอบพระเกียรติยศสำหรับเรียกสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในสมัยอัน ๑ ดังเราเรียกว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” มิใช่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์หนึ่งพระองค์ใด เพราะคำเดียวกันนี้ในชั้นหลังต่อมา มาใช้เป็นพระนามสำหรับพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า “สมเด็จพระพันปีหลวง” แลที่เรียกสมเด็จพระอรรคมเหสีว่า “สมเด็จพระพันวษา” ก็มีในบางรัชกาล เช่นพระอรรคมเหสีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศครั้งกรุงเก่า แลสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินีในรัชกาลที่ ๒ คนทั้งหลายก็เรียกว่า “สมเด็จพระพันวษา” จึงเห็นว่ามิใช่เป็นพระนามเฉพาะพระองค์พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งพระองค์ใดแต่ก่อนมา

เรื่องขุนช้างขุนแผนที่ปรากฏในคำให้การชาวกรุงเก่าดังกล่าวมานี้ มีหลักฐานที่จะเทียบให้รู้ศักราชได้ว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนเกิดมีขึ้นเมื่อใด คือในหนังสือนั้น แห่ง ๑ กล่าวว่า สมเด็จพระพันวษาเป็นพระราชบิดาของพระบรมกุมาร ต่อมากล่าวว่า พระบรมกุมารเมื่อได้เสวยราชสมบัติ มีมเหสีชื่อศรีสุดาจันทร์ แลนางนี้เมื่อพระราชสามีสวรรคตแล้ว ชิงราชสมบัติให้แก่ชู้ เทียบกับพระราชพงศาวดาร พระบรมกุมารก็คือสมเด็จพระไชยราชาธิราช สมเด็จพระพันวษานั้นก็คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โดยหลักฐานอันนี้ประมาณว่า ขุนแผนมีตัวอยู่ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่างจุลศักราช ๘๕๓ จน ๘๙๑ ปี แลมีเนื้อความประกอบในพงศาวดารเชียงใหม่ว่า ในยุคนั้นพระเมืองแก้วเป็นพระเจ้าเชียงใหม่ ทำศึกกับกรุงศรีอยุธยาอยู่หลายคราว แลยังมีเนื้อความประกอบชอบกลอิกอย่าง ๑ ที่ในต้นหนังสือเสภาเองลงศักราชไว้ว่า “ร้อยสี่สิบเจ็ดปี” ถ้าสันนิษฐานว่า เดิมเขียนเป็นตัวหนังสือว่า “แปดร้อยสี่สิบเจ็ดปี” ภายหลังตกคำ แปด ไปเสีย ถ้าวางจุลศักราช ๘๔๗ เป็นปีขุนแผนเกิด ขุนแผนเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ อายุได้ ๖ ขวบสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ผ่านพิภพ จึงได้รับราชการในแผ่นดินนั้นดูก็เข้ากันได้ แต่ที่ในคำให้การชาวกรุงเก่ากล่าวอิกแห่ง ๑ ว่า ท้าวโพธิสารเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ในครั้งนั้น ท้าวโพธิสารนี้ที่จริงเป็นเจ้าล้านช้าง เป็นแต่ราชบุตรเขยพระเจ้าเชียงใหม่ แลเป็นพระชนกของพระไชยเชษฐาที่ขอพระเทพกษัตรี คราวทำสงครามกับพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ลงมาตรงราวแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เห็นจะเอาชื่อโพธิสารมาใส่ผิด ฟังไม่ได้ ควรฟังเป็นหลักฐานแต่ว่า มีเค้าเงื่อนว่า เรื่องขุนช้างขุนแผนนั้น เป็นเรื่องเกิดในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔ กับ ๒๐๗๒ แลอนุโลมต่อลงมาได้อีกอย่าง ๑ ว่า เสภาคงจะเกิดมีขึ้นภายหลังรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ นับด้วยร้อยปี เมื่อเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่ากันจนกลายเป็นนิทานไปแล้ว ถ้าประมาณว่าเสภาพึ่งมามีขึ้นในตอนหลัง ไม่ก่อนแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็เห็นจะไม่ผิด

ตัวเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เล่าในคำให้การชาวกรุงเก่า แม้สังเขปเพียงนั้น ยังเห็นได้ว่าไม่ตรงกับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราขับเสภากัน ความข้อนี้ก็ไม่อัศจรรย์อันใด ด้วยเรื่องขุนช้างขุนแผนเอามาเล่าเป็นนิทานกันเสียช้านานหลายร้อยปี แลซ้ำมาแต่งเป็นกลอนเสภาในชั้นหลังอิก คงตกแต่งเรื่องให้พิลึกกึกก้องสนุกสนานขึ้น แลต่อเติมยืดยาวออกทุกที เชื่อได้ว่าเรื่องในเสภาคงคลาศเคลื่อนจากเรื่องเดิมเสียมาก แต่คงจะยังมีเค้ามูลเรื่องเดิมอยู่บ้าง ถ้าจะลองประมาณเค้าเรื่องเดิม เท่าที่ยุติต้องด้วยเหตุผล เรื่องข้างตอนต้นเห็นจะตรงที่ปรากฏในเสภา คือขุนช้างขุนแผนนางวันทอง ๓ คนนี้เป็นชาวสุพรรณ นางวันทองเป็นชู้กับขุนแผนแต่เมื่อยังเป็นพลายแก้ว แล้วทำนองจะขอสู่กันไว้แต่ยังไม่ทันแต่งงาน ในระยะนี้พลายแก้วต้องเกณฑ์ไปทัพ (ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ทัพ) หายไปเสียนาน ทางนี้ขุนช้างพยายามจนได้นางวันทองไปเป็นเมีย พลายแก้วกลับจากทัพได้เป็นที่ขุนแผนสะท้าน ตำแหน่งปลัดซ้ายกรมตำรวจภูบาล จึงลักนางวันทองไป ขุนช้างติดตาม ขุนแผนทำร้ายขุนช้างอย่างไรอย่างหนึ่ง ขุนช้างจึงเข้ามากล่าวโทษขุนแผน สมเด็จพระพันวษาให้ข้าหลวงออกติดตาม ขุนแผนฆ่าข้าหลวงเสีย แล้วจึงหนีขึ้นไปเมืองเหนือ แต่ลงปลายเข้าหาพระพิจิตรโดยดี พระพิจิตรจึงบอกส่งลงมากรุงฯ น่าสงสัยว่า จะเป็นในตอนนี้เองที่มีรับสั่งให้ฆ่านางวันทอง ฐานเป็นหญิงสองใจ แล้วเอาขุนแผนจำคุกไว้ โดยโทษที่ฆ่าข้าหลวง แต่ลดหย่อนเพราะเข้ามาลุแก่โทษ อยู่มาเกิดศึกเชียงใหม่ เวลาเสาะหาทหาร จมื่นศรีฯ ทูลยกย่องขุนแผน ขุนแผนจึงพ้นโทษด้วยจะให้ไปทำการศึก ขุนแผนไปรบพุ่งมีชัยชนะ จึงเลยมีชื่อเสียงเป็นคนสำคัญ น่าเข้าใจว่า ทำนองเรื่องขุนช้างขุนแผนเดิมจะมีเท่านี้เอง นอกจากนี้เห็นจะเป็นของแต่งประกอบขึ้นในตอนเมื่อเป็นนิทานแลเป็นเสภาในภายหลัง

ว่าด้วยหนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน

หนังสือกลอนของโบราณ ที่เกิดขึ้นด้วยเอานิทานมาแต่งเป็นกลอนสำหรับขับลำนำ ไม่ใช่มีแต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว หนังสือเรื่องตำนานและเรื่องชาดกต่างๆ ที่แต่งเป็นกลอนสำหรับสวดก็เป็นของเกิดขึ้นโดยนัยอันเดียวกัน คือเอาเรื่องนิทานที่สำหรับเล่ามาแต่งเป็นกลอนสำหรับอ่าน เมื่ออ่านก็ทำทำนองเป็นลำนำเช่นอ่านตามศาลาแลวิหาร อันเป็นเหตุให้เรียกว่า “โอ้เอ้วิหารราย” นั้นเป็นต้น ก็คือเล่านิทานให้คนฟังนั้นเอง หนังสือสวดนั้นเชื่อไว้ว่า มีมาก่อนหนังสือเสภาช้านาน และมีแพร่หลายจนถึงเมืองลาวข้างฝ่ายเหนือก็เอานิทานและชาดกมาแต่งเป็นหนังสือสำหรับแอ่วโดยทำนองอันเดียวกัน แต่เมื่อพิเคราะห์ดูว่า การที่เอาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาแต่งเป็นกลอนเสภา จะเอาแบบอย่างมาจากหนังสือสวดฤๅอย่างไร สันนิษฐานเห็นว่า น่าจะเป็นการเกิดขึ้นทางหนึ่งต่างหากไม่ได้เอาอย่างจากหนังสือสวด เกิดขึ้นแต่การที่เล่านิทานกันตามบ้านนั้นเอง

ลักษณะนิทานที่เล่ากันแต่โบราณ ฤๅแม้ตลอดลงมาจนในปัจจุบันทุกวันนี้ ผิดกับชาดกอันเป็นต้นเค้าของหนังสือสวดในข้อสำคัญอย่าง ๑ ที่นิทานมักหยาบและโลน ข้อนี้ไม่ใช่เพราะคนเล่าแลคนฟังนิทานมีอัชฌาสัยชอบหยาบและโลนทั่วไป ความจริงน่าจะเกิดแต่คติในทางอาถรรพ์มีมาแต่ดึกดำบรรพ์ ที่ถือว่าถ้าปิศาจเอ็นดูอยากได้ผู้ใด ก็อาจจะบันดาลให้ล้มตายเอาตัวไปเลี้ยงดูใช้สอยในเมืองผี จึงเกิดวิธีแก้โดยอาการที่กระทำให้ปิศาจเห็นว่าเป็นคนหยาบคนโลน ไม่ควรปิศาจจะเอาไปเลี้ยงดู คติอันนี้เป็นเหตุให้เกิดความประพฤติหลายอย่าง ที่ยังถือลงมาจนในชั้นหลัง เป็นต้นว่าทางเมืองเชียงใหม่ ถ้าลูกเจ้าหลานนายเกิดมามักให้ชื่อ ๒ ชื่อ ชื่อ ๑ เป็นชื่อสามัญสำหรับตัว อิกชื่อ ๑ สำหรับเรียกให้ผีเกลียดเช่นชื่อว่า “อึ่ง” บ้าง “กบ” บ้าง “เขียด” บ้าง ลักษณะที่คนเล่นเพลงปรบไก่ก็ดี เทพทองก็ดี ซึ่งไม่มีอะไรนอกจากเกี้ยวกันโดยกระบวนหยาบช้า ถึงขุดโคตรเค้าเหล่ากอ ด่ากันเล่นต่อหน้าธารกำนัล ก็เชื่อว่ามาแต่คติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ปิศาจรังเกียจบุคคลฤๅวัตถุที่เป็นเหตุแห่งมหรสพ ด้วยเหตุนี้ ในงานสมโภชพระยาช้างเผือกมาถึงพระนคร จึงต้องมีเทพทองเป็นของขาดไม่ได้มาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ยังมีอิกอย่าง ๑ เช่นเด็กผูกขุนเพ็ดก็ดี ฤๅที่คนทำขุนเพ็ดไปถวายเจ้าก็ดี ก็น่าจะมาโดยคติอันเดียวกัน โดยประสงค์จะให้ผีชังเด็กนั้น แลให้เจ้าชังคนที่เอาขุนเพ็ดถวาย ไม่ต้องการเอาไปเมืองผี มิใช่ถวายเพราะเจ้าจะชอบพอขุนเพ็ดอย่างใด การเล่านิทานเป็นมหรสพโดยเฉพาะในงานเรียกขวัญเช่นงานโกนจุก ที่เล่านิทานเรื่องหยาบๆ ก็จะเนื่องด้วยเรื่องจะให้ผีรังเกียจเด็กที่โกนจุกนั้น อยู่ในคติอันเดียวกัน นิทานที่เล่ากันจึงมักจะหยาบ แลจึงให้อภัยกันโดยประเพณีที่กล่าวมาแล้ว ครั้นเคยชินกันมาก็เลยเป็นธรรมเนียม จนกลายเป็นของขบขัน ถึงเรื่องขุนช้างขุนแผนเมื่อยังเล่ากันเป็นนิทาน ก็คงเล่าอย่างหยาบๆ ข้อนี้ยังเห็นได้ แม้จนบทเสภาที่ขับกันในพื้นบ้านเมืองก็อยู่ข้างหยาบ แต่ไม่หยาบอย่างสามหาวเหมือนนิทานอื่นๆ ทั้งตัวเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องสนุก จับใจคนยิ่งกว่าเรื่องนิทานอื่นๆ ทั้งสิ้น เห็นจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงได้นิยมแต่ในเรื่องขุนช้างขุนแผนเรื่องเดียว

ในชั้นแรกที่จะเกิดเสภา ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า เห็นจะแต่งเป็นกลอนแต่บทที่สำคัญในเรื่องขุนช้างขุนแผน เช่นบทสังวาส บทพ้อ บทชมโฉมแลชมดงเป็นต้น เมื่อเล่านิทานไปถึงตรงนั้น จึงว่ากลอนแทรกเป็นทำนองนิทานทรงเครื่อง เหตุใดจึงเห็นดังนี้ อธิบายว่าเพราะแต่เดิมเรื่องขุนช้างขุนแผนเล่าเป็นนิทาน แลธรรมดาเล่านิทานนั้น จะเล่าคนเดียวก็ตาม ฤๅผลัดกันเล่าหลายคนก็ตาม คงต้องเล่าแต่ต้นจนจบเรื่องนิทานทุกเรื่อง นิทานเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องยืดยาว ที่จะแต่งเป็นกลอนให้จบเรื่องในคราวเดียวยาวนัก แม้แต่งได้ก็จะเล่าให้จบเรื่องในคืนเดียวไม่ได้ จึงสันนิษฐานว่า ในชั้นแรกเมื่อจะเกิดเสภาเห็นจะแต่งเป็นกลอนเพียงบทสำหรับว่าสลับแต่ในตอนที่สำคัญ แล้วเล่านิทานต่อไปจนจบเรื่องขุนช้างขุนแผน กลอนที่แต่งชั้นนี้ อาจจะเป็นกลอนสดคิดขึ้นว่าในเวลาเล่านิทานนั้น ครั้นเมื่อคนฟังชอบ ต่อมาอิกชั้น ๑ จึงมีกวีคิดแต่งเป็นกลอนทั้งตัวนิทานเอาไปขับเป็นเสภา จึงเกิดหนังสือเสภามาแต่นั้น แต่เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องยาวดังกล่าวมาแล้ว เมื่อแต่งเป็นกลอนแลขับเป็นลำนำด้วย ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะขับให้ตลอดเรื่องได้ในคืนเดียว บทเสภาที่แต่งขึ้นจึงแต่งแต่เป็นตอนพอขับคืน ๑ เมื่อเอาอย่างกันแพร่หลายแต่งกันขึ้นหลายคน ใครชอบใจจะขับตอนไหน ก็แต่งเป็นกลอนเฉพาะตอนที่จะขับนั้น ด้วยเหตุนี้ บทเสภาเดิมทั้งที่แต่งครั้งกรุงเก่า ฤๅแม้ที่แต่งขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ตามแบบอย่างครั้งกรุงเก่าจึงเป็นท่อนเป็นตอน ไม่เป็นเรื่องติดต่อกันเหมือนกับบทละคร การที่เอาบทเสภามารวมติดต่อกันให้เป็นเรื่องอย่างหนังสือเสภาที่ลงพิมพ์ มีหลักฐานที่รู้ได้ว่า พึ่งเอามารวมกันในชั้นหลังเมื่อราวรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์นี้ ดังจะอธิบายต่อไปข้างหน้า

หนังสือเสภาที่แต่งเมื่อครั้งกรุงเก่าเห็นจะสูญเสียแทบหมด ด้วยหนังสือเสภาผิดกับหนังสือบทละครแลหนังสือสวด เพราะลักษณะการเล่นละครแลสวดต้องอาศัยหนังสือ ใครเล่นละครก็จำต้องมีหนังสือบทสำหรับโรง ถ้าไม่มีหนังสือก็เล่นละครไม่ได้ หนังสือสวดก็ต้องใช้ในเวลาสวดโดยทำนองเดียวกัน แต่หนังสือเสภาไม่เช่นนั้น แต่งขึ้นสำหรับให้คนขับท่องพอจำได้ จำได้แล้วก็ไม่ต้องใช้หนังสือ ใช่แต่เท่านั้น ใครแต่งหนังสือเสภาขึ้นสำหรับขับหากิน น่าจะปิดหนังสือด้วยซ้ำไป เพราะกลัวผู้อื่นจะได้ไปขับแข่งตน จะให้อ่านท่องก็เห็นจะเฉพาะที่เป็นศิษย์หา หนังสือเสภาย่อมจะมีน้อย แลเป็นของปกปิดกันจึงสาบสูญง่าย ไม่เหลือลงมามากเหมือนหนังสือบทละครแลหนังสือสวดครั้งกรุงเก่า

บทเสภาครั้งกรุงเก่าที่ได้มาถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ได้มาด้วยมีคนเสภาครั้งกรุงเก่าเหลือมาบ้าง แต่บทที่คนเสภาเหล่านั้นจะได้หนังสือมาฤๅจำมาได้ก็จะไม่กี่ตอน สักว่าได้มาพอเป็นเชื้อ บทเสภาที่ขับกันในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ แม้ในชั้นสำนวนเก่า ได้สังเกตสำนวนดู เชื่อได้ว่าเป็นของที่มาคิดแต่งขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งนั้น

ตำนานเสภาชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีหลักฐานพอจะรู้เรื่องราวได้ถ้วนถี่ดีกว่าครั้งกรุงเก่าหลายอย่าง ข้าพเจ้าได้พบหนังสือซึ่งนับว่าเป็นจดหมายเหตุในเรื่องเสภามีอยู่ ๒ ฉบับ คือกลอนสุนทรภู่แต่งไว้ในบทเสภาตอนโกนจุกพลายงามแห่ง ๑ กลอนท้ายไหว้ครูเสภาใครแต่งก็หาทราบไม่ นายอยู่เสภาชาวอ่างทองว่าให้ข้าพเจ้าฟัง ได้ให้จดไว้อิกฉบับ ๑ หนังสือกลอน ๒ ฉบับนี้ให้เค้าเงื่อนทางวินิจฉัยตำนานเสภาหลายข้อ ดังจะอธิบายต่อไป

กลอนของสุนทรภู่

สมภารมารับกลับมายังอาวาส เสียงพิณพาทย์พวกพ้องทองประศรี
หาเสภามาทั่วที่ตัวดี ท่านตามีช่างประทัดถนัดรบ
ดูทำนองพองคอเสียอ้อแอ้ พวกคนแก่ชอบหูว่ารู้จบ
ตารองศรีดีแต่ขันรู้ครันครบ กรับกระทบทำหลอกแล้วกลอกตา
แล้วนายทั่งดังโด่งเสียงโว่งโวก ว่ากระโชกกระชั้นขันหนักหนา
ฝ่ายนายเพชรเม็ดมากลากช้าช้า ตั้งสามว่าสองศอกเหมือนบอกยาว
ส่วนนายมาพระยานนท์คนตลก ว่าหยกหยกหยาบช้าคนฮาฉาว
ตาทองอยู่รู้ว่าภาษาลาว ส่งกราวเชิดเพลงโหน่งเหน่งไป ฯ

กลอนไหว้ครู

๏ ทีนี้จะไหว้ตาครูสน เป็นนายประตูครูคนทุกแหล่งหล้า
ไหว้ครูมีช่างประทัดถัดลงมา ครูเพ็งเก่งว่าข้างสุพรรณ
จะไหว้ตาครูเหร่ชอบเฮฮา พันรักษาราตรีดีขยัน
ตาทองอยู่ครูละครกลอนสำคัญ ตาหลวงสุวรรณรองศรีที่บรรลัย
เมื่อครั้นพระจอมนรินทร์แผ่นดินลับ เสภาขับยังหามีปี่พาทย์ไม่
มาเมื่อพระองค์ทรงชัย ก็เกิดคนดีในอยุธยา
ทั้งปรบไก่ครึ่งท่อนกลอนไม่ขัด ข้าพเจ้าไม่สันทัดพึ่งหัดว่า
ว่าไปมิใช่ไวปัญญา ครูชื่อว่ามาพระยานนท์
ตลกโขนหนังเล่นเห็นไม่ขาด ฆ้องระนาดส่งได้ไม่ขัดสน
ให้เรียนรู้เป็นครูไว้ทุกคน ฦๅกระเดื่องเลื่องจนบรรลัยไป ฯ
๏ ทีนี้จะไหว้ครูปี่พาทย์ ฆ้องระนาดฦๅดีปี่ไฉน
ทั้งครูแก้วครูพักเป็นหลักชัย ครูทองอินนั่นแลใครไม่เทียมทัน
มือก็ตอดหนอดหนักขยักขย่อน ตาพูนมอญมิใช่ชั่วตัวขยัน
ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงฦๅ
รับตาเกดปรอทยอดเสภา ทั้งครูน้อยเจรจาคนนับถือ
อิกครูแจ้งแต่งอักษรขจรฦๅ ครูอ่อนว่าพิมระบือชื่อขจร
ครั้นจะร่ำไปนักก็จักช้า ทีนี้จะว่าเสภาตามครูสอน
ข้าพเจ้าพลั้งพลาดบาทบทกลอน ขออภัยเถิดอย่าค่อนนินทาเลย

ชื่อครูเสภาที่ปรากฏในกลอนทั้ง ๒ ฉบับนี้ ที่ปรากฏชื่อในกลอนของสุนทรภู่ เป็นคนเสภามีชื่อเสียงในครั้งรัชกาลที่ ๒ สุนทรภู่ได้เคยฟังคนเหล่านั้นขับ จึงรู้ว่าทำนองของใครเป็นอย่างไร ส่วนชื่อครูเสภาที่ปรากฏในกลอนไหว้ครูนั้น เห็นได้ว่ารวบรวมชื่อคนเสภาเก่าใหม่บรรดาที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ทั้งที่มีตัวอยู่แลที่ตายไปเสียแล้วมาระบุไว้ ที่ซ้ำกับในบาญชีของสุนทรภู่ก็หลายคน และรู้ได้ว่าแต่งทีหลังกลอนของสุนทรภู่ เพราะอ้างถึงครูเสภาร่วมกับสุนทรภู่ เช่นนายมาพระยานนท์เป็นต้น แต่ในฉบับไหว้ครูบอกว่าตายเสียแล้ว จึงรู้ว่าแต่งทีหลัง

ในกลอนทั้ง ๒ ฉบับ มีชื่อครูเสภา ๑๔ คน ครูปี่พาทย์ ๕ คน ได้ลองสืบประวัติได้แต่บางคน คือ

๑. ครูทองอยู่ มีทั้งชื่อในกลอนสุนทรภู่แลกลอนไหว้ครู คนนี้ได้ความว่าเป็นคนสำคัญทีเดียว เดิมเป็นตัวละครพระเอกของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์แต่ในรัชกาลที่ ๑ ครั้นเมื่อหัดละครหลวงในรัชกาลที่ ๒ ได้เป็นครูนายโรงละครหลวงรุ่นใหญ่ เช่นเจ้าจอมมารดาแย้มอิเหนาเป็นต้น แลว่าเป็นที่ปรึกษาหารือของเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ในการคิดแบบใช้บทรำละคร ที่ใช้รำกันมาจนทุกวันนี้ นัยว่า ครั้งนั้นเมื่อทรงพระราชนิพนธ์บทละครแล้ว พระราชทานออกไปที่เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรีเอาพระฉายบานใหญ่มาตั้ง ทรงลองจัดวิธีรำให้เข้ากับบทกับครูทองอยู่ด้วยกัน เมื่อเห็นว่าอย่างไรเรียบร้อยดีแล้ว จึงมอบให้ครูทองอยู่ถ่ายมาฝึกหัดละคร ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ครูทองอยู่นี้ได้เป็นครูละครที่ฝึกหัดขึ้นตามวังเจ้านายเกือบจะทุกแห่ง เรียกได้ว่าเป็นครูละครทั้งเมือง ถึงมีชื่อบูชากันในคำไหว้ครูละครจนตราบเท่าทุกวันนี้ มีครูนางอิกคน ๑ ชื่อว่าครูรุ่ง เป็นคู่กับครูทองอยู่ แต่เห็นจะขับเสภาไม่เป็น ส่วนครูทองอยู่นั้น ยังดีในทางเสภาด้วยอิกทาง ๑ จึงมีชื่อในพวกครูเสภาด้วย

๒. ครูแจ้ง คนนี้เป็นรุ่นหลัง มีอายุอยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๕ บ้านอยู่หลังวัดระฆังฯ แต่เดิมมีชื่อเสียงในการเล่นเพลง ถึงอ้างชื่อไว้ในบทเสภาตอนทำศพนางวันทอง ว่าหานายแจ้งมาว่าเพลงกับยายมา คือครูแจ้งคนนี้เอง มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครูแจ้งกับยายมานี้เป็นคนเพลงที่เลื่องฦๅกันในรัชกาลที่ ๓ อยู่มาไปเล่นเพลงครั้ง ๑ ยายมาด่ามาถึงมารดาครูแจ้งด้วยข้อความอย่างไรอย่างหนึ่ง ซึ่งครูแจ้งแก้ไม่ตก ขัดใจจึงเลิกเพลง หันมาเล่นเสภา แลเป็นนักสวดด้วย ได้แต่งเสภาไว้หลายตอน ดังจะปรากฏบางตอนในเสภาฉบับนี้ ด้วยแต่งกลอนดี แต่กระเดียดจะหยาบ เห็นจะเป็นเพราะเคยเล่นเพลงปรบไก่ ถึงลำสวดที่สวดกันมาในชั้นหลัง ว่าเป็นลำของครูแจ้งประดิษฐ์ขึ้นก็มี จึงนับว่าครูแจ้งเป็นครูเสภาสำคัญอิกคน ๑

๓. ครูปี่พาทย์ชื่อว่าครูมีแขกนั้น คือเป็นเชื้อแขกชื่อมี ว่าเล่นเครื่องดุริยดนตรีได้เกือบทุกอย่าง เป็นคนฉลาดสามารถแต่งเพลงดนตรีด้วย มีชื่อร่ำฦๅเพลงของครูมีนี้ คือ ทยอยในทยอยนอก ๓ ชั้นเป็นต้น ยังเล่นกันอยู่จนทุกวันนี้ทั่วทุกวง แทบจะถือกันว่า ถ้าใครเล่น ๒ เพลงนี้ไม่ได้ นับว่ายังไม่เป็น ครูมีนี้ทำนองจะถนัดปี่ จึงปรากฏในคำไหว้ครูว่า

“ครูมีแขกคนนี้เขาดีครัน เป่าทยอยลอยลั่นบรรเลงฦๅ”

แต่ทยอยซึ่งว่าในที่นี้ เป็นอิกเพลง ๑ ไม่ใช่ทยอยนอก ทยอยใน ที่กล่าวมาแล้ว ปี่เป่าแต่เลาเดียว พวกปี่พาทย์เรียกกันว่า “ทยอยเดี่ยว” เป็นเพลงครูมีแต่งเหมือนกัน ครูมีนี้ดีมาแต่ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อในรัชกาลที่ ๔ เจ้านายหลายพระองค์ มีพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระเทเวศร์ฯ กรมหลวงวงศาฯ เป็นต้น ทรงรวบรวมคนหัดปี่พาทย์ขึ้นเล่นประชันวงกัน ครูมีคนนี้ได้เป็นครูปี่พาทย์ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประดิษฐ์ไพเราะ ตำแหน่งปลัดจางวางมหาดเล็ก ได้ว่ากรมปี่พาทย์ฝ่ายพระบวรมหาราชวัง อยู่มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เป็นครูมโหรีของสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

ที่นี้จะอธิบายตำนานเสภาที่วินิจฉัยได้ความจากกลอนทั้ง ๒ ฉบับนั้นต่อไป คือได้ความว่า ครูเสภาที่เก่าแก่ก่อนคนในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ชื่อนายสน เป็นนายประตู อาจจะเป็นคนเสภามาแต่ครั้งกรุงเก่ามาเป็นครูเสภาในครั้งรัชกาลที่ ๑ ตายเสียก่อนสุนทรภู่แต่งกลอน จึงมิได้กล่าวถึงชื่อ จึงรู้ได้ว่าเป็นครูเสภาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ข้อนี้ที่เป็นเหตุให้เห็นว่า มีคนเสภากรุงเก่าเป็นเชื้อลงมาในกรุงรัตนโกสินทร์ ครูเสภาที่สุนทรออกชื่อ ๖ คนนั้น เป็นครูเสภาครั้งรัชกาลที่ ๒ คนเหล่านี้ประมาณอายุดู เห็นว่าเกิดไม่ทันที่จะเป็นเสภาครั้งกรุงเก่า คงเป็นคนเสภารุ่นแรกที่หัดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อลงมายังมีครูเสภารุ่นหลังที่ดีขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ปรากฏชื่อในกลอนไหว้ครูก็หลายคน

ครูเสภาทั้งปวงนี้มิใช่แต่ขับเสภาได้อย่างเดียว อาจจะแต่งบทเสภาได้ด้วย จึงจะยกย่องว่าเป็นครูเสภา หนังสือเสภารุ่นแรกที่เกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ คงเป็นครูเสภาเหล่านี้แต่งขึ้นโดยมาก มีตัวอย่างสำนวนที่ยังจะสังเกตเห็นได้ในหนังสือเสภาที่พิมพ์หลายแห่ง เช่นตอนที่ ๑ ในเล่มนี้ (ทั้งมีสำนวนใหม่ซ่อมเสียบ้างแล้ว) ยังสังเกตได้ว่า คล้ายกลอนครั้งกรุงเก่า ไม่สู้ถือสัมผัสเป็นสำคัญ ความที่ว่าก็อยู่ข้างจะเร่อร่า เสภาสำนวนเดิมในกรุงรัตนโกสินทร์ที่กล่าวนี้ ก็คงแต่งกันเป็นตอนๆ เหมือนอย่างครั้งกรุงเก่า จึงมีเนื้อความกล่าวไว้ในกลอนว่า

“ท่านตามีช่างประทัดถนัดรบ” หมายความว่า ชอบขับตอนพลายแก้วไปตีเมืองเชียงทอง หรือตอนขุนแผนตีเมืองเชียงใหม่

“ตาทองอยู่รู้ว่าภาษาลาว” หมายความว่า ชอบขับตอนนางลาวทอง ฤๅตอนนางสร้อยฟ้าศรีมาลา

“ครูอ่อนว่าพิมระบือชื่อขจร” หมายความว่า ชอบขับตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม ดังนี้

หนังสือเสภา พึ่งมาเป็นหนังสือดีวิเศษขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ความข้อนี้มีหลักฐานรู้ได้แน่นอน แม้ในกลอนไหว้ครูที่ว่ามาแล้วยังกล่าวถึงว่า

“เมื่อครั้งพระจอมนรินทร์แผ่นดินลับ เสภาขับยังหามีปี่พาทย์ไม่
มาเมื่อพระองค์ทรงชัย ก็เกิดคนดีในอยุธยา”

ตรงนี้หมายความว่า เมื่อก่อนรัชกาลที่ ๒ เสภายังขับกันอย่างเล่านิทาน ไม่มีส่งปี่พาทย์ ลักษณะขับเสภาในขั้นนั้น เข้าใจว่าเห็นจะขับแต่ ๒ คนขึ้นไป วิธีขับผลัดกันคนละตอน ให้คน ๑ ได้มีเวลาพัก ฤๅมิฉะนั้น ถ้าเป็นคนเสภาเก่งๆ เจ้าของงานเลือกเรื่องให้ว่าตอนใดตอนหนึ่ง ให้แต่งกลอนสดโต้กันอย่างว่าเพลงปรบไก่ อย่างนี้เรียกว่าเสภาต้น เคยได้ยินว่ามีกันแต่ก่อน ครั้นเมื่อมีวิธีส่งปี่พาทย์แล้ว จึงขับแต่คนเดียวเป็นพื้น ด้วยเวลาที่ปี่พาทย์ทำผู้ขับเสภาได้พัก

แต่เมื่อในรัชกาลที่ ๒ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงกระบวนเสภาแต่ให้มีวิธีส่งปี่พาทย์ขึ้นเท่านั้น ถึงบทเสภาเองก็แต่งใหม่ในสมัยนั้นโดยมาก บทเสภาที่นับถือกันว่าวิเศษในทุกวันนี้ เป็นบทแต่งครั้งรัชกาลที่ ๒ แทบทั้งนั้น ที่เป็นพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเองก็มี ความข้อนี้ข้าพเจ้าได้เคยทูลถาม สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า “ได้ยินเขาพูดกันว่า บทเสภานั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์จริงฤๅอย่างไร” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ มีรับสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า “ทรงพระราชนิพนธ์จริง ไม่ทรงอย่างเปิดเผย แต่ช่วยกันแต่งหลายคน” ข้าพเจ้าได้สดับกระแสรับสั่งมาดังนี้ ยังนึกเสียดายว่าครั้งนั้นหนักปากไปเสีย ถ้าได้ทูลถามชื่อผู้แต่งไว้ให้ได้หมด แลรู้ว่าใครแต่งตอนไหนด้วยก็จะดีทีเดียว เมื่อมาอยากรู้ขึ้นในเวลานี้ได้แต่สังเกตสำนวนกลอน เข้าใจว่าจะมีพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อยังเป็นกรมได้ทรงพระราชนิพนธ์ด้วยอีกพระองค์ ๑ แต่ที่จำสำนวนได้แน่นอนนั้น คือสุนทรภู่อีกคน ๑ แต่งตอนกำเนิดพลายงาม ตั้งแต่พลายงามเกิดจนถวายตัวเป็นมหาดเล็ก เป็นกลอนสำนวนสุนทรภู่เป็นแน่ไม่มีที่สงสัย ส่วนพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ นั้น กล่าวกันมาว่า ทรงตอนพลายแก้วเป็นชู้กับนางพิม อยู่ในตอนที่ ๔ เล่ม ๑ นี้ตอน ๑ กับตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้างแลเข้าห้องนางแก้วกิริยา อยู่ตอนที่ ๑๗ ในเล่ม ๒ ฉบับนี้อีกตอน ๑ แต่ข้าพเจ้าสังเกตสำนวนกลอนเห็นว่า ตอนนางวันทองหึงนางลาวทองเมื่อขุนแผนกลับมาถึงบ้าน อยู่ในตอนที่ ๑๓ ในเล่ม ๑ นี้ ดูเหมือนจะเป็นพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ อีกตอน ๑ ส่วนพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เข้าใจว่าจะเป็นตอนขุนช้างขอนางพิม และตอนขุนแผนพานางวันทองหนี อยู่ต่อพระราชนิพนธ์ทั้ง ๒ ตอน ผู้ที่แต่งเสภาครั้งรัชกาลที่ ๒ ถึงไม่รู้จักตัวได้หมด ก็เชื่อได้ว่าคงอยู่ในพวกกวีที่มีชื่อเสียงในรัชกาลนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ทรงหารือเวลาทรงพระราชนิพนธ์บทกลอน ฤๅอีกนัย ๑ ก็คือพวกกวีชุดเดียวกันกับที่แต่งหนังสือบทละครในรัชกาลที่ ๒ มีเรื่องอิเหนาแลรามเกียรติ์เป็นต้นนั้นเอง ที่แต่งบทเสภา ถ้าสังเกตดูทำนองกลอนก็จะเห็นได้ว่า กลอนเสภาที่ตอนดีๆ คล้ายๆ กันกับบทละครในรัชกาลที่ ๒ ไม่ห่างไกลกันนัก แต่ผิดกันในข้อสำคัญที่เสภาไม่มีบังคับเหมือนอย่างบทละคร ที่จะต้องแต่งให้เข้ากับกระบวนคนรำ แต่เสภาบทจะยาวสั้นอย่างไรแล้วแต่จุใจของผู้แต่ง อยากจะว่าอย่างไรก็ว่าได้สิ้นกระแสความ อีกประการ ๑ สำนวนเสภาแต่งเป็นอย่างเล่านิทาน ถือเป็นข้อสำคัญอยู่ที่จะต้องแต่งให้เห็นเป็นเรื่องจริงจัง เป็นต้นว่าถ้อยคำสำนวนที่พูดจากันในเสภา แต่งคำคนชนิดไรก็ให้เหมือนถ้อยคำคนชนิดนั้น แลพูดจาตามวิสัยของคนชนิดนั้น แม้กล่าวถึงที่ทางไปมาในเรื่องเสภาก็ว่าให้ถูกแผนที่สมจริง ข้อนี้ข้าพเจ้าเคยไปตามท้องที่ที่อ้างในเสภาหลายแห่ง ได้ลองสอบสวนเห็นกล่าวถูกต้องโดยมาก ดูเหมือนเมื่อแต่งบทเสภาจะถึงต้องสอบถามแผนที่กันมิใช่น้อย ว่าโดยย่อ การแต่งบทเสภามีกระบวนที่จะแต่งได้กว้างขวางกว่าบทละคร ทั้งเนื้อเรื่องขุนช้างขุนแผนเองก็เป็นเรื่องสนุก มีท่าทางที่จะแต่งเล่นได้หลายอย่าง ประกอบกับที่ไม่เปิดเผยชื่อผู้แต่งให้ปรากฏ ผู้แต่งได้อิสระเต็มที่

ด้วยเหตุเหล่านี้ พวกกวีที่แต่งบทเสภา จึงแต่งประกวดกันเต็มฝีปาก ว่าเผ็ดร้อนถึงอกถึงใจ เป็นหนังสือซึ่งให้เห็นสำนวนกวีต่างๆ กันเป็นอย่างดี หนังสือเสภาจึงวิเศษในกระบวนหนังสือกลอน ผิดกับหนังสือเรื่องอื่นที่แต่งมาก่อนแล้ว ฤๅที่แต่งในยุคเดียวกันนั้น จะเปรียบเทียบกับเสภาไม่ได้สักเรื่องเดียว หนังสือเสภาจึงเป็นเสน่ห์ ใครอ่านแล้วย่อมชอบติดใจ ตั้งแต่เดิมมาจนกาลบัดนี้

หนังสือเสภาที่แต่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็แต่งเป็นตอนๆ แล้วแต่กวีคนใดจะพอใจแต่งเรื่องตรงไหน ก็รับไปแต่ง ตอน ๑ ดูเหมือนจะกะพอขับคืน ๑ ประมาณราว ๒ เล่มสมุดไทย ข้อนี้รู้ได้โดยสังเกตสำนวนหนังสือ แลได้ทราบว่า เมื่อแต่งแล้วเอาเข้ามาขับถวายตัวเวลาทรงเครื่องใหญ่ จึงเป็นประเพณีมีขับเสภาถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่มาในรัชกาลหลังๆ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านพิภพ ก็ทรงเจริญแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๒ โปรดให้ขอแรงกวีแต่งเสภาเรื่องพระราชพงศาวดารขึ้นอิกเรื่อง ๑ สำหรับขับถวายเวลาทรงเครื่องใหญ่ ใครจะแต่งบ้างหาทราบไม่ แต่สุนทรภู่ยังมีชีวิตอยู่ได้แต่งด้วย เสียดายที่หนังสือเสภาพระราชพงศาวดารแต่งคราวนั้น ฉบับสูญหายเสียหมด มีแต่ที่จำกันไว้ได้เป็นตอนๆ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นคราว ๑ แต่อ่านดูสู้เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนไม่ได้ ด้วยเนื้อเรื่องหนังสือพระราชพงศาวดารไม่ชวนแต่งเสภาเหมือนเรื่องขุนช้างขุนแผน นอกจากเรื่องพระราชพงศาวดาร ยังมีเสภาเรื่องเชียงเมี่ยง คือเรื่องศรีธนญไชยอิกเรื่อง ๑ เข้าใจว่าแต่งขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ เหมือนกัน แต่จะแต่งขึ้นเมื่อไร แลใครจะแต่งหาทราบไม่ มีแต่ต้นฉบับอยู่ในหอพระสมุดฯ สังเกตสำนวนกลอนแลลายมืออาลักษณ์ที่เขียนเป็นครั้งรัชกาลที่ ๔ ต่อมาในรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ขอแรงกวีแต่งเสภาเรื่องนิทราชาคริชอีกเรื่อง ๑ โดยทำนองเดียวกับที่แต่งเสภามาในครั้งรัชกาลที่ ๒ แลที่ ๔ ปรากฏตัวผู้แต่ง ๑๑ คน คือ

ตอนที่ ๑ หลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่ ครูเสภา) ภายหลังเป็นพระราชมนู

ตอนที่ ๒ พระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น)

ตอนที่ ๓ ขุนวิสูตรเสนี (จาง)

ตอนที่ ๔ ขุนพินิจจัย (อยู่) ภายหลังเป็นหลวงภิรมย์โกษา

ตอนที่ ๕ หลวงบรรหารอรรถคดี (สุด) ภายหลังเป็นพระภิรมย์ราชา

ตอนที่ ๖ ขุนวิสุทธากร (ม.ร.ว. หนู) ภายหลังเป็นพระยาอิศรพันธุ์โสภณ

ตอนที่ ๗ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)

ตอนที่ ๘ ขุนท่องสื่อ (ช่วง) ภายหลังเป็นหลวงมงคลรัตน์

ตอนที่ ๙ หลวงเสนีพิทักษ์ (อ่วม) ภายหลังเป็นพระยาราชวรานุกูล

ตอนที่ ๑๐ หลวงสโมสรพลการ (ทัด) เดี๋ยวนี้เป็นพระยาสโมสรสรรพการ

ตอนที่ ๑๑ หลวงจักรปาณี (ฤกษ์เปรียญ) ที่แต่งนิราศพระปฐมเจดีย์

หนังสือที่เรียกว่าเสภาหลวง จึงมี ๔ เรื่องด้วยกันดังแสดงมานี้ แต่เสภาเรื่องนิทราชาคริชที่ในหอพระสมุดมีฉบับอยู่เพียง ๕ ตอนข้างต้น ถ้าตอนอื่นของท่านผู้ใดมี และยอมให้หอพระสมุดคัดลอกรักษาไว้จะขอบคุณเป็นอันมาก

หนังสือเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราอ่านกันทุกวันนี้ ไม่ใช่แต่งแต่เมื่อรัชกาลที่ ๒ ทั้งหมด บทที่แต่งต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ก็มีหลายตอน ข้อนี้รู้ได้ด้วยสังเกตในตัวความที่กล่าวในเรื่องเสภานั้น จะยกตัวอย่าง ดังเช่นตอนแต่งงานพลายแก้วกับนางพิม ในตอนที่ ๗ เล่ม ๑ นี้ กล่าวตรงขุนช้างแต่งตัวเมื่อจะไปเป็นเพื่อนบ่าวพลายแก้ว ในเสภาว่า

“คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้า ยกทองของพระยาละครให้”

ตรงนี้เป็นสำคัญว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยพระยาละครฯ มีแต่ในรัชกาลนั้น รัชกาลที่ ๑ แลรัชกาลที่ ๓ เป็นเจ้าพระยาทั้ง ๒ รัชกาล ต่อมาตอนขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง ก็สังเกตได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๒ ด้วยชมเรือนขุนช้างว่า

“เครื่องแก้วแพรวพรรณอยู่ก่ายกอง ฉากสองชั้นม่านมุลี่มี”

เพราะเล่นเครื่องแก้วกันเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ส่วนตอนที่รู้ได้ว่าแต่งในรัชกาลที่ ๓ นั้น เช่นตอนทำศพนางวันทอง มีกล่าวว่า

“นายแจ้งก็มาเล่นเต้นปรบไก่ ยกไหล่ใส่ทำนองร้องฉ่าฉ่า
รำแต้แก้ไขกับยายมา เฮฮาครื้นครั่นสนั่นไป”

นายแจ้งนี้คือครูแจ้งเสภาชั้นหลัง ที่มีอายุอยู่มาจนรัชกาลที่ ๕ เป็นคนเพลงดีมีชื่อเสียงในรัชกาลที่ ๓ จึงรู้ว่าเสภาตอนนี้แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ตอนอื่นที่มีที่สังเกตอย่างนี้ก็ยังมีอิก แต่ได้ลองตรวจจะให้รู้ชัดให้ตลอดเรื่องว่าตอนไหนแต่งในรัชกาลที่ ๒ ตอนไหนแต่งในรัชกาลที่ ๓ รู้ไม่ได้ ด้วยไม่มีความเป็นที่สังเกตเสียมาก ลำพังสำนวนกลอนใน ๒ รัชกาลนั้นไม่ผิดกัน ด้วยกวีครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังอยู่มาในรัชกาลที่ ๓ โดยมาก กวีที่มีขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ที่แต่งดีถึงกวีครั้งรัชกาลที่ ๒ ก็มีมาก จึงได้แต่สันนิษฐานโดยตำนาน คือเมื่อในรัชกาลที่ ๓ นั้น ถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดการฟ้อนรำขับร้องก็จริง แต่ก็ไม่ทรงขัดขวางห้ามปรามมิให้ผู้อื่นเล่น การเหล่านั้นเจ้านายแลข้าราชการผู้ใหญ่เล่นกันขึ้นหลายแห่ง เล่นละครบ้าง มโหรีปี่พาทย์บ้าง เสภานับว่าเป็นส่วนอันหนึ่งของปี่พาทย์ เพราะเป็นต้นบทส่งลำ จึงเล่นเสภากันแพร่หลายต่อมา บทเสภาสำนวนหลวงที่แต่งเมื่อในรัชกาลที่ ๒ เห็นจะได้มาขับให้คนฟังแพร่หลายในตอนนี้ เป็นเหตุให้เกิดนิยมบทเสภาที่แต่งใหม่มาก จึงมีผู้ขวนขวายให้แต่งบทเสภาตอนอื่นๆ ซึ่งยังมิได้แต่งในรัชกาลที่ ๒ เพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๓ อิกหลายตอน ผู้ที่แต่งเสภาในชั้นหลังนี้จะเป็นใครบ้างไม่ทราบแน่ ทราบแต่ว่าคุณดั่นคน ๑ คุณดั่นนี้เป็นลูกพระเจ้ากรุงธนบุรี ทำราชการ ทราบว่าได้เป็นที่หลวงมงคลรัตน์ เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเล่นหนัง ว่าพากย์แลเจรจาดีนัก เพราะเหตุที่เป็นกวีแต่งถ้อยคำได้เอง นอกจากคุณดั่น ผู้ที่แต่งกลอนดีในเวลานั้นยังมีมาก เช่นพวกที่มีชื่อเป็นผู้แต่งเพลงยาววัดพระเชตุพนนั้นเป็นต้น บทเสภาสำนวนหลวงนับว่ามาบริบูรณ์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ แต่งขึ้นแทนบทเดิมเกือบจะตลอดเรื่องขุนช้างขุนแผน เมื่อมีบทสำนวนหลวงบริบูรณ์แล้ว เห็นจะมีเจ้านายพระองค์ใดพระองค์ ๑ ฤๅขุนนางผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่ง ที่เล่นเสภาแลปี่พาทย์เมื่อในรัชกาลที่ ๓ คิดอ่านให้รวบรวมบทเสภาเข้าเรียบเรียงเป็นเรื่องติดต่อกัน อย่างฉบับที่เราได้อ่านกันในทุกวันนี้

เหตุซึ่งรู้ว่าพึ่งเอาเสภามาเรียบเรียงกันเข้าเป็นเรื่องต่อภายหลังนั้น เพราะสำนวนเสภาที่แต่งต่างยุคต่างสมัยมีหลักฐานที่จะรู้ได้บ้างดังกล่าวมาแล้ว คือมีสำนวนเดิมที่แต่งก่อนรัชกาลที่ ๒ สำนวน ๑ สำนวนที่แต่งในรัชกาลที่ ๒ สำนวน ๑ สำนวนที่แต่งในรัชกาลที่ ๓ สำนวน ๑ ในหนังสือเสภาเอาสำนวนเหล่านี้เรียบเรียงคละกัน สำนวนยุคหลังอยู่หน้าสำนวนยุคก่อนก็มี ดังเช่นสำนวนสุนทรภู่แต่งตอนกำเนิดพลายงาม อยู่หน้าสำนวนเดิมที่แต่งตอนเจ้าเชียงใหม่ขอนางสร้อยทองนั้นเป็นต้น ถ้าได้เรียบเรียงเข้าเป็นเรื่องมาแต่ก่อน สำนวนกลอนคงจะต่อกันตามยุค โดยฐานที่แต่งต่อกันลงมาโดยลำดับ ยังอิกสถาน ๑ ถ้าพิเคราะห์ดูหนังสือเสภาที่รวมเป็นเรื่องแล้วนี้ก็ยังเห็นได้ว่าของเดิมเป็นท่อนเป็นตอน ผู้แต่งต่างคนต่างแต่งตามเรื่องนิทานที่ตนจำได้ ไม่ได้สอบสวนรู้เห็นกัน เรื่องที่กล่าวยังแตกต่างกันอยู่หลายแห่ง แม้ชื่อคนที่เรียกในเสภาเรียกผิดกันไปก็มี จะยกตัวอย่าง เช่น เถ้าแก่ที่ขอนางวันทองให้ขุนช้าง ในตอนแรกเรียกชื่อว่า ยายกลอยยายสาย ครั้นต่อมาในตอนหลังๆ เรียกว่ายายกลอยยายสา หลักฐานมีอยู่ดังกล่าวมานี้จึงเชื่อได้แน่ว่า บทเสภาแต่เดิมแต่งเป็นท่อนเป็นตอนไม่ติดต่อกัน แลเชื่อได้ว่าพึ่งเอามารวมกันเข้าต่อชั้นหลัง ที่ข้าพเจ้าประมาณว่า จะรวมเสภาเรียบเรียงเข้าเป็นเรื่องในรัชกาลที่ ๓ นั้น เพราะในบทเสภาที่เรียบเรียงเข้าไว้ มีบ้างตอนที่รู้ได้ว่า แต่งเมื่อรัชกาลที่ ๓ นี้ประการ ๑ ยังอิกประการ ๑ หนังสือเสภาที่รวมไว้ได้ในหอพระสมุดสำหรับพระนครมีต่างกันถึง ๘ ฉบับ ยังฉบับปลีกต่างหากเป็นเล่มสมุดไทยราว ๒๐๐ เล่ม ได้ตรวจดูลายมือเขียนไม่พบฝีมือเก่าถึงเขียนในรัชกาลที่ ๒ เลยสักเล่มเดียว ฉบับเก่าที่สุดมีเพียงฝีมืออาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๓ ฉบับนี้ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ๒ เล่มสมุดไทย แต่เขียนเป็นเส้นดินสอขาว ถ้ามิใช่ฉบับหลวงคงเป็นฉบับของเจ้านาย เช่นกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ ซึ่งปรากฏมาว่าโปรดหนังสือ ด้วยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าการรวบรวมหนังสือเสภาเข้าติดต่อเป็นเรื่อง เห็นจะรวมมาแต่เมื่อในรัชกาลที่ ๓ ที่ว่านี้ประมาณเป็นอย่างสูง อาจจะมารวมต่อเมื่อในต้นรัชกาลที่ ๔ ก็เป็นได้ แลเชื่อว่ารวมเรื่องในครั้งแรกนั้นจบเพียง ๓๘ เล่มสมุดไทย คือตั้งแต่ขึ้นต้นเรื่องมาจนถึงขับนางสร้อยฟ้ากลับไปถึงเมืองเชียงใหม่ ด้วยเห็นสำนวนกลอนเป็นยุติมาเพียงเท่านั้น

เมื่อในรัชกาลที่ ๔ ถึงหนังสือเสภาได้รวบรวมเข้าเป็นเรื่องแล้วดังกล่าวมา เมื่อหนังสือเสภายังไม่ได้ลงพิมพ์ ฉบับที่รวบรวมก็มีน้อย แลคงมีอยู่แต่ของผู้มีบรรดาศักดิ์ ด้วยเหตุนี้ เสภาที่เล่นกันในพื้นเมืองในสมัยนั้น ยังขับเป็น ๒ สำนวน คนเสภาโดยมากยังขับได้แต่สำนวนเดิม มีที่ขับเสภาสำนวนหลวงได้น้อย ในสมัยนั้นจึงยังมีกวีที่ถือคติเนื่องมาแต่รัชกาลที่ ๓ คิดบทเสภาเพิ่มเติมขึ้นเมื่อในรัชกาลที่ ๔ อิกหลายตอน คือตอนจระเข้เถนขวาด แลตอนพลายเพชรพลายบัวเป็นต้น เสภาที่ครูแจ้งแต่งหลายตอนก็แต่งในสมัยนี้

ข้อนี้รู้ได้ด้วยสำนวนกลอนผิดกัน กลอนแต่งชั้นหลังมักชอบเล่นสัมผัสในเอาอย่างสุนทรภู่ แลกระบวนแผนที่ก็ไม่แม่นยำเหมือนแต่งรุ่นก่อน เข้าใจว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๔ คงจะมีใครรวมหนังสือเสภาอิกครั้ง ๑ จึงสำเร็จรูปอย่างฉบับที่ตีพิมพ์ มีถึงตอนพลายแก้วพลายบัว คือต่อเรื่องเข้าอิก ๔ เล่มสมุดไทย รวมทั้งเก่าใหม่เป็น ๔๒ เล่ม

ครูเสภาที่ชื่อเสียงปรากฏในรัชกาลที่ ๔ ก็มีหลายคน คือ

๑. ครูแจ้งที่กล่าวมาแล้ว ที่จริงเมื่อในรัชกาลที่ ๓ เป็นแต่ร่ำฦๅกระบวนเพลง มาเป็นครูเสภามีชื่อเสียงเมื่อในรัชกาลที่ ๔

๒. ครูสิง เป็นบิดาของนายสังจีนปี่พาทย์ที่ออกไปตายที่เมืองลอนดอน คราวไปกับปี่พาทย์เมื่อในรัชกาลที่ ๕ แลนายทองดีที่ได้เป็นหลวงเสนาะดุริยางค์เมื่อภายหลัง ครูสิงนี้ว่าขับตอนจระเข้เถนขวาดไม่มีตัวสู้เมื่อในรัชกาลที่ ๔

๓. หลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่ เรียกกันแต่ว่า หลวงเพ็ดฉลู) ว่าดีหลายอย่าง ขับก็ดี แต่งเสภาก็ได้ แลรู้ลำมากถึงบอกปี่พาทย์ได้ด้วย ถนัดขับตอนขุนแผนรบเมืองเชียงใหม่ หลวงพิศณุเสนีอยู่มาเป็นครูใหญ่อยู่ในรัชกาลที่ ๕

๔. ครูอินอู ว่าเสียงเพราะนัก ชอบขับตอนสังวาส เป็นคู่ขับกับหลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่)

๕. ครูเมือง คนเสภาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ชมกันว่ากระบวนขยับกรับเข้ากับวิธีขับ ไม่มีตัวสู้

แต่การเล่นเสภาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ กลายมาเป็นเล่นคู่กับปี่พาทย์ ด้วยเล่นปี่พาทย์กันขึ้นแพร่หลาย พอใจจะฟังเพลงปี่พาทย์กับเสภาเท่าๆ กัน ไม่ฟังเสภาเป็นสำคัญเหมือนกับอย่างแต่ก่อน

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๕ หมอสมิธพิมพ์บทเสภาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปีวอก จุลศักราช ๑๒๓๔ (พ.ศ. ๒๔๑๕) เมื่อมีบทเสภาพิมพ์แล้ว ใครๆก็อาจจะหาซื้อบทเสภาสำนวนหลวงได้โดยง่าย แต่นั้นมาพวกเสภาก็หันเข้าขับเสภาสำนวนหลวง คนขับสำนวนนอกมีน้อยลงทุกที บทเสภาก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดแต่งขึ้นใหม่ ส่วนกระบวนที่เล่นเสภา เมื่อต่อมาในรัชกาลที่ ๕ ยังเกิดวิธีพลิกแพลงเล่นห่างออกไปจากเสภาเดิมอิก เช่นมีวิธีเล่นเสภารำ คือเล่นเป็นละคร แต่ใช้ขับเสภาแทนต้นบทแลลูกคู่ร้อง ขับเสภาสลับไปกับเจรจาแลเล่นจำอวด เรื่องเสภาก็ยิ่งขับสั้นเข้า ถึงการที่ขับเสภากันตามอย่างเดิมยังไม่หมด คนเสภาที่มีชื่อเสียงเมื่อในรัชกาลที่ ๕ มักเป็นแต่ดีด้วยอย่างอื่น ไม่ปรากฏว่าใครดีในกระบวนแต่งเสภา ได้สืบสวนถึงคนเสภาซึ่งมีชื่อเสียงเมื่อในรัชกาลที่ ๕ มีปรากฏมา คือ

๑. หลวงพิศนุเสนี (ทองอยู่) ดีมาแต่ในรัชกาลก่อนดังกล่าวมาแล้ว มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้เลื่อนที่เป็นพระราชมนู คนนี้มาเป็นครูเสภาใหญ่ ผู้คนนับถือยิ่งกว่าผู้อื่น มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้ง ๑ มีงานโกนจุก เจ้าของงานมีพวกพ้องเป็นนายวงปี่พาทย์ แต่เป็นวงพึ่งหัดขึ้นใหม่ พอทำเพลงประโคมพระสวดมนต์ฉันเช้าได้ นายวงปี่พาทย์สำคัญว่า จะมีแต่สวดมนต์ฉันเช้า จึงรับเอาปี่พาทย์ไปช่วยงาน ต่อสวดมนต์จบแล้ว เห็นหลวงพิศณุเสนีไป เจ้าของวงปี่พาทย์จึงทราบ ว่าเจ้าของงานจะมีเสภา ก็ตกใจ ด้วยเฉพาะถูกคนขับเป็นครูสำคัญด้วย ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงแอบคลานเข้าไปกราบหลวงพิศณุเสนีบอกว่า “ใต้เท้าได้โปรดด้วยปี่พาทย์ผมพึ่งหัด” หลวงพิศณุเสนีหันมาถามว่า “ทำเพลงอะไรได้บ้าง” นายวงบอกว่า “ได้แต่จระเข้หางยาวเพลงเดียวเท่านั้นแหละขอรับ” หลวงพิศณุเสนีพยักหน้าแล้วก็นิ่งอยู่ เสภาค่ำวันนั้นขับๆ ไปแล้ว หลวงพิศณุเสนีก็หันลงส่งเพลงจระเข้หางยาว ส่งแต่เพลงเดียวตลอดทั้งคืนปล่อยปี่พาทย์รอดตัวมาได้

๒. จ่าเผ่นผยองยิ่ง (โคน เรียกกันว่าจ่าโคน) เป็นน้องหลวงพิศณุเสนี (ทองอยู่) ว่าขับเสภาได้ แต่งกลอนก็ดี และรู้ลำมาก แต่เป็นครูบอกมโหรี แลแต่งสักรวาเสียเป็นพื้น

๓. หลวงพิศณุเสนี (กล่อม การเวก) เดิมเป็นนักสวดเสียงเพราะ จึงเรียกกันว่า กล่อมการเวก สึกแล้วมาเป็นต้นบทสักรวาของกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณอยู่ก่อน กระบวนร้องว่าเม็ดก้านมาก ร้องเพราะ ขับเสภาได้ แต่ไม่ฦๅในกระบวนเสภา

๔. นายเจิมมหาพน เมื่อบวชเทศน์มหาพนล่ำฦๅ ครั้ง ๑ เอาเรื่องเจ้าพระยามหินทร์ฯ ยกทัพไปรบฮ่อ มาแต่งเป็นเทศน์แหล่นางกินนร เจ้าพระยามหินทร์ฯ โกรธ ต้องเลิก ครั้นสึกมาอยู่บ้านบางตะนาวศรี กระบวนขับเสภาว่าพอประมาณ แต่รู้ลำส่งมาก พวกปี่พาทย์กลัว ถ้าพอดีพอร้ายไม่กล้าไปรับเสภานายเจิม

๕. ขุนพลสงคราม (โพ) กำนันบ้านสาย แขวงอ่างทอง อยู่มาจนปลายรัชกาลที่ ๕ เป็นเสภาอย่างเก่า ว่าขับดีนัก แต่ข้าพเจ้าหาได้ฟังไม่

๖. พระแสนท้องฟ้า (ป่อง) เมืองราชบุรี เป็นเสภาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เสียงดี ขับเพราะ เมื่อข้าพเจ้าแต่งหนังสือเรื่องนี้ตัวก็ยังอยู่ อายุได้ ๘๐ เศษ ยังขับเสภาได้ แต่พวกปี่พาทย์เขายิ้มๆ กันว่า กระบวนส่งลำอยู่ข้างจะพลาด

ว่าด้วยการชำระหนังสือเสภา

หนังสือเสภาซึ่งหอพระสมุดฯ ได้ฉบับมาสอบ นับแต่ที่เป็นฉบับสำคัญมี ๔ ฉบับ คือ ฉบับที่ได้มาจากในพระบรมมหาราชวัง ฝีมืออาลักษณ์ครั้งรัชกาลที่ ๓ เขียนฉบับ ๑ ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ ฝีมือเขียนครั้งรัชกาลที่ ๔ ฉบับ ๑ ฉบับหลวงในรัชกาลที่ ๕ อาลักษณ์เขียนเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒ ฉบับ ๑ ฉบับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เขียนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช ๑๒๓๑ พ.ศ. ๒๔๑๒ ซึ่งเข้าใจว่าเป็นต้นฉบับที่หมอสมิธได้ไปพิมพ์ฉบับ ๑

เสียดายที่ไม่ได้หนังสือเหล่านี้ครบแต่ต้นจนจบสักฉบับเดียว แต่ก็เป็นประโยชน์ในการสอบสวน ได้ทั้งถ้อยคำสำนวนแลบทกลอนของเดิมมาก การชำระได้อาศัยหนังสือ ๔ ฉบับนี้เป็นสำคัญ แต่เมื่อสอบเข้าแล้ว เห็นมีข้อควรสังเกตขึ้นอิกอย่าง ๑ ที่หนังสือเสภาแม้เป็นฉบับสำคัญดังกล่าวมา กระบวนกลอนแลถ้อยคำมีแตกต่างกันทุกฉบับ จึงสันนิษฐานว่า เมื่อแรกรวมบทเสภาเข้าเรียบเรียงเป็นเรื่องหนังสือนั้น ชะรอยจะหาหนังสือไม่ได้หมดทุกตอน เพราะมีฉบับน้อยทำนองอย่างครั้งกรุงเก่า บางตอนเห็นจะต้องให้คนขับเสภามาว่า แล้วจดลงตามที่คนขับจำได้ ความพลาดพลั้งหลงลืมของคนขับเสภาจึงมาปรากฏอยู่ในหนังสือเสภาที่รวบรวมในครั้งแรก ฉบับทีหลังที่เป็นของลอกคัดต่อๆ กันมาคงไม่ได้ชำระ ฤๅถ้าจะชำระก็คงเพียงให้คนขับเสภาตรวจแก้ จึงวิปลาสคลาศเคลื่อนยิ่งขึ้นทุกที จนมาถึงฉบับที่พิมพ์จำหน่ายกันอยู่ในทุกวันนี้ เรียกได้ว่าหนังสือเสภาเป็นจลาจล เพราะเหตุที่มีผู้แก้ไขด้วยไม่รู้ราคาสำนวนเดิม เปลี่ยนคำเดิมเสียโดยรักจะใส่สัมผัสในบ้าง เปลี่ยนคำที่ตัวไม่เข้าใจออกเสียบ้าง ทำให้ความคลาศเคลื่อนไปเสียมากชั้น ๑ ซ้ำเวลาพิมพ์การตรวจก็สับเพร่า เป็นเหตุให้เกิดอักขรวิบัติขึ้นด้วยอิกชั้น ๑ ด้วยเหตุทั้งปวงดังกล่าวมานี้ การที่จะชำระหนังสือเสภาฉบับนี้ จึงเป็นการลำบากยากยิ่งกว่าชำระหนังสืออื่นโดยมาก

หนังสือเสภาที่พิมพ์เป็นฉบับหอพระสมุดวชิรญาณฉบับนี้ ดูเหมือนจะเป็นฉบับที่ได้ชำระสอบสวนเป็นครั้งแรก แต่ขอให้ท่านทั้งหลายเข้าใจว่า กรรมการหอพระสมุดฯ มีความประสงค์จะรักษาหนังสือกลอนเป็นอย่างดีในภาษาไทยไว้ให้ถาวรเป็นข้อสำคัญยิ่งกว่าจะพยายามรักษาเรื่องขุนช้างขุนแผน ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิเคราะห์ดูหนังสือเสภาเก่าที่มีอยู่ เห็นว่าที่เป็นเรื่องดีแลกลอนดีมีอยู่เพียง ๓๘ เล่ม ซึ่งเข้าใจว่าเป็นตอนที่ได้รวบรวมขึ้นครั้งแรก คือ ตั้งแต่ต้นมาจนถึงขับนางสร้อยฟ้าไปถึงเมืองเชียงใหม่นั้น จึงยุติว่าจะชำระเพียงเท่านั้น ตอนต่อนั้นไป คือตอนพลายยงไปเมืองจีนก็ดี ตอนพลายเพชรพลายบัวก็ดี เห็นไม่มีสาระในทางวรรณคดี จึงไม่พิมพ์

แต่เมื่อหอพระสมุดฯ รวบรวมบทเสภาในคราวนี้ ได้บทเสภาปลีกมาอิกหลายตอน เป็นของกวีแต่ก่อนได้แต่งไว้ บางตอนแทรกเรื่องเข้าใหม่ เช่นตอนจระเข้เถนขวาด บางตอนตัดความในเสภาเดิมไปขยาย เช่นตอนกำเนิดกุมารทองลูกนางบัวคลี่ มีอยู่หลายตอนที่แต่งดีน่าฟัง แลเข้าใจว่าเขาจะเอาเค้ามูลเรื่องนิทานเดิมมาแต่ง ไม่ใช่คิดขึ้นใหม่ทีเดียว จะทิ้งให้สูญเสียน่าเสียดาย จึงเห็นควรจะเลือกเสภาปลีกเฉพาะตอนที่แต่งดี รวมเข้าในเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณด้วย แต่การที่รวมนั้น จำจะต้องตัดเสภาเดิมตรงที่ความซ้ำกันออกบ้าง จึงเกิดข้อวินิจฉัยว่า จะเสียดายสำนวนชั้นแรก ฤๅจะเสียดายสำนวนชั้นหลัง ซึ่งจำจะต้องคิดเสียฝ่าย ๑ แต่เมื่อพิจารณาดูสำนวนทั้ง ๒ ฝ่าย ก็เห็นว่า มีทางที่จะรวบรวมติดต่อกันให้ดีได้ ด้วยความเดิมที่จะต้องตัดจริงๆ มีน้อยแห่ง และเฉพาะเป็นตอนที่ออกเร่อร่า ไม่ถูกตอนที่ดีสักแห่งเดียว ความเดิมที่ดีอาจจะคงไว้ได้ไม่ต้องตัด ด้วยเหตุนี้จึงได้ตกลงรับเสภาปลีกเข้าในเสภาฉบับนี้บางตอน จะบอกไว้ให้แจ้งตรงที่พิมพ์ ว่าแห่งใดเป็นบทเสภาเพิ่มเข้าใหม่

หนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ว่าโดยกระบวนตัวเรื่อง ถ้าจะประมาณเป็นเล่มสมุดไทย เห็นจะราว ๔๓ เล่ม พอไล่เลี่ยกับฉบับพิมพ์แต่ก่อน แต่ผิดกับฉบับซึ่งพิมพ์มาแล้ว ทั้งที่ตัดของเดิมออกเสียบ้าง แลที่เติมเรื่องตอนอื่นที่ยังไม่ได้พิมพ์เข้าในฉบับนี้บ้าง แต่ที่ผิดกันนี้เห็นจะพอรับประกันได้ว่า ทั้งกระบวนเรื่องแลกระบวนบทกลอน ฉบับนี้ดีกว่าฉบับที่พิมพ์มาแต่ก่อนๆ และได้รักษาสิ่งที่ดีในเสภาไว้ไม่ได้สูญเสียบกพร่องไปสักแห่งเดียว อิกประการ ๑ หนังสือเสภาฉบับนี้ ได้จัดวิธีแบ่งเสียใหม่ให้เป็นตอน ด้วยแบ่งเป็นเล่มสมุดไทยอย่างแต่ก่อนไม่เข้ากับวิธีพิมพ์ แลที่แบ่งเป็นตอนดีกว่า เพราะขึ้นต้นลงท้ายได้เหมาะเรื่อง แลมักจะเหมาะกับสำนวนผู้แต่งด้วย รวมทั้งเรื่องได้กำหนดเป็น ๔๑ ตอน แลพิมพ์แบ่งเป็น ๓ เล่มสมุด

ว่าโดยกระบวนถ้อยคำ การที่ชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ทำด้วยตั้งใจจะรักษาถ้อยคำให้คงตามของเดิมที่กวีแต่ก่อนได้แต่งไว้ แต่ความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขมีอยู่บ้างด้วยเหตุต่างๆ คือ

หนังสือเสภาสำเนาเก่า บางแห่งมีความหยาบคาย ด้วยผู้แต่งประสงค์จะขับให้คนฮา ดังเช่นสุนทรภู่บอกไว้ในกลอนว่า

“นายมาพระยานนท์คนตลก ว่าหยกหยกหยาบช้าคนฮาฉาว”

ความที่หยาบมักมีอยู่ในสำนวนเดิมก่อนพระราชนิพนธ์ พาให้บทเสภาเป็นที่รังเกียจของผู้อ่าน ถึงแต่ก่อนมีบางตอนที่ห้ามกันไม่ให้ผู้หญิงอ่าน ชำระคราวนี้ได้ตัดตรงที่หยาบนั้นออกเสีย ด้วยประสงค์จะให้หนังสือเสภาฉบับนี้พ้นจากความรังเกียจ แต่ไม่ได้ตัดถึงจะให้ราบเรียบทีเดียว เพราะกลอนเสภาดีอยู่ที่สำนวนเล่นกันอย่างปากตลาด บางทีก็พูดสัปดนฤๅด่าทอกัน ถ้าไปถือว่าเป็นหยาบคายตัดออกเสียหมด ก็จะเสียสำนวนเสภา จึงคงไว้เพียงเท่าที่จะไม่ถึงน่ารังเกียจ

๒. เรื่องเสภา ที่จริงความขับขันเขามีอยู่ในเนื้อเรื่องบริบูรณ์แล้ว แต่ในหนังสือเสภาสำนวนเดิม มีผู้แต่งบทจำอวดแทรกลงไว้หลายแห่ง เช่นนักสวดว่าทำนองสิบสองภาษา ในตอนทำศพขุนศรีวิชัยและพันศรโยธานั้นเป็นต้น เห็นจะให้เป็นเครื่องเล่นของคนขับ แต่บทจำอวดที่แทรกเหล่านี้ เมื่อมาอ่านเป็นหนังสือไม่ขบขัน เห็นกลับทำให้เรื่องหนังสือเสีย จึงตัดออกเสียอิกอย่าง ๑

๓. ความที่แต่งเชื่อมตรงหัวต่อ เข้าใจว่าเป็นสำนวนผู้อื่นแต่งเชื่อมเมื่อรวมเสภาเข้าเป็นเรื่องมีหลายแห่ง ที่ตรงหัวต่อนั้นบางแห่งเชื่อมไม่ดี ความไม่เข้ากันบ้าง ซ้ำกันบ้าง ขาดเขินบกพร่องไปบ้าง ได้แก้ไขตรงหัวต่อเหล่านี้บางแห่ง เพื่อให้ความสนิทดีขึ้น

๔. ถ้อยคำแลกลอนที่วิปลาสอยู่ แห่งใดได้ฉบับเก่ามาสอบก็แก้ไขไปตามฉบับเก่า ที่ไม่มีฉบับเก่าจะสอบ ต้องแก้ไขโดยอัตโนมัติก็มีบ้าง แต่ได้ระวังแก้ไขเฉพาะแต่ที่รู้ว่าผิดแน่

การชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มีข้อซึ่งไม่ลุล่วงได้ข้อ ๑ คือในบทเสภาขึ้นต้นว่า “ครั้นว่าไหว้ครูแล้วก็จับบท” ดังนี้ เป็นเหตุให้เห็นว่า คำไหว้ครูของเสภามีอยู่ ซึ่งควรจะเอามาพิมพ์ไว้ในหนังสือเสภาฉบับนี้ด้วย ได้พยายามสืบหาหนังสือคำไหว้ครูเสภาก็ไม่มีที่ไหน จึงได้ลองถามบรรดาคนขับเสภาทั้งที่ในกรุงแลตามหัวเมืองหลายคน ใครจำไว้ได้อย่างไรก็จดมาสอบกันดูได้ความเพียงพอสันนิษฐานได้ว่า มีบทไหว้ครูของเก่า เห็นจะเป็นของแต่งครั้งกรุงเก่าอยู่บท ๑ เป็นคำบูชาเทวดาในทางไสยศาสตร์ แต่ของเดิมจะยาวสั้นแลขึ้นต้นลงท้ายอย่างไร สูญไปเสียเกือบหมดแล้ว มีจำกันไว้ได้ติดอยู่ในไหว้ครูของเสภาชั้นหลังแต่ ๒ คำ ว่า

“คงคายมนามาเป็นเกณฑ์ พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟเป็นมั่นคง จึงดำรงได้รอดมาเป็นกาย”

สองคำนี้คงมีอยู่ในคำไหว้ครูที่ยังจำกันไว้ได้ทุกๆ คน แต่นอกจากนี้ต่างกันไปหมด จะเอาเป็นแก่นสารอย่างไรก็ไม่ได้สักรายเดียว จะจดไว้พอให้ท่านทั้งหลายเห็นตัวอย่างสักราย ๑ เป็นคำไหว้ครูเสภาได้มาจากบ้านผักไห่ แขวงกรุงเก่า ที่จัดว่าเป็นหมดจดกว่าของผู้อื่น ว่าดังนี้

สิบนิ้วจะประนมเหนือเกศา

ไหว้พระพุทธพระธรรมล้ำโลกา พระสงฆ์ทรงศีลาว่าโดยจง
คงคายมนามาเป็นเกณฑ์ พระสุเมรุหลักโลกสูงระหง
ดินน้ำลมไฟอันมั่นคง จึงดำรงไว้รอดมาเป็นกาย
ไหว้คุณบิดาแลมารดร ครูพักอักษรสิ้นทั้งหลาย
อนึ่งจะบังคมองค์นารายณ์ อันสถิตแทบสายสมุทรไท
เอาพระยานาคราชเป็นอาสน์แก้ว หามีเหตุไม่แล้วหาตื่นไม่
ทรงสังข์จักรคทาเกรียงไกร ไวยกูณฐ์มาเป็นพระรามา
อนึ่งจะบังคมบรมพงศ์ ทรงหงส์เหินระเห็จพระเวหา
ไหว้องค์พระอิศวรเจ้าโลกา พระนารายณ์รามาธิบดี
ไหว้พระฤๅษีสิทธิ์แลคนธรรพ์ พระวิษณุกรรม์อันเรืองศรี
สาปสรรเครื่องเล่นในธรณี จึงได้มีปรากฏแต่ก่อนมา ฯ

คำไหว้ครูเสภาแลครูปี่พาทย์ของนายอยู่เห็นจะต่อนี้ ข้าพเจ้าสืบเรื่องคำไหว้ครูของเก่า ได้ความเพียงเท่านี้ จึงไม่สามารถจะลงคำไหว้ครูไว้ข้างต้นบทเสภาได้

การตรวจชำระหนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้ ตั้งแต่แรกชำระตลอดเวลาพิมพ์ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นกวีพจน์สุปรีชา กับ ข้าพเจ้า ได้ช่วยกันทำมากว่า ๒ ปี หวังใจว่า หนังสือเสภาฉบับหอพระสมุดวชิรญาณนี้จะเป็นของพอใจของท่านทั้งหลาย.

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐

  1. ๑. กลอนไหว้ครูนี้พิเคราะห์ดูความ เข้าใจว่าแต่ง ๒ คราว ไหว้ครูเสภาข้างตอนต้น เห็นจะแต่งก่อนตอนไหว้ครูปี่พาทย์นาน ชื่อครูเสภาชั้นหลัง เช่นครูแจ้ง จึงมาปนอยู่ในตอนไหว้ครูปี่พาทย์.

  2. ๒. ประวัติครูเสภาแลครูปี่พาทย์ตอนนี้ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงช่วยสืบประทาน

  3. ๓. ประวัติครูเสภาตอนนี้แลตอนต่อไป ได้ความจากพระประดิษฐไพเราะ (ตาด)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ