คำนำ

เรื่อง กากี กลอนสุภาพ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีเอกผู้หนึ่ง ในกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวรรณคดีสำคัญที่มีผู้รู้จักกันทั่วไปแต่หาฉบับอ่านได้ยาก แต่เดิมใช้ร้องมโหรีกันแพร่หลาย กรมศิลปากรเคยจัดพิมพ์เฉพาะบางตอนรวมอยู่ในหนังสือประชุมบทมโหรี และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะสมแก่การที่จะนำไปขับร้องเข้าทำนองเพลงต่างๆ ต่อมากรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่า เรื่องกากีเป็นวรรณคดีสำคัญที่มีอรรถรสไพเราะ ควรชำระและจัดพิมพ์ให้มีฉบับสมบูรณ์ จึงมอบให้ นายหรีด เรืองฤทธิ์ เปรียญ เจ้าหน้าที่แผนกเรียบเรียงกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ในขณะนั้น ตรวจสอบชำระวรรณคดีเรื่องนี้กับฉบับสมุดไทยที่เก็บรักษาไว้ ณ หอสมุดแห่งชาติ เริ่มเนื้อหาตั้งแต่ต้นจนถึงลอยแพนางกากี และพิมพ์แจกเป็นครั้งแรกในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงประเสริฐโทรการ (ชวน บุณยสถิตย์) เมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๓

อนึ่ง เรื่องกากี เป็นบทประพันธ์ที่รู้จักแพร่หลายในสังคมไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา กวีไทยทั้งสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์นำเรื่องนี้มาประพันธ์เป็นร้อยกรองหลายรูปแบบ นอกจาก กากี กลอนสุภาพ ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่จัดทำอยู่ในเล่มนี้แล้ว ยังมีบทเห่เรื่อง กากี ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศ ซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ กากีลิลิต ซึ่งมีผู้แต่งขึ้นเมื่อ พุทธศักราช ๒๓๖๘ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และกากี คำฉันท์ ซึ่งนายบุญเตือน ศรีวรพจน์ นักอักษรศาสตร์ ๘ ว. สำนักวรรณกรรม และประวัติศาสตร์ ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๗

สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร

มกราคม ๒๕๕๘

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ